ฉบับที่ 210 “เรื่องของเด็ก ที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี เล่าว่าสาเหตุที่เลือกเรียนด้านกุมารเวชศาสตร์นั้น เพราะมองว่าปัญหาสุขภาพเด็ก นอกจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพแล้ว หากมองลึกลงไป ยังมีเรื่องนโยบายอยู่เบื้องหลังด้วย เช่น ปัญหาทารกน้ำหนักตัวน้อย สาเหตุหนึ่งมาจากการที่มารดาได้รับโภชนาการที่ไม่ดี และหากวิเคราะห์กันให้ลึกลงไปถึงสาเหตุว่าทำไมมารดาจึงไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ สาเหตุที่แท้จริงก็มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม  จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารที่มีประโยชน์ ทุกสิ่งเป็นเหตุและผล จากวันนั้นมาจนวันนี้ เรื่องราวของเด็กน้อย จึงไม่ใช่เรื่องของเด็กอีกต่อไปเพราะ มันส่งผลถึงอนาคตของประเทศด้วย อาจารย์อดิศักดิ์ เล่าภาพรวมปัญหาเด็กกับการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราว่า ในศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กนี้ ทำ 5 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1) อุบัติเหตุ แบ่งเป็นเรื่องย่อยอีก เช่น จมน้ำ จราจรทางถนน  ความร้อน ฯลฯ 2) ความรุนแรง การทำร้ายเด็ก 3) มลพิษ มลพิษจากทางดิน ทางน้ำ ทางอากาศ จากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 4) ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ 5) ภัยจากข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์ อยู่ในกลุ่มการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งภัยจากข้าวของเครื่องใช้ถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มงานที่เราทำที่นี่ เน้นที่เป็น ข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ของเล่นเด็ก ซึ่งมีหลายตัว โดย “ของเล่น” เรามีทำวิจัยไปหลายชนิด ทำตั้งแต่ทางด้านกายภาพ ด้านเคมี โดยการไปตรวจสอบ(ทดสอบ) ของเล่นแล้วดูว่ามีอันตรายไหม เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือเปล่า เพราะมาตรฐานอุตสาหกรรมของเล่นนี้เป็นมาตรฐานบังคับ เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เราเริ่มจับประเด็นนี้ เราพบว่า ของเล่นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนสูงทีเดียวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และทางด้านกายภาพก็อาจจะมีอันตราย เช่น มีความแหลมคม มีช่องรูที่อาจจะไม่เหมาะสม ด้านเคมีก็ตรวจพบเจอสารตะกั่วในค่าที่สูงมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องมีการแถลงข่าว มีการประชุมร่วมกันของเครือข่าย ทั้งด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทาง สคบ. กระทรวงอุตสาหกรรม มอก. ทั้งหลาย รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนของภาครัฐ สมัยก่อน การแถลงข่าวก็ยังมีความเกรงใจกันว่าจะแถลงข่าวอย่างไรเกรงใจผู้ผลิตอาจจะไปโดนผู้ผลิตหลายรายเช่นกัน ไม่รู้ที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ไม่รู้ว่ามีการผ่าน มอก. แล้ว แต่มาเปลี่ยนวัตถุดิบทีหลัง ทำให้มาเปลี่ยนโครงสร้างทีหลังแต่ไปยึดเอา มอก. เดิมมาใช้ ทำให้มันผิดไปจากมาตรฐานการส่งตรวจตั้งแต่แรก หรือว่าเป็นเพราะมีการนำเข้าของที่มันไม่อยู่ในการตรวจตั้งแต่แรก โดยที่ตอนแรกนำเข้ามาแบบหนึ่ง ตอนหลังเป็นการนำเข้าแบบอื่นๆ โดยใช้การตรวจผ่านในกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มพลาสติกทั่วไป แต่แบบของเล่นเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งที่ตัวเองได้ผ่านในกลุ่มพลาสติกทั่วไปในของเล่นลักษณะหนึ่ง  แต่ผลิตในรุ่นหลังๆ เปลี่ยนลักษณะไปหมด แต่ยังเอาตัว มอก. เดิมมาปะบนฉลากเลย หรือบางบริษัทไม่มีเลยตั้งแต่แรก ไม่เคยมาขออนุญาตเลยทำให้ไม่รู้ที่มาที่ไป สุดท้ายในคราวนั้นมีการนำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือท่านไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งท่านมีการแถลงเอง โดยท่านยกของเล่นทั้งหมดที่เราตรวจสอบมาแถลง นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการทำวิจัยเรื่องของเล่นกัน ผลการแถลงครั้งนั้นต่อมา “ของเล่น” ก็มีการปรับปรุง มีการไปตรวจสอบตลาดซ้ำ ก็มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น   แสดงว่ามาตรฐานของเล่นดีขึ้นแล้วตอนนี้             ก็ดีขึ้น แต่ “ของเล่น” ก็มีปัญหาอีกหลายเรื่อง อย่างตอนเจอของเล่นแปลกๆ ทีมก็ลองไปเช็คดู เช่น ปืนอัดลมที่มีกระสุนเม็ดพลาสติกเม็ดสีเหลืองๆ กลมๆ เล็กๆ กระบอกละ 50 - 60 บาท ปรากฏว่า ความเร็ว (ของกระสุนที่ยิงออกไป) ก็เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด แต่พอได้ตรวจสอบเข้าจริง พวกนี้จะไม่ใช่ของเล่นแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมถือว่า ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นสิ่งเทียมอาวุธ แล้วในกลุ่มนี้มีอะไรอีกบ้าง ปรากฎว่า ปืนฉีดน้ำก็ไม่ใช่ของเล่นนะ ปืนอัดลมก็ไม่ใช่ของเล่น ตัวดูดขยายก็ไม่ใช่ของเล่น พวกของเล่นเชิงวิทยาศาสตร์ใส่น้ำยาเคมีลงไปเกิดฟองฟู่ขึ้นมาคล้ายเป็นภูเขาไฟ ถ้าอันนี้ถือเป็นของเล่นเพื่อการศึกษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับ “ของเล่น” ตามนิยามกฎหมาย แต่เป็นอุปกรณ์การศึกษา บางทีผู้ผลิต “ของเล่น” ก็อาจไปให้นิยามตัวเองว่า เป็นของประดับ เช่น ตุ๊กตาบางอย่าง ไปลงฉลากว่า เป็นของฝากของประดับแล้วก็หลบหลีกจากนิยามของเล่นกันหมด ดังนั้นจึงพบว่าของเล่นอีกหลายประเภทก็ใช้วิธีการนิยามว่า ไม่ใช่ของเล่น แต่เวลาไปวางขายกลับไปอยู่ในชั้นของเล่นวางขายเต็มไปหมด เครื่องบินที่บอกตั้งโชว์ ก็ไปวางไว้ในชั้นของเล่น และพวกนี้ก็มีอันตรายไม่ได้ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ทีมวิจัยจึงเกิดอีกบทบาทหนึ่งขึ้น คือทำงานร่วมกับ สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ทำในเรื่องของสินค้าที่ไม่เข้ากับกฎหมายใด (ไม่มีหน่วยงานเฉพาะเจาะจง) สินค้าแบบนี้เป็นหน้าที่ของ สคบ.ที่จะไปจัดการทั้งหมด เช่น มีประกาศของเล่นตัวยืดขยาย ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ที่เป็นน้ำยาเคมีที่เป่า ปืนฉีดน้ำที่เป็นท่อกระบอกพีวีซี เหล่านี้ ก็เป็นของที่หลุดมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม หลุดจากนิยามของเล่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วมาถูกจัดการด้วยประกาศสินค้าที่เป็นอันตรายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาต่อมา   ทางศูนย์วิจัยยังทำเรื่องกระเป๋านักเรียนอยู่ไหมคะ           กระเป๋านักเรียนเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลย เพราะว่าเราเห็นเด็กๆ แบกกันอุตลุด ตอนก่อนโน้นก็ไปดูมาตรฐานการแบกของ แม้แต่ของผู้ใหญ่เองในการประกอบอาชีพ ก็จะมีมาตรฐานกำหนดอยู่ ในของเด็กเองเมื่อมาเทียบเคียงแล้วก็มีในหลายประเทศที่เขาห้ามการแบกของหนัก ซึ่งในบ้านเราตอนนั้นทีมไปวิจัยกันมา มีการแบกกันหนักมาก จากค่ามาตรฐานของหลายประเทศจะยึดถือที่ค่าอยู่ระหว่าง 10 – 20 % ของน้ำหนักตัว เรายึดค่ากลาง คือที่ประมาณ 15% ของน้ำหนักตัว จะให้ดีต้องต่ำกว่า 10% รุนแรง/ร้ายแรงถ้าเกิน 20% เราก็ไปยึดที่ค่า 15% ของน้ำหนักตัว พอลองไปชั่งน้ำหนักกระเป๋าบวกถุงศิลปะบวกปิ่นโตอาหารของเด็กที่แบกมา โรงเรียน พบว่า ถ้าเป็นเด็ก ป.2 นะ ป.1 ยังไม่เท่าไหร่ ป.5 – ป.6 ก็ยังไม่เท่าไหร่ หนักสุดก็พวก ป.2, ป.3, ป.4 พวกนี้เป้จะมีน้ำหนักมาก มากกว่าครึ่งหนึ่งที่แบกของเกินกว่าร้อยละ 15 ของน้ำหนักตัว       ตอนนั้นมีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนะ มหาวิทยาลัยหอการค้าด้วย ก็ไปทำการวิจัยกันต่ออีก ต่างคนต่างทำแต่ก็เอาข้อมูลมาดูๆ กัน แลกเปลี่ยนกัน ก็จะเจอปัญหาคล้ายๆ กันทั้งหมดว่า แบกเกิน ประกอบกับทางวิศวกรรมจุฬา สาขาวิศวกรรมอุตสาหการก็มีความสนใจในเรื่องนี้ด้วย อ.ไพโรจน์ ก็ส่งนักศึกษามาทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็ก รวมกับอีกหลายชิ้นงานที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแบกกระเป๋าแล้วทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด ต่อมาค่าแรงที่เด็กทนได้(การรับน้ำหนัก) ต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงข้อแนะนำ เช่น ร้อยละของน้ำหนักตัวจะไม่เหมาะสมในกรณี เด็กมีน้ำหนักมาก คำนวณไปแล้วมีโอกาสแบกกระเป๋าได้เยอะมาก มันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น วัดจากค่าแรงแล้วมีการปรับเปลี่ยน ยึดเอาอายุ อายุก็ไปแปลงเป็นชั้นปี เช่น ป.1 ป.2 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง ป.3 ป.4 fix ที่น้ำหนักค่าหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เกิดเป็นคำแนะนำขึ้นมา เกิดการผลักดันมาตรการการเฝ้าระวังของโรงเรียนขึ้น เช่น คุณครูชั่งน้ำหนักกระเป๋าของเด็กอย่างสม่ำเสมอ มี record บันทึกไว้ และมีมาตรการการลดน้ำหนักของเป้หรือกระเป๋า โดยของใช้บางอย่าง สามารถเก็บของไว้ใต้โต๊ะได้ มีตู้เก็บของ เก็บเอกสาร อย่างนี้เป็นต้น มีข้อแนะนำให้สำหรับผู้ปกครองด้วย ว่าให้ช่วยจัดกระเป๋าให้ลูก เพราะหลายคนแบกเพราะว่าไม่จัดตารางสอน อย่างนี้เป็นต้น มีการดีไซน์กระเป๋าให้เหมาะสมในการแยกเป็นช่องเล็กช่องน้อย แล้วก็ในการวางของให้กระจายออกตามช่องต่างๆ เพื่อกระจายน้ำหนักออกไป ไม่ถ่วงอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง มีข้อแนะนำการแบกกระเป๋า เช่น กระเป๋าจะต้องแบกด้วยสะพายสองสายเสมอ ไม่สายเดียว มีสายรัดเอวเพื่อให้ช่วงล่างที่เป็นช่วงที่น้ำหนักถ่วงอยู่นั้นแนบติดกับลำตัว และช่วงล่างสุดไม่ต่ำกว่าบั้นเอวของเด็กลงไป จะช่วยให้อาการการปวดหลัง การเกิดกระดูกสันหลังคดงอในขณะแบกกระเป๋าลดน้อยลง ยังมีความพยายามที่จะออกเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีการประชุมที่สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ปรากฎว่า หลังการประชุมมีการเชิญผู้ใหญ่มาเยอะนะ แต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบ เรื่องการแบกกระเป๋าหนักๆ นี้ สามารถที่จะสานต่อให้เป็นชิ้นเป็นอันได้มากขึ้น อยากให้มีคนรับรู้มากขึ้น ให้ขยายตัวมากขึ้นจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาการเรียนด้วย การแบกของหนักๆ มากๆ ก็ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการศึกษา   แล้วหากเปลี่ยนเป็นเรียนผ่านแทบเลต           แทบเลตนี่เคยมีการแจกกันตอน ป.1 ทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน แทบเลตก็เป็นสินค้า เป็น สินค้าที่พบว่า มีการละเมิดความปลอดภัยในเด็กและมีการส่งเสริมให้ใช้ถึงขนาดเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องเรียนอิเลคโทรนิค มีคนพูดมากมาย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่อยู่ภายใต้สินค้าชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีระดับของเศรษฐกิจที่สูง มีการประมูลถึงหมื่นๆ ล้านบาท สินค้าตัวแทบเลตเองมันจะวิ่งได้ก็ต้องมีแอปพลิเคชันที่อยู่ภายใต้อินเทอร์เน็ต ตัวอินเทอร์เน็ตก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ซ่อนอยู่ในตัวแทบเลตหรือตัวโทรศัพท์มือถืออีกต่อหนึ่ง ถือว่าเป็นสินค้า 2 ชิ้น ที่ซ่อนเร้นกันอยู่ การกระตุ้นให้เด็กใช้บูรณาการด้านการศึกษาถือว่ามีประโยชน์มากมาย สามารถใช้ค้นคว้าหาความรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาที่เป็นมัลติมีเดีย มีรูปมีเสียงที่กระตุ้นการศึกษาได้ แต่ขณะเดียวกัน โทษก็มากมายเช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ได้จะต้องยอมรับประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน และผู้ลงทุนก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อคุณรับผิดชอบต่อประโยชน์ เช่น เก็บเงินค่าอินเทอร์เน็ต 500 บาท ต่อ เด็ก 1 คน ทุกเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเพื่อรักษาสายอินเทอร์เน็ต ก็ควรต้องมีการแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดโทษต่อเด็กด้วย แต่ปัจจุบันไม่เห็นตรงจุดนี้ ไม่มีการคิดเกี่ยวกับคนที่เอาข้อมูลมาใส่ เกี่ยวกับถนน(ช่องทาง) ที่สร้างไปให้ถึงตัวเด็ก เกี่ยวกับรถ(เนื้อหา) ที่วิ่งอยู่บนถนนปล่อยทุกอย่างให้ไปชนเด็กเอง แล้วก็เอากำไรอย่างเดียวไม่นึกถึงโทษที่เกิดขึ้นทั้งสิ้นเลย ดังนั้นเด็กที่ได้แทบเลตฟรีจากรัฐบาล เสียค่าอินเทอร์เน็ตเอง ถ้าใครต่อไวไฟโรงเรียนก็รอดไปไม่ต้องเสีย แต่ถ้าใครต่ออินเทอร์เน็ตออนไลน์ด้วยก็ต้องจ่ายเอง ส่วนโรงเรียนเองก็ปล่อยไวไฟ แต่ซึ่งข้อมูลต่างๆ ไม่มีการกรอง เป็นอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตสำหรับเด็ก เด็ก 1 คนจึงสามารถที่จะเข้าไปดูภาพโป๊ด้วยการพิมพ์คำว่า “โป๊” คำเดียว โดยเด็กอายุ 6 ปี ซึ่งคุณครูบอกให้ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ค ขณะเดียวกันกดอีกทีก็เป็น “ภาพโป๊แทน” แบบนี้ก็ได้ เล่นเกมส์ที่แบบเลือดสาด เรตติ้ง 13 – 18 ปี ให้เล่น เด็กก็เล่นได้หมด โซเชียลมีเดียที่คนอายุที่เขาเขียนไว้อยู่แล้วไม่ให้ 13 ปีเล่น ให้พ่อแม่มาลงทะเบียน เด็กก็เข้าได้หมด ตัวระบบไม่ได้ป้องกัน ทั้งหมดก็ยกให้เด็กป้องกันตัวเองหมด อยู่บนแทบเลตที่รัฐบาลเป็นคนแจก อยู่บนอินเทอร์เน็ตที่เด็กต้องจ่ายเงินเอง แล้วคนเก็บเงินไปบอกว่าไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับเขา เกี่ยวกับคนใส่ content เข้ามา ทีนี้พอมีการพูดถึงจะสร้างระบบเป็น single gateway เพื่อให้การควบคุมเป็นจริงได้มากขึ้นคนก็ร่วมกันถล่มทลายในเรื่องสิทธิ ซึ่งคนเหล่านั้นแน่นอนต้องเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด ไม่มีเด็กคนไหนมาอ้างสิทธิเรื่อง single gateway แน่นอนเพราะยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามันคืออะไรด้วยซ้ำไป แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือ ผลเสียต่อตัวเด็กทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างของสินค้า “สองชิ้นซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว”  ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยภาครัฐเอง แล้วก็ยกเว้นการลงทุน เช่น การทำ parental control การเซ็นสัญญาระหว่างพ่อแม่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตกรณีที่จะส่งสายนี้เป็นสายของลูก  และบริษัทไม่ต้องลงทุนทำอะไร ถ้าเป็นสายของลูกจะทำให้เกิดการเซ็ตอินเทอร์เน็ตให้ได้ เช่น ฝ่าย parental control เป็น automatic ให้หรือว่าลงทุนทำ แอปพลิเคชัน parental control ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คัดกรองแอปพลิเคชันให้เกินอายุเด็กออกไปให้หมดให้ได้ ก่อนจะไปเก็บเงินเด็ก พวกนี้ก็ไม่ทำทั้งสิ้น แล้วก็ถูกยอมรับโดยสังคมว่า ถูกต้องแล้ว บริษัทแบบนี้ทำถูกต้องแล้ว ทำมากกว่านี้ไม่ถูกต้อง อย่างนี้ดีแล้ว ขณะเดียวกันก็มาพูดเรื่อง white Internet แล้วไม่ได้ทำจริง ถึงเวลาจะทำจริงก็คัดค้านทั้งหมด ก็ไปสอดคล้องกับเรื่อง E-Sport ที่โผล่ขึ้นมาบนออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน   พอปัญหาถูกปล่อยให้เกิดไปเรื่อยๆ มาแก้ทีหลังก็ยากแล้ว อันนี้ก็เป็นผลมาจากที่เราไม่คัดกรองผลิตภัณฑ์ให้เด็กใช้ สุดท้ายก็ถูกประยุกต์ใช้ต่างๆ มากมายแล้วก็ยิ่งคัดค้านยากขึ้นไปใหญ่  และเด็กก็เล่นได้ทุกอายุเช่นเดียวกัน E-Sport นี่เด็กเล่นกันจนเสียการเรียนและไม่มีอายุจำกัด ตั้งสมาคมได้โดยไม่ต้องผ่านการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่ต้องมีระเบียบด้วยซ้ำไปว่าเด็กอายุเท่าไหร่ถึงจะเข้าสู่การแข่งขันที่เขารับรองว่าเป็นกีฬา ไม่ต้องมีระเบียบอะไรเลยแล้วจะพูดถึงระเบียบก็พูดถึงว่า มีการเติบโตกันไปเยอะแล้วเศรษฐกิจนี้เป็นหลายแสนล้าน ต่างประเทศเดินหน้าเต็มตัวแล้วเรายังจะมาชักช้าได้อย่างไร ทั้งหมดนี้ก็เป็น “สินค้า” ทั้งนั้นเพียงแต่อยู่ในรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้หรือเป็น air line ลอยทางอากาศ หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภค แล้วก็เป็นเรื่องของภัยที่ซ่อนเร้นภายใต้เศรษฐกิจที่ต้องเติบโตทำให้มองหรือพยายามที่จะไม่มองว่าเป็นภัย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากว่า การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นบรรทัดฐานจริงหรือเปล่า ในสังคมไทยถ้าพูดถึง สิ่งที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือว่าเป็นสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ยิ่งไม่มองยิ่งมีความรู้สึกว่าต้องคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นโดยเฉพาะเด็ก   ปัญหาเยอะขนาดนี้อาจารย์เคยท้อบ้างไหมคะ ไม่ๆ ถือว่าเป็นธรรมชาติ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เพราะเราคงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เชื่อว่าถึงวันหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกเรื่องก็แบบนี้ สมัยก่อนถนนอันตราย ถึงวันหนึ่งถนนก็ปลอดภัยมากขึ้นเมื่อร่ำรวยมากขึ้น โรงงานทุกวันนี้ก็ปล่อยสารพิษ มาตรการความปลอดภัย ออกกฎหมายไม่ยอมทำ ขยะอุตสาหกรรม ทิ้งมั่ว เอาของจากต่างประเทศข้ามมาทิ้งอีกต่างหาก ถึงวันหนึ่งก็จะดีขึ้น อินเทอร์เน็ตก็เหมือนกัน สินค้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ตอนนี้เรารู้สึกว่าเสรีมาก เศรษฐกิจต้องโตห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งเกิดผลเสียมากๆ ก็จะดีขึ้น เราจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพียงแต่ว่าวันนั้นนานหรือเปล่า แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น มันจะต้องมีคนส่วนหนึ่งไปไม่ถึงวันนั้นแน่นอนอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ผลิตเองก็ต้องมีจริยธรรมการผลิตอยู่แล้ว ของการขายอยู่แล้วว่า จะต้องไม่ขายสิ่งที่เป็นพิษให้แก่เด็ก เด็กใช้แล้วโง่ เอาไปทาบ้าน เด็กอยู่ในบ้าน เด็กโง่ ผู้ผลิตที่ไหนเขาไม่อยากทำให้เด็กไทยโง่และโง่กันเป็นพันๆคน ใช่ไหม (หัวเราะ)   รศ. นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  รพ.รามาธิบดี คุณหมอด้านเด็ก ที่เมื่อพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัยต่างๆ ในเด็กเล็ก จะต้องมีชื่อท่านเป็นมือวางอันดับต้นๆ ของประเทศ ..นั่นคือบทบาทในเรื่องของการทำงานในปัจจุบัน ตอนเด็กๆ อาจารย์สนใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิไหมคะ “ ความจริงแล้วผมตรงกันข้ามเลยนะ ตอนเด็กนี่ผมเป็นเด็กที่ตัวเล็ก ตัวผอม ตัวเล็กหัวโต แล้ว เรียนหนังสือ ส่วนใหญ่ก็จะยอมหมด สมัยก่อนการศึกษาเราเป็นรูปแบบสมัยก่อนนะ ครูจะดุมาก ถือไม้เรียวตี นักเรียนก็จะเงียบไม่มีปากมีเสียง เราเป็นคนหนึ่งที่เงียบ เรายังเห็นเพื่อนเราตั้งหลายคนเถียงเก่งก็มี ใช่ไหม  ขึ้นมาสู้กับคุณครู ไม่ได้สู้ในลักษณะความรุนแรงนะ แต่ว่าเถียง แล้วก็บอกว่าผมไม่ผิด เพราะเหตุผลๆ นี้ แต่เราเป็นคนหนึ่งที่ยอมตลอดอะไรก็ได้ เราไม่ผิด เขาว่าผิดก็ผิด ก็ไม่เป็นไร ผิดก็ผิด มีอยู่ครั้งเดียวเท่าที่จำได้มีอยู่ครั้งเดียว ตอนนั้นอาจจะเป็นเพราะทำตามผู้ใหญ่ จำได้ว่าคุณครูประท้วง สมัยนั้นเดินขบวนประท้วงได้ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะซัก ป.3 – ป.4  ครูไปประท้วง ผู้อำนวยการอยู่นอกโรงเรียน และคุณครูฝากเราที่เป็นหัวหน้าห้อง คุณครูฝากว่าให้เราคุมเพื่อนๆ อย่าให้วุ่นวาย พอไม่มีคุณครูดูแล เพื่อนๆ เลยพูดคุยกันเสียงดัง เราก็เลยต้องให้ทุกคนอยู่ในความสงบเพราะว่าคุณครูกำลังเดือดร้อน ไปประท้วงเรื่องเงินเดือนอยู่และขึ้นมาแบบเสียงดังกับเพื่อนๆ ถือไม้เรียวเลียนแบบคุณครู เคาะโต๊ะแล้วตะโกนให้เพื่อนๆ เงียบอยู่ในระเบียบ เห็นจะมีอยู่ครั้งเดียว นอกนั้นก็รู้สึกจะเป็นเด็กหงอๆ ตลอด   จากเมื่อกี้ที่เล่ามันก็เป็นชั้นประถมนะ พอมาชั้นมัธยมค่อยๆ สะสมเรื่องของความกล้าหรือการแสดงออกมาก ขึ้น ว่าตอนอยู่มัธยมมาเข้าเรียนสวนกุหลาบแล้วเริ่มเห็นการแสดงออกของกิจกรรมนักเรียน ตั้งแต่สมัยก่อนตุลาฯ เห็นนักเรียนที่พยายามจะออกไปเดินขบวนประท้วงแล้วคุณครูห้าม คุณครูปิดประตูรั้วและนักเรียนก็พังประตูรั้ว เพื่อที่จะออกไปเดินขบวนให้ได้ คุณครูบอกว่าออกไปเสียชื่อโรงเรียน นักเรียนถอดเสื้อทิ้งไว้หน้าโรงเรียนกันเลย แล้วออกไปกันเลย เราได้เห็นรุ่นพี่ปฏิบัติกันก็เริ่มสะสมความสนใจในสิทธิของพวกเรากันเอง ของนักเรียนเอง แล้วการแสดงออกที่ไม่เกินไปนะ แต่ว่ามีเหตุมีผล  คำนึงถึงการละเมิดสิทธิไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นผู้ใหญ่เป็นอะไรก็ตามแต่ ถ้าหากเป็นการละเมิดสิทธิ เราควรจะปกป้องทั้งของตัวเราและของชุมชนด้วยนะ   ทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนหมอคะ ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นความสนใจโดยตรง เพราะสมัยก่อนนี้มีคนเรียนหนังสือที่เขาเรียนเก่งๆ ก็ เรียนหมอกัน ผู้ปกครองจะให้ความสนใจลูกเรียนหมอด้วย โดยตัวเราเองไม่ได้สนใจโดยตรงนะ แต่ไม่ได้รังเกียจอะไร  รู้สึกว่ามันน่าสนใจ แต่เราไม่รู้ว่าเรียนแล้วเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าเรียนแล้วต้องมารักษาคน มีความสนใจโดยตรงในการรักษาโรคให้กับคนอื่น รู้สึกว่าเป็นวิชาชีพที่ดี แล้วมีพี่ๆ ที่มาเรียนกันมาก่อนแล้ว 2 คนแล้ว ก็เลยมาสอบกับเขาด้วย พอสอบได้ก็มาเรียน แต่พอมาเรียนแล้วรู้สึกว่ามันเป็นวิชาชีพที่ดีนะ มีทั้งวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่ในตัวเดียวกัน ถ้าเราชอบงานทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านลึก เราก็เป็นหมอได้ ชอบด้านสังคมด้วย ก็เป็นหมอได้  แต่ท่าจะให้ดีควรจะสนใจทั้งสองด้าน ใช้ความรู้ทักษะสมดุลของทางด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ถ้าหมอที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจด้านสังคมเลย เชื่อว่าช่วยกันได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถที่จะผลักดันได้ทั้งขบวนการแพทย์ให้เดินหน้าได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะต้องมีหมอที่สนใจด้านสังคมศาสตร์มาสมดุลกันหรือในตัวคนๆ เดียวกัน คุณมีความสนใจทั้งสองได้ งานถึงจะดำเนิน   ได้ใช้ความรู้ทั้ง 2 ด้านมาพัฒนางานเรื่องเด็ก เรื่องความปลอดภัยอันนี้ด้วย ใช่ งานในได้ความปลอดภัย ก็เห็นได้ชัดเลยว่า การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มันมีความสำคัญมาก ตั้งแต่ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน บางเรื่อง เช่น เรื่องอุบัติเหตุรถยนต์นั้น อาจจะต้องมีความสนใจได้ฟิสิกส์ ด้านแรงกล อีกหลายด้าน ด้านมลพิษนี่ก็ต้องสนใจเรื่องทางด้านเคมี เรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางด้านเคมี พวกนี้เป็นต้น เวลาจะใช้ประโยชน์นำไปสู่การป้องกันว่า ผมต้องไปสร้างผลิตภัณฑ์สู้รบปรบมือกับความเข้าใจของประชาชนเอง ความเข้าใจของผู้ผลิต ต้องไปออกนโยบายกฎหมายควบคุม ต้องไปคำนึงถึงว่า ทำเรื่องนี้แล้วเศรษฐกิจของประเทศจะหยุดชะงักงันหรือเปล่า และมีผลต่อเรื่องนู้นเรื่องนี้หรือเปล่า จะเห็นว่า เวลาจะนำเอาความรู้ทางการแพทย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม มันไม่ง่ายนะ มันต้องเข้าใจ ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจทางสังคม เพื่อประชาชนจะนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องต่อไป นั่นถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ทั้งสองด้านเป็นจริงๆ ด้วย   จุดเริ่มต้นของศูนย์ฯ มาได้อย่างไรคะ เริ่มต้นที่เราสนใจเรื่องความปลอดภัยในเด็กเพราะว่า ผมย้ายมาอยู่จากโรงงานต่างจังหวัด จังหวัดน่าน ลงมาอยู่หน่วยเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอก เด็กและวัยรุ่นของภาควิชาพยาบาลเวชศาสตร์ทำงานโรงพยาบาลผู้ดี ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งปกติ โรงเรียนแพทย์นี่ต้องพยายามจะหาความรู้ที่จะไปชี้นำสังคม เพราะฉะนั้นนอกจากการดูแลผู้ป่วยเด็กที่ห้องฉุกเฉินและที่ผู้ป่วยนอก เราจะทำวิจัยสุขภาพเด็ก เพื่อมาวิเคราะห์กันในหน่วยว่า อะไรจะช่วยให้ทำการตายของเด็กลดลง และพบว่าอุบัติเหตุ เป็นเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตร้อยละ 40 เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว เป็นเด็กที่อายุเกินกว่า 1 ขวบขึ้นไปนะ ซึ่งก็แปลกมากเลยทำงานกันไม่มีใครสนใจเรื่องอุบัติเหตุ มีสนใจแต่ในเชิงรักษา คือหมอศัลยกรรมผ่าตัดเวลาเด็กบาดเจ็บมา แต่การป้องกันเรื่องอื่นเราทำหมดเลย เราฉีดวัคซีนป้องกันโรค เราป้องกันนู่น นี่ การขาดอาหาร เราชั่งน้ำหนัก เราวัดส่วนสูง แต่เราไม่ป้องกันอุบัติเหตุเลย ทั้งที่เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตกว่าร้อยละ 40 ของเด็ก เรื่องไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ เราสนใจมาก แต่ปรากฏว่าเด็กตายนิดเดียว เด็กตายจากอุบัติเหตุ 100 คน ใน 100 คนนี่เด็กตาย 40 คน แต่เราไม่ทำอะไรเลย นั่นเป็นที่มีของการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อป้องกันในเด็ก แล้วก็เริ่มศึกษานั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และในการแก้ไขปัญหาพอเราศึกษาไป เราพบว่าในการแก้ไขปัญหาหลักการที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำงานร่วมกัน ของเครือข่ายสหวิชาชีพ และการผลักดันในแต่ละเรื่องให้ครบทุกมิติ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วทำไม่ได้ เช่น เด็กเสียชีวิตด้วยมอเตอร์ไซค์ ปัญหาจะลดลงถ้าเด็กใส่หมวกกันน็อค หรือลดการขับขี่ที่มีความเสี่ยง เช่น ขับขี่ก่อนวัย ลดการขับขี่ที่ผู้ขับขี่ไม่พร้อม เช่น การเมาสุรา ทำถนนให้ปลอดภัย มีการแยกเลนมอเตอร์ไซค์ เลนรถยนต์เป็นต้น ทั้งหมดนี้ที่พูดมา 4-5 ข้อของทั้งหมด จะเห็นว่ามันไม่จบด้วยเรื่องการคำนวณแรงที่กระทำต่อศีรษะเด็กอย่างเดียว แล้วกว่าจะเปลี่ยนแปลงให้คนใช้หมวกกันน็อค กว่าจะมีกฎหมายหมวกกันน็อค จะให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 18  ปีไม่ขับมอเตอร์ไซค์ กว่าจะให้ถนนทุกหนทางแยกผู้ขับขี่ของยานพาหนะที่มีความเสี่ยงสูงออกจากกว่ายานพาหนะทั่วไป ผมว่าเรื่องทั้งหมดนี้ยากกว่าทุกเรื่องเลย รับรองว่าได้เปลี่ยนแปลงทางวิชาด้านการแพทย์แน่นอน ด้วยวิชาการหรือวิชาชีพอื่น อีกหลายวิชาชีพ เพราะนั้นการทำงานร่วมกันเป็นหัวใจ ที่สุดเลย ทุกเรื่องจะเป็นแบบนี้หมดไม่เว้นเรื่องอุบัติเหตุ   ประเด็นหลักที่ทำในปีนี้ ศูนย์วิจัยเราทำเรื่องหลักอยู่ ในเรื่องอุบัติเหตุ เป็นเรื่องของอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ของเด็กวัยเรียน ซึ่งขับขี่ก่อนวัย วัยเด็กเล็กนี่เราทำมาพักหนึ่งแล้ว มีหน่วยงานรับเรื่องต่อไปเยอะ เรื่องการจมน้ำของเด็กวัยเรียนเช่นกัน เด็กวัยเล็กนี่ อัตราการจมน้ำตาย นี่ลดลงตั้งวันละ 38 นะ นอกจาก 2 เรื่องนี้ เราพบว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ภัยจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เป็นเรื่องที่มีความสำคัญขึ้นมาเลย ภัยจากสิ่งแวดล้อมก็ไปปะปนกับเรื่องหลายเรื่องเลย เรื่องผลิตภัณฑ์ที่ออกมาอยู่รอบตัวเด็ก และก่อให้เกิดมลพิษหลายอย่าง เราไปพบว่ามีเด็กชัก สืบเนื่องมาจากการอาศัยอยู่ใกล้โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลแล้วก็เจาะเลือดเด็กพบว่ามีสารตะกั่วสูงถึง 16 เท่าของค่าปกติของค่าที่ยอมรับได้นะ แล้วศึกษาต่อในโรงเรียนของเด็กในบริเวณนั้น พบว่า ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนเลย 70 กว่าคนจาก 100 กว่าคน ตะกั่วในเลือดสูงในอัตราที่เขาไม่ยอมรับ อัตราเป็นพิษ ปรากฏว่าไปดูตามบ้านของเด็กเหล่านี้ ว่าไม่ได้เกิดจากมลพิษของโรงงานอย่างเดียว แต่เกิดจากสีทาบ้านด้วย สีทาบ้านของเด็กเหล่านี้พบว่ามีการใช้สีที่มีสารตะกั่วสูงในการทาบ้านด้วย อาจจะมีส่วนทั้งตัวโรงงาน สิ่งแวดล้อม ทั้งตัวสีทาบ้าน เมื่อก่อนหน้านี้ 2-3 ปี เราเคยศึกษาศูนย์เด็กเล็ก พบว่าศูนย์เด็กเล็กที่ใช้สีน้ำมันทา ครึ่งหนึ่งของศูนย์เด็กเล็กเหล่านี้มีสารตะกั่วสูง อันนี้สอดคล้องกับการศึกษาสีน้ำมันในตลาดของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่สร้างด้วยสารพิษทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเด็ก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ปล่อยมลภาวะที่เป็นพิษต่อเด็ก อันนี้เป็นประเด็นที่เราคิดว่าเป็นเรื่องความปลอดภัยของเด็ก แล้วเข้ามาเป็นประเด็นในปีนี้ที่เราศึกษา นอกจากในกรณีสมุทรสาครที่เล่าให้ฟัง จากการเจอผู้ป่วยหนึ่งรายที่เข้ามาที่โรงพยาบาล แล้วเราลงไปศึกษาสิ่งแวดล้อมรอบผู้ป่วยหนึ่งรายนั้น แล้วศึกษาเด็กคนอื่นในพื้นที่นั้น ไปเจอเด็ก 70 คนใน 156 คน เราไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เรารู้สึกว่า ปัญหาเรื่องสารตะกั่วในเลือดของเด็ก ซึ่งส่งผลให้เด็กปัญญาอ่อน มีผลอันตรายต่อสมองเด็ก เรานึกว่ามันหมดไปแล้ว ตั้งแต่เราเปลี่ยนน้ำมัน ยุคที่มีตะกั่วในน้ำมันมาเป็นน้ำมันไร้สารตะกั่ว ปรากฏว่า ยังเป็นปัญหาอยู่ กำลังสงสัยว่าเมืองที่คล้ายเมืองสมุทรสาคร คือเมืองที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น เด็กเหล่านี้จะมีอันตรายจากพิษสารตะกั่วหรือเปล่า ที่นี้ถ้าเป็นจากสีทาบ้าน แสดงว่ามันอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หมายถึงว่าเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียว แต่บ้านเราดันใช้สีน้ำมันไปทา แล้วสีน้ำมันเหล่านั้นมีสารตะกั่วสูงนั้น ต่อให้อยู่ในพื้นที่สีเขียวก็มีสารตะกั่วเป็นพิษหรือเปล่า ดังนั้นการควบคุมไม่ใช่การเพ่งเล็งไปที่พื้นที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ต้องไปเพ่งเล็งที่ตัวผลิตภัณฑ์คือ สีทาบ้านที่มีสีน้ำมันอยู่นั้น แล้วกระจายไปทุกบ้านด้วย ต้องไปคุมที่ข้างบน การผลิตสีทาบ้านหรือเปล่า อันนี้เป็นประเด็นที่ตั้งขึ้นมา เราก็ออกไปศึกษาพื้นที่สีเขียวของจังหวัดสมุทรสาคร เช่น กระทุ่มแบน เราลงไปศึกษาพื้นที่โรงงานจังหวัดระยอง พื้นที่สีเขียวของจังหวัดระยองเช่น เขาชำเหมา ไปฉะเชิงเทราเก็บพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โรงงานเช่นเดียวกัน แล้วมาเปรียบเทียบกันดูว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาคงลงในนิตยสารฉลาดซื้อนี่ละ   ทิศทางในการรณรงค์เป็นอย่างไรบ้าง มีอยู่ 2 ประเด็น เรื่องสี เรื่องของเล่น เรื่องเครื่องเล่นสนาม เราก็ว่าส่วนหลักใหญ่มาจากสี เพราะนั้นจะมีเครือข่ายที่เกิดขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิบูรณะนิเวศ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรม สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค นี่ก็เป็นเครือข่ายที่สำคัญ อีกอันหนึ่งก็เป็นภาคเอกชน บริษัทผลิตสี จะมีหน่วยงานวิชาการข้างเคียงเช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กลุ่มสถาปนิกทั้งหลาย ซึ่งอาจจะมีความใกล้ชิดกับผลิตภัณฑ์สี หรืออาจจะเป็นเครือข่ายที่มีการร้องทุกข์ได้นะ เรามีข้อเสนออย่างนี้ เรื่องของผลิตภัณฑ์นะ เนื่องจากในต่างประเทศเขา ได้สนใจเรื่องนี้ ในอเมริกาสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1972 มีการออกกฎหมายเรื่องของสารตะกั่วในสี มีการให้คำแนะนำประชาชนและมีการเจาะเลือดเด็กตั้งแต่เล็กๆ เลย เป็นการเจาะแบบเพื่อการตรวจสุขภาพทั่วไป แล้วมีการ subsidies คือให้ชาวบ้านสนใจเรื่องของการกำจัดสารตะกั่วในสีรอบบ้านของตนเอง เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงให้รายงานสาธารณะสุขในพื้นที่ในการตรวจหาสารตะกั่วในสี ซึ่งพวกนี้รัฐบาลก็ subsidies คือจ่ายเงินให้ ถ้าเราจะเป็นต้องเปลี่ยนสี ต้องมีการขูดลอกด้วยทีม เขาเรียกว่าทีมกำจัดสารตะกั่ว คือไปขูดลอกอย่างถูกวิธีไม่ทำให้ตะกั่วกระจายสู่ชุมชน แล้วก็ทาสีใหม่โดยที่รัฐบาลมีส่วนจ่ายเพิ่มให้ศูนย์ บ้านเรานั้นไม่ได้สนใจตรงนี้เลยที่ผ่านมา ข้อเรียกร้อง ข้อที่ 1 พิจารณาเรื่องการออกมาตรฐานสีและมีการกำหนดสารตะกั่วไม่ให้เกินเท่าไหร่ในมาตรฐานสีอย่างน้อยให้เป็นไปตามสากล อันนี้คิดว่าคงต้องใช้เวลานานมาก เมื่อกำหนดมาตรฐานแล้วก็ประกาศเป็นกฎหมาย ใช้เวลานาน ข้อเสนอข้อที่ 2 เราคิดว่าน่าจะทำได้ทันที ระหว่างข้อแรกกำลังดำเนินการอยู่ เราทำข้อที่ 2 ไปเลย คือการที่ผู้ผลิตสี บ่งบอกชัดเจนว่าสีกระป๋องนี้มีสารตะกั่ว ไม่ควรใช้ทาภายใน มีสารตะกั่วเท่าไหร่ (...) แล้วไม่ควรใช้ทาอาคารภายใน อย่างน้อยให้พี่เลี้ยง คุณครูศูนย์เด็กเล็ก บ้านเรือนเขารู้ ทำไมเขาชอบเอาสีน้ำมันมาทาเพราะว่า เวลาเด็กขีดเขียนลบออกง่าย โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก   เป็นสีน้ำมันที่ใช้ทาแบบสีสันสดใสใช่ไหมคะ ใช่ สีสันสดใสด้วย ซึ่งอันนี้มีความเสี่ยง เพราะนั้นทำยังไงผู้บริโภคจะเข้าใจยาก รับรู้ยาก จะไปติดฉลากเขียว ให้เขาเลือกเฉพาะฉลากเขียว เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่า วันนี้เขาอยากซื้อของดีซื้อฉลากเขียว แต่พรุ่งนี้เขาอยากซื้อของธรรมดา เขาไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นของไม่ดีนะ แต่เข้าใจว่าเป็นของธรรมดา ใช้ได้ เขาก็ซื้อ เช่นเดียวผู้ผลิต เขาว่า เวลาใช้สีน้ำมันของคุณนั้นมีสารตะกั่วสูง เขาบอกว่า “ไม่ได้ใช้ทาภายในนี่นา ผู้ใช้ใช้ผิดเอง โทษเขาไม่ได้” แต่พอไปดูข้างกระป๋องเห็นเขียนชัดเลยว่า “ใช้ทาได้ทั้งอาคารภายในและภายนอก” เป็นต้นนะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าผู้ผลิตเอง ควรจะระบุชัดเจนว่า มีสารตะกั่วสูงหรือไม่สูง ถ้าสูงไม่ควรใช้ทาอาคารภายใน อย่างนี้เป็นต้น ระบุให้ชัดเจนไปเลย และต้องการให้ สคบ. บังคับให้ทำฉลากเพิ่มขึ้นทันที ส่วนเอาตะกั่วออกจากสีค่อยว่ากัน ความเสี่ยงที่มันอยู่รอบตัว เราจะป้องกันหรือว่าเราจะมีความพร้อมตรงไหน อย่างไรบ้าง ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุหรือว่าสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ สารพิษรอบตัวเด็ก มันมีความสัมพันธ์กับบุคคล กับพฤติกรรมบุคคล แล้วก็ตัวสิ่งแวดล้อม เช่น สีนั้น อาจจะเกิดจาก มันหลุดลอก เด็กก็เอามือไปเล่นไปถูไปจับ ไม่ได้ล้างมือ เวลากินผลเสียเข้าสู่ร่างกาย การป้องกันก็เกิดได้จากการล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น กวาดม็อบพื้น เรารู้ว่าเวลากวาดมันกระจายเราใช้ผ้าชุบน้ำม็อบพื้นเช็ดเอา เป็นต้น ไม่กวาด เช็ดเอา แต่ถ้าบ้านคุณมีสิทธิหรือเป็นผงๆ อยู่ตามขอบมุมอยู่เรื่อยนะ พวกนี้เป็นการแก้ปัญหาที่บุคคล อันนี้ประชาชนต้องรู้ ต้องแก้ไข ถ้ามากับเสื้อผ้าคุณพ่อที่ไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานรีไซเคิล อะไรพวกนี้เป็นต้น ถ้าคุณพ่อมาถึงบ้านก็ต้องเปลี่ยนเสื้อ ถอดเสื้อที่ทำงานออก อย่าใส่ปะปนเข้ามาในบ้าน ใส่เสื้อใหม่ ดูแลความสะอาดไปแล้ว ที่นี้เป็นบุคคล หลักการที่ 2 เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือ ตัวสี ตัวสีถ้าเราไม่เลือกสีที่มีสารตะกั่วมาทา อันนี้แน่นอนลูกเราปลอดภัยนะ เช่นเดียวกับ ไม่นั่งมอเตอร์ไซค์ เราไม่มีบาดเจ็บจากมอเตอร์ไซค์ เพราะนั้นการป้องกันนอกจากบุคคลแล้วมาดูเรื่องของผลิตภัณฑ์ เราเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีเลย ที่นี้ในกรณีผลิตภัณฑ์นั้นเลือกไม่ได้ เพราะว่าถ้าเลือกของดีก็แพง หรือว่าของไม่ดีมันก็ไม่เขียนให้เรารู้ มันเขียนข้างกระป๋องแต่ว่า ใช้ทาอาคารภายในก็ได้ภายนอกก็ได้ ไม่ยอมบอกเราว่ามีสารตะกั่วสูง อย่างนี้พ่อแม่ไม่รู้จะเลือกยังไง แต่ว่าพ่อแม่อย่าไปหยุดแค่นั้น เพราะอย่างไรเราควรต้องรู้ว่ามันมีหน่วยงานคุมอยู่ แต่หน่วยงานคุมอีท่าไหนมันออกมาแบบนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องขึ้นไปเคลื่อนไหวให้หน่วยงานที่เราต้องรับผิดชอบนั้น เขารู้ว่า มันมีอันตรายอย่างนี้อยู่นะ คุณจะแก้ยังไง ผู้ผลิตเองก็เป็นผู้ผลิตสีที่เป็นโรงงานใหญ่ โรงงานโตทั้งหลาย ผู้ผลิตเองต้องมีจริยธรรมการผลิตอยู่แล้ว ของการขายอยู่แล้วว่า จะต้องไม่ขายสิ่งที่เป็นพิษให้แก่เด็ก เด็กใช้แล้วโง่ เอาไปทาบ้าน เด็กอยู่ในบ้าน เด็กโง่ ผู้ผลิตที่ไหนเขาไม่อยากทำให้เด็กไทยโง่และโง่กันเป็นพันๆ คน ใช่ไหม? (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น คุณพ่อแม่เคลื่อนไหวหน่วยงานรับผิดชอบไม่พอ คุณพ่อคุณแม่ต้องเคลื่อนไหวผู้ผลิต ว่า  คุณขายของ ฉันซื้อของ แต่ว่าฉันไม่รู้ว่ามันมีหรือไม่มี หรือจะช่วยตัวเองหรือจะหลีกเลี่ยงอย่างไร เพราะฉะนั้นคุณก็ติดป้ายให้มันชัดๆ คุณอย่าหลอกผู้ซื้อ ติดป้ายไว้ชัดๆ เท่านั้นเอง อันนั้นจะช่วยได้ระหว่างเราแยกได้ แต่แน่นอนถ้าแยกแล้ว อีกกระป๋องหนึ่งซึ่งดี แล้วมันแพงมาก ถ้าเราทุกคนเลือกไม่ซื้อของที่มันไม่ถูก แต่ว่ามันอันตราย มันก็จะหมดไปจากตลาดเอง แล้วก็ของที่แพง ราคาก็จะ dump ลงเองตามกลไกการตลาด แน่นอนอาจจะเรียกร้องดำเนินงานให้ไปคุมราคา ตราบใดที่มีของดีของไม่ดีปนกัน ขายได้ หน่วยงานรับผิดชอบก็อนุญาต และคนซื้อไม่รู้ ราคามันจะเป็นอย่างนี้  ของดีจะราคาสูง ในต่างประเทศไม่มีของไม่ดี เพราะนั้นราคาต่างๆ จะปรับในราคาที่พอเหมาะพอสม ผมเชื่อว่า บริษัทสีทุกบริษัทมีทั้งของดีและของไม่ดี อย่ากลัวการที่ประชาชนเริ่มรู้ เริ่มเคลื่อนไหวไม่อยากใช้ของไม่ดี เพราะคุณมีของดีไว้ขายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณเองไม่ได้เสียอะไรนะ ผมว่าการป้องกันก็อย่างนี้ แค่บุคคลไม่พอ ต้องดูที่สิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงได้หลีกเลี่ยงนะ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องไปเล่นงานหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งไปเล่นงานผู้ผลิตว่าทำไมขายของแล้วทำให้เด็กโง่ออกมาปะปนกับตลาด เพราะฉะนั้นประชาชน ชุมชนต้องดูแล นอกจากการดูแลตนเอง ควรต้องเคลื่อนไหวในหน่วยงานที่เขารับผิดชอบด้วย ผู้ผลิตที่เขาต้องรับผิดชอบสินค้าเขาด้วย เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางที่เราจะดูแลตนเองได้หมด ถ้าเราถูกหลอกมาตั้งแต่แรกว่ามันดีหรือไม่ดีเราก็ไม่รู้ เราก็ดูแลตนเองไม่ได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point