ฉบับที่ 208 กระแสข่าวในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2561ประกาศ “ควบคุมสัญญาห้องเช่า” ยังมีผล เมื่อศาลปกครองกลางไม่รับคุ้มครองชั่วคราว 14 มิ.ย.61 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในคดีที่เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยยื่นฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา และ สคบ. ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกันออกประกาศดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้ สคบ. ใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำสัญญาเช่าให้บรรลุผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งทุเลาตามคำร้องก็จะทำให้ สคบ.ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ สคบ. ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบได้ทันท่วงที ส่วนการออกประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปกฟภ. เตือนชาวบ้าน ระวังมิจฉาชีพลวงติดชุดประหยัดไฟ นายพิชัย ตติยสุขพร พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.คง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อติดตั้งชุดประหยัดไฟ และเครื่องป้องกันไฟช๊อตในราคา 7,500 บาท จึงได้ไปตรวจสอบและพบกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมได้บันทึกภาพถ่ายเก็บไว้ แต่ปรากฏว่ามีการเรียกพรรคพวกหลายสิบคนเข้ามาห้อมล้อมคุกคามให้ลบภาพถ่ายดังกล่าวออก แล้วรีบขึ้นรถขับออกไปอย่างรวดเร็วจึงอยากขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่มาแอบอ้างว่าเป็นพนักงานการไฟฟ้า ถ้ามีกลุ่มคนมาแอบอ้างในลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ให้ร้องเรียนที่สายด่วนศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า 1129  หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบทันทีกสทช.ประกาศยุติการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เหตุค่ายมือถือเมินนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศยุติประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายสุดท้ายได้ประกาศไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จากก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เรื่องการไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ต่อจาก กลุ่มทรู ที่เป็นรายแรก ในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800ทั้ง 3 ราย ให้เหตุผลว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาวนั้น เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า คาดการณ์ผิด เนื่องจากการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ กสทช. จัดการประมูล ก่อนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นี้ พร้อมระบุว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่สามารถปรับลดเหลือ 16,000 ล้านบาท ตามที่ดีแทคเสนอ เนื่องจากจะเกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ที่ชนะการประมูลรอบที่แล้วในราคา ประมาณ 40,000 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วร้อยละ 70 ส่วนมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเปิดประมูลไม่ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน อย่างไรก็ตาม กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคา กสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคม เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว  สรรพากรชี้แจง ข่าวขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ไม่เป็นจริงสำนักข่าวไทย รายงานว่ากรมสรรพากรได้ออกประกาศชี้แจงกรณีข่าวในโซเชียลระบุรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเป็น 9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นั้นไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาได้มีกระแสความเข้าใจคลาดเคลื่อนลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกหลงเชื่อข่าวดังกล่าวและขอให้ช่วยแชร์ข้อมูลนี้ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อๆ ไปด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161คอบช. ยื่นข้อเสนอ ก.พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเมื่อ 13 มิ.ย.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านบริการสาธารณะ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค 8 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ยกเลิกการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์) ซึ่งใช้กลไกราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย รวมเข้ากับราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ และเปลี่ยนมาใช้กลไกราคาเทียบเท่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปประเทศสิงคโปร์และไม่เกินราคาของประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาต่ำกว่า 2) ให้ปรับปรุงราคาเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศ ให้มีราคาใกล้เคียงกับราคาจากประเทศผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตเอทานอลทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต3) กำหนดราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ไว้เท่าเดิมที่ 333 เหรียญต่อตัน โดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย และให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก4) หยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานชั่วคราว 5) แก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 โดยเก็บจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก่อน6) ขอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 7) ให้รัฐบาลใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ใช้กองทุน8) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ

อ่านเพิ่มเติม >