ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >