ฉบับที่ 233 อกเกือบหักแอบรักคุณสามี : เพราะผู้หญิง...แซ่บจริงไม่มโน

        ว่ากันว่า เบื้องหลังความสำเร็จของบุรุษเพศมักมีเงาของผู้หญิงคอยผลักดันและต่อสู้อยู่ข้างหลังเสมอ และด้วยตรรกะดังกล่าวนี้ ละครโทรทัศน์อย่าง “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องเล่ากุ๊กกิ๊กโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกลงไปกว่านั้น ละครได้ให้คำตอบที่น่าขบคิดว่า ผู้หญิงผู้ชายได้จัดวางความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างกันและกันไว้เช่นไร         โครงเรื่องของละครเริ่มต้นด้วยเสียงก้องในห้วงความคิดของ “เมย” หรือ “นทีริน” นางเอกของเรื่อง ที่สะท้อนทัศนะอันลุ่มลึกแห่งปรัชญาเหตุผลนิยมที่ก่อตัวมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ว่า “ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลของมันเสมอ”          เพราะฉะนั้น การที่เมยได้มาประสบพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “เธียร” หรือ “เธียรวัฒน์” เธอได้ตกหลุมรักเขาตั้งแต่เป็นน้องรหัสสมัยเรียนมัธยม ได้เข้ามาอาศัยอยู่เป็น “น้องสาวนอกไส้” ในบ้านของพี่เธียร จนถึงมีความจำเป็นที่ทั้งคู่ต้องลงเอยได้แต่งงานกันกันนั้น ก็หาใช่ด้วย “เหตุบังเอิญ” ในชีวิตไม่ แต่เป็นเพราะด้วย “เหตุผล” บางอย่างที่เข้ามากำหนดความเป็นไปในชีวิตของชายหนุ่มหญิงสาวต่างหาก         หากคิดตามหลักพุทธศาสนา เหตุผลที่คนสองคนได้มาพบกันและตกลงแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ก็มักมาจากเงื่อนไขเรื่องกรรมที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อน แต่ทว่าละครหาได้ยืนยันในเหตุแห่งกรรมไม่ หากแต่ใช้คำอธิบายเหตุผลจากการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศมาเป็นแกนหลักมากกว่า         ในสนามรบระหว่างเพศหญิงชายนั้น โดยปกติแล้ว ตัวละครหนุ่มหล่อเลือกได้ มีการศึกษาดี ฐานะร่ำรวย และเลิศเลอเพอร์เฟ็คแบบเธียรวัฒน์ ที่คอยถอดเสื้อโชว์ซิกซ์แพ็คเพื่อ “คืนกำไร” ให้แก่ผู้ชมอยู่เนืองๆ นั้น มักถูกวาดให้เป็นตัวแทนของ “ชายในฝัน” ที่สตรีทั้งหลายมุ่งมาดหมายตาให้มาเป็น “สามีในจินตนาการ”        และเพราะเป็น “สามีในฝัน” เยี่ยงนี้เอง บุรุษเพศที่สมบูรณ์แบบก็มักจะมีอหังการบางอย่างซึ่งเชื่อว่า ตนคือผู้มีอำนาจคุมเกมความสัมพันธ์กับผู้หญิงทั้งมวลให้ “อกเกือบหักที่มาแอบรักเขา” ได้ ยิ่งเมื่อเธียรวัฒน์ดำเนินอาชีพเป็นสถาปนิกด้วยแล้ว เขาจึงเชื่อมั่นว่า นทีรินก็คงไม่ต่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่สามารถกำกับควบคุมชะตาชีวิตได้ เฉกเช่นการจับวางสรรพสิ่งที่อยู่ในงานสถาปนิกออกแบบของเขานั่นเอง         กระนั้นก็ดี ท่ามกลางม่านควันแห่งอคติที่บังตาบุรุษเพศอย่างเธียรวัฒน์อยู่นั้น ละครกลับเผยให้เห็นว่า อีกด้านหนึ่งในเกมแห่งความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ผู้หญิงเองก็หาใช่จะจำนนสมยอมเสมอไป หากแต่มีสถานะเป็นผู้เดินเกมได้ ทั้งๆ ที่เล่นอยู่บนหมากกระดานเดียวกัน        สำหรับพระเอกหนุ่มแล้ว อย่างน้อยก็มีผู้หญิงสามคนที่เข้ามาร่วมเดินหมากบนกระดาน แถมเป็นกระดานเกมที่เธอๆ เหล่านี้ให้บทเรียนกับเธียรวัฒน์ได้อย่าง “ดุเด็ดเผ็ดแซ่บจริงไม่มโน” กันเลยทีเดียว         “ศจี” มารดาของเธียรวัฒน์ ก็คือ ผู้หญิงคนแรกที่สาธิตให้เห็นการวางกลเกมในการจัดการบุตรชายให้อยู่หมัด เมื่อเธียรวัฒน์พลั้งเผลอไปมีสัมพันธ์ลับๆ กับ “ญาดา” ภรรยาของ “พลเดช” นักการเมืองผู้มีอิทธิพล จนเขาถูกขู่อาฆาตจะฆ่าให้ตาย คุณศจีจึงเลือกใช้อำนาจบังคับให้บุตรชายของตนแต่งงานเสียกับเมย         ด้วยสถานะของสตรีผู้ให้กำเนิด อำนาจของคุณศจีสามารถบังคับให้เธียรวัฒน์จดทะเบียนสมรสกับเมย ผู้หญิงที่เขาไม่เคยคิดจะผาดตามองในฐานะคนรักมาก่อน แม้พระเอกหนุ่มแอบซ้อนกลวางแผนที่จะหย่าขาดกับเมยในภายหลัง แต่ความชาญฉลาดเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของบุตรชาย คุณศจีก็จัดการกับเขาได้ทุกครั้ง         ผู้หญิงคนถัดมาก็คือ ญาดา ผู้ที่เธียรวัฒน์แอบไปมีความสัมพันธ์ด้วย ที่ผ่านมาญาดาเองก็ถูกสามีอย่างพลเดชมองว่า เธอเป็นประหนึ่ง “วัตถุสิ่งของ” มากกว่าจะเป็น “มนุษย์” เพศหญิงที่มีชีวิตเลือดเนื้อ ฉากที่พลเดชกระทำทารุณเหนือทั้งร่างกายและจิตใจของญาดา ก็ส่อให้เห็นทัศนะของผู้ชายบางคนที่เชื่อว่า หลังวันแต่งงาน ผู้หญิงก็มีสถานะเป็นเพียงทรัพย์สินภายใต้ปกครองของเขาเท่านั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ การที่ญาดาพยายามเอาชนะเกมพิชิตหัวใจของเธียรวัฒน์ ก็มีนัยแห่ง “สงครามตัวแทน” ที่ผู้หญิงอยากจะกำชัยเหนือบุรุษเพศ แบบเดียวกับที่เธอรำพึงกับตนเองเมื่อเข้าสู่สนามประลองระหว่างเพศว่า “พี่เลือกเล่นเกมนี้แล้ว ยังไงพี่ก็ต้องชนะ และพนันได้เลยว่า ยังไงเธียรก็ต้องแพ้พี่...”        และที่น่าสนใจ เมื่อถึงฉากท้ายของเรื่องที่พลเดชถูก “ปริวัตถ์” พี่ชายของเธียรวัฒน์ ซ้อนแผนตัดปีกตัดหางและสั่งสอนจนปางตาย ญาดาก็เลือกจะใช้สูตร “how to ทิ้ง” เขาไปแบบไร้เยื่อใยไมตรี พร้อมกับเสียงประกาศอิสรภาพของสตรีปรากฏในห้วงคำนึงที่ก้องขึ้นมาว่า “ในวันที่ฉันไม่เหลือใคร คนที่คอยกอดปลอบฉันก็คือตัวฉันเอง ตอนนี้สิ่งที่ฉันทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือ กลับมารักตัวเองอีกครั้ง...”         ส่วนผู้หญิงคนสุดท้ายที่มาร่วมปะทะต่อกรอำนาจกับเธียรวัฒน์ก็คือ นางเอกอย่างเมย แม้เธียรวัฒน์จะรู้จักเมยมานับสิบปี และเชื่อมั่นตลอดว่า เขาสามารถกำกับชีวิตเมยไว้ได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ แบบเดียวกับที่เขาชอบสั่งให้เมยทำนั่นทำนี่ แต่ทว่า อีกด้านของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกนางเอก เรากลับเห็นถึงกลยุทธ์ทางอำนาจของเมยที่จะพิชิตหัวใจชายหนุ่มที่เธอหลงรักตั้งแต่แรกเจอ          ในฉากแรกๆ เมยอาจจะดูเป็นเพียงผู้หญิงเปิ่นๆ ที่ไม่เข้าตากรรมการ แต่พลันที่เธอสวมบทบาทเป็นแฮคเกอร์เล่นล่อเอาเถิดหลอกเธียรวัฒน์จนเสียศูนย์บนโลกไซเบอร์สเปซ สถาปนิกหนุ่มที่เคยมองว่า ตนควบคุมบงการหญิงสาวได้ ก็ถึงกับเปรยขึ้นมาว่า “คนที่เราคิดว่ารู้จักมาทั้งชีวิต อาจจะเป็นคนที่เราไม่รู้จักเค้าเลย...”         ยิ่งเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไป และทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันที่ไซต์งานเมืองทวาย เมยก็ถือโอกาส “ประกาศเจตนารมณ์จีบพี่เธียร” ในทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำลองฉากโรแมนติกท่องเที่ยวทัวร์รอบพม่า แต่งกลอนเกี้ยวพาชมโฉมสามีหนุ่ม ไปจนถึงใช้สายตาลวนลามให้ชายหนุ่มได้กลายเป็น “วัตถุทางเพศแห่งการจ้องมอง”         ที่สำคัญ การเฉลยความจริงท้ายเรื่องว่า หากนิยายโรมานซ์ทั่วไป ต้องเป็นพระเอกที่ปกป้องชีวิตนางเอกผู้อ่อนแอ แต่ในชีวิตคู่ของเมย กลับเป็นนางเอกต่างหากที่ลุกขึ้นมาเสียสละชีวิตเพื่อปกป้องพระเอกหนุ่มครั้งแล้วครั้งเล่าได้ไม่แตกต่างกันเลย         อย่างไรก็ดี แม้เรื่องเล่าแบบโรมานซ์มักจะลงเอยฉากจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันถ้วนหน้า แต่กว่าที่เรื่องเล่าจะดำเนินมาถึงบทสรุปอันสุขสมอารมณ์หมายเช่นนี้ ยุทธการจัดการกับ “สามีในฝัน” อย่างเธียรวัฒน์ คงไม่ใช่เกิดขึ้นบน “เหตุบังเอิญ” แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก “เหตุผล” ที่ผู้หญิงขอมีส่วนร่วมจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ซึ่งหาใช่การอ้างสิทธิ์ว่าเป็นอำนาจของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว

อ่านเพิ่มเติม >