ฉบับที่ 124 กระแสต่างแดน

  อย่างนี้มันต้องถอน(ให้หมด) สมาคมบัตร เอทีเอ็มประเทศเวียดนาม  เรียกร้องให้เพิ่มค่าธรรมเนียมถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็ม(ATM) ของต่างธนาคารจาก 3, 300 เป็น 5, 500 ด่องเวียดนาม ในแต่ละครั้งที่มีการถอนเงิน พร้อมขออนุญาตให้สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้ ATM จากธนาคารเจ้าของบัตรในครั้งที่ 4 ซึ่งก่อนหน้านี้การถอนเงินสามครั้งถูกหน่วยงานปฏิเสธไม่ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม   สมาคมอ้างว่า การเพิ่มค่าธรรมเนียมถอนเงินสดของต่างธนาคารจะช่วยลดภาระการขาดทุนในการลงทุนตู้ ATM และเพื่อหลักประกันและความปลอดภัยของตู้ รวมทั้งจากเดิมที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บค่าธรรมเนียมการถอนเงินสดสำหรับลูกค้าจากตู้ ATM ธนาคารของตนเอง รวมทั้งปัญหาของลูกค้าที่ลูกค้ามักจะถอนเงินทั้งหมดจากบัตรเพื่อฝากในบัญชีออมทรัพย์และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารไม่ได้ประโยชน์จากการเก็บเงินไว้ในตู้ ATM ขณะที่นักวิชาการเวียดนาม ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของสมาคมธนาคาร “ปัญหาสำคัญคือคุณภาพบริการที่ไม่เหมาะสมกับการขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาตู้ATM ที่มักจะยึดบัตร ตู้ใช้การไม่ได้ หรือถอนเงินแล้วไม่มีเงินออกมาแต่ถูกหักบัญชีไป หรือแม้แต่ปัจจุบันที่ธนาคารส่วนใหญ่บังคับให้มีเงินขั้นต่ำไว้ ถึงแม้จะน้อยแต่ก็เป็นเงินให้ธนาคารหาประโยชน์โดยไม่มีต้นทุนใด ๆ และที่สำคัญธนาคารไม่ควรลงทุนในการขยายเครือข่าย ATM ให้มากเพราะในอนาคตแนวโน้มการชำระเงินที่ไม่ใช้เงินสดจะถูกพัฒนามากขึ้น   อยากมีทางด่วนแบบนี้บ้าง ประเทศอาเจนตินา มีกติกาที่น่าสนใจเรื่องการใช้ทางด่วน โดยเขาได้ออกเป็นกฎกระทรวงสำหรับให้ผู้ใช้ทางด่วนแห่งชาติ โดยมีการระบุรายละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ทาง ทั้งเรื่องระยะเวลาในการรอชำระค่าผ่านทาง และจำนวนยานพาหนะในการรอจ่ายเงินในแต่ละช่องทาง   โดยกำหนดให้การรอจ่ายเงินไม่เกินสามนาทีสำหรับเส้นทางพิเศษของรถประเภทเดียวกัน หรือห้านาที สำหรับเส้นทางการจราจรที่มีรถหลายประเภท  หรือจำนวนรถสูงสุดไม่เกิน 20 คัน ของรถที่รอชำระเงินค่าผ่านทางในแถวเดียวกัน และเมื่อไหร่ที่เข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ทางพิเศษต้องเปิดทางให้กับรถทุกคัน นั่นหมายความว่า ไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้เลย   ใครไปประเทศนี้ไม่ต้องแปลกใจหากได้ยินเสียงแตรเมื่ออยู่บนทางด่วนเพราะเป็นสัญญาณให้ไม้กั้นทางด่วนยกขึ้นและใช้ทางด่วนได้ฟรี เพราะไม่ทางด่วนไม่สามารถประกันเรื่องระยะเวลาที่รอหรือจำนวนรถที่มากเกิน 20 คันตามที่กำหนดไว้เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ------------------------------------------------------------------------------- มหาวิทยาลัยสตรีใหญ่ที่สุดในโลก แม้ว่าโลกมุสลิมจะเคร่งครัดในประเพณีปฏิบัติเรื่องสิทธิ หญิง ชาย ทำให้หญิงมุสลิมจำนวนมากขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ที่ซาอุดิอาระเบียที่นี่กลับก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพราะเขาเพิ่งเปิดมหาวิทยาลัยสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก กษัตริย์ อับดุลลาห์ แห่งซาอุดิอาระเบีย ได้ทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยปรินเซสโนรา บินท อับดุลารามัน (Princess Nora bint Abdulrahman University – PNU) อย่างเป็นทางการ ด้วยศักยภาพในการรองรับนักศึกษาถึง 50,000 คน ทำให้ มหาวิทยาลัยปรินเซสโนราฯ นี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับสูงและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสำหรับผู้หญิงเพียงอย่างเดียวที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ใช้งบประมาณในการสร้างถึง 200 ล้านเหรียญ ริยาลซาอุ  นาย อิบราฮิม อัล อัสแซบ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของซาอุฯ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงระบบการศึกษาสำหรับผู้หญิงและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศนี้ของผู้หญิง”  นอกจากศักยภาพในการรองรับจำนวนมาก และการเปิดสอนในภาควิชาที่ผู้หญิงหาเรียนได้ยากในบางมหาวิทยาลัยที่เข้มงวดในเรื่องการแบ่งเพศชายและหญิงในชั้นเรียนแล้ว ม.ปรินเซส โนรา ยังมีสิ่งปลูกสร้างพร้อมอุปกรณ์การเรียน เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อการศึกษาต่างๆ ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ศูนย์วิจัย และห้องสมุดที่มีหนังสือและบทความต่างๆ กว่าห้าล้านเล่ม สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจเป็นพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้คือ ศูนย์กีฬาขนาดใหญ่สำหรับผู้หญิง และพื้นที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับนักศึกษาได้ถึง 12,000 คน นาย อับอัสแซบ กล่าวเสริม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถูกออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าที่มีความกว้าง 40000 ต.ร.เมตร ซึ่งพลังงานที่ได้นั้น 16% ใช้ไปกับการผลิตความร้อน และ 18% ในการทำความเย็นภายในมหาวิทยาลัย อีกหนึ่งความสะดวกและทันสมัยที่ต้องกล่าวถึงของมหาวิทยาลัยปรินเซส โนราคือ ระบบขนส่งภายในที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีรถไฟของมหาวิทยาลัยซึ่งเชื่อมต่อกับทุกอาคารและศูนย์ฯ ต่างๆ ให้บริการนักศึกษาตลอด 24 ชม. และไม่ใช่เพียงสาธารณูปโภคที่ทันสมัยเท่านั้น มหาวิทยาลัย ปรินเซสโนรา ยังมี โรงกำจัดขยะ โรงบำบัดน้ำเสีย โกดังเก็บของ และศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อการตอบสนองและการดูแลมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างครบวงจรอีกด้วย งานนี้เรียกว่าใหญ่ครบวงจรจริงๆ ------------------------------------------------------------------------------- ห้องฉุกเฉิน มีก็เหมือนไม่มี ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่เพิ่งออกกฎหมายประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตคนจนที่อาศัยอยู่ในเมือง  จากการศึกษาซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความของสมาคมการแพทย์อเมริกา พบว่าจำนวนห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยในเขตเมืองในสหรัฐอเมริกาช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีอัตราลดลงจาก 2,440 ห้อง ในปี 1990 เหลือ 1,779 ห้องในปี 2009 ถึงแม้ว่าอัตราจำนวนห้องฉุกเฉินจะมีเพิ่มขึ้นประมาณ 35% ทั่วประเทศก็ตาม  โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ต่างพากันปิดแผนกฉุกเฉิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ดำเนินการเน้นในเชิงธุรกิจ เนื่องจากห้องฉุกเฉินไม่ทำกำไรให้กับโรงพยาบาล ในรายงานการศึกษาพบว่า เกือบสองเท่าของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่ดำเนินการเชิงธุรกิจและโรงพยาบาลที่ได้ผลกำไรต่ำมักปิดแผนกฉุกเฉินลง เนื่องจาก 40% เป็นการให้บริการแก่ผู้ป่วยยากจน  สำหรับผู้ป่วย “บางคนคิดว่า ตราบเท่าที่ยังมีห้องฉุกเฉินอยู่ พวกเขาก็ยังรู้สึกเหมือนได้รับการปกป้อง” ดร.ฮะเซีย นักวิจัยซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิโรเบิร์ต วูด จอห์นสัน กล่าว แต่ถึงแม้ว่าจะยังมีห้องฉุกเฉินใกล้บ้านให้อุ่นใจ พวกเขาก็ยังได้รับผลกระทบจากการมีห้องฉุกเฉินเพียงไม่กี่ห้องอยู่ดี เพราะจำนวนห้องที่มีน้อยทำให้ผู้ป่วยต้องรอนานขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพในการรักษา  สถานการณ์การมีห้องฉุกเฉินน้อยอาจจะยิ่งเลวร้ายกว่านี้ เนื่องจากกฎหมายการดูแลสุขภาพฉบับใหม่ จะมีผลต่อแผนการดูแลสุขภาพสำหรับประชาชนยากจน เพราะบ่อยครั้งที่มีผลประโยชน์เกิดขึ้นจากห้องฉุกเฉินเนื่องจากหมอไม่ยอมรักษาผู้ป่วยภายใต้โครงการประกันสุขภาพของรัฐ  ดร.แซนดร้า เอ็ม ชไนเดอร์ ประธาน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้ว ห้องฉุกเฉินต้องให้การรักษา โดยต้องไม่คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่ารักษาของผู้ป่วย แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ต่อไปอาจจะไม่มีห้องฉุกเฉินที่ไหนให้พวกเขาไปรักษาก็ได้” -------------------------------------------------------------------------------   ฉลากขนมแบบไฟจราจรทำไมจะทำไม่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสุขภาพและอาหารเช้าซีเรียลของประเทศนิวซีแลนด์นามแซนิทาเรียม หัวก้าวหน้าสุดๆ ไม่กังวลว่าผู้บริโภคจะกลัวและไม่กล้าบริโภคผลิตภัณฑ์ หากติดสัญญาณ เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เดินหน้าประกาศใช้ระบบฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรของตนเอง เรียกว่า “ระบบการกินเพื่อสุขภาพ” ฉลากของบริษัทนี้ก้าวไปไกลกว่าฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจรแบบทั่วไป ตรงที่ไม่เพียงแค่มีข้อมูลด้านลบที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่ ปริมาณไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ แต่ในอาหารบางผลิตภัณฑ์ยังแสดงข้อมูลอาหารด้านบวกที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ปริมาณโปรตีน ใยอาหาร (ไฟเบอร์) และอาหารกลุ่มให้กากใย ได้แก่ ผัก ผลไม้ และ ธัญพืช  ที่ใจถึงสุดๆ คือ บริษัทกล้าระบุคำแนะนำความถี่ในการบริโภค โดยแบ่งคำแนะนำออกเป็น 3 ชนิด คือ กินได้บ่อย ๆ กินบ้างบางครั้งบางคราว และ กินเมื่อจำเป็น   ท้ายสุด ยังใจกว้างเป็นแม่น้ำ ด้วยการเปิดรับทุกเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ระบบฉลากโภชนาการสำหรับการกินเพื่อสุขภาพนี้ของบริษัท และยืนยันจะไม่จดลิขสิทธิ์ทางปัญญาใด ๆ กับระบบฉลากโภชนาการนี้ หากผู้ประกอบการรายใดหรือประเทศใดก็ตามสนใจรูปแบบฉลากนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้ทันที   ผู้ประกอบการคนไทย อายเขาไหมล่ะ ตัวอย่างฉลากโภชนาการของบริษัทแซนิทาเรียม

อ่านเพิ่มเติม >