ฉบับที่ 253 อะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ปี 2565

        สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้         ในฉลาดซื้อฉบับที่ 203 (มกราคม 2561) ได้เผยผลทดสอบปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX)         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติจำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม เมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อดูว่ายังมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 อยู่หรือไม่ ถ้ามี มีปริมาณเท่าไรเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่  414)  พ.ศ. 2563  เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น  มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5  ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลการทดสอบ         จากนมทั้งหมด 24 ตัวอย่าง พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดสรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565         จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบพบสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในเนยถั่ว 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 54.55% เตือนผู้บริโภคหากรับประทานมากอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว 11 ตัวอย่างมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  1 ตัวอย่างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แนะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วมีมาตรฐาน GMP เนื่องจากมีข้อบังคับใช้ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภค         วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก (สสส.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เนยถั่วจำนวน 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากสารอะฟลาท็อกซินโดยปกติเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและสามารถปนเปื้อนได้ในเนยถั่ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้         จากผลทดสอบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินจากผลิตภัณฑ์เนยถั่ว นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า พบ 1 ตัวอย่าง ที่มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด พบว่ามีสารอะฟลาท็อกซินถึง 65.87 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามที่ประกาศของทางกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินทั้งหมด (B1+B2+G1+G2) ในอาหารสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และพบอีก 11 ตัวอย่าง มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยคิดเป็นพบอะฟลาท็อกซิน 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี้ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบ, ครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ ส่วนอีก 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ มีราคาถูกที่สุดคือ 0.26 บาท และ ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท ราคาแพงที่สุดคือ 1.05 บาท         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชัน (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชันสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ อะฟลาท็อกซิน (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 แคลอรี่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์         ทั้งนี้  นิตยสารฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP  เนื่องจากจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่นำไปใช้แปรรูป  และอะฟลาท็อกซินแม้พบในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอะฟลาท็อกซินที่พบนั้น หากเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ ฉลาดซื้อยังแนะอีกว่า การทำเนยถั่วกินเองช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซิน เพราะผู้บริโภคมีโอกาสการเลือกวัตถุดิบที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองอ่านบทความผลทดสอบ “อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว” ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3942

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว

        เนยถั่ว ทำจากถั่วลิสง รสอร่อย กินเป็นของว่างก็ดี ใช้ปรุงอาหารก็ได้ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพยอดนิยมของทุกเพศทุกวัย อุดมด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วหลายยี่ห้อมักเพิ่มน้ำตาล น้ำมัน หรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย เพื่อลดความหนืดและเพิ่มรสชาติ หากใครเผลออร่อยเพลินก็เสี่ยงอ้วนและเพิ่มโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากผู้บริโภคเลือกพิจารณาจากส่วนประกอบบนฉลากได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับสาร อะฟลาท็อกซิน ซึ่งต้องอาศัยการทดสอบในห้องทดลองจึงจะพบได้        ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยถั่วทั้งหมด 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มาทดสอบว่ามีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินหรือไม่   ผลการทดสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว         จากผลิตภัณฑ์เนยถั่วที่สุ่มนำมาทดสอบทั้งหมด 22 ตัวอย่าง พบว่า         - มี 1 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด  พบ 65.87 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         - 10 ตัวอย่าง ไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน (คิดเป็น 45.45%ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ ยี่ห้อเวทโทรส เอสเซนเชียล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อมอร์ริสันส์ สมูท พีนัท บัตเตอร์และ100% พีนัท สมูท พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโฮลเอิธ์ท ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ซูเปอร์ชังค์ พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดละเอียดและเนยถั่วลิสงบดหยาบ รสจืด, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ ครันชี และยี่ห้อเลมอนฟาร์ม เนยถั่วลิสง         - 12 ตัวอย่าง มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน (คิดเป็น 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบและครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ และยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด ผลเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม         พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ ถูกที่สุดคือ 0.26 บาท ส่วน ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท แพงที่สุดคือ 1.05 บาทฉลาดซื้อแนะ        - ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำไปใช้แปรรูปอยู่ด้วย        - แม้จะพบอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด แต่ปริมาณอะฟลาท็อกซินโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้มีผลการทดลองในต่างประเทศที่พบว่าในกระบวนการผลิตเนยถั่วที่ต้องทั้งอบและบดนั้น สามารถฆ่าเชื้ออะฟลาท็อกซินได้มากถึง 89%          - การทำเนยถั่วกินเองน่าจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซินได้ทางหนึ่ง เพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกวัตถุดิบถั่วลิสงที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำเนยถั่วก็มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้เลือกทำตามได้ง่ายๆ          - หากเปิดกระปุกเนยถั่วแล้วควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดตักทุกครั้ง ปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในที่มืดและแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนได้ภายหลัง  ข้อมูลอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563ฉลาดซื้อฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงบทความ กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม? (ฉลาดซื้อ)บทความ การปนเปื้อนเชื้อราและอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่วพร้อมบริโภค (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)https://www.fitterminal.comhttps://www.scirp.org/Journal/PaperInformation.aspx?paperID=4527

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 อะฟลาท็อกซินในถั่วเหลือง

“ถั่วเหลือง” เป็นอีกหนึ่งธัญพืชที่นิยมบริโภคกันทั่วไป หารับประทานง่าย รสชาติอร่อย ซึ่งส่วนใหญ่เรานิยมนำถั่วเหลืองไปแปรรูป เป็นน้ำนมถั่วเหลือง หรือ น้ำเต้าหู้ รวมทั้งนำมาทำเป็นเต้าหูประเภทต่างๆ นำมากวนทำขนม หรือจะนำเมล็ดถั่วเหลืองมาคั่วคลุกเกลือ กินเป็นขนมทานเล่นก็อร่อยไม่แพ้กันเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะบริโภคอาหารที่แปรรูปจากถั่วเหลืองแทบจะทุกวัน การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบป้องกันการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตรายของสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็เช่นเดียวกับถั่วชนิดอื่นๆ ที่มักจะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” สารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ถ้าได้รับเข้าไปมากๆ จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร คนที่แพ้ก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นอาเจียน หมดสติ แถมถ้าสะสมในร่างกายนานๆ เข้าก็อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ฉลาดซื้อ ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ 186) เราได้นำเสนอผลทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง ซึ่งผลที่ออกมาถือเป็นข่าวดีของผู้บริโภค เมื่อพบว่ามีถั่วลิสงถึง 10 จากทั้งหมด 11 ตัวอย่างที่เรานำมาตรวจวิเคราะห์ ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ส่วนอีก 1 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนก็พบในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งไม่เกินจากปริมาณที่กฎหมายกำหนด เรียกว่าผู้บริโภคสามารถกินถั่วลิสงได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยหายห่วง ส่วนฉบับนี้ก็เป็นทีของถั่วเหลืองบ้าง ไปดูกันสิว่า ถั่วเหลืองหลากหลายยี่ห้อที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป จะเจอการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน บ้างหรือเปล่าผลการทดสอบผู้บริโภคได้ดีใจกันอีกครั้ง เมื่อผลทดสอบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในถั่วเหลือง ได้ผลที่ปลอดภัยในการบริโภค ไม่พบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยในถั่วเหลืองทั้ง 8 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบข้อกำหนดปริมาณอะฟลาท็อกซินในอาหารประกาศกระทรวงสาธาณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่องมาตรฐานอาหารที่ทีสารปนเปื้อน กำหนดให้พบการปนเปื้อนของ อะฟลาท็อกซิน ในอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรับ ต่อ อาหาร 1 กิโลกรัมสถานการณ์การบริโภคถั่วเหลืองในประเทศไทยข้อมูลจากรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2558 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่า เมื่อปี 2557 ประเทศไทยเรามีความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองอยู่ที่ 2.07 ล้านตัน มากกว่าปี 2556 ที่มีความต้องใช้อยู่ที่ 1.74 ล้านตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 18.65% โดยมีการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปใช้ประโยชน์ในหลายวัตถุประสงค์ ที่มากที่สุดก็คือ การนำไปสกัดน้ำมัน คิดเป็น 81.87% ของจำนวนถั่วเหลืองที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ รองลงมาคือการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 17.65% และนำไปทำพันธุ์ 0.19%แม้ว่าประเทศไทยเราจะมีความต้องการถั่วเหลืองค่อนข้างสูง แต่ว่าการผลิตในประเทศยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากขาดแคลนเมล็ดพันธ์ที่ดี และถั่วเหลืองถือเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ส่งผลให้ไทยเราต้องมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยในปี 2558 มีการนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 2.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่นำเข้าในปริมาณใกล้เคียงกันคือ 2.02 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณเมล็ดถั่วเหลืองที่เราสามารถผลิตได้เองในประเทศอยู่ที่แค่ 5 หมื่นกว่าตันเท่านั้น หนำซ้ำยังมีการคาดการณ์กันว่าเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองในประเทศน่าจะลดลงเรื่อง โดยปัจจุบันเรามีเนื้อที่เพราะปลูกถั่วเหลืองอยู่ที่ประมาณ 0.18 ล้านไร่ถั่วเหลือง อาหารมากคุณประโยชน์ถั่วเหลือง ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในถั่วเหลืองประกอบด้วยโปรตีน 35% ไขมัน 20% ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่นตัวเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีใยอาหาร มีแร่ธาตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม เหล็ก วิตามินบี 1 และ วิตามินบี 2ประโยชน์จากการบริโภคถั่วเหลืองนั่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เพราะในถั่วเหลืองมีแคลเซียมสูง นอกจากนี้โปรตีนในถั่วเหลืองยังช่วยยับยั้งให้ร่างกายของเราสูญเสียแคลเซียมลดลง ถั่วเหลืองยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง สารประกอบในถั่วเหลืองเป็นสารที่ช่วยในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ที่จะเปลี่ยนเซลล์ปกติไปเป็นเซลล์มะเร็ง โปรตีนในถั่วเหลืองยังไปช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ในถั่วเหลืองยังมีสารที่ชื่อว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” (phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ถือเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อผู้หญิงช่วยให้ฮอร์โมนทำงานได้ปกติและดีขึ้น ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ดีต่อสุขภาพของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน การบริโภคอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นประจำจึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายของเรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 187 เรื่องทดสอบ อะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลี

อะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลีกราโนล่าและมูสลี่ (Granola, Muesli) ถือเป็นอาหารเช้ายอดนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ เพราะประกอบไปด้วยธัญพืชหลากชนิด เช่น ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ หรือผลไม้แห้งต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามด้วยส่วนผสมดังกล่าว อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้เช่นกัน หากมีการปนเปื้อนของสารพิษ อะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากเชื้อรา และมักปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวกแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น แป้งข้าวโอ๊ต  แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด รวมทั้งเมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด นอกจากนี้ยังพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารแห้ง เช่น ผัก ผลไม้อบแห้ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง งาหรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารดังกล่าวในปริมาณมากหรือเป็นประจำ สามารถส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียนหรือมะเร็งตับได้ หลายประเทศจึงมีการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในอาหาร ซึ่งในประเทศไทยกำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529)ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสารดังกล่าว ฉลาดซื้อจึงได้สุ่มทดสอบสารอะฟลาท็อกซิน ในกราโนล่าและมูสลี จำนวน 14 ยี่ห้อยอดนิยม (หลังจากฉบับที่แล้วเราเคยเสนอผลทดสอบสารดังกล่าวในถั่วลิสงไป) รวมทั้งทดสอบปริมาณน้ำตาล ใยอาหาร และพลังงานที่จะได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคจากแต่ละยี่ห้อ ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยสรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างกราโนล่าและมูสลี่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ตัวอย่างพบว่าทุกยี่ห้อไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินมี 2 ยี่ห้อที่ไม่แสดงฉลากโภชนาการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทางโภชนาการได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Diamond Grains (ไดมอนด์ เกรนส์) และ My Choice (มายชอยส์) อย่างไรก็ตามสำหรับตัวอย่างที่เหลือ มี 5 ยี่ห้อที่แสดงฉลากโภชนาการภาษาไทย และอีก 7 ยี่ห้อที่แสดงฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศ ซึ่งพบว่า- ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ McGarrett (แม็กกาเร็ต) มีปริมาณน้ำตาล 6 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (33 กรัม) และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือยี่ห้อ Hahne (ฮาทเน่) มีปริมาณน้ำตาล 22.4 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (100 กรัม)- ยี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารมากที่สุด คือ Tilo's (ทิโลส์) 9.6 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค (100 กรัม) และยี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารน้อยที่สุด คือ McGarrett (แม็กกาเร็ต), Nestlé (เนสท์เล่) และ Kellogg’s (เคลล็อกส์) มีปริมาณใยอาหาร 2 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค- ยีห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ McGarrett (แม็กกาเร็ต) ให้พลังงานทั้งหมด 130 กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค และยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุด คือ ยี่ห้อ Sanitarium (แซนนิทาเรี่ยม) 657กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค (45 กรัม)ข้อสังเกตการแสดงฉลากโภชนาการ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่องฉลากโภชนาการ กำหนดให้อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ มี 4 ประเภท คือ 1.อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการ 2.อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย 3.อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขาย และ 4.อาหารอื่นตามที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารทั้งนี้สำหรับข้อ 2.อาหารที่มีการใช้คุณค่าในการส่งเสริมการขาย หมายถึง อาหารที่มีการนำข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์หรือหน้าที่ของตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบหรือสารอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อร่างกายหรือสุขภาพ มาใช้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย การแสดงฉลากโภชนาการจะต้องแสดงข้อความภาษาไทย แต่จะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ทำให้อาหารประเภทกราโนล่าและมูสลี่ที่ส่วนใหญ่โฆษณาว่ามีใยอาหารสูง และมีส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจเข้าข่ายที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคในการเปรียบเทียบ เลือกซื้อและบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ อาหารประเภทนี้ ไม่ใช่อาหารพลังงานต่ำเสมอไป เพราะจากตัวอย่างที่นำมาทดสอบ พบว่า บางยี่ห้อให้พลังงานสูงถึง 657 กิโลแคลอรี/หนึ่งหน่วยบริโภค เทียบเท่ากับการบริโภคข้าวผัดกะเพราหมูกรอบ 1 จาน ที่ให้พลังงาน 650 กิโลแคลอรี่ อย่างไรก็ตามหากเทียบกับขนมไทยอย่างกระยาสารท ที่มีส่วนผสมของธัญพืชเช่นกัน พบว่าในกระยาสารท 1x3 นิ้ว ให้พลังงาน 210 กิโลแคลอรี่ ซึ่งให้พลังงานมากกว่าตัวอย่างกราโนล่าและมูสลี่ที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ เนื่องจากมีส่วนผสมของกะทิและน้ำตาลมากกว่ากราโนล่าและมูสลี่ มีความคล้ายกันในส่วนผสมที่มาจากธัญพืชและผลไม้อบแห้ง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่กราโนล่าจะเพิ่มส่วนผสมอย่างน้ำผึ้ง ไซรัป น้ำตาลหรือช็อกโกแลตเข้าไป เพื่อทำให้รสชาติหวานและรับประทานได้ง่ายขึ้น ทำให้มีแคลอรีสูงกว่ามูสลี่ที่ไม่เน้นการปรุงแต่ง ผู้บริโภคจึงควรเลือกประเภทและตรวจสอบฉลากโภชนาการก่อนนำมาประทาน เพื่อให้ได้คุณประโยชน์อย่างที่ต้องการ เรื่องน่ารู้เล็กน้อยเกี่ยวกับกราโนล่าและมูสลี่กราโนลาและมูสลี่ อยู่ในประเภทซีเรียล (cereal) สำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งได้จากการแปรรูปธัญพืช ทำให้มีคาร์โบไฮเดรตคล้ายกลุ่มขนมปัง และมีวิตามินรวมทั้งใยอาหารจากถั่วหรือผลไม้แห้งอื่นๆ ที่ผสมเพิ่มลงไป ทำให้เรารู้สึกอิ่มได้เหมือนกับการรับประทานอาหารชนิดอื่น อย่างไรก็ตามเราควรรับประทานในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพลังงานมากเกินความจำเป็นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรีทั้งนี้ด้านการเติบโตของตลาดซีเรียลสำหรับผู้ใหญ่ในประเทศไทยปีที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่า 784 ล้านบาท โดยเติบโตขึ้นทุกปีเฉลี่ยร้อยละ 10.8 ต่อปี เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งผู้นำทางการตลาดมี 2 ราย คือ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 43 และบริษัท เคลล็อก (ประเทศไทย) จำกัด ครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 33แหล่งข้อมูลอ้างอิง: http://fic.nfi.or.th/MarketOverviewDomesticDetail.php?id=85

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสง

  ถั่วลิสง ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมไปด้วยโปรตีนในปริมาณที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ แถมยังให้สารอาหารครบถ้วนทั้ง พลังงาน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต รวมทั้งยังมีแร่ธาตุอีกหลายชนิด โดยเราสามารถนำถั่วลิสงมาปรุงอาหารได้หลากหลายประเภททั้งเป็นส่วนประกอบในเมนูจานหลัก อย่าง แกงมัสมั่น ต้มขาหมูถั่วลิสง ใส่ในยำต่างๆ ใส่ในส้มตำ ฯลฯ หรือจะเป็นของกินเล่น อย่างขนมถั่วทอด ถั่วคั่วเกลือ หรือจะทำถั่วต้มธรรมดาๆ ก็อร่อยทั้งนั้น ยิ่งในช่วงเทศกาลกินเจเราจะเห็นถั่วลิสงเป็นพระเอกในเมนูอาหารเจต่างๆ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือราคาไม่แพงแต่เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับความกังวลเรื่องการปนเปื้อนของ “อะฟลาท็อกซิน” ในถั่วลิสง เนื่องจากสารตัวนี้เป็นสารพิษอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากหรือได้รับสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะอะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้ง กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้พยายามออกมาตรการควบคุมกับผู้ผลิตผู้นำเข้าถั่วลิสงให้เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงของตัวเองปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน(aflatoxin) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา โดยเฉพาะแอสเพอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และแอสเพอร์จิลลัส พาราซิติคัส (Aspergillus parasiticus) อะฟลาท็อกซินโดยทั่วไปที่พบในถั่วลิสง มี 4 ชนิด คือ อะฟลาท็อกซิน บี1 (B1) บี2 (B2) จี1 (G1) และ จี 2 (G2)นอกจากนี้ถั่วลิสงแล้วก็ยังมีพวกสินค้าทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ฯลฯพิษของอะฟลาท็อกซินหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติ เนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาวหากร่างกายของเราได้รับอะฟลาท็อกซินสะสมเป็นเวลานานต่อเนื่อง อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกาย จะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เพราะสารพิษอะฟลาท็อกซินจะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับองค์การอนามัยโลก จัดให้สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทําให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทําให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ หากได้รับอย่างต่อเนื่องที่มา: บทความ “อะฟลาท็อกซิน : สารปนเปื้อนในอาหาร” ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเลือกซื้อถั่วลิสงดิบอย่างไรให้ปลอดภัยจากอะฟลาท็อกซิน-เลือกที่อยู่ในสภาพใหม่ เมล็ดเต็มสวยงาม ไม่แตกหัก ไม่ลีบ รูปร่างและสีไม่ผิดปกติ ที่สำคัญคือต้องไม่ขึ้นรา ลองดมดูแล้วไม่มีกลิ่นเหม็นอับ เหม็นหืน-ถั่วลิสงดิบแบบที่บรรจุถุงจะมีฉลากแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อยี่ห้อ น้ำหนักสุทธิ ชื่อ-ที่อยู่ผู้ผลิต ที่สำคัญคือวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ดังนั้นควรใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อ โดยเฉพาะข้อมูลวันที่ผลิตและหมดอายุ เลือกซื้อถั่วลิสงดิบที่ผลิตใหม่ๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอะฟลาท็อกซินได้-อะฟลาท็อกซิน สามารถทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ดังนั้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่สามารถฆ่าอะฟลาท็อกซินได้ แต่การนำถั่วลิสงไปตากแดด ความร้อนจากแสงอัลตราไวโอเลต ซึ่งอยู่ในแสงอาทิตย์ก็สามารถทำลายอะฟลาท็อกซินได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะช่วยลดความชื้นในถั่วลิสง ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นที่มาของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงได้ ดังนั้นถั่วลิสงที่ซื้อมาแล้วถูกเก็บเอาไว้นานๆ ก่อนจะนำมาปรุงอาหารควรนำออกตากแดด เพื่อไล่ความชื้น -ผลทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบโดยใช้ตัวอย่างของถั่วลิสงดิบ ซึ่งต้องนำไปปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนรับประทาน แต่ถั่วลิสงที่เมื่อทำให้สุกแล้วและมักเก็บไว้ใช้นานๆ ใช้เป็นเครื่องปรุงหรือส่วนประกอบตามร้านอาหารต่างๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านผัดไท ร้านส้มตำ ซึ่งผู้บริโภคต้องไม่ลืมที่จะสังเกตลักษณะของถั่วลิสงให้ดีก่อนปรุงหรือรับประทาน ต้องไม่มีร่องรอยของเชื้อรา ไม่ดูเก่า ไม่อับชื้น ไม่มีกลิ่นเหม็น หากพบลักษณะที่น่าสงสัยดูแล้วเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน-ความคิดที่ว่า หากพบเจอส่วนที่ขึ้นราแค่ตัดส่วนนั้นทิ้ง ส่วนที่เหลือยังสามารถนำมารับประทานได้นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะเชื้อราแม้จะไม่แสดงลักษณะให้เห็นแต่อาจแพร่กระจายไปแล้วทั่วทั้งชิ้นอาหาร ดังนั้นเมื่อพบอาหารที่ขึ้นราควรทิ้งทั้งหมด อย่าเสียดายประเทศไทยคุมเข้มการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงถั่วลิสง จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ได้รับการควบคุมดูแลมาตรฐานอย่างเคร่งครัดจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเมื่อปี 2557  ได้มีการออกข้อกำหนดเรื่อง “ปริมาณอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสง” เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่ก็มีมาตรฐานสินค้าเกษตรของถั่วลิสงแห้งอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นว่าประเทศไทยเรามีการบริโภคถั่วลิสงในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเฉพาะที่ผลิตเองในประเทศยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงต้องมีการนำเข้าถั่วลิสง นอกจากนี้ถั่วลิสงถือเป็นต้นทางของการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิด ทางคณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมเรื่องการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่ว เนื่องจากอะฟลาท็อกซินเป็นสารพิษที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซินของถั่วลิสง ที่กำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากจะมีการกำหนดเรื่องปริมาณการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินที่กำหนดไว้เท่ากับประกาศกระทรวงสาธารณสุข คือ พบได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อถั่วลิสง 1 กิโลกรัม ยังมีข้อกำหนดอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างการกำหนดให้ต้องมีการคัดแยกเมล็ดขึ้นรา เมล็ดแตกหัก เมล็ดเสียหาย และสิ่งแปลกปลอมก่อนส่งจำหน่าย ซึ่งเมล็ดที่พบความบกพร่องที่ถูกคัดแยกไว้ ห้ามนำไปจำหน่ายเพื่อบริโภคหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอื่นอีก และการนำเข้าถั่วลิสงจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต้องมีการแสดงหลักฐานการตรวจสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินและต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลก่อนนำมาวางจำหน่าย ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของถั่วลิสง (100 กรัม) สารอาหาร ถั่วลิสงแห้ง ถั่วลิสงสุก พลังงาน (กิโลแคลอรี) 548 316 โปรตีน (กรัม) 23.4 14.4 ไขมัน (กรัม) 45.3 26.3 คาร์โบไฮเดรต (กรัม) 21.6 11.4 เหล็ก (มิลลิกรัม) 1.5 2.2 แคลเซียม (มิลลิกรัม) 58 45 ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 357 178 ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร   ฉลาดซื้อเราเคยทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงมาแล้วครั้งหนึ่ง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 94 ธันวาคม 2551 ซึ่งตอนนั้นทดสอบอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงชนิดพร้อมรับประทาน ได้แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ ถั่วลิสงเคลือบแป้ง และถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก รวมแล้วทั้งหมด 10 ตัวอย่าง ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าน่ายินดี เพราะแม้จะมีการพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินอยู่บ้าง คือพบจำนวน 5 ตัวอย่าง แต่ก็เป็นการพบที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน คือไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม โดยพบในปริมาณที่น้อยมาก คือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้นผลทดสอบการปนเปื้อนของเชื้อราอะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงดิบจากผลการทดสอบครั้งนี้ พบข่าวดี เมื่อตัวอย่างถั่วลิสงดิบที่ฉลาดซื้อสุ่มนำมาทดสอบจำนวนทั้งหมด 11 ตัว พบว่าไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเลยถึง 10 ตัวอย่าง มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนคือยี่ห้อ Home Fresh Mart ซึ่งก็พบการปนเปื้อนที่ค่อนข้างน้อยมากๆ คือ 1.81 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฏหมายกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 152 เปิดขวด “น้ำจิ้มสุกี้”

สุกี้ ถือเป็นเมนูที่หลายๆ คนยกให้เป็นอาหารจานสุขภาพ เพราะความที่เป็นเมนูที่เน้นผักมากกว่าเนื้อสัตว์ สาวๆ หลายคนเลือกรับประทานสุกี้เพราะเชื่อว่ากินแล้วจะไม่อ้วน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับประทานสุกี้ให้เป็นเมนูสุขภาพ ไม่ใช่เพราะแค่ดันเข้าใจผิดไปจัดเต็มกับสุกี้บุฟเฟ่ต์ แต่ยังเป็นเพราะสุกี้จานโปรดของคุณเล่นเติมน้ำจิ้มแบบไม่บันยะบันยัง รู้มั้ยในน้ำจิ้มสุกี้รสเด็ด มีทั้งน้ำตาล เกลือ บางยี่ห้อก็มีผงชูรส ฉลาดซื้อเป็นห่วงสุขภาพของคนชอบทานสุกี้ เราจึงลองสำรวจดูว่า น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปนั้น เสี่ยงต่อความหวานของน้ำตาล และความเค็มของโซเดียมมากน้อยแค่ไหน   ตารางสำรวจปริมาณโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวด ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลที่เหมาะสมต่อสุขภาพ ***ปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในการบริโภคสำหรับคนไทยใน 1 วัน คือไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม   วิธีการสำรวจ ฉลาดซื้อได้ทำการสุ่มสำรวจตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดจำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณของโซเดียมและน้ำตาล โดยการดูข้อมูลในฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนขวดน้ำจิ้มสุกี้แต่ละยี่ห้อ ซึ่งมีการแจ้งปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลต่อหน่วยบริโภคเป็นช้อนโต๊ะ เช่น น้ำจิ้มสุกี้ตราสุรีย์ สูตรกวางตุ้ง ข้อมูลในฉลากโภชนาการแจ้งว่า ปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (25กรัม) มีปริมาณโซเดียม 460 มิลลิกรัม ปริมาณน้ำตาล 6 กรัม เป็นต้น โดยจากตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากโภชนาการ คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อพันท้าย (สูตรดั้งเดิม) และ น้ำจิ้มสุกี้เด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) แต่ฉลาดซื้ออยากรู้ปริมาณโซเดียมและน้ำตาลของทั้ง 2 ตัวอย่าง เราจึงส่งตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เพื่อนำผลมาฝากแฟนฉลาดซื้อ   ผลการสำรวจ โซเดียม ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่พบปริมาณโซเดียมสูงที่สุด คือ น้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อควิกเชฟ (สูตรกวางตุ้ง) ที่บอกไว้ในฉลากโภชนาการว่ามีปริมาณโซเดียม 740 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (2,400 มิลลิกรัม) ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้ออื่นๆ ที่พบปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ได้แก่ ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ (สูตรกวางตุ้ง) พบปริมาณโซเดียมจากการส่งวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ที่ปริมาณ 2,152 มิลลิกรับต่อ 100 กรัม หรือที่ประมาณ 646 มิลลิกรัม ต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ ยี่ห้อ แม่ประนอม (สูตรกวางตุ้ง) และ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ที่แสดงปริมาณโซเดียมไว้ที่ 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (30 กรัม) ส่วนตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่เหลือพบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยที่ประมาณ 500 – 600 มิลลิกรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งต้องย้ำว่าเป็นการแสดงปริมาณโซเดียมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนเวลาทานสุกี้หรือทานพวกอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีน้ำจิ้มสุกี้เป็นน้ำจิ้ม คงไม่เติมกันแค่ 2 ช้อนโต๊ะ หลายคนเติมแล้วเติมอีก บางคนก็กินน้ำจิ้มกันทีเป็นถ้วยๆ ฉลาดซื้อขอเตือนว่าใครที่มีพฤติกรรมกินน้ำจิ้มสุกี้แบบนั้น มีสิทธิได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมกับสุขภาพ (2,400 มิลลิกรัมต่อวัน)   น้ำตาล ปริมาณน้ำตาลในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่พบในการสำรวจ เฉลี่ยอยู่ที่ 7 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ ที่พบมีปริมาณสูงสุดคือ ตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ยี่ห้อเจ๊เล็ก (สูตรกวางตุ้ง เผ็ดกลาง) ซึ่งแสดงปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการไว้ที่ 4 กรัมต่อหนึ่งช้อนโต๊ะ (17 กรัม) หรือถ้าเทียบเป็น 2 ช้อนโต๊ะ (34 กรัม) แบบตัวอย่างอื่นๆ จะเท่ากับ 8 กรัม ซึ่งมากที่สุดในตัวอย่างทั้งหมด 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (24 กรัม) สำหรับตัวอย่างที่พบปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจครั้งนี้คือ ยี่ห้อบิ๊กซี (รสจัดจ้าน) ซึ่งพบปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ 3 กรัมต่อปริมาณน้ำจิ้มสุกี้ 2 ช้อนโต๊ะ (33 กรัม) เช่นเดียวกับโซเดียม การทานน้ำจิ้มสุกี้ในปริมาณที่มากเกินไป ย่อมมีความเสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา ข่าวดี!!!ไม่พบอะฟลาท็อกซินในน้ำจิ้มสุกี้ นอกจากปริมาณของโซเดียมและน้ำตาลแล้ว ฉลาดซื้อยังได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของเชื้อรา “อะฟลาท็อกซิน” ในตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดทั้ง 12 ตัวอย่าง เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำจิ้มสุกี้มีทั้ง พริก และ งา ซึ่งมีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดของสารอะฟลาท็อกซิน จากการวิเคราะห์โดยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ฉลาดซื้อได้ผลวิเคราะห์ที่ถือว่าเป็นข่าวดี เพราะตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้ทั้ง 12 ยี่ห้อ ไม่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน ผู้บริโภคสบายใจได้ ฉลาดซื้อแนะนำ ถ้าไม่อยากเสี่ยงโซเดียมและน้ำตาลในน้ำจิ้มสุกี้ -  ชิมก่อนปรุง ด้วยความที่คนไทยเราชอบทานอาหารรสจัด ก็เลยอดไม่ได้ที่จะต้องเติมเครื่องปรุงเพิ่ม เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากได้รับโซเดียมและน้ำตาลมากเกินไป ก็ควรชิมก่อนตัดสินใจเติมเครื่องปรุงหรือน้ำจิ้มต่างๆ เพิ่ม - อ่านฉลากโภชนาการ การอ่านฉลากโภชนาการถือเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้รู้ได้ว่าอาหารที่เรากำลังทานอยู่นั้นมีปริมาณสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โซเดียม น้ำตาล หรือสารอาหารอื่นๆ เป็นปริมาณเท่าไหร่ น้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่เราสำรวจส่วนใหญ่ก็มีการแสดงฉลากโภชนาการ   ***มีข้อสังเกตเรื่องฉลากโภชนาการ แม้ว่าตัวอย่างน้ำจิ้มสุกี้บรรจุขวดที่ฉลาดซื้อสำรวจส่วนใหญ่ (10 จาก 12 ตัวอย่าง) จะแสดงฉลากโภชนาการซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่การกำหนดหน่วยบริโภคเพื่อแสดงปริมาณของน้ำจิ้มสุกี้นั้น ยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการนำไปเป็นข้อมูลการเปรียบเทียบของผู้บริโภค เช่นบางยี่ห้อ กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค = 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม ขณะที่อีกยี่ห้อกลับกำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 33 กรัม บางยี่ห้อก็กำหนดให้หนึ่งหน่วยบริโภค 2 ช้อนโต๊ะ = 25 กรัม พูดง่ายๆ คือไม่มีมาตรฐานกลางที่แน่นอน ผู้บริโภคจึงต้องลำบากคำนวณเปรียบเทียบกันเอง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดเรื่องหน่วยบริโภคให้เป็นหน่วยเดียวกัน   ปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสชนิดต่างๆ ที่มา: “กินดีสมดุล...การเสริมสร้างวิถีชีวิตสุขภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร. ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จากการสัมมนาเครือข่ายวิชาการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ จัดโดยสำนักควบคุมโรค 23 กุภาพันธ์ 2554

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 มีถั่วลิสงที่ไหน มีอะฟลาท็อกซินที่นั่น ?

ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ และใช้บริโภคได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบสด หรือนำไปประกอบอาหารอื่นๆ อีกทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีและราคาไม่แพง แต่ก็นั่นแหละ เวลาที่กระทรวงสาธารณสุขสำรวจอาหารทั่วประเทศทีไร ปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอๆ ก็คือ การปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซิน ที่มักตรวจพบในถั่วลิสงมากที่สุด โดยเฉพาะถั่วคั่วที่นำมาปรุงอาหารหลายชนิด อย่างก๋วยเตี๋ยวผัดไท ก๋วยเตี๋ยวต้มยำหรือส้มตำไทยที่คนนิยมกันทุกหัวระแหงนั่นแหละตัวดีเลย ตรวจเจอเป็นประจำ ผู้บริโภคจึงไม่ควรรับประทานให้บ่อยมากนัก ในส่วนของถั่วคั่วเราอาจพอคาดเดาได้ว่า มีสารอะฟลาท็อกซินอยู่มากและควรหลีกเลี่ยง แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเป็นตัวชูโรง อย่างถั่วลิสงอบเกลือ หรือถั่วลิสงเคลือบแป้ง ตลอดจนถั่วลิสงที่อบกรอบทั้งเปลือกที่บรรจุซองขายในลักษณะของอาหารว่างนั้น ก็เข้าข่ายต้องสงสัยเหมือนกันว่า มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่อการปนเปื้อนสารพิษอะฟลาท็อกซิน ตารางทดสอบถั่วลิสงอบเกลือ/ถั่วลิสงเคลือบแป้ง/ถั่วลิสงอบกรอบทั้งเปลือก ทดสอบที่สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดลส่งตัวอย่างวิเคราะห์เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551ผลการวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 94 พริกป่น…เสี่ยงอะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง

เกิดเป็นไทยกินอาหารอะไรก็ต้องให้แซ่บไว้ก่อน พริกเลยเป็นเครื่องเทศที่เกือบขาดไม่ได้ในอาหารไทย นอกจากเรื่องกินแล้ว พริกยังจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญระดับประเทศ เพราะสามารถนำไปพัฒนาในระดับอุตสาหกรรมได้อีกหลายอย่างนอกจากเรื่องอาหาร ได้แก่ ยา ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ยาฆ่าแมลง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ปลวก หนู ส่วนผสมของสายเคเบิล ผลิตภัณฑ์แก้ง่วง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ป้องกันตนเองในกลุ่มของผลิตภัณฑ์อาหารนอกจากน้ำพริก ซอสพริกแล้ว พริกแห้ง พริกป่น ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน ดูอย่างก๋วยเตี๋ยวถ้าสั่งใส่ถุงกลับบ้าน ทุกถุงก็จะได้รับพริกป่นในแบบซองเล็กๆ ใส่ให้ด้วย ถ้าเป็นแบบเดิมคนขายจะตักแยกใส่ถุงพลาสติกแบ่งครึ่งกับน้ำตาลทรายให้ลูกค้า แต่แบบซองเล็กๆ นี้ก็สะดวกมากขึ้นเพราะดูผนึกเรียบร้อยมิดชิดดี พริกป่นนั้นควรต้องเก็บในที่แห้งสนิท เพราะเชื้อราจะขึ้นได้ง่ายมาก และหากเกิดเชื้อราขึ้นแล้วเราก็จะได้รับสารพิษ “อะฟลาท็อกซิน” เป็นของแถม จากข้อมูลที่ผ่านมา พริกป่น จัดว่าเป็นอาหารที่เสี่ยงต่ออะฟลาท็อกซินไม่แพ้ถั่วลิสง ยิ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าพริกป่นจากต่างประเทศมากขึ้น ความเสี่ยงก็มีมากขึ้น เพราะผู้บริโภคจะขาดข้อมูลในเรื่องแหล่งผลิตสินค้า ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตพริกป่นนั้นมีการควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ฉลาดซื้อทดสอบเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเรื่อง อะฟลาท็อกซินในพริกป่น ฉลาดซื้อ ได้เก็บตัวอย่างพริกป่นที่บรรจุในซองสำเร็จรูปที่แถมกับอาหารตามสั่งหรือก๋วยเตี๋ยว ยี่ห้อยอดนิยมสองยี่ห้อได้แก่ ไร่ทิพย์และข้าวทอง พร้อมด้วยพริกป่นที่บรรจุซองขายในห้างสรรพสินค้าอีก 5 ยี่ห้อ ได้แก่ พริกขี้หนูป่นตรา เจเจ พริกขี้หนูป่นตราบางช้าง พริกขี้หนูป่น ตรามือที่ 1 พริกขี้หนูป่น ตรานักรบ และพริกขี้หนูป่น ตราศาลาแม่บ้าน และพริกขี้หนูแบบแบ่งขายในตลาดสดพระประแดงและตลาดสดดินแดง แล้วมอบให้ห้องทดสอบของสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ตรวจหาสารพิษอะฟลาท็อกซิน ผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินในพริกป่นเกือบทุกตัวอย่าง แต่ในปริมาณที่ไม่มากจนน่าห่วง พบน้อยกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม อีกอย่างพริกนั้นเรากินไม่มาก แค่พอชูรสให้อร่อย จากผลทดสอบจึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อการบริโภค แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะวันหนึ่งๆ เราก็กินอาหารอื่นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินด้วยเช่นเดียวกัน ให้ดีที่สุดก็คือ เลือกพริกแห้งมาคั่วทำพริกป่นกินเองจะดีที่สุด ส่วนแม่ค้าแม่ขายที่ซื้อพริกป่นจากตลาดสด ควรเลือก เจ้าที่เชื่อถือได้และมีการหมุนเวียนขายพริกได้ไว อย่างที่ตลาดพระประแดง ฉลาดซื้อไม่พบอะฟลาท็อกซินในตัวอย่างพริกป่นเลย เพราะของเขาขายดีมาก หมดไวมาก ขณะที่ตัวอย่างอื่นๆ พบอะฟลาท็อกซินกันอย่างละเล็กละน้อย  (ดูตาราง) ตารางผลทดสอบปริมาณอะฟลาท็อกซินในพริกป่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 86 พริกแกงเผ็ด แน่ใจ? ว่าไม่มีของแถม

พริกแกงเผ็ด เป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแกงเผ็ดต่างๆ ทอดมัน ห่อหมก ผัดพริกแกง ฯลฯ ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนเป็น กับข้าวยอดนิยม ที่ทุกคนต้องเคยรับประทาน แต่พริกแกงเผ็ดที่มาจากฝีมือโขลกเองกับมือ หาได้ยากเต็มที่ ส่วนใหญ่เรานิยมซื้อหาเอาจากตลาดใกล้บ้านหรือซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะราคาไม่แพงและไม่เสียแรงมากด้วย แต่…คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า พริกแกงฝีมือคนอื่นนั้นจะไม่มีของแถม “ไม่พึงประสงค์” ปะปนเข้ามาด้วย ฉลาดซื้อเลยส่งอาสาสมัครไปตลาดสด 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย ซื้อพริกแกงเผ็ดมาทดสอบหาของ “ไม่พึงประสงค์” 3 อย่าง ได้แก่  สารกันรา (ซาลิไซลิค แอซิด) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) และอะฟลาท็อกซิน สารพิษตัวร้ายที่มาจากเชื้อรา โชคดีที่พบว่า พริกแกงที่เราสุ่มตัวอย่างมา ไม่พบทั้งสารกันราและผงชูรส แต่มีอยู่ 2 เจ้า ที่พบ อะฟลาท็อกซิน แม้จะมีปริมาณไม่มากเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ แต่ก็ต้องขอเตือนให้ระวัง เพราะการสะสม อะฟลาท็อกซินไว้ในร่างกาย ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้าย อย่างมะเร็งตับได้เช่นกัน  พริกแกงเผ็ดพริกแกงอยู่กับสังคมไทยมานานหลายร้อยปี สืบสาวไปก็คงประมาณสมัยอยุธยา โดยมีพ่อค้าชาวตะวันตกหอบหิ้ว พริกเทศ เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ก่อนหน้านั้นเรามีพริกไทย เป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดร้อน ส่วนพริกที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้นั้น มีถิ่นกำเนิดแท้จริงอยู่ที่ทวีปอเมริกาใต้ แต่เราก็รับพริกเทศเข้ามาปรับแปลงเป็นอาหารไทย จนถึงชนิดที่ขาดไม่ได้กันไปเสียแล้ว สุดท้ายจึงเหลือเพียงคำว่า “พริก” เท่านั้นอาหารไทยขาดพริกไม่ได้ ทุกวันนี้ปริมาณการผลิตพริกในประเทศก็ไม่เพียงพอต้องนำเข้าจากอินโดนีเซีย พม่าและจีน ปีละมากๆ สถิติการส่งออกและการนำเข้าของกรมศุลกากรปี 2549 พบว่า การส่งออกพริกมีทั้งรูปผลสด ซอสพริก พริกแห้ง เครื่องแกงสำเร็จรูป และพริกป่น เป็นปริมาณรวม 34,653 ตัน มูลค่า 2,139 ล้านบาท สถิติส่งออกเป็นมูลค่ามาก 3 ลำดับแรก คือ พริกแกง (1,082 ล้านบาท) ซอสพริก (866 ล้านบาท) และพริกสดหรือแช่เย็น (86 ล้านบาท) แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ต้องนำเข้าพริกเป็นมูลค่าสูงถึง 693 ล้านบาทด้วยเช่นกันแกงไทยทุกชนิดใส่พริก ในน้ำพริกและเครื่องจิ้มต่างๆ ก็ใส่พริก ซึ่งไม่เพียงพริกสดเท่านั้น เรายังนิยมพริกแห้งด้วยเช่นกัน กินก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่พริกป่นนี่ หมดอร่อยกันทีเดียว แกงเผ็ด ก็เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม แน่นอนว่า ส่วนประกอบสำคัญคือ พริกแกงเผ็ด ซึ่งมีสูตรที่ไม่ยาก ตำกินเองได้ง่าย (ส่วนประกอบพริกแกงเผ็ด ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม ตะไคร้ ข่า กะปิ เกลือและผิวมะกรูด) แต่ด้วยสภาพการใช้ชีวิตปัจจุบันที่เร่งรีบไปทุกอย่าง ทำให้มีคนหัวใสทำพริกแกงสำเร็จรูปมาวางขายในตลาดจนกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้งาม ทุกตลาด ทุกรถเร่ขายกับข้าว ต้องมีพริกแกงสำเร็จขาย  ผู้บริโภคอย่างเราก็แค่ซื้อมาทำกับข้าวเท่านั้น ช่างสะดวกสบายจริงๆ     แต่ความสะดวก อาจทำให้เสี่ยงอันตราย เพราะไม่ใช่ผู้ผลิตทุกคนจะรับผิดชอบกับผู้บริโภค “ผมเห็นกับตาว่าเขาเทพริกจากกระสอบใส่ลงในเครื่องบด ไม่มีล้างหรือคัดเอาที่เสียๆ ออกเลย” นั่นเป็นหนึ่งในหลายเสียงที่ผู้บริโภคบอกมากับฉลาดซื้อ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ฉลาดซื้อจึงเลือกสุ่มตัวอย่างพริกแกงเผ็ดจากตลาดสดที่มีประชาชนไปจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก 5 แห่ง ได้แก่ ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดมหานาค ตลาดบางกะปิ ตลาดเทเวศน์และตลาดคลองเตย เพื่อทดสอบดูว่าพริกแกงเผ็ดนั้นมีอะไรที่ไม่พึงประสงค์ซ่อนอยู่หรือเปล่า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่101 ชากับอะฟลาท็อกซิน

ทดสอบกองบรรณาธิการต้นชามีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Camellia Sinensis ชาวจีนโบราณกล่าวไว้ว่าชาเป็น 1 ใน 7 สิ่งสำคัญของชีวิต ตำนานที่คลาสสิกที่สุดของการกำเนิดชาคือเรื่องราวหม้อต้มน้ำของจักรพรรดิ เสินหนง (Shen Nung) ที่บังเอิญมีใบไม้หล่นลงไปทำให้น้ำในหม้อกลายเป็นสีน้ำตาลและมีกลิ่นหอมละมุน   ชาชิง (Cha Ching) หรือ ตำราชา ของ ลู่อวี่ ในสมัยราชวงศ์ถังทำให้เขากลายเป็นเทพแห่งชาของคนจีน และทำให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยความซับซ้อนในการเสพ ซึ่งเราอาจพบความพิถีพิถันและซับซ้อนนี้ได้ดีที่สุดในพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่น อังกฤษคือผู้ที่ทำให้ชาแพร่หลายไปทั่วโลก และชนชั้นสูงของอังกฤษยังใช้การดื่มชาเป็นเครื่องหมายแห่งรสนิยมอันเลอเลิศ ชากลายเป็นความจำเป็นของคนอังกฤษและอาณานิคม โดยเฉพาะในอเมริกา ชากลายเป็นต้นเหตุของสงครามประกาศอิสรภาพ เชื่อกันว่าชาเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่การปลูกชาเป็นอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นในปี 2480 ที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยบริษัท ใบชาตราภูเขา จำกัด ชานอกจากเป็นเครื่องดื่มระดับตำนาน เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าชา ทั้งชาดำและชาเขียวมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง การดื่มชาเป็นประจำช่วยลดการเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ ได้ เช่น มะเร็งในกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้เล็ก ปอด ผิวหนัง ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน และมะเร็งเต้านม ใบชาที่ได้มาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ชา (มาตรฐานเลขที่ มผช. 120/2549) โดยสรุปคือ - ลักษณะต้องเป็นชิ้นหรือเป็นผงแห้ง ไม่จับตัวเป็นก้อน- สี ต้องเป็นสีธรรมชาติของชา (ไม่มีการเจือสี)- กลิ่นต้องมีกลิ่นที่ดีตามธรรมชาติ ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ไม่มีสิ่งปลอมปน อย่างเส้นผม กรวด ดิน ทราย ฯลฯ - ความชื้นไม่เกินร้อยละ 8 โดยน้ำหนัก- ต้องไม่มีจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน (ต้องน้อยกว่า 1x104 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร) - ยีสต์ รา ต้องไม่พบในตัวอย่าง ใบชาที่ชื้นและมียีสต์ รา จะก่อให้เกิดสารพิษ อะฟลาท็อกซิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ในขณะที่เชื้อจุลินทรีย์ทั่วไปอาจจะถูกทำลายโดยน้ำร้อนที่ใช้ชงได้ แต่ถ้าราหรือยีสต์เหล่านี้สร้างสารพิษอะฟลาท็อกซินขึ้น น้ำร้อนที่ใช้ชงก็ไม่สามารถทำลายสารพิษได้ “ฉลาดซื้อ” สุ่มเก็บตัวอย่างใบชายี่ห้อดังที่มีวางจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้ง่ายมาทดสอบหาปริมาณของอะฟลาท็อกซิน ซึ่งพบว่า ไม่มีชายี่ห้อใดที่พบการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซิน นับว่าเป็นเรื่องดีที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีการผลิตที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามเมื่อซื้อมาบริโภคควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อกันไม่ให้เกิดความชื้น เพราะความชื้นอาจทำให้เชื้อยีสต์รา สร้างสารพิษอะฟลาท็อกซินขึ้นมาได้ในภายหลัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 94 อะฟลาท็อกซิน สารพิษที่อันตรายที่สุดในโลก

อะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา และเป็นสารพิษที่พบปนเปื้อนในอาหารมากที่สุดชนิดหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า อาหารอะไรก็ตามที่เกิดเชื้อราได้ ย่อมมีโอกาสปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินได้ แต่ส่วนใหญ่อาหารที่มักพบอะฟลาท็อกซิน ได้แก่ อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสง เช่น ถั่วลิสงดิบ ถั่วลิสงคั่วที่ใช้ปรุงอาหาร หรือถั่วลิสงเคลือบ ทั้งยังพบในถั่วชนิดอื่นๆ รวมถึงข้าวและข้าวโพดได้อีกด้วย  นอกจากนี้ยังพบในแป้งต่างๆ อย่างแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว แป้งท้าวสาลี แป้งมันสำปะหลัง  และบรรดาอาหารอบแห้งทั้งหลาย ได้แก่ พริกแห้ง พริกป่น พริกไทย งา ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กระเทียม หัวหอม ผัก ผลไม้อบแห้ง  เครื่องเทศต่างๆ หรือแม้แต่สมุนไพร ชา ชาสมุนไพร และกาแฟคั่วบด อะฟลาท็อกซิน ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากวิธีการปรุงอาหารด้วยความร้อนแบบธรรมดาๆ เช่น การทอด หุง นึ่ง ต้ม ไม่สามารถทำลายพิษอะฟลาท็อกซินให้หมดไปได้ เพราะอะฟลาท็อกซินทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส ระดับความเป็นพิษของอะฟลาท็อกซิน องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง ปริมาณของอะฟลาท็อกซินเพียง 1 ไมโครกรัม สามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในแบคทีเรีย และทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองได้เมื่อได้รับสารนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อะฟลาท็อกซินใกล้ชิดกับมนุษย์มากเพราะมีอยู่ในอาหารที่เราบริโภคประจำวัน แม้จะไม่ค่อยพบการเกิดพิษอย่างเฉียบพลัน เพราะปริมาณที่บริโภคเข้าไปในแต่ละครั้งมีไม่มาก แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงของการเกิดพิษสะสม ซึ่งหากร่างกายได้รับสารพิษนี้เป็นประจำ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งที่ทุกวันนี้ติดอันดับคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดโรคหนึ่ง (ปัจจุบันคนไทยทุกๆ 100,000 คน จะเสียชีวิตเพราะมะเร็งในตับ 51.7 คน) ดังนั้นผู้บริโภคควรให้ความสนใจและตระหนักถึงพิษภัยของอะฟลาท็อกซิน เพื่อจะได้หาทางป้องกันและหลีกเลี่ยง มิให้เกิดเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ชนิดของอะฟลาท็อกซินอะฟลาท็อกซิน เป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ในอาหาร ทั้งที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปและที่แปรรูปแล้ว ตามธรรมชาติ อะฟลาท็อกซินจะมีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่ อะฟลาท็อกซินชนิด B1  B2 G1 และ G2  โดยอะฟลาท็อกซิน B1 เป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด (อะฟลาท็อกซิน B1 เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในตับสัตว์ทดลองหลายชนิดอย่างชัดเจนจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้เช่นกัน)ฉลาดซื้อแนะวิธีเลี่ยงพิษอะฟลาท็อกซิน1.อะฟลาท็อกซินเกิดจากเชื้อราในกลุ่ม แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ แอสเปอร์จิลลัส พาราซิติกัส (Aspergillus parasiticus) ซึ่งเชื้อราเหล่านี้จะเจริญได้ดีในอาหารที่มีความชื้นมากๆ ผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นเชื้อรานี้ได้ด้วยตาเปล่า เพราะจะมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวเข้ม ดังนั้นเมื่อพบว่าถั่วหรืออาหารที่มีราสีเขียวอมเหลือง ก็ให้ทิ้งไปทั้งหมดอย่านำมาปรุงอาหารเด็ดขาด กรณีที่พบว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่งคือ ผู้บริโภคมักคิดว่า การปาดเอาส่วนที่เป็นเชื้อราออกไปจากอาหาร จะสามารถบริโภคส่วนที่ดูด้วยตาเปล่าว่ายังมีสภาพดีอยู่ได้ นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะสารพิษที่เชื้อราได้สร้างขึ้นได้กระจายไปในส่วนอื่นของอาหารแล้ว การนำมาบริโภคจึงเป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกายโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยแท้2. อาหารที่มีแนวโน้มเกิดเชื้อราได้ อย่าง พริกแห้ง กระเทียม เครื่องเทศต่างๆ ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้ในปริมาณมาก ควรซื้อเท่าที่จำเป็นต้องใช้ และการเก็บรักษาต้องเก็บในที่แห้งสนิทไม่เกิดความชื้นจนทำให้เชื้อรามีโอกาสเจริญเติบโต จนก่อสารพิษที่จะมาทำร้ายสุขภาพ  ไม่เพียงแต่อาหารแห้ง แม้แต่ผักหรือผลไม้ ก็เช่นกัน ควรซื้อในปริมาณน้อย เลือกให้มีความสุกดิบคละกัน เพื่อจะได้รับประทานผลไม้ที่สดทุกวัน หากเลือกซื้อที่สุกทั้งหมด อาจรับประทานไม่ทัน ผลไม้ที่เหลือจะขึ้นราได้ 3.หลีกเลี่ยงถั่วลิสงคั่วที่ดูเก่าหรือมีความชื้นหรือมีกลิ่นหืน เพราะมีโอกาสที่จะพบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้สูงมาก เป็นไปได้ก็ไม่ควรรับประทานให้บ่อยหรือรับประทานในปริมาณมาก 4.อาหารที่เกิดเชื้อราได้ง่าย ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ หีบห่อมิดชิด และควรสดใหม่ ไม่เป็นสินค้าที่เก็บค้างไว้นานหลายเดือน อย่าซื้ออาหารที่มีกลิ่นอับหรือกลิ่นหืน ซึ่งแสดงถึงความเก่าเก็บหรือการเก็บรักษาที่ไม่ดี 5. หากสงสัยว่าอาหารจะมีราขึ้น ให้ทิ้งอาหารนั้นเสียทั้งหมด อย่าทิ้งเฉพาะส่วน นอกจากนี้กระดาษหรือกล่องที่สัมผัสกับอาหารที่ขึ้นราให้ทิ้งไปด้วย เพื่อป้องกันการนำเชื้อราไปปนเปื้อนอาหารอื่น 6. อุปกรณ์เครื่องครัว รวมทั้งเขียงที่ใช้ควรล้างให้สะอาด ในระหว่างเตรียมอาหารควรซับให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้มีราขึ้นพึงระลึกไว้เสมอว่าสภาพแวดล้อมในบ้านเรา เป็นแบบร้อนชื้นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์และเชื้อรา จึงต้องใส่ใจและระวังเรื่องการเก็บรักษาอาหาร ตลอดจนเครื่องครัวต่างๆ ให้พ้นจากความชื้นเพื่อป้องกันสารพิษที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเข้ามาปนเปื้อนในอาหารที่เรารับประทาน ส่วนอาหารที่ขายตามตลาดทั่วไป ก็หมั่นตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดไว้ว่า ต้องมีอะฟลาท็อกซินอยู่ในอาหารไม่เกิน 20 พีพีบี (20 ไมโครกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม) -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- •    อะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) เป็นสารพิษอันเกิดจากเชื้อรา (mycotoxins) คำว่า aflatoxin มาจากคำ 3 คำรวมกัน โดยมาจากชื่อของเชื้อราตัวที่สร้างสารพิษคือ แอสเปอร์จิลลัส ฟลาวัส (Aspergillus flavus) และ คำว่า toxin ที่แปลว่าสารพิษหรือเป็นพิษ•    สารพิษอะฟลาท็อกซินค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2503 โดยได้เกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นกับไก่งวงในประเทศอังกฤษ ทำให้ไก่งวงที่เลี้ยงไว้จำนวนประมาณ 100,000 ตัว ล้มตาย ไปภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ ภายหลังจากการศึกษาสาเหตุโดย สถาบันผลิตผลเมืองร้อน (Tropical Products Institute) ของประเทศอังกฤษ (ปัจจุบันคือ Tropical Development and Research Institute) พบว่าสาเหตุการล้มตายของไก่งวงเป็นจำนวนมากนั้นเกิดจากความเป็นพิษของอาหารผสมที่มีถั่วลิสงปน เมื่อได้ตรวจพบแน่ชัดแล้วว่าถั่วลิสงเป็นที่อาศัยของเชื้อราที่ทำให้เกิดพิษนี้ขึ้น จึงได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างถั่วลิสงจากประเทศต่างๆ ที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศอังกฤษ ผลปรากฏว่า พบสารพิษนี้จำนวนหนึ่งจากแหล่งใหญ่ๆ ทุกแห่งที่ปลูกถั่วลิสง  --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point