ฉบับที่ 277 ป้องกันผดผื่นหน้าร้อนได้ด้วยตนเอง

        หน้าร้อนประเทศไทย พ.ศ. 2567 อุณหภูมิพุ่งสูงไปถึง 40 กว่าองศา ถือว่าร้อนมากๆ จะออกไปไหนทีแทบละลายเพราะอุณหภูมิ อากาศร้อนแล้วแดดยังแรงไปอีกก็อย่าลืมป้องกันผิวด้วยครีมกันแดดเพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี แต่ว่านอกจากผิวไหม้เกรียมจากแดด ปัญหาที่พบบ่อยของหลายคนในช่วงหน้าร้อนนี้อีกอย่างจากสภาพอากาศร้อนก็คงจะเป็นอาการผดผื่นที่ขึ้นมาตามร่างกาย ซึ่งจะป้องกันได้อย่างไรฉลาดซื้อมีคำแนะนำมาฝาก         ผดผื่นหน้าร้อนเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ขึ้นได้ทุกบริเวณร่างกายทั้ง ใบหน้า หลัง แขน ขา ข้อพับต่างๆ ตามจุดที่เกิดเหงื่อได้ง่าย ปกติผดผื่นลักษณะนี้มักจะสามารถหายไปได้เองได้ตามธรรมชาติอาจจะไม่ต้องกังวลมาก แต่ยังไงก็ต้องป้องกันไว้ก่อนดีกว่าซึ่งทำได้ง่ายๆ  ดังนี้         1. ผดผื่นเกิดจากความร้อนเป็นสาเหตุ เราก็พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น โล่งโปร่งสบายๆ พื้นที่อากาศถ่ายเทได้ตลอด หลีกเลี่ยงไม่ให้เหงื่อออกเยอะได้ยิ่งดี        2. ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่เป็นเสื้อที่คับแน่นจนเกินไป ที่สำคัญควรเป็นเสื้อซักสะอาดแล้ว ไม่ใส่เสื้อซ้ำเพราะอาจก่อให้เกิดความหมักหมม เหงื่อไคล สิ่งสกปรกต่างๆ ได้ เรื่องสุขอนามัยสำคัญเสมอ        3. อาบน้ำเย็นและไม่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ก่อให้ระคายเคืองง่าย หรือใช้แล้วผิวแห้งตึง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากน้ำหอม        4. สายออกกำลังกาย แนะนำให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งที่แดดแรงๆ และควรทาครีมกันแดดซ้ำสม่ำเสมอ  หลังออกกำลังกายควรอาบน้ำเพื่อชำระคราบเหงื่อบนร่างกายออก        5. หลีกเลี่ยงแสงแดดแรงๆ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่อุณหภูมิสูง        6. สำหรับใครที่สายบำรุงผิว ต้องทาครีมสม่ำเสมอแนะนำให้ไม่เลือกเนื้อครีมที่หนักจนเกินไป เพราะจะทำให้อุดตันได้ง่าย          ผดผื่นไม่ค่อยอันตรายแต่มักจะสร้างความรำคาญ เช่น อาการคัน และเป็นตุ่มใสๆ ขึ้นมาแนะนำว่าพยายามอย่าแกะหรือเกา เพราะอาจทำให้แผลถลอกแสบจนก่อให้เกิดแผลเป็น         วิธีรักษาผดผื่นได้ด้วยตัวเองเบื้องต้น หากมีอาการคันมากๆ แนะนำให้อาบน้ำเย็นหลังจากนั้น ให้ทายาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัน เช่น Calamine Lotion ถ้าไม่ดีขึ้น หรือหลายวันแล้วผื่นผด ยังไม่ยุบและมีตุ่มหนอง ตุ่มแดง หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี อย่าซื้อยามากินหรือทาเองเด็ดขาด         ในกรณีเข้าร้านยาเพื่อซื้อยาควรปรึกษาเภสัชกรโดยบอกอาการให้ชัดเจน บอกตัวยาที่เราแพ้ให้ละเอียดเพื่อป้องกันอันตรายในการบริโภคยาผิดชนิด อ่านและศึกษาวิธีการใช้ให้ชัดเจน เพราะยาทาบางตัวที่ใช้ทาผิวหนังอาจเป็นยาสเตียรอยด์ใช้บ่อยๆ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ ทั้งนี้ นอกจากผดผื่นทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนแล้ว ยังคงมีโรคทางผิวหนังช่วงหน้าร้อนอีกหลายประเภท ดังนั้น อยากให้หลายๆ คนดูแลตนเองโดยหมั่นรักษาความสะอาด สุขอนามัยให้ดี ทาครีมกันแดดสม่ำเสมอ  ข้อมูลจาก https://www.vimut.com/article/Prickly-heathttps://www.siphhospital.com/th/news/article/share/379https://www.pobpad.com/ผดร้อนhttps://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/รับมือ-ผดผื่นคัน-วายร้า/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 คนนครนายกไม่ต้องการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

        หาก สวนลุมพินีคือพื้นที่ปอดของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนทั้งประเทศได้พักผ่อน เชื่อว่าหลายคนย่อมคิดถึง จังหวัดนครนายก ที่มีทั้งน้ำตกและภูเขา แต่ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้กำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ตั้ง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ตั้งแต่ปี 2536  แม้ประชาชนในพื้นที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีการทุจริตจนชะงักลง แต่ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยกลับมาดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มขนาดจาก 10 เป็น 20 เมกะวัตต์โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนยังคงเดินหน้า คัดค้านอย่างหนัก เช่นเดิม         ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ที่เริ่มรณรงค์ เคลื่อนไหวเพื่อยุติโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน    คุณหมอเริ่มคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มาตั้งแต่ตอนไหน        ไม่ได้เริ่มคัดค้านแต่แรก  โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เริ่มเลยมีมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชาย ปี 2531-2533 เขาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง เขตชุมชนไม่ควรจะอยู่แบบนี้ควรเอาออกจากเขตชุมชน เขาเลยจะหาที่ใหม่ ต่อมาปี 2536 รัฐบาลอนุมัติโครงการฯ เราในพื้นที่ นักวิชาการต่างๆ ก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วโครงการฯ ก็มีการทุจริต จนมีคดีความ ก็ชะงักไป  ในช่วงปี 2549  จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการฯ นี้ก็ถูกนำกลับมาอีก  ผมเข้าไปคัดค้านอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2556 ตอนนั้นยังเป็นขนาด 10เมกะวัตต์  แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น 20 เมกกะวัตต์  ในช่วงปี 2560         เขามีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 เลย ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจัดที่ไหน ครั้งที่ 1 คือผ่านหลักการไปแล้วเรียบร้อย ว่า โอเค ยอมรับให้ไปทำประชาพิจารณ์ต่อในวาระ 2 และ 3 เขาให้กำนันผู้ใหญ่บ้านพาชาวบาน ทั้งหมดเกือบ 600 คน มีการให้เงินคนละ 200 บา เขาบอกว่ามันคือค่าเดินทาง ปกติเราไม่จ่ายเงินในการประชาพิจารณ์ มันคือผิดกฎหมายนะ เพราะหลักการของประชาพิจารณ์ต้องอิสระ เสรี  แล้วต้องแจ้งล่วงหน้า  เหตุผลที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เลือกพื้นที่จังหวัดนครนายก เพราะอะไร         ผมยังไม่ทราบเลย ถามเขาก็ไม่มีคำตอบ คือพื้นที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไร ปกติการจะเลือกพื้นที่มันจะต้องมีการสำรวจก่อนเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ไหนเหมาะสมบ้าง มีกี่แห่ง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาเลือกว่าสุดท้ายจะเลือกที่ไหน เอกสารนี้เราขอเขาไปนานมาก ไม่เคยได้เลย อยู่ๆ มาบอกว่าจะทำที่องครักษ์เลย มันผิดขั้นตอนขององค์การระหว่างประเทศในการคัดเลือกสถานที่ที่จะตั้งนิวเคลียร์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่         คือการเลือกพื้นที่ เขาตัดสินใจมาตั้งแต่ปี 2533 ผ่านมา 33 ปีแล้ว เอกสารขอไปเราก็ไม่เคยมีให้ชาวบ้านได้ดูเลยทั้งที่ข้อมูลนำมาวางเลยสิ่งเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่างๆ ได้ และการกำหนดพื้นที่ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่เดิมยุทธศาสตร์จังหวัดนครนายกเป็นเมืองไข่แดงที่รอบด้าน ล้อมด้วยจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหมดแล้ว ทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กทม.  อยุธยา ลพบุรี เหลือแต่จังหวัดนครนายกที่ยังไม่มีอุตสาหกรรม ในปี 2558 เราก็ต่อต้านคัดค้านผังเมืองอุตสาหกรรมไปซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่อยู่ๆ คุณจะมาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผมว่ามันข้ามขั้นเกินไปมากๆ เลยกับพื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนี้    เรื่องนิวเคลียร์ หลายประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว และเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายแห่งเช่นเดียวกัน หากมีการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือโครงการมีการทุจริตแบบนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบไหม         มี ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อคือ IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศนะ เราก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าการจะทำอะไร ต้องใช้แนวทางสากล เขาก็บอกว่าเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ใช่กฎหมายไทย ผมมองดูเขาไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มากทั้งที่ควรจะซีเรียส เหมือนกันเวลาที่เราจะปกป้องพื้นที่ เพราะเราบอกว่า ทั่วโลกเขายกให้เป็นพื้นที่ มรดกโลกนะ ไม่ควรสร้างเขื่อน เขาบอกว่า มรดกโลกไม่ใช่กฎหมาย เป็นแบบนั้น ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีความคืบหน้าอย่างไรหลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา      ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน คือวันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 เรากับชาวบ้านก็คัดค้าน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ขัด ทั้งที่เราถามเขาไปหลายเรื่องแต่ไม่ได้คำตอบเลย อย่างแรกเลยคือพื้นที่จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไรยังไม่มีคำตอบ สอง พื้นที่ตั้งของโครงการฯอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำนครนายก  อาจห่างไม่ถึงกิโลด้วย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมามีโอกาสที่จะรั่วไหลลงแม่น้ำได้ ด้วยสภาพความเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง เตาซีเมนต์ เหมือนตุ่มใบหนึ่งหากตั้งแล้วโคลงเคลงก็แตกได้แล้วเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง  การปนเปื้อนจะกระจายลงแม่น้ำนครนายก ลงบางประกง คลองรังสิต เข้า กทม. ปทุมธานี เจ้าพระยาได้เลย นอกจากนี้โครงการฯ ยังอยู่ติดชุมชน ตลาดสดองครักษ์ พอเราคัดค้านเรื่องนี้ เขาเลยประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ไป ซึ่งในต่างประเทศเขาดูผลกระทบกว้างมาก เป็นระยะรัศมี 5 กิโลเมตรเลย ซึ่งในพื้นที่ของโครงการฯ ในระยะ 5 กิโลเมตรของเรา เราจะมีโรงพยาบาล มศว. มีคนไข้วันหนึ่งราว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษา มศว. 10,000 คนขึ้นไปชุมชนรอบนั้นมีวิทยาลัยกีฬา มีวิทยาลัยการอาชีพ บ้านพักผู้สูงอายุ เดี๋ยวเรือนจำไปตั้งอีก ผมคิดว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่โครงการฯ จะมาตั้งหากมีสารเคมีรั่วกระจายลงแม่น้ำนครนายก ปลาของชาวบ้านจะกิน หรือจะขายได้ไหม ความมั่นคงในอาหาร เราจะเสียไปทันที         อีกความเคลื่อนไหว คือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปดูงานนิวเคลียร์ของเขา เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้เข้าด้วย พอไปดูแล้ว ผมมองว่ายังไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลย  ชื่อโครงการเต็มๆ ว่า โครงการจัดตั้ง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  จริงๆ ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ไหม         คือรังสีมีประโยชน์ เราใช้ทั้งในการแพทย์ วินิจฉัยโรค ใช้รักษาโรคมะเร็ง อันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอัญมณี ใช้วิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร ทำให้พืชพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่แบบนี้ครับ ประเด็นเลย คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราพอบอกว่า อยากได้รังสีนิวเคลียร์ก็คิดถึงเตานิวเคลียร์ อยากได้น้ำก็นึกถึงเขื่อน เป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้น จริงๆ ต้องบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์มันถูกสร้างได้หลายแบบ หลายวิธี และเราไม่ต้องสร้างเองทั้งหมด หากเราสร้างสารได้ 5 ตัว เราสามารถใช้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทั้งหมด ทุกตัว         ประเด็นต่อมาคือ เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงต้องการตัวไหน เพราะอะไร ความต้องการมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญที่จุฬาประเมินเมื่อ 5- 6ปี แล้วเขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำนะ เราจะสูญเสีย โอกาสปีละเป็นพันล้าน รายงานการประเมินตัวนี้เราไม่เคยได้เห็น จนเมื่อร้องเรียนอย่างหนัก เขาเลยปล่อยรายงานหลายร้อยหน้าให้ชาวบ้านได้ดูเมื่อใกล้จะจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เราได้ทราบเลย ทั้งที่เขาเพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ จนถึงวันนี้ครบ 3 เดือน หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว  คุณหมอจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร            ผมส่งเสียงตลอด ในทุกเวที ทุกสื่อที่มีโอกาส  แล้วเมื่อเขาทำหนังสือตอบเรามาว่าเขาทำตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการก็ยังไม่ได้ยุติ ตอนนี้หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10 ก.ย. จะครบ 3 เดือน ยังไม่มี ความชัดเจนเลย เราอาจจะทำจดหมายซักถามและคัดค้านจดหมายที่เขาตอบกลับเรามา   อยากฝากอะไรกับสังคมบ้าง          หนึ่งนะครับ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งบประมาณเกือบกว่า 2 หมื่นล้าน เป็นเงินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ตอนนี้ประเทศของเรายากจน งบขัดสนการจะนำเงินไปใช้ต้องมีความหมายต่อเวลานี้อย่างมาก สอง โครงการควรสร้างความกระจ่างเรื่องการทุจริตก่อน ตอนนี้ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ยังฟ้องร้องกันอยู่  โครงการของรัฐใหญ่ๆ ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น มีที่มา ที่ไปชัดเจน และให้ทุกคนได้รับรู้ อะไรที่มันไม่ชัดเจนแบบนี้ ไม่มีที่มา ที่ไป มันคือการใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า  และปัญหาใหญ่สุดคือการทิ้งกากนิวเคลียร์อายุร้อยปี พันปี หมื่นปี ทิ้งไว้บนฝั่งแม่น้ำนครนายกของเรา เพราะย้ายไม่ได้ ทุบไม่ได้ หนีไม่ได้  ผมมองว่า จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มาพักผ่อนได้ เป็นสวนหย่อมของประเทศแห่งหนึ่งเลย จึงอยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันจับตาโครงการฯ นี้ และเอาความจริงให้กับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน

        นับถอยหลัง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสู้กับภัยมลพิษทางการอากาศจากฝุ่น ควันหนา ในช่วง มกราคม - พฤกษภาคม ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักชนิดที่ในปีที่แล้วประชาชนต้องอพยพ ไม่สามารถอยู่ได้         ผลสำรวข้อมูลจาก HDC service กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566  มีจำนวนทั้งสิ้น 2,648,243 คน  พบว่ามลพิษทางอากาศในภาคเหนือทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วย 5 โรค ได้แก่ โรคผิวหนัง จำนวน 721,613 ราย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 499,259 ราย โรคตาอักเสบ 445,755 ราย อาการหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 398,229 ราย และ หลอดเลือดสมอง 294,256 ราย         ยังไม่กล่าวถึงความเจ็บป่วยของโรคดังกล่าวเมื่อเกิดในกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้มีโรคประจำตัว เด็ก และผู้สูงอายุ  ทำให้การกล่าวว่า ประชาชนภาคเหนือเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ...ไม่เกินความจริง               วิทยา ครองทรัพย์ เดิมเป็นกรรมการหอการค้าไทยจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยบทบาทที่ได้ประชุม พูดคุย หารือกับหลายฝ่ายทำให้ได้รับรู้และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศในภาคเหนือมากขึ้นๆ จนทำให้เขาขยับบทบาทของตนเอง เป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือทำงานเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องว่า ‘ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน’ และ อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน  ที่มาของการเริ่มทำงาน เริ่มอย่างไร         ผมเป็นกรรมการสภาหอการค้าไทย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2548- 2549 พอได้ประชุมกับหลายฝ่าย เรายิ่งเห็นปัญหาและแนวการแก้ไขปัญหามาตลอดแต่สถานการณ์กี่ปีๆ เราก็วนอยู่ที่เดิม จึงเริ่มเกิดการรวมตัวกันของภาคเอกชนเป็น สภาลมหายใจภาคเหนือ ติดตามปัญหาสะท้อนปัญหาให้ข้อเสนอกับสังคมให้สังคมรู้ว่า ปัญหามีทางออกถ้ารัฐบาลทำจริง ตั้งแต่ปี 2557 ผมเคยรวบรวมรายชื่อแล้วไปยื่นผ่าน เว็บไซต์ Change.com กว่า 15,000 รายชื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีว่าจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรแต่ไม่เคยได้นำไปใช้เลย  ปัญหา คืออะไรบ้าง          ขอแยกเป็น 2 เรื่อง คือปัญหามลพิษฝุ่นควันกับการจัดการของภาครัฐ เรื่องมลพิษแน่นอนว่าอันตรายกับสุขภาพของเรามาก คนที่เป็นไซนัสอยู่แล้วไอออกมาเป็นเลือด พ่อแม่ของเพื่อนผมบางคนแก่มากแล้วเสียชีวิตเพราะฝุ่นควันเลย แล้วเมื่อวิกฤตประชาชนมีความพร้อมที่จะรับมือได้ไม่เหมือนกันหลายบ้านไม่มีเครื่องฟอกอากาศนี่คือเรื่องสุขภาพ ปัญหามลพิษในภาคเหนือกระทบทุกส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว         มุมที่สอง คือการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐ ต้นปีมีการสร้างภาพจัดขบวนจัดฉีดน้ำทำให้ประชาชนก็รู้สึกดีใจ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ทุกปี วิกฤตทุกครั้ง เราคนภาคเหนือต้องใส่หน้ากาก 3 M หน้ากากอย่างดีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ทางการแพทย์บอกว่า ต้องสวมไม่เกิน 15 นาทีแต่เราต้องใส่กันตลอดเพราะฝุ่นเข้าไปทุกที่ ซึ่งรัฐมีแผนรองรับฉุกเฉินปัญหาด้านสุขภาวะที่จะแจกหน้ากากอย่างดีให้ประชาชนแต่มีกว่า 20,000 ชิ้นทั้งที่ประชากรเชียงใหม่มีแสนกว่าคนแผนงานที่ทำออกมาจึงแก้ไขรองรับปัญหาไม่ได้จริง          และในรัฐบาลล่าสุดเรายังได้เห็นท่าทีของรัฐบาลว่า ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผลิตแบบสันดาปอยู่ทั้งที่เราควรยกระดับเป็นรถไฟฟ้าและยกระดับมาตรฐานน้ำมันแล้วในเมื่อสภาพอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนมากขนาดนี้  จึงเกิดการทำงานของ สภาลมหายใจภาคเหนือ เริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อไหร่            ในปี 2557 ผมทำงานรณรงค์เรียกร้องให้ยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ  ผ่าน Change .com แต่ตอนนั้นยังไม่มีการตั้งกลุ่มอะไรแต่เรานั่งพูดคุยกันมาต่อเนื่องมีทั้ง นักธุรกิจ นักวิชาการ  ถึงจุดหนึ่งการคุยเราก็ตกลงกันว่า เราอยากรวมกลุ่มกันสะท้อนปัญหาและทางออกจากในพื้นที่เป็นเหมือนหอกระจายเสียง ผมเป็นกรรมการหอการค้าเชียงใหม่พยายามนำเรื่องนี้เข้าไปคุยในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือในปี 2562 จึงรวมตัวกันเป็นสภาลมหายใจเชียงใหม่ แต่เราก็คิดว่าจังหวัดเชียงใหม่ที่เดียวจะไม่พอมีคณะกรรมการระดับจังหวัดไม่พอต้องรวมกันหลายๆ จังหวัด จึงรวมเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานมุ่งพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายจากรัฐบาลเป็นหลัก         สสส. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการทำงานพื้นที่เชียงใหม่ คือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และสภาลมหายใจภาคเหนือ การทำงานเรามีความยึดโยงกันมีการประชุมร่วมกันเพื่อเป็นมติร่วมจากจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเพราะเราเชื่อว่า คนภาคเหนือทุกคนรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ร่วมของเราทุกคน พอรวมตัวกันทำงานมาจากหลายฝ่ายแล้วเป็นประโยชน์ อย่างไร         ประโยชน์มากๆ จากการรวมกันเป็นสภาลมหายใจภาคเหนือคือ เรามีการติดตามร่วมกันแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลและมีผู้ที่มีความรู้จากหลายฝ่าย ทั้งภูมิศาสตร์ ด้านการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เราได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังไป 10 กว่าปี จนพบว่ามีพื้นที่เผาซ้ำซากกว่า 2 ล้านไร่ในพื้นที่นับ 10 อุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหามลพิษฝุ่นควัน          คนที่เขามีความรู้ความสามารถเมื่อได้วิเคราะห์ปัญหาและนำเรื่องออกมาสู่สังคม ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น พอภาครัฐเห็นว่าเราเองก็มีข้อมูลเยอะจากตัวจริงเขาก็เริ่มปรับตัว ข้าราชการเขาก็เริ่มประสาน ช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเรามากขึ้นจนกลายเป็นแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผมได้ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี   การแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดภาคเหนือ อะไรคือปัญหาหลักๆ ในตอนนี้            ยังไม่มีคณะกรรมการกลไกระดับชาติ ตอนนี้กลไกต่างๆ ทำงานแบบแก้ไขไม่ได้แล้วยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ทำให้ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งจะใช้ได้เมื่อเกิดภัยจริงๆ เท่านั้น แต่ถึงเมื่อวิกฤตก็ไม่อาจรับมือได้อย่างการเผาช่วงวิกฤตในภาคเหนือมีเป็นหมื่นจุด จุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่นับ10 คน นั่งรถขึ้นไป บางจุดเป็นเขาเป็นหน้าผา ถ้าจะทำจริงๆ ต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นแสนคนแต่เจ้าหน้าที่จริงๆ มีเพียงหลักพันคน นี่คือเรามีกลไกทรัพยากรไม่เพียงพอ การประกาศเป็นวาระแห่งชาติในปี 2562 ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยเพราะยังทำอะไรไม่ได้            ความจริงจังของรัฐบาลดูได้จากการที่ปัจจุบัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดยังถูกปัดตกมา 4 ครั้ง ทั้งที่หลายฝ่ายเห็นสอดคล้องกันมานานแล้วต่างคาดหวังว่าเราจะมีกฎหมายอากาศสะอาดออกมาได้ในวันหนึ่ง คนที่ยื่นมีทั้งฉบับจากพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน แต่สุดท้ายรัฐบาลปัดตกโดยให้เหตุผลว่ากังวลจะเป็นภาระทางงบประมาณ ทำให้มีการยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลแล้วในเรื่องอะไรบ้าง          เรายื่นข้อเสนอให้นายกเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. เรื่องยุทธศาสตร์แก้ปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศภาคเหนือระยะเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือให้ทันต้นปี 2567 โดยเป็นตัวแทนของหอการค้า 17 จังหวัด และประชาชนทุกกลุ่มเสนอให้รัฐบาลมีการสั่งการเพื่อบริหารพื้นที่อุทยานที่มีการเผาซ้ำซาก 10 แห่ง รวมถึงฝุ่นควันข้ามพรมแดน เรามีข้อเสนอ 5 ข้อ คือ 1. ให้มีแผนการบริหารการเผาทั้ง 10 แปลงใหญ่ให้มีการมอบหมายและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบคณะทำงานที่ชัดเจน 2. ยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นการสื่อสารภัยพิบัติระดับเดียวกับกรณีน้ำท่วมสถานการณ์โควิด 3. แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะของกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้พื้นที่รุนแรงได้รับความช่วยเหลือได้ทันทีและเพื่อมีการกำกับ ป้องกันได้อย่างใกล้ชิด 4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาขาดเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5. รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนต้องมีมาตรฐานการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมผู้เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเล่าถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครองเรียกว่าเป็น คดี PM2.5 และมีคำพิพากษาออกมาแล้ว          คดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่และประชาชน เราร่วมกันฟ้องคดีโดยฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย         ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุดซึ่งไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ ประชาชนฟ้องคดีเรื่องฝุ่น PM2.5 ไปแล้วกว่า 5 คดี ผู้ที่ฟ้องมีทั้งชาวบ้าน ทนายความที่เขาเป็นคนชาติพันธุ์ฟ้องโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีซึ่งเราก็ต้องติดตามการทำหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป สิ่งที่อยากฝาก         ผมเชื่อมั่นว่า ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ “ถ้ารัฐบาลทำจริง ปัญหานี้หมดไปแน่นอน ” เราเปรียบเทียบกับกรณีเกิดโควิด รัฐบาลแทบจะไม่มีข้อมูลในมือว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรแต่เมื่อเอาจริงมีแผนมีการกำกับ ติดตามมีงบประมาณเราเอาอยู่ใน 2 ปี จนระดับโลกยังชื่นชมเรา ผมถึงบอกว่า เรามีศักยภาพ เราทำได้ ปัญหาฝุ่นควันเปรียบเหมือนข้อสอบเก่าแต่ทำไมเราทำไม่ผ่านทุกปี การแก้ไขปัญหาการเผาซ้ำซากในพื้นที่ 10 แปลงใหญ่ หากทำได้ฝุ่นควันจะลดวิกฤตลงถึงร้อยละ 60 – 70 และการทำงานต้องมีความเข้าใจพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่การทำมาหากินของชุมชนผมสื่อสารเรื่องนี้มากว่า 10 ปี รู้ว่าสังคมมีความตระหนักรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทางออกจะมีอะไรได้บ้าง จึงฝากประชาชนช่วยกันติดตามเพื่อให้มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กันต่อไปเพื่อสิทธิพลเมืองในการมีอากาศที่ดีเป็นพื้นฐานคุณภาพชีวิตของเราจริงๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อากาศดีต้องมีได้

        มลภาวะทางอากาศเป็นอีกปัญหาระดับโลกที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทุกวันนี้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะอากาศที่ไม่สะอาด ไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 หรือฝุ่นจิ๋ว) จากไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม ควันไฟจากการหุงต้มหรือการให้ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่ทะเลทรายที่เพิ่มขึ้นและไฟป่าที่รุนแรงขึ้นเพราะภาวะโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มปริมาณขึ้น         เดือนกันยายนปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ ลดเพดานค่าฝุ่นจิ๋วที่ยอมรับได้ลงมาที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง (จากเดิม 25 ไมโครกรัม)  การตรวจวัดโดย IQAir  บริษัทสัญชาติสวิสที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฟอกอากาศ พบว่ามีเพียง 222  เมืองจาก 6,475 เมือง ใน 117 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก แต่มีถึง 93 ประเทศที่มีอากาศที่เลวร้ายเกินเกณฑ์ถึงสิบเท่า           จากรายงานดังกล่าว ในบรรดา 50 เมืองที่อากาศเลวร้ายที่สุดในโลกในปี 2564 มีถึง 46 เมืองที่อยู่ในภูมิภาคอินเดียกลางและอินเดียใต้ โดยมีบังคลาเทศรั้งตำแหน่งประเทศที่อากาศเป็นพิษที่สุดในโลก ด้วยค่าฝุ่นจิ๋ว 76.9 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร ประเทศอื่นในอันดับต้นๆ ได้แก่ แชด ปากีสถาน ทาจิกิสถาน อินเดีย โอมาน คีร์กีสถาน บาห์เรน อิรัก และเนปาล         ส่วนประเทศที่อากาศสะอาดที่สุดคือ นิวคาลิโดเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลแปซิฟิกใต้ (ค่าฝุ่นจิ๋ว 3.8 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) ตามด้วยเวอร์จินไอแลนด์ เปอโตริโก เคปเวิร์ด ซาบา ฟินแลนด์ เกรนาดา บาฮามาส์ ออสเตรีย และเอสโตเนีย         อย่างไรก็ตาม บริษัท IQAir บอกว่าปัจจุบันเขายังไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทั่วทุกประเทศ จึงอาจมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นได้ทุกปี เช่น ก่อนปี 2564 ไม่เคยมีชื่อประเทศแชดปรากฏ แต่เมื่อมีสถานีตรวจวัด ประเทศนี้คว้าอันดับประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดอันดับสองของโลกไปเลย          เมืองหรือประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ มีแผนลดมลพิษหรือควบคุมมาตรฐานอากาศกันอย่างไร เราลองไปสำรวจกัน         เริ่มจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นแชมป์โลกด้านอากาศสะอาด ก็ยังมีค่าฝุ่นจิ๋วเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ (ค่าฝุ่นจิ๋วของฟินแลนด์คือ 5.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และในเขตตัวเมืองเฮลซิงกิก็ยังคงมีไนโตรเจนไดออกไซด์เกินมาตรฐานถึงสามเท่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอันมีสาเหตุมาจากมลภาวะปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย      เทศบาลเมืองร่วมกับมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ องค์กรกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของเมือง ได้ริเริ่มโครงการ HOPE (Healthy Outdoor Premises for Everyone) ที่ให้ประชากรมีส่วนร่วมติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่กลางแจ้ง โดยอาสาสมัครอย่างน้อย 150 คนจะพกอุปกรณ์ตรวจวัดติดตัวไปด้วยตามเส้นทางที่ใช้ประจำวัน มหาวิทยาลัยเชื่อว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะเก็บข้อมูลได้แม่นยำที่สุดในโลก         ส่วนประเทศที่คุณภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในยุโรปอย่างโปแลนด์ ซึ่งมีถึง 36 เมืองที่ติดอันดับ “เมืองอากาศแย่ที่สุด 50 เมืองในยุโรป” และมีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะมลพิษทางอากาศมากถึง 47,000 คนทุกปี ก็กำลังรณรงค์อย่างจริงจัง รวมถึงออกมาตรการจำกัดการใช้ถ่านหินและการใช้ฟืนหุงต้มหรือสร้างความอบอุ่น และมีแผนเพิ่มการติดตั้งเซนเซอร์ให้ทั่วถึงเพื่อให้เอื้อต่อการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย          โปแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำเหมืองถ่านหินมากที่สุดในยุโรปรองจากเยอรมนี ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ ในขณะที่บ้านเรือนทั่วไปก็ยังใช้เตาผิงแบบดั้งเดิมเพื่อให้ความอบอุ่นด้วย         ในภาพรวมสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรประมาณ 450 ล้านคน กำลังผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการจำกัดปริมาณฝุ่นจิ๋วภายในปี 2573 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2593 จะต้องไม่มีสารก่อมลพิษในอากาศเลย  เป้าหมายนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้คนต้องกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันมากขึ้น         ข้ามทวีปไปอเมริกาใต้เพื่อดูความพยายามของโบโกตา เมืองหลวงของโคลัมเบียกันบ้างพิษส่วนใหญ่ของโบโกตาซึ่งมีประชากร 500,000 คน มาจากการเดินทางขนส่ง (ที่เหลือเป็นควันจากไฟป่าในประเทศข้างเคียง)         คลอเดีย โลเปซ นายกเทศมนตรีของโบโกตาประกาศตั้งเป้าว่าโบโกตาจะลดมลภาวะลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ภายในปี 2567 โดยมีแผนเปลี่ยนรถเมล์ทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนี้เป็นระบบที่สะอาดที่สุดในโลก         เมื่อต้นปี 2565 โบโกตามีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการรวม 655 คันในหกเส้นทาง และจากคำนวณพบว่าการมีรถเมล์จำนวนดังกล่าววิ่งรับส่งผู้โดยสารในเมืองสามารถทำให้อากาศสะอาดขึ้นเทียบได้กับการปลูกต้นไม้ 148,000 ต้น ทางเมืองจึงมีแผนจะจัดหารถดังกล่าวมาให้บริการเพิ่มอีก 830 คันภายในสิ้นปี และโบโกตายังประกาศจะเป็นเมืองที่มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าให้บริการมากที่สุดในโลกรองจากจีนด้วย         มาที่กรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ โซลเผชิญกับมลภาวะที่เข้าขั้นวิกฤตเช่นกัน งานวิจัยคาดการณ์ว่าหากไม่มีการลงมือแก้ไขโดยด่วน ประชากรกว่า 10 ล้านคนในมหานครแห่งนี้จะมีอายุสั้นลง 1.7 ปี        นอกจากไอเสียจากรถยนต์แล้ว กรุงโซลและอีกหลายพื้นที่ในเกาหลีใต้ยังได้รับผลกระทบจาก “ฝุ่นเหลือง” ที่เคยเชื่อกันว่าถูกพัดพามาจากทะเลทรายในจีนและมองโกเลีย แต่ต่อมีการศึกษาที่ยืนยันว่ามีฝุ่นเหลืองจากเขตอุตสาหกรรมของเกาหลีมากกว่าที่พัดมาจากประเทศจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญเกาหลีใต้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 61 โรง ที่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าสนองร้อยละ 52.5 ของความต้องการไฟฟ้าในประเทศ         แผนรับมือของเกาหลีใต้เริ่มจากการประกาศเพิ่มจำนวนสารอันตรายควบคุมในอากาศเป็น 32 ชนิด (จาก 18 ชนิดในกฎหมายฉบับก่อนหน้า) เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการทำฝนเทียมเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเหลือง และร่วมมือกับเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์วัดคุณภาพอากาศ ที่สามารถซอกแซกเข้าไป “ตรวจ”​ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก โดรนตรวจการณ์พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงใช้ดาวเทียมของตัวเองในการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้บ่อยขึ้น และตรวจวัดปริมาณสารก่อมลพิษถึง 7 ชนิด        กรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนของเรานั้น ตามแผน  “Green Bangkok 2030” ที่ประกาศไว้เมื่อปี 2562 เราได้ให้คำมั่นไว้ว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชากร จาก 7.30 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 และพื้นที่เหล่านี้ต้องสามารถเข้าถึงได้จากที่อยู่อาศัยในระยะไม่เกิน 400 เมตร หรือใช้เวลาเดินไม่เกิน 5 นาทีด้วย แผนนี้เน้นไปที่ “เครื่องฟอกอากาศ” เป็นหลัก ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีกฎระเบียบหรือนโยบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อจัดการกับต้นตอของมลพิษในเมือง    https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-03-22/every-country-is-flunking-who-air-quality-standard-report?leadSource=uverify%20wallhttps://thecitizen.plus/node/51769https://thl.fi/en/web/thlfi-en/-/the-tightened-recommendations-for-air-quality-by-who-pose-new-challenges-even-to-finlandhttps://innovationorigins.com/en/selected/helsinki-citizens-help-measuring-air-pollution/https://www.unep.org/news-and-stories/story/five-cities-tackling-air-pollutionhttps://bogota.gov.co/en/international/2023-bogota-will-have-biggest-electric-fleet-after-chinahttps://www.koreatimes.co.kr/www/world/2022/11/501_338651.htmlhttps://www.privacyshield.gov/article?id=Korea-Air-Pollution-Control

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 การดูแลผิวไหม้จากแดดหน้าร้อน

        เมื่อถึงช่วงเวลาฤดูร้อน สิ่งที่ทุกคนประสบปัญหาก็คงหนีไม่พ้นแสงแดดที่ร้อนแรงของประเทศไทย ซึ่งแม้อยากหลีกเลี่ยงไม่ขอโดนแดดเลย แต่อย่าลืมว่า “แสงแดด” มีประโยชน์มหาศาลเช่นกันต่อสุขภาพ โดยเฉพาะแสงแดดยามเช้า แต่หากเป็นแสงแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 ขึ้นไป แน่นอนว่าควรหลีกเลี่ยง โดนก็ให้น้อยที่สุด เพราะหากเผชิญกับแสงแดดนานๆ นอกจากจะเกิดอาการผิวไหม้ที่รุนแรงได้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ด้วย    รู้จักภาวะผิวไหม้         ผิวไหม้ สาเหตุเกิดจากการโดนแดดในอุณหภูมิที่สูงและนานเกินไป จนเกิดอาการแสบร้อนแดง  คัน ผิวหมองคล้ำ หรืออาจเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณผิวหนังโดยอาจจะเกิดจากการที่เราไม่ได้ทากันแดดซ้ำ หรือไม่ได้ทาเลยตั้งแต่แรก ซึ่งอาการ ผิวไหม้ นั้นมีหลายระดับดังนี้        1. อาการผิวไหม้ในภาวะไม่รุนแรงมากจะมีอาการแดง และเจ็บปวดบริเวณที่ผิวไหม้เล็กน้อยประมาณ 3-5 วัน ผิวจะมีอาการลอกและกับเข้าสู่สภาวะปกติของผิวหนัง         2. อาการผิวไหม้เริ่มรุนแรงในระดับปานกลาง มีอาการแสบคัน ผิวแดง บวม เจ็บปวดเวลาสัมผัสผิวบริเวณนั้น ต้องคอยบำรุงผิวใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความชุ่มชื้นเพื่อให้ผิวหนังกลับสู่ภาวะปกติในระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน         3. อาการผิวไหม้ในระดับรุนแรง ที่ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง จะมีอาการ แสบร้อน คัน ผิวแดง บวม และมีตุ่มใสบริเวณผิวหนัง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูผิวให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ วิธีดูแลผิวไหม้ระดับหนึ่งและสอง        1. อาบน้ำเย็น แต่หากไม่สามารถอาบน้ำได้ในเวลานั้นทันที ให้ใช้น้ำเกลือที่แช่เย็นไว้แทน โดยนำผ้าชุบน้ำเกลือมาประคบไว้ เพื่อลดอาการแสบร้อนได้ แต่ห้ามเป็นน้ำที่มีความเย็นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กัดผิวได้        2. ทามอยเจอร์ไรส์เซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยทาหลังจากอาบน้ำในขณะที่ตัวหมาดๆ หรือใช้เจลว่านหางจระเข้ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนและถนอมผิว แต่หากผิวมีอาการอักเสบมากสามารถใช้ยาที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ได้เหมือนกัน แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น        3. ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจากอาการผิวไหม้ และนอกจากนี้การดื่มน้ำมากๆ ยังทำให้ช่วยลดอาการผิวแห้งอีกด้วย        4. ไม่ควรแกะ ลอก หรือเกา ในบริเวณผิวที่ไหม้เพราะผิวบริเวณนั้นมีความเปราะบางมากและไวต่อการระคายเคืองมาก        5. ในกรณีที่ไหม้แดดมาก ถึงขั้นมีอาการตุ่มแดงพองมีน้ำใสๆ หรือตุ่มน้ำห้ามเจาะออกเองเด็ดขาด หากเจาะตุ่มน้ำออกมาเอง อาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะฉะนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องเท่านั้น        หากอยู่ในภาวะผิวไหม้แดด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ เพื่อลดการเสียดสี และหลีกเลี่ยงการออกไปในสถานที่กลางแจงที่มีแดดจัดๆ เพื่อให้ผิวหนังได้มีการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้เต็มที่           สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดด หากเราใช้ชีวิตประจำวันอยู่แค่เพียงในอาคาร สามารถใช้แค่ SPF15+ ขึ้นไป แต่หากอยู่กลางแจ้งควรที่จะใช้ SPF30+ ขึ้นไปข้อมูลอ้างอิง : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1411https://www.pobpad.comhttps://www.youtube.com/watch?v=2Hzf1kNFANE

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ตรวจสอบคุณภาพอากาศ บนแอปพลิเคชั่น Air4Thai

        เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมีของโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โตและมีผู้ติดตามข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา จากเหตุการณ์นี้ได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ด้วย โดยสารเคมีชนิดนี้มีชื่อว่า สไตรีน โมโนเมอร์ มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นเฉพาะตัว ไม่ละลายน้ำและเบากว่าน้ำ เป็นสารที่ก่ออันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา หากสัมผัสในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวและเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ติดตามและเฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุและพื้นที่ใกล้เคียงจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป         ระหว่างที่กรมควบคุมมลพิษและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำอยู่นั้น ในฐานะประชาชนคนธรรมดาที่ต้องใช้ชีวิตประจำวันคนหนึ่งอย่างพวกเรา ก็ต้องคอยตรวจสอบสภาพอากาศที่อาจเกิดมลพิษด้วยเช่นกัน นอกจากติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องแล้ว การมีแอปพลิเคชั่นสำหรับตรวจสอบสภาพอากาศฉบับพกพาก็ช่วยให้อุ่นใจได้ไม่น้อยเลย         แอปพลิเคชั่น Air4Thai จัดทำขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ใช้เครื่องมือตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศที่ได้รับรองมาตรฐาน 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)        โดยแบ่งคุณภาพอากาศผ่านระดับสี 5 ระดับ ได้แก่ ระดับสีฟ้า เขียว และเหลือง ที่แสดงระดับมลพิษทางอากาศที่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยสีเหลืองคือใกล้ถึงค่ามาตรฐาน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อผู้ที่อ่อนไหวกับมลพิษได้ เช่น โรคหอบหืด เป็นต้น และเมื่อเกินค่ามาตรฐานสีส้ม และสีแดง จะทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะสามารถตรวจสอบสภาพอากาศโดยรวม หรือจะเลือกตรวจสอบสถานการณ์ PM2.5 อย่างเดียวก็ได้ และให้กดค้นหาบริเวณต่างๆ ตามที่ต้องการ หรือจะเข้าเมนูรายการ เพื่อเลือกระบุว่าต้องการตรวจสอบสภาพอากาศของภูมิภาคใดได้ทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกโดยการมีเมนูแผนที่เพื่อแสดงสภาพอากาศบริเวณต่างๆ ในรูปของแผนที่ได้อีกด้วย         ลองดาวน์โหลดมาตรวจสอบคุณภาพอากาศกันดูว่าบริเวณที่อยู่อาศัยของเรามีมลพิษอยู่ในระดับสีใด อันตรายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ที่อ่อนไหวกับมลพิษ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่จะเกิดจากมลพิษนั้นได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ยังสามารถติดตามผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com ได้อีกช่องทางหนึ่ง         ช่วงนี้มีทั้งโรคมีทั้งอุบัติเหตุ อดทนกันอีกหน่อย สู้กันต่อไปนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 วิธีบรรเทาอาการร้อนใน

        อาการร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นกันได้ทุกเพศวัย โดยอาการที่พบบ่อยคือ แผลในปาก (จุดขาวขอบแดงนูน) บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม อาการร้อนใต้ลิ้นหรือในคอ ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความรำคาญและรบกวนใจ ซึ่งสาเหตุแน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ พักผ่อนน้อย เครียด แพ้อาหารหรือสารเคมี พันธุกรรม ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น อากาศร้อน กินอาหารแสลง ดื่มน้ำไม่เพียงพอ         ร้อนในไม่ใช่อาการร้ายแรงมักหายเองได้ในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ เว้นแต่อาการลุกลามควรรีบพบแพทย์ แม้อาการร้อนในหายเองได้ แต่ก็มีวิธีบรรเทาอาการเพื่อให้ไม่รบกวนกายใจ ดังนี้         การดูแลทั่วไป        -        เลี่ยงอาหารรสจัด        -        การทำความสะอาดฟันควรระวังไมให้กระทบแผล        -        เลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่รสเผ็ดร้อน ควรใช้แบบอ่อน        -        การดื่มน้ำ อาจใช้หลอดดูดแทนการดื่มเพื่อไม่ให้น้ำโดนแผล        -        การบ้วนน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง        -        ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ          การใช้ยา        -        ยาที่ใช้บรรเทาอาการร้อนในมีทั้งชนิดป้ายและรับประทาน ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาได้ หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดต้านแบคทีเรีย          อาหารและเครื่องดื่มที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการร้อนใน         1.มะระขี้นก มีสรรพคุณแก้ร้อนใน อาจรับประทานในรูปแบบปั่นผลสด หรือใช้แบบผลิตภัณฑ์สกัดเย็นซึ่งรับประทานได้ง่าย        2.ใบบัวบก เครื่องดื่มน้ำใบบัวบก อย่างไรก็ตามใบบัวบกเป็นพืชที่พบว่ามีการใช้สารเคมีเกษตรสูง ควรเลือกแบบที่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือล้างให้สะอาด        3.รางจืด ดื่มน้ำต้มรางจืดหรือชารางจืด ช่วยแก้ร้อนในและช่วยถอนพิษเมาต่างๆ        4.เก๊กฮวย ช่วยแก้ร้อนในได้ แต่ไม่ควรชงหวาน และดื่มบ่อยเพราะมีฤทธิ์ขับลมและระบายอ่อนๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 รับมือผดผื่นหน้าร้อน

        เมื่อถึงเดือนเมษา นอกจากต้องเตรียมรับมือเรื่องอาหารเป็นพิษ ลมแดดหรืออาการหมดสติจากอากาศร้อนแล้ว ผดผื่นหน้าร้อนก็เป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญด้วยเช่นกัน แม้อาการของผดร้อนไม่ได้ร้ายแรงและจะดีขึ้นเองหากไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อน แต่ถ้าไม่เป็นเลยจะดีกว่า         ผดร้อน เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง กล่าวคือร่างกายคนเรานั้นมีวิธีระบายความร้อนด้วยการขยายหลอดเลือดแดงที่ผิวหนังและต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อเพื่อช่วยระบายความร้อนออกทางผิวหนัง ถ้ามีการอุดตันของท่อเหงื่อก็จะเกิดตุ่มน้ำใสๆ หรือตุ่มเนื้อขึ้น โดยเฉพาะบริเวณ รักแร้ หน้าอก ข้อพับ หลังคอ ไหล่ หรือต้นขา บางคนก็แสดงอาการที่ใบหน้าและหนังศีรษะด้วย         แม้ภาวะผดร้อนจะไม่อันตรายแค่สร้างความรำคาญด้วยอาการคัน ถ้าไม่เกาจนเกิดแผลถลอกและติดเชื้อ อาการจะปรากฎไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงและหายไปเอง อย่างไรก็ตามกับเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจต้องช่วยเหลือดูแลเพื่อไม่ให้ลุกลาม          การป้องกันผดร้อนต้องควบคุมที่สาเหตุคือ การหลั่งเหงื่อ นั่นคือหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนมาก พยายามอยู่ในที่ที่อากาศโปร่ง เย็นสบายหรือห้องปรับอากาศ หากอยู่กลางแจ้งอาจใช้ผ้าเย็นประคบเพื่อระบายความร้อนบริเวณผิวหนังที่มักเกิดปัญหาผดผื่น             ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรึงหรือเสื้อผ้าเนื้อผ้าหนาๆ ควรสวมใส่เสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่นหรือครีมเนื้อหนักป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ กรณีเด็กเล็กควรให้เด็กสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ไม่ออกแดดนานและอาบน้ำเพื่อช่วยระบายความร้อนและล้างเหงื่อให้บ่อยขึ้น เลี่ยงการเช็ดตัวด้วยผ้าป้องกันแผลเสียดสี สำคัญตัดเล็บเด็กๆ ให้สั้นลดการเกาจนเกิดแผล         การรักษาผดร้อน         ธรรมดาอาการผดผื่นร้อนจะไม่รุนแรงและจะหายไปเอง แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนหรือรุนแรงขึ้นควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการ ซึ่งอาจได้รับยาแก้แพ้ หรือขึ้ผึ้งทาผิวเพื่อบรรเทาอาการ         การดูแลตนเอง อย่าเกาจนเกิดแผลถลอก อาจการแก้อาการคันด้วยการประคบความเย็น หรือใช้แป้งน้ำหรือโลชั่นคาลาไมน์ หรือลองด้วยสมุนไพรแบบไทยๆ ที่ใช้ดูแลรักษาผดร้อนกันมาแต่โบราณ อย่างใบพลู(ใบพลูที่กินกับหมาก) ด้วยการตำให้ละเอียดคั้นน้ำแล้วผสมกับเหล้าขาวชุบทาที่ผด ผดจะยุบตัวลง หรือใช้ฤทธิ์เย็นจากว่านหางจระเข้ โดยใช้วุ้นใสๆ ที่อยู่ในลำต้นแปะไปที่บริเวณผด สำหรับว่านหางสามารถเก็บวุ้นใสแช่เย็นไว้ใช้ในกรณีเกิดผดผื่นขึ้นมาอีก กรณีเผลอเกาจนเกิดแผลถลอก สมุนไพรที่ช่วยได้คือ ขมิ้นชัน ตำเหง้าให้แตกแล้วนำน้ำจากส่วนเหง้าทาบนแผลจะช่วยให้แผลสมานตัวไวขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ”

เมื่อครั้งที่นิตยสารฉลาดซื้อแถลงข่าวเรื่องประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เราได้ฟังรายละเอียดเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด จาก ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งพบว่าน่าสนใจจนต้องขอนำมาเผยแพร่ผ่านฉลาดซื้ออีกครั้ง “เรื่องมลพิษทางอากาศมันซับซ้อนต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม รวมถึงต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการที่ต้นเหตุด้วย” สิทธิผู้บริโภคข้อหนึ่งคือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลรวมถึงเรื่องอากาศ         เราไม่ได้รับการปกป้องสิทธิพื้นฐานเรื่องอากาศ คือสิทธิที่จะรู้ รู้ข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่เพื่อเราจะได้ปกป้องตัวเองได้ ซึ่งข้อมูลของอากาศที่เราหายใจอยู่ก็มีพวก Application ต่างๆ ตอนนี้ที่มีคนไปใช้ Air Visual กันเยอะๆ หรือว่า AQI CN ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลแบบ Real Time  แต่ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้รับการพัฒนาจากรัฐ แนวคิดของรัฐมองว่าประชาชนทุกคนเหมือนกัน คือทุกคนเป็นคนปกติ ออกไปหายใจอากาศที่มันมีมลพิษสูงแป๊บเดียวคงไม่เป็นไร แต่ลืมคิดไปว่ามลพิษทางอากาศสูงขนาดนี้ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่เจ็บป่วยเกิดอาการรุนแรงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่ารัฐยังละเลย         แล้วก็เวลามีการเรียกร้องของภาคประชาชนรัฐก็จะบอกว่าก็เป็นแค่ประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นเอง เราจะต้องยึดตามมาตรฐานคือการรายงานค่ามลพิษทางอากาศ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้นรัฐก็จะยึดกฎระเบียบ สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ พลังของภาคประชาชน ที่จะต้องเรียกร้องสิทธิที่จะรู้ข้อมูลคุณภาพของอากาศ ไม่ใช่ว่าประชาชนต้องลงทุนเองเพื่อให้ได้อากาศสะอาด อย่างการลงทุนไปซื้อเครื่องมาฟอกอากาศ คือประชาชนจะต้องปกป้องตัวเองเพื่อจะให้มีอากาศสะอาดที่จะหายใจ         สิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาดพยายามจะเรียกร้องมาตลอดคือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องดูแลให้เขาได้รับอากาศสะอาดที่หายใจเข้าไปจริงๆ อย่างการปกป้องมาตรฐานของสินค้าอันนี้คือเครื่องฟอกอากาศก็เป็นเรื่องหนึ่งนะครับ มันยังมีสินค้าอื่นๆ อีกมากมายตอนนี้ที่ออกมาอย่างเช่น หน้ากากหรือว่าเครื่องวัดฝุ่น มีอีกเยอะมากเลยที่เอกชนเขาอาศัยความเป็นห่วง โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูกอันนี้ชัดเจนที่สุด พ่อแม่ยอมลงทุนนะครับ พวกสินค้าหน้าตาดูสวยงาม ยี่ห้อดูดี แต่ว่าอะไรคือ มาตรฐาน อย่างผลทดสอบวันนี้ผลออกมาแล้วน่าเสียใจ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะใช้ผลการทดสอบนี้เป็นจุดเริ่มต้น ประชาชน ฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการร่วมกันเป็นยามเฝ้าระวัง ติดตามสิ่งที่รัฐไม่เฝ้าระวัง ติดตามในสิ่งที่รัฐไม่ยอมติดตามให้เรา ผลการทดสอบถึงมาตรฐานการควบคุมสินค้าต่างๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเอาตรงนี้มาให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกำลังได้รับผลกระทบ โดยที่รัฐควรจะดูแลให้ดีขึ้นครับ         และยิ่งไปกว่านั้นเราจะต้องมาร่วมกันติดตามและก็เรียกร้อง “มาตรฐานคุณภาพอากาศ” มีเครื่องมือที่รายงานให้ประชาชนรู้และควรจะมีการรายงานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนเจ็บป่วย ประเทศไทยขาดอะไรที่ทำให้ต้องจมอยู่กับปัญหาฝุ่นอย่างนี้ทุกปี         จริงๆ เป็นคำถามที่ดีมากครับเรามีกฎหมายเยอะ เรามีหน่วยงานเยอะมาก เรามีอะไรดีๆ เยอะครับ แต่ว่าปัญหามันคือกระจัดกระจายและขัดแย้งกันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการก็คือการที่ภาครัฐประสานทำงานร่วมกันแล้วก็ยึดเอาประโยชน์ของประชาชนการปกป้องสุขภาพเป็นตัวตั้ง ตอนนี้นโยบายและทิศทางของการพัฒนาจะยึดเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเป็นที่ตั้ง สุขภาพของประชาชนมาทีหลัง ที่เราคุยกันในเครือข่ายก็คือว่า เรากำลังหยิบยื่นมลพิษทางอากาศให้กับประชาชน คือส่งคนไปตายเพื่อแลกกับความเติบโตของทางเศรษฐกิจ         กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในขณะที่ประเทศจีนมีการควบคุมมลพิษอย่างมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษร้ายแรงหลายๆ อย่างต้องย้ายฐานออกจากประเทศจีน ประเทศไทยก็เปิดรับครับให้มาลงทุนตั้งโรงงานเหล่านี้ในประเทศไทย และก็มีการแก้กฎหมายโรงงาน ทำให้โรงงานบางอย่างไม่จำเป็นจะต้องรายงานว่าเป็นโรงงานด้วยซ้ำไป  และเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมว่าประชาชนมีสิทธิรู้ว่าไอ้โรงงานที่ตั้งอยู่ข้างบ้านปล่อยมลพิษอะไรบ้าง จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้นะครับ องค์ความรู้มีอยู่ กลไกรัฐมีอยู่พอสมควร แต่ต้องการการบริหารจัดการที่มันมีการเชื่อมประสานกันของทุกหน่วยงาน นี่ก็เลยทำให้เครือข่ายอากาศสะอาดตอนนี้พยายามเสนอร่าง “กฎหมายอากาศสะอาด” ฉบับที่เน้นเรื่องของการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน ขณะนี้กำลังรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อประมาณ 10,000 รายชื่อซึ่งตอนนี้ก็ได้ไปเป็นหลักพันนะครับ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.กฎหมายอากาศสะอาดและจะลงชื่อหรือร่วมทำอะไรได้บ้าง         กฎหมายอากาศสะอาดเป็นกฎหมายที่เรียกว่าเริ่มต้นจากในประเทศอเมริกานะครับ เขามีกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายน้ำสะอาด เป็นกฎหมายที่ต้องการให้เกิดระบบการจัดการที่ควบคุมตั้งแต่ต้นกำเนิดจนถึงปลายทางก็คือลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดแล้วก็มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศ เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและในอีกหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายอากาศสะอาดแล้วนะครับ คำว่ากฎหมายอากาศสะอาดนี้ในประเทศไทยเองก็มีผู้เสนอหลายกลุ่ม แล้วทำไมเครือข่ายอากาศสะอาดถึงจะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากอย่างนี้ครับ         ร่างกฎหมายของเครือข่ายอากาศสะอาดเรียกว่าเป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการบริหารจัดการ ก็คือเราเห็นแล้วว่าในกลไกของภาครัฐ ณ ปัจจุบันมีกฎหมายอยู่เยอะแล้ว มีองค์กรอยู่เยอะแล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการเชื่อมประสานให้เกิดการทำงานร่วมกัน และให้มีการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับนี้เน้นก็คือ เรื่องของการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด เพราะฉะนั้นนี่คือจุดเน้นของกฎหมาย แล้วก็เป็นกฎหมายภาคประชาชน ซึ่งขณะนี้การรวบรวมรายชื่อ เนื่องจากว่ามันมีการออกกฎหมายอากาศสะอาดมาแล้วมันก็มีการรวบรวมรายชื่อไปหลายครั้ง แต่สำหรับฉบับนี้สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นก็คือว่าให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการมองในเรื่องการบริหารจัดการว่าต้องการแก้ไข แต่อันหนึ่งที่สำคัญในทีมของเครือข่ายอากาศสะอาดก็คุยกันและก็รู้ว่ากฎหมายภาคประชาชนนี่ยากมากที่จะผ่าน แต่เราจะใช้กระบวนการการร่างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนได้มาสนใจในเรื่องนี้ แล้วได้มาร่วมเรียนรู้ว่าปัญหาของประเทศเราในเรื่องมลพิษทางอากาศมันอยู่ตรงไหนบ้าง และเราจะไปพ้นจากการพูดถึงเรื่องอากาศสกปรกเรื่องของมลพิษในอากาศไปสู่อากาศสะอาดอย่างไร         เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะเชิญชวนคืออยากจะเชิญชวนให้เข้าไปศึกษาเนื้อหาของกฎหมายที่เว็บไซด์ของเครือข่ายอากาศสะอาด Thailandcan.org  Can คือ clean care network ตรงนี้เข้าไปจะมีตัวกฎหมายแล้วก็มีสื่อต่างๆ ที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องว่าสิ่งที่เราต้องการจะให้เกิดขึ้นจากกฎหมายนี้ กฎหมายฉบับนี้มันแตกต่างจากกฎหมายฉบับอื่นๆ อย่างไร เพราะว่ามีคนออกมาพูดเรื่อยๆ ว่ากฎหมายก็มีอยู่แล้วดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการจัดการก็คือเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนนะครับไปร่วมกัน ถ้าเห็นด้วยก็ร่วมกันเป็นผู้เสนอชื่อเพื่อเสนอกฎหมายได้นะครับ              วิธีการคือ ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชน เนื่องจากระบบกลไกของการเสนอกฎหมายในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศไทย 4.0 แต่ระบบเสนอกฎหมายยังเป็น 1.0 อยู่เลย ก็คือต้องเอกสารตัวจริง เพราะฉะนั้นก็เชิญชวนร่วมกันสร้างการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ตื่นรู้เพื่อการจัดการคุณภาพอากาศในประเทศไทย เพื่ออากาศสะอาดครับ กฎหมายที่เรียกว่า PRTR        กฎหมายที่เรียกว่า PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ก็คือเป็นกฎหมายซึ่งต้องการบังคับให้ผู้ประการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายสารมลพิษและการปล่อยมลพิษรายงานต่อรัฐว่ากิจการของตัวเองมีการขนย้ายและการปล่อยสารมลพิษอะไรบ้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการเรียกร้องกันมาค่อนข้างนานแล้ว โดยเฉพาะมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ที่ติดตามเกี่ยวกับเรื่องมลพิษในอุตสาหกรรม ซึ่งตรงนี้ทางกรมโรงงานก็บอกว่ามีการดำเนินการแล้วเป็นคล้ายๆ กับ มอก.เลยครับคือเป็นแบบสมัครใจ เพราะฉะนั้นเขาไม่รายงานก็ไม่ผิด สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือว่าการที่ไม่มีกฎหมายมาบังคับให้เขาทำสิ่งนี้    ทำให้ ณ ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ก็ยังไม่รู้เลยครับว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบกรุงเทพมหานครที่ปล่อยมลพิษเข้ามาในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง         เมื่อไม่มีการรายงานทำให้นักวิชาการที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครมาจากแหล่งไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลที่จะมาใช้ในการคำนวณว่าสัดส่วนของมลพิษจากภาคอุสาหกรรมมีมากแค่ไหนในอากาศกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นกฎหมายนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายอากาศฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ที่เราเรียกร้องให้มีสิ่งนี้ที่เป็นภาคบังคับเพื่อสิทธิที่จะรู้ของประชาชนที่จะรู้ว่ามลพิษทางอากาศที่หายใจอยู่ ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า PM2.5 มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ปัญหาของ PM2.5 ที่มันเยอะขึ้นเราไม่รู้ว่ามันมาจากธรรมชาติหรือมันมาจากแหล่งอะไร และอันที่สองคือ PM2.5 ที่มันเป็นพิษทั้งตัวขนาดของมันเองและองค์ประกอบที่เป็นสารพิษที่มีอยู่หลายร้อยชนิดใน PM2.5 นั้น เพราะฉะนั้นคนที่ทางภาคเหนือที่ต้องทนกับเรื่องนี้มานานกับคนที่สมุทรสาครที่ตอนนี้เผชิญหน้ากับโควิด แต่จริงๆ มันมีสารพิษมากมายที่ชาวบ้านที่นั่นต้องหายใจอยู่และเป็นไปได้ว่าที่เขาป่วยด้วยโควิดกันมากๆ นี่เพราะว่าปอดของเขาเสียหายจากการได้สูด PM2.5 และสารพิษมากมายอยู่มานานแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 PM 2.5 กลับมาและกลับมา ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

เหมือนจะเป็นเหตุการณ์ประจำไปแล้วในช่วงปลายปีต่อต้นปีที่ฝุ่น PM 2.5 จะแผ่ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สร้างผลกระทบต่อสุขภาพชนิดร้ายลึก (ไม่นับด้านเศรษฐกิจ) ยิ่งสำหรับคนที่ร่างกายไวต่อมลพิษ แค่เดินออกไปข้างนอกไม่นานก็อาจเกิดอาการคันยุบยิบตามตัว มิพักต้องพูดถึงพ่อค้า แม่ค้า หรือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้งว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง         ไล่เรียงเส้นเวลากลับไปก็ชวนคิดว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นสถานการณ์ที่เพิ่งเห็นชัดในช่วงสามสี่ปีมานี้เอง         คำถามที่เลี่ยงไม่ได้คือถ้าถอยกลับไปนานกว่านั้น เราไม่มีปัญหานี้เลยหรือ? แล้วฝุ่น PM 2.5 มาจากไหน? มันวนซ้ำเป็นวัฏจักรมาสามสี่ปีเหตุใดจึงยังไม่เห็นการแก้ปัญหาใดจากภาครัฐ?         เราจะค่อยๆ หาคำตอบร่วมกันต่อจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         ก่อนอื่นเรามาทบทวนสั้นๆ ว่าฝุ่น PM 2.5 คืออะไร         มันคือฝุ่นละอองที่มีอนุภาคเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่มันมีปริมาณสูงมากเช่นที่เป็นอยู่เราจะเห็นมันเหมือนหมอกหรือควัน ถ้าคุณถูกโอบล้อมด้วยมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน คุณอาจมีอาการแสบตา ไอ จาม เป็นไข้ ผิวหนังอักเสบ และด้วยขนาดที่เล็กมากมันจึงสามารถลอดผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่หลอดลม เดินทางไปถึงถุงลมปอด และซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด ปอดอักเสบ หรือหัวใจขาดเลือด         สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดฝุ่น PM 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ในที่นี้คือรถ ควันบุหรี่ การเผาขยะ การเผาเพื่อการเกษตรหญ้า หรือการเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 มีอันตรายต่อสุขภาพโดยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ยิ่งอันตรายมากขึ้นเนื่องจากมันสามารถรวมตัวกับสารพิษอื่นๆ เช่น ไฮโดรคาร์บอน ไดออกซิน ยาฆ่าแมลง และโลหะหนัก ฝุ่น PM 2.5 ในไทย สาหัสติดอันดับโลก         ย้อนกลับไปที่รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยประจำปี 2562 ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ครองแชมป์อันดับ 1 ที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุด เพราะฝุ่น PM 2.5 ฝุ่น PM 10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปี 2561 อีกทั้งผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัดที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่มีปัญหาคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัดคือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี         รายงานสภาพคุณอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 24 มกราคม 2564 พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจพบฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานที่บริเวณตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม, ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนนวมินทร์ แยกบางกะปิ เขตบางกะปิ และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก         มองในแง่ความร้ายแรงนี่คือสถานการณ์เร่งด่วนยิ่งยวดเพราะเราทุกคนต้องหายใจ เกิดเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567)ว่าแต่เรารู้เห็นความคืบหน้าอะไรบ้างยังคงเป็นคำถามคาใจ         ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่สถานการณ์เฉพาะในไทย องค์การอนามัยโลกประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ จำนวนมาและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7 ล้านคนต่อปี         ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกวางเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ โดยค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าเฉลี่ยรายปีของไทยในปี 2560 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงคือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่าและการวิเคราะห์ข้อมูลใน State of Global Air ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 คน ในปี 2558        ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปี 2563 จากการวัดคุณภาพอากาศของ World Air Quality Index พบว่า ประเทศไทยมีฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนติดอันดับที่ 3 จาก 96 ประเทศทั่วโลก โดยมีค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 190 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ มันมาจากไหน?         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า         “ความร้ายแรงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ความเข้มข้นและความเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ ที่ตอนนี้มีคำอธิบายว่าเป็นฝาชีครอบ ผมมักเปรียบเทียบกับการจุดธูปในห้องพระ ถ้าวันหนึ่งเราปิดประตูหน้าต่างควันธูปก็จะฟุ้งอยู่ในห้อง ในลักษณะเดียวกัน สถานการณ์ความเข้มข้นมันเกิดจากลักษณะอากาศว่าไหลเวียนดีแค่ไหน ในช่วงนี้ที่สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้นเนื่องจากอากาศไหลเวียนไม่ดี จุดนี้การพยากรณ์อากาศจะช่วยได้”         เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ความกดอากาศสูง ฝุ่นที่อยู่ในอากาศไม่สามารถลอยขึ้นข้างบนได้ ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ก็มีแหล่งกำเนิดฝุ่นหลักจากรถยนต์ ซ้ำเติมด้วยสภาพอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ทำให้เกิดสภาพห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง และยังซ้ำเติมด้วยฝุ่นที่มาจากพื้นที่อื่น เช่น การเผาในพื้นที่ภาคกลาง หรือฝุ่นควันที่มาจากกัมพูชา ควันจากโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เป็นต้น         แต่กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย ในพื้นที่อื่นๆ ก็เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย เช่นในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งก็มีอันตรายเหมือนกัน หากพื้นที่กรุงเทพฯ ฝุ่น PM 2.5 มาพร้อมกับสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องยนต์ ในภาคเหนือมันก็มาพร้อมกับสารเคมีทางการเกษตร และการที่มันเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า การเผาพื้นที่เกษตร ปริมาณรถยนต์ หรือการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ล้วนเพิ่มมากขึ้น ฝุ่น PM 2.5 จึงมีปริมาณเพิ่มขึ้นตามไปด้วย         ดร.นพ.วิรุฬ เปิดเผยอีกว่า ประเทศไทยมีการตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 มาประมาณ 10 ปี แต่ไม่มีการนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ประมาณสองสามปีที่แล้วภาคประชาชนและกรีนพีซจึงเรียกร้องให้มีการนำฝุ่น PM 2.5 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษ สิ่งที่ต้องแก้ไขและสิ่งที่เราทำได้         ทั้งที่มีวาระแห่งชาติออกมา แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา เป็นเพราะอะไร ตอบแบบรวบรัดที่สุดเพราะ ‘ระบบราชการ’ ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า             “เป็นปัญหาเรื่องการจัดการของกลไกภาครัฐ ประเทศไทยมีกรมควบคุมมลพิษซึ่งควรจะทำหน้าที่นี้จึงตกเป็นเป้าการโจมตีซึ่งส่วนหนึ่งก็มีปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าเห็นใจเพราะว่ากรมควบคุมมลพิษทำได้แค่การประกาศมาตรฐาน ส่วนการจัดการกับต้นกำเนิดอย่างเช่นโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีอำนาจเข้าไปจัดการ         “แล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลโรงงานก็มีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรม ไม่ได้มีหน้าที่จัดการเรื่องมลพิษจึงเกิดความย้อนแย้งกันในตัว เพราะต้องการส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ถ้ามีมาตรการควบคุมมลพิษมากขึ้นอุตสาหกรรมก็ไม่เติบโต มันเป็นปัญหาในเชิงระบบ ถ้ามาคุยกันจริงๆ แต่ละคนก็จะบอกว่าต้องการช่วย แต่ไม่มีอำนาจเพราะอำนาจในการควบคุมมันกระจัดกระจายและทิศทางของประเทศเองก็เน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้น มันจึงเป็นปัญหาเชิงระบบ”         ดังนั้น ในภาพรวมจึงต้องแก้ไขระบบการจัดการมลพิษทางอากาศ โดยเชื่อมโยงอำนาจ เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งหลายให้ไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการแก้ไขจากข้างบนลงข้างล่าง อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.วิรุฬ แสดงทัศนะว่า         “การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ผมคิดว่าต้องทำ 2 ทางคือทำจากข้างบนลงมาและทำจากข้างล่างขึ้นไปด้วย ซึ่งการทำจากข้างบนก็ต้องการแรงผลักดันจากข้างล่างที่เรียกร้องให้ข้างบนแก้ไข มีการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อผลักดันกฎหมาย”         ส่วนการทำจากข้างล่างขึ้นไป...         “ผมเคยเสนอว่าต้องทำใน 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือตัวเราเองที่ต้องเข้าใจและปกป้องตัวเองก่อน ต้องติดตามสถานการณ์ เป็น active citizen ที่ดูแลตัวเอง ต้องรู้ว่าตัวเราไวต่อปัญหาคุณภาพอากาศหรือไม่ ระดับที่ 2 คือปกป้องคนในครอบครัว อย่างผมมีลูกเล็กๆ และมีผู้สูงอายุที่บ้าน ผมก็ต้องรู้ว่าลูกคนไหนไวเป็นพิเศษเพราะแต่ละคนแต่ละวัยได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่นดูแลบ้านของเราให้มีห้องปลอดฝุ่นสำหรับผู้ที่ไวต่อมลพิษทางอากาศเป็นห้องที่ปิดประตูหน้าต่าง ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็มีเครื่องฟอกอากาศ         “ระดับที่ 3 คือการทำงานร่วมกับชุมชนหมายถึงการร่วมกันดูแลครอบครัวอื่นๆ ที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เช่น บางครอบครัวมีฐานะดีหน่อย มีเครื่องฟอกอากาศเกินก็อาจจะให้อีกครอบครัวหนึ่งยืมหรือมีระบบที่ช่วยซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาถูกที่ทุกคนพอจะซื้อได้หรือหาหน้ากากที่เหมาะกับเด็กในโรงเรียน ส่วนระดับสุดท้ายคือระดับสังคมที่ต้องร่วมกันเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ” พ.ร.บ.อากาศสะอาด อากาศสะอาดคือสิทธิในการมีชีวิต        จากที่เห็นแล้วว่าการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาเชิงระบบอันเนื่องจากความซ้ำซ้อน การทำงานแยกเป็นเอกเทศ และขาดการบูรณาการของหน่วยงานราชการ จึงมีการเสนอ ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เสนอโดยเครือข่ายอากาศสะอาดที่ ดร.นพ.วิรุฬ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย เขาอธิบายว่า         “เป้าหมายของการเสนอกฎหมายนี้เพื่อจัดการคุณภาพอากาศ ระบบการจัดการ และมีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นการจัดการเพื่อสุขภาพ โดยหลักการเราเน้นการจัดการแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายจึงไปพ้นจากเรื่องมลพิษ แต่มีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน”         ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)         ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา         อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือพลังของผู้บริโภค ดร.นพ.วิรุฬ เสนอความคิดว่า ควรมีการ air pollution footprint เช่นเดียวกับ carbon footprint คือดูว่ากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการของภาคธุรกิจสร้างมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน         “เช่นผู้บริโภคต่อต้านบริษัทรถยนต์ที่ไม่ติดตั้งอุปกรณ์กรองอากาศให้กับรถหรือต่อต้านบริษัทผลิตอาหารที่ส่งเสริมการปลูกแบบอุตสาหกรรมแล้วมีการเผา ผมคิดว่าพลังของผู้บริโภคจะเป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องจัดการกับกระบวนการผลิตของตนซึ่งจะช่วยให้การจัดการต้นกำเนิดมลพิษเป็นไปได้มากขึ้นแทนที่จะรอภาครัฐอย่างเดียว”         การมีอากาศสะอาดให้หายใจคือสิทธิในการมีชีวิต ดังนั้น ขออากาศสะอาดให้พวกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

“ฉลาดซื้อ” ทดสอบเครื่องฟอกอากาศ พบหลายแบรนด์ลด PM 2.5 ไม่ได้อย่างที่โฆษณา

        นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ร่วมกันทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยอ้างอิง มอก.3061 – 2563 ของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563) พบ 6 แบรนด์ไม่เป็นตามคำโฆษณา         ผลการทดสอบประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้          การทดสอบเครื่องฟอกอากาศ (เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5)        1.อ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน         2. ทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3         3. ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 เพื่อสร้างฝุ่นจำลองขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm (ฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm)        4. เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้ คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533         5. ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m]                  ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า การบอกขนาดห้องที่เหมาะสมของเครื่องฟอกอากาศแต่ละยี่ห้อ จะมีความแตกต่างกัน บางยี่ห้อ บอกขนาดห้องที่เหมาะสม ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง เมื่อดูจากผลการทดสอบกว่าร้อยละ 60 ของตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศที่นำมาทดสอบไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้         นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ยกระดับมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน ทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้า ที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม ในการป้องกัน อันตรายจากการสูดดม ฝุ่นและควันมลพิษที่แพร่กระจายเข้ามาสู่ตัวบ้าน และสร้างผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารก เด็กเล็ก และผู้ป่วยจากโรคทางเดินหายใจ         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สํานักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด กล่าวว่า เรื่องมลพิษทางอากาศซับซ้อน ต้องจัดการร่วมกันหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับสังคม และต้องปกป้องสุขภาพของประชาชนไปพร้อมกันการหาทางจัดการต้นเหตุ การสุ่มทดสอบเครื่องฟอกอากาศกลุ่มที่สองที่มีราคาแพงขึ้น กว่าครั้งแรกนี้ เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในการปลุกพลังพลเมืองให้เป็นยามเฝ้าระวังแบบ citizen watchdog ในการปกป้องคนทุกกลุ่ม จากการกระทำที่ไม่ถูกต้อง         “ในขณะที่การจัดการที่ยั่งยืนจะต้องมีการแก้ไขระบบของรัฐที่กระจัดกระจายและขาดประสิทธิภาพ เราจึงจำเป็นต้องมีการเสนอกฎหมายอากาศสะอาดฉบับประชาชน ที่เน้นการปฏิรูประบบบริหารจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพของประชาชน โดยมีเป้าหมายในการปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศที่สะอาดของประชาชนซึ่งเป็นสิทธิที่มีอยู่คู่กับสิทธิที่จะมีชีวิต มันเป็นสิทธิติดตัว ไม่ใช่ว่าทำให้อากาศในพื้นที่สะอาดขึ้นแล้วก็จบ แต่เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประชาชนแต่ละคนว่าเขาจะต้องหายใจด้วยอากาศที่สะอาด กลไกของกฎหมายจะเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของกลไกราชการและเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน” ดร.นพ.วิรุฬ กล่าว                  ปัจจุบัน ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา ตัวเลขที่ได้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณหลักพันกว่า (สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ thailandcan.org)                  ดร.นพ.วิรุฬ อธิบายว่า กระบวนการออกกฎหมายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนทำความเข้าใจกับปัญหา เพราะว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่ แต่มันจะกระตุ้นให้ประชาชนตั้งคำถามกับการจัดการมลพิษทางอากาศโดยรัฐ เกิดเป็น active citizen ที่เข้าใจเรื่องนี้และเป็นแรงผลักดันจากข้างล่างขึ้นมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ผลการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ เฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5

        สังคมเมืองในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัดมักจะเกิดปัญหาคุณภาพอากาศ โดยหนึ่งในปัญหาที่พบมากในขณะนี้คือ ปัญหาฝุ่นละออง (PM) ซึ่งเกิดขึ้นจากการจราจร การเผาไหม้ในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม จากการวิจัยพบว่า ฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมักเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 μm (PM2.5) ทำให้ในปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้เครื่องฟอกอากาศ (Air cleaner/ Air Purifier) มาช่วยลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในอาคาร/บ้านเรือนของตนเอง จึงมีผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตเครื่องฟอกอากาศ เน้นประชาสัมพันธ์ว่าสามารถช่วยลดฝุ่นละออง (PM2.5) พร้อมช่วยขจัดมลพิษและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ          การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง  เน้นเฉพาะประสิทธิภาพการลด PM 2.5 โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน จากการสุ่มซื้อตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศในท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 9 ยี่ห้อ ได้แก่  Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST, Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M), Licc รุ่น Fresh 241, Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  , Saijo Denki รุ่น AP-P35, SHIMONO รุ่น AP-9000, Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV, Tefal รุ่น PU6067, และ LG รุ่น AS60GDPV0 (เก็บตัวอย่างสินค้าเดือนกันยายน 2563)         ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ         ผลการทดสอบเป็นผลลัพธ์จากการคำนวณค่าอัตราการส่งอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) และพื้นที่ห้องที่ใช้ได้ (Applicable floor area) ของทั้ง 9 รุ่น          สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบ พบว่า ประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 โดยพิจารณาจากค่าประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นในแง่อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate, CADR) สูงสุด ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Shimono รุ่น AP-9000 มีค่า CADR สูงสุด เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 71.36 ตารางเมตร และอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Samsung รุ่น Cube AX9500 AX47R9080SS/ST เหมาะกับพื้นที่ห้องขนาด 56.71 ตารางเมตร ในอันดับ 3 คือ เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ Electrolux รุ่น Pure A9 PA91-406GY  โดยทั้ง 3 ยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการกรอง ฝุ่น PM 2.5 เป็นไปตามที่โฆษณาไว้         อันดับ 4 Licc รุ่น Fresh 241 และอันดับ 5 LG รุ่น AS60GDPV0 อันดับ 6 คือยี่ห้อ Tefal รุ่น PU6067 อันดับ 7 คือยี่ห้อ Honeywell รุ่น Air Touch (HAC35M) อันดับ 8 คือยี่ห้อ Dyson รุ่น TP03 PH/TH WH/SV อันดับ 9 ยี่ห้อ Saijo Denki รุ่น AP-P35 แต่ขนาดห้องที่แนะนำ ทั้ง 6 ยี่ห้อ ไม่เป็นตามคำโฆษณา เนื่องจากมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าที่ระบุไว้        วิธีการทดสอบ        การทดสอบครั้งนี้ ทำการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นของเครื่องฟอกอากาศจำนวน 9 รุ่น โดยอ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องฟอกอากาศเฉพาะด้านประสิทธิภาพการลด PM2.5 (มอก. 3061 – 2563) ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศสำหรับในที่อยู่อาศัยและงานที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน เช่น บ้านเรือน สำนักงาน ร้านค้า เป็นต้น โดยทำการทดสอบในห้องที่มีการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศให้มีค่าน้อยที่สุดและมีการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 μm (PM2.5) ที่สร้างให้มีค่าอยู่ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3          3.1 เงื่อนไขการทดสอบ        สำหรับฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบนี้ ทางผู้ทดสอบจะใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS aerosol generator ATM 226 (ดังรูปที่ 1‑1) เพื่อสร้างฝุ่นจำลอง โดยปกติเครื่องนี้จะสร้างฝุ่นจำลองที่มีขนาดอนุภาคอยู่ในช่วง 0.1-0.9 μm ซึ่งฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาดอนุภาค 0.2 μm โดยแผนภูมิการกระจายตัวของขนาดฝุ่นแสดงดังรูปที่ 1‑2              3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ            เครื่องวัดความเข้มข้นของ PM2.5 ในการทดสอบนี้คือ DUSTTRAK DRX AEROSOL MONITOR 8533 แสดงดังรูปที่ 1‑3 ซึ่งเครื่องวัดดังกล่าวสามารถวัดความเข้มข้นของ PM2.5 แบบ Real-time ได้             3.3 ลักษณะของห้องที่ใช้ในการทดสอบ             ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองนี้มีขนาดห้อง 30.45 m3 [กว้าง×ยาว×สูง:3.53 m x 3.45 m x 2.50 m] โดยคุณสมบัติของห้องดังกล่าวสามารถรักษาระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องได้ ซึ่งฝุ่นละอองต้องลดลงน้อยกว่า 20% ของความเข้มข้นเริ่มต้นในระยะเวลา 30 นาที        นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบริเวณริมห้องโดยให้เว้นระยะจากผนังห้องเป็นระยะ 30 cm ตามที่ผู้ผลิตได้ระบุไว้ รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่นละอองและเครื่องมืออื่นๆ บริเวณกึ่งกลางห้อง โดยมีความสูงจากพื้น 1.2 m แผนผังห้องและการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบทั้งหมด แสดงดังรูปที่ 1-4 และรูปที่ 1-5        3.2 วิธีการทดสอบ        สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพนี้จะทำการทดสอบโดยตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่เปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา เพื่อคำนวณหาค่าประสิทธิภาพของการกำจัดฝุ่นละออง และเพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศและเครื่องปรับอากาศอย่างถูกต้อง ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องทดสอบอัตราการระบายอากาศ (Air exchange rate) การลดลงตามธรรมชาติของฝุ่นละอองภายในห้องขณะยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Natural decay) และทดสอบการลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศ (Decay of dust concentration)        การลดลงของฝุ่นละอองตามธรรมชาติ (Natural decay)         ดำเนินการโดยการสร้างฝุ่นละอองเพื่อให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ภายในห้องมีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 5.0 mg/m3 จากนั้นจะทำการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องเป็นเวลา 30 นาที เพื่อหาค่าที่การ Natural decay โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองหลังจากเวลาผ่านไป 30 นาที ควรมีค่าความเข้มข้นมากกว่า 80 % ของความเข้มข้นเริ่มต้น         การลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration)         ในการทดสอบนี้จะดำเนินการเหมือนกับการทดสอบ Natural Decay แต่หลังจากสร้างฝุ่นละอองจนได้ความเข้มข้นของ PM 2.5  ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3 จะทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า 0.020 mg/m3 หรือ 20 µm/m3        การคำนวณหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ                 สำหรับการคำนวณนี้จะทำการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศhttps://consumerthai.org/consumers-news/product-and-other/4554-641203_airpurifier.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 เปลี่ยนวิกฤตในอากาศ...เป็นอาหาร

                มีการพยากรณ์มานานพอควรแล้วว่า มนุษย์บนโลกน่าจะเพิ่มเป็นประมาณหมื่นล้านคนในปี 2050 ซึ่งทำให้นักบริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศหลายคนกังวลว่า โลกอาจกำลังเดินเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงมนุษย์ที่มีอยู่ด้วยกระบวนการเกษตรแบบดั้งเดิม         สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กเคยได้ยินข่าวหนึ่งว่า องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีความพยายามนำเอาสาหร่าย spirulina ซึ่งก็คือ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่มีขึ้นทั่วไปทั้งน้ำเค็มและน้ำจืดมาเป็นแหล่งของโปรตีนแก่ประเทศยากจน แต่ปรากฏว่าระหว่างการประเมินความปลอดภัยในหนูทดลองนั้น มีผลการศึกษาบางประเด็นที่ส่อถึงปัญหาบางประการ องค์การอนามัยโลกจึงได้หันความสนใจในภารกิจหาโปรตีนให้ประเทศยากจนไปยัง ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่อุดมทั้งโปรตีนและมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อีกทั้งข้อความใน Wikipedia ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายประเภทนี้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า U.S. National Institutes of Health ยังมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพไม่พอจะแนะนำให้กินสาหร่ายชนิดนี้เป็นแหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์เช่นกัน         ผ่านไปกว่า 50 ปี ความพยายามค้นหาแหล่งโปรตีนราคาถูกยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม จนล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในอนาคตชื่อ Air Protein ของบริษัท startup (ชื่อเดียวกันกับผลิตภัณฑ์) ในเมือง Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนียปรากฏขึ้นในอินเทอร์เน็ต บริษัทนี้คุยว่า สามารถใช้เทคโนโลยีชีวภาพอาศัยจุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศรอบตัวมนุษย์ให้กลายเป็นโปรตีน และอาจถึงการผลิตเป็นไขมัน วิตามินและผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่นๆ เพื่อการบริโภคของมนุษย์         คาร์บอนไดออกไซด์นั้นเป็นปัจจัยร่วมสำคัญในการทำให้โลกร้อนขึ้น ผู้เขียนโชคดีได้พบเว็บบนอินเทอร์เน็ตหนึ่งที่มีสารคดีออนไลน์เรื่อง Decoding the Weather Machine ซึ่งผลิตโดย NOVA PBS (ราคา DVD สารคดีนี้ขายอยู่ที่ประมาณ $15.45) จึงเริ่มเข้าใจได้ว่า ทำไมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ดังนั้นการลดการปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ จึงกำลังเป็นสิ่งที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังทำอยู่ ส่วนประเทศที่พัฒนาได้แค่ที่เป็นอยู่ ซึ่งมักมีงบการวิจัยต่ำกว่า 1% GDP ก็ดูคนอื่นทำต่อไปข่าวเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างโปรตีนจากอากาศ         ความสามารถในการสร้างโปรตีนจากองค์ประกอบของอากาศที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดความสงสัยแก่ผู้เสพข่าวบางคนว่า เป็นไปได้จริงหรือที่จะสร้างโปรตีนจากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ข้อมูลที่ได้หลังจากการสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตพบว่า เป็นการอาศัยจุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph (ซึ่งจริงแล้วมีในธรรมชาติรวมถึงในลำไส้ของมนุษย์) เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นโปรตีน กล่าวอีกนัยหนึ่งประมาณว่า ในขณะที่พืชดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใช้แสงแดดเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นสารอาหารและองค์ประกอบอื่นที่พืชต้องการ จุลินทรีย์กลุ่ม hydrogenotroph ใช้แหล่งพลังงานอื่นในกระบวนการที่ต่างกันแต่ได้ผลในแนวทางเดียวกัน ดังที่ Dr. Lisa Dyson ผู้เป็น CEO ของ Air Protein (และเป็นผู้ร่วมตั้งบริษัทแม่ชื่อ Kiverdi ซึ่งดำเนินกิจการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม) คุยไว้ในคลิปที่บรรยายให้ TEDx Talks ชื่อ A forgotten Space Age technology could change how we grow food (www.youtube.com/watch?v=c8WMM_PUOj0)         Hydrogenotroph นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานที่ได้จากการรีดิวส์คาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนไปเป็น ก๊าซเม็ทเตน กระบวนการดังกล่าวส่งผลให้เกิดความต่างศักย์ด้านอีเล็คโตรเคมิคอลเพื่อใช้การสร้างสารพลังงานสูงคือ ATP ซึ่งถูกนำไปใช้ในกิจการสร้างสารชีวเคมีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการสร้างโปรตีน ดังนั้นเมื่อปริมาณของเซลล์แบคทีเรียเพิ่มขึ้นมากพอ ผู้เลี้ยงจึงสามารถใช้กระบวนการทางชีวเคมีในการสกัดเอาโปรตีนออกมาได้ความจริง Lisa Dyson ได้ยอมรับในการบรรยายต่างๆ ว่า แนวคิดเรื่องโปรตีนจากอากาศนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ NASA ที่ทำตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ในความพยายามมองหาวิธีผลิตอาหารสำหรับภารกิจในอวกาศของนักบินในอนาคตที่ต้องไปยังต่างดาวที่มีทรัพยากรจำกัดในการประทังชีวิต ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า "ระบบวงปิดของคาร์บอน หรือ the close loop carbon cycle" ที่มีจุลินทรีย์ทำหน้าที่แปลงองค์ประกอบจากอากาศที่หายใจออกมาเป็นอาหารให้นักบินอวกาศกิน และเมื่อมีสิ่งขับถ่ายต่างๆ ออกมา ซึ่งโดยหลักคือ คาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกนั้นจะถูกส่งเข้าสู่วงจรการผลิตใหม่ แต่เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว วงจรดังกล่าวไม่ใช่วงจรปิดเสียทีเดียว เพราะต้องมีการเติมบางสิ่งบางอย่างเข้าไปช่วยให้วงจรเดินหน้าได้ พร้อมกำจัดบางสิ่งที่ไม่ต้องการออกทิ้ง         ข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญมากเพราะ Lisa Dyson ได้พยายามกล่อมให้ผู้ฟังคล้อยตามคือ ผลพลอยได้จากการสร้างโปรตีนด้วยคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ เพราะกระบวนการนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีการปลูกป่าบนพื้นโลกให้มากขึ้น พืชจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยประสิทธิภาพดีกว่าและประหยัดกว่า แถมยังเป็นการผลิตสิ่งต่างๆ เพื่อการอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันของมนุษย์ด้วยผลกระทบที่อาจถูกละเลยไปอย่างตั้งใจ         สิ่งหนึ่งซึ่งไม่ควรละเลยคือ ผู้ผลิต Air Protein ได้ทำเป็นลืมที่จะกล่าวถึงการประเมินในลักษณะ Cost/Benefit ของกระบวนการ ซึ่งควรจะเป็นส่วนที่แสดงถึง ความคุ้มทุนของการดำเนินการของบริษัทในการผลิต เพราะเท่าที่ผู้เขียนตามดูในการบรรยายของ Lisa Dyson นั้นไม่ได้ระบุว่า  มีการใช้น้ำ แร่ธาตุ และพลังงานมากน้อยเพียงใดในกระบวนการผลิต         สิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ Air Protein นั้นไม่ได้เป็นบริษัท startup เพียงแห่งเดียวที่คุยว่า สามารถใช้อากาศในการผลิตโปรตีน เพราะก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่เดือน บริษัทสัญชาติฟินแลนด์หนึ่งที่ชื่อว่า Solar Foods ก็ได้ประชาสัมพันธ์ว่า กำลังสร้างสารอาหารคือ โปรตีนจากอากาศซึ่งตั้งชื่อว่า Solein (ซึ่งน่าจะมาจากการสมาสคำ solar และ protein) โดยที่กระบวนการของบริษัทนี้ได้เลยจากการพิสูจน์ความเป็นไปได้แล้ว เพราะ Solar Foods คุยว่า สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ขณะนี้ได้เตรียมที่จะผลิตในขนาดของอุตสาหกรรมพร้อมทั้งขอจดสิทธิบัตรและทำการระดมทุนได้ราว 2 ล้านยูโรผ่านการจัดการของ Lifeline Ventures โดยหวังว่าจะกระจายสินค้าคือ Solein ในปี 2021 และในปี 2022 ตั้งเป้าจะผลิตโปรตีนสำหรับอาหาร 50 ล้านมื้อ (ข้อมูลจากบทความชื่อ The Future of Protein Might be ‘Gas Fermentation,’ or Growing Food Out of Thin Air ในเว็บ https://thespoon.tech วันที่ 26 เมษายน 2019)          สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับการสร้างอาหารจากอากาศคือ การดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์นั้น มีความยากง่ายขึ้นกับสถานที่เลือกทำการผลิต เพราะถ้าเป็นอากาศจากชุมชนที่มีปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงนั้น ความจำเป็นในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกไปจากอากาศก่อนเพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์คงต้องลงทุนสูงพอดู นอกจากนี้เมื่อการผลิตโปรตีนนั้นไม่ต้องการพื้นที่มากนักและคงควบคุมการผลิตได้ด้วยระบบอัตโนมัติแล้ว การลดของจำนวนตำแหน่งงานทางด้านปศุสัตว์อย่างมากมายคงไม่ยากที่จะคาดเดาได้ และที่น่าสนใจคือ นอกจากความพยายามผลิตโปรตีนจากอากาศแล้ว ยังมี startup อีกมากมายที่มุ่งเน้นในการปฏิวัติกระบวนการผลิตอาหารอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมทันสมัย จนอาจทำให้ไม่เหลือที่ยืนแก่เกษตรกรในหลายประเทศที่ยังไม่ปรับตัวมัวแต่ประท้วงเรื่องการห้ามใช้วัตถุอันตราย ทั้งที่กระบวนการผลิตอาหารในอนาคตนั้นน่าจะเป็นกระบวนการปิดที่ไม่ต้องใช้วัตถุอันตรายช่วยเหลือการผลิตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 ที่มาที่ไปของมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน

        จากการติดตามดูเสียงสะท้อน ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ ที่ร่วมจัดทำกับนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ยังต้องมีการทำความเข้าใจและอธิบายเพิ่มในเรื่องมาตรฐานการทดสอบอีกพอสมควร ซึ่งทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ใช้มาตรฐานของ JEMA (The Japan Electrical Manufacturers’ Association เป็นแนวทางในการทดสอบ ผมขออนุญาตใช้คอลัมน์นี้ อธิบายความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของมาตรฐานนี้ เพื่อให้ ประชาชนและผู้บริโภคที่สนใจได้รับทราบเพิ่มเติม          มาตรฐานที่ทางทีมวิชาการของเรา ใช้อ้างอิง คือ JEM 1467 เป็นมาตรฐานสำหรับ เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน และ การใช้งานที่คล้ายกัน ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1995 และแก้ไขปรับปรุง (ฉบับที่ 4) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2015 จุดมุ่งหมายของการบัญญัติมาตรฐาน        มีการกำหนดมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศสำหรับ Commercial Use ตามมารตรฐานของ JIS C 915 (เครื่องฟอกอากาศ) .ในปี 1976 อย่างไรก็ตามในปี 1983 เริ่มมีการใช้เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่ใช้ Filter ที่กำจัดกลิ่น และดักจับฝุ่น แต่เนื่องจากเกณฑ์การเปลี่ยนและวิธีการทดสอบ Filter แตกต่างกันไปในแต่ละผู้ผลิต จึงมีความต้องการให้กำหนดมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน         คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคม JEMA จึงสร้างมาตรฐานโดยความสมัครใจของวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดกลิ่น และวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขึ้นมา ก่อน ปรับให้เข้ากับการบังคับใช้ แล้วพิจารณากำหนดมาตรฐานแยก ในฐานะเป็น  The Japan Electrical Manufacturers’ Association ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประยุกต์ใช้กับเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก แยกกับ JIS          ที่น่าสนใจสำหรับ การทดสอบตามมาตรฐานของ JEMA คือ ในปี 2015 มีการแก้ไขมาตรฐานให้สอดคล้องกับสภาพปัจุจบัน โดยใช้เนื้อหาและข้อมูลวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5)  ของเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน และวิธีการคำนวณเปลี่ยนแปลงมาตรฐานโดยสมัครใจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคมที่ได้กำหนดไว้        ขอบเขตการประยุกต์ใช้ คือ เป็นกฎข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศที่ติดตั้งในครัวเรือนทั่วไป และในสำนักงาน เพื่อกำจัดกลิ่น ดักจับฝุ่นและควบคุมไวรัส หรือ ดักจับฝุ่นอย่างเดียว         ขอยกนิยาม และ คำศัพท์เฉพาะ และเงื่อนไขการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการดักจับฝุ่น กรณี PM 2.5                เครื่องฟอกอากาศ หมายถึง อุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์ ในการกำจัดกลิ่นและดักจับฝุ่น หรือดักจับฝุ่นเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นวิธีการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้า และแบบเชิงกล        เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้า เป็นเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้ประจุไฟฟ้าที่มีแรงดันสูงเพื่อดักจับฝุ่นละออง        หมายเหตุ เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์พัดลม โดยทั่วไปถือว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศ แบบอิออน         เครื่องฟอกอากาศแบบเชิงกล ส่วนมากเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นที่ใช้วัสดุตัวกรอง        อัตราการไหลของอากาศ (Rated Air Flow) เป็นการไหลของลมในขณะที่เครื่องฟอกอากาศกำลังทำงาน ที่ระดับความถี่ (Rated Frequency) และที่ระดับแรงดันไฟฟ้า ( Rated Voltage) ในกรณีที่ เครื่องฟอกอากาศที่มีอุปกรณ์ปรับการไหลของอากาศ ให้ใช้อัตราการไหลของอากาศสูงสุด        ความคงทนของตัวกรอง (Durability)        เกณฑ์การเปลี่ยนตัวกรองกำจัดกลิ่น และตัวกรองดักจับฝุ่น แสดงเป็นจำนวนวัน        พื้นที่ห้องที่ใช้งาน        เงื่อนไขจำนวนครั้งในการระบายอากาศตามธรรมชาติ คือ สิ่งสกปรกในอากาศที่ความหนาแน่น 1.25 mg / m3 ในเวลา 30 นาที โดยเป็นห้องที่สามารถทำความสะอาดให้เหลือสิ่งสกปรก 0.15 mg/ m3 ตามกฎหมายการจัดการอาคารและสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น        ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขนาดไมโคร (PM 2.5) เมื่อทดสอบตามข้อกำหนด ตามภาคผนวก G ในพื้นที่ 32 ตารางเมตร ภายใน 90 นาที เมื่อได้ค่า Capacity ที่สามารถกำจัดฝุ่นได้ 99 % จึงถือว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) ของเครื่องฟอกอากาศ (ที่การทดสอบครั้งนี้ ใช้เป็นแนวทาง)        หมายเหตุ ในข้อกำหนดมาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ เป็นข้อกำหนดสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ อย่างไรก็ตามสามารถบังคับใช้โดยอนุโลม กับผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากเครื่องฟอกอากาศได้ โดยให้พิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ แล้วตั้งค่าขนาดพื้นที่ทดสอบและเวลาวัดตามแต่ละรายการ        และบทความนี้ต้องขอขอบคุณ ผศ. ดร. ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่กรุณาให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน JEM 1467        สุดท้ายนี้ผมคิดว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานทางด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะต้องรีบออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กทารก ผู้ป่วยทางเดินหายใจ ในกรณีที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีคุณภาพ ในการกรองดักจับฝุ่นครับ แหล่งข้อมูลJapan Electrical Manufacturers’ Association Regulation JEM 1467: 2015

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 เปรียบเทียบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศ

        การทดสอบครั้งนี้ เป็นการนำเครื่องฟอกอากาศที่มีในท้องตลาดมาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการบำบัดฝุ่นละออง โดยใช้วิธีและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อเครื่องฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศที่ทำการสุ่มซื้อตัวอย่างจากท้องตลาด และทางออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ดังนี้        1.   รายละเอียดเครื่องฟอกอากาศ        2.  คุณสมบัติเฉพาะของเครื่องฟอกอากาศ        3. วิธีการทดสอบ         การทดสอบนี้จะทำการทดสอบเครื่องฟอกอากาศโดยการปรับปรุงมาตรฐาน Standards of The Japan Electrical Manufacturers’ Association (JEM Standards), JEM1467-Air Cleaner for Household Use (Air cleaners of household and similar use) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศครัวเรือน โดยกำหนดเงื่อนไข ดังนี้         3.1 เงื่อนไขการทดสอบ             3.1.1 ฝุ่นที่ใช้ในการทดสอบ             ในการทดสอบครั้งในใช้เครื่องสร้างฝุ่น TOPAS Aerosol Generator ATM 226 (รูปที่ 2.1) โดยเครื่องดังกล่าวจะสร้างฝุ่นจำลองที่มีขนาดช่วง 0.1 - 0.9 ไมครอน โดยฝุ่นส่วนใหญ่มีขนาด 0.2 ไมครอน 3.1.2 เครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ            การทดสอบนี้ใช้เครื่อง Dusttrak DRX Aerosol Monitor 8533 (รูปที่ 2.2) เพื่อวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 โดยเครื่องวัดนี้สามารถวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 แบบ Real-time3.1.3 ลักษณะของห้องที่ทดสอบ        ห้องที่ใช้ในการทดสอบมีขนาด 26.46 m3  (กว้าง x ยาว x สูง: 3.6 x 3 x 2.45 m3) ทำการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศบริเวณริมกำแพงห้อง โดยตั้งเครื่องฟอกอากาศให้สูงจากพื้น 70 เซนติเมตร และติดตั้งเครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่นให้สูงจากพื้น 70 เซนติเมตร บริเวณกึ่งกลางห้อง         ห้องที่ใช้ในการทดสอบประสิทธิภาพการบำบัดฝุ่นละอองมีคุณสมบัติสามารถรักษาระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้อง และมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ ดังรูป        3.2 วิธีการทดสอบ        การทำสอบประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศทำได้โดยทดสอบการลดลงตามธรรมชาติของฝุ่นละอองภายในห้องขณะยังไม่มีเครื่องฟอกอากาศ (Natural decay) และทดสอบการลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration) สำหรับการทดสอบเครื่องฟอกอากาศแต่ละเครื่อง ทำการทดสอบเครื่องละ 2 ครั้ง เพื่อยืนยันผลการทดสอบ โดยค่าการตรวจวัดดังกล่าวจะแสดงในรูปของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR)       การลดลงของฝุ่นละอองตามธรรมชาติ (Natural decay)        ดำเนินการโดยการสร้างฝุ่นละอองเพื่อให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ภายในห้องมีค่าอยู่ในช่วง 1.0 - 5.0 mg/m3 จากนั้นจะทำการวัดความเข้มข้นของฝุ่นละอองภายในห้องเป็นเวลา 30 นาที เพื่อหาค่าที่การ Natural decay โดยความเข้มข้นของฝุ่นละอองหลังจากเวลาผ่านไป 30 นาที ควรมีค่าความเข้มข้นมากกว่า 80 % ของความเข้มข้นเริ่มต้น        การลดลงของฝุ่นละอองขณะเปิดเครื่องฟอกอากาศ (Decay of dust concentration)        ในการทดสอบนี้จะดำเนินการเหมือนกับการทดสอบ Natural Decay แต่หลังจากสร้างฝุ่นละอองจนได้ความเข้มข้นของ PM 2.5  ในช่วง 1.0-5.0 mg/m3 จะทำการเปิดเครื่องฟอกอากาศโดยจะวัดความเข้มข้นของ PM 2.5 เป็นเวลา 90 นาที หรือจนกว่าความเข้มข้นของ PM 2.5 จะเหลือความเข้มข้นน้อยกว่า 0.020 mg/m3 หรือ 20 µg/m3        การคำนวณหาประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศ        สำหรับการคำนวณนี้จะทำการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องฟอกอากาศในแง่ของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate; CADR) เพื่อให้ทราบถึงอัตราการสร้างอากาศสะอาดของเครื่องฟอกอากาศ        โดยการคำนวณ CADR จะคำนวณจาก4. ผลการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศผลการทดสอบได้แสดงดังตารางที่ 2 โดยค่าการตรวจวัดดังกล่าวจะแสดงในรูปของ อัตราการไหลของอากาศบริสุทธิ์ (Clean Air Delivery Rate: CADR)สรุปผลการทดสอบจากผลการทดสอบสามารถแบ่งประเภทของเครื่องฟอกอากาศ โดยพิจารณาจาก การเปรียบเทียบ พื้นที่ห้องที่เหมาะสม กับ พื้นที่ห้องที่แนะนำตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้เป็น 5 กลุ่มกลุ่มที่ 1 คือ เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับกลุ่มที่ขนาดพื้นที่ห้องจากการทดสอบ มีขนาดเล็กมาก        (2.32 ตารางเมตร) ซึ่งสามารถแปลผลการทดลองได้ว่า ไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Clairกลุ่มที่ 2 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มี ขนาด 13 - 16  ตารางเมตร  และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Blueair **   กลุ่มที่ 3 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ ยี่ห้อ Hitachi Fanslink Air D  Sharp และ Bwell  กลุ่มที่ 4 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ได้กับห้องที่มีขนาดมากกว่า 20 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Hatari, Mitsuta   กลุ่มที่ 5 เครื่องฟอกอากาศที่สามารถใช้ในห้องที่มีขนาด มากกว่า 30 ตารางเมตร และเป็นไปตามโฆษณาหรือคู่มือการใช้งาน ได้แก่ Philips และ Mi** หมายเหตุ ** เนื่องด้วยทีมบริหารของผลิตภัณฑ์ Blueair ได้นำเอกสารยืนยันจาก AHAM (Association of Home Appliance Manufacturers) ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ Blueair สามารถใช้กับห้องในขนาด 16 ตารางเมตร ได้ ตามที่ระบุในคู่มือการใช้งาน         อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากทีมทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อว่า การทดสอบผลิตภัณฑ์ของบลูแอร์ เป็นการทดสอบที่ค่า CADR ขึ้นอยู่กับขนาดของฝุ่นที่ใช้ทดสอบด้วย โดยดูจากผลการทดสอบของ Blueair (ขนาดฝุ่น tobacco smoke 0.1- 1 micron CADR 119  ขนาดฝุ่น Dust 0.5- 3 micron CADR 121  ขนาดฝุ่นละอองเกสร ดอกไม้  CADR 131)         การที่ค่า CADR มีความแตกต่างกัน การระบุปริมาตรหรือขนาดห้องที่เหมาะสมจึงแตกต่างตามไปด้วย ดังนั้นทางบลูแอร์ควรทำความเข้าใจกับผู้บริโภคว่าขนาดห้องที่เหมาะสมกับเครื่องฟอกอากาศควรเป็นเท่าไร และควรต้องแจ้งเรื่อง การทดสอบแบบไม่มี prefilter ซึ่งเป็นการทดสอบที่แตกต่างจากทางนิตยสารฉลาดซื้อ ที่ทดสอบแบบมี prefilter ซึ่งเป็นสภาพจริงที่ผู้บริโภคใช้งาน        นอกจากนี้ การทดสอบความสามารถในการดักจับฝุ่น ตามมาตรฐานของ JEMA มีข้อกำหนดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ ฝุ่นละอองไมโครขนาดเล็ก ( PM 2.5) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องฟอกอากาศของนิตยสารฉลาดซื้อ        คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้บริโภคในการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ และการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะความเข้มข้นของ ฝุ่น PM 2.5 ด้วยตนเอง  คือ การใช้เครื่องวัดความเข้มข้นฝุ่น ขนาดพกพา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องไฟฟ้าและร้านค้าออนไลน์ แก้ไขปรับปรุง ณ วันที่ 4 ก.พ. 2563   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 กระแสต่างแดน

แหล่งน้ำเลอค่า        เมื่อพูดถึงนิวซีแลนด์คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภูมิประเทศที่งดงามเขียวสดในสภาพอากาศที่แสนบริสุทธิ์ แต่การท่องเที่ยว “แบบไม่ยั่งยืน” และการเกษตรแบบเข้มข้น กำลังทำลายภาพนี้ไปอย่างรวดเร็วจากรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม จำนวนโคนมเพิ่มเป็นสองเท่าจากช่วงปี 90 และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 600 แม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ถูกละเลยมานาน การสำรวจในปี 2014 พบว่าร้อยละ 60 ของแหล่งน้ำในนิวซีแลนด์ไม่เหมาะกับการลงว่ายรัฐบาลจึงออกมาตรการควบคุมแนวปฏิบัติของเกษตรกร การเปลี่ยนที่ดินเพื่อทำฟาร์มโคนม รวมถึงการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และกำหนดมาตรฐานความสะอาดของน้ำให้สูงขึ้นในจุดที่มีผู้คนมาท่องเที่ยวพักผ่อนเขาตั้งเป้าว่าต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในห้าปี เพราะแหล่งน้ำที่สะอาดเป็นสิ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจ และต่อ “แบรนด์” ของประเทศ เจไม่จริงใจ        จากการเก็บตัวอย่าง “เนื้อเทียม” สำเร็จรูปจำนวน 32 ตัวอย่างมาทดสอบ องค์กรผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดไม่ผ่านมาตรฐานการติดฉลากร้อยละ 60 ของตัวอย่าง มีปริมาณเกลือมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม และมี 3 ตัวอย่างที่พบปริมาณโปรตีนต่ำกว่าที่เคลมไว้บนฉลาก เช่น “กุ้งวีแกน” ยี่ห้อเบตาต้ากรีน ติดฉลากว่ามีโปรตีนร้อยละ 2.3 แต่จริงๆ แล้วไม่มี นอกจากนี้ยังมี 6 ผลิตภัณฑ์ที่ไส่สารกันบูดแต่ไม่แจ้งผู้บริโภคเขายังพบ 4 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมจากสัตว์ปะปนอยู่ด้วย เช่น “ลูกชิ้นปลาเจ” ยี่ห้อ Saturday ที่มีส่วนผสมของหมูและปลา ซึ่งผู้ผลิตชี้แจงว่าใช้สายการผลิตร่วมกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ตามปกติ จึงรับประกันไม่ได้ว่าจะมีหรือไม่ และอ้างว่าบริษัทมีข้อความ “หากไม่แน่ใจ โปรดหลีกเลี่ยงการบริโภค” บนฉลากแล้วตามกฎหมาย การโฆษณาที่ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร มีค่าปรับ 500,000 เหรียญฮ่องกง หรือ (ประมาณ 1.95 ล้านบาท)   ไม่เสิร์ฟไม่ว่า        สำนักงานการบินพลเรือนประเทศจีน เตรียมเสนอร่างระเบียบใหม่ให้สายการบินมีอิสระในการให้หรือไม่ให้บริการอาหารบนเครื่องคาดกันว่าคงเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุพนักงานต้อนรับและผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บในช่วงที่เครื่องบินตกหลุมอากาศระหว่างการเสริ์ฟอาหารในช่วง 30 นาทีก่อนเครื่องลง  เรื่องนี้ไม่แน่ว่าจะถูกใจผู้โดยสารหลายคนที่เริ่มสงสัยว่าสารการบินแอบลดต้นทุนหรือเปล่า เพราะดูเหมือนอาหารที่จัดให้นั้นจะลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพข่าวระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็นร้อยละ 3 – 5 ของต้นทุนสายการบิน และยังยกตัวอย่างข้อมูลการเงินย้อนหลังของสายการบินไชน่าอิสเทิร์น ที่บันทึกว่าค่าใช้จ่ายด้านนี้ของบริษัทลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ในปี 2018 จากร้อยละ 3.42 ในปีก่อนหน้าตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เทียนจินแอร์ ประกาศยกเลิกบริการอาหารสำหรับที่นั่งชั้นประหยัด พร้อมกับลดราคาตั๋วลงด้วย ร้อนต้องเลิก        จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้คนในเยอรมนีต้องประสบกับอากาศที่ร้อนระอุโดยที่อาคารส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องปรับอากาศเยอรมนีมีข้อกำหนดตั้งแต่ปี 1892 ให้โรงเรียนและสถานที่ทำงานอนุญาตให้นักเรียนหรือพนักงานกลับบ้านก่อนเวลาเลิกเรียนหรือเลิกงานได้ถ้าอากาศร้อนเกินไป  กฏหมายแรงงานกำหนดให้อุณหภูมิในสถานที่ทำงานต้องไม่เกิน 26 องศาเซลเซียส หากพนักงานต้องทำงานในที่ร้อนเกิน 30 องศา นายจ้างจะต้องจัดหาวิธีการมาดูแลพนักงานเป็นพิเศษข้อกำหนดทางเทคนิคยังระบุว่านายจ้างต้องติดตั้งอุปกรณ์ปรับอุณหภูมิ ป้องกันความร้อน  หรือลดเวลางานให้ หากสถานที่นั้นร้อนเกิน 35 องศาสำหรับโรงเรียน แต่ละรัฐจะกำหนดมาตรการเอง เช่น ถ้าอุณหภูมิห้องเรียน 25 ถึง 27 องศา โรงเรียนอาจเลิกเร็วขึ้น บางโรงเรียนกำหนดว่าถ้าอุนหภูมิในร่มช่วงก่อน 10 โมงเช้าสูงเกิน 25 องศา ก็ให้คุณครูย้ายที่เรียน พาเด็กไปทัศนศึกษาใกล้ๆ หรือส่งเด็กกลับบ้านได้จิบแล้วหนาว        ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก และร้อยละ 96 ของชาที่ดื่มเป็นชาบรรจุซองซองหรือถุงเหล่านี้อาจดูเหมือนทำจากกระดาษล้วน แต่ความจริงแล้วมีส่วนผสมของพลาสติกโพลีโพรพิลีนเพื่อซีลและทำให้มันคงรูปร่างด้วยเพื่อตอบคำถามว่าชาที่เราดื่มมีพลาสติกปนอยู่ด้วยหรือไม่ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิล ประเทศแคนาดา จึงทดลองนำถุงชา (ทั้งหมด 4 ยี่ห้อ) มาแช่ลงในภาชนะบรรจุน้ำแล้วให้ความร้อนเหมือนการเตรียมชาทีมวิจัยพบว่าถุงชาหนึ่งถุงสามารถปล่อยไมโครพลาสติกได้ถึง 11,600 ล้านชิ้นและนาโนพลาสติก 3,100 ล้านชิ้นลงในน้ำร้อน ซึ่งสูงกว่าที่เคยพบมาในอาหารประเภทอื่น นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติทางกายภาพและพฤติกรรมของไรน้ำที่ได้รับพลาสติกเหล่านี้เช่นกันงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology ระบุว่าต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของพลาสติกเหล่านี้ต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >