ฉบับที่ 171 หินสี: เชื่อก็ต้องรู้ ดูก็ให้เป็น (ตอนที่ 3)

How to ร้อยหินสี ชิลๆ ใส่เอง เรารู้จักหินสี และการเลือกซื้อหินสีกันมาบ้างแล้ว ในตอนนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่อง How to ร้อยหินสี ชิลๆ ใส่เอง แรงบันดาลใจก็มาจากเห็นสร้อยข้อมือหินสีที่วางขายตามท้องตลาด ที่ล้วนแต่ประโคมหินสีชนิดต่างๆ หลากหลายทั้งสีสัน เกรด(คุณภาพของหินสี) และเครื่องประดับเสริมอื่นๆ เหล่านี้แหละที่ทำให้สร้อยข้อมือหินสีมีราคาแตกต่างกัน ฉลาดซื้อเข้าใจค่ะ บางอารมณ์ผู้บริโภคก็แอบคิด “อยากได้แต่แพง” “แบบ design ไม่เห็นสวย”  “น่าจะเพิ่มนี่นิด โน้นหน่อย” บลาๆๆๆ  ทางเลือกที่จะมาแนะนำ คือ ทำเองค่ะ  หลายคนคงเคยเห็นคนร้อยใส่เองบ้าง ทำแจกเพื่อนบ้าง แบ่งขายให้คนรู้จักบ้าง หรือบ้างก็เลยเถิดไปจนวางขายแบบจริงจัง นั่นก็เพราะเขาเหล่านั้นรู้จักทั้งแหล่งวัตถุดิบ และมีความชำนาญในวิธีการทำแล้ว ทุกอย่างเลยง่าย แต่จริงๆ แล้วทุกคนก็สามารถเรียนรู้ได้ค่ะ และสิ่งที่ฉลาดซื้อจะนำเสนอต่อไปนี้ จะเป็นการทำเองในแบบที่ “แตกต่าง” จากท้องตลาด เคยสงสัยบ้างไหมคะว่า ทำไมสร้อยข้อมือหินสีต้องเอาลูกปัดหินสีมาร้อยเรียงๆ ต่อกันไปทั้งเส้นด้วย(จริงๆ แล้ว หินสีทั้งเส้นมันทำให้สร้อยข้อมือมีราคาแพงเกินไป) หรือมีลูกปัดหินสีมากกว่า 50%  ทั้งๆ ที่การใส่หินสีตามความเชื่อ หรือเสริมดวงนั้น ขอให้มีหินสีที่เราเชื่ออยู่บนสร้อยข้อมือไม่กี่เม็ดก็พอ ซึ่งจะทำให้สามารถออกแบบให้สวยงามได้ดีกว่าร้อยต่อกันไปทั้งเส้น อีกอย่างการใส่สร้อยข้อมือหินสีก็เป็นเพียงแฟชั่น ตามกระแสนิยม ไม่ต้องทุ่มทุนสร้างมากก็ได้  การร้อยสร้อยข้อมือหินสีด้วยตัวคุณเองเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ฉลาดซื้อจะแนะนำด้วยว่าจะสามารถใช้อะไรทดแทนลูกปัดหินสีได้บ้าง เพื่อเป็นการ Share Ideas! ที่แตกต่างกับท้องตลาดแก่ผู้ที่สนใจและสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ด้วยค่ะ  มาร้อยกันเลย ถ้าการร้อยสร้อยข้อมือหินสีเปรียบเสมือนเป็นการทำอาหาร ลูกปัดหินสีคงเป็นวัตถุดิบหลักของเรา ซึ่งเราสามารถหาแหล่งซื้อลูกปัดหินสีได้หลายที่ ตามกระแสนิยมช่วงนี้แหล่งใหญ่ก็น่าจะเป็นที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเปิดเฉพาะวันเสาร์ และอาทิตย์ พิกัดร้านขายหินสีอยู่ใกล้ๆ กับร้านภูฟ้า(บริเวณทางลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีกำแพงเพชร) และสำเพ็ง ซึ่งเป็นที่ทุกๆ คนน่าจะไปกันถูก ส่วนที่ที่จะมีขายหินสีแบบยั่งยืนกว่าช่วงฮิตๆ ในตอนนี้ก็น่าจะเป็นที่ตึก Jewelry Trade Center ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสีลม อยู่เลยวัดแขกมาหน่อย ข้างๆ โรงแรมฮอลิเดย์อิน   ส่วนที่อื่นๆ ก็น่าจะมีเช่นกันค่ะ อันนี้แล้วแต่ความสะดวกในการเดินทางนะคะ  ลูกปัดหินสีมีหลายเกรด มีทั้งแบบหินแท้ หินอัด หินสังเคราะห์ สำหรับความหมายและความเชื่อต่างๆ ของหินสีนั้น สอบถามกันเองได้หน้าร้านเลยค่ะ นอกนั้นก็เป็นเครื่องปรุง เอ๊ย วัสดุอื่นๆ ค่ะ ที่จะนำมาแต่งเสริมเติมแต่งให้สร้อยข้อมือหินสีมีความสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์ เนื่องจากเราทำเองค่ะ   อุปกรณ์พื้นฐาน ในการทำสร้อยข้อมือลูกปัดหินสี 1.       ลูกปัดหินสี                                                         2.       เอ็นใส/เอ็นยางยืด 3.       อะไหล่เครื่องประดับ 4.       ตะขอ/ตัวล็อค เช่น ตะขอก้ามปู   แป๊กระดุมกด 5.       ตัวปิดปม 6.       คีม เข็มและอุปกรณ์อื่น ๆ 7.       วัสดุทดแทน ลูกปัดหินสี      Tips ในการร้อยสร้อยข้อมือลูกปัดหินสี 1.      เอ็นใส สำหรับผู้เริ่มต้น แนะนำให้ใช้เอ็นเบอร์ 0.30 mm. หรือเบอร์ 30 มาก่อนค่ะ ไม่ใหญ่เกิน ไม่เล็กเกิน มีแบบม้วนใหญ่ยาว 100 เมตร ม้วนเล็กยาว 10 เมตร ค่ะ สำหรับเอ็นยางยืด ให้ใช้หลายเส้นหน่อย เพื่อความแข็งแรงค่ะ ตัดขนาดตามข้อมือและอย่าลืมเผื่อสำหรับการผูก 2-3 ทับ 2.      ตะขอ มีหลายแบบ 1)ตะขอก้ามปู กับโซ่ปรับระดับ สามารถเลื่อนตะขอก้ามปูไปเกี่ยวห่วงในโซ่ได้หลายตำแหน่ง สร้อยที่ได้จึงปรับความยาวได้ 2)กระดุมกด 3)toggle หรือตะขอตัว OI 4)ตะขอก้ามปูแบบกลม       3.      ห่วงโลหะ มีหลายขนาด หลายสีเช่นกัน มีรูปทรง(ที่เรารู้จัก)สามแบบค่ะ กลม รี และสามเหลี่ยม แนะนำห่วงกลมขนาด 5 mm.- 8mm. น่าจะกำลังเหมาะสม 4.      ตัวปิดปม เวลาที่เราร้อยสร้อย เราต้องผูกปลายเอ็นไม่ให้สร้อย และลูกปัดหลุด ตัวปิดปมเอาไว้ปิดปมเอ็นที่เราผูกตรงปลายของสร้อย จากนั้นบีบตัวปิดปม ปมก็ซ่อนอยู่ข้างในค่ะ และที่ตัวปิดปมยังมีห่วงโค้งเอาไว้คล้องกับตะขอได้   5.      เม็ดบีบ เป็นโลหะมักจะใช้บีบทับปมเอ็น เราชอบใช้ในงานที่ร้อยด้วยลวดสลิง   เอาล่ะมาถึงตรงนี้ ฉลาดซื้อคาดว่าทุกคนคงเกิด Ideas ไปไม่มากก็น้อยนะคะ ลองลงมือทำซิคะ แล้วคุณจะเห็นว่า หินสีไม่ต้องมากมายก็ทำให้สร้อยข้อมือของคุณสวยเก๋ได้ แถมยังไม่เหมือนใครด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 หินสี: เชื่อก็ต้องรู้ ดูก็ให้เป็น (ตอนที่ 2)

ความเชื่อถือ และการใช้อัญมณีของคนไทยในสมัยโบราณ เริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่มีหลักฐานกำหนดแน่ชัด เราอาจทราบเรื่องอัญมณีของไทยในอดีต ได้จากวรรณคดีไทย บางเรื่อง บางตอน คนไทยเริ่มรู้จักและใช้อัญมณีไม่กี่ชนิด ที่มีการอิทธิพลมากๆ ก็ได้ แก่ นพรัตน์ หรือแก้วเก้าประการ ได้แก่ 1) เพชร Diamond 2) ทับทิม  Ruby 3) มรกต Emerald 4) บุษราคัม Yellow - Sapphire or Topaz*  5) โกเมน Garnet  6) ไพลิน  Blue Sapphire 7) ไข่มุก Pearl or Moonstone 8) เพทาย Zircon 9) ไพฑูรย์ Chrysobery Cat's eye (*ในสมัยโบราณ คำว่า บุษราคัม จะหมายถึง โทแพซ แต่เมื่อเราพบว่า พลอยสีเหลืองของจันทบุรี ซึ่งเป็นแซปไฟร์สีเหลือง (Yellow Sapphire) มีคุณภาพเหนือกว่า เราจึงใช้ Yellow Sapphire แทน) ส่วนหินสี อย่าง อเมทิสต์(หินสีม่วง) เทอร์ควอยซ์(หินสีเขียวไข่กา) เริ่มมาเป็นที่นิยมกันในภายหลัง เรื่องราคา หินสีพวกนี้บางประเภทที่หายากและเป็นของแท้ ก็จะมีราคาค่อนข้างสูง นำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่กำลังฮิตๆ กัน จะเป็นของทำเทียม เลียนแบบ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แบบเกินจริง รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหินและอัญมณี ได้ให้ความรู้ในการแยกหินสีของจริง-ของปลอม เนื่องจากหินสีที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ มีทั้งหินสีธรรมชาติที่เป็นของจริง หินสีปลอมที่ทำจากแก้ว เรซิ่น และพลาสติก ซึ่ง รศ.ดร.เสรีวัฒน์ ให้ข้อสังเกตว่า มีวิธีเบื้องต้นสำหรับตรวจสอบดังนี้   1. ใช้ลูปส่องพระ ขนาดกำลังขยาย 10 เท่าส่องเข้าไปที่เม็ดหิน หากเป็นหินปลอมที่ทำขึ้นจากแก้วหรือเรซิ่น ภายในจะเต็มไปด้วยฟองอากาศขนาดเล็กเต็มไปหมด ที่เกิดจากกระบวนการหล่อของโรงงานที่สามารถยืนยันได้ทันทีว่าหินนี้เป็นของปลอม 2. เมื่อนำไปตากแดดแล้วนำมาสัมผัส หรือนำมาอังไว้ที่แก้ม หินสีธรรมชาติจะยังคงความเย็นอยู่ ในขณะที่แก้วหรือเรซิ่นจะร้อน เพราะมีคุณสมบัติในการดูดความร้อน 3. ดูเส้นไหล หินปลอมจากพลาสติกหรือแก้วจะมีเส้นไหล ที่มีลักษณะเหมือนเป็นลายน้ำเชื่อมที่เกิดจากการหลอมของพลาสติก ซึ่งจะไม่พบในหินแท้จากธรรมชาติ 4. ดูแนวเชื่อม ถ้าหากมีแนวเชื่อมของเม็ดหินแสดงว่าเป็นหินปลอมที่เกิดจากเครื่องหล่อที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5. ดูลวดลาย หากลวดลายหรือตำหนิบนหินมีลักษณะเหมือนๆ กัน หรือตรงกันทุกจุด ก็สันนิษฐานได้ทันทีว่ามาจากโรงงาน เพราะหินในธรรมชาติแทบจะไม่มีก้อนไหนเลยที่มีลักษณะเหมือนกัน 6. ราคาอาจใช้เทียบไม่ได้ เพราะเกิดจากความพึงพอใจระหว่างคนขายคนซื้อ และเครดิตของร้านค้า 7. น้ำหนัก ใช้เทียบไม่ได้ เพราะแก้วบางชนิดมีน้ำหนักใกล้เคียงกับหินสีของแท้ 8. วิธีสุดท้ายที่ง่ายที่สุด สำหรับการแยกหินสีแท้กับพลาสติก คือ การนำไปเผาไฟ แต่อาจไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ค้า ทั้งนี้ เราสามารถหินย้อมสีได้ เพื่อเปลี่ยนสีพลอยถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักอัญมณีใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพพลอยที่มีการทำสืบต่อกันมานานแล้วตั้งแต่อดีต เพื่อให้พลอยหรืออัญมณีมีสีที่สวยขึ้น ใสขึ้น ขายได้ราคาดีขึ้น หรือทำให้มีสีสันลวดลายแบบที่ต้องการซึ่งนิยมทำกันมากทั้งในพลอยธรรมชาติ และพลอยสังเคราะห์ จนบางครั้งผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถแยกได้ว่าอันไหนเป็นของจริง หรืออันไหนเป็นของปลอม การใช้สารเคลือบสี หรือการย้อมสีซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดกับพลอยสังเคราะห์ที่ทำจากแก้วหรือเรซิ่นให้ดูมีสีสันเหมือนของจริง โดยการใช้สีเคมีย้อมเข้าไปที่ตัวพลอย ให้เม็ดสีเข้าไปเคลือบที่บริเวณช่องว่างและผิวหน้าของเม็ดพลอย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสีก็จะค่อยๆ หมองและหลุดลอกในที่สุด คราวหน้าไหนๆ ก็ถือว่าเป็นเครื่องประดับที่กำลังแรง เราจะชวนสาวๆ มาทำ DIY สร้อยข้อมือจากหินสีราคาไม่แพง แต่งดงามกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 หินสี: เชื่อก็ต้องรู้ ดูก็ให้เป็น (ตอนที่ 1)

สาวน้อยสาวใหญ่เมื่อมีแฟชั่นเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ผ้าพันคอ ฯลฯ ก็ไม่วายจะต้องหามาใช้เพื่อเกาะกระแสตามๆ กันไป ความจริงแล้วสาวๆ ก็ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องประดับร่างกาย เพื่อเสริมสร้างความสวยงามนั่นเอง ซึ่งถ้านับรองจากโทรศัพท์ถือมือแล้วก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ 6 ของบรรดาสาวๆ เลยทีเดียว สำหรับเทรนด์แรงประจำปี 2557 จนต่อเนื่องมาปีนี้ คือ “หินสี”  ที่มีผู้คนมากมายหลากหลายวงการพากันหามาใส่กัน อาจมีอิทธิพลมาจาก “ความเชื่อ” ในการสวมใส่เพื่อเสริมดวง นำโชค แก้ปีชง ตามที่แต่ละคนได้หาข้อมูลมา ฉลาดซื้อขอเกาะกระแสเรื่องนี้ด้วย แต่จะเสนอมุมมองที่ว่า หินสี: เชื่อก็ต้องรู้ ดูก็ให้เป็น   ความรู้เกี่ยวกับหิน หินสี ที่เราหามาใส่กันนั้นมันมาจากไหน หิน(rock)  คือ มวลสารที่เป็นของแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเปลือกโลกอย่างหนึ่ง จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการเกิด ได้แก่ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร ซึ่งหินทั้ง 3 ชนิดนี้ อาจเปลี่ยนแปลง จากหินชนิดหนึ่งไปเป็นหินอีกชนิดหนึ่งได้ หินทุกชนิดต้องประกอบด้วยแร่ อาจมีแร่เพียงชนิดเดียว เรียกว่า หินแร่เดี่ยว (monomineralic rock) เช่น หินปูน ประกอบด้วยแร่แคลไซต์ (calcite) หินควอร์ตไซต์ (quartzite) ประกอบด้วยแร่ควอตซ์ (quartz) แต่หินส่วนมาก มักประกอบด้วยแร่มากกว่าหนึ่งชนิดดังกล่าว เรียกว่า หินแร่ประสม (polymineralic rock) เราจึงเห็นหินมีสีสันต่างๆ ตามแร่ธาตุที่แตกต่างกัน และหินสีที่สวยๆ คุณภาพดีก็คือ “อัญมณี” ที่มีราคานั่นเอง   “จุดกำเนิดหินสีมีทั้งแบบที่เป็น “หิน” และแบบที่เป็น “แร่” ซึ่งหินสีธรรมชาติทั้งหมดล้วนเกิดจากจุดกำเนิดเดียวกัน คือกระบวนการทางธรณีวิทยาใต้ชั้นเปลือกโลก แหล่งเก็บรวมรวมแร่ธาตุที่จะปะทุตัวขึ้นมาในรูปแบบลาวาของภูเขาไฟ หรือรูปแบบอื่นๆ ก่อนจะแข็งตัวกลายเป็นหินอัคนี ที่จะสามารถแตกกลุ่มหินออกได้อีกเป็น 2 แบบคือ “หินชั้น” ที่เกิดจากทับถมกันของหินประเภทต่างๆ เป็นเวลานานจนเกาะตัวเป็นเนื้อเดียวกัน และหินแปรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของหินอัคนีหรือหินชั้นแบบเดิม จากอุณหภูมิและความดันสูงๆ จนเกิดเป็นหินชนิดใหม่ที่มีโครงสร้างทางเคมีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหินสีในปัจจุบันสามารถเป็นได้ทั้งหินอัคนี หินชั้น และหินแปร” (รศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักธรณีวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านหินและแร่) หินสีที่ก่อกำเนิดจากหินอัคนี พบได้จำพวกแก้วธรรมชาติ ทับทิม ไพลิน บุษราคัม เขียวส่อง สปิเนล ควอตซ์ แบริล คริสโซแบริล เพอริโด ทัวร์มาลีน อาความารีน โทปาซ เพทาย(เซอร์คอน) หินสีที่ก่อกำเนิดจากหินแปร พบได้จำพวก ทับทิม ไพลิน บุษราคัม เขียวส่อง สปิเนล ควอตซ์โกเมนชนิดต่างๆ แบริล คริสโซแบริล เพอริโด ทัวร์มาลีน หยกเจดไดท์ หยกเนฟไฟรต์ ลาปิสลาซูลี ไอโอไลท์ ซอยไซท์ หินสีที่ก่อกำเนิดจากหินชั้น(หรือหินตะกอน) พบได้จำพวก ทับทิม ไพลิน บุษราคัม เขียวส่องควอตซ์ สเปสซาร์ไทต์(โกเมนสีส้ม) แบริล คริสโซแบริล ทัวร์มาลีน โทปาซ สปอดูมีน อะพาไทต์ มรกต หินสีที่ก่อกำเนิดจากน้ำบนผิวโลก ได้แก่ โอปอ เทอร์คอยซ์ มาลาไคท์ โรโดโครไซท์ อะมีทิสต์ อาเกต   ความต่างของอัญมณีกับหินสี อัญมณีส่วนใหญ่เป็นแร่ เราจึงสามารถเรียนรู้ และเข้าใจถึงโครงสร้าง และคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของอัญมณีได้อย่างค่อนข้างสะดวก แร่ทุกชนิดจะจัดแบ่งแยกจากกันได้ โดยลักษณะโครงสร้างทางผลึก และส่วนประกอบทางเคมี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก เนื่องจากว่าจะไม่มีแร่ หรือ อัญมณี 2 ชนิดใด ที่มีลักษณะโครงสร้างทางผลึกและองค์ประกอบทางเคมีที่เหมือนกันทุกประการ คือ อาจมีความแตกต่าง ในคุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสง และทางเคมี ดังนั้นจึงสามารถใช้ความแตกต่างในคุณสมบัติดังกล่าว มาช่วยในการตรวจจำแนกชนิดและคุณค่าราคาของอัญมณีต่างๆ ได้ แตกต่างจาก “หินสี”  ที่มีความไม่แน่นอนในส่วนประกอบ จึงจัดให้เป็น “ของคุณภาพต่ำ” หรือ “อัญมณีคุณภาพต่ำ”  ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับพลอยแต่เป็นพลอยแฟชั่น ที่ไม่มีคุณค่าทางการลงทุนเหมือน เพชร หรือพลอยน้ำดี  เพราะหินสีส่วนมากจะมีเนื้อขุ่นและมีมลทินอยู่ภายใน ทำให้หินสีมีราคาถูกมาก(ย้ำถูกมาก) เมื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่นๆ   ในตอนถัดไป เราจะมาต่อกันด้วยเรื่อง “ความเชื่อ” และ “การเลือก” หินสีแบบคนฉลาดซื้อกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >