ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 คุณภาพ “สถานดูแลผู้สูงอายุ” รับ “Ageing Societies” เมืองไทย

        ปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งวางระบบการดูแลทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงการต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันกับที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงานยังมีภาระต้องทำมาหากิน ดังนั้นเวลาที่จะอยู่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงน้อยลงไปด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ก็ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานให้ดีทั้งในด้านของสถานที่และบุคลากรที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ “คุณภาพ มาตรฐานประเทศไทยและต่างประเทศ”         ทุกวันนี้ในเมืองไทยถือว่ามีสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ดังว่านั้นจะเป็นอย่างไร ทาง “ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์” อาจารย์ประจำคณะกายภาพมหาวิทยาลัยรังสิต ได้สะท้อนให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบันแม้จะมีมากขึ้นและมีหลายรูปแบบ  ซึ่งหลักๆ มี 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. เดย์แคร์ เช้าไปเย็นกลับ 2. Nursing Home ดูแลผู้สูงอายุที่ออกไปข้างนอกลำบาก หรือป่วยติดเตียง กลุ่มนี้จะอยู่นาน และ 3. เป็นเทรนด์มาใหม่คล้ายๆ คอนโดผู้สูงอายุ         ที่ว่ามานี้รวมๆ แล้วมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งมีการจดทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจริงๆ แค่ประมาณพันกว่าแห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเกิดแบบธรรมชาติหรือนักวิชาชีพไปเปิดเองแต่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่จำนวนเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการเข้าถึงยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลางหรือฐานะร่ำรวย         หากเทียบกับสถานดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี แคนาดา หรือญี่ปุ่น จะเห็นว่าของไทยยังมีข้อด้อยกว่าในหลายๆ ด้าน คือ        1. สัดส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อย่างที่กล่าวในตอนต้น         2. คุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นทั้งเรื่องของสุขภาพและสร้างสังคม หรือ healthcare + Social Care         อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเท่าที่ลงสำรวจ ถ้าพูดถึงคุณภาพตามข้อกำหนดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพถือว่าส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาใหม่ๆ เช่น การขยายประตู ทางเดินต่างๆ ต้องปรับกันพอสมควร ส่วนคนดูแลต้องไปสอบรับใบอนุญาตคล้ายๆ ใบประกอบการวิชาชีพ ดังนั้นเรื่องมาตรฐานถึงเราจะไม่พรีเมียม แต่ก็ไม่แย่นักและดีกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่ที่ยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้เลยคือ การเอาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบการบันทึกและติดตาม         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความหลากหลายของบุคลากรที่เข้าไปให้บริการดูแลผู้สูงอายุ  บ้านเรานั้นส่วนใหญ่อาจจะเป็นคุณพยาบาล เป็นผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งอาจจะดีหน่อยมีหมอเป็นเจ้าของเองมาดูแลบางส่วน หลายๆ แห่งมีบริการที่มากขึ้นเช่นมีนักกายภาพด้วย แต่ในต่างประเทศจะมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่าเป็น care worker หรือเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่าง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ตรงนี้สำคัญมากๆ และที่จริงมหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเปิดสอนปีนี้เป็นปีแรก          3. ระบบการเงิน ค่าบริการต่างๆ ในประเทศไทย ต่อให้บอกว่าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะสถานสงเคราะห์ อย่างบ้านบางแคก็ยังต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย แถมยังต้องรอคิวนานเป็นปี นอกนั้นเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ประชาชนต้องจ่ายเอง แต่ในต่างประเทศจะมีระบบการร่วมจ่าย (copayment) รัฐบาลกลางจ่ายส่วนหนึ่ง ท้องถิ่นจ่ายส่วนหนึ่งและประชาชนร่วมใจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพอได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ทำให้เกิดการเกิดการกระจายตัว ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้นและทำให้การระบบการตรวจสอบ กำกับ ติดตามและมาตรฐาน หรือ (KPI) เพื่อนำไปเบิกจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ ได้        “สมมุติว่าประเทศไทยทำเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุโดยตรง โดย สปสช. ยอมจ่าย แล้วไปจับมือกับท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีเงินอยู่เยอะมากที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ถ้าภาครัฐไปหยิบเงินจากตรงนี้มาแล้วไปวางกลไกการบริหารจัดการให้ดีของศูนย์จะทำให้เรามีระบบที่ดีมาก ซึ่งน่าจับตาเพราะตอนนี้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็นำมาทำแคมเปญอยู่” “ระบบ 3 หมอ ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ชุมชน”           ดร.วรชาติ ย้ำว่า จริงอยู่ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. มีระบบ 3 หมอ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีการเยี่ยมบ้านต่างๆ นานา ซึ่งถือว่าคล้ายกับแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สร้างสังคมชุมชนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า สังคมผู้สูงอายุโตเร็วมาก การสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ จึงเน้นที่การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้มีคุณภาพ แต่จะเห็นว่าในต่างประเทศนั้นเน้นวางระบบคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่การมีผู้ช่วยผู้สูงอายุ การปรับปรุงบ้านที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ           ในขณะที่ระบบ 3 หมอของไทย ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ดี แต่จะเห็นว่าในทางปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงการเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพจริงจัง หลายครั้งเป็นเหมือนการไปเยี่ยมผู้ป่วยแล้วเอากระเช้าไปมอบเท่านั้น และเน้นเรื่องการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบฉาบฉวยไม่ได้ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างหมอคนที่ 1 คือ “อสม” ก็มีภารกิจเยอะมาก ยังไม่รวมถึงเวลา คุณภาพ ความรู้ทัศนคติ รวมถึงทักษะการจัดบริการ  ส่วนหมอคนที่ 2 คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็มีภารกิจมากทำให้การดูแลแบบโฮมแคร์ยากขึ้นในประเทศไทย แต่หลายที่ก็ทำของแท้ได้โดยใช้กลไกชุมชนเข้ามาช่วยก็สามารถทำได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากสสส. เริ่มต้นคล้ายโมเดลผู้สูงอายุและใช้กลไกผู้สูงอายุมารวมตัวกัน แต่ตรงนี้ก็เน้นโซเชียลแคร์อย่างเดียว แต่ health care ยังไปไม่ถึง หรือทำให้ยังมีปัญหา “ขาดทั้ง 2 ฝั่ง” ฝั่งหนึ่งขาดบุคลากรมีความรู้ทางด้าน health care และ Social care ที่ทำงานร่วมกันได้ หากทำร่วมกันได้จะถือว่าเป็นระบบบริการใหม่ที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ ก็ต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่เราก็ไม่ได้แย่ จึงอยากฝากว่าจากนี้ เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุต้องสนใจ 3 เรื่องไปพร้อมกัน คือ        1. เรื่องสุขภาพ ในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามสุขภาพผู้สูงอายุสูงวัย เช่น นาฬิกาข้อมือที่สามารถรู้อัตราการเต้นของหัวใจ บางรุ่นดีมากๆ ถึงขนาดตรวจจับเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงหกล้มได้ จากนั้นวางผังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต้นสังกัด        2. สถานที่ บ้านต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ในต่างประเทศถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงที่พักอาศัยด้วย และ         3. เรื่องสังคม คือจะต้องมีโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สื่อสาร หรือมีกิจกรรมกับสังคมภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับการที่อยู่บ้านและสามารถสร้างสังคมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ได้  นอกจากนี้ อยากให้ทำระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  “สภาพปัญหาและเรื่องร้องเรียน”         นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนปัญหาของสถานดูแลผู้สูงอายุเข้ามา ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต่างๆ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตคือการร้องเรียนถึงการ “หลอกลวง” โดยบริษัทนายหน้าจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่จะส่งไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เช่น ส่งคนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลเด็ก ส่วนใหญ่อยู่ไม่นานก็หายไป ซึ่งในเรื่องนี้ ทางมพบ.ได้ให้คำแนะนำในการขอคืนค่าบริการ ซึ่งบางรายก็ได้เงินคืนบ้าง แบบทยอยคืน บางกรณีก็ไม่ได้คืนจนต้องฟ้องร้องคดี แต่การต่อสู้คดีก็พบว่ามีปัญหาตามมา เพราะดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อกฎหมายดี ถึงได้ส่งคนมาทำงาน 3 วัน 5 วัน ทำให้กลายเป็นแค่คดีแพ่งเท่านั้น (จะเข้าข่ายเป็นเรื่องฉ้อโกงหรือคดีอาญาคือ การไม่ส่งพนักงานมาเลย)           บริษัทพวกนี้ใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าจดในชื่อของบริษัท แต่ก็อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ ซึ่งจริงๆแล้ว คนที่เซ็นนั้นก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นตัวแทนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคหรือประชาชนอาจจะไม่ได้ขอดูรายละเอียดหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ บางคนโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียไว้ดีมาก มีหน้าม้าเข้ามาแสดงความเห็นชมเชย รีวิวดีงาม ซึ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ         ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคที่ต้องการว่าจ้างคนไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ผ่านบริษัทนายหน้า ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ มีการส่งงบดุลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ส่ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นบริษัทลม คิดจับเสือมือเปล่า รอมีคนว่าจ้างแล้วจึงจัดหาคนไปดูแล แล้วก็เข้าลูปเดิมคือ ไปทำงาน 3 วัน 5 วันแล้วหายตัวไป นอกจากนี้อย่าหลงเชื่อการแสดงความเห็นชมเชยทางโซเชียลฯ (รีวิว) ให้ตรวจสอบหลายๆ แหล่ง ว่ามีคนแสดงความเห็นตรงกันหรือไม่          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรโยนภาระให้ประชนเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเดียว แต่หน่วยงานรัฐควรเข้ามากำกับดูแลด้วย โดยจัดให้มีหน่วยงานกลาง กำกับดูแลบริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลเด็กตามบ้าน อย่างจริงจัง เหมือนกับที่มีหน่วยงานตรวจสอบ กำหนดมาฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลเด็ก ทั้งนี้หากพบว่ากระทำผิดต้องมีบทลงโทษจริงจัง เพราะที่ผ่านมา หลังจากมพบ.เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หลายหน่วยงานต่างก็โยนความรับผิดชอบไปให้อีกหน่วยงานหนึ่ง กลายเป็นว่าประชาชนไม่มีที่พึ่งต้องช่วยเหลือตนเอง          ในขณะที่สถานดูแลผู้สูงอายุและศูนย์ดูแลเด็กนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง เช่น สถานรับเลี้ยงตามชุมชน ตามหมู่บ้าน ในส่วนของผู้สูงอายุ ถ้ายกตัวอย่างคือสถานเลี้ยง ผู้สูงอายุบ้านบางแคและที่เปิดใหม่ที่ตรงบางปูของโรงพยาบาลรามาไปซื้อไม่ต่ำกว่าหลังละ 5 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ใช้บริการจะต้องไปซื้อหลังละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน แถมยังมีเงื่อนไขว่า เมื่อเสียชีวิตก็ต้องคืนสิทธิ์นั้นให้กับเจ้าของเพื่อให้ผู้บริหารจัดการนำไปปล่อยขายต่อไป ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมาะกับคนที่มีฐานะดีมากจริงๆ   “ข้อกำหนดมาตรฐานตามกฎหมาย”        “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน อธิบายว่า  หลักสูตรด้านการดูแลผู้สูงอายุของกรม สบส. มี 2 หลักสูตร 1. หลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน  มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติที่ดี ในการดำเนินงานการดูแล มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารดำเนินงานและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ต้องอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิต ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21            2. หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง  จะเป็นการอบรมให้มีทักษะสามารถทำงานได้จริง มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ประเมินภาวะวิกฤติ การช่วยชีวิต การปฐมพยาบาล การศึกษาสุขภาพองค์รวม โดยผู้เรียนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาภาคบังคับ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เป็นต้น          ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ผ่านหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ทั้งหมด  663 คน อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์ระบุว่า สำหรับผู้ที่จบ 11 หลักสูตรไม่ต้องเข้ารับการอบรม ก็สามารถสอบเป็นผู้ดำเนินการได้ ดังนี้  หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรการแพทย์แผนจีน หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขากิจกรรมบำบัด หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยรวมแล้วตอนนี้มีใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ 2,328 คน (ข้อมูล 11 พ.ค. 2566)         ส่วนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 4,267 คน และมีผู้ที่จบ 5 หลักสูตรที่ไม่ต้องเข้ารับอารอบรม ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานดูแลได้เลย คือ หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล  โดยสรุปมีผู้ได้รับใบรับรองเป็นให้บริการ ทั้งหมด 8,214 คน (ข้อมูล 11 พ.ค.2566)         นพ.สุระ ระบุเพิ่มเติมว่า ตามกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แบ่งลักษณะ การให้บริการออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวันที่มีการจัดกิจกรรมการดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย ซึ่งในลักษณะที่ (1) และ (2) ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนในการให้บริการไว้         ลักษณะที่ (3) การให้บริการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีการจัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน โดยในลักษณะที่ (3) ได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ (ผู้ดูแลผู้สูงอายุ) 1 คนต่อผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) ไม่เกิน 5 คน หรือ 1 : 5  ถ้าไม่เป็นไปตามสัดส่วนนี้จะไม่สามารถขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการได้ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการลักษณะ ที่ 3 ที่ได้รับอนุญาต 783 แห่ง         สำหรับหลักเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ จะกำหนดไว้หลักๆ 3 ด้าน ดังนี้ 1. มาตรฐานด้านสถานที่ 2. มาตรฐานด้านความปลอดภัย 3. มาตรฐานด้านการให้บริการ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการได้ที่ Website : https://esta.hss.moph.go.th/ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 5 ปี ผู้ขออนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี และมีการต่ออายุทุก 5 ปี ทั้งนี้หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษ ดังนี้         1. กรณีสถานที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งมาตรา 41 การใช้ชื่อ “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท มาตรา 42 การไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         2. กรณีบุคลากรไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้ให้บริการที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในมาตรา 23 จะถูกลบชื่อออกจากทะเบียน โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2) ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสบส. และ ข. ลักษณะต้องห้าม 1) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  2) เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3. กรณีหากเกิดความเสียหายหรือสูญเสียในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือจากบุคลากรตามกฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่มีบทกำหนดโทษ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น         สำหรับ กรณี “บริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ” นั้นในการการจัดส่งคนไปดูแลที่บ้านจะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของ ผู้รับบริการ พ.ศ. 2564 ผู้รับผิดชอบ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่ประสงค์จะดำเนินกิจการเพื่อให้บริการต้องขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ผู้ดำเนินกิจการประกอบ กิจการในเขตท้องถิ่นนั้น โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้        1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์         2.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ         4. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี          5. ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หรือความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี        6. ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ และต้อง ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่กรมอนามัยรับรอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เขาช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ” อย่างไร

        ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่        1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด        2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด        3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด        4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด        5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)         6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)         7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)         8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด        9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด        10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)         11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด        12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้        ·     บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall        ·     บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)        ..7 eleven         ·     บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด         ............        ลอว์สัน        ·     บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์        ·     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์

        ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว        ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์  ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา)        เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้         ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น         ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง          เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย          ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้         เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว)        ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน         ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ         ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์         จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้         - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%)         - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์         - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ           - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ        - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ        - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย         - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)         - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ        - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก         - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ         - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์         - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์         อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ         จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง         สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น  Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป         ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน       ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด         2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้         3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด        4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า         5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้         6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย *         8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่         9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้         10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า        11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง         13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน         15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 244 เวย์โปรตีนกับสตรีและคนชรา

        หลายคนเชื่อมโยง “เวย์โปรตีน” เข้ากับภาพชายหนุ่มกล้ามแขนเป็นมัดๆ หรือนักกีฬาเพาะกาย แล้วถ้าสาวๆ ที่รักการออกกำลังกายอยากมีกล้ามเล็กๆ บ้าง รับประทานเวย์โปรตีนจำเป็นไหม คำถามเดียวกันแล้วสำหรับคนสูงวัย เวย์โปรตีนช่วยได้แค่ไหน เพราะเริ่มเห็นโฆษณากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ให้ สว.ทั้งหลายรักษามวลกล้ามเนื้อด้วยเวย์โปรตีน         ทำความเข้าใจกันก่อน เวย์โปรตีน คือนมวัวนี่แหละ แต่แยกส่วนของไขมันออกไป (ส่วนนั้นกลายไปเป็นเนย) ส่วนเป็นน้ำแยกออกมาเรียกว่าเวย์ (Whey) ต่อมาก็ทำให้เป็นผง ซึ่งจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-80% (whey concentrate) ที่เหลือเป็นน้ำตาลแลคโต้สและไขมัน จากขั้นตอนนี้ถ้าสกัดเอาน้ำตาลและไขมันออกไปอีก เหลือเปอร์เซ็นต์โปรตีนให้มากสุดจะเรียกกันว่าเวย์โปรตีนชนิด whey isolate ซึ่งจะมีโปรตีนสูงระดับ 90% ขึ้นไป         ดังนั้นเวย์คือโปรตีนชนิดหนึ่ง รับประทานได้ไม่อันตราย แต่จำเป็นไหมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา สารอาหารที่เรียกว่า "โปรตีน" นั้นมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ เพราะเป็นสารอาหารที่จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต ทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย พร้อมกับให้พลังงานในกรณีที่ร่างกายขาดพลังงานด้วย แต่พิจารณาจากรูปแบบการบริโภคของคนไทยแล้ว แทบจะไม่ค่อยขาดสารอาหารชนิดนี้ ยิ่งปัจจุบันยิ่งนิยมรับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มนมกันมาก การพิจารณาว่า เวย์โปรตีนจำเป็นไหม ก็อาจมองได้ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล         สำหรับบางคนเวย์ อาจตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสำหรับคนไม่มีเวลาหรือในบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากอาหารหลักได้ อาจจะใช้เวย์โปรตีนเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอาหารปกติทั่วไปที่มีแหล่งโปรตีนเองได้ เช่น ไข่ นม นมจากถั่วชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ ปลา เวย์ก็ไม่จำเป็น         ผู้หญิงรับประทานได้ไหม แล้วจะอ้วนไหม มีคำแนะนำว่า ต้องดูก่อนว่าคุณอยากเพิ่มน้ำหนักหรืออยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเพิ่มน้ำหนักรับประทานเวย์ชนิด  concentrate ซึ่งมีน้ำตาลและไขมันเหลืออยู่มากจะช่วยเพิ่มน้ำหนัก แต่ถ้าอยากสวยแบบลีนและมีกล้ามเนื้อเพิ่ม whey isolate ก็เหมาะกับคุณ (อย่างไรก็ตามต้องควบคู่กับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีด้วย)          ผู้สูงวัย  จริงๆ แล้วทุกวัยต้องการโปรตีน ดังนั้นเวย์ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับผู้สูงวัย แต่ด้วยหลักการเดียวกัน คือ จำเป็นหรือไม่ ถ้าผู้สูงอายุกินโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆ ได้ เวย์ก็ไม่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความไม่สะดวกซื้อ

        ร้านสะดวกซื้อนั้นคือสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ไปแล้ว ในแต่ละชุมชนร้านสะดวกซื้อแบบ 24 ชั่วโมงจะวางตัวผ่าเผย พร้อมส่งเสียงยินดีต้อนรับเมื่อประตูเปิดออก แต่บางครั้งความสะดวกซื้อก็นำปัญหาแบบไม่สะดวกใจมาให้ได้ง่ายๆ และหลายครั้งท่าทีหรือการแสดงความรับผิดชอบก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เรามาลองดูจากกรณีร้องเรียนเรื่องนี้กัน               ภูผา พี่สาว และหลานชายไปซื้อโยเกิร์ต 4 กระปุก ที่เซเว่นสาขาแถวงามวงศ์วาน ด้วยความที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ตอนซื้อจึงให้ความสนใจฉลากโดยเพ่งเล็งแต่เรื่อง ยี่ห้อไหนมีน้ำตาลน้อยกว่ากัน และสุดท้ายเลือกอันที่น้ำตาลน้อยมาพร้อมจ่ายเงินซื้อมา เมื่อกลับมาถึงบ้านภูผาก็กินโยเกิร์ตกับหลานชายไป 1 กระปุกแบ่งกันคนละครึ่ง เขายังบอกกับหลานชายเลยว่ายี่ห้อนี้ไม่ค่อยอร่อยเนอะ สงสัยเพราะน้ำตาลน้อย         วันถัดๆ มาอากาศค่อนข้างร้อน ภูผาบ่นกับหลานว่าอยากกินอะไรเย็นๆ จัง หลานชายจึงเสนอไอเดียว่าในตู้เย็นมีมะม่วง สตรอว์เบอรี่ แล้วก็โยเกิร์ตที่เหลืออยู่จากเมื่อวาน 3 กระปุก เอามาทำสมูตตี้มะม่วงกับสตรอว์เบอรี่กินกันดีกว่า โอ้ ไอเดียดีงาม ภูผาเห็นด้วยและให้หลานดูก่อนว่าโยเกิร์ตหมดอายุหรือยัง หลานบอกว่า โยเกิร์ตหมดอายุแล้วด้วย 1 กระปุก ส่วนอีก 2 กระปุกยังไม่หมดอายุ แต่ว่ากระปุกที่หมดอายุแล้วมันหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วล่ะสิ         ภูผาเริ่มเครียดเพราะเขาซื้อสินค้าต้นเดือนมีนาคม และเจ้าร้านสะดวกซื้อร้านนี้เพิ่งเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไงวันหมดอายุของโยเกิร์ตถึงเป็นเดือนมกราคมไปได้ และเป็นลอตเดียวกับที่เขากินไปเมื่อวันก่อนกับหลานชายอีกด้วย เขาไม่รอช้าเมื่อรีบสตาร์ทรถไปเซเว่นสาขาที่ซื้อมาทันที พร้อมกับเอาโยเกิร์ตทั้ง 3 กระปุกไปด้วย เมื่อไปถึงก็เล่าเรื่องคร่าวๆ ให้พนักงานฟังและขอพบผู้จัดการ พนักงานแจ้งว่าผู้จัดการกลับบ้านไปแล้วค่ะ อีกทั้งสินค้านี้พนักงานก็ยังไม่มั่นใจว่าซื้อที่เซเว่นจริงหรือเปล่า ซื้อที่สาขานี้จริงหรือเปล่า เพราะว่าภูผาไม่ได้เก็บใบเสร็จเอาไว้ ภูผาเข้าใจได้เรื่องไม่มีใบเสร็จ แต่โชคดีหน่อยตอนจ่ายเงินเขาใช้บัตรสมาชิกของหลานชายจ่ายไป ดังนั้นจึงถือเป็นหลักฐานได้ว่า เขาซื้อสินค้านี้ที่นี่จริงๆ         เขาสอบถามพนักงานว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้าง พนักงานก็หาข้อมูลอยู่เกือบชั่วโมง สุดท้ายก็บอกว่าต้องหาหลักฐานยืนยันก่อน ต้องดูกล้องว่าเขาเป็นผู้ซื้อที่สาขานี้จริงหรือไม่ แล้วจะติดต่อกลับไป ภูผาบอกได้ สิจะรอนะว่าทางร้านจะรับผิดชอบอะไรบ้าง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีการติดต่อกลับเขาจึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผู้ร้องได้แจ้งร้านค้าและนำหลักฐานไปให้ร้านค้าดูเบื้องต้นแล้ว แต่ร้านค้ายังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไร อย่างแรกที่ผู้ร้องต้องทำคือไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อเป็นหลักฐานว่าเซเว่นจำหน่ายสินค้าหมดอายุจริงๆ ผู้ร้องไม่ได้โกหก เซเว่นนี้เป็นสาขาหนึ่งของเซเว่นทั้งหมด ผู้ร้องต้องทำหนังสือโดยเล่าเหตุการณ์คร่าวๆ พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ภาพถ่ายโยเกิร์ตที่หมดอายุ เป็นต้น ส่งไปยังบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จ่าหน้าซองถึงประธานบริษัทหรือกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากต้องการให้บริษัทแม่รับผิดชอบต่อการขายสินค้าหมดอายุของสาขา ที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่า บางทีพนักงานที่ผู้ร้องแจ้งเรื่องไว้ หรือผู้จัดการสาขาไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องของผู้ร้อง วิธีนี้ทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินการแก้ไขปัญหาและแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ร้อง         ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน การเลือกซื้อสินค้าควรพิจารณาฉลากให้ละเอียด โดยเฉพาะวันหมดอายุ หากพบว่ามีสินค้าหมดอายุต้องแจ้งแก่พนักงานให้เก็บจากชั้นสินค้าทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ปัญหาเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยไม่ดี

        เนอร์สซิ่งโฮม คือบริการในด้านสถานที่สำหรับการดูแลพักฟื้นและให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัยด้วยตนเอง หรืออาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ดีพอ จึงเลือกใช้บริการด้านนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย ด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า         คุณสาละวิน ตัดสินใจพาคุณแม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง  สมมติว่าชื่อ สว. เนอร์สซิ่งโฮม เนื่องจากคุณแม่มีภาวะกระดูกหักที่สะโพกและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งทางคุณสาละวินพิจารณาแล้วว่า การอยู่เนอร์สซิ่งโฮมที่มีพนักงานและอุปกรณ์พร้อมน่าจะดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งคุณแม่ก็เข้ารับบริการอยู่ที่นี่ได้สักพักหนึ่ง         วันหนึ่งได้รับแจ้งว่าคุณแม่ของเธอถูกส่งไปรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการหายใจไม่ออกเจ็บหน้าอกและมีไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่ของเธอต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ทันที ขณะนั้นเธอก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันขณะที่เธอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณแม่ คุณแม่ร้องบอกว่า “เจ็บ เจ็บ” เธอพลิกก้นคุณแม่ดูจึงพบว่า มีแผลกดทับที่ก้นคุณแม่ขนาดใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมว่า คุณแม่มีแผลกดทับได้อย่างไร เพราะตอนเข้าไปในเนอร์สซิ่งโฮมไม่มีบาดแผลดังกล่าวแน่นอน        ทางเจ้าของสถานบริการรีบปฏิเสธว่าคุณแม่ไม่มีแผลกดทับจากการดูแลของทางเรา ส่วนแผลที่คุณสาละวินเห็นเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาล เพราะไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมนานๆ และไม่พลิกตัวจึงทำให้กลายเป็นแผลกดทับ เธอจึงคาดคั้นว่าเกิดจากที่โรงพยาบาลจริงหรือ อาการแผลกดทับที่เพิ่งเป็นกับที่เป็นมานานแล้วแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะพลาดจนแม่เกิดแผลกดทับจริงหรือ เธอไม่เชื่อตามที่ทางสถานบริการแจ้งมา และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ ในท้ายที่สุดเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมก็ยอมรับว่า “เกิดจากการที่ดูแลคุณแม่ของเธอไม่ดีและขอรับผิดชอบด้วยการที่จะดูแลคุณแม่ของเธอให้ดีในช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล”         คุณสาละวินจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้เธอสามารถเรียกค่าชดเชยจากเนอร์สซิ่งโฮมที่ทำให้คุณแม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา             กรณีนี้เป็นการละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ดูแลหรือทางสถานบริการจะต้องดูแลผู้สูงอายุตามหน้าที่ ตามสัญญา หากไม่ดำเนินการตามสัญญา อีกทั้งละเลยจนทำให้ได้รับความสียหายเกิดแผลกดทับ ผู้บริโภคสามารถเรียกเป็นค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาให้กลับมาเป็นปกติ และอื่นได้ตามสมควร         หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนทางเนอร์สซิ่งโฮมได้ขอยกเลิกการมาดูแลคุณแม่ของคุณสาละวินขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสาละวินได้ขอให้เนอร์สซิ่งโฮมคืนเงินที่เหลือ เพราะคุณแม่ของเธออยู่ใช้บริการในสถานบริการไม่ครบเดือนตามสัญญากับทางสถานบริการ         เรื่องนี้ได้มีการจัดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้เชิญผู้แทนทางเนอร์สซิ่งโฮมเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำคุณสาละวินให้ใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากอายุความละเมิดมีกำหนดแค่ 1 ปี ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ให้ทางคุณสาละวินได้เตรียมพร้อมในส่วนข้อมูล เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและในอนาคต เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียกค่าเสียหายในการดำเนินคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ซื้อสินค้าหมดอายุ ใช้สิทธิได้มากกว่าที่คิด

        หากซื้อสินค้าที่หมดอายุมา อย่าคิดว่าไม่เป็นไรเงินแค่นิดหน่อยเอง ไม่อยากเสียเวลาไปเรียกร้องสิทธิ หรือเหตุผลอื่นๆ ขอให้คิดอีกสักนิดว่าถ้าเราละเลยการใช้สิทธิด้วยเหตุผลเหล่านี้บ่อยครั้งเข้านั่นจะเท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้ขายเอาเปรียบเราได้เรื่อยๆ ดังนั้นเราต้องฝึกใช้สิทธิที่เรามี มาลองดูผู้บริโภครายนี้ว่าเมื่อเขาเจอร้านขายสินค้าที่ขายวิตามินหมดอายุเขาทำอย่างไร         คุณภูผา ซื้อวิตามินมาจากร้านวสันต์ ราคาประมาณ 300 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ซื้อเสร็จก็เก็บไว้ในลิ้นชักในโต๊ะที่ทำงานเพื่อเอาไว้รับประทาน ช่วงปลายเดือนธันวาคมได้รับประทานเข้าไป 1 เม็ด จนเปิดงานช่วงปีใหม่เขาก็ทำความสะอาดจัดเก็บโต๊ะทำงานใหม่ให้เข้าที่เข้าทางซึ่งเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีสำหรับเขา เมื่อหยิบที่ขวดวิตามินซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ก็เห็นฉลากข้างขวดระบุวันหมดอายุวันที่ 16/10/62 อ้าว ! หมดอายุมาตั้ง 1 ปีแล้ว เอามาขายให้เขาได้อย่างไร         ปัญหาคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรดี ใบเสร็จก็ทิ้งไปแล้ว ตัดสินใจลองโทรศัพท์ไปที่ call center ร้านวสันต์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พนักงานฟังและบอกว่าทิ้งใบเสร็จไปแล้ว ช่วยตรวจสอบประวัติในการซื้อสินค้าให้ได้ไหม เพราะเขาต้องการเปลี่ยนสินค้า ต่อมาเจ้าหน้าที่สาขาของร้านได้โทรศัพท์มายอมรับและขอโทษที่ได้ขายสินค้าหมดอายุและขอให้คุณภูผานำสินค้าไปเปลี่ยนได้ที่สาขาดังกล่าว  อย่างไรก็ตามคุณภูผาก็คิดเผื่อคนอื่นด้วยว่า แค่เปลี่ยนให้คงน่าจะยังไม่เพียงพอเพราะเป็นการแก้ปัญหาให้เขาคนเดียว เขาอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้เพราะว่าเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งวิตามินที่หมดอายุนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเพิ่มเติมอะไรได้อีกบ้างนอกจากการเปลี่ยนคืนสินค้า แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แนะนำว่า เบื้องต้นผู้ร้องควรไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน มีสิทธิเปลี่ยนสินค้าคืนได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่ร้าน เพราะว่าการจำหน่ายสินค้าหมดอายุเกิดจากความบกพร่องของร้านค้า สามารถให้ร้านค้านำสินค้ามาเปลี่ยนให้ผู้ร้องในสถานที่ที่ผู้ร้องสะดวก หรือถ้าไปเปลี่ยนสินค้าที่ร้านผู้ร้องสามารถเรียกให้ร้านชดใช้ค่าเดินทางหรือค่าเสียเวลาได้ หรือต้องการเงินคืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสินค้าก็ได้ กรณีต้องรักษาพยาบาลสามารถให้ร้านค่าชดใช้ค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ยังสามารถให้ร้านค้าออกหนังสือขอโทษผู้ร้องได้ด้วย         หลังจากได้รับคำแนะผู้ร้องโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้แจ้งความที่สถานีตำรวจ และร้องเรียนไปยังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้ร้านนำสินค้ามาเปลี่ยนให้ที่บ้าน หลังจากนั้นผู้จัดการสาขาได้นำสินค้าไปเปลี่ยนให้ผู้ร้องที่บ้าน พร้อมมอบกระเช้าเพื่อแสดงความรับผิดชอบและกล่าวขออภัยผู้ร้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ร้องเห็นถึงความจริงใจของร้านก็ได้ไม่ติดใจอะไร แต่ก็ขอให้ร้านมีระบบไม่นำสินค้าหมดอายุมาขายอีก ส่วนกระเช้าผู้ร้องไม่อยากได้จึงขอให้ร้านเปลี่ยนเป็นหน้ากากอนามัยเพื่อนำไปบริจาคให้แก่จังหวัดสมุทรสาคร ร้านยินดีเปลี่ยนจากกระเช้าเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 2,000 ชิ้น และส่งไปบริจาคยังจังหวัดสมุทรสาคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 232 สังฆทานที่โยมถวายมา มียาหมดอายุ

        เมื่อกล่าวถึงการเข้าวัดทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่อาจนึกถึงกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน หรือปล่อยนกปล่อยปลา เช่นเดียวกับคุณนริศที่ชอบซื้อชุดสังฆทานไปถวายพระ ซึ่งเดิมเคยคิดว่าการทำบุญนั้นไม่น่าจะยุ่งยากอะไร แต่เมื่อต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้า คุณนริศจึงทราบว่าการทำบุญนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรอบคอบเช่นกัน         เช้าวันหนึ่งคุณนริศได้จอดรถแวะซื้อชุดสังฆทานที่ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำไปทำบุญที่วัดแถวละแวกบ้าน  คุณนริศเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่ชอบถวายสังฆทานเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าการถวายสังฆทานเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เมื่อเดินทางมาถึงวัดและถวายสังฆทานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย หลวงพี่ท่านหนึ่งก็ได้บอกกับคุณนริศว่า สังฆทานที่โยมเคยนำมาถวายครั้งก่อนนั้น มีของหมดอายุ โดยเฉพาะพวกยาต่างๆ นั้นไม่สามารถใช้การได้เลย         คุณนริศทราบเช่นนั้น จึงเกิดความไม่สบายใจ และคิดว่าทำไมคนขายสังฆทานถึงได้บรรจุของที่ไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะยาที่หมดอายุเอาไว้ในชุดสังฆทานเช่นนี้ หรือคนขายก็ไม่ทราบเช่นกันว่า ของที่ถูกบรรจุอยู่ในชุดสังฆทานนั้นหมดอายุ จึงได้สอบถามมาขอคำแนะนำถึงวิธีแก้ปัญหา เพราะตนนั้นก็ชอบทำบุญด้วยการถวายสังฆทานอยู่บ่อยครั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนริศสามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน 1166 หรือ สคบ.ประจำจังหวัดให้ช่วยตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายชุดสังฆทานดังกล่าวได้ เพราะชุดสังฆทาน หรือ ชุดไทยธรรม นั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ สคบ.         โดยชุดสังฆทานที่จำหน่ายทั่วไปนั้น ต้องติดหรือแสดงฉลากเป็นข้อความภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจน มีการระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และแจกแจงราคาของสินค้าแต่ละรายการ รวมถึงวันหมดอายุ และวันเดือนปีที่บรรจุชุดสังฆทาน โดยหากพบผู้จำหน่ายชุดสังฆทานที่ไม่มีฉลาก หรือ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีนี้ ยังพบว่ามียาหมดอายุซึ่งถือว่าเป็นยาที่เสื่อมคุณภาพแล้วบรรจุอยู่ในชุดสังฆทาน ซึ่งตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งยาเสื่อมคุณภาพ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72(3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นหากผู้บริโภคจะเลือกซื้อสังฆทานไปทำบุญ ก็ขอให้เลือกซื้อแบบที่มีฉลากถูกต้อง โดยสามารถดูรายการสินค้าแต่ละชนิด และวันหมดอายุได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมายด้วย

อ่านเพิ่มเติม >