ฉบับที่ 248 ให้รักพิพากษา : ใครอยากกินเด็ก…ยกมือขึ้น

                ชีวิตทางสังคมของคนเรานั้น เป็นประหนึ่งสนามรบที่ประลองพลังกันระหว่างอำนาจของโครงสร้างกฎเกณฑ์แห่งสังคมกับการดำรงอยู่ซึ่งความปรารถนาและตัวตนของปัจเจกบุคคล         และหากเป็นชีวิตทางสังคมของผู้หญิงแล้ว ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานก็คือสนามทดสอบพลังของสังคมและปัจเจกอันเข้มข้นเช่นเดียวกัน ยิ่งเมื่ออิสตรีต้องผกผันเข้าไปใช้ชีวิตในสนามทางสังคมที่บุรุษเพศยึดกุมมาก่อนด้วยแล้ว บททดสอบที่ผู้หญิงต้องเผชิญก็ดูจะยิ่งเข้มข้นดุเด็ดเผ็ดมันทับทวีคูณมากขึ้นไปอีก         และสนามทดสอบพลังทางสังคมเฉกเช่นนี้ก็คือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของนางเอกสาวอย่าง “ทิชากร” หรือที่ใครต่อใครก็เรียกชื่อเล่นของเธอว่า “ทิชา” ทนายความเวิร์คกิ้งวูแมนแห่งบริษัทข้ามชาติด้านกฎหมายอย่าง “รอสแอนด์ฮาร์วีย์”         เพราะเป็นสาวสวย เก่ง และทุ่มเทให้กับงาน…งาน…และงาน ชีวิตส่วนตัวของทนายทิชาจึงดำรงสถานภาพโสดมานาน แม้จะมีผู้ชายมากหน้าหลายตาวนเวียนเข้ามาในชีวิต แต่เพราะความผิดหวังจากอัยการหนุ่ม “นรา” อดีตคนรักเก่าของเธอ ทิชาก็เลือกที่จะไม่ผาดตามองหรือคบหากับผู้ชายคนใดอีก         หากในสนามกีฬามีกฎกติกามารยาทซึ่งกำหนดให้ผู้แข่งขันต้องเล่นไปตามเกมฉันใด ในสนามชีวิตของผู้หญิง ก็มีข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมขีดเขียนให้ปัจเจกบุคคลอย่างทิชาต้องเดินไปตามเกมเฉกเช่นเดียวกันฉันนั้น         ในสนามของหน้าที่การงานนั้น เมื่อผู้หญิงอย่างทิชาต้องย่างก้าวเข้าสู่โลกแห่งวิชาชีพทนายความ อันเป็นปริมณฑลที่ผู้ชายได้ยึดกุมและเขียนกฎกติกาการเล่นในพื้นที่ดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ทนายทิชาต้องถูกทดสอบจากอำนาจแห่งกฎหมาย สถาบันศาลสถิตยุติธรรม หรือรวมไปถึงภาระงานที่เธอต้องรับผิดชอบไปตามวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทต้นสังกัด        บททดสอบลำดับแรกสุดนั้น เมื่อทิชาตัดสินใจว่าจะก้าวเดินหน้าสู่แวดวงอาชีพทนายความ เธอไม่เพียงแต่ต้องอดทนกับเสียงคัดค้านอย่างแข็งขันจาก “คุณนายชุมพร” ผู้เป็นมารดา ซึ่งคาดหวังให้บุตรสาวได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนมากกว่า         และในขณะเดียวกัน เมื่อการลงโรงว่าความในศาลครั้งแรกที่นางเอกคนสวยต้องพบกับความปราชัยแบบยับเยิน ทิชาก็ยังต้องเผชิญกับคำปรามาสสบประมาทจากนราแฟนเก่าซึ่งตัดสินวินิจฉัยว่า เธอไม่มีคุณสมบัติใดเลยที่เหมาะสมกับอาชีพนักกฎหมาย จนกลายเป็นเสียงก้องเอคโค่ไปมาในห้วงสำเหนียกของทิชาว่า “ผู้หญิงอย่างเธอเป็นทนายไม่ได้…!!!”         ลำดับถัดมา แม้ในเวลาต่อมาทิชาจะพิสูจน์ตนเองว่าเป็นทนายความที่ผู้คนยอมรับในความรู้ความสามารถในคดีครอบครัวก็ตาม แต่สำหรับเกมที่ผู้หญิงต้องเล่นในสนามแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น ทิชาก็ต้องแข่งขันห้ำหั่นเพื่อเอาชนะการว่าความในคดีต่างๆ ควบคู่ไปกับการลงช่วงชิงชัยเหนือเพื่อนร่วมงานสาวคู่แข่งอย่าง “คามีเลีย” เพื่อให้ได้ตำแหน่งหุ้นส่วนเลือดใหม่หรือพาร์ตเนอร์ยังบลัดของต้นสังกัดบริษัทแม่         ไม่เพียงเท่านั้น แวดวงอาชีพทนายความยังได้สร้างธรรมเนียมปฏิบัติให้ตัวละครหญิงผู้เล่นอยู่ในสนามนี้ ต้องละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกแบบที่อิสตรีทั้งหลายพึงมี ด้วยเหตุฉะนี้ ทิชาจึงถูกคาดหมายให้คิดและกระทำอยู่บนตรรกะของเหตุผลกับพยานหลักฐานเชิงประจักษ์เท่านั้น และไม่ว่าเบื้องลึกของผู้หญิงจะเป็นเพศซึ่งผูกพันเอื้ออาทรกับความเป็นมนุษย์มากเพียงไร แต่ท้ายที่สุด “เหตุผล” ก็จะเป็นสิ่ง “พิพากษา” หาใช่ “อารมณ์” ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด         ถ้าหากโลกแห่งหน้าที่การงานเป็นเวทีประลองยุทธ์อันเข้มข้นระหว่างสตรีเพศกับกฎกติกาของสังคมแล้ว สนามแห่งชีวิตส่วนตัวของผู้หญิงก็ถือเป็นพรมแดนแห่งการเผชิญหน้าต่อกรกันระหว่างปัจเจกกับความคาดหวังของสังคมที่คุกรุ่นไม่ยิ่งหย่อนกันเลย         ทั้งนี้ ในขณะที่ความรักและการมีชีวิตคู่ถูกทำให้เป็นอุดมคติของหญิงชายทั่วไป แต่อันที่จริงแล้ว สังคมเองก็ได้ผลิตชุดมายาคติหรือกรอบวิธีคิดหลักที่ให้คำอธิบายด้วยว่า การครองคู่ที่ถูกต้องของผู้หญิง (เยี่ยงนางเอกละครแทบจะทุกเรื่อง) นั้น ควรลงเอยกับผู้ชายที่เหมาะสมทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม วุฒิภาวะ และที่สำคัญคือ อายุของผู้ชายคนนั้นก็ควรจะสูงวัยกว่าผู้หญิงด้วยเช่นกัน         ดังนั้น เมื่อมีตัวเลือกเป็นชายหนุ่มอย่าง “เบนจามิน” หรือ “บอสเบน” ผู้เป็น MD ใหม่ของบริษัท มาคอยตาม “ขายขนมจีบ” ให้กับทิชา หนุ่มหล่อภูมิฐาน การศึกษาดี และมีตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเฉกเช่นบอสเบนนี้ ก็ทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า เคมีของทั้งคู่ช่างเหมาะเจาะลงตัวเสียนี่กระไร         แต่สำหรับทิชาแล้ว เหตุผลกับความคาดหวังของสังคมก็อาจจะเป็นเรื่องหนึ่ง ทว่าอารมณ์ความรู้สึกจริงๆ ของเธอกลับเลือกมีใจให้กับเด็กฝึกงานหนุ่มรุ่นน้องหน้าตาดูมึนๆ อย่าง “คิว” ที่ทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิช่างเป็นรองบอสเบนแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว         แม้อำนาจของสังคมจะกำหนดนิยามให้ผู้หญิงที่รักใคร่และคบหากับชายหนุ่มที่อ่อนวัยกว่า ว่าเป็นพวก “ไก่แก่แม่ปลาช่อน” บ้าง หรือ “โคแก่ริจะกินหญ้าอ่อน” บ้าง หรือเป็นพวก “กินเด็กเพื่อให้ตนเป็นอมตะ” บ้าง แต่เพราะคิวเป็นเด็กหนุ่มที่ทิชาบอกมารดาว่า “คิวเป็นคนเดียวที่ไม่เคยเลิกเชื่อมั่นในตัวหนู ในวันที่หนูหมดความเชื่อมั่นในชีวิต คิวเป็นคนคนเดียวที่อยู่เคียงข้างในวันที่แย่ที่สุด” จึงไม่ยากนักที่ทิชาจะเลือกเขียนใบสมัครเข้า “แก๊งกินเด็ก” แม้ในส่วนลึกจะหวั่นๆ กับสายตาของสังคมที่จับจ้องครหาเธออยู่ก็ตาม         จนกระทั่งมาถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญกับจุดพลิกผันที่ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการงานของทิชาได้ผูกเกลียวเข้าหากัน เมื่อ “พงษ์” บิดาของคิว ถูกจัดฉากโดย “เรวัติ” ว่าเป็นผู้ต้องหาฆ่า “พิม” อดีตภรรยาของตน และบริษัทรอสแอนด์ฮาร์วีย์ได้รับมอบหมายให้เป็นทีมทนายความของคู่กรณี โดยมีกฎของวิชาชีพทนายความที่ต้องเลือกยืนอยู่บนผลประโยชน์ของลูกความ แม้ว่านั่นจะทำให้คนบริสุทธิ์ต้องติดคุกก็ตาม         เมื่อต้นสังกัดบีบให้ทิชาต้องสั่งฟ้องพ่อของคิว เธอก็ได้ตระหนักรู้ว่า บ่อยครั้งกฎของสังคมก็บิดเบี้ยวไปจาก “เหตุผล” ความถูกต้องชอบธรรมแบบที่ควรจะเป็น แต่มันกลับเป็นอำนาจที่มีพลานุภาพ “พิพากษา” ชะตากรรมของคนเราได้อีกต่างหาก ทิชาจึงตกลงใจรับเป็นทนายความสู้คดีให้กับพงษ์ และยื่นใบลาออกจากบริษัท พร้อมกับคำพูดที่เธอบอกกับใครต่อใครว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ทิชามั่นใจว่าใช้อารมณ์ตัดสินใจได้ถูกต้อง”         ในตอนจบของเรื่อง หลังจากทิชาได้สมาทานตนเข้าสังกัด “แก๊งกินเด็ก” ตอบรับรักกับหนุ่มรุ่นน้องอย่างคิวแล้ว ฉากที่ทั้งคู่เดินถือชุดครุยทนายความขึ้นบันไดเข้าศาลอาญา เหมือนจะถามเป็นนัยได้ว่า ระหว่างศาลหรือเหตุผลความคาดหวังที่สังคมกำหนด กับความปรารถนาและอารมณ์ของปัจเจกบุคคล ในบางครั้งและบางกรณีการเลือก “ให้รักพิพากษา” ก็อาจจะเป็นคำตอบให้ผู้หญิงฉุกคิดมาเป็นตัวเลือกของชีวิตได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 เขาวานให้หนูเป็นสายลับ : อย่าเห็นหนูเป็นสนามอารมณ์

              คำภาษิตโบราณกล่าวกันว่า “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน” จริงๆ แล้ว ปมปัญหาในความเปรียบนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวของ “ลูกสาว” ของบ้าน หรืออยู่ที่ “ส้วม” อันเป็นสถานที่ที่เราใช้ขับถ่ายของเสียแต่อย่างใด แต่ปัญหาลึกๆ น่าจะมาจากทัศนะที่สังคมให้คุณค่ากับ “ลูกสาว” และ “ส้วม” ไปในทิศทางลบกันมากกว่า        นั่นหมายความว่า หากสังคมเห็นว่า ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งชีวิตที่มีคุณค่าไม่ต่างจากบุรุษเพศ เราก็จะผาดตามามอง “ลูกสาว” กันเสียใหม่ว่า เธอก็ไม่ได้แตกต่างจาก “ลูกชาย” แต่อย่างใดเลย และก็เช่นเดียวกัน หากเราเลือกเปลี่ยนระบบคิดต่อ “ส้วม” เสียใหม่ว่า แม้จะเป็นสถานที่ที่มนุษย์ปลดปล่อยปฏิกูลของร่างกาย แต่ถ้าเราขาดซึ่งห้องน้ำที่เราเรียกกันว่า “ส้วม” เสียแล้ว ชีวิตของคนเราก็น่าจะบังเกิดความทุกข์ระทมกันเพียงใด         ทั้ง “ลูกสาว” และทั้ง “ส้วม” ต่างจึงมีคุณค่าในตัวมันเอง และมิอาจมองข้ามการดำรงอยู่ของทั้งสองสิ่งนี้ไปได้เลย ปัญหาจึงเป็นดังที่ได้กล่าวไว้ก็คือ น่าจะเป็นเพราะโลกทัศน์ที่มนุษย์เรากดทับคุณค่าของ “ส้วม” ให้ไร้ซึ่งความสำคัญ และผลักไสให้ “ลูกสาว” มีสถานะไม่ต่างจาก “ส้วม” ที่เราต่างนิยามเอาไว้ด้วยความรังเกียจรังงอนนั่นเอง         และจะเกิดอะไรขึ้นหากวันดีคืนดี นางเอกละครโทรทัศน์กลับถูกสร้างให้มีชื่อที่เรียกว่า “ส้วม” แถมยังเป็น “ส้วม” ที่ “เขาๆ” ผู้ชายทั้งหลายต้อง “วานให้เธอกลายมาเป็นสายลับ” กันอีก...???         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” เริ่มต้นเปิดเรื่องแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครนางเอก ที่แม้จะมีชื่อจริงตั้งว่า “ฐานะมาศ” แต่ชื่อเล่นของเธอก็คือ “ส้วม” ผู้มีนิสัยประจำตัวอันประหลาด เพราะไม่เพียงจะชอบเข้าห้องน้ำนานๆ แต่ในยามค่ำคืนที่นอนไม่หลับ เธอก็ยังชอบลุกขึ้นมาขัดส้วมเป็นประจำ         ด้วยความที่ส้วมเติบโตมาในสลัม และสลัมเองก็มีภาพลักษณ์ว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมและมั่วสุมไปด้วยด้านมืดของสังคมไทย ผู้หญิงอย่างส้วมที่เติบโตมาบนกองขยะและสิ่งเน่าเหม็นของสลัม ก็เลยถูกประทับตราว่า เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้มีคุณค่าในสายตาหรือการรับรู้ของนานาอารยชนไปโดยปริยาย        แม้จะเป็นน้องนางกลางสลัมแลนด์ แต่ส้วมก็ไม่เคยยอมแพ้แก่โชคชะตา เปิดฉากมาเราจึงเห็นส้วมขะมักเขม้นนั่งท่องตำราเรียนวิชากฎหมายอย่างตั้งใจ สลับกับภาพการทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าบ่อนให้กับ “บุญยืน” ผู้เป็นมารดา พร้อมๆ กับคอยวิ่งหนีตำรวจกันเป็นที่ขำขันหรรษากันตั้งแต่ฉากแรกๆ ของเรื่อง         แต่อย่างไรก็ดี ภายใต้เนื้อเรื่องที่ดู “เบาสมอง” แบบโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ ละครกลับเผยให้เห็นว่า ปัญหาของสลัมไม่ใช่จะเป็นเพราะทำเลที่ตั้งอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม หรือเพราะสลัมเป็นย่านที่อยู่ของผู้ยากไร้ไม่มีอันจะกิน แต่เป็นเพราะการที่คนอื่นๆ รอบนอกสลัมต่างหากที่คอยจ้องเอารัดเอาเปรียบสรรพชีวิต โดยเฉพาะกับมนุษย์เพศหญิงที่พำนักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดแห่งนี้         การขูดรีดเอาเปรียบต่อชีวิตผู้หญิงถูกสะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านการกระทำรุนแรง ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวจนถึงสังคมใหญ่แบบภาพรวม แบบเดียวกับที่ “สิงห์” จอมโจรที่สวมรอยเป็นพ่อเลี้ยงของส้วมมักกระทำรุนแรงทางกายอยู่เสมอๆ ทั้งต่อเธอ ต่อมารดา และต่อ “อ้อย” ผู้เป็นพี่สาวของส้วม ไปจนถึงการนำเสนอตัวละคร “เสี่ยฮะ” เจ้าของผับในคราบนักบุญ ที่เบื้องหลังก็ใช้สลัมเป็นแหล่งค้ายาเสพติดและค้ากาม โดยไม่เคยเห็นว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์เยี่ยงนี้เป็นมนุษย์ผู้มีเลือดเนื้อแต่อย่างใด         เพราะสัมผัสถึงการเอารัดเอาเปรียบมนุษย์เพศหญิงอยู่ทุกวี่วัน ในขณะเดียวกัน เพราะส้วมเองก็มีสัมผัสพิเศษที่สามารถเห็นวิญญาณคนตาย และเธอเองก็ถูกร้องขอความช่วยเหลือจากวิญญาณของ “แป๋ว” หญิงสาวที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากเข้ามาในวังวนของการค้าประเวณี ส้วมจึงได้ข้อสรุปว่า ตราบใดที่ผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงวัตถุที่รองรับความรุนแรงต่างๆ ตราบนั้นผู้หญิงก็ยังไม่อาจหลุดพ้นการเป็น “สนามอารมณ์” ที่สังคมจะขูดรีดเอาเปรียบได้ไม่สิ้นไม่สุด         ด้วยเหตุนี้ เมื่อ “ทวนเทพ” หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับเรื่องคดีเสี่ยฮะ และปลอมตัวมาเป็นคนเก็บของเก่าในสลัม ได้ขอความช่วยเหลือส้วมให้มาร่วมกับหน่วยงานลับที่ชื่อ “สโนว์ไวท์” ส้วมจึงตอบตกลง และเริ่มต้นภารกิจ “เขาวานให้หนูเป็นสายลับ” ในครั้งนี้ที่ตั้งชื่ออย่างน่าเอ็นดูว่า “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย”          หลังจากก้าวมาเป็นสายลับอันเป็นเงื่อนปมที่ละครได้ผูกโยงเอาไว้ ส้วมก็ได้มาประสบพบรักกับพระเอก “ดนุรุจ” นายตำรวจหนุ่มอีกคนที่ตามสืบคดีเสี่ยฮะ และแม้เขากับเธอจะไม่ลงรอยกินเส้นกันในช่วงแรกๆ แต่ภายหลังเมื่อดนุรุจกับส้วมต้องจัดพลัดจับผลูมาสวมรอยแต่งงานกันเพียงในนาม เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ผู้หญิงอย่างส้วมเท่านั้นที่จะทำให้ “บ้านกลายเป็นบ้าน” และเติมเต็มชีวิตที่ต้องปกปิดปมเจ็บปวดที่กำพร้าบุพการีมาตั้งแต่เด็ก          ในอีกด้านหนึ่ง ยิ่งสืบคดีของเสี่ยฮะไปมากเท่าไร สายลับส้วมสาวก็ยิ่งค้นพบว่า ระบอบแห่งการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบสตรีเพศนั้น ไม่เพียงแต่ซับซ้อน หากยังฝังลึกเข้าไปในหลืบเร้นแห่งสำนึกและความคิดของผู้คนในสังคม เพราะแม้แต่กับผู้หญิงก็สามารถกระทำต่อเพื่อนผู้หญิงด้วยกันได้ทั้งกายวาจาและจิตใจ         ไม่ว่าจะเป็น “ดาวิกา” ที่มองส้วมเป็นศัตรูหัวใจและกดข่มผู้หญิงด้วยทัศนะที่ว่า ขนาดชื่อของนางเอกส้วมยังฟังดูสกปรกเลย หรือ “สุชาวดี” ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของเสี่ยฮะ ที่เบื้องหลังก็อยู่ร่วมกับบิดาในขบวนการค้าประเวณี จนส้วมเคยเอ่ยปากถึงเธอว่า “น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี” หรือแม้แต่กับติ่งเกาหลี “หนึ่งธิดา” ที่ครั้งหนึ่งก็ถูกเป่าหูให้รังเกียจส้วม โดยเกือบลืมไปว่าทั้งคู่เคยเป็นเพื่อนรักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก        ผู้คนรอบข้างที่ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายซึ่งต่างกดทับศักดิ์ศรีแห่งสตรีเพศเช่นนี้เอง ทำให้ครั้งหนึ่งส้วมได้เปรยกับดนุรุจถึงชะตากรรมของผู้หญิงสลัมอย่างเธอว่า “ฉันต้องตัดสินตัวเองตลอด เพราะทุกครั้งที่ฉันลืมตัว ก็จะมีคนอย่างพวกคุณคอยตัดสินตัวฉัน และเหยียบย่ำฉันอยู่ตลอดเวลา...”        ด้วยพล็อตเรื่องแนวโรแมนติกคอมเมดี้เช่นนี้ เราอาจจะเดาได้ไม่ยากว่า ภายหลังภารกิจ “ล่าแม่เลี้ยงใจร้าย” สิ้นสุดลงได้ เพราะความช่วยเหลือจากสายลับเช่นส้วม เสี่ยฮะแอนด์เดอะแก๊งก็ต้องถูก “ลงโทษเชิงสัญลักษณ์” ให้ตายหรือติดคุกกันไป ในขณะที่ตัวละครฝั่งคุณธรรมก็จะได้ “รางวัลตอบแทนความดี” แบบที่หนึ่งธิดาได้เข้าพิธีวิวาห์กับ “สารวัตรเผด็จ” และส้วมกับดนุรุจก็ปรับความเข้าใจจนแฮปปี้เอนดิ้งกันไปในที่สุด        แต่อีกด้านหนึ่ง ละครที่ดู “เบาสมอง” ก็ชวนให้เรา “หนักสมอง” ขบคิดและเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้วยว่า “สองมือที่ทำให้โลกหมุนไป” ของผู้หญิงนั้น ถือเป็นศักยภาพด้านที่สร้างสรรค์ของสังคม หาใช่จะเป็นแหล่งระบายสิ่งปฏิกูล หรือใครจะอ้างสิทธิ์ผลักไสกระทำรุนแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจได้ เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งส้วมเคยระเบิดเสียงแห่งสตรีเพศออกมาว่า “ใช่...กูชื่อส้วม แต่ไม่ใช่ว่ากูจะเป็นส้วมให้ใครขับถ่ายใส่อยู่ทุกวี่วัน…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ควบคุมอารมณ์ด้วยการฝึกการหายใจ

หลังจากฉบับที่แล้วได้แนะนำวิธีการประเมินสภาพจิตใจภายใต้สภาวะสังคมที่ต้องดำเนินชีวิตภายใต้ความกดดันและความเครียดรอบตัว ฉบับนี้จึงนำเทคนิคอีกรูปแบบหนึ่งมาแนะนำ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกการหายใจที่ลึกและถูกต้อง การหายใจที่ถูกวิธีจะสามารถต่อสู้กับความวิตกกังวลและความเครียดได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน การหายใจลึกๆ จะช่วยทำให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จากเดิมที่มักเกิดความวิตกกังวลและความเครียดที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด ความโมโห อารมณ์ฉุนเฉียวได้ง่าย ดังที่จะเห็นจากการรายงานข่าวของสื่อสำนักต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอ เนื่องจากเกิดการกระทบกระทั่งกันจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต โดยจะเห็นว่าข่าวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดมาจากการควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ได้ทั้งสิ้นแอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า BellyBio เป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยตรวจสอบการหายใจและสอนวิธีการหายใจลึก ซึ่งจะทำให้อารมณ์เย็นลงได้ การใช้แอพพลิเคชั่นนี้ต้องอยู่นิ่งกับตนเองชั่วขณะ ไม่ควรทำกิจกรรมใดๆ เมื่อเปิดแอพพลิเคชั่นจะปรากฏคำแนะนำในการใช้ วิธีการใช้แอพพลิเคชั่นนี้คือ เมื่อกดเริ่มต้นแอพพลิเคชั่นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้นำโทรศัพท์ไปเสียบไว้ที่ขอบกางเกง โดยให้หน้าจอหันออกด้านนอก ให้ด้านหลังโทรศัพท์สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะเริ่มทำงาน โดยจะใช้สัญลักษณ์เป็นเส้นคลื่นสีแดงและสีขาวขึ้นลงเพื่อบอกจังหวะในการหายใจของเรา เมื่อมีการหายใจที่นิ่งขึ้น แอพพลิเคชั่นจะเปลี่ยนหน้าจอเป็นตัวอักษร เพื่อบอกจังหวะการหายใจเข้าและการหายใจออกอย่างช้าๆ  ถ้าเส้นคลื่นยิ่งต่ำลงมากเท่าไร นั่นหมายความว่าการหายใจเป็นปกติ ซึ่งแสดงออกถึงอารมณ์ที่ปกติและสงบมากขึ้นการฝึกการหายใจจะทำกี่นาทีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แอพพลิเคชั่น เมื่อจบการฝึกในแต่ละครั้ง แอพพลิเคชั่นจะทำการบันทึกสถิตินั้นไว้ โดยสามารถเรียกดูภายหลังได้ เพื่อนำมาเปรียบเทียบการหายใจและอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำให้เข้าใจอารมณ์ของตนเองได้เพิ่มขึ้นแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยฝึกให้การหายใจเข้าและออกเป็นไปอย่างถูกวิธี เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ดี  ถ้าหากรู้สึกว่ามีความวิตกกังวล ความเครียด ความหงุดหงิดเกิดขึ้น ลองเปิดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อฝึกการหายใจเข้า การหายใจออกให้เป็นจังหวะ น่าจะช่วยทำให้อารมณ์สงบได้ในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >