ฉบับที่ 248 ดูแลป้องกันไม่ให้เท้าเกิดเล็บขบ

    ธรรมดาเท้าคนเรานั้นถูกออกแบบมาให้แข็งแรงมาก แต่หากละเลยดูแลได้ไม่ดีพอ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็ทำให้ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตปกติได้อย่างคาดไม่ถึง หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ “เล็บขบ”  ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ที่เป็นตั้งแต่เจ็บปวดเล็กน้อยจนอาจอักเสบลุกลามใหญ่โต ทั้งนี้หากดูแลเล็บเท้าได้ดีปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อไหมว่าหลายครั้งเกิดจากทำตัวเองแท้ๆ         “เล็บขบ” สาเหตุหลักเกิดจากเล็บที่งอกออกมาใหม่ทิ่มเข้าไปในเนื้อใต้เล็บจนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยอาจเกิดจากการตัดเล็บที่ผิดวิธีหรือตัดเล็บที่สั้นเกินไป หรือสาเหตุอื่น เช่น การสวมถุงเท้ารองเท้าที่แน่นเกินไปจนกดเล็บเท้า หรือลักษณะนิ้วเท้าที่โค้งผิดรูปร่างปกติอยู่แล้ว  หรืออุบัติเหตุสิ่งของตกหล่นใส่นิ้วเท้าและไม่ดูแลสุขอนามัยนิ้วเท้าให้ดีจนเกิดเชื้อรา อาการของเล็บขบที่เท้า    - ระยะแรก จะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณนิ้วเท้าที่มุมริมขอบเล็บข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจปวดรอบๆ เล็บทั้ง 2 ข้าง    - ระยะที่สอง เริ่มมีอาการมากขึ้น มีภาวะบวมและแดงรอบๆ บริเวณนิ้วเท้า มีเลือดซึมและเริ่มติดเชื้อ เวลาเดินมีอาการเจ็บที่บริเวณนั้น    - ระยะที่สาม  มีอาการบวมแดง เลือดออก และเจ็บมาก  อาจเกิดหนองซึ่งแสดงถึงอาการติดเชื้อรุนแรงและอาจจะมีกลิ่นเหม็น ผิวบริเวณนิ้วที่อักเสบจะหนาขึ้น วิธีดูแลป้องกันเล็บขบ     เล็บขบสามารถป้องกันได้ ด้วยการดูแลป้องกันตนเอง ดังนี้        1.เปลี่ยนพฤติกรรมการตัดเล็บ คือ ไม่ตัดเล็บโดยเฉพาะเล็บเท้าให้สั้นเกินไป และตัดให้ตรงไม่ตัดให้โค้งและลึกลงขอบหรือซอกของเล็บ งดการตัดที่จมูกเล็บ                         2.อุปกรณ์ที่ใช้ในการตัดเล็บควรฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้และอาจเช็ดแอลกอฮอล์ที่นิ้วเท้าก่อนลงมือตัด                          3.หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่บีบรัดเท้า ใส่รองเท้าให้พอดีไม่คับเกินไปรวมทั้งถุงเท้ากับถุงน่องด้วย และหากเป็นบุคคลที่ต้องทำงานนอกบ้านในพื้นที่เสี่ยง ควรสวมรองเท้านิรภัย        4.หมั่นดูแลทำความสะอาดเท้า และบำรุงด้วยครีมบำรุงผิวสม่ำเสมอ เป็นเล็บขบรักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดไหม?     การรักษาเล็บขบในภาวะที่มีการติดเชื้อแล้วต้องมีการผ่าตัดเล็กเพื่อเอาเล็บที่ทิ่มอยู่ใต้ผิวหนังออกเพื่อรักษาเล็บขบ การกำจัดเล็บบางส่วนสามารถป้องกันเล็บขบที่จะเกิดขึ้นได้อีกครั้งในภายหลังถึง 98%  วิธีแรกคือ การเอาเล็บเท้าออกบางส่วน วิธีที่สอง คือ รักษาโดยเอาเล็บเท้าออกทั้งหมด วิธีหลังนี้ใช้สำหรับเล็บขบที่มีเล็บหนาและกดลงไปในผิวหนัง เรียกว่าการรักษาแบบ Matrixectomy และอีกวิธีคือ การยกเล็บขึ้น ใช้สำหรับเคสที่มีอาการน้อย เพียงบวมแดง ไม่มีหนอง โดยใช้ไหมหรือสำลียกขอบเล็บให้พ้นขอบของผิวหนัง เพื่อไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้ออีก               ทั้งนี้ อาการที่บ่งบอกว่าควรจะไปพบแพทย์ คือ ลักษณะอาการเล็บเท้าทิ่มลงไปที่ผิวหนังจนมีสัญญาณขั้นรุนแรง คือ บวมแดงและมีหนอง ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ควรหาวิธีรักษาเองหรือปล่อยไว้ เพราะอาจเสี่ยงต่อการลุกลามไปจนเกิดการติดเชื้อที่กระดูกนิ้วเท้าได้ กรณีผู้ป่วยโรคเบาหวานก็อาจจะเกิดการลุกลามที่รวดเร็วได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 วิธีบรรเทาอาการร้อนใน

        อาการร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นกันได้ทุกเพศวัย โดยอาการที่พบบ่อยคือ แผลในปาก (จุดขาวขอบแดงนูน) บริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม อาการร้อนใต้ลิ้นหรือในคอ ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความรำคาญและรบกวนใจ ซึ่งสาเหตุแน่ชัดยังไม่สามารถระบุได้ อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งปัจจัยภายใน ได้แก่ พักผ่อนน้อย เครียด แพ้อาหารหรือสารเคมี พันธุกรรม ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยจากภายนอก เช่น อากาศร้อน กินอาหารแสลง ดื่มน้ำไม่เพียงพอ         ร้อนในไม่ใช่อาการร้ายแรงมักหายเองได้ในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ เว้นแต่อาการลุกลามควรรีบพบแพทย์ แม้อาการร้อนในหายเองได้ แต่ก็มีวิธีบรรเทาอาการเพื่อให้ไม่รบกวนกายใจ ดังนี้         การดูแลทั่วไป        -        เลี่ยงอาหารรสจัด        -        การทำความสะอาดฟันควรระวังไมให้กระทบแผล        -        เลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่รสเผ็ดร้อน ควรใช้แบบอ่อน        -        การดื่มน้ำ อาจใช้หลอดดูดแทนการดื่มเพื่อไม่ให้น้ำโดนแผล        -        การบ้วนน้ำเกลือวันละ 2-3 ครั้ง        -        ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ          การใช้ยา        -        ยาที่ใช้บรรเทาอาการร้อนในมีทั้งชนิดป้ายและรับประทาน ทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ซึ่งสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาได้ หรือการใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดต้านแบคทีเรีย          อาหารและเครื่องดื่มที่แนะนำเพื่อบรรเทาอาการร้อนใน         1.มะระขี้นก มีสรรพคุณแก้ร้อนใน อาจรับประทานในรูปแบบปั่นผลสด หรือใช้แบบผลิตภัณฑ์สกัดเย็นซึ่งรับประทานได้ง่าย        2.ใบบัวบก เครื่องดื่มน้ำใบบัวบก อย่างไรก็ตามใบบัวบกเป็นพืชที่พบว่ามีการใช้สารเคมีเกษตรสูง ควรเลือกแบบที่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือล้างให้สะอาด        3.รางจืด ดื่มน้ำต้มรางจืดหรือชารางจืด ช่วยแก้ร้อนในและช่วยถอนพิษเมาต่างๆ        4.เก๊กฮวย ช่วยแก้ร้อนในได้ แต่ไม่ควรชงหวาน และดื่มบ่อยเพราะมีฤทธิ์ขับลมและระบายอ่อนๆ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 คิดดี ๆ ถ้าจะเป็นพ่อ...เมื่อแก่

        โดยทั่วไปแล้วคนไทยที่ศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี ไม่ว่าสาขาวิชาใด ควรได้รับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากบางวิชาในสถานศึกษาว่า การมีลูกของผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี นั้นอาจเป็นผลเสียต่อความสมบูรณ์ของเด็กที่เกิดมา ซึ่งว่าไปแล้วแค่อายุที่เริ่มย่าง 30 ปี ผู้ที่ตั้งท้องจะเป็นแม่คนควรตรวจดูโครโมโซมในน้ำคร่ำของมดลูก(ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโครโมโซมลูก) ว่า ผิดปรกติหรือไม่         การที่ผู้หญิงวัยกลางคนมีความเสี่ยงต่อการมีลูกปัญญาอ่อนในลักษณะกลุ่มอาการดาว์น (Down’s syndrome) สูงนั้น เพราะเซลล์ไข่ในรังไข่นั้นถูกสร้างมา จนเกือบสมบูรณ์ ตั้งแต่ก่อนออกจากท้องแม่แล้วถึงมาพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อมผสมกับอสุจิในภายหลัง ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยสาว ดังนั้นเมื่อหญิงสาวมีอายุถึง 35 ปี ไข่ในรังไข่จึงกลายเป็น ไข่ที่เก่าเก็บ เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปรกติต่อโครโมโซมของไข่ เนื่องจากช่วงเวลาที่สตรีเริ่มพัฒนาไข่จนถึงอายุ 35 ปี นั้นเป็นเวลาที่นานพอสำหรับไข่ที่ยังไม่พัฒนาต้องเผชิญโอกาสการสัมผัสสิ่งเป็นพิษเช่น เชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่างๆ สารเคมี ซึ่งรวมถึงยาบำบัดโรค และรังสีต่างๆ ที่สามารถก่ออันตรายต่อโครโมโซมของไข่ได้         ผู้เขียนได้เห็นความเศร้าของเพื่อนบ้าน ซึ่งมีลูกคนที่สองเมื่ออายุ 39 ปี และแม้ได้รับการตรวจน้ำคร่ำจากโรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ โดยผลจากการตรวจบอกว่า โครโมโซมปรกติ แต่ลูกที่คลอดออกมากลับอยู่ในกลุ่มอาการดาว์น ซึ่งแสดงว่าการตรวจโครโมโซมนั้นมีความผิดพลาดได้ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ความแม่นยำของการตรวจนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 98 – 99 ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยละ 100        ดังนั้นคนไทยรุ่นเจ็นวาย (Gen Y คือคนที่เกิดในระหว่างช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980 จนถึงปลายของช่วง ค.ศ. 1990 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของ Gen X และเป็นหลานของ Baby Boomer) ที่เป็นคนชั้นกลางและยังมีปัญหาในการตัดสินใจไม่ได้ว่า มีครอบครัวดีหรือไม่ จนอายุล่วงเข้ากว่า 30 ปีแล้ว มักปักใจว่า ไม่มีลูกดีกว่า เพราะยังต้องก่อร่างสร้างตัว  ไปอีกหลายปีจึงพอเก็บเงินไว้กินเมื่อแก่ได้ อีกทั้งการมีลูกนั้นกวนทั้งตัวและกวนทั้งใจ เนื่องจากถ้าเป็นคนระดับคนชั้นกลาง ระหว่างการเลี้ยงลูกให้โตส่วนใหญ่ต้องหันดูสังคมรอบข้างว่า เขาทำอะไรกันบ้าง เพื่อให้เสมอหน้าเสมอตาคนอื่น รวมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเมืองที่เอากันทุกท่า จึงทำให้คนในยุคเจ็นวายมองไม่เห็นความสุขในการมีลูก ตลอดถึงการไม่คิดจะมีแม้แต่ครอบครัวที่แยกออกมาจากพ่อแม่ ดังนั้นสุดท้ายแล้วเมื่อคิดไปคิดมาอย่างรอบคอบ พบว่ามันลำบากนักในการสืบเชื้อสาย ตัดวงจรของกรรมโดยไม่มีลูกมันเสียเลยดีกว่า        อย่างไรก็ดีคนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับบน ซึ่งมีเงินและมองเห็นอนาคตว่า ถ้ามีลูกแล้วเขาสามารถกำหนดให้เป็นอย่างไรก็ได้นั้น ก็ยังคงตั้งใจมีผู้สืบสายเลือด แต่กว่าจะคิดตัดสินใจมีลูกได้อายุก็เข้าวัยกลางคน ซึ่งในทางสรีระวิทยาแล้วผู้หญิงสามารถมีไข่สำหรับผสมกับอสุจิเป็นลูกได้จนถึงอายุประมาณ 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน) แต่โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่มีอายุเกิน 30 ปี ถ้ามีโอกาสได้ตั้งท้องก็ควรตรวจสอบโอกาสเกิดปัญหาของลูกเมื่อยังท้องอ่อนๆ อยู่ และถ้าผลออกมาเป็นบวกว่า โครโมโซมของลูกในถุงน้ำคร่ำมีความผิดปรกติ การตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก         สำหรับผู้ชายนั้นส่วนใหญ่มักไม่นึกถึงอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ เนื่องจากมักคิดว่า อสุจิของชายซึ่งสร้างในหลอดสร้างตัวอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นเป็นการสร้างแบบ วันต่อวัน (freshly prepare) ทั้งที่ในความจริงแล้วต้องใช้เวลาราว 74 วัน เพื่อพัฒนาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหลอดสร้างตัวอสุจิให้เป็นตัวอสุจิ เพียงแต่ว่ามีการสร้างอยู่ตลอดเวลาแล้วทยอยปล่อยออกมา ตามความต้องการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ชายส่วนมากมักไม่เคยได้รับการบอกกล่าวว่า เซลล์ซึ่งถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอสุจิในแต่ละวันนั้น มันก็เก่าและแก่ได้ตามวันเวลาที่ผ่านไป เหมือนไข่ในรังไข่ของผู้หญิง         นิตยสาร Time ออนไลน์ มีบทความซึ่งชายทั้งโลกอาจไม่เคยนึกถึงในปี 2018 ชื่อ “Babies Born to Older Dads May Have a Higher Risk of Health Problems, Study Says” โดยมีใจความที่สรุปจากบทความวิชาการเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (ปรากฏในวารสารออนไลน์ BMJ เมื่อ 31 ตุลาคม 2018) ซึ่งเป็นการทำวิจัยที่แบ่งกลุ่มพ่อของเด็กออกเป็น 5 กลุ่ม ตามช่วงอายุคือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป โดยผลสรุปที่ได้คือ ลูกของชายสูงอายุนั้นมีโอกาสสูงในการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีปัญหาในการดื่มนม และอาจมีปัญหาทางสุขภาพอื่นแต่กำเนิดเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติ         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่ากังวลใจสำหรับคนที่หวังเป็นพ่อแต่อายุมากคือ บทความเรื่อง Rate of de novo mutations and the importance of father’s age to disease risk ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2012 ว่า ทุกปีที่ผ่านไปสำหรับผู้ชายนั้น โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอจะเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเกิดแจ๊คพ็อตแตกการกลายพันธุ์นั้นไปปรากฏบนโครโมโซมของอสุจิที่ตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในการได้ลูกเป็นคนปรกติ โอกาสที่เด็กที่เกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยอสุจิที่กลายพันธุ์ของพ่อจะเป็นโรคทางพันธุกรรมย่อมเกิดได้ งานวิจัยดังกล่าวได้ตรงกับสมมุติฐานที่มีผู้พบถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเด็ก (ที่เป็นลูกของพ่อที่แก่) ต่อการเป็นออทิสติก โรคทางจิตเวช โรคทางระบบประสาท ตลอดจนถึงมะเร็งในเด็ก         สำหรับสตรีที่มีสามีแก่นั้น เมื่อท้องแล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกายที่อาจเสื่อมเร็วกว่าปรกติ โดยเฉพาะการเป็นเบาหวานช่วงตั้งท้อง(gestational diabetes) เนื่องจากขณะตั้งท้องนั้นรกได้สร้างฮอร์โมนบางชนิดในเลือดของแม่เพิ่มขึ้นจากสภาวะปรกติคือ cortisol และ progesterone เป็นตัวหลัก และมี human placental lactogen, prolactin และ estradiol เป็นตัวเสริม จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราวเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมัน แล้วสงวนพลังงานจากน้ำตาลไว้ให้ลูกในท้อง         เหตุผลที่งานวิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้นมีความสำคัญมากต่อสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันชายอเมริกันต่างมีลูกเมื่ออายุมากขึ้นกว่าสมัย baby bloom ดังได้มีบทความวิจัยเรื่อง The age of fathers in the USA is rising: an analysis of 168,867,480 births from1972 to 2015 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction เมื่อปี  2017 กล่าวว่า ระหว่างปี 1972-2015 ค่าเฉลี่ยของอายุพ่อ เปลี่ยนจาก 27.4 ปี ไปเป็น 30.9 ปี อีกทั้งในบทความดังกล่าวได้อ้างต่อว่า อายุของแม่นั้นก็ได้เปลี่ยนจาก 24.7 ปี ในช่วง ค.ศ. 1972 เป็น 28.6 ปี ในช่วง ค.ศ. 2015 ด้วยเช่นกัน        สรุป การที่อายุของพ่อและแม่ที่ตั้งใจมีลูกเพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ว่าไปก็อาจดี เพราะถ้าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่ดีแล้วลูกก็ควรได้รับการอบรมให้เป็นคนทำมาหากินเป็น ดีกว่าการมีลูกที่แข็งแรงแต่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะไม่ดี จนเด็กต้องไร้การศึกษาและอบรม แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าปรากฏว่า หญิงหรือชายต้องรอสร้างฐานะจนแก่แล้วจึงคิดมีลูก ซึ่งน่าหมายถึงการสร้างทายาทที่อาจต้องกลายเป็นภาระของสังคม ซึ่งปัจจุบันมันดูไร้อนาคตเสียจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 ส่องฉลากลูกอมชุ่มคอและยาอมสมุนไพรบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

ลูกอม(เม็ดอม) กับ ยาอม นั้นต่างกันในทางสรรพคุณ ลูกอมจัดเป็นอาหารส่วนใหญ่ไว้อมเพลินๆ ชุ่มคอ ส่วนยาอม เป็นยามีผลในทางบำบัดรักษา ถึงอย่างนั้นเวลารู้สึก คอแห้ง ระคายเคืองคอ เจ็บคอ จนเลยไปถึงไอถี่ๆ หลายคนก็รู้สึกว่า ลูกอม ยาอมก็เป็นทางออกที่พอจะช่วยให้ชุ่มคอและผ่อนเพลาอาการทั้งหลายลงได้บ้าง หรือบางคนไม่ได้มีอาการอะไรก็ยังชอบอมเพราะติดใจในรสชาติ  แต่หลายครั้งการเลือกซื้อก็ทำให้ผู้บริโภคสับสนหน่อยๆ เพราะลูกอมกับยาอมมักวางขายบนชั้นวางเดียวกัน (ยาอมที่เป็นยาสามัญประจำบ้านสามารถวางจำหน่ายได้ทั่วไป)  ถ้าไม่รู้จักกันมาก่อนหรือไม่ได้อ่านฉลากก็อาจจะเลือกผิดวัตถุประสงค์ได้  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไปหยิบลูกอมที่โฆษณาให้อารมณ์ประมาณชุ่มคอ สดชื่น และเนียนๆ ว่าช่วยลดการเจ็บคอมาส่องฉลาก เน้นกันที่ผลิตภัณฑ์ทำจากน้ำตาลแท้(ยังครองใจตลาด) กับชนิดไม่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมา แถมด้วยยาอมสมุนไพรที่จัดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ ซึ่งปัจจุบันวางขายหลากหลายยี่ห้อ มาเจาะกันที่ส่วนผสมหรือตัวยา เพื่อไว้เป็นข้อมูลสามัญประจำบ้านแก่สมาชิกชาวฉลาดซื้อ  ตลาดลูกอม 8000 ล้าน ผลิตภัณฑ์เล็กๆ แต่การตลาดยิ่งใหญ่ ตลาดลูกอมนั้นมีมูลค่าสูงและเติบโตทุกปี ทำให้การแข่งขันสูง ทั้งเจ้าตลาดเก่าและรายใหม่ ลูกอมแบบชนิดเม็ดแข็งได้รับความนิยมมากที่สุด(สัดส่วน 43%) ส่วนรสชาติ เย็นสดชื่น คือรสชาติที่คนไทยชื่นชอบ รองลงมาเป็นลูกอมช่วยให้ปากหอม(ลดกลิ่นปาก) ฉลาดซื้อกับลูกอม ยาอมลูกอมนั้นแต่แรกเริ่มเดิมทีก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นยา มีสรรพคุณแก้ไอ เจ็บคอ ลดการระคายคอ และวางขายกันในร้านยา ต่อมาจึงขยับมาเป็นอาหาร เพื่อให้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น แต่ภาพจำก็ยังทำให้รู้สึกถึงความเป็นยาของลูกอม  อย่างไรก็ตามลูกอมนั้นส่วนใหญ่ทำจากน้ำตาลล้วนๆ ส่วนสมุนไพรที่ใส่ลงไปจะเป็นเรื่องของรสชาติที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสดชื่น เว้นก็แต่ใส่สมุนไพรเข้าไปเป็นจุดขาย ดังนั้นหากเป็นลูกอมจากน้ำตาลก็ควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาล ไม่อมบ่อยจนเพิ่มน้ำตาลในร่างกายมากไป รวมถึงเรื่องฟันผุด้วย แต่ปัจจุบันก็มีทางเลือกเป็นลูกอมชนิดซูการ์ฟรีหรือไม่มีน้ำตาล แต่ถ้าอยากได้สรรพคุณทางยา หรือรับคุณประโยชน์จริงๆ จากสมุนไพร ยาอมสมุนไพรเป็นทางออกที่ดี เดิมนั้นอาจมีรสชาติไม่ถูกปาก เพราะรสที่ฝาด ขม และสัมผัสในปากที่ให้ความรู้สึกระคายลิ้น แต่หลายผลิตภัณฑ์ก็ปรับปรุงรสชาติให้ “อร่อย” ขึ้น รสยอดนิยมก็คือ รสบ๊วย รสเปรี้ยวหวาน รสสัมผัสหวานๆ เย็นๆ การปรับตัวนี้ทำให้ตลาดยาอมสมุนไพรนั้นไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มเติบโตไปเรื่อยๆ เห็นได้จากการจัดวางในร้านสะดวกซื้อทั้งหลาย   เจ็บคอทำอย่างไรดี เจ็บคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งหลักๆ เป็นเรื่องเจ็บคอจากการติดเชื้อโรค กับเจ็บคอเนื่องจากสิ่งแวดล้อม(สูดควันบุหรี่ ภูมิแพ้ ฯลฯ) หรือการใช้เสียงมากเกินไป(พูดมากไป ตะโกนเสียงดังเป็นเวลานาน) หรือสภาวะของโรคบางอย่าง เช่น กรดไหลย้อน เป็นต้น การเจ็บคอ ระคายคอที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ การใช้ยาอมสมุนไพรหรือลูกอม ช่วยให้เกิดสภาพชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้ ยิ่งเป็นยาอมสมุนไพร จัดว่ามีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดอาการได้มาก และปลอดภัยกว่ายาแก้เจ็บคอหรือยาแก้ไอ ที่เป็นยาแผนปัจจุบัน   วิธีที่ดีและง่ายสุดเพื่อบรรเทาอาการคอแห้ง เจ็บคอ คือ ดื่มน้ำให้มากๆ ไม่เป็นน้ำเย็น ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องจะดีกว่า เพราะน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่เกิดการอักเสบ และควรเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการคันคอ พวกของทอด ของมัน อาหาร ผลไม้ รสหวานจัด   ส่วนยาอมที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ใช้เลยคือ ยาอมที่มียาปฏิชีวนะนีโอมัยซินเป็นส่วนผสม ยาเหล่านี้บรรเทาอาการเจ็บคอได้จากยาชาที่ผสมอยู่ แต่ยาปฏิชีวนะเป็นส่วนเกินเพราะไม่มีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อเชื้อดื้อยาด้วย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 203 กลูโคซามีนลดอาการข้อเข่าเสื่อม...จริงหรือ

กลูโคซามีน เป็นสารชีวเคมีธรรมชาติที่สกัดออกมาได้จากเปลือกสัตว์ เช่น หอย กระดูกสัตว์ต่างๆ ไขกระดูก และราบางชนิด(สามารถสังเคราะห์กลูโคซามีนจากข้าวโพดเพื่อขายแก่ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ) สารชีวเคมีนี้เมื่อเกิดในร่างกายมนุษย์ จะอยู่ในรูปกลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต ส่วนที่มีการขายทั่วไปนั้นมักเป็นกลูโคซามีนซัลเฟต ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารอื่นในกลุ่มน้ำตาลชนิดที่มีอะตอมไนโตรเจนในโมเลกุล(nitrogen-containing sugars)งานวิจัยบางชิ้นให้ผลว่า โมเลกุลกลูโคซามีนนั้น น่าจะถูกนำไปใช้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ ในขณะที่กลุ่มซัลเฟตที่ได้จากกลูโคซามีนซัลเฟตนั้น อาจมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์กระดูกอ่อนด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ไปสนับสนุนผลของบางการศึกษาที่พบว่า กลูโคซามีนที่ได้ผลนั้นต้องอยู่ในรูปกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้น ไม่ใช่กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์หรือเอ็นอะเซ็ตติลกลูโคซามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นหลักมักมีการเติมสารอื่น เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต(chondroitin sulfate) กระดูกอ่อนจากปลาฉลาม และสารอื่นเข้าไปด้วย โดยผู้ค้าหวังว่าจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลูโคซามีนดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ทางวิชาการได้ว่า หวังนั้นเป็นจริงเว็บของ MedlinePlus (https://medlineplus.gov) สังกัด National Library of Medicine ซึ่งเป็นห้องสมุดการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลกให้ข้อมูลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ความหวังแก่ผู้มีอาการกระดูกเข่าเสื่อม ปวดข้อเนื่องจากยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดขากรรไกร ปวดเข่า ปวดหลัง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple Sclerosis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสินค้าผสมการบูรและ/หรือสารอื่นๆ ในรูปครีมใช้ทาลดอาการปวดตามข้ออีกด้วยNatural Medicines Comprehensive Database องค์กรด้านวิชาการหนึ่งสังกัด California State University ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดโรคด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกล่าวว่า กลูโคซามีนซัลเฟตน่าจะใช้ได้ผลในการลดความเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อม ในระดับเดียวกันกับการใช้ยาพาราเซ็ตตามอลหรืออยากลุ่ม NSAIDs เพียงแต่ระยะเวลาต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ากลูโคซามีนไม่มีประสิทธิผลในคนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่มีอาการเจ็บปวดมานาน อ้วน หรือเป็นผู้สูงวัยข้อมูลที่ดูดีอีกหน่อยหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า กลูโคซามีนอาจจะช่วยบรรเทาอาการข้อต่อสะโพกเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ยืดอายุข้อเข่าในผู้ที่กินติดต่อกัน อีกทั้งผู้ที่กินยานี้มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ดีข้อมูลประการนี้ยังควรฟังหูไว้หูNatural Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยบางชุดที่ระบุว่า มีหลักฐานไม่พอที่กล่าวว่ากลูโคซามีน (ซึ่งใช้ร่วมกับสารธรรมชาติอื่น) มีประสิทธิผล ในคนไข้ที่มีปัญหาเจ็บข้อต่อ (เนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการบำบัดมะเร็งเต้านมระยะต้น) คนไข้เจ็บกระเพาะปัสสาวะ(Interstitial cystitis) เจ็บเข่า ปวดขากรรไกร เป็นต้นความปลอดภัยของกลูโคซามีนเกี่ยวกับความปลอดภัยของกลูโคซามีนนั้น MedlinePlus กล่าวเป็นเชิงว่า ควรปลอดภัยถ้ากินอย่างถูกต้องตามที่เภสัชกรแนะนำ และน่าจะปลอดภัยกว่า กรณีที่ถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นาน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟต กระดูกอ่อนปลาฉลามและการบูรนาน 8 สัปดาห์ผลข้างเคียงของการกินกลูโคซามีนซัลเฟตนั้นมีรายงานว่า ในผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ กรดไหลย้อน ถ่ายท้องและท้องผูก นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดเพิ่มเติมเฉพาะคนคือ ง่วงซึม ความผิดปรกติของผิวหนังและปวดหัว ที่สำคัญคือ หญิงตั้งท้องหรือให้นมลูกนั้นพึงระวัง เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของกลูโคซามีนซัลเฟตในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหอบหืดอาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเคยมีการระบุปัญหาในรายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่ง กลูโคซามีนนั้นทำให้ยาวอร์ฟาริน(ซึ่งใช้ลดอาการเลือดข้น) ออกฤทธิ์มากขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตผู้ป่วยต่ำลง อีกทั้งยังมีรายงานที่ตั้งข้อสงสัยว่า กลูโคซามีนอาจไปวุ่นวายต่อประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านมะเร็ง(chemotherapy)ในสหรัฐอเมริกากลูโคซามีนซัลเฟต ถูกให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เพราะจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(US.FDA) ไม่มีบทบาทในการควบคุมดูแลแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจในการขอหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของสินค้าก็ไม่มี ยกเว้นเมื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดก่อปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค งานจึงจะเข้าให้ US.FDA พิสูจน์และมีบทบาทในการฟ้องร้องสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปนั้น กลูโคซามีนซัลเฟตถูกจัดให้เป็นยาจึงต้องขึ้นทะเบียนพร้อมหลักฐานทางวิชาการถึงประสิทธิผล พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำไปใช้บำบัดอาการปวดข้อต่างๆ อย่างไรก็ดีในปี 2014 OARSI (Osteo Arthritis Research Society International) ได้แถลงข่าวเป็นเชิงว่า ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนบำบัดอาการปวดเข่า (เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลยังสับสนอยู่)จากความไม่แน่นอนทางวิชาการเกี่ยวกับผลของกลูโคซามีนในการรักษาอาการเจ็บข้อต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ได้ถอนรายชื่อของกลูโคซามีนออกจากบัญชียาหลัก ทำให้กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ /สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อทราบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ เรื่องการกำหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยได้กำหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจนอย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปในเว็บ www.hfocus.org/content/2015/05/10007 ก็ได้พบข้อมูลว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 132 ตอนที่ 41) ได้ลงประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองได้พิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฏ นัยว่าเพื่อให้เป็นไปตามคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 502/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 503/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง โดยพิพากษา “เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ...” ดังกล่าวข้างต้น โดยให้การเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางนั้นมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาว่า การที่แพทย์จะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือเกษียณไปแล้วนั้น จำต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์หลายส่วนกังวล เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะกิน “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ชนิดนี้คงต้องจ่ายเงินเองไปก่อน จนกว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าสารชีวเคมีชนิดนี้มีประสิทธิผลในการบำบัดอาการปวดข้อต่างๆ แล้วกลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 อาการตาแห้งจากคอนแทกเลนส์

แม้การใช้คอนแทกเลนส์หรือเลนส์สัมผัสจะช่วยแก้ปัญหาสายตา และทำให้หลายคนรู้สึกสะดวกสบายกว่าการสวมแว่นตา รวมทั้งช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับดวงตาได้ แต่การใส่คอนแทกเลนส์เป็นประจำหรือใช้ไม่ถูกวิธีก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ซึ่งปัญหาหลักก็คืออาการตาแห้งนั่นเอง โดยเราจะมีวิธีหลีกเลี่ยงหรือป้องกันอย่างไร ไปดูกันเลยรู้จักอาการตาแห้งกันก่อนอาการตาแห้ง เกิดจากความผิดปกติของน้ำตาที่มีปริมาณไม่เพียงพอ น้ำตาหล่อเลี้ยงน้อยหรือมีการระเหยที่มากเกินไป ซึ่งเมื่อเราใส่คอนแทกเลนส์เข้าไปจะทำให้มีอาการคัน เคืองตา แสบตาหรือลืมตาไม่ขึ้น คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในดวงตา ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยหากปล่อยทิ้งไว้อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือกระจกตาเป็นแผลได้ อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย นอกเหนือไปจากการใส่คอนแทกเลนส์ เช่น การจ้องจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน หรือจากความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัย เป็นต้นแนะวิธีเลือกคอนแทกเลนส์ให้ปลอดภัยการเลือกซื้อเลือกซื้อคอนแทกเลนส์ให้ปลอดภัยต่อดวงตาของเรา สามารถทำได้ดังนี้ 1. ตรวจสอบประเภทของคอนแทกเลนส์คอนแทกเลนส์สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือชนิดแข็งและนิ่ม โดยเลนส์ชนิดนิ่มจะมีค่าอมน้ำสูงกว่าชนิดแข็งหรืออยู่ที่ 30 – 70% เพราะผลิตจากสารที่สามารถดูดซึมน้ำได้ดี ซึ่งเลนส์จะมีลักษณะนิ่มและรูปร่างไม่คงที่ แต่อากาศและน้ำจะหมุนเวียนได้สะดวก ทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตาและนิยมใช้งานมากที่สุดอย่างไรก็ตามปริมาณค่าอมน้ำส่งผลต่อความหนาของคอนแทกเลนส์เช่นกัน ซึ่งหากมีค่าอมน้ำสูงกว่า 50% เลนส์ก็จะหนาขึ้น ทำให้บางคนอาจรู้สึกระคายเคืองตา และต้องเลือกใช้เลนส์ที่มีค่าอมน้ำต่ำกว่า 50% เพื่อให้ได้ขนาดที่บางลงและพอดีกับดวงตามากขึ้น ดังนั้นการเเลือกซื้อคอนแทกเลนส์จึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ใช่จากค่าอมน้ำสูงเพียงอย่างเดียว 2. ตรวจสอบรายละเอียดสำคัญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเลนส์สัมผัส พ.ศ.2553 กำหนดให้คอนแทกเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่ง โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อคอนแทกเลนส์ทุกครั้ง เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลาก ซึ่งต้องมีภาษาไทยที่สามารถอ่านได้ชัดเจนและระบุข้อความอย่างน้อย ดังนี้1. ชื่อเลนส์สัมผัสและวัสดุที่ใช้ทำเลนส์สัมผัส 2. พารามิเตอร์ของเลนส์สัมผัส (Contact Lens parameter) เช่น กำลังหักเห ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง รัศมีความโค้ง เป็นต้น 3. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต 4. เดือนปีที่หมดอายุ 5. เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ 6. ชื่อและประเทศของผู้ผลิต3. ใช้งานตามคำแนะนำการใช้งานคอนแทกเลนส์ผิดวิธี นอกจากสามารถทำให้เกิดอาการตาแห้งได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับดวงตาในรูปแบบอื่นได้อีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว เราจึงควรใช้งานตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้ 1. หยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น แต่หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาควรหยุดใช้ทันที และรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ 2. ไม่ควรใช้เกินอายุของเลนส์ที่ระบุโดยผู้ผลิต 3. ไม่ใส่นอนหรือว่ายน้ำ เพราะสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระจกตาได้ 4. ไม่ใช้คอนแทกเลนส์ร่วมกับบุคคลอื่น 5. แช่คอนแทกเลนส์ในน้ำยาสำหรับคอนแทกเลนส์โดยเฉพาะ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ตายไม่กลัว กลัวไม่สวย

“วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2559 เวลา 18.00 น. ห้องฉุกเฉิน รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับตัว ผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 33 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการผื่นแดงตามตัว มีอาการชาไปทั่วร่างกาย หายใจไม่สะดวก ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่าประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเกิดอาการ ตนได้รับประทานยามา 5 เม็ด(เภสัชกรได้เข้าไปตรวจสอบยาดังกล่าว จึงทราบว่าเป็นยา แก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) ยาแก้ปวดอักเสบ(Ponstan) ยาปฏิชีวนะ(Ampicillin) ยา Danzen)” ทีมงานรากยา หมอยาบ้านนอก ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ผมทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้ทำศัลยกรรมใบหน้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง(ย้ำนะครับว่าร้านเสริมสวย) ในอำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ โดยเจ้าของร้านเสริมสวยแห่งนี้ได้แนะนำผู้ป่วยว่า “ที่ร้านตนมีหมอศัลยกรรมที่มีประสบการณ์จากคลินิกเสริมความงามในกรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญมานานกว่า 20 ปี   มีลูกค้าหลายคนที่มาทำกับหมอคนนี้แล้วสวย ไม่พบอันตราย” ผู้ป่วยจึงเลยตัดสินใจทำศัลยกรรมทั้งใบหน้า (ร้อยไหม ฉีดคาง เติมหว่างคิ้ว ฉีดตีนกา ฉีดฝ้า ทำหน้าใส และฉีดร่องแก้ม ) รวมค่าบริการ 15,000 บาท โดยก่อนทำ 1 ชั่วโมง  ชายผู้ที่อ้างว่าเป็นหมอได้นำยา 5 เม็ดดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยรับประทาน  หลังจากนั้นจึงได้เริ่มฉีดคาง และฉีดยาชาตามบริเวณต่างๆ ของใบหน้า และเริ่มฉีดเติมในส่วนต่างๆ ขณะที่กำลังทำนั้น ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน และเริ่มชาตามส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย จนตนขยับตัวเองไม่ได้  เริ่มแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จนญาติต้องเร่งนำส่งตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้รักษาและวินิจฉัยว่า เป็นอาการแพ้สารเคมีจนช็อกกะทันหัน (Anaphylactic shock) ในระหว่างที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล ชายที่อ้างตนเป็นหมอยังติดตามมาพูดคุยรายละเอียดต่างๆ กับแพทย์เจ้าของไข้ และยังนำตัวอย่างยามาให้ดู โดยมีพิรุธที่ไม่สามารถบอกชื่อยาได้ นอกจากบอกว่า “ไม่เคยเจอใครมีอาการแบบนี้ ทุกคนที่ทำล้วนกลับออกจากร้านด้วยความสวยงาม ผู้ป่วยรายนี้อาจใช้ยาอื่นมาก่อน” หลังจากรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 คืน ผู้ป่วยอาการดีจึงได้ติดต่อกับชายที่อ้างตนเป็นหมอเสริมความงามผู้นี้เพื่อให้รับผิดชอบค่าเสียหาย แน่นอนว่า ผู้ก่อความเสียหายไม่ยอมรับผิดชอบ เพียงรับปากจะทำศัลยกรรมให้ใหม่จนหายปกติ ผู้ป่วยจึงได้มาแจ้งเรื่องร้องเรียนที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.ปทุมราชวงศา ข้อมูลเพิ่มเติมคือ คนไข้เคยรับประทานยาที่ชายคนนี้จ่ายมาหลายครั้งแล้ว  นอกจากนี้ยังเคยรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลดความอ้วน และหยุดรับประทานมา 3 เดือน ก่อนทำศัลยกรรม รวมทั้งยังเคยทายาชาเพื่อสักคิ้วมาก่อน (สรุปว่ามีพฤติกรรมสวยแบบเสี่ยงมาโดยตลอด) กลุ่มงานเภสัชกร จึงได้ดำเนินการประสานกับตำรวจ ลงพื้นที่ไปติดตามข้อมูลที่ร้านเสริมสวย ซึ่งเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ตนเองรู้จักชายคนนี้ จากการแนะนำของเพื่อนในจังหวัดจึงติดต่อให้มาใช้สถานที่ภายในร้านเสริมสวยเป็นห้องทำศัลยกรรม โดยตนเองจะเป็นคนหาลูกค้าให้ ซึ่งตนจะได้ค่านายหน้าและได้ทำศัลยกรรมใบหน้าฟรี ซึ่งทำหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครเกิดอาการผิดปกติ  (สรุปว่าเสี่ยงกันมาแล้วหลายคน) ล่าสุดชายคนดังกล่าวได้เก็บของหนีไปแล้ว จากข้อมูลที่ได้มา สะท้อนให้เห็นว่าเทคนิคในการออกล่าเหยื่อที่อยากสวย ของมิจฉาชีพในปัจจุบันมีมากมาย ในขณะที่ผู้คนในยุคปัจจุบันหลายคน อยากสวยโดยยอมเสี่ยงอันตราย พวกเราคงต้องช่วยกันให้ความรู้ และเตือนสติผู้บริโภค ตลอดจนช่วยกันสอดส่องดูแลมิให้มิจฉาชีพพวกนี้มาทำร้ายผู้คนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 เลี่ยงมะเร็งอย่างไร ตอนที่ 2: วิธีการ

ในฉบับที่แล้วผู้เขียนได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการจาก World Cancer Research Fund (WCRF) เกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์ซึ่งได้แก่ อาหารการกินซึ่งนัยหนึ่งคือพฤติกรรมการบริโภค น้ำหนักตัวของประชาชน และการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรง (physical activity) ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอต่อถึง ข้อแนะนำจาก WCRF ในการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ซึ่งผู้เขียนได้แทรกหลักการทางวิทยาศาสตร์บ้างพอสังเขป ดังนี้ผักมีแป้งต่ำ(Non-starchy vegetables) เช่น ผักตระกูลกระหล่ำ(กระหล่ำปลี บรอคโคลิ ผักโขม คะน้า ดอกกระหล่ำ เทอร์นิบ เป็นต้น) นั้นเป็นปัจจัยช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปาก คอ และทางเดินอาหาร ด้วยเหตุผลที่ทราบกันดีในวงการวิชาการว่า ผักในตระกูลกระหล่ำปลีนั้น มีพฤษเคมีกลุ่มกลูโคซิโนเลท ซึ่งเมื่อถูกเอนไซม์ชื่อ มัยโรซิเนส(myrosinase) ของผักที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขณะการหั่น ซอย ตำ เปลี่ยนสภาพให้เป็นสารอื่นที่กระตุ้นระบบทำลายสารพิษของตับให้ทำงานดีขึ้น ดังตัวอย่างงานวิจัยทางระบาดวิทยาในต่างประเทศชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การบริโภคอาหารของชาวจีน ซึ่งมีกระหล่ำปลีเป็นจานเด็ดสัปดาห์ละสองครั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งโดยรวมถึงสองเท่าผลไม้ต่างๆ เมื่อได้กินในปริมาณที่มากพอในแต่ละมื้ออาหารนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็ง ปอด ปาก คอ และหลอดอาหาร ประเด็นนี้อธิบายได้ด้วยความจริงที่ปรากฏแล้วว่า ผลไม้เป็นแหล่งใยอาหารและพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ เช่น กล้วยให้ใยอาหารซึ่งเป็นโปรไบโอติกของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสซึ่งอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา มังคุดเป็นผลไม้ที่มีสารต้านออกซิเดชั่นสูงมาก ซึ่งรวมถึงการพบว่า มังคุดมีสารต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารพิษ ดังนั้นมังคุดจึงน่าจะเป็นผลไม้ที่มีแนวโน้มในการลดความเสี่ยงของมะเร็งได้ ส่วนองุ่นสีเข้มนั้น ถูกทดสอบพบว่าต้านฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสารก่อมะเร็งบางชนิดได้ และส้มนั้นเป็นผลไม้ที่พบว่ามีสารขมชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ ดี-ลิโมนีน (d-Limonene) ซึ่งมีแนวโน้มว่า ลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยการกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายเอง การขยับเขยื้อนร่างกาย(Physical activity) เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ ลำไส้ใหญ่ เต้านมและมดลูก(ของสตรีหมดประจำเดือน) ทั้งนี้เพราะในช่วงวันทำงานนั้น มนุษย์เงินเดือนมักสะสมขยะอารมณ์ในร่างกาย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะขจัดทิ้งออกไปกับเหงื่อในวันหยุดพักผ่อนโดยการเล่นกีฬาให้เป็นเรื่องเป็นราว ได้สนุกแบบสมัยเป็นเด็กที่ได้วิ่งเล่น สมองได้คิดถึงสิ่งอื่นและได้มีการหลั่งฮอร์โมนเอ็นโดฟิน (endorphin) ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พร้อมสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลดน้ำหนักตัวซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของมะเร็งใยอาหาร(Dietary fiber) อาหารที่มีใยอาหารสูงได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วต่างๆ พืชพวกหัวต่าง ๆ ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช เป็นปัจจัยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ทางเดินอาหารส่วนล่าง เนื่องด้วยคุณสมบัติที่ใยอาหารอุ้มน้ำได้ดีอุจจาระ จึงถูกเพิ่มให้มีน้ำหนักมากเร็วขึ้นในแต่ละวัน สังเกตได้จากผู้ที่กินผักผลไม้มากจะถ่ายอุจจาระแบบสบายๆ อย่างน้อยวันละครั้ง การถ่ายอุจจาระนั้นเป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายซึ่งขึ้นกับปริมาณอุจจาระในลำไส้ใหญ่ อีกทั้งใยอาหารบางชนิดมีคุณสมบัติในการจับสารพิษ(ซึ่งถูกอวัยวะภายในเช่น ตับ ไต ลำไส้ เปลี่ยนแปลงให้มีความสามารถในการละลายน้ำแล้ว) ได้ดีจึงลดโอกาสการดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายที่ผนังลำไส้ใหญ่สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผักและผลไม้คือ บางชนิดเป็นแหล่งของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี(soluble fiber) ซึ่งเป็นอาหารของแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสในลำไส้ใหญ่ที่กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดออกมาปรับให้สภาวะแวดล้อมของลำไส้ใหญ่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเซลล์มะเร็งการให้นมลูก(Breast feeding) เป็นพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เต้านม ข้อมูลลักษณะนี้มีการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2002 ซึ่งพบว่า สตรีราว 150,000 คน ที่ให้นมลูกนาน 12 เดือน (ไม่ว่าจะมีลูกคนเดียวหรือต่อเนื่องหลายคน) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 4.3 ของแม่ที่ไม่ให้นมลูก ต่อมาในปี 2009 มีรายงานหนึ่งในวารสาร Archives of Internal Medicine โดยศึกษาในสตรี 60,000 คน พบว่าสตรีที่มีประวัติการให้นมลูกมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่าสตรีที่ไม่ให้นมลูกถึงร้อยละ 60 และในปี 2014 วารสาร Journal of the National Cancer Institute พบว่าสตรีที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอัฟริกันนั้นปรกติมักมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูง แต่การให้นมลูกได้ลดปัญหาดังกล่าวให้น้อยลงกาแฟ อาหารนี้มีข้อมูลทางการวิจัยว่า การดื่มกาแฟซึ่งไม่เข้ม ไม่มันและไม่หวานจัดเป็นประจำนั้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งที่ตับและมดลูก ทั้งนี้เพราะกาแฟมีสารก่อมะเร็งในปริมาณน้อยที่สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมกำจัดสารพิษออกจากร่างกายทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดีการระบุระดับการดื่มที่แท้จริงเพื่อลดความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในแต่ละบุคคลนั้นยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ ในการแนะนำให้ดื่มกาแฟเพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานว่า เป็นการดื่มหลังอาหาร เพราะแคฟฟีอีนนั้นเป็นสารกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ดังนั้นการดื่มกาแฟในช่วงท้องว่างอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากน้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาได้กัดผนังกระเพาะอาหาร การเป็นแผลที่อวัยวะนี้อย่างต่อเนื่องย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้อาหารที่มีแคลเซียมสูง(Diets high in calcium) โดยทั่วไปแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการแคลเซียมประมาณ 2.5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่ามีผลทางอ้อมต่อการลดความเสี่ยงของมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนล่าง อย่างไรก็ดียังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนทางวิชาการว่า แคลเซียมระดับใดจึงลดความเสี่ยงได้ ในตำราบางเล่มกล่าวว่า การกินแคลเซียมมากกว่า 5 กรัมต่อวันในคนปรกติหรือ 3 กรัมต่อวันในคนที่มีปัญหาไตทำงานบกพร่องอาจก่ออันตรายได้ จึงยังไม่ควรแนะนำให้มีการเสริมแคลเซียมในลักษณะของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่ให้กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย และนม เป็นต้น การได้แคลเซียมจากอาหารเข้าสู่ร่างกายของคนที่อาศัยในพื้นที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีแดดอ่อนนั้น อาจต้องเสริมวิตามินดีพร้อมกันไปด้วย เพราะวิตามินดีนี้ช่วยให้แคลเซียมถูกดูดซึมและใช้งานได้ ส่วนคนไทยทั่วไปนั้นอาจไม่จำเป็น ถ้าได้ถูกแสงแดดในตอนเช้าตรู่และบ่ายแก่ ๆ ยกเว้นคนไทยที่ต้องออกจากบ้านก่อนไก่โห่ เพื่อเข้าทำงานในตึกซึ่งปิดสนิทเพราะเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา โดยทำงานจนถึงเวลาไก่ขึ้นคอนนอนแล้วจึงกลับบ้าน คนไทยกลุ่มนี้มีโอกาสขาดวิตามินดีและมักมีปัญหากระดูกไม่แข็งแรงแม้ได้แคลเซียมเพียงพอกระเทียม เป็นเครื่องเทศชนิดที่เชื่อกันว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหารส่วนล่างได้ โดยกระเทียม(อาจรวมถึงหัวหอม) เป็นพืชที่ให้กลิ่นและรส ซึ่งช่วยให้อาหารไม่จืดชืด มีการศึกษาพบว่า หลังการทุบสับซอยกระเทียมและหัวหอมนั้นมีสารประกอบกัมมะถัน (Organosulfur) ถูกเปลี่ยนแปลงให้สามารถกระตุ้นให้ระบบเอ็นซัมทำลายสารพิษทำงานได้ดีขึ้น จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นการนำเสนอประเด็นที่นักวิชาการที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการบริโภคอาหาร สุขภาพของร่างกายและการออกกำลังกายต่อการเกิดมะเร็ง ได้ให้คำแนะนำพร้อมประสบการณ์บางส่วนของผู้เขียนโดยหวังว่า ถ้าใครปฏิบัติตามแล้วควรเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งน้อยลงกว่าผู้ไม่ปฏิบัตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 10 พฤติกรรม ที่มีส่วนทำให้เชื้อดื้อยา

1. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินตามคนอื่นคนแต่ละคนอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคต่างชนิดกัน การซื้อยาต้านแบคทีเรีย มารับประทานเอง อาจได้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ และยังส่งผลให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้2. เคยหยุดรับประทานยาต้านแบคทีเรีย เมื่ออาการดีขึ้นยาต้านแบคทีเรีย ต้องรับประทานติดต่อหลายวันตามที่กำหนด หากเราหยุดรับประทาน อาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่และเชื้อโรคจะพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้3. เคยซื้อยาต้านแบคทีเรีย กินเองตามที่เคยได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งก่อนๆยาต้านแบคทีเรีย แต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคแต่ละชนิดต่างกัน การใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่เลือกให้เหมาะกับชนิดของเชื้อโรค นอกจากจะทำให้ไม่หายแล้ว อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้4. เคยอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย การใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และต้องใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด การอมยาอมที่ผสมยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะเป็นการใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม ยังเป็นการใช้ยาที่เกินจำเป็น และอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้5. เคยเปลี่ยนไปซื้อยาต้านแบคทีเรีย ที่แรงกว่าทานเองเมื่อรับประทานยาต้านแบคทีเรีย ชนิดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้นทันใจการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อโรค ต้องใช้ในขนาดที่เหมาะสม และใช้ติดต่อให้ครบตามระยะเวลา บางครั้งอาการเจ็บป่วยของเราต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรอาการถึงจะดีขึ้น การเปลี่ยนไปใช้ยาต้านแบคทีเรีย ตัวอื่นๆ ที่แรงกว่า อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้6. เคยแกะแคปซูลเอายาต้านแบคทีเรีย ไปโรยแผลนอกจากจะเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสมแล้ว ยังทำให้แผลสกปรกและเสี่ยงต่อการเกิดอาการแผลอักเสบลุกลามได้ เพราะผงในแคปซูลไม่ได้มีแต่ตัวยาเท่านั้น ยังมีผงแป้งผสมอยู่ด้วย และยังอาจทำให้เชื้อโรคที่แผลพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้7. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย ผสมในอาหารสัตว์ตามคำบอกเล่าเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เจ็บป่วยเป็นการใช้ยาที่ผิด และอาจไม่ได้ผลด้วย เนื่องจากขนาดยาไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้8. เคยใช้ยาต้านแบคทีเรีย โดยไม่ทราบชื่อสามัญของยานอกจากจะเสี่ยงที่จะได้รับยาที่เคยแพ้แล้ว อาจได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อโรค อาจทำให้เชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้9. เคยไปซื้อยาแก้อักเสบกินเองอาการอักเสบตามความเข้าใจของคนทั่วไปมีหลายแบบ เช่น อาการปวดอักเสบ อาการอักเสบจากแผลหนอง อาการอักเสบเจ็บคอ บางครั้งเมื่อเราอักเสบจากการปวดและไปซื้อยาโดยระบุว่าต้องการยาแก้อักเสบกินเอง เราอาจได้ยาต้านแบคทีเรีย มาแทนยาแก้ปวดอักเสบ เป็นการใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างไม่จำเป็นเพราะไม่ได้อักเสบจากการติดเชื้อ การได้รับยาเกินจำเป็น อาจทำให้เชื้อโรคดีๆ ในตัวเรา พัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยาได้10. ไม่แนะนำคนที่ใช้ยาต้านแบคทีเรีย อย่างผิดให้ใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมการเพิกเฉยของเรา เท่ากับปล่อยให้มีการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ที่ไม่เหมาะสมขึ้นในสังคม สุดท้ายเมื่อเชื้อโรคพัฒนาตัวมันเองไปสู่การดื้อยา ปัญหานี้ก็จะกลับมาส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคตได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 มะเร็งร้ายหายแต่ได้ภาวะแทรกซ้อนมาแทน

ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา โดยให้เราลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าถ้าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เราปัสสาวะเองไม่ได้นานเป็นปี เรายังจะตัดสินใจรับการผ่าตัดนั้นอยู่หรือไม่ผู้ร้องอายุ 48  ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะแรก หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉือนบางส่วนออกเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจทำตามโดยใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งหลังการผ่าตัดนั้นก็พบว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกไปได้หมดจริงๆ แต่กลับทำให้เธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้อีกเลย หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 9 วันโดยการใช้ถุงเพื่อปัสสาวะมาตลอด เธอก็กลับบ้านและพบว่าชีวิตประจำวันของตัวเองต้องเปลี่ยนไป เพราะคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาช่วยกันดูแล สำหรับการสวนปัสสาวะทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยอาการยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม้จะไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่ได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแต่แจ้งว่าเป็นผลจากการผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาและฝึกฉี่เองอีกครั้ง และให้ถุงฟอเล่ หรือถุงฉี่กลับบ้านมาเท่านั้น การสวนปัสสาวะเองทุกครั้งก็ทำให้เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และถูกส่งตัวไปรักษาต่อตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันภายหลังเธอจึงไปตรวจอาการอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้พบความจริงว่าการผ่าตัดครั้งนั้นมีผลกระทบทำให้เส้นประสาททางเดินปัสสาวะโดนผ่าออกไปด้วย เพราะเส้นประสาทดังกล่าวผสานอยู่กับเนื้อเยื่อข้างเคียงของปากมดลูก ซึ่งมีสิทธิทำให้เซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกลุกลามได้ เป็นเหตุให้เธอเกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้) ซึ่งหมอก็ไม่ยืนยันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อพบว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกว่า ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะหากทราบก่อนการผ่าตัดว่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นนี้ ในตอนนั้นเธออาจจะเลือกไม่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะปัสสาวะเองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอยังต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งหากคิดแล้วก็ตกที่เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งยังต้องเดินทางไปหาหมอตามสถานที่ต่างๆ เองอีกด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความเป็นธรรม โดยหวังว่าอย่างน้อยแค่ให้หมอมาดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อสวนปัสสาวะบ้างก็ยังดีแนวทางการแก้ปัญหาประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้ร้องใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงทำให้เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเองด้วย ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา อีกทั้งทำไมหมอที่ดูแลอาการถึงไม่ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนให้เธอทราบก่อนการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะทำให้เส้นประสาทปัสสาวะได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้มีการเจรจากับโรงพยาบาล โดยตัวแทนของศูนย์ฯ ไปร่วมเจรจาด้วย และให้ผู้ร้องทำรายการค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้รักษาหลังการผ่าตัดออกมา (ย้อนหลังไปประมาณ 8 เดือน) ซึ่งผลก็คือหมอที่ดูแลอาการได้ขอโทษผู้ร้อง ที่ไม่ได้ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด พร้อมเยียวยาเบื้องต้นโดยให้ผู้ร้องสามารถรับอุปกรณ์สำหรับสวนปัสสาวะฟรี รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ร้องเสียไปแล้วจำนวน 1 แสนบาท ผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >