ฉบับที่ 277 ผลวิเคราะห์การสำรวจฉลากเนื้อหมูสด-เนื้อไก่สด และการโฆษณา ณ สถานที่ขาย

        เมื่อเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ ที่มีการแสดงฉลากระบุคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ว่า เป็นสินค้าเกรดพรีเมียม กล่าวอ้างว่า ไม่มีสารเร่งการเจริญเติบโต ไม่มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ตอนนั้นได้ทำการเปรียบเทียบราคาพบว่า แพงกว่าราคาปกติสองเท่า แต่ยังไม่ได้ทำการวิเคราะห์ตัวฉลากของสินค้าว่า มีจุดบกพร่องหรือข้อมูลที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภคหรือไม่ ทางนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านเภสัชกรรมและนักกิจกรรมที่ปฏิบัติการขับเคลื่อนเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง การดื้อยาปฏิชีวนะ  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ปลอดจากยาปฏิชีวนะ         อ.ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม  ทำการวิเคราะห์ประเด็นการใช้ยาปฏิชีวนะ และสารอื่นๆ จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่นิตยสารฉลาดซื้อเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ได้ให้ข้อสังเกต ดังนี้         - มีความหลากหลายของการแสดงฉลาก (อาจสะท้อนว่าไม่มีการกำกับดูแลให้มีรูปแบบเดียวกันหรือไม่)         - การแสดงฉลากในเรื่องยาปฏิชีวนะของเนื้อหมูและเนื้อไก่ พบว่าเนื้อหมูและไก่เกรดพรีเมียม 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) มีการแสดงข้อความในฉลากที่สื่อว่าไม่ใช้เลยตลอดการเลี้ยง และ 6 ตัวอย่าง (ร้อยละ 42.9) ที่ฉลากมีการกล่าวอ้างว่าไม่เจอโดยใช้ข้อความหลายรูปแบบ เช่น ‘ปลอดยาปฏิชีวนะ’ แตกต่างจาก ‘เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ’  ในขณะที่เนื้อหมูและเนื้อไก่แบบธรรม 2 ตัวอย่าง (ร้อยละ 14.3) ไม่ได้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ         - บางยี่ห้อเน้นที่รางวัลที่ได้รับ ทำให้ผู้บริโภคสนใจคำว่าชนะรางวัล มากกว่าคุณค่าทางโภชนาการ         - ข้อความคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ อ่านยาก ควรเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ         ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวกับเรื่องยาปฏิชีวนะ มีการใช้คำสองความหมายคือ “เลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ (RAISED WITHOUT ANTIBIOTICS)” ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะตกค้าง (ANTIBIOTICS CONTROLLED หรือ ANTIBIOTICS FREE)” มีการใช้คำกล่าวอ้างที่มีรูปแบบหลากหลายอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง แต่หยุดการใช้ก่อนเชือดจนไม่มีการตกค้างอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเลี้ยงโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดูเลยได้ ควรมีการกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้ใช้คำดังกล่าว และควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทั้งในฉลากทั้งเนื้อสัตว์แบบพรีเมียม และไม่พรีเมียม รวมทั้งระบุถึงมาตรฐานฟาร์มที่เป็นที่มาของเนื้อสัตว์ดังกล่าว ใครดูแลฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูป         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสังเกตจากฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปว่า “ประเทศไทยมีการกำหนดฉลากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ประเภทลูกชิ้น ไส้กรอก แหนม หมูยอ กุนเชียง และผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตทำนองเดียวกันนี้ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2544 เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และมีการกำหนดฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แต่ประกาศนี้ก็ไม่ใช้กับอาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใดๆ หรืออาหารสดที่ผ่านกรรมวิธีการแกะ ชำแหละ ตัดแต่ง หรือวิธีการอื่นใดเพื่อลดขนาด ซึ่งอาจแช่เย็นหรือไม่แช่เย็นและบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสด ฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปขาดการควบคุม         ดังนั้นจึงส่งผลให้ผลการสำรวจฉลากพบการแสดงฉลากที่หลากหลาย ขาดความชัดเจน ทั้งขนาดตัวอักษร รูปแบบการแสดงข้อความ ตลอดจนความชัดเจนของการสื่อความหมายของข้อความ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรการด้านฉลากดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือหน่วยงานอื่น ฉลากมีปัญหา โฆษณาก็ไม่ต่าง         การสำรวจฉลากเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยเพิ่มเติมในเรื่องของการโฆษณา ณ จุดขาย ดังนั้นทีมงานนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ลงสำรวจจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 44 ร้าน มีทั้งร้านตั้งเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า ร้านค้าในตลาด ร้านสะดวกซื้อ แผงในตลาดสด เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยเทียบกับหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พบการโฆษณาที่เข้าข่ายการแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร โดยมีการแจ้งคุณภาพของสินค้า พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) ซึ่งรูปแบบการแจ้งคุณภาพอาจจะกล่าวเพียงประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นได้ จากการสำรวจร้านขายได้กล่าวถึงความสะอาด 8 ร้าน, สด 6 ร้าน, คุณภาพ 4 ร้าน, อนามัย 2 ร้าน, ชุ่มฉ่ำ 2 ร้าน และพบคำว่าพรีเมี่ยม 1 ร้าน และเลี้ยงด้วยโปรไบโอติกส์อย่างละ 1 ร้าน         การอนุญาตให้สินค้าแต่ละชื่อการค้าโฆษณาตัวเอง พบ 8 ร้าน  (คิดเป็นร้อยละ 18.18) นอกจากนี้ยังพบการโฆษณาว่าปลอดภัย พบ 6 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 13.63) การโฆษณาว่าปลอดสารเร่งเนื้อแดง พบ 4 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 9.09) การโฆษณาว่าไม่ใช้ฮอร์โมน พบ 2 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 4.55) การโฆษณาสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK พบ 16 ร้าน (คิดเป็นร้อยละ 36.3) แต่ร้านที่มีสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK มีแจ้งคุณภาพของสินค้าเพียง 8 ร้านเท่านั้น การแจ้งคุณค่าทางโภชนาการของเนื้อสัตว์ที่ขาย พบเพียง 1 ร้าน และการกล่าวอ้างอื่น เช่น การกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ พบคำว่า “100% organic” การรับรองตนเอง พบคำรับรองประกันคุณภาพในบริษัท “มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ” “วงจรคุณภาพและความสดของแผนกเนื้อสัตว์”         จากข้อมูลการสำรวจการโฆษณา ณ จุดขายข้างต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ปรุฬห์ รุจนธำรงค์ วิเคราะห์ว่า ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 นั้นกำหนดให้การแสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร ต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา ซึ่งหากพิจารณาตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2564 การใช้คำว่า “สด” “ธรรมชาติ” “ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” “ออร์แกนิก” “อนามัย” “ถูกสุขอนามัย” “สะอาด” “คุณภาพ” เข้าข่ายบัญชีหมายเลข 3 ของประกาศนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการโฆษณาที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารที่ต้องยื่นคำขออนุญาตโฆษณาอาหาร หากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถือว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ไม่แปรรูปเป็นอาหารที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ก็ควรจะต้องมีการตรวจสอบโฆษณาทั้งเรื่องการขออนุญาต หรืออย่างน้อยก็ควรมีบทบาทในการตรวจสอบสิ่งที่กล่าวอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่         “หากมองในมุมกฎหมายการโฆษณาลักษณะนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นปัญหาด้านกฎหมายได้ หากมองในมุมของผู้บริโภคก็ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเชื่อถือหรือไว้วางใจได้หรือไม่ หากไม่ทราบข้อมูลจากผู้ขายเลยก็อาจขาดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ หากผู้ขายให้ข้อมูลมา แต่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยืนยันได้ว่าเรื่องใดจริงหรือเท็จผู้บริโภคก็ถูกเอาเปรียบได้เช่นกัน”         ด้าน ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ฉลากมีความหลากหลายของการนำเสนอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คำว่า’ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง’ ที่มีความหมายแตกต่างจากคำว่า ’ปลอดจากยาปฏิชีวนะ’ นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการใช้คำต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ มีขนาดเล็กมาก รวมถึงการระบุสรรพคุณของเนื้อสัตว์ จากการวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบ กติกา อาจมีช่องว่างของการควบคุมฉลากเนื้อสัตว์ดิบประเภทหมูและไก่ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์แปรรูปแปรรูปหรือไม่ จึงมีช่องว่างของการใช้คำโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เช่นคำว่า ปศุสัตว์  OK หมายถึงอะไรบ้าง การเคลมคุณสมบัติบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือ การแสดง ณ จุดจำหน่ายนี้ มีหน่วยงานใดมีหน้าที่ตรวจสอบบ้าง มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ควบคุม การกำหนดราคาสินค้าพรีเมียม มาตรฐานต่างๆข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค         1. ควรมีเจ้าภาพรับผิดชอบในการกำหนดลักษณะฉลากเนื้อสัตว์สดและการโฆษณาของร้านขายเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค         2 .ควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เนื่องจากพบการใช้คำโฆษณานี้มีความหลากหลาย มีทั้งการกล่าวอ้างด้านกระบวนการเลี้ยงดูที่เป็นธรรมชาติ และการกล่าวอ้างด้านไม่พบสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้ เช่น คำว่า “ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ” อาจสื่อความหมายได้ตั้งแต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยงดู หรือมีระยะหยุดยาก่อนการฆ่า หรือมีการใช้ยาแต่มีเนื้อสัตว์พบยาปฏิชีวนะตกค้างไม่เกินที่กำหนดในกฎหมาย จึงควรมีข้อกำหนดในการใช้คำให้ชัดเจน เช่น “Raised without antibiotics” (ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะทุกขั้นตอนของการเลี้ยง)         3. ควรมีหน่วยงานที่ติดตามและตรวจสอบการกล่าวอ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลทำให้ราคาสินค้าเกินกว่าความเป็นจริงได้ โดยเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาตรวจสอบการโฆษณาดังกล่าว        4. มีระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบฉลากของสินค้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 กระแสต่างแดน

เหงาเมื่อไรก็แวะมา         การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนมากมายรู้สึกโดดเดี่ยว บางคนก็ยังได้รับผลกระทบจากมันจนถึงวันนี้ งานวิจัยของสหภาพยุโรปพบว่าอัตราคนเหงาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12 เป็นร้อยละ 25         โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ที่การออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น         ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในเยอรมนีจึงเริ่มเปิดให้บริการเคาน์เตอร์ชำระเงิน แบบ “จ่ายไปคุยไป” สำหรับลูกค้าที่ต้องการเพื่อนคุยแก้เหงา (แต่ถ้าใครรีบก็ไปต่อคิวที่เคาน์เตอร์ปกติ หรือจะใช้บริการตู้เช็คเอาท์ด้วยตัวเอง ก็ไม่ว่ากัน)        ห้าง Edeka เปิด “เคาน์เตอร์เพื่อนคุย” ระหว่าง 9:00 – 11:00 น. วันจันทร์ถึงพฤหัส ในขณะที่ห้าง Schweinfurt ก็มีโครงการลักษณะนี้สัปดาห์ละหนึ่งวัน วันละไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง          ความเหงาส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันเลือดสูง เส้นเลือดสมอง เบาหวาน รวมถึงโรคสมองเสื่อม บริการนี้จึงมาแรง ข่าวว่าสวิตเซอร์แลนด์ก็เริ่มมีแล้วเช่นกันแจกเงินไม่เวิร์ค         งานวิจัยเกาหลีใต้พบ การลงทุนขยายหรือปรับปรุงศูนย์เด็กเล็กช่วยเพิ่มอัตราการเกิดได้ดีกว่าการให้เงินช่วยเหลือเป็นรายหัว         อัตราการเกิดของเกาหลีใต้อยู่ที่ 0.78 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก รัฐบาลท้องถิ่นจึงพยายามเรียกร้องของบประมาณเพิ่มเพื่อให้พ่อแม่ใช้เป็นค่าเลี้ยงดูเด็กเกิดใหม่         รายงานจากสถาบันการคลังท้องถิ่นระบุว่าการให้เงินสนับสนุนหนึ่งล้านวอน (ประมาณ 26,000 บาท) ต่อเด็กหนึ่งคน จะทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเพียง 0.03  แต่ถ้าใช้งบประมาณต่อหัวในจำนวนเดียวกันเพื่อขยายศูนย์เด็กเล็ก อัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นถึง 0.098         นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ “เงินคลอดบุตร” แบบจ่ายเป็นก้อน ได้ประโยชน์กว่าการจ่ายเป็นงวด และที่สำคัญถ้าเงินช่วยเหลือน้อยกว่า 2.5 ล้านวอน ( 64,000 บาท) ก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้         ข้อมูลดังกล่าวได้จากการวิเคราะห์นโยบายการดูแลเด็กที่รัฐบาลท้องถิ่น 226 แห่งได้ดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2021 ไม่เหมือนที่พูด         ดิสนีย์ฮ่องกงต้องรับทัวร์คณะใหญ่ หลังปล่อยเซตผลิตภัณฑ์ฉลองครบรอบ 100 ปี ในขวดพลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำไม่ได้ ทั้งที่บริษัทได้ประกาศบนเว็บไซต์ว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก         เซตดังกล่าวประกอบด้วยน้ำแร่บรรจุขวดขนาด 530 มล. มาคู่กับตุ๊กตาคาแรคเตอร์ของดิสนีย์ในขวดใส         หลังเกิดดราม่า สื่อฮ่องกงจึงซื้อมาทดสอบดู แล้วก็พบว่า “ขวดใส่ตุ๊กตา” ไม่สามารถใช้เป็นขวดน้ำได้ เพราะใส่แล้วน้ำซึมออกมาทางก้นขวดตรงบริเวณที่เปิดเอาตุ๊กตาออกมา         เนื่องจากสินค้าดังกล่าววางจำหน่ายใน 7/11 ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อที่มีประมาณ 1,000 สาขา ก็เลยต้องรับทัวร์เช่นกัน หลังเคยประกาศต่อสังคมว่าจะลดขยะและลดการใช้พลังงาน และอุตส่าห์สร้างชื่อด้วยการรับบริจาคอาหารเหลือ และตั้งถังรับขยะรีไซเคิล           ตัวแทนจากกรีนพีซฮ่องกงบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาที่ฮ่องกงประสบอยู่ ซึ่งก็คือการใช้บรรจุภัณฑ์เกินความเหมาะสมนั่นเองค่าแรงต้องขึ้น         ปัจจุบันร้อยละ 70 ของคนหนุ่มสาวไต้หวันมีรายได้อย่างต่ำ 27,000 เหรียญ (30,000 บาท) คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างในอุตสาหกรรมบริการ ขณะที่คนจบปริญญาตรีจะได้ค่าแรงเดือนละ 39,000 เหรียญ (43,000 บาท)         นักเคลื่อนไหวสายแรงงานบอกว่า ค่าแรงอัตรานี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับค่าที่อยู่อาศัยที่แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และค่าใช้จ่ายในการเรียนระดับปริญญาตรีที่ถือว่าสูงมาก         รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบอกว่าเหตุที่ค่าแรงต่ำก็เพราะแรงงานยังขาดทักษะที่อุตสาหกรรมหลักต้องการ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการสื่อสารไฮเทค รัฐบาลจึงได้อนุมัติเงิน16,000 ล้านเหรียญ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและทำให้รายได้เฉลี่ยของเด็กจบใหม่ขึ้นมาเป็นเดือนละ 42,000 เหรียญ หรือ 46,000 บาท          รายงานยังบอกอีกว่าเด็กไต้หวันใช้เวลาอยู่ในระบบการศึกษานานเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายนมหมดอายุ

        คุณน้ำตาล เจ้าของเรื่องราวที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เล่าว่า เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เธอไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง โดยเธอได้เลือกซื้อนมพร่องมันเนยยี่ห้อหนึ่งมา 1 แพ็ก ขนาด 225 มล. (แบบยูเอชที) หลังจากนั้นเมื่อเธอเดินทางกลับถึงบ้าน ก็นำนมที่ซื้อมาแช่เย็นไว้ในตู้เย็น ต่อมาเธอก็ได้หยิบนมดังกล่าวที่ซื้อมาดื่ม ขณะกำลังดื่มสายตาก็ดันเหลือบไปเห็นรายละเอียดวันหมดอายุบนกล่องนม อ้าว!! หมดอายุตั้งแต่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ทำไมเอาของหมดอายุมาขายกันนะ ห้างก็ออกจะชื่อดังระบบแย่ขนาดนี้เลย         คุณน้ำตาลยังดื่มนมไม่หมด แต่เธอก็กังวลเพราะดื่มเข้าไปแล้ว สำคัญคือเธอตั้งครรภ์อยู่ด้วย อย่างแรกที่ทำคือ เธอรีบติดต่อไปถึงห้างฯ ดังกล่าวเพื่อแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทันที ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องแจ้งเธอว่าจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 3-5 วัน คำตอบนี้เธอไม่โอเค จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไรต่อดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        เบื้องต้นผู้บริโภคหากพบปัญหาลักษณะนี้สามารถดำเนินการได้ตามแนวทางที่เขียนในกรณีของคุณกุ้ง (ซื้ออาหารดองหมดอายุจากห้างค้าปลีก)         กรณีคุณน้ำตาล วันที่ 15 มีนาคม 2566 ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตขอให้ตรวจสอบและแก้ไขถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นานทางผู้ร้องก็ได้แจ้งกับทางมูลนิธิฯ ว่าผู้ร้องได้รับการติดต่อจากบริษัทแล้ว โดยได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพทั้งหมด           อย่างไรก็ตาม คุณน้ำตาลแม้ว่ารับประทานเข้าไปแล้วก็จริง แต่เธอไม่ได้มีอาการป่วยอะไร อาจเพราะเธอเห็นวันหมดอายุตอนที่ดื่มเข้าไปไม่มาก เธอจึงขอปฏิเสธที่จะรับเงินในส่วนนี้ไปแต่ขอให้บริษัทฯ ช่วยชดเชยเป็นค่าเสียเวลาให้เธอจำนวน 30,000 บาท ทางมูลนิธิฯ จึงให้ข้อมูลกับทางผู้ร้องว่า การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะเรียกได้ และการจะได้รับค่าเสียหายตามที่เรียกร้องไปนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ทางบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อมีการเจรจาและทางบริษัทฯ ได้รับข้อเสนอคุณน้ำตาลไปพิจารณา ต่อมาได้รับการแจ้งจากผู้ร้องว่า บริษัทฯ ให้ไปรับเงินชดเชยจำนวน 5,000 บาท ที่สาขาที่ผู้ร้องใช้บริการ คุณน้ำตาลจึงข้อยุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ห้างดังวางขายอาหารหมดอายุ

        ผู้บริโภคต่างรู้กันอยู่แล้วว่าก่อนจะซื้อของกินทุกครั้งนั้น ต้องดูวันผลิตและวันหมดอายุอย่างรอบคอบ แต่บางทีถ้าซื้อเยอะๆ ใครจะไปตรวจดูได้ทุกชิ้น พอดูชิ้นสองชิ้นว่ายังไม่หมดอายุ ก็คิดเหมาว่าลอตเดียวกันน่าจะเหมือนกัน โดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะมีของที่หมดอายุแล้วปะปนอยู่ในนั้นด้วยเหมือนอย่างที่คุณกุ้งเพิ่งเจอมากับตัวเอง         เธอเล่าว่าไปซื้ออาหารทะเลดองจากห้างชื่อดังแห่งหนึ่งใกล้บ้านซึ่งเป็นห้างค้าปลีกที่ใช้บริการเป็นประจำ จำนวน 10 กระปุก จ่ายเงินไป 3,471 บาท แต่เมื่อนำมารับประทานแล้วเกิดท้องเสียอย่างรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงกลับบ้านและเริ่มค้นหาสาเหตุที่ทำให้เสียทั้งสุขภาพและเงินจำนวนพอสมควร อย่างแรกคือของดองต้องสงสัย         แล้วก็อย่างที่สงสัย เมื่อค่อยๆ พิจารณาดูฉลากบนกระปุกหอยดองที่เพิ่งเปิดกินไป ก็เจอแจ็กพอต!! เพราะระบุวันหมดอายุบนฉลาก ระบุว่าหมดอายุก่อนหน้าวันที่ซื้อไปถึงเดือนกว่าๆ (ซื้อสินค้าวันที่ 18 ก.พ. 66 แต่ของหมดอายุตั้งแต่ 1 ม.ค. 66) แถมพอไปดูที่ซื้อมาทั้งหมดก็พบว่ายังมีอีก 2 กระปุกที่หมดอายุนานแล้วเหมือนกัน เรียกว่าปนๆ กันไปกับของที่ยังอยู่ในสภาพไม่หมดอายุ         คุณกุ้งจึงติดต่อไปทางห้างชื่อดังที่ขายของหมดอายุแล้วนี้และได้คุยกับทางผู้จัดการ คุณกุ้งขอให้ผู้จัดการช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน แต่ทางนั้นจะขอเป็นคืนเงินค่าสินค้าทั้งหมดแทน ซึ่งเธอไม่รับข้อเสนอนี้ จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ผ่านช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากใครเจอกรณีเช่นเดียวกับคุณกุ้งนี้ แนะนำให้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้        1. ถ่ายรูปฉลาก โดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ขอให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)        2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน        3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น (เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน จ่ายค่าเสียเวลา ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น)         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงเจ้าของร้านค้านั้นๆกรณีคุณกุ้งอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเมื่อมีความคืบหน้าจะได้นำเสนอต่อไป ยังมีอีกเรื่องที่ผู้บริโภคพบปัญหาดื่มนมที่หมดอายุ ซึ่งซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตดัง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ห้างค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ เขาช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ” อย่างไร

        ปี 2564 นิตยสารฉลาดซื้อเคยทำสำรวจห้างค้าปลีกในประเด็นเรื่องนโยบายและมาตรการการจัดการกับสินค้า อาหารหมดอายุ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง ในการสำรวจครั้งก่อนมีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 3 ราย จาก 11 ราย มาในปี 2565 นี้ หลังจากข่าว “ชาวเน็ตโอด! ห้างดัง ‘เอาเปรียบผู้บริโภค’ โต้เลิกพูดเถอะ ‘ของสดใหม่ทุกวัน’ (ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/1607049/ ) ที่กล่าวถึงห้างนำเอาโดนัทที่หมดอายุแล้วมาปิดฉลากใหม่และวางจำหน่าย ซึ่งต่อจากข่าวนั้นมีประเด็นน่าสนใจหลายอย่างตามมา เช่น อย.ระบุว่าเอาผิดห้างไม่ได้ตาม พ.ร.บ.อาหาร ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย ส่วนการเอาผิดผู้ประกอบการต้องใช้กฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลจากทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จึงทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลเรื่อง ขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับอาหาร/สินค้าหมดอายุ จากบริษัทที่ดำเนินงานห้างค้าปลีก ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ 12 ราย ได้แก่        1.บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด        2.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด        3.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด        4.บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด        5.บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)         6.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)         7.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)         8.บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด        9.บริษัท วิลล่า มาร์เก็ท เจพี จำกัด        10.บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)         11.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด        12.บริษัท สห ลอว์สัน จำกัดทั้งนี้ฉลาดซื้อกำหนดการปิดรับคำตอบวันที่ 10 ธันวาคม 2565 และมีบริษัท 5 รายที่ให้ข้อมูล ดังนี้        ·     บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด……The Mall        ·     บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)        ..7 eleven         ·     บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด         ............        ลอว์สัน        ·     บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด...ฟู้ดแลนด์        ·     บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด....Lotus ผลการสำรวจ1.นโยบายการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง และช่องทางการร้องเรียน 2.มาตรการ ขั้นตอน การจัดเก็บสินค้า อาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง แหล่งข้อมูล1.หนังสือตอบจากบริษัท 5 ราย2.หน้าเว็บไซต์บริษัทฯ3.สอบถามเพิ่มเติมจากช่องทางลูกค้าสัมพันธ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 “เปิดคะแนนซูเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2021”

แคมเปญผู้บริโภคที่รักชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยขยับสูงขึ้น ใครคือตัวท็อป ?        ภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด หลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564         แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ท        ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น         โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12         สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้         อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่า คะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564  จาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก”           ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2561 องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย กินเปลี่ยนโลก และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผนึกกำลังสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ในประเทศไทยจำนวน 7 ราย ในชื่อแคมเปญว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ซึ่งในการสำรวจคะแนนปีแรกนั้น (การให้คะแนนวัดจาก 4 หัวข้อประกอบด้วย 1.สิทธิแรงงาน 2.สิทธิสตรี 3.เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย 4.ความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม) พบว่า  เรื่องสิทธิสตรีเป็นด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด โดยมีเพียง Tesco Lotus เพียงรายเดียวที่ได้คะแนนให้หัวข้อดังกล่าว (1 คะแนน) ส่วนหัวข้อที่น่าจับตามองเพราะมีสัญญาณเชิงบวกคือ ด้านเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อย (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 209 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยกับนโยบายสาธารณะด้านสังคม)         ในปีต่อมา 2562 หลังจากผ่านการทำงานด้านความคิดกับสังคมและผู้ประกอบการ คะแนนของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเริ่มดีขึ้นมานิดๆ จากปีแรกที่ทำการสำรวจ 8 ราย แต่ขอสงวนสิทธิ 1 ราย เหลือเพียง 7 รายที่แถลงข่าวต่อสาธารณะ ซึ่ง 4 ใน 7 มีคะแนน ส่วนอีก 3 รายไม่มีคะแนนปรากฎ อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ ผู้ประกอบการที่เคยไม่ยินยอมเรื่องการสำรวจก็ยินดีให้ความร่วมมือ ดังนั้นการสำรวจในครั้งที่สองจึงเป็นการสำรวจด้วยหัวข้อเดิม (4 ด้าน) ในผู้ประกอบการ 8 ราย พบว่า แม้คะแนนยังต่ำอยู่ และวิธีการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นแค่แนวทางด้านซีเอสอาร์มากกว่าการกำหนดไว้เป็นนโยบาย ซึ่งจะถือว่าเป็นข้อผูกมัดที่กำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม  แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น (ดูผลการสำรวจได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222 ผลประเมินซูเปอร์มาร์เก็ต)         ในปีที่สาม คณะทำงานเปลี่ยนชื่อแคมเปญจาก “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” สู่ “ผู้บริโภคที่รัก” เพราะตระหนักดีถึงบทบาทของผู้บริโภคว่าแท้จริงแล้วพลังของผู้บริโภคเองนั่นแหละที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ โดยในการสำรวจครั้งที่สามนี้ คณะทำงานได้สำรวจในสองหัวข้อใหม่ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะทำงานเอง (เดิม 4 หัวข้อเป็นเกณฑ์ที่คิดขึ้นโดยองค์การอ็อกแฟม) ได้แก่ หัวข้อเรื่องสวัสดิการผู้บริโภค และสวัสดิการด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายหลักก็คือ เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้บริโภค ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัยและขณะเดียวกัน ก็รช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อดูที่ตารางผลคะแนน  พบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งมีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในด้านผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ต่อสาธารณะ แต่ในภาพรวมถือว่า ยังต้องปรับปรุง(ดูรายละเอียดได้ที่นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 222) หมายเหตุ        วิธีการประเมิน ประเมินโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์ ,รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆท่านสามารถดูรายละเอียดต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ Dear Consumers | ผู้บริโภคที่รัก หรือ (1) ผู้บริโภคที่รัก | Facebook

อ่านเพิ่มเติม >

เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?

        แคมเปญผู้บริโภคที่รัก ชี้คะแนนการสำรวจนโยบายสาธารณะฯ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยสูงขึ้น ย้ำพลังเสียงผู้บริโภคมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงธุรกิจห้างค้าปลีกฯ ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ชวนหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ร่วมเผยมุมมองผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงผลคะแนนปีนี้ ในงาน     “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?”          แคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดยมูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ Oxfam (อ็อกแฟม) ประเทศไทย จัดงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” เผยภาพรวมของการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เปิดเผยต่อสาธารณะของผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ต 8 รายใหญ่ของไทย มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในทุกหัวข้อตัวชี้วัด ชี้ให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคที่มีผลต่อการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขการดำเนินกิจการของซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น พร้อมร่วมเผยมุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากผลคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้อย่างเจาะลึก โดยหมอตั้ม -     นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข เซเลบริตี้เชฟชื่อดัง ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคที่ใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ         คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นสาเหตุที่แคมเปญผู้บริโภคที่รักจึงมีการจัดทำ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ซึ่งถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วในปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาพรวมในเชิงสถิติมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดทุกปี  โดยหลักเกณฑ์การประเมินในปี 2564 แบ่งออกเป็น 7 ตัวชี้วัดหลัก ได้แก่ นโยบายด้านความโปร่งใสและความรับผิด, นโยบายแรงงาน ,นโยบายด้านผู้ผลิตรายย่อย, นโยบายด้านความเท่าเทียมทางเพศ, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม, นโยบายด้านความปลอดภัยทางอาหาร และ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทย 8 ราย ได้แก่ โลตัส, แม็คโคร, บิ๊กซี, ท็อปส์, ฟู้ดแลนด์, ซีพี เฟรชมาร์ท, กูร์เมต์ มาร์เก็ต และวิลล่า มาร์เก็ต”         “ผลจาก “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทางปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” พบว่าภาพรวมของคะแนนการประเมินเฉลี่ยในทุกตัวชี้วัดเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการห้างค้าปลีกหลายราย ได้ประกาศนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เช่น มีการประกาศนโยบายการจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) และนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”         โดยเมื่อรวมคะแนนทั้ง 7 ตัวชี้วัด โลตัสได้อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 35.83 คะแนน จาก 165 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.72 บิ๊กซีตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 24 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 14.54 และซีพี  เฟรชมาร์ท ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.12         สำหรับหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนมากที่สุด คือ หมวดสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 25.54% ขณะที่หมวดเพศเป็นหมวดที่ห้างค้าปลีกได้คะแนนน้อยที่สุด ได้คะแนนค่าเฉลี่ย 3.00% โดยมีเพียง โลตัส ท็อปส์ และแม็คโคร ที่ได้คะแนนบางส่วนในหมวดนี้        อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบคะแนนค่าเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการประเมินนโยบายสาธารณะของห้างค้าปลีกในปี 2561 (หมวดด้านสังคม) และ ปี 2562 (หมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค) จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยหมวดด้านสังคมคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.58% ในปี 2561 เป็น 5.45% ในปี 2564 ส่วนหมวดด้านสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคเพิ่มจาก 5.79% ในปี 2562 เป็น 13.29% ในปี 2564         “โดยการประเมินในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางที่จะยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตเท่านั้น ชี้ให้เห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใดบ้างที่กำลังเดินหน้าอยู่ในเส้นทางนี้ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าพลังของผู้บริโภคในการจัดกิจกกรมในครั้งนี้จะเป็นกระจกสะท้อนไปยังผู้ประกอบการ และก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Movement) นำไปสู่สัญญาประชาคม (Social Commitment) ที่จะ  สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งการต่อยอดสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขในจุดที่บกพร่องเพื่อสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่ อุปทานอาหารของเรา” คุณภานุพันธุ์ สมพงษ์ กล่าวเสริม         ในส่วนของมูลนิธีชีววิถี ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก โดย คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยากล่าวว่า “หลายๆ ปีที่ผ่านมามูลนิธีชีววิถีมีความมุ่งมั่นในการ สร้างการรับรู้เรื่องผลกระทบต่าง ๆ เกี่ยวกับอาหารผ่านแคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก”   ไม่ใช่แค่เรื่องของความปลอดภัยในอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาแวดล้อมในเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นที่มา และกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการเพาะปลูก การเลี้ยง การขนส่ง การแปรรูป การจัดจำหน่าย ที่สามารถสร้างผลกระทบตามมาหลังจากการบริโภค เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตถือเป็นอีกหนึ่งสมาชิกในวงจรของการอุปโภค บริโภค ที่ต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมถึงการคัดเลือกสินค้า ผู้ผลิต และคู่ค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคุณธรรม     จริยธรรมทางสังคมได้มากที่สุด ซึ่งการ “รายงานการประเมินนโยบายและแนวทาง ปฏิบัติของห้างค้าปลีกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ” ถือเป็นตัวชี้วัด ที่จะช่วยเพิ่มข้อมูลข่าวสาร และสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเลือกใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตที่มี นโยบายและแนวทางในการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับความต้องการ และอุดม-การณ์ ของตนเองได้ง่ายยิ่งขึ้น”         ด้านคุณทัศนีย์ แน่นอุดร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภาคีเครือข่ายของแคมเปญผู้บริโภคที่รัก กล่าวว่า “พลังของผู้บริโภคมีส่วนอย่างยิ่ง ในการกำหนดนโยบายของ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยิ่งผู้บริโภค มีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังในการทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตหันมารับฟังได้ง่ายขึ้น การออกนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ เป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาเก็ตทำอยู่แล้ว แคมเปญของเราแค่เป็นการกำหนดกรอบ และนำเสนอผลคะแนนจากการประเมินเพื่อให้ซูเปอร์มาร์เก็ตตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ชัดเจน และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของตนเองได้รวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจากผลคะแนนที่ปรากฏในปีนี้ทางแคมเปญผู้บริโภคที่รัก อยากขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกให้ความสนใจมิติด้านความเหลื่อมล้ำ และปัญหาเรื่องเพศ และสตรีมากขึ้น ในส่วน  มิติด้านอาหารปลอดภัยขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งถือเป็นแน้วโน้มที่ดีที่ปัจจุบัน มีห้างค้าปลีกหลายแห่งกำลังพัฒนาหรือนำไปใช้แล้วแต่ยังมีปัญหาในด้านการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอาจไม่ครบถ้วน จึงขอให้ห้างค้าปลีกมีการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะมากขึ้น เช่น ข้อมูลของคู่ค้า, แหล่งการผลิต ครอบคลุมไปยังอาหารประเภทต่างๆ ให้ได้มากยิ่งขึ้น”         นายแพทย์ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข หรือหมอตั้ม เซเลบริตี้เชฟชื่อดังในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคให้ความเห็นว่า “ในอดีตที่ผ่านมาผู้บริโภคอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการค้าปลีกมากเท่าที่ควร ถึงแม้จะมีการไปใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เป็นประจำในฐานะของเชฟ แต่หลังจากรับฟังการเปิดเผยผลคะแนนในวันนี้ทำให้ทราบว่า ที่มาของอาหารสามารถสร้างผลกระทบได้ต่อหลายภาคส่วนได้มากมายจริงๆ นอกเหนือจากแง่มุมขอความปลอดภัยของอาหาร หลังจากนี้ผู้บริโภคอาจจะต้องมองให้รอบถึงปัจจัยต่างๆ ในการใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตนอกเหนือจากปัจจัยด้านความสะดวก เรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ความโปร่งใสของข้อมูล และที่มาของอาหารก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ซึ่งหากทุกคนให้ความสำคัญสิ่งเหล่านี้ จะก่อให้เกิดเป็นพลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีให้กับอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยโดยรวมอย่างแน่นอน”         ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดิโอจากงาน “เปิดคะแนนซูเปอร์ฯ ไทย ปี 2021 ปลายภาคนี้ ใครคือตัวท็อป?” ย้อนหลังแบบเต็มๆ ได้ทางเฟสบุ๊คแฟนเพจ ผู้บริโภคที่รัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ห้างไหนช่วยเซฟคุณจาก “อาหารหมดอายุ”

        จากเรื่องร้องเรียนเรียนเกี่ยวกับอาหารหมดอายุที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า ที่มีเข้ามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง นิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้ประกอบการ ในเรื่องโยบายว่าด้วยการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุออกจากชั้นวาง โดยบริษัทมีระยะเวลาในการตอบกลับตั้งแต่วันที่ 5 - 23 เมษายน 2564          จากทั้งหมด 11 บริษัทที่ได้รับแบบสอบถาม มีบริษัทที่ตอบกลับมาเพียง 3 ราย คือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  (Big C)เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (Tesco Lotus)อิออน (ไทยแลนด์) (Maxvalu)ซึ่งในภาพรวมพบว่าทั้ง 3 ราย มีนโยบาย มาตรการ ขั้นตอน ช่องทางร้องเรียน และการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางค่อนข้างชัดเจน อาจแตกต่างกันบ้างในอาหารแต่ละประเภท  รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย มาตรการ ช่องทางและระยะเวลาจัดการกับเรื่องร้องเรียน ของผู้ประกอบการทั้งสามรายมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย ผลการสำรวจ(ผลการสำรวจมี 5 หัวข้อ ใช้หัวข้อละ 1 หน้า หน้าไหนข้อมูลน้อยลงภาพประกอบ)ความคิดเห็นต่อเรื่องการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cคำนึงถึงลูกค้าเป็นอันดับแรก โดยตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องสินค้าหมดอายุเป็นอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพอยู่เสมอ โดยได้กำหนดให้มีมาตรการในการจัดการเรื่องการเก็บสินค้าที่ใกล้หมดอายุและหมดอายุออกจากชั้นวาง เช่น การทำ MOU สินค้า (First in First out) การกำหนดระยะเวลาที่จะเก็บสินค้าออกจากชั้นวางฯ ล่วงหน้าก่อนหมดอายุ เป็นต้นMaxvaluให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินการด้านสินค้าอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ เป็นอย่างมาก ในทุกๆ แผนกไม่ว่าจะเป็นสินค้าหารสดหรือาหารแห้ง ต้องเก็บออกจากชั้นวาง ตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีสินค้าหมดอายุในพื้นที่ขายและเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกค้าที่มาใช้บริการTesco Lotusตระหนักและให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยคือหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุด เพื่อผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากสาขาและช่องทางออนไลน์ได้บริโภคสินค้าที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูงสุด โดยมีมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ หรือ อาหารหมดอายุ ออกจากชั้นวางสินค้าทันที           นโยบายในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวางBig Cนโยบายเกี่ยวกับการจัดการกับอาหารที่ใกล้หมดอายุ มีดังนี้        1. ห้ามจำหน่ายอาหารที่หมดอายุ        2. การทำ FIFO สินค้า (First in First out) เพื่อบริหารสินอายุสินค้า        3. กำหนดระยะเวลาในการเก็บออกจากชั้นวาง ล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ        4. สินค้าจะถูกเก็บล่วงหน้าก่อนวันหมดอายุ 1 วัน เพื่อทำลายทิ้ง Tesco Lotusมีแนวปฏิบัติเรื่องการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้า (Data Code Management) ซึ่งกำหนดมาตรการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า โดยนำหลักบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมอายุการวางจำหน่ายสินค้าMaxvaluมีนโยบายในการตรวจเช็คสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุ โดยมีแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินการ และผู้รับผิดชอบแต่ละแผนกอย่างชัดเจน หากพบว่าการดำเนินการมีปัญหา ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้มีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขทันที มาตรการ ขั้นตอน ในการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง Big Cขั้นตอนในการดำเนินการตามนโยบายดังที่กล่าวมาข้างต้น มีดังนี้        1. การทำ FIFO สินค้า (First in First out)            - ดำเนินการในทุกวันก่อนเปิดบริการ และระหว่างวันตามเวลาที่กำหนด            - ทำการคัดแยก หากพบอาหารที่ใกล้หมดอายุตามที่กำหนด            - หากพบอาหารเสื่อมสภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ให้เก็บออกจากชั้นวางฯ และนำไปกำจัดหรือทำลายตามวิธีการที่กำหนด        2. มีการตรวจสอบโดยหน่วยงานเฉพาะ Maxvaluมาตรการเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ ออกจากชั้นวาง  คือ ปลา/เนื้อ ก่อนหมดอายุ 1-3 วัน ผัก/ผลไม้ ผลไม้ตกแต่ง สินค้าฝากขาย ก่อนหมดอายุ 1 วัน และ Dry/San&HBC ก่อนหมดอายุ 1 เดือน Tesco Lotusมาตรการการจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุ และสินค้าที่ด้อยคุณภาพ หรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคออกจากชั้นวางสินค้า มีขั้นตอนดังนี้        1.   สินค้าที่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุสินค้า        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ใกล้หมดอายุและนำออกจากชั้นวางสินค้า ก่อนถึงวันหมดอายุอย่างน้อย 15 วัน แล้วแต่ประเภทและอายุสินค้า (shelf life) อาทิ สินค้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันหมดอายุ และสินค้าที่มีอายุระหว่าง 2-6 เดือน จะถูกนำออกจากชั้นวางสินค้าอย่างน้อย 15 วัน เป็นต้น        2.   สินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุ        ร้านค้าจะตรวจสอบสินค้าที่ไม่ระบุวันหมดอายุบนภาชนะบรรจุ โดยนับอายุสินค้าจากวันผลิตที่แสดงอยู่บนภาชนะบรรจุเดิม ตามที่ระบุไว้ใน Shelf Life Guideline เพื่อจัดเก็บอาหารใกล้หมดอายุ/หมดอายุออกจากชั้นวาง ได้อย่างถูกต้องตามกำหนดนอกจากนั้น ในส่วนของอาหารสด  ฝ่ายควบคุณภาพสินค้าจะดำเนินการตรวจสอบปริมาณสินค้าสด และนำสินค้าที่ใกล้หมดอายุ/หมดอายุจากชั้นวาง (Stock take) ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือของฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบปริมาณสินค้า และการนำสินค้าออกจากชั้นวาง จะแตกต่างกันออกไปตามประเภทสินค้าช่องทางร้องเรียนBig Cผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 2 ช่องทาง    - Big C contact center โทร 1756 กด 2    - Facebook (FB) : Big C (ส่วนกลางและสาขา) Maxvaluผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - สำนักงานใหญ่ โทร 02-9701826-30 ต่อแผนก customer service    - เว็บไซต์ของบริษัท www.aeonthailand.co.th    - Facebook: MaxvaluThailand  Tesco Lotusผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ 3 ช่องทาง    - ร้านค้า ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน    - โทรสายด่วน 1712    - Facebook: Tesco Lotus และ Tesco Lotus Online      หากเป็นกรณีสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ผู้บริโภคสามารถขอรับเงินค่าสินค้าคืนได้ทันที นอกจากนี้ทุกข้อร้องเรียนปัญหาสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย จะถูกส่งต่อไปยังทุกฝ่ายที่jเกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบอย่างรอบด้านและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนBig Cดำเนินการติดต่อกับลูกค้าที่ร้องเรียน และประสานงานไปที่สาขาที่ถูกร้องเรียน หลังจากนั้นสาขาจะติดต่อกลับโดยเร็วที่สุดMaxvaluแก้ปัญหาทันทีที่ทราบเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน Tesco Lotusแก้ไขปัญหา คืนเงินค่าสินค้าตามช่องทางการร้องเรียนต่างๆ ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง นับจากได้รับเรื่องร้องเรียน ----ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของป่าสาละ ที่สำรวจประเมินความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคผ่านการจัดซื้ออาหารสดของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 6 แห่ง และห้างค้าปลีกขนาดกลางที่เน้นขายอาหารสดอีก 2 แห่ง (Big C / CP Fresh Mart / Foodland / Gourmet Market / Makro/  Tops / Tesco Lotus และ Villa Market) ประจำปี 2562 โดยใช้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563จากการสำรวจโดยใช้ตัวชี้วัด 8 ด้าน ได้แก่ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบที่มาของอาหาร ภาวะโภชนาการ กลไกรับเรื่องร้องเรียน กลไกเยียวยา การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผู้วิจัยพบว่า จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ห้างเหล่านี้ 5 รายไม่ได้คะแนนเลย ในขณะที่อีกสามห้างที่ได้คะแนนจากตัวชี้วัดเหล่านี้ได้แก่ Makro ที่ได้ไป 25 คะแนน  Top ได้ 16.67  และ CP Fresh Mart ที่ได้ไป 12.50 คะแนนอีกประเด็นที่น่าสนใจในการสำรวจดังกล่าวคือมีตัวชี้วัด 2 ด้าน ได้แก่ กลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ที่ไม่มีห้างไหนให้ข้อมูลไว้เป็นสาธารณะให้ผู้บริโภคได้ทราบเลย 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 236 ห้างค้าปลีกใส่ใจคุณแค่ไหน

        ฉลาดซื้อเคยนำเสนอผลการประเมินนโยบายด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในการจัดซื้ออาหารสด ของห้างค้าปลีกขนาดกลางและขนาดใหญ่ 8 แบรนด์ (Big C, CP Fresh Mart, Foodland, Gourmet Market, Siam Makro, Tesco Lotus, Tops, และ Villa Market) มาแล้ว และพบว่าโดยรวมแล้วห้างในบ้านเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนักคราวนี้เรามาเจาะลึกดูเรื่องความรับผิดชอบต่อ “สวัสดิการของผู้บริโภค” กันบ้าง ตัวชี้วัดที่จะให้คะแนนคราวนี้ได้แก่ข้อมูลในเรื่องต่อไปนี้ที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563  1.   ความปลอดภัยของอาหารในร้าน: บริษัทมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาหารที่ได้มาตรฐานและโปร่งใสหรือไม่2.   ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร: บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารหรือไม่3.   ภาวะโภชนาการ: บริษัทให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการหรือไม่ อย่างไร4.   กลไกรับเรื่องร้องเรียน: บริษัทมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่5.   กลไกเยียวยา: บริษัทมีกลไกเยียวยาที่มีประสิทธิผลและโปร่งใสหรือไม่6.   การมีส่วนร่วมของผู้บริโภค: บริษัทเปิดให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภค มีส่วนร่วมในประเด็นความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่7.   การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค (consumer education): บริษัทให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของอาหารมากน้อยเพียงใด8.   ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ: บริษัทให้ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากน้อยเพียงใดในประเด็นสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย  แต่ละตัวชี้วัดจะมีสามข้อย่อย ซึ่งหากผู้วิจัยพบว่ามีข้อมูลในข้อนั้นก็จะให้หนึ่งคะแนน รวมทั้งหมดจึงเป็น 24 คะแนน ในภาพรวมเราพบว่าสิ่งที่ห้างค้าปลีกทำคะแนนได้มากที่สุดสามอันดับแรกคือ การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ประเด็นภาวะโภชนาการ และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ · หมายเหตุ บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานความก้าวหน้าเรื่อง ผลการประเมินความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการผู้บริโภค ในธุรกิจอาหารและการจัดซื้ออาหารของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจัดทำโดยทีมวิจัยป่าสาละ   ใครได้คะแนนสูงที่สุด Siam Makro ได้คะแนนสูงสุดในหมวดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค (5 คะแนน จาก 24 คะแนน หรือร้อยละ 20.83)[JM1]  บริษัทกำหนดให้คู่ค้าเปิดเผยส่วนประกอบและแหล่งที่มาของอาหารบนฉลากอย่างชัดเจน รวมถึงสัดส่วน GMO ด้วย ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในประเด็นภาวะโภชนาการผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะ ประกาศนโยบาย/กลยุทธิ์เพื่อความยั่งยืนในห่วงโซ่อาหารอย่างชัดเจน มีโครงการด้านสวัสดิการผู้บริโภคหรือสิ่งแวดล้อมของอาหาร ร่วมกับองค์กรภาคประชาชน ที่ใช้กลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย และมีบทบาทในการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนในระดับอุตสาหกรรม  อันดับสองได้แก่ Tops ได้ไป 4 คะแนน (ร้อยละ 16.67) บริษัทให้ความรู้เรื่องโภชนาการแก่ผู้บริโภค ผ่านป้ายรณรงค์ในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ รวมถึงรณรงค์และให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของอาหารแก่ผู้บริโภคทั้งในร้านและช่องทางสาธารณะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย มีกลไก/แนวปฏิบัติในการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจน บริษัทประกาศนโยบายความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร และกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน  อันดับสามคือ CP Fresh Mart ได้ 3 คะแนน (ร้อยละ 12.50) บริษัทประกาศนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ชัดเจน มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด และมีการรายงานความคืบหน้ารายปี มีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่ชัดเจนและมีแนวปฏิบัติรวมถึงกำหนดระยะเวลาที่ผู้บริโภคจะได้รับการตอบรับเรื่องร้องเรียนส่วนที่เหลือ (Big C, Foodland, Gourmet Market, Tesco Lotus, และ Villa Market) ไม่มีคะแนน  ในภาพรวมห้างค้าปลีกในบ้านเรายังต้องมีการปรับปรุงในเรื่องนี้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลไกเยียวยา และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและองค์กรตัวแทนผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม  ระหว่างนี้มาดูตัวอย่างแนวปฏิบัติหรือนโยบายที่น่าสนใจของสามห้างที่ได้คะแนนอันดับต้นๆ กันไปก่อน ·ความปลอดภัยของอาหารแอปพลิเคชัน Scan Me ของ Tops  ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตและสถานที่จําหน่ายเนื้อสัตว์และซีฟู้ด (ปลา) ณ จุดขายใน 24 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้ได้สินค้าที่สด สะอาด ปลอดภัย ·ส่วนประกอบ/ที่มาของอาหารSiam Makro ส่งเสริมการแสดงฉลากสําหรับถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ประกอบด้วย 22ชนิด ·ความรู้เรื่องภาวะโภชนาการSiam Makro จัดทําฉลากแสดงค่าพลังงาน ปริมาณนํ้าตาล ไขมัน และโซเดียม (Guideline Daily Amount –GDA) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการลดความหวาน มัน หรือเค็มได้ ในขณะที่ Tops ให้ความรู้ผู้บริโภคในเรื่องวิธีหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ·กลไกรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคCP Fresh Mart มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสินค้า/บริการของซีพีเฟรชมาร์ท โดยกําหนดรูปแบบการจัดการข้อร้องเรียนไว้ 3 ระดับตามความความรุนแรงของปัญหา และทําหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามผลการตรวจสอบจนปัญหาของลูกค้าได้รับการแก้ไข ข้อร้องเรียนด้านคุณภาพ (เช่น สี กลิ่น รส ฯลฯ) ใช้เวลาจัดการภายใน 5 วัน ข้อร้องเรียนด้านความปลอดภัย (เช่น สิ่งแปลกปลอม) ภายใน 3 วัน และข้อร้องเรียนด้านวิกฤต (เช่น ผู้บริโภคเจ็บป่วย) ภายใน 24 ชั่วโมง ·การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเรื่องความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานอาหารTops ประกาศนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน “เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการพัฒนา คัดสรรสินค้าที่นํามาจําหน่ายอย่างรับผิดชอบ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย แหล่งที่มาของสินค้าสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น มีกระบวนการจัดซื้อเป็นธรรมและโปร่งใส ผลักดันผู้ร่วมค้าให้พัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบการประกันคุณภาพที่สามารถมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย” Siam Makro กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2563 คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดต้องได้รับการตรวจประเมินด้านความยั่งยืน และมีแนวทางการจัดหาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักทั้งหมดก็ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่า CP Fresh Mart กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 5 ปี ระหว่างปี 2559-2563 ไว้ดังนี้ การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยตลอดกระบวนการ การส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร การพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีการระบุเป้าประสงค์ที่ชัดเจน และจัดทํารายงานความยั่งยืนประจําปีมาตั้งแต่ปี 2554   ·ความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นSiam Makro ร่วมมือกับกรีนพีซ (Greenpeace) เพื่อยกระดับกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตทูน่าชนิดก้อนในน้ําเกลือ ตราเอโร่ (aro) ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง แม่นยํา มีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ทูน่าที่ใช้ แหล่งที่มา เช่น มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code ที่สินค้าก็จะทราบว่าปลาทูน่าถูกจับด้วยวิธีการใช้อวนล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ทําลายสิ่งแวดล้อม  บทความนี้นำเสนอเพียงส่วนหนึ่งของการประเมินในสามด้านได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก 2) สิ่งแวดล้อมคู่ค้า-ความปลอดภัย และ 3) ผู้บริโภค โดยแต่ละหมวดประกอบด้วย 8 ตัวชี้วัด หมวดละ 24 คะแนน (คะแนนรวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 72 คะแนน)  จากผลคะแนนโดยรวมทั้งสามด้าน เราจะเห็นว่า Siam Makro, Tops, และ CP Fresh Mart ได้คะแนนสูงสุด (9 จาก 72 คะแนน หรือร้อยละ 13.89) ตามด้วย Tesco Lotus ที่ได้คะแนน 3 แต้ม หรือร้อยละ 4.63 ในขณะที่ Gourmet Market ได้ไป 2 แต้ม โดยได้คะแนนจากมิติด้านสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีกห้างที่ไม่ได้คะแนนด้านใดเลยตามเกณฑ์ของงานวิจัยชิ้นนี้ได้แก่ Big C  Villa Market และ Foodland ------สำหรับนโยบายเรื่องการลดถุงพลาสติก (สำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งในหมวดสิ่งแวดล้อม-ห้างค้าปลีก ทีมวิจัยให้ Gourmet Market  Tesco Lotus และ Tops ห้างละ 2 คะแนน  Gourmet Market มีโครงการ เดอะมอลล์ กรุ๊ป โก กรีน (THE MALL GROUP GO GREEN) GREEN EVERYDAY งดบริการถุงพลาสติกทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม เป็นต้นมา  Tesco Lotus มีนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จําเป็น โดยเริ่มใช้มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกสําหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในสาขาเอ็กซ์เพรสและตลาดทั่วประเทศ รวมประมาณ 1,800 สาขา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 Tops มีมาตรการงดใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น งดใช้กล่องโฟมในโซนฟู้ดพาร์ค และโซนซื้ออาหารกลับบ้านในศูนย์อาหารทุกแห่งที่บริหารงาน โดย “CPN ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลในการงดใช้ถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนในTopsห้างสรรพสินค้าและเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์”  ในขณะที่ CP Fresh Mart และ Siam Makro ได้ไปห้างละ 1 คะแนน CP Fresh Mart งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันพุธตลอดปี 2562 มีแคมเปญรักษ์โลก ‘ชวนช้อป! พกกระเป๋า ไม่เอาถุง’ ตั้งเป้าลดถุงพลาสติกปีละ 3 ล้านใบ และจะเป็นร้านปลอดถุงพลาสติกในปี 2565   Siam Makro ไม่มีการแจกถุงพลาสติกมาตลอด 29 ปีของการดําเนินธุรกิจ ถึงปัจจุบันลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 5,400 ล้านใบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เดินห้างแล้วของหล่นใส่เรียกร้องอย่างไรดี

  ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งให้ห้างใหญ่อย่างเป็นสุข คงไม่มีใครคาดว่าจะเกิดอุบัติเหตุสินค้าบนชั้นวางหล่นใส่ศีรษะโครมใหญ่ มาดูกันว่า มีวิธีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรบ้าง   เมื่อพฤศจิกายน ปีที่แล้ว คุณพรสรวง ไปเลือกซื้อสินค้าในห้างใหญ่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน ย่านพุทธมณฑล ระหว่างเลือกซื้ออย่างเพลินๆ ทันใดสินค้าจากชั้นวางด้านบนสุดได้หล่นโครมใส่ศีรษะคุณพรสรวงอย่างจัง เป็นกล่องพลาสติกขนาดใหญ่จำนวนหลายกล่อง สาเหตุเกิดจากพนักงานซึ่งกำลังจัดเรียงสินค้าอยู่ ได้ขยับบันไดเพื่อเปิดทางเดินให้ลูกค้า แต่พนักงานไม่ได้ระมัดระวังให้มากพอ บันไดจึงไปเกี่ยวเข้ากับกล่องพลาสติกที่จัดวางไว้ชั้นบนร่วงลงมากระแทกใส่ศีรษะและไหล่ด้านขวาของคุณพรสรวง   พนักงานของทางห้างรีบนำคุณพรสรวงส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง เนื่องจากบาดเจ็บที่ศีรษะจึงต้องพักดูอาการที่ห้องไอซียู 24 ชั่วโมง ต่อมาจึงย้ายเข้าพักที่ห้องพิเศษเพื่อรอทำการสแกนสมองและร่างกาย ซึ่งบริษัทเจ้าของห้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผลสแกนพบว่ามีความผิดปกติที่คอและเอว ทำให้ต้องรักษาพยาบาลต่อเนื่องอีก 2 คืน จากนั้นจึงกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านอีก 5 วัน และมีนัดทำกายภาพบำบัดต่อเนื่อง หลังจากดำเนินการทำกายภาพบำบัดไปสองครั้ง คุณพรสรวงต้องการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากการรักษา และได้แจ้งต่อทางบริษัทไป   ทางบริษัทมิได้ปฏิเสธ แต่ได้ขอให้คุณพรสรวงส่งหนังสือรับรองเงินเดือนเพิ่มเติม และแจ้งว่าจะดำเนินการให้ ต่อมาคุณพรสรวงเริ่มมีอาการเจ็บแปลบๆ ที่แขนซ้าย ข้อศอกซ้ายและมีอาการชาที่มือ จึงได้แจ้งต่อทางบริษัททราบ โดยทางบริษัทได้ให้คุณพรสรวงไปพบแพทย์ที่ โรงพยาบาลพญาไท 1 ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอาการของกล้ามเนื้อและปลายประสาทอักเสบ ต้องรับประทานยาและทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 วัน เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้รวมเป็นค่าใช้จ่าย 17,366 บาท โดยการรักษาครั้งนี้คุณพรสรวงต้องเดินเรื่องเอง ทั้งการจัดส่งเอกสารและรอเบิกเงินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นทางบริษัทได้เสนอเงินชดเชยให้ในจำนวนเงิน 20,000 บาท ระบุว่าเป็นค่าพักรักษาตัวและค่าทำกายภาพบำบัด แต่ไม่ได้มีการเยียวยาหรือจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมให้ คุณพรสรวงจึงไปแจ้งความไว้กับทาง สภ.สามพราน เพื่อเป็นหลักฐานแจ้งต่อทางบริษัทว่าต้องการให้ทางบริษัทชดเชยในส่วนของค่ารักษานี้จาก 20,000 เป็น 50,000 บาท  เพราะแพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องทำกายภาพบำบัดไปอีกกี่ครั้ง ส่วนในประเด็นค่าเสียหายเพิ่มเติมนั้น คุณพรสรวงระบุจำนวนไว้ที่ 178,302 บาท โดยไม่รวมถึงค่ากายภาพบำบัดที่เรียกไปที่ 50,000 บาท แต่ทางบริษัทขอต่อรองลดลงมา ทางคุณพรสรวงจึงต้องการที่ปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหา   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้สินไหมทดแทนเพื่อการนั้น   กรณีนี้คุณพรสรวงเป็นผู้เสียหายจึงเรียกร้องสิทธิได้ตามกฎหมายกำหนดไว้  อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ต้องไปดำเนินการถึงขั้นฟ้องศาล ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ช่วยดำเนินการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่ายใช้เวลากว่าครึ่งปี จึงสามารถยุติเรื่องได้และผู้ร้องได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่เรียกร้องไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 อาหารหมดอายุกว่า 4 เดือนแต่ยังวางขายอยู่ในห้าง

ภูผา คุณพ่อวัยรุ่นมือใหม่ กำลังตื่นเต้นเห่อลูกคนแรกมาก อะไรว่าดีก็หามาให้ลูกได้รับประทานเสริม โดยหวังให้ลูกแข็งแรง แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นดังหวัง สาเหตุเกิดจากอะไรมาดูกันคุณภูผาซื้อข้าวกล้องงอกบด ผสมกล้วยและผักขมออร์แกนิค ยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 3 กล่อง จากร้านวิลล่ามาเก็ท สาขาเพลินจิต เมื่อคุณภูผาได้นำข้าวกล้องบดผสมน้ำให้ลูกน้อยทาน ปรากฏว่า ลูกสาวมีอาการผิดปกติ ร้องไห้จ้าโดยไม่ทราบสาเหตุ และท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวผิดปกติ คุณภูผาจึงลองตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอกที่ให้ลูกน้อยรับประทานก็พบว่า ข้าวกล้องงอกบดนั้นหมดอายุมากว่า 4 เดือนแล้ว เมื่อคาดว่าปัญหาน่าจะมาจากเหตุที่อาหารหมดอายุ  ตัวคุณพ่ออาสาดูแลลูกน้อย ส่วนคุณแม่ ภรรยาของคุณภูผา ได้นำสินค้าที่หมดอายุไปร้องเรียนยังวิลล่ามาเก็ทสาขาที่ซื้อมา ซึ่งวิธีการของวิลล่ามาเก็ทคือ พนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนและเก็บสินค้าไว้ก่อน และแจ้งว่าจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไป ซึ่งก็โทรศัพท์ติดต่อมาจริง  โดยแจ้งให้คุณภูผาพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรักษาพยาบาลและออกใบรับรองแพทย์  คุณหมอให้ความเห็นในใบรับรองแพทย์ว่า “อาหารเป็นพิษ” คุณภูผาจึงได้แจ้งให้ทางห้างทราบ...ต่อมาเมื่อคุณภูผาได้เข้าไปสอบถามความคืบหน้ากับสาขาที่ซื้อสินค้า พนักงานเพียงแจ้งว่าได้แจ้งสำนักงานใหญ่แล้ว คุณภูผาจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ไม่ว่าจะพยายามทวงถามความคืบหน้าเรื่องการแสดงรับผิดชอบของวิลล่ามาเก็ทสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงมาร้องเรียนยังมูลนิธิเพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งผู้ร้องว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแนะนำเรื่องการคำนวณค่าเสียหายคุณภูผาและวิลล่ามาร์เก็ท มาเจราที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ โดยวิลล่าฯ เสนอเยียวยาเป็นหนังสือขอโทษและชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 1 ฉบับ, เงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง, และเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย 5,000 บาท คุณภูผาปฏิเสธไม่รับข้อเสนอเรื่องเงินเยียวยา โดยขอให้ชดเชยเยียวยาความเสียหาย 150,000 บาท และทำหนังสือชี้แจงขอให้ระบุแนวทางการแก้ปัญหาเพิ่มเติมและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้อง บริษัทรับข้อเสนอไปให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อมาบริษัทเสนอเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหาย 50,000 บาท และออกนโยบายจัดเก็บสินค้าลงจากชั้นวางก่อนสินค้าหมดอายุ และต้องไม่มีสินค้าหมดอายุอยู่บนชั้นวางสินค้าอีก พร้อมจัดเก็บสินค้าก่อนหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็น 3 ประเภท  1) สินค้าคืน Supplier ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อทำการแจ้งคืน 2) สินค้าที่คืนไม่ได้ ทำการเก็บสินค้าเพื่อนำมาลดราคา 3) สินค้าของสดชั่งกิโล เก็บสินค้าเพื่อทำการเปลี่ยนบาร์โค้ด ก่อนหมดอายุ 3 วันและทำการตรวจสอบสินค้าทุกวัน ทุกอาทิตย์ ทุกเดือน และตักเตือนแจ้งพนักงานโดยลงโทษพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 7 วันและงดพิจารณาขึ้นค่าจ้าง คุณภูผายอมรับตามที่บริษัทเสนอนับว่าการร้องเรียนของคุณภูผาในครั้งนี้ ทำให้วิลล่ามาร์เก็ทยกระดับมาตรการการจัดเก็บสินค้าหมดอายุออกจากชั้นวางจำหน่าย ช่วยให้ผู้บริโภคปลอดภัยในการซื้อสินค้ามากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ห้างติดฉลากใหม่ทับข้อมูลเดิม

เดี๋ยวนี้ห้างต่างๆ มีการขายผลไม้สดปอกเปลือกจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการรับประทาน แต่หากเราซื้อสินค้ามาแล้วพบว่า สินค้านั้นมีบางอย่างผิดปกติ เราจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร คุณภูผาซื้อเม็ดบัวต้มสุกจากร้านโกเด้นเพลส มาจำนวน 1 กล่อง เมื่อเปิดกล่องเพื่อจะทานพบว่าเม็ดบัวมีกลิ่นเหม็นเขียว จึงตรวจสอบฉลากดูพบว่า มีการติดฉลากใหม่ทับฉลากเก่า โดยเปลี่ยนวันที่ผลิตและวันหมดอายุใหม่ จากฉลากเดิมที่หมดอายุไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปติดต่อร้านโกเด้นเพลสสาขาที่ซื้อสินค้าว่า เมื่อวานได้ซื้อเม็ดบัวต้มสุกไป แล้วพบว่าเป็นของเก่าแต่มีการติดฉลากใหม่ทับ เขาจึงต้องการให้ทางร้านคืนเงินเมื่อได้ฟังคุณภูผาทักเช่นนั้น พนักงานหันไปคุยกันว่า “ของที่พลัสไปเมื่อวานลูกค้าบอกว่าเสีย”  ทำให้คุณภูผารู้สึกว่าพนักงานน่าจะทำแบบนี้เป็นประจำหรือไม่ พนักงานอีกคนหนึ่งจึงรับกล่องสินค้าพร้อมหยิบกล่องเม็ดบัวที่เหลือในชั้นวางไปด้วย จากนั้นขอใบเสร็จเพื่อไปยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าในเครื่องคิดเงิน และคืนเงินให้ตามราคาที่ได้ซื้อไป โดยไม่มีการขอโทษหรือรับผิดใดๆ จากพนักงานเลย คุณภูผารู้สึกว่าร้านค้าเอาเปรียบผู้บริโภค จึงมาร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำผู้ร้องว่า การกระทำของโกเด้นเพลสเป็นการจำหน่ายสินค้าหมดอายุ ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 การจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ผู้ร้องถ่ายรูปสินค้าและใบเสร็จ นำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานอย่างไรก็ตามผู้ร้องไม่ได้ไปแจ้งความตามคำแนะนำ เนื่องจากได้ให้ใบเสร็จและคืนสินค้าให้โกเด้นเพลสแล้วไม่ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ ศูนย์พิทักษ์จึงนัดเจรจาระหว่างผู้ร้องกับบริษัทฯ บริษัทฯ ชี้แจงว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน และปัจจุบันได้ลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดการฝึกอบรมพนักงานใหม่ทั้งหมดเรื่องการตรวจสอบสินค้าโดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จบรรจุแพ็ค สุดท้ายได้กล่าวขอโทษคุณภูผา ซึ่งไม่ได้ติดใจเอาเรื่องอะไรกับบริษัทอีก เพียงขอให้บริษัทฯ ทำหนังสือขอโทษและชี้แจงเรื่องมาตรการในการแก้ไขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีระบบตรวจสอบสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้บริโภครายอื่นอีก ศูนย์พิทักษ์สิทธิเองก็ได้แนะนำให้บริษัทฯ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์เพื่อเป็นช่องทางติดต่อระหว่างลูกค้าและบริษัทด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 ของหมดอายุ ควรมีอยู่ในห้างหรือไม่

ผู้บริโภคส่วนใหญ่เมื่อเลือกซื้อสินค้าสำหรับการบริโภค สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการตรวจสอบคือ วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ แต่หากเรารีบและไม่ได้ซื้อจำนวนมาก ผู้บริโภคบางส่วนก็อาจจะลืมตรวจสอบสิ่งสำคัญเหล่านี้ไป ซึ่งหากเราดวงซวยไปซื้อของที่หมดอายุมากิน ก็มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าการทิ้งไปเฉยๆ ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้คุณกิตติยาซื้อขนมปัง ยี่ห้อ เอ พลัส ราคา 14 บาท จากมินิ บิ๊กซี ที่ปั๊มน้ำมัน บางจาก สาขา นวมินทร์ มารับประทาน ด้วยความเร่งรีบจึงไม่ได้ตรวจสอบวันเดือนปีที่หมดอายุ เพราะคาดว่าทางร้านไม่น่าจะวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุไปแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อจะนำมารับประทานก็พบว่าขนมปังดังกล่าวขึ้นรา และเลยวันหมดอายุตามที่ระบุไว้ข้างซองมานานแล้วผู้ร้องจึงเก็บใบเสร็จที่ซื้อไว้ และส่งเรื่องมาร้องเรียนที่มูลนิธิ เพราะอยากให้ห้างดังกล่าวมีความรับผิดชอบในการนำสินค้ามาวางจำหน่ายมากกว่านี้ เนื่องจากอาจมีผู้บริโภคคนอื่นที่รีบซื้อสินค้า และพบปัญหาเดียวกันกับเธอก็ได้ ซึ่งเธอก็ต้องการให้ทางบริษัทรับผิดชอบ ด้วยการชดใช้เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท แนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากผู้ร้องส่งเรื่องร้องเรียนมาทางอีเมล์ โดยแนบรูปขนมปังดังกล่าวและใบเสร็จมาด้วย ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซึ่งทางบริษัทฯ ได้นัดเจรจาติดต่อกับลูกค้า โดยภายหลังได้มีการขอโทษและมอบกระเช้าให้ผู้ร้อง แต่สำหรับการชดใช้เป็นจำนวนเงินดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ขอพิจารณาก่อน ซึ่งในที่สุดบริษัทก็ได้แจ้งว่า ยินยอมที่จะชดใช้ให้เป็นจำนวน 12,000 บาท แม้ตอนแรกผู้ร้องจะยืนยันจำนวนเท่าเดิม แต่เพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อไปนานกว่านี้ จึงต้องยินดีตอบตกลงจำนวนเงินนั้นไปถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ร้องรักษาสิทธิของตนเอง เพราะ การวางจำหน่ายสินค้าที่หมดอายุ แสดงให้ถึงความรับผิดชอบของผู้ขาย นอกจากนี้ผู้บริโภคอย่างเรา ไม่ได้มีหน้าที่นำสินค้าที่หมดอายุไปคืน แต่ควรเป็นทางร้านมากว่า ที่ต้องวางขายสินค้าที่ไม่หมดอายุให้กับเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 อันตรายจากการปรับปรุงพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า

ห้างสรรพสินค้า แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปัจจุบัน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องระวังมาก นอกจากจะระวังการซื้อสินค้าแล้ว การใช้บริการอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ลิฟต์  บันไดเลื่อน หรือแม้แต่ทางเดินปกติ ก็อาจเกิดอันตรายได้ เพราะห้างสรรพสินค้า เมื่อมีการจัดแสดงหรือจัดงานต่างๆ  เพื่อดึงดูดลูกค้า อาจต้องมีการปรับปรุงพื้นที่ให้บริการ ซึ่งทำให้แม้จะเดินในเส้นทางที่ใช้ตามปกติ ก็ยังอาจเกิดอันตรายและบาดเจ็บได้อย่างคาดไม่ถึงคุณดวงพรและครอบครัว ได้ไปใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางแค  ปรากฏว่าระหว่างที่เดินหาร้านเพื่อรับประทานอาหาร คุณดวงพรพลาดเดินไปสะดุดกับรางรถทามิย่า ที่ห้างสรรพสินค้าได้ให้ร้านค้าเช่าพื้นที่เข้ามาจัดทำเป็นสนามแข่งรถทามิย่า โดยที่ห้างสรรพสินค้าเองไม่ได้กั้นเขต หรือปิดป้ายประกาศเตือนไว้แต่อย่างใด เป็นเหตุให้คุณดวงพร ซึ่งมีอายุมากแล้วและสายตาไม่ดี พลาดไปเดินสะดุดกับรางรถทามิย่านี้เข้า ในขณะที่กำลังมองหาสามี ซึ่งเดินตามมาทีหลังเพราะไปหาที่จอดรถอยู่ การสะดุดล้มครั้งนี้ เป็นเหตุให้กระดูกแขนร้าว 1 ข้าง  หัก 1 ข้าง  ขนาดต้องผ่าตัดใส่โลหะด้ามกระดูก และมีรอยแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวา หลังจากไปรับการรักษาพยาบาลแล้ว คุณดวงพรจึงมาทราบภายหลังว่า ทางห้างฯ จึงค่อยมีการจัดหาที่กั้น มากันพื้นที่ในบริเวณที่จัดวางรางรถทามิย่า แนวทางแก้ไข คุณดวงพรได้มาคุยกับทีมศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำปรึกษา โดยก่อนหน้านั้น ทางคุณดวงพร ได้มีเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางห้างฯ แล้ว แต่ก็ได้รับการปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นความผิดของห้างฯ โดยบ่ายเบี่ยงว่า คุณดวงพรตั้งใจเดินข้ามเข้าไปเอง แล้วสะดุดรางล้มเอง ซึ่งกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพเอาไว้ได้ แต่ห้างฯ จะให้ความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ขณะที่คุณดวงพรต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไปแล้วถึง  169,792 บาท และหลังออกจากโรงพยาบาลก็ยังต้องมีการรักษาตัวอย่างต่อเนื่องด้วย ทางคุณดวงพรต้องการให้ห้างฯ และผู้ประกอบการที่ดูแลพื้นที่การจัดวางรางรถทามิย่า ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวน 100,000 บาท และได้ยื่นข้อเสนอนี้เมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยร่วมกันที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แต่ทางห้างฯ ยังคงยืนกราน ไม่ยินยอมช่วยเหลือในเงินจำนวนดังกล่าวเช่นเดิม  เมื่อทางห้างฯ ไม่ยินดีช่วยเหลือตามข้อเสนอ จึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า อาจต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกันต่อไป เหตุเกิดในห้างสรรพสินค้าคราวนี้ อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่ง ซึ่งเดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน สุดท้ายจึงจบลงที่การฟ้องร้องเป็นคดีผู้บริโภคในครั้งนั้นศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้ และศาลพิพากษาให้ห้างฯ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่โจทก์ร้องขอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ห้างถูกไฟไหม้หมด...สัญญาเช่าพื้นที่จบด้วยหรือไม่

ในความเดือดร้อนหลากหลายของผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าที่ถูกวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่บานปลาย มีเรื่องหนึ่งที่ขอหยิบยกมาเป็นความรู้ คือเรื่องภาระค่าเช่าพื้นที่ขายของที่ถูกไฟเผาวอดไปพร้อมกับห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ค้ารายย่อยยังจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอะไรต่อไปหรือไม่การเช่าพื้นที่ขายของในห้างสรรพสินค้าถือว่าเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งการจะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญากันได้ต้องมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่า แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่ากันไว้แต่แรกก็อาจทำเป็นหลักฐานการเช่าในรูปของจดหมายที่ผู้ให้เช่าเขียนถึงกันในภายหลังเพื่อตกลงราคาค่าเช่า หรือ จะเป็นลักษณะของใบเสร็จรับเงินค่าเช่าก็ได้ สำคัญอยู่ที่ว่า ข้อความในหนังสือนั้นได้แสดงให้เห็นว่าได้มีสัญญาเช่ากันขึ้นระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า ถ้าไม่มีหลักฐานที่เป็นหนังสือเหล่านี้จะฟ้องร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าไม่ได้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถจะระงับสิ้นสุดกันได้หลายสาเหตุ เช่น มีการบอกเลิกสัญญากันเนื่องจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า สัญญาเช่าหมดอายุ หรือสัญญาเช่าระงับลงเมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย และในกรณีที่ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ให้เช่าถูกไฟเผาไหม้หมด ก็ทำให้สัญญาเช่าต้องระงับลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อไม่มีทรัพย์สินให้เช่ากันแล้วก็ไม่มีอะไรจะเช่ากัน ส่วนการสูญหายของทรัพย์สินที่ให้เช่าจะเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของฝ่ายใดก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เช่น ในกรณีไฟไหม้ สัญญาเช่าต้องเลิกกันไป โดยสิ้นสุดนับแต่วันที่เกิดไฟไหม้นั้น แป๊ะเจี๊ยะที่เคยจ่ายไปล่วงหน้าก็สามารถเรียกคืนกันตามส่วน เงินมัดจำที่เคยจ่ายไปแล้วก็สามารถเรียกคืนได้ตามส่วนเช่นกัน หรือในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วนไม่ได้สูญหายทั้งหมด และไม่ได้เป็นความผิดของผู้เช่า ผู้เช่าสามารถเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายได้ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าทั้งหมดในราคาเต็ม ทั้งนี้ เนื่องจากสัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน หากผู้เช่าไม่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของตนสัญญาเช่าก็ต้องระงับกันไป หากผู้ค้ารายย่อยรายใดได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ไม่ได้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ด้วยเหตุเพลิงไหม้ก็สามารถใช้สิทธิระงับสัญญาการเช่าพื้นที่ค้าขายได้ทันทีนับแต่วันที่เกิดเหตุ  โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าต่อไป เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้วสามารถเรียกคืนได้ หรือในระหว่างที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่เช่านั้นอันเนื่องจากห้างต้องปิดเพราะมีการชุมนุมหรือเนื่องจากทางห้างต้องปรับปรุงพื้นที่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าอีกเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 ภัยไม่คาดฝัน จากห้างค้าปลีกยักษ์

ในยามที่บ้านเมืองที่แสน...จะปั่นป่วนวุ่นวาย วังเวง ไร้ซึ่งจุดจบอย่างนี้ ก็ขอให้แฟนๆ ฉลาดซื้อ มีความสุขกับการอ่านหนังสือดีๆ เล่มนี้กันนะจ๊ะ วันนี้มีเรื่องเล่าแปลกๆ ที่เกี่ยวกับ การใช้สิทธิในห้างสรรพสินค้ากันหน่อย เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ห้างเทสโก้โลตัส คือศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง กรณีซื้อสินค้าเครื่องเล่น ซีดี แล้วสินค้าชำรุดเสียหาย(ภายในระยะเวลาประกัน) จึงได้นำสินค้าไปที่ห้าง ห้างก็ๆ รับไว้และบอกว่าจะส่งซ่อมกับบริษัทผู้ผลิต ผู้บริโภคก็รอเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากห้างฯ จึงไปสอบถามพนักงานห้างฯ ท่านก็ตอบว่าอยู่ระหว่างส่งซ่อมเช่นเดิม ไปอีกหลายครั้งก็ได้คำตอบเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนให้ศูนย์ช่วยตรวจสอบ ศูนย์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบไปทีห้าง และบริษัทผู้ผลิต เลยพบความจริงว่าบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ บอกไม่มีสินค้าชิ้นนี้ส่งซ่อม แต่ห้างยืนยันว่าส่งแล้วศูนย์ฯ จึงเดินหน้าพาผู้เสียหายไปเจรจากับผู้จัดการห้าง จนสุดท้ายผู้เสียหายได้เงินคืน(เรื่องก็จบไปไม่มีอะไรในกอไผ่) ถัดมาอีกไม่กี่วัน มีผู้บริโภคมาปรึกษาอีกว่าได้ไปซื้อโทรศัพท์ในห้างโลตัส(ที่เดิมอีก) มา ยังไม่ได้แกะใช้แต่รู้สึกอยากเปลี่ยนเป็นรุ่นอื่น จะขอเปลี่ยนได้ไหม เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ก็บอกว่า ลองไปคุยดูซิ แต่คิดว่าน่าจะเปลี่ยนได้เพราะยังไม่ได้ใช้สินค้า ผู้มาร้องเรียนจึงขอให้น้องในศูนย์ฯ ไปเป็นเพื่อน(ศูนย์ฯ กับห้างฯ อยู่ใกล้กัน) น้องที่เคยไปเจรจาครั้งที่แล้วเลยอาสาไปเป็นเพื่อน เพราะรู้ช่องทางและรู้จักผู้จัดการอยู่แล้ว เช่นเดิมคือไปเจรจากับร้านที่ซื้อโทรศัพท์ แล้วตกลงกันไม่ได้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงพาไปเจรจากับผู้จัดการจนสามารถเปลี่ยนเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ต้องการได้สำเร็จขณะกำลังเตรียมตัวจะกลับ ก็มีพนักงานห้างฯ เข้ามาคุยและแนะนำตนเองว่าเป็นผู้จัดการด้านรักษาผลประโยชน์ของห้างฯ เมื่อเห็นน้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จึงไม่ยอมให้น้องและผู้ซื้อสินค้าที่ไปด้วยกันออกจากห้างฯ และขอให้น้องแสดงบัตรเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ดู น้องบอกว่าศูนย์ฯ เป็นศูนย์ภาคประชาชนไม่มีบัตร และวันนี้ไม่ได้มาในนามเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แต่มาเป็นเพื่อนของลูกค้าห้าง และจะเดินออกจากห้างฯ เจ้าหน้าที่ห้างฯ มาขวางไม่ให้ออกจากห้างฯ และขอยึดบัตรประชาชนไว้ น้องเจ้าหน้าที่ศูนย์ไม่ยอม เกือบจะวางมวยกัน (ดีนะที่น้องยังยั้งใจไว้ได้) เจ้าหน้าที่ห้างฯ ขอเบอร์ศูนย์และโทรไปให้ผู้ประสานงานศูนย์มายืนยันความเป็นเจ้าหน้าที่ของน้องที่อยู่ที่ห้าง คุณเรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ฯ ตอบกลับไปว่า “ทำไมต้องไปยืนยัน ทุกคนมีสิทธิเข้าห้างฯ เพราะห้างฯ เปิดให้คนเข้าไปไม่ใช่หรือ และห้างฯ ก็ไม่มีสิทธิกักตัวประชาชนที่เข้าไปในห้างฯ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งนั้น ให้ปล่อยตัวทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ และผู้ซื้อสินค้าออกมา ไม่อย่างนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว” พนักงานห้างฯ จึงยอมปล่อยตัวทั้ง 2 คนออกมา ซึ่งทั้งหมดของการเจรจากินเวลาเกือบชั่วโมง ตกลงว่า..นี่ห้างสรรพสินค้าหรือสถานีตำรวจ กันแน่เนี่ย...ห้างสรรพสินค้าเปิดไว้เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปซื้อสินค้า เราเข้าไปแล้ว จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้ขึ้นอยู่กับความพอใจของเรา พอใจก็ซื้อไม่พอใจก็ไม่ซื้อไม่มีใครมาบังคับเราได้ และหากเราไม่ได้ขโมยสินค้าหรือทำข้าวของๆ แตกหักเสียหาย ห้างสรรพสินค้าจะมาใช้สิทธิกักขังหน่วงเหนี่ยวเราไม่ได้ และการซื้อสินค้าเราซื้อมาโดยมีใบเสร็จยืนยันการซื้อสินค้า ในเวลาไม่เกิน 3-7 วัน เรามีสิทธิเปลี่ยนสินค้าได้ ห้างสรรพสินค้าจะมาแสดงความยิ่งใหญ่ข่มขู่กักขังเราไม่ได้ ฝากผู้บริโภคแล้วกันว่าหากเจอเรื่องอย่างนี้ขอให้แจ้งตำรวจทันทีโดยไม่ต้องเจรจาให้เสียเวลานะจ๊ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ห้างใหญ่หนีอาญาขายของหมดอายุยอมชดใช้ผู้บริโภค

 “ฮัลโหล...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใช่ไหมคะ”“ค่ะ ใช่ค่ะ ไม่ทราบว่ามีปัญหาอะไรจะร้องเรียนคะ”“ชื่อสุนีย์นะคะ คืออย่างงี้ค่ะ ตอนนี้กำลังยืนเรียกค่าเสียหายจากทางห้างอยู่ เพราะเขาเอาของหมดอายุมาขายให้เรา เราจะเรียกค่าเสียหายกับเขาได้ไหมคะ”พอได้ยินคำถาม เจ้าหน้าที่รับเรื่องของเราถึงกับตื่นเต้น ก็ไม่ให้ตื่นเต้นได้ไงเจอผู้บริโภคที่รักษาสิทธิของตัวเองเต็มที่อย่างนี้ไม่ได้หาได้ง่ายๆ และเป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ จึงค่อยๆ ปล่อยคำถามหารายละเอียดออกไป “ไหนช่วยเล่ารายละเอียดหน่อยนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงต้องคิดเรียกค่าเสียหายกับเขา” แล้วคุณสุนีย์ก็เล่าเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เธอบอกว่าตอนนี้กำลังอยู่ที่ห้างตราดอกบัว สาขาแจ้งวัฒนะ เพื่อมาเรียกร้องค่าเสียหายกับทางห้าง เป็นค่ารถ ค่าเสียเวลา รวมเป็นเงิน 500 บาท ซึ่งก่อนหน้าที่จะมายืนเรียกค่าเสียหายนั้น ประมาณสัก 4-5 วันที่ผ่านมาคือวันที่ 6 มิถุนายน 2552คุณสุนีย์ได้มาซื้อสินค้าประเภทอาหารที่ห้างแห่งนี้แล้วนำกลับไปรับประทานที่บ้าน แต่เมื่อมาตรวจดูสินค้าพบว่าสินค้าหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 คุณสุนีย์เห็นว่าไม่เป็นธรรมจึงขับรถกลับมาร้องเรียนเรียกค่าเสียหาย “ตอนนี้กำลังรอทางห้างเขาตัดสินใจอยู่ว่าจะเอาไง” แนวทางแก้ไขปัญหา ตามกฎหมายอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เป็นผู้ดูแลอยู่ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ จะเข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ อาจถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับถึง 3 หมื่นบาท ผู้บริโภคที่พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารหมดอายุ หากต้องการให้มีการดำเนินคดี ให้แจ้งไปที่สายด่วน อย.โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดแต่สำหรับคุณสุนีย์ต้องการเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 500 บาทเพื่อเป็นค่ารถค่าเสียเวลาที่มาซื้อของหมดอายุ ท้ายสุดห้างซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500 บาทตามที่ผู้บริโภคเรียกร้อง นับเป็นการใช้สิทธิและบทลงโทษกับผู้ประกอบการด้วยฝีมือผู้บริโภคชั้นเยี่ยม ขอปรบมือให้ 40 แปะ!  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 63 เปลี่ยนหรือคืนสินค้า ทำได้จริงแค่ไหน

คุณเคยนำสินค้าที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าไปคืนกับพนักงานขายไหมคะ คำตอบแรกที่คุณคิดว่าจะได้ยินคุณคิดว่าคืออะไร....คืนได้หรือไม่ได้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาบรรดาห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์สโตร์ รวมถึงคอนวีเนียนสโตร์หรือร้านสะดวกซื้อ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือกำหนดมาตรฐานการรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการร่วมกับกรมการค้าภายใน เพื่อเป็นการยืนยันว่า สินค้าที่มีการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้มาตรฐานและรับประกันคุณภาพของสินค้า ซึ่งรายละเอียดการรับประกันสินค้าของแต่ละห้างเป็นอย่างไร เชิญตรวจสอบกันได้ในบทความนี้เลยนะคะไม่พอใจสินค้า เรายินดีคืนเงิน ??นักช้อปโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าการเปลี่ยนหรือคืนสินค้านั้นจะทำได้เฉพาะกับสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง หรือผลิตมาไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น แต่ความจริงแล้วการเปลี่ยนหรือคืนสินค้านั้นทำได้แม้กระทั่งสินค้านั้นไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแค่คุณไม่ชอบใจมันเอาดื้อ ๆ คุณก็สามารถเปลี่ยนหรือเอาเงินคืนได้ ในห้างสรรพสินค้าบางแห่งคุณอาจจะเคยเห็นป้ายแบบนี้บ้างนะคะ“ไม่พอใจสินค้า เรายินดีคืนเงิน” ซึ่งหมายความว่า สำหรับสินค้าที่คุณจ่ายเงินซื้อนำกลับไปถึงบ้านแล้ว แม้ว่าตัวสินค้ามันจะไม่มีความผิดอะไร ไม่มีความเสียหายชำรุดบกพร่อง เพียงแต่แค่คุณเกิดความรู้สึกไม่พอใจสีสันหรือรูปทรงของสินค้า (แม้ว่าตอนที่อยู่ในห้างคุณจะรู้สึกพอใจเอามาก ๆ ก็ตาม) คุณมีสิทธิ์ขอคืนสินค้าเปลี่ยนเป็นเงินคืนได้ แล้วคุณเคยลองพิสูจน์ข้อความเช่นว่านั้นหรือไม่ว่าทำได้จริงหรือเปล่าฉลาดซื้อได้ทดลองส่งอาสาสมัครไปซื้อสินค้าราคาปกติตามร้านค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของห้างสรรพสินค้าและดิสเคาน์โตร์ทั้งหมด 7 แห่ง เป็นห้างสรรพสินค้า 4 แห่ง คือ 1. ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว  2. ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็งสาขาธนบุรี และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขารัชดาภิเษก และเป็นดิสเคาน์สโตร์ 3 แห่ง คือ 1.คาร์ฟูร์ สาขาบางปะกอก 2. บิ๊กซี สาขาสุขสวัสดิ์ และ เทสโก โลตัส สาขางามวงศ์วาน โดยมีเงื่อนไขให้กับอาสาสมัครว่าให้ซื้อสินค้าที่ขายในราคาปกติ ขายโดยร้านหรือบูธที่เป็นส่วนของห้างสรรพสินค้า (ไม่ใช่ร้านที่เข้ามาเช่าพื้นที่) และเมื่อซื้อสินค้ามาแล้ว 1-2 วันให้นำสินค้าไปคืน โดยขอคืนเงินที่จ่ายไปทั้งหมดไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนสินค้าแทน โดยมีข้ออ้างว่าไม่พอใจสินค้าด้วยสาเหตุที่ไม่ใช่ความชำรุดบกพร่องของตัวสินค้า เช่น ไม่ชอบสีสันหรือรูปทรงที่เลือกไป เป็นต้นผลการสำรวจมาตรการการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าเพื่อ ความพอใจของลูกค้าผลที่ได้คือ ดิสเคาน์สโตร์ทั้ง 3 แห่ง ยอมคืนเงินให้กับลูกค้า โดย คาร์ฟูร์และบิ๊กซีขอจดชื่อที่อยู่ของลูกค้าไว้ ในขณะที่เทสโก โลตัส ยอมคืนเงินให้โดยไม่มีการจดข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าแต่อย่างใดสำหรับกลุ่มห้างสรรพสินค้าพบว่า•    ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง เมื่ออาสาสมัครขอคืนสินค้ากับพนักงานขาย ๆ ไม่ยอมให้คืนสินค้าแต่เสนอให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอื่นเปลี่ยนแทน แต่เมื่อลูกค้ายังยืนยันต้องการคืนสินค้าเหมือนเดิม พนักงานขายก็ยังไม่ยอมคืนให้ ท้ายที่สุดอาสาสมัครได้ไปติดต่อที่จุดบริการลูกค้าของห้างสรรพสินค้าจึงได้รับเงินคืน•    ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เมื่ออาสาสมัครขอคืนสินค้า พนักงานขายเสนอให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอื่นเปลี่ยนแทนแต่เมื่อลูกค้ายืนยันขอคืนเงินเหมือนเดิม พนักงานขายบอกให้ไปติดต่อที่แคชเชียร์ของแผนกสินค้านั้น ซึ่งทางแคชเชียร์แจ้งว่าไม่สามารถคืนเป็นเงินได้ (ทั้ง ๆ ที่มีป้ายเขียนไว้ว่า รับประกันความพอใจ เปลี่ยนคืนสินค้าสำเร็จได้ภายใน 5-10 นาที แสดงไว้อย่างชัดเจนที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์)และได้ออกเป็นใบคูปองใช้แลกซื้อสินค้าในห้างแทน มีอายุ 30 วันจนท้ายที่สุดฉลาดซื้อต้องโทรไปแจ้งว่าเรากำลังทดสอบมาตรการการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าของห้างกับผู้บริหารระดับสูงทางห้างจึงคืนเงินให้พร้อมกับคำขออภัยและแจ้งว่าจะมีมาตรการลงโทษกับการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมของพนักงานแคชเชียร์และพนักงานขาย•    ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ เมื่ออาสาสมัครขอคืนสินค้า พนักงานขายเสนอให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอื่นเปลี่ยนแทนแต่เมื่อลูกค้ายืนยันขอคืนเงินเหมือนเดิม พนักงานขายและแคชเชียร์ปฏิเสธ ซึ่งทางแคชเชียร์แจ้งว่าไม่สามารถคืนเป็นเงินได้และได้ออกเป็นใบคูปองใช้แลกซื้อสินค้าในห้างแทน แต่มีระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น จนท้ายที่สุดฉลาดซื้อต้องโทรไปแจ้งว่าห้างกำลังถูกทดสอบมาตรการการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้ากับผู้บริหารระดับสูง ทางห้างจึงคืนเงินให้พร้อมกับคำขออภัยและแจ้งว่าจะมีมาตรการลงโทษกับการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมของพนักงานขาย•    ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เมื่ออาสาสมัครขอคืนสินค้า พนักงานขายเสนอให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าอื่นเปลี่ยนแทนแต่เมื่อลูกค้ายืนยันขอคืนเงินเหมือนเดิม พนักงานขายบอกให้ไปติดต่อที่แคชเชียร์ของแผนกสินค้านั้น ซึ่งทางแคชเชียร์แจ้งว่าไม่สามารถให้คืนเป็นเงินได้ จนท้ายที่สุดฉลาดซื้อต้องโทรไปแจ้งว่าเรากำลังทดสอบมาตรการการรับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าของห้างกับผู้บริหารระดับสูง ทางห้างจึงคืนเงินให้พร้อมกับคำขออภัยและแจ้งว่าจะมีมาตรการลงโทษกับการประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสมของพนักงานขาย และแจ้งว่าหากลูกค้าต้องการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าให้ไปติดต่อที่จุดบริการลูกค้า(ซึ่งอยู่ที่ชั้นสอง คนละชั้นกับจุดที่มีปัญหา) จะดีที่สุดจะเห็นได้ว่า แม้จะมีข้อตกลงดังกล่าว (ซึ่งตามจริงหลาย ๆ ห้างก็มีข้อตกลงการเปลี่ยนหรือคืนสินค้า มาก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว) แต่ในทางปฏิบัติคุณอาจพบปัญหาได้โดยเฉพาะกับพนักงานขายของห้างสรรพสินค้าที่สนใจเปอร์เซ็นต์ยอดขายมากกว่าหัวใจในการบริการลูกค้าไม่สนใจที่จะคืนเงินให้กับลูกค้าทั้ง ๆ ที่ลูกค้าได้แสดงเจตน์จำนงค์อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งหากผู้บริหารของกลุ่มห้างสรรพสินค้าไม่มีการปรับตัว เช่น ไม่มีการเข้มงวดกวดขันอบรมพนักงานขายที่ดีพอ หรือไม่มีจุดบริการลูกค้าที่เห็นเด่นชัดทุกชั้น ทุกแผนก ก็อาจกลายเป็นจุดอ่อนของห้างสรรพสินค้าที่ทำให้ลูกค้าเข็ดขยาดจนต้องหันไปใช้บริการกับกลุ่มดิสเคาน์โตร์ใหญ่ ๆ ได้ง่าย สำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาในการขอเปลี่ยน หรือขอคืนสินค้าให้ติดต่อกับฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือผู้บริหารระดับสูงของห้างทันทีกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องเปลี่ยนหรือคืนได้เพียงแค่วันที่ห้างกำหนดจริงหรือ?ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องนั้นมีอยู่ม.473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                       (1)    ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน(2)    ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่อิดเอื้อน(3)    ถ้าทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดม. 474 ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับคืนสินค้าหรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ ของห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ นั้น ในทางกฎหมาย มีลักษณะเป็นคำมั่น ซึ่งหากทางห้างไม่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้กับผู้บริโภค จะมีผลเป็นการผิดสัญญา อย่างไรก็ตาม หากสินค้าชำรุดบกพร่อง ทางห้างจะต้องรับผิดชอบทุกกรณีตามกฎหมาย (มีอายุความ 1 ปี)โดยไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขการรับคืนสินค้าซึ่งห้างเป็นผู้กำหนดขึ้น ส่วนจะรับผิดชอบในลักษณะใดนั้น ก็ต้องพิจารณาตามความบกพร่องที่เกิดขึ้น เช่น การคืนเงิน การเปลี่ยนสินค้า เป็นต้น หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การรับคืนสินค้าหรือเปลี่ยนสินค้าใหม่ข้อมูลจากกรมการค้าภายในกลุ่มห้างสรรพสินค้าบริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเงื่อนไข สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เปลี่ยนหรือคืนได้ ยกเว้นสินค้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หนังสือ ไส้ปากกาผ้าและสินค้าลดราคาไม่รับคืน เฉพาะสินค้าชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นในเปลี่ยนหรือคืนได้ ภายในวันที่ซื้อสินค้าและสินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์เท่านั้น กำหนดระยะเวลา ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบกำกับภาษีแบบย่อ หรือใบกำกับภาษีเต็มรูปบรัษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เงื่อนไข รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าภายใต้เงื่อนไข สินค้าต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยกเว้นสินค้าลดราคาพิเศษกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วัน นับแต่วันซื้อสินค้าเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับบริษัท ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัดเงื่อนไข เกี่ยวกับคุณภาพสินค้า สามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้ สินค้าต้องยังคงสภาพพร้อมขาย มิได้ผ่านการใช้งานยกเว้นกรณีมีปัญหาด้านคุณภาพหลังใช้งาน สุรา และสินค้าตัดแบ่งจำหน่ายรับเปลี่ยนหรือคืนกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบกำกับสินค้า และสินค้าที่มีใบรับประกันคุณภาพ บริษัทฯ จะเป็นผู้สานผลประโยชน์ให้ลูกค้าบริษัท บางลำพู (ประชาราษฎร์อาเขต) จำกัดเงื่อนไข สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ ยกเว้น ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นในกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน หรือป้ายแสดงราคาของบริษัทฯบริษัท ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้า เงื่อนไข ลูกค้าไม่พอใจในคุณภาพของสินค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ โดยสินค้านั้นต้องอยู่ในสภาพพร้อมจำหน่ายกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้า มีป้ายราคาของบรัทฯบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด(มหาชน)เงื่อนไข สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ ยกเว้นสินค้าประเภท ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน เครื่องประดับเครื่องสำอาง ชุดราตรี ผ้า หนังสือ ไส้ปากกา และสินค้าลดราคา ไม่รับเปลี่ยนหรือคืนกำหนดระยะเวลา ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินบริษัท อิมพีเรียล พลาซ่า จำกัดเงื่อนไข สินค้าไม่ได้คุณภาพ ยินดีรับคืนเงินหรือมอบสินค้าใหม่ให้ฟรี และสินค้าต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์กำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินกลุ่มดิสเคาน์สโตร์บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด  (คาร์ฟูร์)เงื่อนไข สินค้าไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานสามารถคืนได้ทุกประเภท ยกเว้น เสื้อผ้าที่มีการแก้ไขรูปทรง ชุดชั้นในเทปเพลง ซีดี หนังสือ ถ่าน-แบตเตอรี่ทุกประเภท หลอดไฟ และสินค้า ลดราคาล้างสต๊อกกำหนดระยะเวลา ภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ซื้อสินค้า ภายในวันเดียวกันสำหรับสินค้าที่เป็นอาหารสดเอกสาร/หลักฐาน สินค้าในสภาพสมบูรณ์ พร้อมใบเสร็จรับเงินตัวจริงบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)เงื่อนไข สินค้าชำรุดหรือผิดพลาดจากการผลิตหรือซื้อสินค้าผิดหรือไม่พอใจในสินค้า สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ยกเว้น ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน สินค้าลดราคา เทป ซีดี วีดีโอกำหนดระยะเวลา ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ซื้อสินค้ายกเว้นเครื่องใช้ไฟฟ้าคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ซื้อ อาหารสดและเบเกอรี่คืนก่อนวันหมดอายุเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน สำหรับสินค้าทั่วไป และใบเสร็จรับเงินและใบรับประกันสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)เงื่อนไข รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ต้องมีอุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆครบถ้วนสมบูรณ์ และสินค้าต้องอยู่ในสภาพเดิม ยกเว้นสินค้าที่ชำรุดเสียหาย หากการใช้งานไม่ถูกต้องตามวิธีหรือคำแนะนำกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ซื้อสินค้า ยกเว้นอาหารสดรับคืนภายใน 7 วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้าต้องอยู่ในสภาพเดิมบริษัท เอก ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก โลตัส)เงื่อนไข รับคืนสินค้าทั่วไป ภายใน 30 วันรับคืนสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใน 7 วันรับคืนสินค้าอาหารสด ภายในวันเดียวกันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินหรือไม่ได้นำใบเสร็จมาก็คืนได้สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์บรัษัท เซ็นทรัลฟู้ดรีเทล จำกัด (ท๊อป)เงื่อนไข สินค้าไม่ได้คุณภาพ ความสด หรือมาตรฐานสามารถรับเงินคืนที่สาขาใดก็ได้กำหนดระยะเวลา    ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ซื้อเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้าอุปโภคบริโภค (อาหารสดไม่ต้องนำสินค้ามาแสดง)บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัดเงื่อนไข สินค้าคุณภาพไม่ดีหรือซื้อผิด สามารถเปลี่ยนสินค้าได้โดยติดต่อผู้จัดการสาขากำหนดระยะเวลา -เอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินบริษัท เพาเวอร์บาย จำกัดเงื่อนไข รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ยกเว้น กล้องถ่ายรูป กล้องวีดีโอ โทรศัพท์มือถือ สินค้าตัวโชว์สินค้าลดล้างสต๊อก และทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว และไม่รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าใช้แล้วหรือแกะกล่องแล้ว ตู้เย็น เทป ซีดี  วีดีโอ คอมพิวเตอร์ ฟิล์ม ถ่านไฟฉาย ถ่านชาร์จเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น ไมโครเวฟ เครื่องครัวเล็ก ผ้าหมึก และอุปกรณ์ทำความสะอาดกำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วัน นับแต่วันซื้อสินค้าเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน พร้อมกล่องบรรจุ ใบรับประกัน คู่มือ และอุปกรณ์ต่อพ่วงของสินค้ากลุ่มร้านสะดวกซื้อบริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด   (จิฟฟี่)เงื่อนไข สินค้าหมดอายุ ไม่ได้มาตรฐาน เสีย บกพร่อง สามารถเปลี่ยนสินค้าหรือรับเงินคืนได้กำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้า (ยกเว้นสินค้าอายุสั้น และหมดอายุก่อนไม่ต้องนำสินค้ามาแสดง)บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)เงื่อนไข สินค้าเสียก่อนวันหมดอายุ สามารถเปลี่ยนสินค้าได้กำหนดระยะเวลา    -เอกสารหลักฐาน -บริษัท บางจาก กรีนเนท จำกัดเงื่อนไข สินค้าเสื่อมคุณภาพทุกกรณี สามารถเปลี่ยนได้กำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้ามาแสดงบริษัท สยามแฟมิลี่สมาร์ท จำกัดเงื่อนไข สินค้าเสียก่อนวันหมดอายุ สามารถเปลี่ยนสินค้าได้กำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วันเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน และสินค้ามาแสดงบริษัท อาร์ บี เซอร์วิส จำกัดเงื่อนไข สินค้าหมดอายุ หรือความผิดพลาดของบริษัทยินดีให้เปลี่ยนหรือคืนสินค้าได้กำหนดระยะเวลา ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ซื้อสินค้าเอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานที่พิสูจน์ได้ร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัดเงื่อนไข สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ยินดีรับคืนหรือเปลี่ยนได้กำหนดระยะเวลา -เอกสาร/หลักฐาน ใบเสร็จรับเงินหมายเหตุ : หากมีข้อสงสัยในรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โปรดติดต่อสอบถามไปยัง ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของผู้เข้าร่วมโครงการ ที่ท่านใช้บริการสิทธิในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าของคนอังกฤษในประเทศอังกฤษเรื่องการจับจ่ายซื้อสินค้ามีประเด็นกฎหมายที่

อ่านเพิ่มเติม >