ฉบับที่ 252 ยอมได้ไหม เมื่ออายุเป็นมากกว่าตัวเลข

        การคิดราคาไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวในราคาที่เอื้อมถึง (เช่น ราคานักศึกษา หรือบัตรสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น) และยังช่วยให้เกิดสมดุลขอดีมานด์และซัพพลาย (เช่น ตั๋วถูกนอกเวลาเร่งด่วน) แต่ขณะเดียวกันการใช้นโยบาย “การตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนัก เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักที่หลายคนได้ราคาต่างกันโดยไม่ทราบเหตุผล หรือกรณีที่ Uber แพลตฟอร์มบริการเรียกรถ ใช้อัลกอริทึมประเมินราคาสูงสุดที่คน “พร้อมและยินดี” จ่าย สำหรับการเดินทางในช่วงเวลาต่างๆ (ข้อมูลจากการเปิดเผยของ “คนใน”) หรือกรณีของ บางประเทศ เช่นบราซิล ก็จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ในปี 2017 เว็บขายทัวร์ Decolar.com ถูกสั่งปรับ 7.5 ล้านเรียล (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) โทษฐานที่คิดราคาทัวร์ต่างกันตาม “ที่อยู่” ของลูกค้า         อีกบริการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมได้แก่ แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ก็มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับมูลนิธิมอซิลลา Mozillia Foundation ที่เปรียบเทียบราคาสมาชิกของผู้ใช้แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่าง Tinder ในหกประเทศ ได้แก่ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์         การสำรวจดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้        - ไม่มีการแจ้งผู้ใช้เรื่องนโยบายการตั้งราคาแบบเฉพาะบุคคลอย่างชัดเจน มีเพียงเนื้อหาใน “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำเสนอดีลและส่วนลดที่เหมาะกับโพรไฟล์ของผู้ใช้         -  “ราคาสมาชิก” มีหลายระดับ        Tinder Plus ในเนเธอร์แลนด์มีถึง 21 ระดับระคา ในขณะที่อเมริกามี 9 ระดับ น้อยที่สุดคือบราซิล (2 ระดับ)ราคาสูงสุด แพงกว่าราคาต่ำสุดประมาณ 4 ถึง 6 เท่า ในกรณีของเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์  ส่วนของอินเดียก็ต่างกันมากกว่าสองเท่า        - \ อายุ เป็นปัจจัยในการกำหนดราคา        ร้อยละ 65.3 ของคนในช่วงอายุ 30 – 49 ปี จ่ายค่าสมาชิกแพงกว่ากลุ่ม 18 – 29 ปี        ในทุกประเทศที่สำรวจ (ยกเว้นบราซิล) กลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ถูกเรียกเก็บค่าสมาชิกแพงกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายไม่แตกต่างกัน          แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมากำหนดราคา เช่น กรณีของบราซิลและนิวซีแลนด์ มีกลุ่มอายุมากกว่าที่ได้ราคาต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็พบคนกลุ่มอายุน้อยในเกาหลี เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ที่ต้องจ่ายในราคาสูงเช่นกัน         พื้นที่อยู่อาศัยก็อาจเป็นอีกปัจจัย แต่ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีการสำรวจเพิ่มเติม การสำรวจนี้พบว่าคนเมืองในอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เสียค่าสมาชิกถูกกว่า แต่คนเมืองในเกาหลีและอินเดีย กลับต้องจ่ายแพงกว่า เป็นต้น          -   ผู้บริโภคยังมีความกังวล          ร้อยละ 56 ของผู้ใช้ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ในขณะที่หนึ่งในสามรู้สึกว่าการตั้งราคาแบบนี้ไม่ยุติธรรม เมื่อถามถึงประโยชน์ของการตั้งราคาเฉพาะบุคคลร้อยละ 14 ไม่เห็นประโยชน์ร้อยละ 38 เชื่อว่ามันช่วยให้ได้สินค้าและบริการตรงใจขึ้นร้อยละ 40 เชื่อว่ามันอาจทำให้พวกเขาได้ราคาที่ถูกลง          แต่เมื่อถามว่าถ้ามีปุ่มให้เลือก “ไม่ต้องตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ก็มีถึงร้อยละ 83 ที่จะคลิก         ทีมสำรวจยังพบด้วยว่าแต่ละประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ส่วนที่มีก็ยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งราคาส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันควรจะเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มข้นขึ้น เช่น ผู้ใช้จะต้องรู้ตัวว่าจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และแพลตฟอร์มจะต้องต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ รวมถึงควรมีความโปร่งใสในนโยบายการตั้งราคา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัลโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >