ฉบับที่ 214 ผลิตภัณฑ์เด็กสมาธิสั้น แต่ครูนักแต่งเพลงของฉันมาได้ไง?

 น้องคนหนึ่งส่งคลิปสั้นๆ มาให้ผมดู พร้อมทั้งคำถามว่า “มันเป็นจริงไหม?” ผมตามไปดูในคลิปซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊คของผู้ขาย ภาพแรกในคลิป เป็นภาพนิ่งมีข้อความว่าจะทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นเด็กขี้ลืม หาตัวช่วยจำให้ลูก หากิจวัตรให้ลูก ไม่ควรทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูแลสุขภาพของลูก ฝึกสมองอยู่เสมอ แต่ที่สะดุดตาคือ มีภาพของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งอยู่กลางภาพ ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นภาพเด็กๆ พร้อมขึ้นข้อความต่างๆ เช่น เด็กติดเกมส์ เด็กติดโทรศัพท์ ฯลฯ           ผมเข้าไปค้นข้อมูลในเน็ตตามชื่อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ พบข้อความโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมองและระบบประสาท ดูแลสมอง เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการบำรุงดูแลสมอง ผู้ที่มีอาการสมาธิสั้น จำยากลืมง่าย ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน ผลการเรียนไม่ดี วัยทำงานซึ่งใช้สมองเยอะ สมองล้าบ่อยๆ ผู้ที่วิตกกังวล เครียด ผู้ป่วยความจำเสื่อมหรือเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สูญเสียความทรงจำ ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย หญิงตั้งครรภ์ก็ทานได้           แค่ข้อความเบื้องต้นก็ค่อนข้างจะเกินขอบเขตผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว พอผมไล่ดูไปเรื่อยๆ ก็พบภาพของครูนักแต่งเพลงที่ออกรายการทีวีบ่อยๆ แกเคยโฆษณาผลิตภัณฑ์บำรุงสายตาที่เคยโดนร้องเรียนไปแล้ว คราวนี้รูปแกมาอยู่ในผลิตภัณฑ์นี้ พร้อมข้อความระบุสรรพคุณผลิตภัณฑ์นี้มากมาย เช่น ช่วยฟื้นฟูความจำและบำรุงสมอง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยทำลายและขจัดสารพิษจากตับ ต้านเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเป็นโรค ช่วยส่งเสริมการทำงานของต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง บำบัดรักษาการอักเสบของเส้นประสาทในสมอง ช่วยบำรุงประสาทและสมองช่วยเพิ่มความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในเม็ดเลือดขาว ช่วยกระตุ้นการหลั่งโกรธฮอร์โมน ช่วยแก้ไขอารมณ์ ซึมเศร้า ช่วยคลายเครียด ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยป้องกันสมองและตับจากการถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยา และ การสูบบุหรี่ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้สมาธิดีขึ้น คิดอ่านได้ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพการหลับ ช่วยให้นอนหลับได้สนิทขึ้น ช่วยป้องกัน มะเร็งต่างๆ ลดอาการภูมิแพ้และไข้หวัด ช่วยให้มีสมาธิในการเรียน การทำงาน จดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ได้นานยิ่งขึ้น           ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ แจ้งว่ามีส่วนประกอบสำคัญได้แก่  Bacopa สารสกัดพืชพรมมิ สารสกัดโปรตีนจากถั่วเหลือง น้ำมันปลา Choline Bitartrate L-Tyrosine L-Theanine  L-Cysteine Taurine วิตามิน บี1 บี6 บี12 ฯลฯ อันที่จริงเคยมีผลงานวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่ง พบว่า สารสกัดพืชพรมมิ มีฤทธิ์ต่อสมอง องค์การเภสัชกรรมก็ยังนำไปผลิต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเรียบร้อยแล้ว แต่หากใครเคยซื้อมารับประทานจะพบว่า ไม่มีข้อความระบุสรรพคุณโอเวอร์ขนาดนี้ และที่สำคัญคือ เขายังมีคำเตือนชัดเจนบนฉลากว่า “เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”            ผมแจ้งน้องที่ส่งข้อมูลไปแล้ว ให้ช่วยกันดำเนินการแจ้งผู้ดูแลต่างๆ ให้จัดการด้วย ตอนนี้พบว่าหลายเว็บปิดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดสักที ใครมีญาติพี่น้อง หรือคนรู้จัก อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาสรรพคุณโอเวอร์เหล่านี้นะครับ และถ้าใครสนิทกับครูนักแต่งเพลงท่านนี้ก็ช่วยเตือนท่านด้วย ลำพังรายได้ท่านก็เยอะอยู่แล้ว อย่ามายุ่งกับของแบบนี้เลยครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 หวานเว่อร์ อัลไซเมอร์ถามหา

ผู้เขียนเป็นสมาชิกของสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทันสมัยสุดๆ เพราะเป็นกลุ่มชนที่นำพาชาติเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบประเทศร่ำรวยอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา เยอรมนี แต่ก็มีความกังวลอยู่ เพราะเคยได้ยินคำกล่าวต่อๆ กันมาว่า เมื่อแก่ตัวก็จะหลงๆ ลืมๆ ไปตามวัย ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามถามตัวเองว่า ลืมอะไรบ้างไหมในชีวิตนี้ ซึ่งได้คำตอบว่า ลืมไปเยอะ แต่โชคดีที่ยังไม่เคยลืมว่า เมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร อาบน้ำหรือยัง บ้านอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นคำถามเพื่อตรวจสอบการเป็น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ด้วยความสนใจเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ วันหนึ่งผู้เขียนก็ได้พบข้อมูลในเว็บ www.mercola.com กล่าวถึงสมมุติฐานว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิดอาการอัลไซเมอร์ คือ พฤติกรรมการกินที่ไม่ดี โดยเฉพาะการกินหวาน ดังนั้นจึงคิดว่าสมาชิกวารสารฉลาดซื้อน่าจะทราบเรื่องนี้ไว้บ้าง สาเหตุของอัลไซเมอร์นั้นค่อนข้างสับสน เนื่องจากไม่มีสัญญาณเตือนจากร่างกาย ดูต่างจากเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเมื่อรู้หลังตรวจเลือดแล้วมักย้อนคิดกลับไปได้ว่า เกิดเนื่องจากการกินหวานมากไป อย่างไรก็ดีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพก็ได้พบสัญญาณที่น่าสนใจว่า พฤติกรรมการกินหวานน่าจะเกี่ยวพันกับอาการอัลไซเมอร์ เพราะอาการของโรคนี้ใช้กระบวนการเดียวกับการเกิดอาการเบาหวานประเภทที่ 2 จนเริ่มมีนักวิชาการบางคนเรียกอาการอัลไซเมอร์ว่าเป็น เบาหวานประเภทที่ 3 ในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับสมองกล่าวว่า มีนักวิจัยชื่อ S.M. De La Monte จากมหาวิทยาลัย Brown Universtiy ในเมือง Providence รัฐ Rhode Island ได้ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Metabolic derangements mediate cognitive impairment and Alzheimer's disease: role of peripheral insulin-resistance diseases ในวารสาร Panminerva Medica เมื่อปี 2012 ว่าสามารถทำให้หนูทดลองสายพันธุ์ Long Evans มีอาการทางสมองเหมือนเป็นอัลไซเมอร์ (ได้แก่ การกำหนดทิศทางไม่ถูก สับสน ไม่สามารถเรียนรู้และจำได้) โดยใช้ N-nitrosodiethylamine (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามีนที่มีอยู่ในอาหารเนื้อหมัก) ฉีดเข้าไปรบกวนระบบการทำงานของอินซูลินในสมองหนู จนเกิดการต้านอินซูลินของเซลล์ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันของการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 สิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ต่อผู้เขียนคือ นอกจากอินซูลินถูกสร้างได้ในตับอ่อนแล้ว สมองก็ยังสร้างอินซูลินได้เอง(ความรู้นี้พบในปี 2005) ซึ่งถ้าคิดตามหลักการทางชีวเคมีแล้ว มันก็เป็นสิ่งจำเป็นมากที่สมองต้องสร้างอินซูลินไว้ใช้เอง(น่าจะเพื่อใช้ร่วมกับอินซูลินในเลือดที่สร้างจากตับอ่อนและสำรองเผื่อตับอ่อนสร้างได้น้อยลง) ทั้งนี้เพราะสมองเป็นอวัยวะที่กล่าวได้ว่า ขาดน้ำตาลกลูโคสไม่ได้เลย เมื่อใดก็ตามที่สมองขาดน้ำตาลนี้ สมองจะไร้พลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการสื่อประสาทในการคิด การสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง และการขาดน้ำตาลนั้น ก็คงนำไปสู่การตายของเซลล์สมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการความจำเสื่อมนั่นเอง แม้ว่าน้ำตาลจะสำคัญต่อการทำงานของสมอง แต่การกินน้ำตาลมากเกินไปนั้น กลับก่อให้เกิดการเหนี่ยวนำอาการต้านอินซูลินของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งไม่ได้มีผลแค่ทำให้เป็นเบาหวานประเภท 2 อย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการอัลไซเมอร์ของท่านด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ มีงานวิจัยของ Z. Arvanitakis แห่งศูนย์วิจัยการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Rush University ในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เรื่อง Diabetes mellitus and risk of Alzheimer disease and decline in cognitive function ตีพิมพ์ใน Archives in Neurology ชุดที่ 61 ปี 2004 งานวิจัยนี้ทำการศึกษานานถึง 9 ปี ในอาสาสมัคร(อายุมากกว่า 55 ปี) ซึ่งเป็นนักบวชนิกายคาทอลิก(ทั้งบาเตอร์และแม่ชี) แล้วพบว่า อาการเบาหวานนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 65 จึงสันนิษฐานว่า การกินหวานทำให้มีอาการต้านอินซูลินที่เพิ่มการเกิด brain plaque(กลุ่มชิ้นส่วนของโปรตีนที่เกิดขึ้นระหว่างรอยต่อเซลล์ประสาทในสมอง) ซึ่งบ่งชี้การเกิดอัลไซเมอร์ ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพบางคน อาจเป็นคนชอบกินหวาน แต่พยายามเลี่ยงน้ำตาลทรายหรือซูโครส ซึ่งถูกย่อยให้เป็น กลูโคส ชนิดที่ต้องใช้อินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ จึงเลี่ยงไปกินอาหารที่ใช้น้ำตาลฟรัคโตส(รวมทั้งผู้บริโภคที่ไม่ได้ตั้งใจจะกินน้ำตาลฟรัคโตส แต่ไปซื้อสินค้าอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งนิยมใช้น้ำตาลฟรัคโตสในการผลิต) ซึ่งน้ำตาลชนิดนี้ไม่ต้องใช้อินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ โดยหวังว่าจะลดความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจนี้ถือว่า ค่อนข้างผิด ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่า ในฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา ผู้เขียนได้กระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคระวังอาหารที่มีองค์ประกอบเป็น น้ำเชื่อมฟรัคโตส ซึ่งปัจจุบันนี้มีข้อกังวลกันว่า ใครก็ตามที่กินเกินวันละ 25 กรัม จะเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น เพราะฟรัคโตสเองสามารถทำให้การควบคุมระดับของอินซูลินเพี้ยนไปเช่นเดียวกับน้ำตาลกลูโคส เรื่องนี้จริงๆ มันก็น่าประหลาดใจอยู่เพราะว่า น้ำตาลฟรัคโตสนั้นมีค่า glycemic index ต่ำ แต่ก็ได้มีการทดลองพบว่า น้ำตาลนี้ลดความสามารถในการเข้าจับกับบริเวณรับของอินซูลินบนผนังเซลล์ ส่งผลให้น้ำตาลในเลือดคือ กลูโคส สูงขึ้นช้า ๆ โดยผู้บริโภคมิได้สังเกต นอกเหนือไปกว่านั้น การกินอาหารที่มีสารอาหารชนิดหนึ่งสูงเป็นพิเศษ แต่ชนิดอื่นต่ำมากหรือไม่มีเลยนั้น ก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองได้ โดยมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า น้ำตาลฟรัคโตสมีบทบาทในการรวนระบบความอยากกินอาหารที่ควบคุมโดยสมอง(brain's craving mechanism) จนสุดท้ายท่านจะหิวมากขึ้นและกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นเรื่อย ๆ สมมุติฐานข้างต้นนี้ได้ถูกพิสูจน์ในการทดลองที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียเมืองลอสแอนเจลีส โดยนักวิจัยของภาควิชา Integrative Biology and Physiology ชื่อ R. Agrawal และ F. Gomez-Pinilla  ได้ทำการเลี้ยงหนูด้วยอาหารที่มีน้ำตาลฟรัคโตสสูงแต่ขาดไขมันโอเมกา 3 (ซึ่งสูตรอาหารเลี้ยงหนูนี้เทียบเคียงได้กับอาหารสุดโปรดของชาวอเมริกัน และชาวโลกอื่น ๆ ด้วย) แล้วพบว่า หนูเกิดการต้านอินซูลินและมีการทำงานของสมองเสื่อมลง งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Physiology ชุดที่ 590 ปี 2012 นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะที่ตับของท่านกำลังสาละวนต่อการใช้น้ำตาลฟรัคโตสเป็นแหล่งพลังงานนั้น สิ่งที่ตับจะลืมทำก็คือ การผลิตโคเลสเตอรอล ซึ่งแม้ว่าเราจะค่อนข้างกลัวไขมันชนิดนี้มานานแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วโคเลสเตอรอลนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญมากของสมอง(เราจึงเรียกว่า มันสมอง เพราะสมองมีไขมันสูง) จนในข้อแนะนำการกินอาหารปี 2015 หรือ Dietary guideline 2015 ของอเมริกันที่กำลังจะคลอดเร็วๆ นี้ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำหนึ่งว่า เราไม่จำเป็นต้องกังวลในการกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอล เช่น ไข่แดงแล้ว จากข้อมูลที่เล่าให้ฟังนี้ ท่านผู้อ่านคงเลิกสงสัยว่า ทำไมเด็กนักเรียนของเราที่ตื่นแล้วไปโรงเรียนสาย โดยไม่กินข้าวเช้า จึงมีอาการอัลไซเมอร์อ่อนๆ ส่งผลให้ความรู้ที่คุณครูพยายามเคี้ยวและป้อนใส่สมองเด็กนั้น ไร้ประโยชน์ จนเมื่อเด็กเหล่านี้หลุดเข้าไปถึงขั้นมหาวิทยาลัย แล้วจบออกมาเป็นบัณฑิตไร้สาระ จากนั้นเมื่อถึงวันที่พลเมืองอาวุโสต่างๆ ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เกษียณอายุเพื่อให้บัณฑิตไร้สาระเหล่านี้เข้าทำงานแทน แล้วอนาคตของประเทศจะเป็นเช่นไร ผู้เขียนจะพยายามไม่เป็นอัลไซเมอร์เพื่อรอดูความเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

อ่านเพิ่มเติม >