ฉบับที่ 230 ค่าน้ำค่าไฟฟ้าหอพักอยู่ๆ นึกจะขึ้นราคาได้ไหม

        ประมาณปี 2561 มีข่าวดีให้ผู้บริโภคได้ฮือฮาอยู่พักหนึ่งว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกประกาศเพื่อให้หอพักเก็บค่าไฟฟ้า น้ำประปา ตามอัตราเดียวกับที่เก็บกับบ้านเรือนทั่วไป แต่เมื่อมีการทวงสิทธิจากผู้ให้บริการหอพักว่าไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลต่างๆ สุดท้ายก็ต้องออกประกาศใหม่ ซึ่งกำหนดไว้เพียงว่า ผู้ให้เช่าต้องระบุข้อความเป็นภาษาไทยไว้ในสัญญาที่มีสาระสำคัญแสดงถึงอัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค ตามข้อ 4 (1.7) ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562         คราวนี้มีกรณีร้องทุกข์จากคุณสุโขทัย มาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่าตนเองเช่าหอพัก ในเขตอำเภอเมือง มหาสารคาม วันหนึ่งเจ้าของหอพักก็แจ้งต่อผู้เช่าว่า จะคิดราคาค่าน้ำ ค่าไฟใหม่ จากเดิมค่าน้ำ หน่วยละ 24 บาท เป็น 35 บาท ค่าไฟฟ้าจากเดิมหน่วยละ 8 บาท เป็น 10 บาท คุณสุโขทัยขอคำปรึกษาว่า ตนเองจะทำอะไรได้บ้างไหม เพราะมีผลกระทบโดยตรง แนวทางแก้ไขปัญหา        ถ้าพิจารณาตามประกาศของ สคบ. อยู่ๆ ผู้ให้เช่าจะปรับราคาขึ้นไม่ได้ ต้องชี้แจงหรือเปลี่ยนแปลงในสัญญาเช่าเสียก่อน และเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ให้คุณสุโขทัย ทางศูนย์ฯ ได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อ สคบ.เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวว่าเป็นการคิดราคาเกินสมควรหรือไม่         ต่อมาทาง สคบ.ได้ตอบหนังสือกลับมาว่า หอพักดังกล่าวอยู่ในจังหวัดมหาสารคาม จึงส่งเรื่องร้องเรียนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมหาสารคามพิจารณาตรวจสอบหอพักที่เป็นต้นเรื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ต่อมาได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ติดต่อกับผู้ร้องพบว่า ผู้ร้องคือคุณสุโขทัยได้ย้ายออกจากหอพักดังกล่าวแล้ว และเมื่อคณะอนุกรรมการฯ ได้สอบข้อเท็จจริงพบว่า กรณีหอพักมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มจากเดิมนั้น เป็นเพียงผู้ดูแลได้มีการแจ้งกับผู้เช่าหอว่าจะมีการปรับขึ้นราคา แต่ผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงมิได้ดำเนินการต่อยังคงเก็บในอัตราเดิม คือ ค่าไฟฟาหน่วยละ 8 บาท และค่าน้ำประปาหน่วยละ 24 บาท         ดังนั้นหากท่านผู้บริโภคพบว่ามีการคิดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าหอพักในราคาที่ไม่เป็นธรรม โดยมิได้แจ้งให้ทราบตามเงื่อนไขสัญญาเช่า สามารถร้องเรียนได้ที่ สคบ. ต่างจังหวัดแจ้งโดยตรงได้ที่ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 ค่าน้ำไฟหอพักแพง

หลายคนที่เช่าหอพักหรืออพาร์ทเมนต์ มักพบปัญหาค่าน้ำค่าไฟแพง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกเรียกเก็บในอัตราต่อหน่วยที่สูงกว่าปกติ แต่เราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ลองไปดูกันคุณพลอยเคยเช่าหอพักอยู่แถวรังสิต และต้องเสียค่าน้ำไฟเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1,500 บาท โดยเธอพบว่าถูกเรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 6 บาท/ ยูนิตและค่าน้ำเหมา 250 บาท/ เดือน ซึ่งเธอรู้สึกว่าแพงเกินไปจึงย้ายที่อยู่ใหม่มาเช่าอพาร์ทเมนต์แถววิภาวดี อย่างไรก็ตามเธอก็ยังคงต้องเสียค่าน้ำไฟถึง 2,000 บาทต่อเดือน เพราะที่ใหม่เรียกเก็บค่าไฟในอัตรา 8 บาท/ ยูนิต แม้คุณพลอยจะพยายามหาที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ เธอก็ยังคงพบว่าการเรียกเก็บค่าน้ำไฟอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน หรือตั้งแต่ 6 – 12 บาท/ ยูนิต เธอจึงต้องการทราบว่าการเรียกเก็บในอัตราดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้วหรือไม่ หรือสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่าการเก็บค่าน้ำไฟในอัตราดังกล่าว ถือว่าแพงเกินอัตราเรียกเก็บจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีผู้ร้องหลายรายที่ร้องเรียนปัญหาดังกล่าวเข้ามา และศูนย์ฯ เคยรวบรวมรายชื่อผู้ร้องทั้งหมดส่งไปยัง สคบ. เพื่อขอให้ออกมาตรการหรือประกาศควบคุมการเรียกเก็บค่าน้ำไฟของหอพักแล้วภายหลัง สคบ. ก็ได้มีการหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้ออกประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (พ.ศ. 2561) โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าให้ชัดเจน รวมทั้งข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้เช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมาย ในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา เกินกว่าที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจได้ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งหลังการบังคับใช้แล้ว หากผู้บริโภคพบว่าเจ้าของหอพักยังคงเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟเกินกว่าอัตราที่ระบุไว้ก็สามารถฟ้องร้องได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือน มกราคม 2561สคบ.เตรียมออกประกาศคุมค่าน้ำ-ไฟหอพัก  ชาวหอพักอาจมีเงินเก็บเพิ่มหลังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.นี้ ความในประกาศจะระบุให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องยกเลิกสัญญาฉบับเก่าที่เคยทำไว้กับผู้เช่าทั้งหมด แล้วทำสัญญาภายใต้ข้อกำหนดใหม่  โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ จะกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเช่า เช่น เขียนชื่อ ที่อยู่ ของผู้ให้เช่าและผู้เช่า กำหนดระยะเวลาในการเช่า จำนวนเงินประกัน สภาพอาคาร อัตราค่าสาธารณูปโภค อัตราค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ค่าส่วนกลาง ค่าที่จอดรถ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ  ซึ่งหากไม่ทำตามจะมีโทษทันที คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนค่าเช่าที่พักอาศัย และค่าบริการสาธารณูปโภคที่แพงเกินควร  น่าจับตาว่าประกาศฉบับนี้จะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวหอพักได้จริงหรือไม่ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่กระทำความผิดได้รวดเร็วและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหนซดหอยนางรมสด - กินเนื้อดิบ เสี่ยงอาจถึงตาย เล่นเอาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ ใจสั่นหวั่นไหว เมื่อมีข่าวผู้เสียชีวิตจากการกินหอยนางรมสดอย่างต่อเนื่อง เพราะหอยนางรมสดแม้ว่าจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสี (Zinc) และยังเชื่อกันว่าเป็นอาหารเสริมสมรรถภาพทางเพศให้กับคุณผู้ชายทั้งหลาย แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารดิบแล้ว ล้วนแต่มีอันตรายแอบแฝงทั้งสิ้นหอยนางรมสดแทบจะทุกตัวมี เชื้อแบคทีเรียวิบริโอ(Vibrio) ซึ่งอาจก่อโรคระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาหารเป็นพิษ ล่าสุดมีข่าวหญิงอเมริกันวัย 55 ปี ในรัฐเท็กซัส กินหอยนางรมสดที่ซื้อจากตลาดในรัฐหลุยเซียนารวดเดียว 24 ตัว แล้วถูกเชื้อแบคทีเรียวิบริโอซิส(Vibriosis) กัดกินเนื้อบริเวณขาทั้งสองข้างจนเป็นแผลฉกรรจ์ภายใน 48 ชั่วโมง ก่อนจะเสียชีวิตอีก 21 วันต่อมา กรณีนี้นักวิชาการในเมืองไทยได้ออกมาให้ความรู้ว่า เหตุที่บางคนกินหอยนางรมดิบๆ แล้วไม่เป็นอะไร เพราะยังมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรง แต่สำหรับกลุ่มผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยเอชไอวี หรือผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคหอยนางรมสดอย่างเด็ดขาดนอกจากนี้ ยังมีข่าวหนุ่มจากสปป.ลาว 4 ราย ที่กินลาบหมูดิบแล้วท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ก่อนที่จะถูกนำตัวส่งมารักษาต่อยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคทริคิโนซิส โดยจากการตัดชิ้นเนื้อบริเวณน่องขาไปตรวจจึงพบพยาธิ 5 ตัวชอนไชอยู่ภายในชิ้นเนื้อที่มีขนาดเท่าเมล็ดส้ม พยาธิเหล่านี้จะเข้าไปฟักตัวอยู่ในลำไส้แล้วเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ และชอนไชไปฝังตัวตามกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย รู้อย่างนี้แล้ว เลิกกินของดิบกันดีกว่า อาหารสนามบินไทย แพงเว่อร์จริงหรือ? หลังสื่อมวลชนญี่ปุ่นรายหนึ่งนำเสนอข่าวราคาอาหาร-เครื่องดื่มในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองทั้งสองแห่งว่ามีราคาแพงเกินเหตุ ทำเอาหน่วยงานรัฐที่ดูแลรับผิดชอบต้องรีบลงพื้นที่ตรวจสอบและแถลงชี้แจงกันวุ่น โดยให้สัมภาษณ์โต้คำกล่าวอ้างดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวจากสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่สำรวจราคาอาหารบริเวณภายในสนามบินทั้งสองแห่ง พบว่ามีจำหน่ายทั้งโซนอาหารราคาแพงและราคาถูกโดยในโซนสำคัญของสนามบินนั้น อาหารจะมีราคาแพง ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ร้านอาหารที่เปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป ซึ่งถูกควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของราคาอาหารตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ซึ่งที่อาหารมีราคาแพงนั้น ก็ด้วยมีต้นทุนสูง เนื่องจากต้องจ้างพนักงานไว้คอยบริการตลอด 24 ชั่วโมง ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะด้านภาษาสื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการประมูลเช่าพื้นที่ในราคาค่อนข้างสูง สำหรับโซนฟู้ดคอร์ต (Food Court) ที่เป็นศูนย์อาหารอยู่ภายใต้การดูแลของท่าอากาศยานนั้น จะมีราคาถูกและย่อมเยา เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและพนักงานภายในสนามบิน แต่เป็นคำถามว่าเหตุใดนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่ง จึงไม่ทราบว่ามีโซนร้านอาหารราคาถูก จำหน่ายอยู่ภายในสนามบินนับเป็นเรื่องวุ่นๆ ที่เกิดในสนามบิน นอกจากปัญหาเครื่องบินดีเลย์ กระเป๋าเดินทางชำรุดสูญหาย แถวตรวจคนเข้าเมืองที่ใช้เวลานาน จนถึงปัญหามิจฉาชีพที่หากินกับผู้โดยสาร เรื่องจุกจิกเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ต้องขยันมากกว่าเดิมอีกหรือไม่ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ป่วน งานด่วนของใคร“แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ระบาดหนัก เหยื่อสูญเงินกว่าล้านบาทในพริบตา” พาดหัวข่าวแนวนี้ ที่ปรากฏอย่างไม่ขาดสาย ตอกย้ำ ซ้ำๆ ว่าเหตุใดผู้บริโภคจึงตกเป็นเหยื่อได้ง่ายดายขนาดนี้แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐ จะเร่งสื่อสารให้ประชาชนเท่าทันเล่ห์กลของแก๊งค์มิจฉาชีพ แต่ก็ไม่สามารถบอกเล่าเก้าสิบได้ทั่ว โจรพวกนี้มีเทคนิคล่อลวง หลากหลายท่วงท่า ทั้งโทรมาแอบอ้างเป็นไปรษณีย์ หลอกว่ามีพัสดุตกค้างส่งไม่ถึง ลวงถามชื่อ-เลขบัตรประชาชน หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรมากล่าวหาว่าเหยื่อไปพัวพันคดียาเสพติด ให้รีบแจ้งเลขที่บัญชีให้ตรวจสอบโดยด่วน ใครที่ตกใจง่ายเกินไป รู้ตัวอีกทีก็เสร็จโจรมันเสียแล้วล่าสุดข่าวพระลูกวัดแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ถูกหญิงสาวอ้างว่าโทรมาจากไปรษณีย์ไทย บอกว่ามีพัสดุตกค้างส่งไม่ถึงหลวงพี่ สงสัยว่าจะเกี่ยวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย และโอนสายไปให้ชายคนหนึ่งรับสายต่อ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามเลขบัตรประชาชน 13 หลักไปตรวจสอบ พร้อมโน้มน้าวถามเรื่องเงินในบัญชี โชคดีหลวงพี่ไหวตัวทัน เพราะเคยอ่านข่าวแก๊งต้มตุ๋น หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงรุดแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตัวจริง มีที่ไหนเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของจำนวนเงินในบัญชีกันเล่าน่าสังเกตว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รู้ทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อก็เพราะเคยดูข่าว หรือมีเพื่อนสนิทมิตรสหายมาบอกกล่าวเล่าเตือนให้ฟัง ความมีสติ การเสพข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจึงเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันให้พ้นภัยกลโกงของแก๊งค์โจรเหล่านี้ไปได้ด้วยดี มาสด้าฟ้องผู้บริโภค ภาพสะท้อนเมื่อผู้บริโภคตัวเล็กถูกผู้ประกอบการละเมิดซ้ำซ้อนช่วงปลายปีที่แล้ว กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์ มาสด้า 2 รุ่น คือ รุ่น XD High Plus และ Sky Active ปี 2014 – 2016 รวมตัวกัน พร้อมตัวแทนศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบ กรณีรถเกิดอาการเครื่องยนต์สั่นผิดปกติ เร่งความเร็วไม่ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิต อีกทั้งยังได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อตัวแทนบริษัทฯ ในงาน Motor EXPO จนต้องถูกบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดฟ้องคดี ซึ่งผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นดังกล่าวรายหนึ่งถูกเรียกค่าเสียหายถึง 84 ล้านบาทเศษ โดยอ้างเหตุว่า เป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ทำให้ภาพลักษณ์บริษัทฯ เสียหาย ขายรถไม่ได้ ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มผู้เสียหาย โดยตัวแทนคือ นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์มาสด้าและผู้ถูกบริษัทมาสด้าฟ้อง กล่าวว่าการออกมาเรียกร้องสิทธินั้นตนได้ทำด้วยความสุจริตใจและอยากให้บริษัทแก้ปัญหาที่เกิดเพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาหรือจงใจทำลายชื่อเสียงของบริษัท “ปัญหาของรถเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิต โดยเฉพาะผู้ใช้รถที่ไปเจอปัญหานี้ครั้งแรกบนถนนในจังหวะเร่งแซงซึ่งอันตรายมาก ตนได้ส่งรถเข้าซ่อมที่ศูนย์ฯแล้วแต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จึงมีการตั้งกลุ่มทางเฟซบุ๊คชื่อว่า อำนาจผู้บริโภคช่วยเหลือผู้ใช้ Mazda Sky Active เครื่องสั่น เร่งไม่ขึ้น ฯลฯ เพื่อรวมตัวกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของรถ แต่กลับถูกฟ้องเมื่อเราลุกขึ้นมาใช้สิทธิ ก็อยากจะขอความเป็นธรรม” นายภัทรกรกล่าว กรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2561 เพื่อย้ำว่า องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่เป็นผู้เสียหายใช้สิทธิร้องเรียนเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และไม่อยากให้บริษัทฯ ใช้วิธีการฟ้องคดีกับผู้บริโภค แต่ขอให้ดูแลรับผิดชอบผู้เสียหายทุกรายเหมือนการรับผิดชอบเรียกคืนรถในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ มากกว่า อีกประการหนึ่งคือ ถ้าผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นคดีแล้ว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จะไม่สามารถรับเป็นคดีผู้บริโภคได้ “อยากให้ สคบ.ได้ใช้อำนาจตามหน้าที่ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และอยากให้ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ. ความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องให้เกิดขึ้นในเร็ววัน เพื่อให้เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน” ในส่วนของคดีความหากผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าฟ้องผู้บริโภค ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคก็จะยืนหยัดอยู่ข้างผู้บริโภคเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าการออกมาใช้สิทธิของผู้บริโภคเองนั้น ถือเป็นการพิทักษ์สิทธิและเป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภคท่านอื่นๆ"ขอชื่นชมที่ผู้บริโภคออกมาใช้สิทธิและถือว่าเป็นผู้สะท้อนปัญหาสินค้าและการใช้บริการให้กับบริษัทดังกล่าว การที่บริษัทฟ้องผู้บริโภคที่ออกมาใช้สิทธินั้นถือเป็นการฟ้องเพื่อปิดปากผู้บริโภค แทนที่จะขอบคุณที่สะท้อนปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ ซึ่งผู้บริโภคที่ถูกบริษัทฟ้องมูลนิธิฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือ"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ห้องพักไม่เหมือนในโฆษณา

แม้ว่าการหาห้องพักผ่านทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นทางเลือกที่สะดวกสบาย แต่เราสามารถมั่นใจได้จริงหรือว่า รูปภาพและคำโฆษณาต่างๆ จะตรงกับความจริงเสมอไปเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้เกิดขึ้นกับคุณสมใจ เธอต้องการเช่าหอพักรายเดือน จึงหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ชื่อดัง ในที่สุดเมื่อเจอหอพักที่ถูกใจก็ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ ซึ่งภายหลังการพูดคุยผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ผู้ดูแลหอก็ส่งรูปภาพของห้องพักมาให้ดู เพื่อย้ำว่าเป็นรูปจริงที่เพิ่งถ่ายไม่นานมานี้ ซึ่งรูปภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นสภาพภายในห้องที่ดูน่าอยู่สวยงาม คุณสมใจจึงตัดสินใจตกลงเช่าห้องดังกล่าว โดยโอนเงินมัดจำไปให้ก่อนจำนวน 2,000 บาท โดยตกลงว่าจะย้ายของเข้ามาอยู่ในวันถัดไปเมื่อคุณสมใจมาถึงหอพัก เธอกลับต้องตกใจกับสภาพห้องที่ไม่เหมือนในโฆษณาเลย เช่น มีรูปเตียงนอนอย่างดีโฆษณา แต่ความจริงมีเพียงแค่ฟูกให้นอนเท่านั้น อย่างไรก็ตามเธอก็ไม่มีทางเลือก เพราะขนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาแล้วเรียบร้อย ทำให้จำต้องพักอยู่ที่ห้องดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งคืน และรอติดต่อเจ้าของหอพักในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังเธอแจ้งว่าไม่ต้องการอยู่ห้องนี้แล้ว เพราะเห็นว่าสภาพแย่มากไม่เหมือนกับในโฆษณาทางเว็บไซต์ และต้องการเงินมัดจำคืนก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถคืนเงินให้ได้ คนอื่นก็ต้องจ่ายแบบนี้ทั้งนั้น ทำให้เธอเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพห้องพักมาให้เพิ่มเติม พร้อมเข้าไปตรวจสอบโฆษณาของหอพักดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ก็พบข้อความโฆษณาว่า หอพักพร้อมเฟอร์นิเจอร์สภาพใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 2,000 – 2,800 บาท มีคีย์การ์ดและกล้องวงจรปิด โดยมีรูปประกอบเป็นสภาพห้องพักที่ดูน่าอยู่สวยงาม ซึ่งตรงกันข้ามกับรูปภาพจริงที่ผู้ร้องส่งมาให้ดู  สำหรับกรณีนี้อาจถือได้ว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง โดยมีการโฆษณาด้วยข้อความและรูปภาพที่ทำให้ผู้ร้องเข้าใจผิด จนตกลงไปเช่าห้องพักดังกล่าว ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน โดยผู้ร้องสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ศูนย์ฯ แนะนำให้มีการเจรจากับเจ้าของหอพักดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งเธอแจ้งกลับว่าให้ทางครอบครัวช่วยเจรจาให้ โดยทางเจ้าของหอยินยอมให้เปลี่ยนห้องใหม่ได้ แต่จะไม่คืนเงินมัดจำ ซึ่งภายหลังเธอได้ดูห้องอื่นๆ ของทางหอพักก็ตกลงเช่าอยู่ต่อ และยินดียุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำซึมเข้าห้องพักทำของเสียหาย ใครรับผิดชอบ

ปัญหาน้ำรั่วซึมภายในห้องพัก นับเป็นเรื่องกวนใจผู้เช่าอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเราสามารถเรียกร้องให้ทางหอพักชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเช่าห้องพักอยู่แถวปิ่นเกล้า วันดีคืนดีมีน้ำสกปรกออกมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ และภายหลังได้ล้นเข้ามาจนถึงห้องนอน ทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหาย ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 8,000 บาท เธอจึงไปแจ้งเจ้าของห้องเช่าเพื่อให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาพบหน้า ทำให้เธอร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังเจ้าของหอพักได้รับการติดต่อก็ยินดีที่จะรับผิดชอบ โดยรับปากว่าจะดำเนินการซ่อมแซมท่อน้ำและจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเสนอจำนวนเงินที่ต้องการให้เจ้าของหอรับผิดชอบอย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจาอีกครั้ง เจ้าของหอเสนอค่าชดเชยความเสียหายที่ราคา 2,000 บาท และแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจสามารถย้ายออกได้และจะคืนเงินค่าประกันให้ ทำให้ผู้ร้องต้องยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวไป เพราะเธอไม่ต้องการย้ายออก เนื่องจากหอพักดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ทำงาน ทั้งนี้หากเจ้าของหอพักไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือซ่อมแซมท่อน้ำดังกล่าว ผู้ร้องสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตามหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ตามมาตรา 550 ที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและจัดการซ่อมแซม ซึ่งไม่สามารถปัดภาระการซ่อมมาให้ผู้เช่าห้องได้ เพราะตามมาตรา 547 กำหนดให้ผู้เช่าเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ และเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >