ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 อาญารัก : เหตุแห่งรักที่ต้องโบยด้วยหวาย

นักสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์บางคน เคยอธิบายไว้ว่า ในสังคมอุตสาหกรรมหรือในระบบทุนนิยมนั้น ถือเป็นสังคมที่ผู้หญิงได้ถูกกดขี่ขูดรีดเอาไว้อย่างมากที่สุด ไม่ว่าจะด้วยภาระงานในบ้าน นอกบ้าน ค่าจ้างแรงงานที่ไม่เสมอภาค ไปจนถึงชีวิตที่ขาดการดูแลคุณภาพในฐานะอีกหนึ่งชีวิต แต่กระนั้นก็ดี ในกลุ่มของนักสตรีนิยมด้วยกันเอง ก็มีบางเสียงที่เห็นแย้งไปว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมเท่านั้นหรอก ที่ผู้หญิงจะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างเข้มข้น แต่ในทุก ๆ สังคมที่ยังคงถือเอาค่านิยมที่ผู้ชายมีอำนาจและเป็นใหญ่อยู่ต่างหาก ที่ผู้หญิงทั้งหลายจะถูกขูดรีดเอาเปรียบในทุกวิถีทาง และหากคำโต้แย้งข้อหลังเป็นจริง ก็คงจะเห็นได้จากชีวิตของผู้หญิงอย่าง “เนียน” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “อาญารัก” ที่เข้าขั้นรันทดลำเค็ญ จนถึงระดับที่เธออาจต้องร้องบอกคนดูได้เลยว่า “โหดกว่านี้ยังมีอีกไหมพี่???” เรื่องราวของเนียนย้อนไปในยุคหลังเลิกทาส อันเป็นช่วงสมัยก่อนสังคมอุตสาหกรรมจะก่อตัวขึ้นในสยามประเทศ เนียนซึ่งเป็นหญิงที่อาภัพ ความรู้ก็น้อย สามีก็มาเสียชีวิตลง แถมจับพลัดจับผลูต้องเป็นหนี้เป็นสินอย่างล้นพ้น เธอจึงจำต้องมาทำงานเป็นบ่าวขัดดอกอยู่ในเรือนของ “ขุนภักดีบริบาล” และตกเป็นภรรยาของท่านขุนภักดีในที่สุด   และเพราะเรือนของขุนภักดีบริบาลไม่แตกต่างจากภาพจำลองขนาดย่อม ๆ ของสังคมไทยที่ยึดถือค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่อยู่เป็นฉากหลัง ชะตาชีวิตของเนียนจึงมีอันต้องผันไปตามความรักความปรารถนาของขุนภักดีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อขุนภักดีเข้าใจผิดคิดว่าเนียนคบชู้ จากความรักความหลงแบบโมหจริตก็ได้เปลี่ยนเป็นโทสจริตเพียงชั่วยาม ขุนภักดีจึงลง “อาญาแห่งรัก” โบยหลังเนียนด้วยแส้ม้า และขับไล่ไปขี้ข้าเลี้ยงหมูอยู่สุดปลายสายตาของเขตเรือน คำพิพากษาของท่านขุนภักดีไม่ใช่มาจากเหตุอื่นใด นอกจากเพื่อบอกทั้งเนียนและทุกคนที่อยู่ใต้อาณัติแห่งตนว่า “เหตุผลใด ๆ” ในสากลพิภพก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับ “เหตุผล” หรืออำนาจของขุนภักดีบริบาลผู้เป็นใหญ่ในเรือนหลังดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว เพราะฉะนั้น แม้ในความจริงแล้ว เนียนจะมิได้ประพฤติผิด “อาญา” ตามที่ขุนภักดีกล่าวอ้างแต่ประการใด แต่ทว่าประวัติศาสตร์ชีวิตของเนียนก็ไม่ได้ถูกเขียนหรือกำหนดได้ด้วยตัวของเธอเอง หากแต่ต้องเป็นไปตาม “เหตุผล” ที่ขุนภักดีขีดขึ้นไว้ให้เท่านั้น และกับตัวละครหญิงคนอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้ดูรันทดอาภัพเท่ากับเนียน แต่ก็มีสถานะในบ้านไม่ได้แตกต่างกัน เริ่มจากภรรยาหลวงอย่าง “เรียม” ที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับ “เหตุผล” แบบขุนภักดี ก็ได้แต่ทำตัวแบบน้ำท่วมปาก หรือแม้แต่อ้างความกตัญญูที่จะพรากลูกแฝดของเนียนมาเป็นลูกของตน เพียงเพื่อรักษาสถานภาพภรรยาเอกของขุนภักดีเอาไว้ ในสังคมที่บุรุษอย่างขุนภักดีบริบาลมีอำนาจอยู่ ผู้หญิงอย่างเนียนจึงมิได้แค่ม้วยด้วยมือของผู้ชายเท่านั้น หากแต่ยังต้องมาม้วยด้วยมือของผู้หญิงด้วยกันเองอย่างคุณเรียมผู้มีพระคุณของเธอด้วย ส่วน “สน” ผู้เป็นภรรยารองและสีสันของเรื่องนั้น เพื่อธำรงสถานะของตนเองไว้ ก็ต้องพยายามทุกวิถีทางเช่นกัน แม้แต่จะใช้เล่ห์กลโกงหรือมิจฉาทิฐิเข้ามาจัดการกับเนียนและทุกคนในบ้านที่จะเข้ามาเป็นปรปักษ์ในชีวิตของเธอ แต่ในแง่นี้ ละครก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า “อำนาจ” ของเพศชายที่เป็นใหญ่ดังกล่าว อาจไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในพื้นที่ของบ้านหรือสถาบันครอบครัวเท่านั้น แต่แผ่ซ่านเข้าไปควบคุมผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อสนวางแผนจ้างให้ “เสือหนัก” ข่มขืนเนียน โดยที่ไม่รู้เลยว่าเสือหนักนั้นเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเนียน ละครก็ได้ลงโทษทั้งสนและบ่าวพลอยพยักอย่าง “ช้อย” ให้ถูกเสือหนักและพรรคพวกย้อนรอยมารุมข่มขืนถึง 7 วัน 7 คืน การข่มขืนและลงอาญาด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นนี้ จึงเป็นอีกด้านที่ฉายให้เห็นอำนาจของบุรุษเพศ ที่จะเข้ามาให้คุณให้โทษกับตัวละครหญิงคนใดก็ได้ ในบ้านหรือนอกพื้นที่ของครัวเรือนก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าชายผู้นั้นจะเป็นขุนภักดีบริบาลผู้เป็นข้าหลวงใหญ่ในหัวเมือง หรือจะเป็นขุนโจรชื่อก้องอย่างเสือหนักก็ตาม ผู้หญิงจะดีจะเลวหรือจะเป็นคนแบบไหนจึงไม่สำคัญ ตราบใดที่พวกเธอยังต้องอยู่ในวังวนของอำนาจที่กำกับโดยบุรุษเพศด้วยแล้ว ชีวิตของเธอก็มีแนวโน้มจะสุขหรือทุกข์แบบผันไปตามความปรารถนาของเพศชายเท่านั้น ทางออกที่ละครมอบให้กับเนียนนั้น จึงหนีไม่พ้นการให้เธอวางอุเบกขาและยอมรับชะตากรรมต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้โดยผู้อื่น ไม่แตกต่างไปจากนางสีดาผู้ต้องลุยไฟกว่าจะพิสูจน์คุณความดีที่แท้จริงได้ในตอนจบ “อาญารัก” อาจเป็นตัวอย่างการลงโทษโดยใช้ความรุนแรงต่างๆ ทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่มีต่อสตรีเพศ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุตสาหกรรม แต่กระนั้น ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งในบ้านและนอกบ้านแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสูญสลายหายไปแล้วในปัจจุบัน แบบที่เราๆ เองก็อาจได้พบได้เห็นกันอยู่เป็นเนืองๆ หากเป็นดั่งนี้แล้ว การชูป้ายของนักสตรีนิยมที่จะให้ “stop violence against women” ก็น่าจะคงอยู่ ตราบเท่าที่หวายและแส้ม้าไม่ได้ถูกเก็บออกไปจริงๆ จากจิตสำนึกของสังคมไทย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point