ฉบับที่ 164 ยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร

บทนำ เมื่อ อเล็คซานเดอร์ เฟลมมิ่ง ค้นพบเพนนิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก ถือเป็นความยิ่งใหญ่ในการรักษาโรคติดเชื้อในคน ซึ่งในยุคนั้น มีปัญหาโรคติดเชื้อมากมาย และผู้คนต้องเสียชีวิตจำนวนมาก  เขาได้บรรยายในวันที่รับรางวัลโนเบล เมื่อปีพ.ศ.2492 ว่า มันเป็นการไม่ยากที่จะก่อให้เกิดการดื้อยาในเชื้อแบคทีเรีย เมื่อใช้ยาในขนาดน้อย ๆ ที่ไม่เพียงพอในการกำจัดเชื้อโรค จะนำไปสู่เชื้อที่มีความดื้อด้านทนทานต่อยามากขึ้น แต่ดูเมือนผู้คนยังไม่ตื่นตระหนก จึงยังคงใช้ยาปฏิชีวนะกันมากมาย อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น ตลอดมา องค์การอนามัยโลกได้สะท้อนปัญหาเชื้อดื้อยามานานแล้ว ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีรายงาน มีเอกสารยุทธศาสตร์ มีมติต่าง ๆ ออก มาอยางต่อเนื่อง โดยล่าสุดคือในปีนี้เอง มีรายงานขององค์การอนามัยโลกที่ สะท้อนผลการสำรวจสถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก[1] พบว่ามีสถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพอยู่ในระดับเลวร้ายมาก และพบช่องว่างการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหารมาก เมื่อเทียบกับในคน  ในสมัชชาอนามัยโลก ปีพ.ศ. 2557 (WHA67.25)[2] จึงมีมติแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ และเรียกร้องประเทศสมาชิกให้รีบเร่งดำเนินการต่าง ๆ ถึง 10 เรื่อง เช่น การพัฒนาระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ใน 3 ด้าน คือผู้ป่วยในสถานพยาบาล ผู้ป่วยนอกและชุมชน และรวมถึง ในสัตว์และการใช้ในส่วนที่ไม่ใช่คน เช่น ในการเกษตร  การมีนโยบายของประเทศที่ชัดเจน เป็นต้น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจ  World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์ด้านเศรษฐกิจ มีการประชุมและจัดทำรายงายทุกปี  ซึงเมื่อปีพ.ศ. 2556 ได้จัดทำรายงาน เกี่ยวกับสภาวะปัจจัยเสี่ยงของโลก Global Risk 2013[3] และหนึ่งในความเสี่ยงที่ได้หยิบยกมา เป็นโรคแห่งความอหังกาของมนุษย์โดยแท้  คือเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและรวมถึงยาปฏิชีวนะด้วย  ที่เกิดทั้งจากการใช้ในคนและใช้สัตว์อย่างไม่ระมัดระวัง ปัญหาเกิดจากการรักษาในคนและ การนำมาใช้ในการเกษตร ทั้งการปลูกพืช และในการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์ และประมง) มีการสะท้อนปัญหาของการดื้อยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ปัญหาไม่มียาปฏิชีวนะใช้  และอนาคต ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา และเรียกร้องทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิต ผู้ควบคุม ไปจนถึงผู้ใช้ในทุกระดับ ให้ตระหนักเรื่องนี้ให้มากกว่าปกติ จึงควรมาทำความเข้าใจถึงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ให้คำจำกัดความ ของ “ห่วงโซ่อาหาร[4]” ว่า หมายความว่า วงจรการผลิตอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การตัดแต่ง การแปรรูป การขนส่ง การปรุง การประกอบ การบรรจุ การเก็บรักษา การจัดจำหน่าย การกระจาย จนถึงผู้บริโภค รวมทั้งการนำเข้า การนำผ่าน และการส่งออก สถานการณ์ของประเทศไทย สถานการณ์มีได้ 2 ลักษณะ คือ กลุ่มแรก พบมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์สัตว์ เช่น  ไก่ กุ้ง ซึ่งพบมีรายงานมานานแล้ว อีกกลุ่มที่น่ากลัวและพบรายงานเร็ว ๆ นี้ คือการพบเชื้อ และโดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับมนษย์ เช่นไก่ รายงานในปี พ.ศ. 2545 พบว่า มีการตรวจพบ สารตกค้างของยาปฏิชีวนะในกลุ่มไนโตฟูแรน (Nitrofurans) ในสินค้ากุ้งและไก่แช่แข็งจากประเทศไทยที่ส่งไปที่สหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการระงับการนำเข้าและส่งคืนสินค้าที่มาจาก ประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวด เช่น การตรวจสอบสารตกค้างทุกครั้งที่นำเข้า ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ มีการตรวจพบเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาแวนโคมัยซิน (vancomycin) ในเนื้อไก่ที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น มีรายงานอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ที่สงขลา [5] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น[6] (2553) ได้ศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและการปรากฏของ virulence factors ในเชื้อ Salmonella enterica ที่แยกได้จากโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย  พบการแพร่กระจายของเชื้อ Samonella ดื้อยาในฟาร์มโคนม เนื้อสุกรและผู้ป่วย โดย class 1 integrons มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายและการถ่ายทอดพันธุกรรมการดื้อยาในเชื้อเหล่านี้ รวมทั้งเชื้อเหล่านี้ยังมีปัจจัยก่อความรุนแรงของโรค ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่าง รวมถึงการส่งเสริมให้การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของการดื้อยาในเชื้อและสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ มีรานงานการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล[7] ว่าทำการตรวจสอบเนื้อไก่สดที่แพ็กขายในซุปเปอร์มาร์เกต พื้นที่ใกล้เคียง รพ.ศิริราช จำนวน 200 แพ็ก พบว่าเกินครึ่ง (56.7%) มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในลำไส้ใหญ่ของคนทั่วไป และเชื้อซัลโมเนลลา เอนเตอโรติก้า (Salmonella enteritica) ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง พบว่าเกินค่ามาตรฐานที่ 500 ตัว ต่อ 25 กรัมของเนื้อสัตว์  และในจำนวนเชื้อที่ปนเปื้อนทั้ง 2 ชนิดเป็นเชื้อดื้อยาถึงร้อยละ 40 อาจจะทำให้คนทั่วไปได้รับเชื้อดื้อยาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงน่าเป็นห่วงว่ายังมีการใช้จนได้ตรวจพบยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับคนอีกต่อไปหรือไม่ และเป็นยาปฏิชีวนะประเภทใด พบในผลิตภัณฑ์ชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจพบเชื้อดื้อยา พบเชื้ออะไรอีกบ้าง และดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดใด  เหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร ผลเสียหายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ รุนแรงและมากมายเพียงใด ระบบเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นอย่างไร ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ [8] (National Antimicrobial Resistance Surveillance Thailand, NARST) ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 มีรายงานต่อเนื่องทุกปีถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาในมนุษย์ โดยได้ตัวอย่างมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก จึงยังมีตัวอย่างจากชุมชนไม่มากนัก รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2556 และ 2557[9] ระบุว่าคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะปีละกว่า 1 แสนคน ใช้เวลารักษาตัวนานขึ้นรวมกันปีละกว่า 3 ล้านวัน ในปี 2553 มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดดื้อต่อยาปฏิชีวนะ 5 ชนิด เสียชีวิต 38,481 ราย เชื้อจุลชีพ 5 ชนิด ได้แก่ 1.เอสเชอริเชีย โคไลหรืออี.โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร 2.เคลบซีลลา นิวโมเนอี (Klebsiella pneumoniae) ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดอักเสบ 3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobactor baumannii) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม 4.ซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ทำให้เกิดโรคติดเชื้อหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคปอดบวม ติดเชื้อในกระแสเลือด และ5.สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อต่อยาเมทิซิลิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อันได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาเฉพาะในสัตว์ที่หน่วยงานรับผิดชอบ  แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกรรมที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการปลูกพืช  ยังไม่มีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาที่ชัดเจน มีเพียงงานวิจัยประปรายที่ระบุการพบการตกต้างของยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์ และมีการศึกษาในภายหลังถึงการพบเชื้อดื้อยาด้วย ที่น่าอันตรายมากต่อผู้รับประทาน และต่อสุขภาพเกษตรกรด้วย ห่วงโซ่อาหาร มียาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยามาอยู่ได้อย่างไร การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์มีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ เพื่อการรักษา เพื่อการป้องกันโรค และเพื่อเร่งการเจริญเติบโตวิธีการให้ทั้ง 3 วิธีนี้มีความแตกต่างกันไป เชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านไปยังคนได้ โดย 3 วิธีหลักๆ คือ[10] 1) การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ จากสัตว์ 2) การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสัตว์ และ  3) การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดิน เป็นต้น  มีรายงานของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่า 5 จาก 90 ตัวอย่าง เนื้อหมูที่วางขายในร้านขายของชำในรัฐลุยเซียนามีเชื้อ Methicillin-resistance Staphylococcus aureus (MRSA) อยู่ และมีการศึกษายืนยันความสัมพันธ์ของการใช้ยาในสัตว์และการเกิดเชื้อดื้อยา MRSA ที่ส่งผ่านมายังคน ใจพร พุ่มคำ (2555) อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาและยาปฏิชีวนะ ตกค้างในเนื้อสัตว์ไว้ 7 ประการ 1. ความจำเป็นของผู้เลี้ยงในการใช้ยาในสัตว์ เนื่องจากโอกาสที่สัตว์จะป่วยมีได้โดยเฉพาะในฟาร์มทีไม่ได้มาตรฐาน 2. การใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย เช่นใช้เภสัชเคมีภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาสำเร็จรูป ฉลากไม่ถูกต้องหรือใช้ยาคนไปผสมให้สัตว์กิน ทำให้อาจได้ขนาดไม่ถูกต้อง 3. การใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่การใช้ยาสูงขึ้น ใช้ยานานขึ้น หรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่แรงขึ้น แพงขึ้น 4. ไม่มีการหยุดยาตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มียาตกค้างในเนื้อเยื่อของสัตว์ในปริมาณที่เป็นอันตรายได้ 5. การไม่ตรวจหาสารตกค้างหรือการตรวจอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้เลี้ยงสัตว์บางรายไม่มีการสุ่มตรวจหาสาร ตกค้างในสัตว์ก่อนการฆ่าหรือจับสัตว์มาบริโภค 6. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการกำกับดูแลสถานที่จำหน่ายยาสัตว์  รวมถึงสถานนำเข้า หรือผลิต เป็นสิ่งสำคัญ หากมีความอ่อนแอและไม่ทั่วถึงย่อมเกิดปัญหาตามมาแน่นอน ถือเป็นการดูแลที่ต้นน้ำ 7. มีระบบติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดเชื้อ-ดื้อยา และยาตกค้างในเนื้อสัตว์ ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุม เช่นเดียวกันว่าหากระบบไม่เข้มแข็งก็ติดตามไม่ทนสถาณการณ์ อย่างไรก็ดี หลายคนตั้งคำถามว่า ประเด็นในเรื่องนี้ อยู่ที่ว่า ในความเป็นจริง การอนุญาตให้ใช้ยาฏิชีวนะในอาหารสัตว์  แล้วพักเวลาก่อนการขาย นั้น ทำให้ตรวจไม่พบไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง   แต่น่าจะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ ส่วนยาปฏิชีวนะในสวนผลไม้ต่าง ๆ เช่นสวนส้ม ยังไม่มีการศึกษามากนักว่าตกค้างในผลไม้เท่าไหร่ และตกค้างในสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มีอันตรายแก่ผู้คนอย่างไร โดยเฉพาะการเกิดเชื้อดื้อยา การควบคุมการนำเข้า การกระจายและการใช้ยาปฏิชีวนะของไทย เป็นอย่างไร พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551[11] และฉบับแก้ไข พ..ศ. 2556[12] เป็นการกำหนดมาตรฐาน และออกใบอนุญาต ผลิต ส่งออก และนำเข้า สินค้าเกษตรมาตรฐาน ทั้งนี้ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)[13] ทำหน้าที่ เป็นแกนประสาน รวม 7 ประการ เช่น  เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร   กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้สอดคล้องกับสากล และ รับรองระบบงานผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขายซึ่งอาหารสัตว์ทุกประเภททีมีสารอะโวพาร์ซินเป็นส่วนผสม  จึงมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ ให้ยกเลิกข้อความใน (3) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2538 นั่นคือกลับให้ อะโวพาร์ซิน ( Avoparcin ) ที่อยู่ในสภาพของสารผสมล่วงหน้า กลับไปเป็นยาอย่างเดิม รือยกเลิกไปเลย น่าสับสน น่าสนใจว่า ตั้งแต่พ..ศ. 2522 เป็นต้นมา มีการประกาศยกเว้นให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด ไม่เป็นยา นั่นคือนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ได้ เช่น ให้ เตตราซัยคลิน และ สเตรปโตมัยซิน ในขนาด ไม่เกิน 15% ใช้ในทางเกษตรกรรมได้ และยกเว้นไม่ถือเป็นยา (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2524 เรื่องวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 34 (พ.ศ. 2548) เรื่อง วัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยา ข้อ 3 ให้ยาต้านจุลชีพที่เป็นสารผสมล่วงหน้า ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของสัตว์ในด้านเกษตรกรรม ซึ่งได้รับยกเว้นจากการเป็นยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2538) รวมทั้งที่ได้ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 ไว้แล้ว ได้รับยกเว้นจากการเป็นยาเป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และเมื่อพ้นกำหนดแล้ว การผลิต ขายหรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 วัตถุตามข้อ 2 และข้อ 3 ต้องไม่แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยสำหรับสัตว์ จากการสืบค้นในเวปไซต์ ต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ ความเข้าใจผิด และความละเลยในการใช้    เช่น มีคำถาม ว่าสเตรปโตมัยซิน มีขายที่ไหนเอ่ย?  ที่ใช้กับพืชนะครับ คำตอบคือ  ร้านขายยาปราบศัตรูพืช คุณอยู่ใกล้ที่ไหนลองไปเดินหาดู  ตามตลาดร้านขายยาฆ่าแมลง มีทั่วไป เป็นยาปฏิชีวนะ  ครอบจักรวาล ส่วนมากเขาไม่นิยมใช้ เพราะมีสารตกค้าง  อันตรายต่อคน เขาใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้สารสะเดา หรือไม่  ก็ใช้ตัวฮั่มหรือแตนเบียน ไล่แมลง แต่ในความเป็นจริงมีการอนุญาตตามกฎหมมายให้ยกเว้นจากการเป็นยา ทิศทางการรณรงค์เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารของ นานาชาติ การได้เรียนรู้มาตรการจัดการในต่างประเทศมีประโยชน์ในการเสนอแนะต่อหน่วยงานรับผิดชอบของไทยไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ) กระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้มีมติระงับการใช้สารเสริม (additives) กลุ่มยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ประเภทสารเร่งการเจริญเติบโต (growth promoters) เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4 รายการ[14] ได้แก่  1. Monensin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงโค กระบือ 2. Salinomycin sodium : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร 3.  Avilamycin : ใช้ในการขุนเลี้ยงสุกร ไก่ และไก่งวง 4.  Flavophospholipol : ใช้ในการขุนเลี้ยง กระต่าย ไก่ไข่ ไก่ ไก่งวง สุกร ลูกสุกร วัว ลูกวัว มติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2549 โดยยาปฏิชีวนะนี้เป็น 4 รายการสุดท้ายที่ยังเคยคงอนุญาต และยังสอดคล้องกับมติเดิม เกี่ยวกับแผนการควบคุมเชื้อดื้อยาของสภายุโรป [15] ได้ทราบว่ามีการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะบางรายการในการเป็นส่วนผสมอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และนโยบายว่าจะควบคุมยาปฏิชีวนะทุกชนิดในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต แต่ข้อเท็จจริง มีการอนุญาตใช้สารที่เรียกว่า pre-mix ใช้ผสมให้สัตว์ กินทั้งในรูปอาหารและในรูปเป็นน้ำผสม เพื่อระบุว่าเป็นการป้องกันและรักษา การติดเชื้อของโรค การอนุญาตดังกล่าว จะนำไปสู่การใช้ไม่ระมัดระวัง และนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาหรือไม่ การเฝ้าระวังสถานการณ์การกระจายและใช้ ตลอดจนการเกิดเชื้ออดื้อยาจึงจำเป็นที่สุด   [1] WHO (2014) ANTIMICROBIAL RESISTANCE: Global Report on Surveillance, Available from  http://apps.who.int/iris/bitstream/10665/112642/1/9789241564748_eng.pdf?ua=1 [2]WHO (2014) SIXTY-SEVENTH WORLD HEALTH ASSEMBLY:   Antimicrobial resistance, Available from http://apps.who.int/gb/ebwha/pdf_files/WHA67/A67_R25-en.pdf?ua=1 [3]WEF (2013) Global Risk 2013  http://www3.weforum.org/docs/WEF_GlobalRisks_Report_2013.pdf [4] พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.. 2551 http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973927&Ntype=19 [5] การตกค้างของยาปฏิชีวนะในบ่อเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม http://www.fisheries.go.th/quality/กุ้งขาวแวนนาไม.pdf [6] รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (2553) การศึกษาพันธุกรรมการดื้อยาและปัจจัยในการก่อความรุนแรงของโรคของเชื้อซาลโมเนลล่า เอ็นเทอริก้าที่แยกได้จากห่วงโซ่อาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [7] ไทยรัฐ (2555) พบไก่สดในซุปเปอร์มาร์เกตมี “เชื้อดื้อยา” http://www.thairath.co.th/content/264356 [8] http://narst.dmsc.moph.go.th/ [9] http://narst.dmsc.moph.go.th/news001.html  และ http://news.mthai.com/general-news/348974.html [10] ใจพร พุ่มคำ (2555) อาหาร (ไม่) ปลอดภัย ...ผลจากการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ วารสารอาหารและยา กันยายน-ธันวาคม 2555 http://journal.fda.moph.go.th/journal/032555/02.pdf [11] http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_3.pdf [12]http://www.acfs.go.th/km/download/thai_agrilaw_2.pdf [13] http://www.acfs.go.th/index.php [14]European Commission (2005) Ban on antibiotics as growth promoters in animal feed enters into effect, available from  http://europa.eu/rapid/press-release_IP-05-1687_en.htm [15] European Commission (2001) Commission proposals to combat anti-microbial resistance , available from http://europa.eu/rapid/press-release_IP-01-885_en.htm

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point