ฉบับที่ 146 2 ปี กับการจัดการโฆษณาหลอกลวงน้ำผลไม้อินทรา

 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณเกษสุดา ชาวแม่เมาะ จ.ลำปาง ว่า ได้รับแผ่นพับโฆษณาขายน้ำผลไม้ ยี่ห้ออินทรา ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ไลฟ์สไตล์ แปซิฟิค ริม(ประเทศไทย) จำกัดแผ่นพับที่คุณเกษสุดาได้มา มีข้อความระบุว่า เป็นของศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพของป๋ามร มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อย่างชัดเจน มีการโฆษณาว่า น้ำผลไม้อินทรา มีสรรพคุณในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ให้ดีขึ้นเหมือนกับการรักษาทางยา เช่น ไมเกรน โรคผิวหนัง โคเลสเตอรอล อัมพฤต อัมพาต เบาหวาน กระดูกสันหลังทับเส้น โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ เรียกว่ากวาดกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวางคุณเกษสุดา มีอาการอัมพาตช่วงหัวเข่า คิดว่าอาการของตัวเองไร้ทางออก หลงเชื่อว่าน้ำผลไม้ยี่ห้อนี้จะช่วยรักษาให้หายได้ เลยซื้อมากินหนึ่งขวด ราคาขวดละ 1,445 บาท ถูกมั้ยล่ะ กินไปได้ 2 เดือน อาการอัมพาตที่เป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิมนั่นแหละแต่ถึงขนาดนี้คุณเกษสุดาก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองถูกหลอกหรือเปล่า เลยส่งเรื่องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบโฆษณาน้ำดื่มผลไม้ยี่ห้อนี้ แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 และได้รับหนังสือตอบกลับมาในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556เรามาดูกันว่าเส้นทางการจัดการปัญหาโฆษณาหลอกลวงของน้ำผลไม้ยี่ห้อดังกล่าวหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่(สสจ.เชียงใหม่) ทำการตรวจสอบ ขณะเดียวกันสำนักอาหารของ อย. ได้ทำการตรวจสอบควบคู่ไปในเวลาเดียวกันวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 สำนักอาหารได้สรุปผลการตรวจสอบเอกสารการโฆษณาส่งกลับมาที่เลขา อย.  ได้ความว่า เอกสารของโฆษณาสื่อให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราอินทรา มีสรรพคุณในการบำบัด บรรเทารักษาโรคได้หลายชนิด แม้จะมีการแสดงเลขอนุญาตโฆษณาอาหาร แต่การโฆษณาซึ่งทำให้เข้าใจสรรพคุณลักษณะดังกล่าวถือว่าไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา จัดเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร จัดเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 41 และมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522สำนักอาหารยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเคยได้ตรวจสอบกับบริษัท ไลฟ์สไตล์ฯ หลายครั้งแล้ว และไม่พบว่ามีเอกสารการโฆษณาตามที่มีการร้องเรียน อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ว่า เป็นการดำเนินการของสมาชิกอิสระของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารแบบขายตรง และข้อมูลการร้องเรียนแจ้งว่าผู้ร้องเรียนได้รับเอกสารจากบุคคลชื่อ ป๋ามร ระบุหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบจากอินเตอร์เน็ตว่า หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว        เป็นของ นายมร  กันยาบำเรอ ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลชื่อ-สกุล และที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวกับนายอำเภอเมืองนนทบุรี ได้ข้อมูลว่าบุคคลดังกล่าวอยู่บ้านเลขที่......ตำบลป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จึงเห็นควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งระงับโฆษณากับผู้โฆษณาในเขตพื้นที่ และให้รวบรวมบันทึกการตรวจสอบและพยานหลักฐานส่งให้ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการกรณีพบว่า เป็นการดำเนินการเผยแพร่โฆษณาโดยบริษัทฯ และนอกจากนี้เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโฆษณาจำหน่ายอาหารในลักษณะขายตรง ซึ่งอาจมีการโฆษณาลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ จึงเห็นควรประสาน กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคช่วยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับผู้บริโภคทราบ และให้ใช้วิจารณญาณอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และประสาน กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวังวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนถึง เลขา อย. แจ้งว่า พบว่าศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพป๋ามร มีสถานที่อยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุ FM 95.25 MHzสอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยซึ่งมีหนังสือตอบกลับมาที่ อย.ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ได้ตรวจสอบสถานที่ หจก.กันยามีเดีย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้อินทรา ขณะตรวจพบ นางดวงศมนฑร์  ไกรทอง ผู้ดูแลกิจการ ยอมรับว่า เอกสารแสดงสรรพคุณเป็นของทางร้านที่แนบไปกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้า สสจ.สุโขทัย จึงได้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเป็นยาไม่ใช่น้ำผลไม้ และให้ยุติการแจกจ่ายเอกสารให้กับลูกค้า ส่วนเอกสารของบริษัทผู้นำเข้าได้รับอนุญาตโฆษณาถูกต้อง สามารถเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz ขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตจากจังหวัดให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะโฆษณาได้ ขณะนี้(ช่วงเวลาในขณะนั้น)ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมา นายมร กันยาบำเรอ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุขจ.สุโขทัย รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง โดยยุติการแจกจ่ายเอกสารแสดงสรรพคุณ 31 รายการ และดำเนินการขออนุญาตเกี่ยวกับโฆษณาให้ถูกต้อง31 มกราคม 2555 สสจ.สุโขทัย ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย เพื่อขอความร่วมมือในการบันทึกเสียงการโฆษณาจากสถานีวิทยุชุมชน FM 95.25 MHz8 กุมภาพันธ์ 2555 สสจ.สุโขทัย มีหนังสือกลับมาที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาว่า ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บันทึกเสียงการโฆษณา ณ ปัจจุบัน (หลังจากแจ้งให้สถานีวิทยุระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย)ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบข้อความที่จะเข้าข่ายหรือหลอกลวงให้หลงเชื่ออีก 1 ปีต่อมา19 กุมภาพันธ์ 2556 อย. ได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯว่า จากการตรวจสอบเอกสารโฆษณาดังกล่าว พบว่า มีการโฆษณาคุณประโยชน์สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้โฆษณาชื่อ นายมร กันยาบำเรอ เป็นสมาชิกขายตรงอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงได้ขอความร่วมมือ สสจ.สุโขทัยตรวจสอบสถานที่จำหน่ายห้างหุ้นส่วนจำกัด กันยามีเดีย โดยผู้ดูแลกิจการยอมรับว่า เอกสารโฆษณาเป็นของทางร้าน จึงได้ให้ยุติการแจกจ่ายให้กับลูกค้า นอกจากนี้ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz จึงขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งได้ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมานายมรฯ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุข(จ.สุโขทัย) รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อในคำโฆษณา และแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวังด้วยแล้วอย.ตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ เหมือนกับที่ สสจ.สุโขทัย ตอบกลับมาที่ อย. แทบไม่มีผิดเพี้ยนผู้บริโภคหลงเชื่อโฆษณาเสียเงินไป 1,445 บาท เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม นี่แค่รายเดียวที่มีการร้องเรียน แต่จะมีอีกกี่รายที่โดนแบบนี้ แต่ในเบื้องต้น สสจ. และ อย. ได้ใช้มาตรการตักเตือนไปก่อน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า การดำเนินการคดีทางกฎหมายจะเป็นเช่นใดทั้งนี้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหารพ.ศ. 2522 ความผิดในมาตรา 40 ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

อ่านเพิ่มเติม >