ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ถูกหลอกเสียเงินหลักแสนว่าจะให้ของฟรีที่ไม่มีจริง!!

        การถูกล่อลวงให้ซื้อเครื่องสำอางหรือคอร์สเสริมความงามจนประชาชนต้องสูญเสียเงินมหาศาลนั้น ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแม้กับคนที่ไม่ชอบใช้เครื่องสำอางเลย เช่น คุณดาว ที่แค่เพียงเดินผ่านหน้าร้าน ก็ถูกชักจูงให้รับของฟรีให้เอาไปทดลองใช้ พอคุณดาวเผลอหลวมตัวเข้าไปนั่งภายในร้าน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ถูกหลอกซื้อเครื่องสำอางเสียเงินไปกว่าแสนบาท          เรื่องราวนี้เริ่มเพียงแค่ตอนแรกคุณดาวถูกใจและตกลงซื้อเครื่องสำอางที่จัดโปรโมชั่นลดราคาเหลือ  1,900 บาท จึงยื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปรูดเป็นค่าสินค้า แต่ในระหว่างที่พนักงานร้านถือบัตรเครดิตไว้แล้ว พนักงานอีก 2 คน ก็เข้ามาเสนอคอร์สทรีตเมนท์หน้าฟรีให้อีก ‘พี่รู้มั้ย มาสก์ครั้งเดียวก็ 60,000 บาทแล้ว’ คุณดาวปฏิเสธไปหลายครั้งเพราะจะรีบไปรับลูกที่โรงเรียนแต่พนักงานงานกลับช่วยกันประคองพาคุณดาวเข้าในห้องเล็กๆ เพื่อทำทรีตเม้นท์หน้าต่อ และเพียงล้มตัวนอน ฝรั่งเจ้าของบริษัทก็ปรากฏตัวขึ้นและบอกว่า ถูกใจคุณดาวมากจนอยากให้เป็นพรีเซนเตอร์ และให้พนักงานนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของบริษัทมาวางให้คุณดาวที่ข้างเตียงมากมาย จนถึงตอนนี้ คุณดาวก็รู้สึกว่าคุ้มมากๆ เพียงเข้ามาซื้อเครื่องสำอางราคา 1,900 บาทกลับได้ทรีตเมนท์หน้าฟรี ยังจะได้เป็นพรีเซ็นเตอร์และยังได้เครื่องสำอางกลับไปใช้อีกเป็นจำนวนมากด้วย         จนเมื่อพนักงานเสนอกับคุณดาวว่า “ค่าคอร์สทำหน้า ราคา 96,000 บาท ทำหน้าได้ 12 ครั้งซึ่งตอนนี้บอสถูกใจให้ทำคอด้วยอีก 12 ครั้ง  แล้วเครื่องสำอางที่นำมาวางให้กว่า 9 รอบทั้งหมดคือให้ฟรี ใช้แล้วจะเต่งตึงอยู่ได้ 5 ปี ไม่ต้องไปใช้ตัวอื่นอีกเลย” คุณดาวจึงเริ่มรู้สึกกระอักกระอ่วนใจมากแล้วเพราะราคาสูงลิ่ว และอยากออกจากร้านแล้ว แต่เพราะพนักงานยังไม่ล้างทรีตเม้นท์บนหน้าให้ ในระหว่างนี้ยังนำเครื่องสำอางมาวางให้ฟรีเรื่อยๆ ไม่หยุด จนคุณดาวต้องปฏิเสธบอกว่า เธอเป็นป่วยโรคมะเร็งและไม่อยากเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ พนักงานก็รับประกันว่า ‘ไม่ต้องห่วง ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมะเร็งแน่นอน และทั้งหมดนี้มีมูลค่าสูงเกือบล้านบาทแต่วันนี้ลดราคาเหลือ 96,000 บาท’ เท่านั้น  ด้วยเพราะเป็นห่วงลูกที่รอให้ไปรับที่โรงเรียนและด้วยความรำคาญจึงตอบตกลงซื้อคอร์สทรีตเมนท์ใบหน้า เพราะคิดว่าอย่างน้อยระยะเวลาให้เข้ามาใช้บริการก็ยาวนานถึง 5 ปี และยังรับประกันว่าปลอดภัย มีประสิทธิภาพไม่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์อื่นอีก         จนเมื่อกลับถึงบ้านและเห็นใบเสร็จอย่างชัดเจนว่ายอดบัตรเครดิตทั้งหมดที่พนักงานบอกว่า เป็นค่าเครื่องสำอางที่บอกว่าให้ฟรีทั้งหมดนั้นไม่ฟรีจริง ส่วนคอร์สทรีตเมนท์หน้าไม่มีรายละเอียดใดๆ ให้กลับไปใช้บริการได้เลยอีกด้วย (สัญญา 5 ปีคืออะไร)  ในท้ายใบเสร็จยังระบุว่า ‘ไม่สามารถเปลี่ยนสินค้าคืนได้’  วันรุ่งขึ้นคุณดาวจึงกลับไปที่ร้านอีกแต่ไม่พบพนักงานที่ขายของให้เลยและยังไม่สามารถติดต่อพนักงานคนใดให้รับผิดชอบได้เลยด้วย คุณดาวและสามีจึงช่วยกันสืบหาข้อมูลของบริษัทและพบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกทำให้เข้าใจผิด ถูกยัดเยียดขายให้แบบคุณดาวจำนวนกว่า 10 ราย บางคนเป็นแพทย์ มีรายได้สูงก็ถูกหลอกขายและกดบัตรเครดิตเสียเงินไปถึงกว่า 4 แสนบาท จึงมาปรึกษาว่าตนเองและผู้ร้องรายอื่นจะสามารถทำอะไรเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้คุณดาวเองได้เดินเรื่องร้องเรียนไว้กับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย เธอฝากบอกถึงผู้เสียหายรายอื่นๆ ว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นให้เก็บหลักฐานการซื้อขายทุกอย่าง เก็บรักษาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้อยู่ในสภาพคงเดิมและเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยกับบริษัท ณ ปัจจุบันคุณดาวได้ไกล่เกลี่ยกับบริษัทแล้ว แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะบริษัทไม่รับผิดชอบตามข้อเรียกร้องคุณดาวจึงร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นๆ แต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดีแล้ว         “หากเดินผ่านร้านแบบนี้  ไม่อยากให้แวะเลย แม้ว่าเขาจะสร้างภาพหรูหราหรือตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่โตแล้วเราคิดว่าจะปลอดภัยไม่ใช่ มีทุกรูปแบบ  ไม่อยากให้รับของฟรี หรือ  gift voucher ฟรีใดๆ ปฏิเสธแล้วรีบเดินออกมาเลยดีที่สุด”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 SMS หลอกลวง’ และโลกดิจิตอลในมือผู้บริโภค

317 ล้านบาทคือมูลค่าความเสียหายจาก SMS หลอกลวงต่างๆ 131 Sender Name ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564        เป็นตัวเลขไม่น้อย แต่เชื่อเถอะว่ามูลค่าความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้สูงกว่าหลายเท่า                  ปัญหา SMS หลอกลวงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันวิวัฒนาการเรื่อยมาตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แค่คุณเผลอคลิกลิงค์แปลกที่ปรากฏในกล่องข้อความ ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณก็สามารถถูกแฮ็กได้         ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของใคร ถ้าคำตอบของคุณคือผู้กำกับดูแลและผู้ให้บริการเครือข่าย คำตอบของคุณไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้มีผู้เล่น 4 ฝ่ายที่นอกจากจะมี 2 รายชื่อแรกที่กล่าวไปแล้ว ยังมีผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ใช้        ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์บอกว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้ใช้หรือตัวคุณนั่นเอง ความเดือดร้อนของผู้บริโภค         SMS หลอกลวงมาในหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปรษณีย์ แอปกู้เงิน ไปจนถึงเว็บการพนัน เว็บที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เรียกร้องให้คุณโอนเงินกลับไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ก็พยายามล่อหลอกความอยากรู้อยากเห็น ความโลภ หรือใช้ความเดือดร้อนให้คุณคลิกลิงค์เข้าไปก่อนจะตกเป็นเหยื่อในที่สุด         “SMS ปล่อยกู้ก็มีบางคนลองกู้แต่เงินที่ได้ก็ไม่ครบ เมื่อคลิกลิงค์มันจะให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น และจะมีวิธีให้ผู้ใช้ลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสินเชื่อ บางคนก็โดนหลอกว่าถ้าลงทะเบียนผิดต้องปลดล็อคช่วยโอนเงินมาเพื่อปลดล็อค ประเด็นคือพอสมัครไปมันจะให้เราอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พอกู้เงินเสร็จก็จะมีคนโทรเข้าไปบอกคนอื่นว่าเราเป็นหนี้หรือไปทวงหนี้กับคนอื่น หรือบางทีก็เอารูปผู้กู้ เนื่องจากตอนที่กู้ต้องส่งรูปบัตรประชาชนให้ มันก็เอาไปขู่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว         ในมุมของนฤมล กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลหลักดูจะย่อหย่อนและเชื่องช้ากับหน้าที่ส่วนนี้ สิ่งที่เธอเห็นว่า กสทช. ควรทำและสามารถทำได้ทันทีคือการสั่งผู้ประกอบธุรกิจกิจการโทรคมนาคมบล็อกไม่ให้มิจฉาชีพเข้าถึงโทรศัพท์ของผู้รับได้ ต้องสร้างระบบที่ผู้บริโภคต้องให้ความยินยอมก่อน ไม่ใช่ให้ค่ายโทรศัพท์มือถือนำเบอร์ไปใช้ทำธุรกิจหรือส่งให้ผู้ผลิต Content Provider อื่นๆ         กสทช. ควรบังคับใช้อย่างจริงจังตามอำนาจที่ตนเองมีสั่งปรับค่ายมือถือ มิใช่ปล่อยให้ผู้เสียหายเป็นฝ่ายร้องเรียนไม่จบสิ้น         “แต่ก่อน กสทช. ออกหมายเลขดอกจัน 137 เพื่อยกเลิกข้อความ” นฤมล เล่าถึงปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไข “แต่สักพักก็กลับมาอีก เป็นภาระของเราหรือเปล่า มันแก้ปัญหาไม่ได้ก็ร้องเรียน กสทช. ก็จัดการแค่ไกล่เกลี่ย ทั้งที่บางคนถูกละเมิดสิทธิ์เอาข้อมูลเขาไปใช้ทำให้เสียหาย หรือเอาข้อมูลของเขาไปหลอกลวงคนอื่นอีกที”         แต่เรื่องนี้ซับซ้อนกว่าที่คิด Business Model ของการส่ง SMS         นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า เพราะตัวละครมีหลายชั้นการบล็อกข้อความจึงไม่ง่าย เขายกตัวอย่างว่ามีการหารือกับค่ายมือถือเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการไม่ได้รับหมายเลข OTP ที่ใช้เป็นรหัสผ่านจากหน่วยธุรกิจต่างๆ ติดร่างแหด้วย การเข้าใจประเด็นนี้ เขาบอกว่าต้องเข้าใจ Business Model ของการส่ง SMS         ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขาย SMS 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือขายเหมาให้แก่หน่วยธุรกิจที่นำไปใช้งานโดยตรง เช่น ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แล้วธุรกิจเหล่านี้จะทำการส่ง SMS ออกไป         รูปแบบที่ 2 คือการขายเหมาผ่านคนกลางซึ่งต้องมีใบอนุญาตจาก กสทช. ตัวอย่างเช่น บริษัทเอซื้อ SMS เหมาจำนวน 50,000 ข้อความ เพื่อขายต่อให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบีซื้อ SMS 10,000 ข้อความ นอกจากบริษัทเอจะขายให้แล้วยังบริการส่งข้อความให้เสร็จสรรพ จุดนี้เองที่มิจฉาชีพสอดแทรกเข้ามา         “เขา (ผู้ที่รับซื้อเหมาไปขายต่อ) บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าข้อความที่ส่งมาหลอกลวงหรือเปล่าเพราะโดยหลักแล้วมันเหมือนจดหมาย เขาทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์ ไม่มีอำนาจเปิดซองอ่านข้อความ ตอนนี้ปัญหาเกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่งคือคนที่ซื้อเหมามาขายต่ออาจจะไม่ได้ขายกับลูกค้าโดยตรง แต่มีมือสามมือสี่มาซื้อต่อซึ่งพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช. พวกมือสามมือสี่ก็ยิ่งไม่ต้องกรองลูกค้าเพราะกำไรมาจากการขายอย่างเดียว จะขายมิจฉาชีพก็ไม่สน หลักการเดียวกันเขาจะอธิบายว่าข้อความนั้นเขาไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพเพราะเขาเปิดไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกในการส่ง ปัญหามันก็เลยยิ่งแก้ยากขึ้นระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ อธิบาย หลายหน่วยงาน หลายกฎหมาย หลายขั้นตอน         เรื่องหน่วยงานกำกับดูแลก็ทำให้การแก้ปัญหาไม่เป็นเอกภาพ นพ.ประวิทย์ กล่าวยอมรับว่า หน้าที่ของ กสทช. จริงๆ คือรับหน้าเสื่อผู้บริโภคและการจัดการกับผู้ให้บริการเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการลำดับถัดไป ไม่มีอำนาจดูแลเนื้อหาในส่วนโทรคมนาคม        กรณีแอปเงินกู้หลอกลวงหรือคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย         กรณี SMS ที่หลอกให้คลิกลิงค์แล้วถูกแฮ็กข้อมูล ส่วนนี้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีกระทรวงดิจิตอลดูแลอยู่         นอกจากนี้ การเอาผิดมิจฉาชีพก็ยังติดขัดในแง่กระบวนการทางกฎหมายที่ต้องมีเจ้าทุกข์ร้องเรียน การค้นหาต้นทาง SMS สามารถทำได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหายมาแจ้งความ ซึ่งกรณี SMS หลอกลวงส่วนใหญ่มีการร้องเรียน แต่ไม่มีการแจ้งความ         “เพราะไม่รู้ว่าแจ้งความแล้วจะได้อะไรขึ้นมา ยกตัวอย่างเป็น SMS หลอกลวงว่าเป็นธนาคาร จริงๆธนาคารนั้นต้องเป็นผู้เสียหายเพราะถูกแอบอ้างชื่อปรากฏว่าธนาคารก็ไม่ยอมเป็นผู้เสียหายมาแจ้งความ เพราะถ้าแจ้งความจะเป็นภาระต้องไปดำเนินคดีต่อและเสียภาพลักษณ์ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเสียความมั่นใจ ธนาคารจึงทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเรื่องให้เงียบที่สุด”         ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกรณีผู้เสียหายเป็นผู้บริโภครายบุคคล ซึ่งการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายมีต้นทุนสูงเกินกว่าจะยอมรับ             “ดังนั้น ปัญหา SMS จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ว่ามีกี่แบบเพราะแต่ละแบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” นพ.ประวิทย์ กล่าว หนทางออก         อ่านแล้วเหมือนไม่มีหวัง ก็ไม่เชิง มีมาตรการบางอย่างที่ กสทช. ทำได้เพื่อป้องปรามและป้องกัน นพ.ประวิทย์ บอกว่า         “หนึ่งใครที่ขายต่อ SMS ต้องขออนุญาตทุกคน และสองกำหนด ID ผู้ส่งหรือ ID Sender ต้องมีการลงทะเบียนกลาง ถ้าใครจะมาส่งในนามของธนาคารต้องมีเอกสารหลักฐานถูกต้อง ไม่ใช่เหมือนตอนนี้ที่ใครจะตั้งอะไรก็ได้ ดังนั้น มิจฉาชีพก็ไปซื้อจากค่ายนี้ตั้งชื่อหนึ่ง ไปซื้อจากอีกค่ายก็ตั้งอีกชื่อหนึ่ง บล็อกชื่อหนึ่งมันก็ยังโผล่มาอยู่ดี    “ถ้าเราจัดการเรื่อง ID ของผู้ส่งได้ต่อไปมิจฉาชีพก็จะสวมรอยไม่ได้หรือส่งมาก็จะถูกบล็อก ID ของผู้ส่งนี้ก็จะหายไป พอรู้ว่า ID นี้ส่ง SMS หลอกลวงค่ายมือถือก็บล็อกไม่ให้ส่ง ถ้าจะขอ ID ผู้ส่งใหม่ก็ต้องไปพิสูจน์กันใหม่ มีการยืนยันตัวตน ถ้าทำระบบนี้สุดท้ายตำรวจจะจับได้เพราะขึ้นทะเบียนไว้หมดแล้วว่าใครส่ง แต่ตอนนี้ ID ผู้ส่งเป็นเสรีภาพอยากจะใช้ชื่ออะไรค่ายไหนก็ได้ ถ้าทำlv’ข้อนี้ผมคิดว่าปัญหาจะลดลงไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็คือเรื่องการดำเนินคดี ประสานกับผู้เสียหายอาจจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้”        ย้อนกลับไปที่นฤมล เธอเรียกร้องการแก้ปัญหา 3 ข้อ ได้แก่        1. กสทช. ต้องตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและมีคำสั่งให้ทำเอกสารให้ผู้บริโภคยินยอมในการรับส่งข้อมูล         2. การบังคับใช้กฎหมายของ กสทช. ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่รอให้มีเรื่องร้องเรียนแล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย        3. บังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562         “พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลจะทำให้ทาง Operator และ Content Providers ทั้งหลายรวมทั้งร้านค้าออนไลน์มีความระแวดระวังต่อข้อมูลของลูกค้ามากขึ้นในการที่จะเอาไปให้ Third Party ทำธุรกิจหรือทำ Big Data Analytics  หรือการส่งโปรโมชั่นการขาย” ปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าว         หัวใจหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือการที่หน่วยธุรกิจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ทำธุรกิจหรือให้แก่หน่วยธุรกิจอื่นจะต้องได้รับความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าผู้ที่นำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมกระทำผิดกฎหมาย         ปริญญา ย้ำด้วยว่าเจ้าของข้อมูลมีสิทธิที่จะให้หรือไม่ให้ก็ได้ หน่วยธุรกิจไม่สามารถกำหนดว่าต้องยินยอมเพียงอย่างเดียว         พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูการบังคับใช้และเจตจำนงทางการเมืองของรัฐด้วยว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อความมั่นคงของฝ่ายรัฐ Digital Literacy เพราะการควบคุมอยู่ในมือผู้ใช้         ดังที่กล่าวไปตอนต้น ปัญหา SMS หลอกลวงมีผู้เล่น 4 ฝ่าย เราจะเก็บผู้ใช้ไว้หลังสุด ตอนนี้มาดูกันก่อนว่าผู้เล่น 3 ฝ่ายมีบทบาทหน้าที่อย่างไร ปริญญา อธิบายตัวอย่างว่า         หน้าที่ของผู้ผลิตคือเปิด Default หรือค่าตั้งต้นทุกอย่างไว้เพื่อให้ผู้ใช้ปิดเองว่าต้องการกรองข้อมูลใดให้เข้ามาหรือไม่ หรือผู้ผลิตร่วมมือกับ Third Party ในการกลั่นกรองสแปม         หน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ว่าแหล่งที่มาของสแปมมาจากที่ไหน ทำให้สามารถบล็อกจากแหล่งที่มาได้เลย และขึ้นเป็น IP Blacklist ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายที่ทำได้         หน้าที่ของผู้กำกับดูแลอาจออกกฎว่าถ้ามี SMS สแปม ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องลงทุนใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน         แต่ถึงที่สุดแล้ว ปริญญากล่าวปัญหา SMS หลอกลวงไม่มีทางแก้ได้แบบหมดจด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อใดที่ทำแบบนั้นหมายความว่า SMS ทั่วไปจะถูกบล็อกด้วย         “ผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ วันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถควบคุมได้เกินกว่าครึ่ง แต่เราไม่เคยรู้ก็เลยคิดว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่น ต้องเข้าใจว่าพลังอำนาจในการควบคุมกลับมาอยู่ในฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ผู้ใช้ต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิ์ ต้องรู้ว่าอำนาจในการควบคุมทุกอย่างอยู่ที่ตนเอง ประการที่สองคือเมื่อตอบตกลงไปแล้วสามารถเปลี่ยนได้”         ปริญญาเน้นย้ำกลับไปที่ประเด็น Cyber Literacy หรือ Digital Literacy หรือความรู้เท่าทันในเทคโนโลยีดิจิตอลของผู้บริโภคที่ต้องเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่อง SMS หลอกลวงเท่านั้น         ส่วนคำแนะนำเบื้องต้นที่ปฏิบัติได้ทันที นฤมลบอกว่าถ้าได้รับข้อความแปลกจากเบอร์ที่ไม่รู้ อย่าคลิกเข้าไปอ่าน ลบ และบล็อกเบอร์นั้นทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ระวัง! SMS ชวนหารายได้เสริมแบบใหม่ สูญเงินเกือบ 3 แสน

        “สวัสดี เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของ shopee เราขอเชิญคุณทำงานเสริมที่บ้าน หาเงินง่ายๆ วันละ 3,000 บาทด้วยมือถือ แล้วเงินเดือนออกวันเดียวกัน สนใจสมัครแอดไลน์มาได้เลย ID:863690”         นี่เป็นข้อความ SMS หลอกลวงในรูปแบบใหม่อีกแล้ว หากใครได้รับละก็ แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและให้ลบทิ้งไปเลย ไม่อย่างนั้นคุณอาจต้องสูญเงินแสนเหมือนอย่างคุณพรรณีก็เป็นได้         เมื่อปลายปี 2564 คุณพรรณีได้รับข้อความ SMS เชิญชวนนี้ก็สนใจ เธอจึงแอดไลน์ไอดีนั้นไป ปรากฏข้อความขึ้นว่า ”สวัสดีฉันชื่อเทสซ่า คุณมาสมัครงานใช่หรือไม่?” แล้วแนะนำว่าเป็นแพลตฟอร์มของ shopee ต้องการพนักงานจำนวนมาก เพื่อช่วยผู้ค้าเพิ่มปริมาณการทำธุรกรรม พร้อมกับส่งลิงค์มาให้ลงทะเบียน เธอกรอกชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ และกำหนดรหัสผ่านลงไป จากนั้นก็ได้รับบัญชีเพื่อทำภารกิจ งานที่ว่านี้ก็คือ การกดคู่สินค้าในแอปพลิเคชั่น เพื่อรับกำไร 7% จากราคาสินค้าต่อชิ้นที่จับคู่ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าเธอต้องเติมเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ โดยโอนเข้าบัญชีของบุคคลหนึ่ง (ชื่อบัญชีนายชัยศักดิ์ เสาวิบูลย์ ) เมื่อทำภารกิจเสร็จสิ้นก็จะถอนเงินจากบัญชีได้         ว้าว! เพียงครั้งแรกก็ได้กำไรมาเหนาะๆ เกือบ 300 บาท เมื่อเห็นว่าทำง่ายได้เงินจริง เธอจึงเติมเงินเพื่อทำภารกิจต่อ แต่ครั้งนี้แอดมินแจ้งเงื่อนไขใหม่ว่าจะต้องทำภารกิจทั้งหมด 30 ด่านก่อน ถึงจะถอนเงินจากบัญชีได้ เธอก็ทำตามนั้นโดยได้โอนเงินไปรวมทั้งสิ้น 279,607.49 บาท แต่หลังจากจับคู่สินค้าครบ 30 ภารกิจแล้ว เธอกลับถอนเงินออกมาไม่ได้ ครั้นสอบถามไป แอดมินก็แจ้งว่าเธออาจกดลิงค์ผิด ดังนั้นต้องทำเพิ่มอีก 20 ภารกิจถึงจะถอนเงินได้ เธอคิดว่าน่าจะไม่ชอบมาพากลซะแล้ว จึงไม่ได้ทำตามเงื่อนไขใหม่นี้ หลังจากนั้นแอดมินไลน์ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย คุณพรรณีเป็นกังวลมากจึงขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   แนวทางการแก้ไขปัญหา         มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณพรรณีรีบไปแจ้งความ โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมนี้ทั้งหมด ได้แก่ หลักฐานข้อความสนทนากันในไลน์ สลิปการโอนเงิน โดยในสลิปจะมีชื่อบุคคลที่รับโอนเงิน ซึ่งข้อมูลตรงนี้สามารถให้ตำรวจเรียกบุคคลดังกล่าวมาพบ และอาจขอให้ตำรวจทำหนังสือถึงธนาคารให้ระงับบัญชีดังกล่าวได้         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลลวงจาก SMS ในลักษณะที่ต้องโอนเงินไปให้ก่อนเด็ดขาด เพราะในที่สุดแล้วก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2562

แบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต' มีผล 1 ธ.ค. 2562 นี้        นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป พร้อมมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป         ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลาความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น         สำหรับตัวเลขสารเคมีค้างสต็อก 29,869.58 ตัน หลังมติถูกแบนเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.นี้ นั้น พบมากสุดคือ พาราควอต 13,063.69 ตัน รองลงมา ไกลโฟเซต 15,110.93 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 1,694.86 ตัน Media Disruption ทำคนไทยอ่านมากขึ้น แต่เป็น 'เนื้อหาออนไลน์' มากสุด         สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจการอ่านของประชากรปี 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านสื่อต่างๆ ร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยคนไทยอ่านสื่อต่างๆ นานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่านสื่อต่างๆ 66 นาที และปี 2556 อ่านสื่อต่างๆ เพียง 37 นาที เมื่อพิจารณาสื่อที่คนไทยอ่านมากที่สุด ร้อยละ 69.2 คือการอ่าน 'สื่อสังคมออนไลน์' ตามมาด้วย 'หนังสือพิมพ์' ร้อยละ 60.5 ส่วน 'วารสาร' และ 'นิตยสาร' นั้นคนไทยอ่านเพียงร้อยละ 40.3 และ 31.1 เท่านั้นตามลำดับรับมือปัญหา Romance Scam         ข้อมูลจาก 'คู่มือป้องกันพิศวาสอาชญากรรม ฉบับผู้ดูแลระบบและผู้บังคับใช้กฎหมาย' ภายใต้โครงการวิจัย 'ข้อจำกัดของกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันและปราบปรามพิศวาสอาชญากรรม (Romance Scam) และแนวทางสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน' โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ได้ระบุขั้นตอนการแจ้งความเกี่ยวกับคดี Romance Scam ไว้ดังนี้        1. ให้ผู้เสียหาย เตรียมเอกสารส่วนตัวเช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง        2. กรณีที่เสียหายต่อชื่อเสียง โดยเตรียมหลักฐาน เช่น ปริ๊นต์เอกสารหน้าจอหน้าเว็บไซต์ หน้าโปรแกรมไลน์ โปรแกรมเฟซบุ๊ก หรือหน้าเพจ ที่พบการกระทำความผิด        3. กรณีที่เสียหายต่อทรัพย์ ให้เตรียมหลักฐาน เช่น หลักฐานการโอนเงิน หน้าจอหรือรูปของบัญชีธนาคารของผู้รับโอน โดยปริ๊นต์เอกสารออกมาจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เรียบร้อย         Romance scam คือ การหลอกลวงผู้หญิงหรือเพศอื่นด้วยการพูดคุยผ่านการแชท การส่งข้อความเป็นการจีบ ทำให้เหยื่อเชื่อว่าตกหลุมรัก ยอมเชื่อใจไว้ใจตายใจ จนในที่สุดก็จะโดนขอยืมเงิน หลอกให้ส่งยาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย กรมสรรพสามิตเดินหน้าไอเดียเก็บภาษีความเค็ม        กรมสรรพสามิต เดินหน้าศึกษาการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าที่มีความเค็ม โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุป และเสนอให้รมว.คลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้         นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ยังระบุว่า “ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมฯ กำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่  หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศ และจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”         สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน "กองทุนแสงอาทิตย์" เปิดตัว ‘โรงพยาบาลภูสิงห์’ รพ. แสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชน         19 ตุลาคม โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่นและนักวิชาการ ในนามของ “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ได้จัดงานแถลงข่าวและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ นับเป็นโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 4 จากเงินบริจาคของประชาชนผ่านกองทุนแสงอาทิตย์         “กองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ด้านเด็ก กลุ่มประชาสังคมท้องถิ่น และนักวิชาการ ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561  โดยมีท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม เมตตาเป็นประธานกรรมการกองทุนฯ         กองทุนแสงอาทิตย์ได้ดำเนินการเปิดบัญชีชื่อ กองทุนแสงอาทิตย์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อรับบริจาคเงินจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) และมอบให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการหรือประสบปัญหาภาระค่าไฟฟ้า โดยในปี 2562 มีเป้าหมายติดตั้งให้กับโรงพยาบาล 7 แห่งใน 7 จังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลภูสิงห์เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเป้าหมาย 7 แห่งดังกล่าว         โรงพยาบาลภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง อยู่ติดชายแดนไทย - กัมพูชา และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 85 กิโลเมตร มีแพทย์จำนวน 5 คน ดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 9 แห่ง และหน่วยโรงพยาบาล 1 แห่ง รองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่อำเภอภูสิงห์กว่า 36,000 คน และรวมถึงประชาชนจากประเทศกัมพูชาด้วย  ปัจจุบันพบว่าโรงพยาบาลมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลมีการขยายเพิ่มของอาคารและการพัฒนาส่วนต่างๆ ที่ต้องใช้พลังงาน โดยในปี 2560 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 150,000 บาทหรือ 1,800,000 บาทต่อปี แต่ในปี 2561 โรงพยาบาลมีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 160,000 บาทหรือ 1,900,000 บาทต่อปี        คณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์และโรงพยาบาลได้คัดเลือกให้ บริษัท เดชาวุฒิ อินเตอร์เทค จำกัด เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลภูสิงห์ และขณะนี้บริษัท ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว มีขนาดการผลิตไฟฟ้า  35.10 กิโลวัตต์  ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ชนิด Mono ขนาด 390 วัตต์ จำนวน  90 แผง  ภายใต้งบดำเนินการ 795,000 บาท ซึ่งจากการคำนวณคาดว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ประมาณ 200,000 บาทต่อปี และระบบจะยังคงใช้งานได้ต่อไปและทำให้เกิดผลการประหยัดตลอดเวลา 25 ปี หากคำนวณเชิงธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเอง ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่  3.72  ปีเท่านั้น        ขอขอบพระคุณประชาชนทั่วประเทศที่ได้ร่วมบริจาคผ่านบัญชี  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) บัญชีออมทรัพย์ สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า เลขที่บัญชี 429-017697-4 ชื่อบัญชี “กองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 เคล็ดวิชาสู้พวกหลอกลวง

หลายครั้งที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปะทะกับผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง และมักจะเกิดเรื่องเกิดราวหรือเพลี่ยงพล้ำ จนบางครั้งพาลจะหมดกำลังใจ  คอลัมน์นี้ขอให้กำลังใจนักคุ้มครองผู้บริโภคทุกคนครับ แต่อย่าลืมว่าการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมันก็เหมือนการต่อสู้  มันต้องมีรูปมวยหรือวรยุทธ์ที่ดี ถึงจะได้เปรียบจนโค่นคู่ต่อสู้ลงได้ผมเคยไปฟังนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ต้องทำงานเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ละท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่าน ผมเห็นว่าน่าสนใจ เลยนำมาเล่าให้นักคุ้มครองผู้บริโภคทราบ เผื่อลองนำไปปรับใช้เป็นแนวทางของตนเอง1. ต้องลงไปสัมผัสกับข้อมูลจริงๆ : การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ การที่คนทำงานได้ลงไปในพื้นที่ ได้สอบถามข้อมูลจากผู้บริโภค จะทำให้เราได้รายละเอียด ตลอดจนพยานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานได้มากขึ้น 2. พยายามหากลุ่มคนหรือภาคีเครือข่ายที่สนใจในปัญหาเดียวกันหรือคนที่ได้รับผลกระทบ : เพราะคนกลุ่มนี้จะมีหัวอกเดียวกัน และจะมีข้อมูลชัดเจน เพราะเคยใช้ผลิตภัณฑ์และได้รับอันตรายมาก่อน  นอกจากนี้การรวมกลุ่มกัน จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการลุกขึ้นมาช่วยกันจัดการปัญหาต่างๆ3. ควรนำเสนอข้อมูลปัญหาในลักษณะการเปรียบเทียบ : การนำเสนอข้อมูลในลักษณะเปรียบเทียบ จะทำให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายว่า ขนาดปัญหามันใหญ่ หรือรุนแรงขนาดไหน เช่น อาจนำเสนอว่า เงินที่ผู้บริโภคถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง เท่ากับกี่เท่าของเงินเดือนที่เขาได้รับ หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวหลังใช้ผลิตภัณฑ์เท่ากับกี่เท่าของราคาที่ซื้อมาใช้4. ใช้การสื่อสาร ที่สั้น กระชับ : ในแต่ละวันผู้บริโภคเองมีเรื่องต่างๆ ให้จำมากมาย  การให้ความรู้เพื่อเตือนภัยผู้บริโภค แม้เราจะหวังดี โดยพยายามยัดข้อมูลให้มากที่สุด บางทีมันอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคแต่ละคนมีศักยภาพในการรับรู้ที่ต่างกัน เราควรเลือกใช้ให้เหมาะสม โดยเน้นข้อความ ให้สั้นกระชับ เข้าใจง่าย และเมื่อเขาสนใจแล้ว เราค่อยเพิ่มรายละเอียดเนื้อหาให้มากขึ้น ตามที่เขาสนใจในลำดับต่อๆ ไป5. ไม่ต้องกังวลแต่ควรระวัง “ต้องพูดความจริง” : นักคุ้มครองผู้บริโภคหลายคนมักจะกังวลว่า หากเผยแพร่ข้อมูลผลิตภัณฑ์อันตรายไปแล้ว อาจถูกผู้จำหน่ายสินค้าฟ้องร้องได้  ในประเด็นนี้มีคำแนะนำว่า การพูดความจริงในที่นี้หมายถึงการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น แจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้  รุ่นที่ผลิตนี้  ตรวจพบสารอะไรบ้าง และสารชนิดนี้มีอันตรายอย่างไร สิ่งที่ต้องควรระวังคือคำพูดที่ไปแสดงความรู้สึก เพราะอาจไปเข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่น ผลิตภัณฑ์นี้มีสารอันตรายผสม เลวมาก  ทั้งนี้หากไม่มั่นใจ อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้แจ้งข้อมูลก็ได้6. ลองใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวกบ้าง : การใช้ยุทธศาสตร์เชิงบวก ไม่ได้หมายถึงการห้ามนำเสนอข้อมูลด้านลบ แต่หมายถึงการใช้ศักยภาพดึงพลังบวกในตัวของแต่ละคนออกมาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น เราอาจใช้วิธีชักชวน หรือโน้มน้าว ให้เขาลุกขึ้นมาเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชน โดยเน้นให้เขาเห็นว่าเมื่อเขาช่วยกันแล้ว จะเกิดสิ่งดีๆ อะไรขึ้นในชุมชน เช่น  พ่อแม่ ลูกหลานในชุมชนของเราเองจะได้ปลอดภัยลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคราวนี้แหละ พลังนักคุ้มครองผู้บริโภคจะเข้มแข็งขึ้นทันตา

อ่านเพิ่มเติม >