ฉบับที่ 267 กระแสต่างแดน

ปรับปรุงมารยาท          หนึ่งในเรื่องร้องเรียนบริการแท็กซี่กรุงโซลอันดับต้นๆ คือ มารยาทของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดจาไม่ดีกับผู้โดยสาร เพื่อสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริการขนส่งสาธารณะ เทศบาลกรุงโซลจึงออกระเบียบที่เข้มขึ้น ก่อนหน้านี้ค่าปรับอยู่ที่ 100,000 วอน (2,700 บาท) แต่ระเบียบใหม่เพิ่มค่าปรับเป็น 200,000 วอน และเพิ่มโทษให้ “หยุดขับ” เป็นเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงอาจยกเลิกใบอนุญาตขับแท็กซีด้วย คนขับแท็กซีบุคคลยังต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และถูกตัดเงินช่วยเหลือรายเดือนจากเทศบาล (2,500 วอน หรือ 65 บาท) เป็นเวลาหกเดือน ส่วนคนขับที่สังกัดบริษัทจะถูกตัดเงินช่วยเหลือ (5,000 วอน) เป็นเวลา 2 เดือน หากถูกร้องเรียนเข้ามา 10 ครั้ง ผู้โดยสารก็มีโอกาสถูกปรับเช่นกัน ระเบียบที่เริ่มใช้เมื่อแปดปีที่แล้วกำหนดให้ผู้โดยสารที่อาเจียนในรถแท็กซีต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 วอน เช่นกัน งดจ่ายยา         ข่าวครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตนิวไทเปให้ยากล่อมประสาทกับเด็ก จนเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง นำไปสู่การรวมตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหน้าศาลากลางเมืองไทเป เพื่อเรียกร้องให้รัฐดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น สารที่ตรวจพบในเลือดของเด็กคือฟีโนบาร์บิทัล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักใช้ในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล คาดว่าเด็กน่าจะได้รับยาดังกล่าวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ส่งผลให้สังคมไต้หวันออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมถึง “บุลลี่” โรงเรียนและคุณครูอนุบาลอย่างหนัก และเกินเลยไปจากโรงเรียนและครูที่เป็นข่าว สหภาพโรงเรียนอนุบาลจึงออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกยกเลิกรับภาระดูแล “ให้ยา” กับนักเรียนที่ป่วย โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้านเอง รถไฟเชื่อมสัมพันธ์         ประชาชนและผู้อยู่อาศัยถาวรในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีอายุระหว่าง 18 – 27 ปี สามารถลงทะเบียนขอรับ “ตั๋วรถไฟฟรี” เพื่อใช้เดินทางเป็นเวลา 7 วันโดยไม่กำหนดจำนวนเที่ยว ตั๋วดังกล่าวมีทั้งหมด 60,000 ใบ (แจกในเยอรมนี 30,000 ใบให้ไปขึ้นรถไฟเที่ยวในฝรั่งเศส และแจกในฝรั่งเศส 30,000 ใบเพื่อให้นำไปใช้เดินทางในเยอรมนี) ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเขาจะส่งตั๋วในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมล โครงการดังกล่าวเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก และยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มากขึ้นด้วย เงื่อนไขการใช้ตั๋วก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ไปได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกขบวน ไม่เว้นแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เพียงแต่ถ้าขึ้นขบวนที่มี “ค่าธรรมเนียมการจอง” ก็ต้องจ่ายเอง   ไม่ง่ายตลอด          คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ฟ้องบริษัท Amazon ต่อศาลเมืองซีแอตเทิล ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัท “หลอก” ให้ผู้บริโภคต่ออายุบริการ Amazon Prime โดยไม่ได้ให้ความยินยอม (เพราะไม่รู้ตัว) และยังออกแบบระบบให้การขอยกเลิกบริการเป็นเรื่องยาก FTC ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนกว่าจะยกเลิกได้(หากใช้คอมพิวเตอร์) และ 6 ขั้นตอน (หากทำผ่านมือถือ) ทั้งนี้ FTC ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคตด้วย บริษัทให้ข้อมูลว่าเขาตั้งใจออกแบบให้ทั้งการสมัคร ต่ออายุ และการยกเลิกบริการเป็นเรื่องง่ายเพื่อเอาใจสมาชิก และบอกว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง Amazon Prime เป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และมีรายได้ต่อปี 25,000 ล้านเหรียญ ค่าเสียหายหนักมาก        นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนชาวอิตาลีสองคนจากองค์กร Last Generation ถูกศาลวาติกันสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 28,000 ยูโร (หนึ่งล้านกว่าบาท) หลังไปประท้วงชูป้าย “ไม่เอาก๊าซ ไม่เอาถ่านหิน” ใต้ประติมากรรมหินอ่อนโบราณ “เลโอคูนและลูกชาย” ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีค่าปรับ 1,620 ยูโร (62,400 บาท) และโทษจำคุกรอลงอาญาอีกเก้าเดือน พวกเขาบอกว่าโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้แตะต้องตัวรูปปั้นเลย แค่พยายามใช้กาวเพียงเล็กน้อยติดเข้ากับฐานของรูปปั้นเท่านั้น และการกระทำของพวกเขาก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพระสันตปาปาฟรานซิสที่ต้องการให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปปั้นดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์วาติกัน เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประติมากรรมเดวิด และวีนัส  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ผลสำรวจค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาล

ปิติ วาสนาดำรงดี ผลสำรวจค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาล“สมัยนี้ ค่าธรรมเนียมโรงเรียนอนุบาลเอกชนที่ไหนๆ ก็แพงกันทั้งนั้น แล้วฉันจะส่งลูกเข้าเรียนที่ไหนดีล่ะ“ นี่เป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย เมื่อพบว่าบุตรหลานของพวกเขาอายุครบ 3 ขวบแล้ว ถึงเกณฑ์ที่จะส่งเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1 ค่าธรรมเนียมแพงจริงไหม และมีที่มาจากค่าอะไรบ้าง เราควรเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวและให้เหมาะสมกับลูกรัก แล้วรัฐบาลได้เข้ามาอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาอย่างไรเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง เรามาติดตามกัน แบ่งประเภทโรงเรียนอนุบาลตามสังกัด โรงเรียนอนุบาลในบทความนี้ คือโรงเรียนที่เปิดสอนชั้นระดับอนุบาล1 ขึ้นไป ซึ่งมีหลายระดับตั้งแต่เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนระดับอนุบาลอย่างเดียว หรือเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล 1 ขึ้นไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอนุบาลขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มเอกชน แบ่งออกเป็นโรงเรียนในเครือคาทอลิก โรงเรียนเอกชนทั่วไป และโรงเรียนนานาชาติ ทุกแห่งสังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 2.กลุ่มโรงเรียนรัฐบาล โดยหลักแล้วแบ่งย่อยออกเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษาของกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย   ต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่กับค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรก จะหมายถึงค่าเล่าเรียนรวมค่าแรกเข้า ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในวันที่ผู้ปกครองจะต้องชำระในวันมอบตัวต่อโรงเรียน (สำหรับโรงเรียนใดมีมากกว่า 2 เทอม ค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกจะเพิ่มขึ้นโดยการหารเฉลี่ยเพื่อคิดแบบ 2 เทอมต่อปี)   โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก 1.โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก ในกทม. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 22,000 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 6,500 -50,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก ในตจว. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 13,500 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 3,180 -36,880 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 แห่ง)ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนในเครือคาทอลิก แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 41% ค่าแรกเข้า 27% ค่าอาหาร 17%และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 15%   โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป1.โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป ในกทม. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 20,350 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 4,000 -57,800 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 64 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไป ในตจว. ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ย 8,040 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด ฟรี -79,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 85 แห่ง)ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนเอกชน แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 31% ค่าแรกเข้า 26% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 23%และค่าอาหาร 20% สำหรับสัดส่วนห้องเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนเอกชนอยู่ในช่วง 2-3 ห้อง มีนักเรียนประมาณ 20-30 คน และมีครู 2 คน (มีครู 1 คน พี่เลี้ยง 1 คน) โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ1.โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ในกทม. มีค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ ตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 247,300 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 64,000 – 759,200 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 24 แห่ง)2.โรงเรียนอนุบาลนานาชาติ ในตจว. มีค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 50,001-300,000 บาท มีค่าเฉลี่ยคือ 173,820 บาท โดยมีค่าธรรมเนียมต่ำสุด- สูงสุด จำนวน 41,000 – 430,000 บาท (สุ่มตัวอย่าง จำนวน 15 แห่ง จากทั้งหมด 30 แห่ง) ประมาณการสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนนานาชาติ แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน 40% ค่าแรกเข้า 38% ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 19%และค่าอาหาร 3%ส่วนโรงเรียนนานาชาติมีอยู่ในช่วง 1-2 ห้อง และมีนักเรียนอยู่ในช่วง 10-25 คน และมีครูในช่วง 2-3 คน (ครู 2 พี่เลี้ยง 1 คน) โรงเรียนอนุบาลของรัฐบาลโรงเรียนของรัฐบาลนั้นมีค่าธรรมเนียมการศึกษาฟรี รัฐอุดหนุน 100% ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ผู้ปกครองเสียแค่ ค่าอาหาร ค่าพี่เลี้ยงค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่านั้น ซึ่งรวมกันแล้วประมาณ 3,000 ต่อเทอม วิธีคิดค่าธรรมเนียมเทอมสองแบบคร่าวๆค่าธรรมเนียมเทอมสองนั้น มีวิธีคิดง่ายๆ คือ นำค่าธรรมเนียมการศึกษาแรกเข้า เทอม 1 หักค่าใช้จ่ายค่าแรกเข้า (โดยส่วนใหญ่แล้วค่าแรกเข้าคือส่วนต่างระหว่างค่าธรรมเนียมการศึกษาทางเทอม 1 กับเทอม 2) ตัวอย่างเช่น โรงเรียนอนุบาลในเครือคาทอลิก มีค่าธรรมเนียมเทอม 1 รวมค่าแรกเข้าเฉลี่ย เท่ากับ 22,000 บาท และมีสัดส่วนแรกเข้าเท่ากับ 27% หรือและเท่ากับ 5,940 บาท ดังนั้นโรงเรียนจะมีค่าใช้จ่ายเทอม 2 ประมาณ 16,060 บาท (สัดส่วนนี้เป็นการประมาณแบบคร่าวๆ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละสถาบัน) โครงสร้างค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกรวมค่าแรกเข้า โรงเรียนอนุบาลเอกชนทั่วไปในกทม.พิจารณาจากค่าธรรมเนียมรวมค่าแรกเข้าในเทอมแรก โดยใช้ค่าเทอมเฉลี่ยโรงเรียนอนุบาลเอกชนในกรุงเทพฯ จำนวน 64 แห่ง สุ่มตัวแทนจากทุกเขตรวมกัน มีค่าเฉลี่ยค่าธรรมเนียมการศึกษาเทอมแรกเท่ากับ 20,350 บาท และมีค่าธรรมเนียมเทอมสองหักค่าแรกเข้าร้อยละ 30 (พิจารณาจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายโรงเรียนเอกชน) จะเหลือค่าธรรมเนียมเทอม 2 จำนวน 14,245 บาท เมื่อรวมกับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจำนวน 5,896 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาแรกเข้าแท้จริง จำนวน 40,491 บาทต่อคนต่อปี ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ส่วนค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน(~40%) เป็นการเก็บค่าเรียนแบบคงที่ จำนวน 4,960 บาท 2.ส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นเงินอุดหนุนแบบคงที่(~60%) จำนวน 5,896 บาท แบ่งเป็น เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานจำนวน 1,700 บาทและเงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนักเรียน 1 คนจำนวน 4,196 บาท 3.เงินค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า,ค่าอาหาร,ค่าอุปกรณ์พิเศษ,ค่าเรียนพิเศษ,ค่าบำรุงการศึกษา ฯลฯ จากข้อมูลนี้พบว่า ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่โรงเรียนเรียกเก็บเพิ่มเติมมีมากสุด ร้อยละ 73 ค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน ร้อยละ 12 เงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนร.1 คน ร้อยละ 10 เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐานร้อยละ 4 ส่วนเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนจากรัฐบาลมีอัตราต่ำรวมกันมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น ขณะที่ค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติมจากโรงเรียนอยู่ในอัตราสูงร้อยละ 73 ถ้าโรงเรียนสามารถลดค่าธรรมเนียมอื่นๆ เพิ่มเติมหรือคงระดับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในปีต่อไป และให้ภาครัฐเข้ามาเพิ่มสัดส่วนเงินอุดหนุนให้มากขึ้นก็จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองในยามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ได้ เงินอุดหนุนของรัฐต่อโรงเรียนอนุบาลเอกชน ปัจจุบันโยบายของรัฐที่ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนอนุบาลเอกชน รายหัวนักเรียนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 จากยอดรายรับต่อหัวเฉลี่ยของโรงเรียน ซึ่งทางรัฐคำนวณแล้วว่ารายได้ต่อนักเรียน 1 คนเท่ากับ 10,856 บาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 1,700 บาท* เงินอุดหนุนเงินเดือนครูต่อนักเรียน 1 คน 4,196 บาท รวมเป็นเงินอุดหนุน 5,896 บาท โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียนอีก 4,960 บาท ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน คือ ค่าใช้จ่ายจริงสำหรับผู้เรียนทุกคนและค่าใช้จ่ายสำหรับสถานศึกษาเพื่อดำเนินงานจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนขอรับเงินอุดหนุนกว่าร้อยละ 90 จากโรงเรียนทั้งหมด ทั้งนี้โรงเรียนที่ขอรับเงินอุดหนุนจะต้องประกาศเฉพาะค่าเล่าเรียนไว้ตามที่รัฐบาลกำหนดเท่ากับจำนวน 4,960 บาท โรงเรียนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุน ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง ปัจจุบันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามส่งเสริมการจัดการศึกษา โดยการเพิ่มเงินอุดหนุนค่าเล่าเรียนให้ ร้อยละ 70 จากเดิม ร้อยละ 60 ช่วยลดภาระค่าเล่าเรียนของผู้ปกครองให้เหลือเพียงร้อยละ 30 และนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 5,000 บาทต่อปี หากทำได้จะทำให้สามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษาที่โรงเรียนเรียกเก็บจากนักเรียน ปีละ 4,960 บาท

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 96 เลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกรัก

ปิติ วาสนาดำรงดีกองบรรณาธิการ โรงเรียนอนุบาลในประเทศไทยมีจำนวนมากเหลือเกิน แล้วจะเลือกอย่างไรดี คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกในวัยที่ถึงเกณฑ์ต้องส่งลูกเข้าเรียนชั้นอนุบาลคงกลุ้มใจเหลือกำลัง ยิ่งเข้ายุคเศรษฐกิจไม่ดีด้วยแล้ว เหลือบไปเห็นค่าเทอมค่าธรรมเนียมที่แสนจะแพงเข้า ก็เล่นเอาหนาวไปเหมือนกัน แต่เพื่อให้ลูกรักได้สิ่งที่ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่ต้องพิถีพิถันกันหน่อย และก็ไม่ใช่ว่า ราคาแพงจะเป็นคำตอบสุดท้าย เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุดคือ ลูกได้รับการดูแลที่ดี โรงเรียนสามารถเตรียมความพร้อมให้ลูกได้มากพอจะไปรับมือหรือเรียนรู้กับสังคมได้ ที่สำคัญลูกต้องมีความสุขที่ได้ไปโรงเรียนด้วยมิใช่หรือ   ฉลาดซื้อแนะ หลักในการเลือกโรงเรียนอนุบาล1. เยี่ยมชมโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจเลือกโรงเรียนให้บุตรหลานของคุณจากเหตุผลเพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านหรือได้รับคำชักชวนจากเพื่อนบ้าน ถึงอย่างไรก็ดี สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นและมือคลำ เนื่องจากโรงเรียนที่คุณเลือกอาจไม่ได้ตรงตามสิ่งที่คุณต้องการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนด้วยตนเอง สิ่งต่างๆที่ควรสังเกต เรียงตามลำดับก่อน-หลัง ดังนี้การเดินทางเข้ามาโรงเรียน มีความสะดวกสบายและมีการจราจรเป็นอย่างไร มีป้ายบอกชื่อและทางเข้าโรงเรียนไหม สถานที่จอดรถสำหรับการรับส่งนักเรียนเป็นอย่างไร สภาพพื้นที่ภายนอกก่อนเข้ามาที่โรงเรียนว่ามีความปลอดภัยเพียงใดและวิธีการแลกบัตรเข้ามาโรงเรียน เป็นต้นห้องเรียน ควรไปชมการเรียนการสอนในห้อง ตรวจดูความสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในห้องเรียนว่ามีพอเพียงหรือไม่ อุปกรณ์ความปลอดภัยในห้องเรียน เช่น ถังดับเพลิง และสิ่งแวดล้อมภายนอกห้องเรียน ข้อควรคำนึงคือโปรดระมัดระวังการจัดฉากจากโรงเรียนระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายนอกห้องเรียน เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา ห้องน้ำ ตู้น้ำดื่ม ห้องพยาบาล โรงอาหาร สนามเด็กเล่น สนามกีฬา สระว่ายน้ำ สระว่ายน้ำ เป็นต้น พิจารณาว่ามีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และมีความสะอาด หรือไม่ อาหารและนม คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกไปเยี่ยมชมโรงเรียนช่วงก่อนรับประทานอาหารเที่ยงของนักเรียนสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เห็นการรับประทานอาหารของเด็กนักเรียน และพิจารณาว่าอาหารและนมของเด็กมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ 2. ขอดูนโยบายและแนวทางการเรียนการสอนโรงเรียนอนุบาลหลักๆ มี 2 แนว คือ แนวกระแสหลัก เน้นการเรียนรู้เชิงวิชาการ กับแนวทางเลือก เน้นการเตรียมความพร้อม และใช้นวัตกรรมการเรียนแบบใหม่ โรงเรียนอนุบาลกระแสหลักหรือแนววิชาการซึ่งโรงเรียนอนุบาลส่วนใหญ่จะเป็นแบบแนวนี้ เป็นรูปแบบจัดการเรียนการสอนแต่ดั้งเดิม ด้วยเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้เต็มที่ ดังนั้นควรเร่งสอนให้เด็กสามารถหัดอ่าน หัดเขียน หัดบวกลบเลขให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะสามารถเรียนรู้เพิ่มขีดความสามารถของสมองให้กว้างขึ้น ส่วนโรงเรียนอนุบาลทางเลือกหรือแนวเตรียมความพร้อม จะเน้นพัฒนาศักยภาพของเด็ก โดย นําเอาความต้องการของเด็ก ความสุขของเด็กเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กนั้นจะเริ่มที่ตัวเด็กเอง โดยผ่านกิจกรรมทั้งหลาย เช่น วาดรูป เล่นเกม ร้องเพลง เป็นต้น เพื่อพัฒนาแนวคิด สำหรับนวัตกรรมการสอนและทฤษฎีที่โรงเรียนทั้วไปยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ Reggio Emilia, Project Approach, Whole Language , จิตพิสัย เป็นต้น การศึกษาและสอบถามนโยบายและแนวทางการเรียนการสอนจากคุณครูหรือผู้บริหารจะทำให้เข้าใจแนวคิดของโรงเรียน และเป็นแนวทางปฏิบัติแก่ครูผู้สอน นอกจากนั้นควรสอบถามถึงรางวัลโรงเรียนดีเด่นหรือรางวัลชนะเลิศด้านต่างๆของโรงเรียน อัตราการเข้าเรียนโรงเรียนดัง รวมถึงถามคำถาม เกี่ยวกับอัตราสวนคุณครูกับจำนวนนักเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันที่นักเรียนแต่ละคนต้องทำ 3. ตรวจสอบครูผู้สอน ครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการอบรม สั่งสอน และปลูกฝังความคิด ทัศนะคติและความรู้ แก่เด็ก ดังนั้น คุณพ่อและคุณแม่ควรสัมภาษณ์ครูผู้สอน ประวัติการศึกษา ถ้าคุณครูจบมาทางด้านครุศาสตร์มาโดยตรงจะมีความได้เปรียบกว่าสายอื่นๆ เนื่องจากคุณครูจะสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้อย่างดี นอกจากนั้นลักษณะและบุคลิกของครูผู้สอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอย่างรอบคอบ 4.ตรวจสอบค่าใช้จ่ายต่างๆโรงรียนอนุบาลเอกชน โดยมากมักมีค่าธรรมเนียมการศึกษาต่ำ แต่จะมีค่าแรกเข้าสูง หรือหลายๆครั้งโรงเรียนจะเลี่ยงการเก็บค่าแรกเข้าที่สูง โดยเก็บเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอุปกรณ์,ค่ากิจกรรมพิเศษ,ค่าคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ทั้งหมดที่เกี่ยวกับค่าเทอมแรกเข้า ค่าเทอมสองและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดปีการศึกษาด้วย และถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองต้องออกเพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าเสื้อผ้า,ค่าหนังสือ,ค่ารถโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่จะไม่นำมาคำนวณในค่าเทอมแรกเข้า และควรคำนวณให้เพียงพอต่อรายได้ของครอบครัว คำแนะนำเพิ่มเติมกรณีโรงเรียนเอกชนตรวจสอบรายได้ของผู้ปกครอง โดยใช้เกณฑ์ 10% จากรายได้ครัวเรือน รายได้ของครอบครัว(คุณพ่อและคุณแม่)ที่เหมาะสมคือเดือนละ 30,000 บาท ขึ้นไป สามารถส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนได้ เนื่องจากสามารถรับค่าเล่าเรียนเอกชนตกเดือนละประมาณ 3,000 บาทได้ (ค่าธรรมเนียมการศึกษาเฉลี่ยต่อปีประมาณ 40,000 บาทขึ้นไป) หรือร้อยละ 10 ของรายได้ ซึ่งพิจารณาจากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2549 พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 17,787 บาท รายได้จำนวน100%แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 32% ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 22% ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะ และการเดินทาง 18% การสื่อสาร 4% ค่ารักษาพยาบาล 2% ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา 2% และมีเงินออม 20% ดังนั้นเมื่อนำเงินออม 8% หรือลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ 8% เพราะควรเหลือเงินออมขั้นต่ำร้อยละ 10 ของรายได้ จะสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านการศึกษาและส่งบุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนได้ ทั้งนี้หนี้สินเพื่อการศึกษาซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพื่อการศึกษาของตนเองในอัตราร้อยละ 2 นั้นยังค่อนข้างต่ำเพราะหนี้สินเพื่อการศึกษาถือว่าเป็นการลงทุนประการหนึ่ง ที่เพิ่มศักยภาพของการหารายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต สำหรับโรงเรียนนานาชาตินั้น รายได้ครอบครัวควรมีรายได้เดือนละประมาณ 400,000 บาท เป็นต้นไป เนื่องจากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยตกปีละ 500,000 บาทหรือเดือนละ 41,666 บาท คิดในอัตราส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น คุณแม่เลือกอย่างไรคุณปวีณา ตั้งจิตรพร ผู้ปกครองส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลคาทอลิก ต่างจังหวัด เป็นผู้ปกครองท่านหนึ่งที่มีรายได้เพียงพอและมีความเห็นว่าโรงเรียนอนุบาลเอกชนมีค่าธรรมเนียมการศึกษาไม่แพงนัก เหมาะสมกับคุณภาพการเรียนการสอนที่โรงเรียนจัดให้ แสดงความเห็นดังนี้ “ที่เลือกส่งลูกเรียนเพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้านและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีการเรียนการสอนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาพื้นฐานทั่วไปหรือด้านภาษา โดยโรงเรียนให้ความสำคัญกับการเรียนด้านภาษามาก นอกจากนั้นทางโรงเรียนได้จัดการเรียนพิเศษภาคฤดูร้อน(summer) โดยคลอบคลุมทักษะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา,ดนตรี,ศิลปะและคอมพิวเตอร์ ที่ผ่านมาถือว่าโรงเรียนได้มีคุณภาพการสอนดี สังคมและสิ่งแวดล้อมที่นี่ก็ดี กิจกรรมที่โรงเรียนจัดทุกปีคือ เช่น งานกีฬาสี กิจกรรมผู้ปกครองก็มีเช่น กิจกรรมของสมาคมผู้ปกครอง อยากให้ลูกเรียนที่นี่จนถึง ป 6. แล้วจึงให้ลูกเรียนต่อในโรงเรียนของรัฐชื่อดัง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่า ลูกสอบได้ที่ไหนก็ให้เข้าเรียนที่นั่น สำหรับค่าเทอมถือว่าไม่แพงนัก ค่าเทอมปกติประมาณเทอมละ 20,000 บาท แต่ผู้ปกครองที่จะส่งลูกเข้าเรียนที่นี่ควรมีฐานะปานกลางขึ้นไป จะได้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นตามมา” ในขณะที่ผู้ปกครองที่ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลรัฐบาล (สพฐ.).ในต่างจังหวัด คุณสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว กล่าวว่า “ที่เลือกส่งลูกเรียนที่นี่เพราะโรงเรียนอยู่ใกล้บ้าน มีญาติเป็นครูในโรงเรียน อีกทั้งตนเองยังเป็นศิษย์เก่าที่เคยเรียนมา โรงเรียนเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป6.เชื่อมั่นในคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนนี้ เพราะสามารถปั้นให้เป็นคนเก่งได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของเด็กเองด้วย ที่ผ่านมาเห็นว่าคุณครูมีความเอาใจใส่ต่อเด็กทุกคน มีความเข้าใจเด็ก และจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างดี อัตราครูต่อนักเรียนของโรงเรียนไม่น้อยเกินไป มีความเหมาะสม อีกทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษาฟรี จ่ายเพียงค่าเสื้อผ้า 500 บาทเท่านั้น”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point