ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อยู่คอนโด เลี้ยงสัตว์ได้ไหม ใครกำหนด

        หลายท่านที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดคงทราบดีว่าการอยู่ด้วยกันในพื้นที่แนวดิ่ง เป็นเรื่องที่เราต้องอยู่อาศัยอยู่กับคนจำนวนมาก แม้จะอยู่แยกห้องส่วนตัว แต่ก็มีอาคาร มีทรัพย์ส่วนกลางที่ใช้สอยด้วยกัน เช่น พื้นที่จอดรถ ห้องออกกำลังกาย ลิฟต์ สระว่ายน้ำ  ดังนั้น การอยู่อาศัยในคอนโดจึงมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวและส่วนที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม  ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือต้องสร้างกติการในการอยู่ร่วมกัน การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน เพื่อแบ่งปันกันใช้ประโยชน์ ป้องกันปัญหาความขัดแย้ง  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ก็มีข่าวดัง เกี่ยวกับผู้เป็นเจ้าของห้องชุดท่านหนึ่ง ที่ถูกฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์โดยฝ่าฝืนกติการ่วมกันคือข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดและระเบียบนิติบุคคลอาคารชุดที่กำหนดไว้ โดยที่สุดศาลก็ตัดสินให้เจ้าของสัตว์และเป็นเจ้าของห้องชุดชำระเงินจำนวน 141,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 140,500 บาท นับจากวันที่ได้มีการฟ้องร้อง         คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วข้อกำหนดที่ห้ามเลี้ยงสัตว์มาจากไหน ใครกำหนด  ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่อยู่อาศัยแนวดิ่งที่เราคุ้นกันในชื่อคอนโด เป็นที่พักอาศัยที่มีกฎหมายควบคุมไว้เป็นการเฉพาะ คือพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ วางกฎเกณฑ์ของเรื่องอาคารชุดตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการไปตลอดจนการบริหารจัดการภายหลังโครงการแล้วเสร็จและเปิดให้ผู้ซื้อเข้าอยู่อาศัย ซึ่งเมื่อมีผู้ซื้อจำนวนหนึ่ง ก็จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคอนโด จะทำหน้าที่บริหารนิติบุคคลอาคารชุด ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของผู้อยู่อาศัยในคอนโด และออกกฎระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของบรรดาเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม รวมถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากบรรดาสมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามสัดส่วน ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมีการหารือตกลงกันว่าสมควรให้มีการเลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุด         ในแง่หนึ่ง หลายคนมองว่าการนำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงในพื้นที่ส่วนบุคคลในคอนโด ก็ควรทำได้ เพราะถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนในคอนโด ไม่มีกฎหมายข้อใดห้ามไว้  แต่ในอีกมุมหนึ่ง การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็ต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือสร้างความเสียหายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยเช่นกัน  หากมีการสร้างความเดือดร้อนนรำคาญ ส่งเสียงดังรบกวนการอยู่อาศัยของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนอื่น ก็ต้องมีการจัดการตามข้อบังคับหรือระเบียบของนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้วางไว้          โดยปกติ คอนโดส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้เจ้าของกรรมสิทธิ์นำสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงไว้ในคอนโด หากมีการอนุญาตก็จะอนุญาตแบบเงื่อนไข โดยการออกระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในคอนโดของคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด จะอยู่ภายใต้มติของที่ประชุมใหญ่สมาชิกเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่ได้จัดให้มีการประชุมขึ้นเป็นประจำทุก ปี ดังนั้น บรรดาข้อบังคับของอาคารชุดที่ออกมาก็เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญสำหรับคอนโดนั้นๆ ที่คนในคอนโดส่วนใหญ่เห็นชอบร่วมกัน ทุกคนจึงต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตาม ตลอดจนไปถึงระเบียบต่างๆที่ออกภายใต้ข้อบังคับดังกล่าวด้วย  ดังนั้น  หากใครเป็นคนรักสัตว์เลี้ยงและชอบสัตว์เลี้ยง ก่อนซื้อคอนโดก็ควรตรวจสอบเกี่ยวกับข้อบังคับ กติกาหรือระเบียบในเรื่องการเลี้ยงสัตว์ให้ดี ก่อนตัดสินใจ มิฉะนั้น จะทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในคอนโด และอาจลุกลาม จนท้ายที่สุดต้องเสียเงินมากมาย ดังเช่นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมที่เป็นข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 เรื่องที่คนอยู่คอนโดต้องรู้ “ปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด”

ที่อยู่อาศัยแบบอาคารชุด ที่เรียกกันติดปากว่า “คอนโดมิเนียม” มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทั่วประเทศไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลักการเลือกซื้อคอนโดของหลายๆ คนประกอบกันด้วยหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของราคา ความสะดวกสบายเรื่องการเดินทาง และความน่าเชื่อถือของบริษัทเจ้าของโครงการ แต่ก็มีผู้ซื้อคอนโดจำนวนไม่น้อยที่มองข้ามเรื่องของการจัดการในของ “นิติบุคคลอาคารชุด” ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากและเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้ซื้อคอนโดโดยตรงหลังจากที่เราได้ย้ายเขาไปอยู่อาศัย เพราะถือเป็นหน่วยที่จะคอยทำหน้าที่ดูแลความจัดการความสะดวกเรียบร้อยต่างๆ ของโครงการที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย น้ำ-ไฟ ทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ เช่น ที่จอดรถ สวนหย่อม สระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวที่เกี่ยวกับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดได้รับความเสียหายจากอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น สภาพห้องหรือสาธารณูปโภคส่วนกลางไม่ตรงตามที่มีการโฆษณาไว้ หรือไม่มีการดูแลจากนิติบุคคลอาคารชุด รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกงค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของร่วมหรือผู้อาศัยภายในคอนโดทุกยูนิตต้องจ่ายตามข้อตกลงคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่กำลังคิดจะซื้อคอนโดหลายคนมองข้าม ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นเรื่องที่มีกฏหมายกำหนดไว้ชัดเจน คือ พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2555 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551ผลการศึกษาปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดผู้อยู่ตอบแบบสอบถาม ราว 1 ใน 3 ไม่มีความรู้ในเรื่องเกี่ยวกับ “นิติบุคคลอาคารชุด” ทั้งในส่วนของที่มา บทบาทหน้าที่ หรือการแต่งตั้งและถอดถอน ตลอดจนเรื่องสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วม(สิทธิของคนคอนโด) เช่น การจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัยเอง หรือ ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี ฯลฯ  ในส่วนของที่มา ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 21.2 ไม่ทราบว่า “ใคร” คือ ผู้ทำหน้าที่บริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด ร้อยละ  31.6 ไม่ทราบว่า เมื่อจดทะเบียนอาคารชุดแล้ว ต้องมีการจัดประชุมใหญ่เจ้าของร่วมภายใน 6 เดือน เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและให้ความเห็นชอบข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดที่ได้จดทะเบียนไว้  ร้อยละ 27.2 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล ต้องได้รับการแต่งตั้งหรือถอดถอนโดยมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม  และต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ ร้อยละ 37.6 ไม่ทราบว่า ในการประชุมใหญ่นั้นเจ้าของร่วมมีสิทธิเสนอแก้ไขข้อบังคับ ถอดถอนและแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้  บทบาทหน้าที่ของนิติบุคคลฯ ร้อยละ  39.6 ไม่ทราบว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจัดเก็บสำเนาโฆษณาขายห้องชุดในอาคารชุด หรือหนังสือชักชวนที่นำออกโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไว้ในสถานที่ทำการ ร้อยละ 29.8ไม่ทราบว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ตามกฎหมาย ร้อยละ  20.4 ไม่ทราบว่า ผู้จัดการนิติบุคคล มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่สิ้นเดือน และต้องประกาศต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ร้อยละ  37.4 ไม่ทราบว่า กรรมการนิติบุคคลมีหน้าที่จัดประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกหกเดือน ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหน้าที่ของเจ้าของร่วม(คนคอนโด) ร้อยละ 32.2 ทราบว่า มีปัญหาในการอยู่อาศัยในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม  ร้อยละ 30.8 ไม่ทราบว่า “ข้อความหรือภาพโฆษณาหรือหนังสือชักชวน” เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายห้องชุด  ร้อยละ 33.8 ไม่ทราบว่า ตนเอง มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดนั้น แม้จะไม่ได้พักอาศัย หากไม่ชำระเงินค่าส่วนกลางเมื่อนิติบุคคลทวงถามในเวลาที่กำหนด  จะต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี   ร้อยละ 37.2 ไม่ทราบว่า ถ้าค้างชำระเงินค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป  จะต้องเสียเพิ่มในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี  และอาจถูกระงับการให้บริการส่วนรวมหรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางตามที่กำหนดในข้อบังคับ  รวมทั้งไม่มีสิทธิออกเสียงในการประชุมใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 4  ไม่ได้รับข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อซื้อห้องชุดและเข้าอยู่อาศัย    เมื่อสอบถามว่า เห็นด้วยให้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคล ปรากฏว่า ร้อยละ 79.8 เห็นด้วย -----------------------------------------------------------------------------วิธีการเก็บตัวอย่าง การเก็บข้อมูลภาคสนามครั้งนี้ใช้แบบสอบถาม กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเจ้าของร่วมที่ซื้ออาคารชุด จำนวน 500 คนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พื้นที่ในการเก็บข้อมูลได้แก่ อาคารชุดในย่านพระรามสาม เพชรเกษม สุขุมวิท รัชดา และสาธร  โดยแบ่งกลุ่มตามมูลค่าของอาคารชุด ดังนี้ อาคารชุดราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จำนวน 150 คน อาคารชุดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 150 คน และอาคารชุดราคา  5  ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 50 คน โดย ร้อยละ 48.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามซื้ออาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ร้อยละ 27.6 ซื้อเพื่อขายต่อเก็งกำไร และร้อยละ 24.2  ซื้อไว้เพื่อให้เช่า ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย1. ควรกำหนดให้คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนิติบุคคล ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นการเฉพาะ โดยแก้ไขมาตรา 35/1 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด โดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุด   แม้ตามกฎหมายปัจจุบันได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดการนิติบุคคลเอาไว้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ ทำให้พบปัญหาเรื่องของการแต่งตั้งเครือญาติ(บริษัทเจ้าของโครงการ) เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส อย่างไรก็ตามการแก้ไขข้อกฎหมายนี้ต้องไม่เป็นเงื่อนไขในการเพิ่มค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม  รวมถึงมีข้อกำหนดห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทเจ้าของโครงการมาเป็นผู้จัดการนิติบุคคล2. กรณีความไม่ปลอดภัยของทรัพย์ส่วนกลาง ที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์ส่วนบุคคล ในการรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  ปัญหานี้สืบเนื่องจากกรณีเจ้าของร่วมอาคารชุดรายหนึ่งแพ้คดีความในชั้นศาลกรณีรถยนต์หายไปจากลานจอดรถของอาคารชุด แล้วไม่สามารถเรียกร้องให้นิติบุคคลอาคารชุดรับผิดชอบ หรือชดเชยค่าเสียหายได้ เนื่องจากศาลพิจารณาว่าหน้าที่ของนิติบุคคลคือการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น ส่วนรถยนต์คือ ทรัพย์ส่วนตัว อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดจากสาเหตุ เรื่องที่จอดรถไม่เพียงพอ ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียนต่อคณะกรรมการองค์การอิสระฯ เป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นเพื่อให้มีมาตรการดูแลทรัพย์ส่วนกลางให้มีคุณภาพมาตรฐาน การรับผิดชอบความเสียหาย ควรร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าของและฝ่ายนิติบุคคลอาหารชุด  3. กรณีที่มีคำสั่งปัญหาความไม่เข้าใจกฎหมาย ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการประชาสัมพันธ์ที่สามารถเข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุด รู้สิทธิ เข้าใจบทบาทในการเป็นเจ้าของร่วม การรวมตัวเพื่อใช้สิทธิ และมีส่วนร่วมในการเข้าประชุมเสนอแนะ และคัดเลือกกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้ข้อกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าส่วนกลาง ค่าปรับ และการเสียสิทธิกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลางติดต่อกัน เนื่องจากพบว่ามีเจ้าของร่วมไม่รู้ข้อกฎหมายดังกล่าวเกือบครึ่งหนึ่งของเจ้าของร่วม พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้กรมที่ดิน จัดทำคู่มือการอยู่อาศัยในอาคารชุด โดยมีรายละเอียดอธิบายสิทธิหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด หน้าที่ของนิติบุคคล ทั้งการจัดการประชุม การเลือกกรรมการ การชี้แจงหลักเกณฑ์ การเปิดเผยข้อมูลรายรับรายจ่าย รวมถึงกฎหมายกำหนดหน้าที่ของลูกบ้าน เช่น กำหนดจ่ายค่าส่วนกลาง หรือการจ่ายค่าปรับกรณีไม่จ่ายค่าส่วนกลาง การใช้เอกสารโฆษณา เอกสารแนะนำการขายสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคู่มือดังกล่าวต้องมอบแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และเมื่อมีการเปิดขายห้องชุดต้องส่งมอบคู่มือดังกล่าวแก่ผู้บริโภคทุกรายด้วยข้อสรุปปัญหาจากการบริหารงานนิติบุคคลอาคารชุดและผลในทางกฎหมาย1.ปัญหาหน้าที่ในการจัดประชุมใหญ่สิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ต่อการประชุม ดังนี้-จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการและพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบังคับ และผู้จัดการที่จดทะเบียนตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดไว้แล้ว หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท-นำมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมเรื่องแต่งตั้งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติ หากไม่ทำต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท2.ปัญหาเรื่องการเงินสิ่งที่กฎหมายกำหนดกฎหมายกำหนดให้ผู้จัดการต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือนภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนและปิดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบต่อเนื่องเป็นเวลา 15 วัน หากไม่ดำเนินการมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 500 บาท3.ปัญหาหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปสิ่งที่กฎหมายกำหนดผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ดูแลให้เจ้าของร่วมให้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด และต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานนิติบุคคลอาคารชุดตามที่กำหนดในข้อบังคับเข้าใจเรื่อง การทำงานของนิติบุคคลอาคารชุด4 องค์ประกอบหลัก คือ1.นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุด ส่วนใหญ่แล้ว ก็คือกลุ่มคนที่บริษัทเจ้าของโครงการ “ว่าจ้าง” เข้ามาเพื่อจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลางต่างๆ ของอาคารชุด หรือ คอนโด ซึ่งคอนโด สามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วนๆ ได้ โดยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคล และกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งนิติบุคคลอาคารชุดจะมีหน้าที่ดูแลและจัดการในทรัพย์ส่วนกลางเท่านั้น กฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่น1.ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด ได้แก่ ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารชุดนั้น รวมถึงบริเวณติดต่อกันด้วย เช่น ที่ดินที่มีสนามหญ้า หรือมีที่ปลูกต้นไม้อยู่ในบริเวณเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นที่ดินที่ตั้งอาคารชุดนั่นเอง2.ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือประโยชน์ร่วมกัน เช่น ที่ดินที่เป็นลานจอดรถร่วมกันหรือที่ดินที่จัดไว้เป็นสวนไม้ดอกเพื่อความสวยงามของอาคารชุดนั้น3.โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคง และเพื่อป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด ได้แก่ เสา เสาเข็ม หลังคา ดาดฟ้า ฝาผนังด้านนอกโดยรอบ เป็นต้น4.อาคารหรือส่วนของอาคาร และเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น อาคารที่เป็นโรงเก็บรถร่วมกัน ระเบียงราวลูกกรง บันได ทางเดินระหว่างห้องชุด เป็นต้น5.เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ เครื่องดูดฝุ่น6.สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น เป็นต้น7.ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลิฟท์ ถังขยะ เป็นต้น2.ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด กฎหมายกำหนดไว้ว่านิติบุคคลอาคารชุด ต้องมีผู้จัดการ 1 คน จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นนิติบุคคลเป็นผู้จัดการก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนหนึ่งคนเข้ามาดำเนินการทำหน้าที่ในฐานะผู้จัดการแทนนิติบุคคลอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด1.จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วม2.ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ให้ผู้จัดการมีอำนาจโดยความริเริ่มของตนเองสั่งหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร3.จัดให้มีการดูแลความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยภายในอาคารชุด4.เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด5.จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และติดประกาศให้เจ้าของร่วมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนและต้องติดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่องกัน6.ฟ้องบังคับชำระหนี้จากเจ้าของร่วมที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ตามข้อปฏิบัติของอาคารชุด เกิน 6 เดือนขึ้นไป3.คณะกรรมการอาคารชุด กฎหมายกำหนดให้ทุกอาคารชุดต้องจัดให้มีคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คนแต่ไม่เกิน 9 คน การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมมีมติแต่งตั้งใครบ้างมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอาคารชุด1.เจ้าของร่วมหรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม2.ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี3.ตัวแทนของนิติบุคคลจำนวนหนึ่งคน ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมในกรณีที่ห้องชุดใดมีผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมหลายคนให้มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจำนวนหนึ่งคนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอาคารชุด 1.ควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุด2.แต่งตั้งกรรมการคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ ในกรณีที่ไม่มีผู้จัดการหรือผู้จัดการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติได้เกิน 7 วัน3.จัดประชุมคณะกรรมการหนึ่งครั้งในทุก 6 เดือนเป็นอย่างน้อยโดยกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ เว้นแต่ไม่อาจหาบุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งได้4.เจ้าของร่วมเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก ผู้ซื้อห้องของอาคารชุดก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของร่วมทันที โดยจะมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนบุคคล และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางของโครงการที่อาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าของร่วม 1.มีสิทธิ์เข้าประชุมทั้งสามัญและวิสามัญเพื่อให้องค์ประชุมครบ 1/4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด และดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ต่อไปได้2.มีสิทธิ์สมัครเป็นคณะกรรมการอาคารชุด3.มีสิทธิ์โหวต ออกความคิดเห็น คัดค้าน ตามอัตราส่วนสิทธิ์ของตัวเองในเรื่องต่างๆ ของที่ประชุม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 “คอนโดมิเนียม...ฝันร้ายสไตล์คนเมือง”

ใครจะไปคิดว่าคอนโดมิเนียมหรูในฝัน จะกลายมาเป็นฝันร้ายที่ทำให้หลับไม่ได้ไปอีกนานคอนโดมิเนียม หรือ อาคารชุด ที่เราเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า “คอนโด” เป็นรูปแบบหนึ่งของที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นห้องพักหลายๆ ห้องในอาคารเดียวกัน โดยปัจจุบันได้กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมของผู้พักอาศัยยุคใหม่ส่วนใหญ่ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะนอกจากคอนโดจะราคาถูกกว่าการซื้อที่ดินมาปลูกบ้านเองทั้งหลังแล้ว ยังสามารถเลือกทำเลที่เราต้องการมากที่สุดได้อีก เช่น ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ภายในคอนโดยังรายล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ที่จอดรถ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และที่สำคัญคือภายในห้องพักล้วนตกแต่งไว้แล้วอย่างสวยงาม อย่างไรก็ตามการลงทุนเพื่อซื้อคอนโดจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบ เพราะความสะดวกสบายเหล่านั้นย่อมมาพร้อมกับราคาที่สูง ซึ่งรับประกันไม่ได้ว่าราคากับคุณภาพตามโฆษณาจะไปในทางเดียวกัน หลายคนอาจได้คอนโดอย่างที่ฝันไว้แต่บางคนอาจได้ฝันร้ายมาแทน ดังเช่นกรณีของคุณปาริชาตคุณปาริชาต ซื้อคอนโดหรูทำเลดีราคากว่า 10 ล้านบาทแถวพัทยา จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 แต่เมื่อปลายปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา เธอพบว่าภายในห้องนอนใหญ่มีน้ำรั่วซึม จนทำให้ไม่สามารถพักอาศัยได้ตามปกติ หลังจากตรวจสอบแล้วก็พบว่า น้ำรั่วซึมดังกล่าวน่าจะเกิดจากฝนตกแล้วรั่วซึมเข้ามาในผนังอาคาร โดยทางคอนโดจะดำเนินการแก้ไขให้หลังจากนำเรื่องเข้าที่ประชุมก่อน ซึ่งอาจล่าช้าในการพิจารณาซ่อม เธอจึงตัดสินใจจ้างช่างซ่อมที่รับเหมาดูแลโครงการมาแก้ไข เพราะ หากรอไปเรื่อยๆ น้ำที่รั่วซึมก็ยิ่งทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหายเพิ่มขึ้น หลังจากการแก้ไขครั้งที่หนึ่งน้ำก็ยังคงรั่วซึมเหมือนเดิม ช่างจึงวิเคราะห์ว่าอาจเกิดจากห้องข้างบนที่ทำให้น้ำซึมลงมาและดำเนินการแก้ไขอีกครั้ง อย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถหยุดน้ำรั่วซึมนี้ได้ ทำให้ช่างหมดหนทางแก้ไข และแนะนำให้เธอติดต่อไปยังนิติบุคคลของคอนโดเพื่อให้นำวิศวกรเข้ามาซ่อมแซม เมื่อคุณปาริชาตติดต่อไปยังนิติบุคคล ก็ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์หรืออีเมล์ เธอจึงตัดสินใจติดต่อไปยังกรรมการบริษัทของคอนโด ซึ่งหลังจากรับทราบปัญหาแล้วก็ยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด ทว่าจนปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และในที่สุดเมื่อนิติบุคคลรวมทั้งกรรมการดังกล่าววิเคราะห์สภาพปัญหาเรียบร้อยก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบการดูแลแก้ไข โดยอ้างว่าน้ำรั่วซึมมีสาเหตุมาจากท่อที่ชำรุดภายในห้อง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามาจากห้องชั้นบน ทำให้ไม่ใช่ปัญหาของส่วนกลาง แต่เป็นปัญหาของแต่ละห้องที่เจ้าของห้องนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบเอง แนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีของคุณปาริชาต สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ปัญหาหลังการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากมักเจอปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการชำรุดเสียหาย การสร้างผิดรูปแบบ หรือไม่มีสาธารณูปโภคตามสัญญาหากผู้บริโภคเรียกร้อง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มักเพิกเฉย จนทำให้ผู้บริโภคต้องฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว จึงดำเนินการติดต่อทั้ง 2 ฝ่ายให้มาเจรจา ซึ่งปรากฏว่า นิติบุคคลของโครงการจะนำปัญหานี้เข้าที่ประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไข และการชดใช้ค่าเสียหาย แต่ทางกรรมการยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบดังที่กล่าวอ้างไว้ และกล่าวถึงหลักการรับประกันว่า การประกันโครงสร้างมีกำหนด 5 ปี แต่ความเสียหายเกิดขึ้นภายในส่วนรับผิดชอบของผู้ร้องที่มีการรับประกัน 2 ปี ซึ่งเลยกำหนดการรับประกันแล้ว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงมีการได้ชี้แจงว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในเรื่องของอายุการประกันภัยโครงสร้าง กำหนดไว้ 5 ปี และส่วนควบ 1 ปี แต่ถ้าเป็นอาคารชุด จะเพิ่มการรับประกันส่วนควบอีก 2 ปี ซึ่งหากพิจารณาจากปัญหาที่เกิดขึ้น การที่ท่อน้ำชำรุดหลังจากคุณปาริชาตได้ซื้อห้องชุดนั้นมาอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าท่อน้ำนั้นชำรุดตั้งแต่แรกหรือเปล่า และเป็นท่อของส่วนกลางจริงหรือไม่ เพราะท่อน้ำอยู่ภายในผนัง นอกจากนี้ท่อน้ำดังกล่าวยังถือเป็นโครงสร้างของอาคารที่มีอายุการรับประกัน 5 ปีอีกด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์และผู้ร้องจึงต้องติดตามต่อไปว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมีการชดใช้หรือรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 108 ข้อควรระวังก่อนซื้อบ้านหรืออาคารชุด

ในการซื้อบ้านหรืออาคารชุดผู้บริโภคมักจะต้องวางเงินจอง ผ่อนเงินดาวน์ก่อน ส่วนเงินที่เหลือที่จะชำระในวันโอนถ้ามีเงินไม่พอก็ต้องกู้สถาบันการเงินและผ่อนชำระเป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งหน้าที่จัดหาสถาบันการเงินนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริโภค การที่สำนักงานขายของโครงการมีโฆษณาว่าสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าไปกู้เงินก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเรียกหลักฐานจากผู้บริโภคเพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้ก็ดี รวมทั้งเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงบริษัทเจ้าของโครงการแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากโครงการก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟ้องได้ว่าทางผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ผู้บริโภค ซึ่งศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานดังนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 529/2541 ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่มีข้อสัญญาใดระบุหน้าที่จำเลยว่าเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่โจทก์ การที่สำนักงานขายจำเลยมีโฆษณาของสถาบันการเงินต่างๆ ชักชวนให้ลูกค้าจำเลยไปกู้ยืมเงินถือเป็นเรื่องของสถาบันการเงินที่จะโฆษณาหาลูกค้า หามีผลผูกพันให้จำเลยต้องจัดหาสถาบันการเงินให้แก่โจทก์ไม่ แม้พนักงานของจำเลยจะเรียกหลักฐานจากโจทก์เพื่อติดต่อสถาบันการเงินให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องให้ความสะดวกแก่โจทก์เพื่อประโยชน์แก่การขายอาคารชุดของจำเลยมากกว่าที่จำเลยจะผูกพันในรูปสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ ส่วนเอกสารที่สถาบันการเงินมีถึงจำเลยแสดงความยินดีสนับสนุนลูกค้าที่ซื้ออาคารชุดจำเลย ก็ไม่ใช่เอกสารที่ผูกพันอันจะฟังได้ว่าจำเลยมาสัญญาจัดหาแหล่งเงินกู้ให้โจทก์ " ซึ่งในสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจมักจะระบุว่า “ในกรณีที่ผู้จะซื้อผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้จะขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ผู้จะซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมดทันที รวมทั้งมีสิทธินำห้องชุดที่จะซื้อจะขายกันตามสัญญานี้ไปขายให้กับบุคคลใดก็ได้โดยผู้จะซื้อไม่มีสิทธิโต้แย้งหรือเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าทดแทนใดๆ จากผู้จะขายทั้งสิ้น " ดังนั้นการที่ผู้บริโภคกู้ไม่ผ่านไม่มีเงินไปโอนกรรมสิทธิ ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือในวันที่ผู้ประกอบธุรกิจนัดไปโอน ฝ่ายผู้บริโภคจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา อาจถูกริบเงินต่างๆ ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องทดลองกู้เพื่อประเมินศักยภาพของตนเองว่าจะกู้ได้แค่ไหนเพียงใดก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้านหรืออาคารชุด ซึ่งถ้าหากผู้บริโภคชายจะซื้อบ้านหรืออาคารชุดเพื่อเป็นเรือนหอ หากคนเดียวกู้ไม่ผ่าน ก็อาจจะต้องให้แฟนมาช่วยร่วมกู้ด้วยเผื่อจะกู้ผ่านได้วงเงินตามที่ต้องการ แต่ถ้าตัวเองกับแฟนร่วมกันกู้แล้วไม่ผ่านก็คงต้องปรับลดวงเงินหรือปรึกษากับทางสถาบันการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรดี ส่วนข้อตกลงในสัญญาที่ว่าหากฝ่ายผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่ฝ่ายผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายผู้จะขายได้นั้นข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ ดังคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้ “คำพิพากษาฎีกาที่ 3301/2547 โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ดังนั้นเงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้นเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378(2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้เป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควรศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ “ คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย จากยอดเงิน 840,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 หน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลอาคารชุด

หากเกิดกรณีนิติบุคคลอาคารชุดปล่อยปละละเลย จนเป็นเหตุให้ทรัพย์ส่วนกลางชำรุดบกพร่องและก่อความเสียหายแก่เจ้าของอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของห้องชุดนั้น หรือไม่ ลองมาดูกรณีศึกษาเรื่องจริงซักเรื่องหนึ่ง  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิห้องชุดเลขที่ 1349/136 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด มีหน้าที่จัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดรวมถึงการจัดการดูแลท่อน้ำประปา ท่อระบายน้ำของอาคารเพื่อมิให้ชำรุดเสียหายหรืออุดตัน อันจะทำให้ทรัพย์ส่วนกลางและทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมอาคารชุดได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการจากโจทก์และเจ้าของห้องชุดรายอื่นเป็นรายเดือน จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 มิได้จัดการดูแลรักษาท่อน้ำประปาและท่อระบายน้ำของอาคารชุดดังกล่าว เป็นเหตุให้ท่อระบายน้ำอุดตันไม่สามารถระบายน้ำซึ่งใช้แล้วภายในอาคารสู่ท่อระบายน้ำและถังรองรับน้ำที่ติดตั้งไว้ชั้นใต้ดินของอาคารได้ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องชุดของโจทก์เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องชุดของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 560,382 บาท และโจทก์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยภายในห้องชุดได้คิดค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,110,382 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชัดของโจทก์ได้ในอัตราเดือนละ 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ค่าเสียหายในทรัพย์สินที่เสียหายนั้นโจทก์เรียกร้องมาสูงเกินไปและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 559,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายอันเนื่องจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในห้องชุดของโจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระค่าเสียหายเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ พ.ร.บ.อาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิในห้องชุดอันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตนแต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่าเป็นกรรมสิทธิรวมระหว่างเจ้าของห้องชุดซึ่งมีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดเมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุดเนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา แม้โจทก์มิได้นำสืบว่าเหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้นหรือบริเวณที่อุดตันนั้นไม่อาจตรวจพบได้โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แล้วเพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ภัยจากพิษตะกั่วในสีทาอาคารกับความเสื่อมถอยของสติปัญญาชาติ

องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ไม่มีระดับของสารตะกั่วในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ในระดับโลก มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารตะกั่วในเลือดกับพัฒนาการทางสมองเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า เด็กชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 8,600 คน ที่ตรวจพบสารตะกั่วในเลือดเพียง 2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) มีผลการสอบคณิตศาสตร์และทักษะการอ่านที่ด้อยกว่าปกติ[1] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าสารตะกั่วส่งผลระยะยาวต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ก้าวร้าวและเป็นโรคสมาธิสั้น[2] และเมื่อปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม[3] สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อมนุษย์[4] แตกต่างจากโลหะหนักบางชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม้ในปริมาณเพียงน้อยนิด เนื่องจากมีพิษต่อสมองและระบบประสาท ตะกั่วสามารถสะสมอยู่ในกระแสเลือดและกระดูก ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะมีอาการอ่อนเพลียตามนิ้วหรือข้อมือข้อเท้า รวมถึงมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นและอาจเป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากอาจเกิดอาการเนื้อเยื่อสมองเสื่อมได้ด้วย เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากพิษตะกั่วสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายเด็กดูดซับสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ราว 4-5 เท่า นอกจากนี้ สารตะกั่วยังไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องไปตลอดชีวิตได้ ในประเทศไทย “ค่าที่ยอมรับได้” ของสารตะกั่วในเลือดเด็ก คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ug/dL ก็จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง[5] และยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว” (lead-caused mental retardation) เป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของโรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารตะกั่วเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 คน[6]   ตะกั่วจากสีเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2551  แสดงให้เห็นว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีฝุ่นจากสารตะกั่วในสี จะมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ และหากบ้านมีฝุ่นตะกั่วมาก เด็กก็จะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงมากเช่นกัน[7] เนื่องจากสารตะกั่วจากสีสามารถเข้าสู่ร่างกายง่าย ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกำหนดมาตรฐานของอาคารที่พักอาศัยให้มีสารตะกั่วในฝุ่นได้ไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อตารางฟุต (ug/ft2) สารตะกั่วในสีเข้าสู่ร่างกายได้สองทาง คือ การหายใจและการกิน ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับสารตะกั่วจากการหายใจและสูดฝุ่นสีที่อาจฟุ้งกระจายออกมาระหว่างการขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ หรือจากสีที่หลุดลอกเองตามธรรมชาติ  สำหรับเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะได้รับสารตะกั่วจากสีโดยการกิน ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากเด็กวัย 1 - 6 ขวบ มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นและมักหยิบของเข้าปาก ทั้งนี้ เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินรอบตัวได้ถึงประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม โดยที่ระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป แตกต่างจากระบบทางเดินอาหารของผู้ใหญ่ ซึ่งดูดซึมสารตะกั่วได้เพียงร้อยละ 10 ฉะนั้น พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายจึงควรระวังอย่าให้ลูกหลานหยิบแผ่นสีเข้าปาก และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวในบริเวณที่เด็กเล่นอยู่เสมอด้วยการถูพื้น เนื่องจากฝุ่นตะกั่วยากต่อกำจัดโดยการกวาดและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า   ไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องปริมาณตะกั่วในสี ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมีทำให้มีสารทดแทนที่จะใช้ผสมในสีทาอาคารได้ดีและปลอดภัยกว่าสารตะกั่วทุกชนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 (ช่วง พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศทั่วโลกที่ทยอยประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) สหภาพยุโรป (พ.ศ. 2532) ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2540) จีน (พ.ศ. 2550) เป็นต้น แต่บางประเทศก็ไม่ถึงกับให้เลิกใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารทันที แต่มีการออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตใช้สารตะกั่วได้เพียงเล็กน้อย คือ ไม่เกิน 600 ppm เช่น สิงคโปร์ (พ.ศ. 2547) บราซิล (พ.ศ. 2551) แอฟริกาใต้ (พ.ศ. 2551) ฯลฯ ขณะที่บางประเทศแนะนำให้ผู้ผลิตสีเลิกใช้สารตะกั่วโดยสมัครใจ และบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ผลิตสีของญี่ปุ่นจะรับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่ปลอดสารตะกั่วเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สีทาอาคารปลอดสารตะกั่วหรือใช้สารตะกั่วในปริมาณน้อยเริ่มมีวางจำหน่ายในท้องตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520[8] และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย รวมทั้งยังไม่มีมาตรการเสริมอื่นๆ การผสมสารตะกั่วในสีจึงถูกฝากไว้กับความตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตสีแต่ละราย ในสถานการณ์จริงพบว่า ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีการผลิตและจำหน่ายสีที่ใช้สารตะกั่วในปริมาณสูง รวมถึงผู้ผลิตบางรายหรือบางบริษัทยังมีการผลิตสีต่างยี่ห้อต่างมาตรฐานกัน โดยที่มีข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายว่า การเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น   ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารของไทยอุดมด้วยตะกั่ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดสอบสีทาอาคารทั้งหมด 27 ตัวอย่าง (สีน้ำมัน 17 ตัวอย่างและสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง) พบว่า สีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm หรือ 600 ส่วนในล้านส่วน (เกินเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 327-2538) มีถึง 8 ตัวอย่าง ส่วนสีพลาสติกไม่พบตัวอย่างที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (มาตรฐานบังคับ สหรัฐอเมริกา) ค่าของตะกั่วที่พบจากการศึกษาในปีนั้น พบว่า บางตัวอย่างมีปริมาณตะกั่วในสีน้ำมันสูงระดับหลายหมื่นถึงเกือบแสน ppm    ผลที่น่าตกใจจากการสำรวจในครั้งนั้นนำมาสู่การสำรวจซ้ำอีกสองครั้ง ซึ่งยังพบปัญหาเช่นเดิม แต่เนื่องจากจำนวนตัวอย่างอาจยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงนำมาสู่การทดสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 นี้ โดยเจาะจงตรวจเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และเพิ่มจำนวนเป็น 120 ตัวอย่าง ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์สีถึง68 ยี่ห้อ การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN)   ราคาไม่ใช่ตัวตัดสิน ของถูกก็ปลอดภัยได้ จากงานศึกษาตัวอย่างสีทั้ง 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อครั้งนี้ได้พบข้อมูลสำคัญว่า ราคาไม่ได้มีนัยสำคัญกับการปนเปื้อนตะกั่ว โดยตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วต่ำไม่ได้มีราคาแพงกว่าตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วสูง ยกตัวอย่างเช่น จากตัวอย่างสีที่มีขนาดบรรจุ 1/4 แกลลอนหรือประมาณ 1 ลิตร จำนวน 107 ตัวอย่าง มีราคาขายอยู่ระหว่าง 80 – 353 บาท โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) มีราคาขายอยู่ระหว่าง 100-150 บาท แต่ตัวอย่างสีที่ขายในแต่ละช่วงราคาก็มีตะกั่วเจือปนในช่วงปริมาณที่ค่อนข้างกว้างมาก เช่น ที่ราคาขาย 120 บาท ซึ่งมีตัวอย่างสี 22 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณตะกั่วตั้งแต่ 26 ถึง 63,000 ppm นอกจากนี้หากพิจารณาราคาขายของตัวอย่างสีที่มีตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ราคาขายมีลักษณะกระจายตั้งแต่ 90 บาทถึงเกือบ 300 บาท แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ใช้สารตะกั่วนั้นมีขายทั้งในราคาต่ำและราคาสูง ดังนั้นข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายที่ระบุว่าการเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง   ก้าวสำคัญทางนโยบาย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่อง “ตะกั่วในสีทาอาคาร ภัยที่ป้องกันได้” ที่เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเร่งด่วนและรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการกำหนดให้มาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานบังคับภายในปี พ.ศ. 2556 เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศให้มีการแสดงปริมาณสารตะกั่วในสีตกแต่งหรือสีทาอาคาร และมีฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วเจือปน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อภายในปี พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังให้กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ออกข้อกำหนดให้ผู้รับเหมาใช้สีที่ควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคาร และสีทาเคลือบผิววัสดุที่ใช้ในอาคารและใช้ในโรงเรียน โดยมีปริมาณสารตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm รวมถึงข้อเสนอแนะถึงสถาปนิกและสมาคมสถาปนิกสยามให้กำหนดให้สีทาอาคารและสีทาเคลือบผิว วัสดุที่ใช้ในอาคารอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกคำสั่งถึงหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานสารพิษ เช่น สารตะกั่ว สารหนู และอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์สีทุกชนิดให้เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มบทบาทการติดตามและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและของเล่นที่มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีและอื่นๆ ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ สำหรับหน่วยงานราชการก็ให้เลือกใช้สีที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ในงานจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ     ตะกั่วในกระแสโลก  ในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมมือกันก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint – GAELP) เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันเด็กไม่ให้ต้องรับอันตรายจากสารตะกั่วในสีและลดความเสี่ยงของคนงานจากสารตะกั่ว ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เลิกการผลิตและการขายสีผสมสารตะกั่ว และทำให้สังคมปลอดภัยจากสีผสมตะกั่ว องค์การอนามัยโลกและ UNEP เริ่มเปิดศักราชงานรณรงค์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมกันจัด “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” พร้อมกันในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้   ขอเชิญชวนทุกท่านสนับสนุนให้ “เด็กไทยปลอดภัยจากสารตะกั่ว”   โดยร่วมส่งภาพถ่ายลูกหลานตัวน้อยของท่าน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์เผยแพร่ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและผู้บริโภคจากพิษตะกั่วในสีทาอาคาร   กรุณาส่งภาพถ่ายใบหน้าของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ซึ่งอยู่ในความปกครองของท่าน มายัง LeadFreeThailand@gmail.com พร้อมชื่อและที่อยู่ เพื่อทีมงานจะจัดส่งโปสเตอร์กลับไปให้ท่านทางไปรษณีย์   หรืออาจส่งภาพถ่ายมาทางไปรษณีย์ ถึง มูลนิธิบูรณะนิเวศ 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 32 ต.บางเขน อ.เมือง นนทบุรี 11000 หมดเขต 10 ตุลาคมศกนี้   ตัวอย่างฉลากเตือนภัยเรื่องสารตะกั่วในสี   ระวัง! คุณอาจทำให้ฝุ่นตะกั่วฟุ้งกระจายจากการขูด ขัด หรือลอกสีเก่า สารตะกั่วเป็นพิษ การได้รับฝุ่นตะกั่วอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น สมองเสื่อม โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับฝุ่นตะกั่วเช่นกัน ควรใช้หน้ากากหายใจเพื่อจำกัดการได้รับสารตะกั่ว และควรทำความสะอาดด้วยเครื่องดูดฝุ่นและการเช็ดถูด้วยน้ำ ก่อนจะขูดลอกสีเก่า ควรสอบถามข้อมูลเรื่องการปกป้องตนเองและครอบครัวโดยติดต่อสายด่วนข้อมูลสารตะกั่ว หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ www.epa.gov/lead   [1]Miranda ML, Kim D, Galeano AO, et al. The relationship between early childhood blood lead levels and performance on end-of-grade tests. Environ Health Perspect 2007; 115: 1242-1247. [2]Braun JM, Kahn RS, Froehlich T, et al. Exposures to Environmental Toxicants and  Attention Deficit  Hyperactivity Disorder in US Children. Environ Health Perspect  2006; 114: 1904-1909. [3] WHO, 2011. Evaluation of certain food additives and contaminants: 73rd report of the Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives. apps.who.int/ipsc/database/evaluations/chemical.aspx?chemID=3511 สืบค้นเมื่อ 21 ก.ค. 56 [4] Staudinger, K.C. and V.S. Roth. Occupational Lead Poisoning. Am Fam Physician. 1998 Feb 15; 57(4):719-726. สืบค้นจาก http://www.aafp.org/afp/1998/0215/p719.html เมื่อ 1 กันยายน 2556 [5] WHO, 2010. Childhood Lead Poisoning. http://www.who.int/ceh/publications/leadguidance.pdf  สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2556 [6] WHO, 2010. Exposure to lead: a major public health concern. http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/lead/en/index.html สืบค้นเมื่อ 14 ส.ค. 56. [7] Jacobs, DE et al. The relationship of housing and population health: a 30-year retrospective analysis. Environ Health Perspect. 2009 April; 117(4): 597-604. [8] www.toagroup.com/th/about/8/25-ก้าวสำคัญ.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point