ฉบับที่ 197 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2560“เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” รักษาโรคไม่ได้ใครที่กำลังคิดจะซื้อ “เก้าอี้ไฟฟ้าสถิต” เพราะเชื่อตามโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ ขอให้เปลี่ยนความคิดเดี๋ยวนี้ เพราะล่าสุด อย. ออกมาให้ข้อมูลแล้วว่า อุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตย์ไม่ได้มีไว้เพื่อผลในการรักษาโรคแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าอุปกรณ์บำบัดด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าสถิตอุปกรณ์เก้าอี้ไฟฟ้าสถิตจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ซึ่ง อย.กำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวไว้ว่าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตเฉพาะที่ชั่วคราว หรือผ่อนคลายกล้ามเนื้อเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาหรือบำบัดบรรเทาโรคได้ และต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด แต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เรื่องการรักษา บรรเทา และป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยต้องสูญเสียโอกาสและเวลาในการรักษาโรคให้หายด้วยวิธีทางการแพทย์ที่ถูกต้อง รวมทั้งต้องเสียเงินในการซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวโดยเปล่าประโยชน์อย.ได้กำหนดโทษการโฆษณาที่เป็นเท็จทำให้ผู้บริโภคเข้าใจของสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ คือจำคุกไปเกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ อะลูมิเนียมใส่อาหารได้ไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ในสื่อสังคมออนไลน์มีการส่งต่อเรื่องการใช้แผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่มีความร้อน ว่าจะทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยอ้างว่าอะลูมิเนียมเมื่อโดนความร้อนจะละลายปนลงในอาหาร เมื่อบริโภคเข้าไปจะส่งผลต่อระบบสมอง ทำให้ความจำลดลงและเป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งจะทำลายแคลเซียมในร่างกายมีผลต่อกระดูก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค จนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องออกมาชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องพร้อมด้วยผลการทดสอบ ยืนยันว่าอะลูมิเนียมที่ใช้ในการห่อหุ้มอาหารปลอดภัย และไม่ใช่ต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ทำการตรวจวิเคราะห์การละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากภาชนะที่ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียม แบ่งเป็นภาชนะหุงต้ม จำนวน 22 ตัวอย่าง และแผ่นเปลวอะลูมิเนียม(ฟอยล์) 6 ตัวอย่าง โดยทำการทดสอบในภาวะที่สุดโต่ง ด้วยสารละลายกรดอะซิติก ที่อุณหภูมิน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผลการทดสอบพบว่า มีอะลูมิเนียมละลายจากภาชนะหุงต้ม ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 11-953 มิลลิกรัม/ลิตร และพบการละลายออกมาจากแผ่นเปลวอะลูมิเนียมทั้งหมด ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 483.6-1,032 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนการทดสอบถาดหลุมที่อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง มีการละลายออกมาของอะลูมิเนียมจากถาดหลุมทั้ง 6 ตัวอย่าง ปริมาณที่พบน้อยกว่ามาก ซึ่งพบอยู่ในช่วง 0.5-14.1 มิลลิกรัม/ลิตรนอกจากนี้ยังมีการทดสอบเรื่องการละลายออกมาของอะลูมิเนียมลงสู่อาหาร 4 อย่าง คือ ข้าวสุก ผัดผัก ต้มยำ และยำวุ้นเส้น ที่ใส่ในถาดหลุมไว้เป็นเวลา 30 นาที เพื่อเลียนแบบการรับประทานอาหารโดยใช้ถาดหลุม พบว่า การละลายออกมาของอะลูมิเนียมมีน้อยมากๆ อยู่ในช่วง 0.047 - 0.928 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่สำคัญคือ การรับประทานอาหารที่อยู่ในภาชนะหรือห่อหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ครีมกันแดดในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อผู้ป่วยเอสแอลอีเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอี(SLE) มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อหาครีมกันแดดให้กับผู้ป่วยเหล่านี้ทุกปี ล่าสุดในงาน “แดดจ๋า อย่ารังแกหนู หนูเป็นโรคเอสแอลอี” จึงได้มีข้อเสนอที่อยากให้มีการเพิ่มครีมกันแดดเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในระบบประกันสุขภาพของรัฐ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยเอสแอลอี สามารถเข้าถึงครีมกันแดด ซึ่งถือเป็นเวชภัณฑ์สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้พญ.พรเพ็ญ อัครวัชรางกูร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติซัม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย ที่ปรึกษาชมรมคนต่อสู้โรคเอสแอลอี กล่าวว่า แดดในเมืองไทยแรงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่คนไทยจะเป็นโรคเอสแอลอีอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เป็นเร็วมากขึ้น เวลาที่ผู้ป่วยอาการของโรคกำเริบ อาจจะต้องได้ยาขนานสูง บางคนได้สเตียรอยด์ หรือแรงกว่านั้น ทำให้มีผลกระทบหลายอย่าง เช่น ประจำเดือนไม่มา กระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องความสูงและความสมบูรณ์ของร่างกาย ดังนั้นตรงนี้จึงสำคัญมาก หากครีมกันแดดสามารถเบิกได้ในคนไข้ที่จำเป็นจะต้องใช้ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ทั้ง ปวดบวมตามข้อ อาการต่อระบบไต ระบบเลือด และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่ง 1 ในปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบเกิดจากการที่ผิวหนังถูกแสงอัลตราไวโอเลต คัดค้านขยายสิทธิผู้ประกันตนจาก 55 ปี เป็น 60 ปีจากการที่สำนักงานประกันสังคมมีนโยบายที่จะขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานที่อยู่ภายใต้สิทธิประกันสังคม ได้รับการดูแลคุ้มครองตามสิทธิต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปีแต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกคัดค้านจากองค์ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) โดยทั้ง 2 องค์กรเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นลดทอนสิทธิมากกว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน การขยายระยะเวลาในการอยู่ภายใต้สิทธินั้น หากมีการนำมาใช้จริงก็ควรเป็นไปแบบสมัครใจ สำหรับประเด็นที่ว่าสำนักงานประกันสังคมต้องการที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงานในส่วนของผู้ประกันตน ด้วยการขยายระยะเวลาการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี เพราะสามารถใช้สิทธิต่างๆ ได้นานขึ้น องค์กรที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมองว่าเป็นคนละประเด็นกัน การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกันตนสามารถทำได้ด้วยวิธีอื่นเตรียมทำมาตรฐานน้ำดื่มแห่งชาติกรมอนามัยเตรียมทำร่างมาตรฐานน้ำบริโภค ที่จะเป็น “มาตรฐานกลาง” ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคได้อ้างอิงเกณฑ์คุณภาพที่แตกต่างกัน อาทิ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค อ้างอิงจากเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค และมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการนพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ร่างมาตรฐานน้ำบริโภคประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเคมี สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค ซึ่งจากการสำรวจและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในประเทศของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย โดยใช้เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พบว่า ตั้งแต่ปี 2551 - 2559 น้ำบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเฉลี่ย ร้อยละ 60 จำนวนนี้แบ่งเป็นมาตรฐานด้านกายภาพร้อยละ 30 เคมี ร้อยละ 15 และชีวภาพ ร้อยละ 70โดยกรมอนามัยจะเป็นแกนหลักในการจัดทำมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อช่วยกันยกระดับคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อหน่วยงานต่างๆ ได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการบริโภค ทั้ง น้ำประปา น้ำประปาภูเขา น้ำบ่อบาดาล น้ำผิวดิน และน้ำฝน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2556 ภาชนะอะลูมิเนียม อันตรายแฝงเพียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการสุ่มทดสอบภาชนะประเภทอะลูมิเนียม เพื่อตรวจสอบดูคุณภาพความเหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหาร โดยได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งจากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดเกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภทอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณอะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่าภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม   สำหรับข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ------------------------------------------------------------------------------   “น้ำหมัก” ขายดี แถมมีงบ กสทช. ช่วย!? ปัญหาเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ยังคงเป็นมหาวายร้ายทำลายสุขภาพและหลอกปล้นเงินผู้บริโภค ที่ยิ่งนับวันก็มีแต่จะสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาหลงลืมหน้าที่ตัวเองหรืออ่อนด้อยฝีมือ ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่ถูกกวาดล้างจัดการสักที แถมล่าสุดมีการออกมาแฉโดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ว่างบประมาณที่ทาง กสทช. จัดสรรลงพื้นที่เพื่อจัดให้มีการอบรบผู้ประกาศระดับภูมิภาคเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ที่ทุกต้องเรื่องการรับฟังสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าโอ้อวดหลอกลวงสรรพคุณ แต่ลับหลังกลับมีการแอบขายน้ำหมักกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่มีการสร้างเครือข่ายให้ผู้อบรมเอาไปขายต่อยังสถานีวิทยุของตัวเอง นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้ เพราะสินค้าที่เป็นปัญหามักจะคอยเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องร้องเรียน เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้ อย. ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง กว่าจะส่งต่อให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สินค้าก็ถูกโฆษณาขายใหม่ไปแล้วเรียบร้อย     สธ.ตัวการ ทำเมืองไทยเป็นเมือง “แร่ใยหิน” รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติตามการนำเสนอของ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) เปิดเผยว่ามีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน ซึ่งมติของทาง สธ.ที่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้ากับทางรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกแร่ใยหินให้กับไทย ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมา สธ.เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและต้องยกเลิก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่ในยุค นพ.ประดิษฐ พบว่า มีขบวนการสนับสนุนให้มีการขายสินค้าอันตราย เครือข่าย T-BAN จึงมีมติเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกมติรับให้สินค้าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อสังคมด้วย   คาราบาวแดงทำแสบ หลอกชิงทอง 100 บาท พอถูกรางวัลจ่ายเงินแค่ 100 เดียว เหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่ค้าชาว จ.สุโขทัย ท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมชิงโชคกับเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” โดยได้ขูดสติกเกอร์ "ขูดปั๊บรับโชคร้อยถึงล้านกับแพคบาวแดง" แล้วพบข้อความระบุว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองคำมูลค่า 100 บาท" แม่ค้าท่านนี้ดีใจสุดขีดเพราะโชคดีจะได้เป็นเศรษฐี แต่ฝันก็มีอันต้องสลายเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเครื่องดื่มคาราบาวแดงเพื่อขอรับรางวัล กลับได้รับคำตอบว่า ข้อความที่ระบุในสติกเกอร์นั้น หมายถึงได้รับเงินสด 100 บาท ไม่ใช่ทองคำหนัก 100 บาท ทางคาราบาวแดงได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การทำโปรโมชั่นขูดปั๊บรับโชคจะแจกเป็นทองคำตามมูลค่าที่แจ้งไว้นั้น หมายถึงมูลค่าราคา ไม่ได้หมายถึงน้ำหนัก เป็นเรื่องน่าเจ็บใจที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจนแบบนี้ แม้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำโฆษณาท่านนี้จะไม่ได้ฟ้องเอาผิดกับทางบริษัท แต่ในทางกฎหมายสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยให้ศาลตีความ ว่าการใช้ถ้อยคำที่หวังสร้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ฝากเตือนเรื่องการชิงโชคชิงรางวัลจากการซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมากในปัจจุบัน ซึ่งนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์หวังกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับรางวัล และแทบไม่มีการตรวจสอบว่ารางวัลที่แจกนั้นมีการแจกจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่     ปัญหาอาหารปี 56 ปนเปื้อนเรื่องน่าห่วง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ทำการสรุปเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างช่วง ก.ย. 55 - ธ.ค. 56 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาอาหารปนเปื้อน ปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง การโฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ปัญหาอาหารเสียก่อนวันหมดอายุ การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สำหรับปัญหาอาหารปนเปื้อนนั้น ที่พบจากกรณีร้องเรียนเช่น พบการปนเปื้อนของ เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือเกิดความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้นำเรื่องเข้าหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยประเด็นที่จะทำการหารือร่วมกันประกอบด้วย 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น   //

อ่านเพิ่มเติม >