ฉบับที่ 271 อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน

        นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้         ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน  พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย         ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ  ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง               วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน  ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร         ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย  ปัญหา คืออะไรบ้าง          ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว         มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง          และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้  จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่            ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ  ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ  ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก         สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร         ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน          คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี   การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้            ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้            ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง          เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว          คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย         ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก         ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ”

เมื่อครั้งที่นิตยสารฉลาดซื้อแถลงข่าวเรื่องประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เราได้ฟังรายละเอียดเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จาก ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งพบว่าน่าสนใจจนต้องขอนำมาเผยแพร่ผ่านฉลาดซื้ออีกครั้ง “เรื่องมลพิษทางอากาศมันซับซ้อนต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการที่ต้นเหตุด้วย” สิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลรวมถึงเรื่องอากาศ         เราไม่ได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานเรื่องอากาศ คือสิทธิที่จะรู้ รู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่เพื่อเราจะได้ปกป้องตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่ก็มีพวก Application ต่างๆ ตอนนี้ที่มีคนไปใช้ Air Visual กันเยอะๆ หรือว่า AQI CN ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลแบบ Real Time  แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ แนวคิดของรัฐมองว่าประชาชนทุกคนเหมือนกัน คือทุกคนเป็นคนปกติ ออกไปหายใจอากาศที่มันมีมลพิษสูงแป๊บเดียวคงไม่เป็นไร แต่ลืมคิดไปว่ามลพิษทางอากาศสูงขนาดนี้ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เจ็บป่วยเกิดอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐยังละเลย         แล้วก็เวลามีการเรียกร้องของภาคประชาชนรัฐก็จะบอกว่าก็เป็นแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นเอง เราจะต้องยึดตามมาตรฐานคือการรายงานค่ามลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นรัฐก็จะยึดกฎระเบียบ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ พลังของภาคประชาชน ที่จะต้องเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ข้อมูลคุณภาพของอากาศ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้อากาศสะอาด อย่างการลงทุนไปซื้อเครื่องมาฟอกอากาศ คือประชาชนจะต้องปกป้องตัวเองเพื่อจะให้มีอากาศสะอาดที่จะหายใจ         สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามจะเรียกร้องมาตลอดคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องดูแลให้เขาได้รับอากาศสะอาดที่หายใจเข้าไปจริงๆ อย่างการปกป้องมาตรฐานของสินค้าอันนี้คือเครื่องฟอกอากาศก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ มันยังมีสินค้าอื่นๆ อีกมากมายตอนนี้ที่ออกมาอย่างเช่น หน้ากากหรือว่าเครื่องวัดฝุ่น มีอีกเยอะมากเลยที่เอกชนเขาอาศัยความเป็นห่วง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกอันนี้ชัดเจนที่สุด พ่อแม่ยอมลงทุนนะครับ พวกสินค้าหน้าตาดูสวยงาม ยี่ห้อดูดี แต่ว่าอะไรคือ มาตรฐาน อย่างผลทดสอบวันนี้ผลออกมาแล้วน่าเสียใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะใช้ผลการทดสอบนี้เป็นจุดเริ่มต้น ประชาชน ฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันเป็นยามเฝ้าระวัง ติดตามสิ่งที่รัฐไม่เฝ้าระวัง ติดตามในสิ่งที่รัฐไม่ยอมติดตามให้เรา ผลการทดสอบถึงมาตรฐานการควบคุมสินค้าต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเอาตรงนี้มาให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบ โดยที่รัฐควรจะดูแลให้ดีขึ้นครับ         และยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องมาร่วมกันติดตามและก็เรียกร้อง “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” มีเครื่องมือที่รายงานให้ประชาชนรู้และควรจะมีการรายงานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนเจ็บป่วย ประเทศไทยขาดอะไรที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาฝุ่นอย่างนี้ทุกปี         จริงๆ เป็นคำถามที่ดีมากครับเรามีกฎหมายเยอะ เรามีหน่วยงานเยอะมาก เรามีอะไรดีๆ เยอะครับ แต่ว่าปัญหามันคือกระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือการที่ภาครัฐประสานทำงานร่วมกันแล้วก็ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนการปกป้องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ตอนนี้นโยบายและทิศทางของการพัฒนาจะยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่ตั้ง สุขภาพของประชาชนมาทีหลัง ที่เราคุยกันในเครือข่ายก็คือว่า เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ         กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประเทศจีนมีการควบคุมมลพิษอย่างมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงหลายๆ อย่างต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน ประเทศไทยก็เปิดรับครับให้มาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในประเทศไทย และก็มีการแก้กฎหมายโรงงาน ทำให้โรงงานบางอย่างไม่จำเป็นจะต้องรายงานว่าเป็นโรงงานด้วยซ้ำไป  และเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมว่าประชาชนมีสิทธิรู้ว่าไอ้โรงงานที่ตั้งอยู่ข้างบ้านปล่อยมลพิษอะไรบ้าง จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้นะครับ องค์ความรู้มีอยู่ กลไกรัฐมีอยู่พอสมควร แต่ต้องการการบริหารจัดการที่มันมีการเชื่อมประสานกันของทุกหน่วยงาน นี่ก็เลยทำให้เครือข่ายอากาศสะอาดตอนนี้พยายามเสนอร่าง “กฎหมายอากาศสะอาด” ฉบับที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน ขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประมาณ 10,000 รายชื่อซึ่งตอนนี้ก็ได้ไปเป็นหลักพันนะครับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กฎหมายอากาศสะอาดและจะลงชื่อหรือร่วมทำอะไรได้บ้าง         กฎหมายอากาศสะอาดเป็นกฎหมายที่เรียกว่าเริ่มต้นจากในประเทศอเมริกานะครับ เขามีกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายน้ำสะอาด เป็นกฎหมายที่ต้องการให้เกิดระบบการจัดการที่ควบคุมตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทางก็คือลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดแล้วก็มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วนะครับ คำว่ากฎหมายอากาศสะอาดนี้ในประเทศไทยเองก็มีผู้เสนอหลายกลุ่ม แล้วทำไมเครือข่ายอากาศสะอาดถึงจะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากอย่างนี้ครับ         ร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือเราเห็นแล้วว่าในกลไกของภาครัฐ ณ ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เยอะแล้ว มีองค์กรอยู่เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้เน้นก็คือ เรื่องของการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเน้นของกฎหมาย แล้วก็เป็นกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้การรวบรวมรายชื่อ เนื่องจากว่ามันมีการออกกฎหมายอากาศสะอาดมาแล้วมันก็มีการรวบรวมรายชื่อไปหลายครั้ง แต่สำหรับฉบับนี้สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นก็คือว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองในเรื่องการบริหารจัดการว่าต้องการแก้ไข แต่อันหนึ่งที่สำคัญในทีมของเครือข่ายอากาศสะอาดก็คุยกันและก็รู้ว่ากฎหมายภาคประชาชนนี่ยากมากที่จะผ่าน แต่เราจะใช้กระบวนการการร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้มาสนใจในเรื่องนี้ แล้วได้มาร่วมเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศเราในเรื่องมลพิษทางอากาศมันอยู่ตรงไหนบ้าง และเราจะไปพ้นจากการพูดถึงเรื่องอากาศสกปรกเรื่องของมลพิษในอากาศไปสู่อากาศสะอาดอย่างไร         เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนคืออยากจะเชิญชวนให้เข้าไปศึกษาเนื้อหาของกฎหมายที่เว็บไซด์ของเครือข่ายอากาศสะอาด Thailandcan.org  Can คือ clean care network ตรงนี้เข้าไปจะมีตัวกฎหมายแล้วก็มีสื่อต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ กฎหมายฉบับนี้มันแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ อย่างไร เพราะว่ามีคนออกมาพูดเรื่อยๆ ว่ากฎหมายก็มีอยู่แล้วดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจัดการก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนนะครับไปร่วมกัน ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกันเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายได้นะครับ              วิธีการคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เนื่องจากระบบกลไกของการเสนอกฎหมายในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศไทย 4.0 แต่ระบบเสนอกฎหมายยังเป็น 1.0 อยู่เลย ก็คือต้องเอกสารตัวจริง เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนร่วมกันสร้างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตื่นรู้เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศในประเทศไทย เพื่ออากาศสะอาดครับ กฎหมายที่เรียกว่า PRTR        กฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ก็คือเป็นกฎหมายซึ่งต้องการบังคับให้ผู้ประการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสารมลพิษและการปล่อยมลพิษรายงานต่อรัฐว่ากิจการของตัวเองมีการขนย้ายและการปล่อยสารมลพิษอะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการเรียกร้องกันมาค่อนข้างนานแล้ว โดยเฉพาะมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องมลพิษในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ทางกรมโรงงานก็บอกว่ามีการดำเนินการแล้วเป็นคล้ายๆ กับ มอก.เลยครับคือเป็นแบบสมัครใจ เพราะฉะนั้นเขาไม่รายงานก็ไม่ผิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าการที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับให้เขาทำสิ่งนี้    ทำให้ ณ ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่รู้เลยครับว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบกรุงเทพมหานครที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง         เมื่อไม่มีการรายงานทำให้นักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาจากแหล่งไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลที่จะมาใช้ในการคำนวณว่าสัดส่วนของมลพิษจากภาคอุสาหกรรมมีมากแค่ไหนในอากาศกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอากาศฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เราเรียกร้องให้มีสิ่งนี้ที่เป็นภาคบังคับเพื่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชนที่จะรู้ว่ามลพิษทางอากาศที่หายใจอยู่ ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า PM2.5 มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัญหาของ PM2.5 ที่มันเยอะขึ้นเราไม่รู้ว่ามันมาจากธรรมชาติหรือมันมาจากแหล่งอะไร และอันที่สองคือ PM2.5 ที่มันเป็นพิษทั้งตัวขนาดของมันเองและองค์ประกอบที่เป็นสารพิษที่มีอยู่หลายร้อยชนิดใน PM2.5 นั้น เพราะฉะนั้นคนที่ทางภาคเหนือที่ต้องทนกับเรื่องนี้มานานกับคนที่สมุทรสาครที่ตอนนี้เผชิญหน้ากับโควิด แต่จริงๆ มันมีสารพิษมากมายที่ชาวบ้านที่นั่นต้องหายใจอยู่และเป็นไปได้ว่าที่เขาป่วยด้วยโควิดกันมากๆ นี่เพราะว่าปอดของเขาเสียหายจากการได้สูด PM2.5 และสารพิษมากมายอยู่มานานแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 PM 2.5 กลับมาและกลับมา ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง         ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง         คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ?         เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด         สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก         ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี         รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก         มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ         ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี         ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558        ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน?         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า         “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้”         เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น         แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย         ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้         ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า             “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ         “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ”         ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า         “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย”         ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป...         “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ         “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต        จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า         “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”         ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)         ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา         อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน         “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว”         การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >