ฉบับที่ 276 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ สำรวจซ้ำรอบใหม่ปัญหาไม่ลดลง

        ความเชื่อ ความเข้าใจ ตลอดมาของผู้บริโภค คือ น้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญคุณภาพดีและราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด   ทำให้การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังคงได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นเช่นนั้นจริงหรือ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญที่ประชาชนควรได้บริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญที่มีคุณภาพถูกสุขลักษณะไม่มีสารปนเปื้อนใด ๆ จึงได้ริเริ่ม ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญปีนั้น พบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มี/ไม่พบใบอนุญาตแสดง ณ จุดให้บริการ         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเฝ้าระวังอยู่ และเฝ้าระวังต่อ โดยร่วมกับ “ศูนย์สิทธิผู้บริโภคในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ ครั้งนี้สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวน 1,530 ตู้         พบว่ามีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถึงร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง หรือ1,380 ตู้         มีตู้น้ำดื่มไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ จำนวน 1,392 ตู้  คิดเป็นร้อยละ 91         อีกทั้งยังสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญใน 33 เขตดังกล่าวจำนวน 3,041 ราย   เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อฟังเสียงของประชาชน (ดูผลสำรวจได้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 260) การสำรวจครั้งใหม่        ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่องค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้อง “ติดฉลาก” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าควบคุมฉลาก         เมื่อสถานการณ์ความปลอดภัยของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่ได้รับการยกระดับ หน่วยงานยังไม่ตอบรับกับผลการสำรวจของภาคประชาชน ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิฯ จึงร่วมกับศูนย์สิทธิผู้บริโภค 33 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกครั้งระยะเวลาการสำรวจ          มิ.ย. - ก.ค. 2566 พื้นที่การสำรวจ        33 เขตกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตบางบอน,ลาดพร้าว,หนองจอก,แรงงานหนองจอก,คลองเตย,คลองสาน,คันนายาว,จตุจักร,จอมทอง,ดอนเมือง,ทุ่งครุ,สาทร,บางเขน,บางกอกใหญ่,บางขุนเทียน,บางคอแหลม,บางนา,บางพลัด,บึงกุ่ม,ประเวศ,พระโขนง,มีนบุรี,ยานนาวา,ราษฎร์บูรณะ,ลาดกระบัง,วัฒนา,สวนหลวง,สะพานสูง,สายไหม,หลักสี่,ห้วยขวาง,คลองสามวาและแรงงานนอกระบบเขตลาดกระบังแนวทางการการสำรวจ         การสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดำเนินการในกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) การขออนุญาตประกอบกิจการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 (2) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ (3) คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุุขเรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พ.ศ. 2553         กรอบการสำรวจมีดังนี้ 1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ 2.สถานที่ตั้ง 3.ลักษณะทางกายภาพ 4.แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต 5.การบำรุงรักษาและทำความสะอาด และ 6.การติดฉลาก   ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (2566)1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ          93 % ไม่พบการติดใบอนุญาตประกอบกิจการ (เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนที่ไม่พบการติดใบอนุญาต 91 %) 2.สถานที่ตั้ง         30% บริเวณที่ตั้งมีฝุ่นมาก           8% อยู่ใกล้แหล่งน้ำเสียหรือมีน้ำขัง         2% พบแมลงหรือสัตว์พาหนะนำโรคบริเวณตู้น้ำ  3.กายภาพของตู้น้ำ         31%  ตู้น้ำไม่สะอาด         6%  ไม่มีฝาปิดจ่ายน้ำ         5%  ไม่มีฝาปิดช่องหยอดเหรียญ         31% หัวจ่ายน้ำไม่สะอาด 4. แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิต        96%  ใช้น้ำประปาในการผลิตน้ำดื่ม5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาด          57 %  ไม่มีการล้าง ทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในทุกเดือน  6.การติดฉลาก         93%   มีชื่อยี่ห้อ ชื่อผู้ผลิต หรือเบอร์ติดต่อ         26%   ไม่มีข้อแนะนำ หรือวิธีการใช้งาน         85%   ไม่มีบันทึกการเปลี่ยนไส้กรอง         87%    ไม่มีรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ         42% ไม่มีแสดงราคาน้ำดื่มต่อลิตร         56%    ไม่มีคำเตือนระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ”                  ข้อเสนอแนะจากการสำรวจ          1. เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิดตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข         2. ให้มี “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เช่น หากเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เพื่อการติดตั้งตู้น้ำดื่มเท่านั้น ไม่ได้เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่ม ผู้ให้เช่าพื้นที่จะต้องร่วมปฏิบัติตามกฎ ระเบียบใดบ้าง เป็นต้น         3. เสนอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ขยายผลเรื่อง การตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่ เป็นต้น ........................................... เลือกใช้ 'ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ' อย่างไร ให้ปลอดภัย        1. บนตู้น้ำดื่มต้องแสดง 'ใบอนุญาตประกอบกิจการ' ไว้ที่ตู้ให้เห็นชัดเจน (มีอายุ 1 ปี)        2. สถานที่ตั้งห่างไกลจากท่อระบายน้ำ ตลาดสด แหล่งขยะ ปลอดสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค อย่างหนู แมลงวัน แมลงสาบ        3. ตู้ยกสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตร สภาพตู้น้ำสะอาด ไม่มีฝุ่นจับหนา ไม่ผุกร่อน รั่วซึม หรือเป็นสนิม        4. แสดงการจดบันทึก วัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองทุกครั้ง        5.แสดงวันเดือนปีที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและมีคำเตือน'ตัวอักษรสีแดง'บนพื้นสีขาวระบุว่า "ระวังอันตรายหากไม่ตรวจสอบวันเดือนปีที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ"        6. ห้องจ่ายน้ำไม่มีคราบสกปรกตะไคร่น้ำหรือน้ำขังสภาพฝาปิดห้องจ่ายน้ำไม่ชำรุดแตกหัก        7.หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบตะไคร่น้ำหรือสนิมจับและควรล้างภาชนะให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำขณะรองน้ำปากภาชนะไม่จ่อติดหัวจ่ายน้ำ "น้ำดื่มต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสชาติ" ข้อมูลจาก: คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กิจการที่กฎหมายควบคุมแต่พบเถื่อนใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์

        จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวน 3,041 คน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนร้อยละ 70 เชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญที่ใช้บริการอยู่ ถึงแม้ว่าจะสังเกตว่ามีการใบแสดงการขออนุญาตประกอบกิจการเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น         น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพงหากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งจากผลสำรวจทำให้ได้คำตอบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 70 แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล  แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง         ผลสำรวจเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการ         2559 มพบ. สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า ร้อยละ 91.6 ไม่มีใบอนุญาต         2561 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวนทั้งสิ้น 3,964 ตู้ แต่มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องเพียง 160 ตู้ (ร้อยละ 4)         2562 กรุงเทพมหานคร สำรวจตู้น้ำดื่มพบว่า กทม. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 6,114 ตู้ มีใบอนุญาตถูกต้อง 4,515 ตู้ หรือร้อยละ 73.85 ไม่มีใบอนุญาต 1,599 ตู้ หรือร้อยละ 26.15         ในปี 2561 กรุงเทพมหานครวางแนวทางไว้หลายอย่างเพื่อผลักดันให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเข้าสู่การกำกับดูแลตั้งแต่เรื่อง การขออนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง หากพบว่าไม่มีใบอนุญาตจะใช้กฎหมายบังคับ การตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกสามเดือน หากพบว่าน้ำไม่สะอาดตามเกณฑ์มาตรฐานจะมีการแจ้งให้เจ้าของตู้หรือผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไข จัดทำสติกเกอร์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสะอาดและปลอดภัย ติดหน้าตู้น้ำดื่มที่ได้ขออนุญาตถูกต้อง เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน หรือการพิจารณาลดค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาต ซึ่งทำให้ในภาพรวมจากการรายงานพบว่า ตู้น้ำดื่มมีการขอใบอนุญาตมากขึ้น แต่ยังนับว่าน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของกิจการหรือความนิยมที่พุ่งขึ้นเกือบสองเท่า           อย่างไรก็ตามการเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก อีกทั้งการควบคุมกำกับหย่อนยาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงยังคงทำหน้าที่เฝ้าระวังสืบเนื่องเพื่อบอกกับสังคมว่า กิจการนี้ต้องได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ได้หรือยัง                   ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 2565         การสำรวจแบ่งเป็นสองส่วน        1.อาสาสมัครลงพื้นที่สำรวจตู้น้ำจำนวน 1,530 ตู้ ระหว่างวันที่ 15-31 ส.ค. 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ครอบคลุมพื้นที่ 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า         มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1,380 ตู้ หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของกลุ่มตัวอย่าง พบไม่มีฉลากระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91         2.สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 3,041 คน  ใน 33 เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจ ดังนี้        ·     คิดว่าตู้น้ำที่ใช้บริการอยู่สะอาดถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 70         ·     ไม่พบว่ามีการขอใบอนุญาต ร้อยละ 81 เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าจำเป็นต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร้อยละ 76 แสดงความเห็นด้วย        ·     สถานที่ตั้งและความสะอาดของหัวจ่าย ส่วนใหญ่พบว่า สะอาด สถานที่ตั้ง ร้อยละ 67 , หัวจ่าย ร้อยละ 58        ·     สำหรับความมั่นใจว่ามีการเปลี่ยนไส้กรองสม่ำเสมอหรือไม่ พบว่า ไม่มั่นใจถึงร้อยละ 51 (สอดคล้องกับผลสำรวจตู้เรื่องการแสดงฉลากการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ ซึ่งพบว่า ร้อยละ 87.2 ไม่มีการแสดงฉลากทำให้ประชาชนไม่มีข้อมูล)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำได้จริง

กลางเดือน กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ จัดเสวนาหัวข้อ “การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง” และได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ ระบบขนส่งสาธารณะ คุณภาพตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ  และเรื่องผังเมือง         ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญก่อนการจัดเวทีและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่า กทม. ครั้งนี้ ทีมงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ คือตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง        ฉลาดซื้อพูดคุยกับ คุณก้อ ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ทำงานเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมาอย่างยาวนาน ยืนยันว่าแม้สถานการณ์คุณภาพของตู้ดื่มน้ำหยอดเหรียญจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องตู้น้ำมีความสำคัญอย่างไรมาเริ่มทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร         เรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราเริ่มเห็นว่าตู้สกปรกมาก ฝุ่นเกาะ  หรือเอากระป๋องนมที่ขึ้นสนิมมารอง แบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  เพราะประชาชนเสียเงิน เขาควรได้รับความปลอดภัย         เราทำงานมาตั้งแต่ปี 2559 -2560 ทำงานและสื่อสารตั้งแต่ทำให้รู้ว่าส่วนประกอบของตู้น้ำคืออะไร  ตอนนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนภาษี การขออนุญาตตอนแรกตู้ละ 2,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย เขาบอกว่า เขาไม่ไปจดทะเบียนนะเพราะบางตู้ คนมากดยังไม่ถึงเลย  พอได้เงินแล้วเขาต้องหักค่าไฟ ค่าน้ำ ตอนหลังการจดทะเบียนไม่ถึง 2,000 บาทแล้ว เหลือ 500 บาทในตู้แรก ตู้ต่อไป 25 บาท 2 ตู้จ่าย 525 บาท ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทำงานอย่างไรบ้าง         การทำงานคล้ายๆ อสม. แต่ศูนย์สิทธิฯ เรารับเรื่องร้องเรียน สถานที่จะเป็นที่สาธารณะ หรือที่บ้านก็ได้ แต่ขอให้ประชาชนที่มาสามารถมาร้องเรียนหรือ เล่าเรื่องของเขาได้ ปัจจุบันศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ก็ทำงานให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย ตามมาตรา 50 (5) เป็นการบันทึกข้อมูลในระบบ CRM แล้วเราไม่ได้นั่งรับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ลงตรวจคุณภาพน้ำด้วย เราสุ่มตรวจด้วยชุดตรวจโคลิฟอร์ม เรากำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ว่าในพื้นที่ที่แต่ละคนดูแลอยู่จะต้องสุ่มตรวจอย่างน้อยกี่ตู้ พอได้ผลเป็นอย่างไร เราจะคืนข้อมูลให้สำนักงานเขต เขตก็ลงมาตรวจตู้ ถ้าน้ำไม่สะอาดเขาต้องไปเปลี่ยนไส้กรอง การทำงานที่ผ่านมา พบปัญหา อุปสรรคอย่างไร           เราพบจากการสำรวจว่า ผู้ประกอบการรายย่อยก็ยังไม่รู้นะ ว่าต้องไปขออนุญาต ไม่มีคนมาแนะนำว่าเขาต้องไปจด เขาถามว่าทำไมเราต้องลงไปสำรวจ เราก็บอกว่าเราทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค บางทีเจ้าของตู้ก็ด่า บางทีเจ้าของบ้าน เขาก็เป็นเจ้าของเองหน้าบ้านเขาก็ตั้งตู้น้ำดื่ม เขาจะได้กินด้วย มีรายได้ แล้วพอไปตรวจ เขาก็กลัวว่าเราไปจับผิดเขา เพราะว่าที่เราลงไป เรามีการทำหนังสือ เหมือนเขาก็เดือดร้อนว่าต้องไปจดใบอนุญาต แล้วเมื่อผ่านได้ใบอนุญาตมาแล้ว ทางเจ้าของจะกลัวว่า จะถูกสุ่มลงมาตรวจ ไม่ได้ทำความสะอาด เปลี่ยนไส้กรองไหม เขาเลยตั้งตู้เฉยๆ อยู่แบบนั้นไม่ไปจด คนที่ขอไปแล้ว แต่ไม่ไปเอาใบอนุญาตจึงเยอะ  เพราะเขากลัวว่าเรื่องจะเยอะตามมา         แล้วหากน้ำไม่สะอาด การล้างแต่ละครั้งต้องมีช่างมาล้าง  เจ้าของตู้เขาต้องใช้เงินจากกำไร ที่เขาต้องได้เป็นพันก็ต้องมาจ่ายตรงนี้ แต่ก่อนจากที่เขาได้กำไรเยอะตอนที่ตู้ยังน้อย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมีตู้เยอะขึ้น แล้วเวลามีข่าวตู้น้ำดื่มไม่สะอาด คนก็หันมาติดตั้ง เครื่องกรองน้ำที่บ้านมากขึ้น         ส่วนชาวบ้านเขาก็คิดว่า แล้วทำไมต้องมาจด รัฐบาลไม่มีเงินเลยจะมาเอาเงินภาษี แบบนี้ก็มี แต่คนทำงานมองว่าสถานการณ์คุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเริ่มดีขึ้น         ใช่ ทำงานตอนแรก ทั้งชาวบ้าน ทั้งผู้ประกอบการ เขาไม่ได้สนใจเลย ชาวบ้านด้วยก็ไม่ได้สนใจ แต่พอเรารณรงค์มากขึ้น ชาวบ้านเขาเริ่มรู้ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็ต้องแอบนะเพราะเขาเริ่มรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาเห็น เขาก็มาเช็ดๆ ตู้ เราก็บอกเขาว่าไม่ใช่ ต้องทำความสะอาดข้างในด้วย เขาก็ทำด้วย เราบอกว่ากลัวว่ากดไปดื่มแล้วจะท้องเสีย         แล้วบางทีจุดตั้งตู้อยู่ใกล้ถังขยะ เปิดแล้วหนูก็วิ่งขึ้นไป คือตอนที่สำรวจอาจจะยังไม่เจอหนูก็จริง แต่สภาพแวดล้อม สถานการณ์มันมีได้         ตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงคือเราเห็นตู้ใหม่ๆ เยอะ การขอใบอนุญาตไม่ยากแล้ว   สำนักงานเขตจะมีข้อมูล ผู้ประกอบการที่เขายอมเปลี่ยนแปลงได้เพราะอะไร           เขาไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร แต่บางทีเราชี้แจง แล้วตัวเขาบางทีเขากดไปกินน้ำด้วย เขาตั้งตู้แล้วเขาก็กินเองด้วย เขาก็แก้ไข บางคนเขาดีนะ เราบอกแล้วเขาก็แก้ไข บางทีเขาไม่รู้ว่า ตู้น้ำต้องไปขอใบอนุญาต  เขาก็กลัวว่าเขาจะมีความผิดเหมือนกัน  บางคนเขาทำแล้ว มาบอกเราให้ไปทดสอบเลยว่า คุณภาพดีขึ้นไหม  มาตรวจเลย         แล้วผู้ประกอบการบางคนเขามีใบอนุญาตนะ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องนำมาติดไว้ที่ตู้ ทำงานมาเรื่อยๆ เขาก็รู้มากขึ้น         การทำงานที่ผ่านมา เราคิดว่า ทางเขตตอบรับเราดี ลงมาตามเรา เขาบอกว่าถ้ามีอะไร ให้เขาลงไป  เขายินดี ถ้าเราจะไปสำรวจอะไร เขาดีใจที่มีอาสาสมัครมาทำงานแบบนี้ แล้วจริงๆ เขตเขามีคนน้อย การทำงานของศูนย์สิทธิผู้บริโภค ช่วยให้เขตทำงานได้ถูกจุดมากขึ้น         ใช่       การทำงาน เมื่อเราแจ้งเขต เป็นการกระตุ้นให้เขาทำงานด้วย พอเราส่งข้อมูลให้เขต เขตบอกว่าจะไปตรวจ  ตอนแรกเขาจะตักเตือนก่อน  แต่ตักเตือนแล้วยังไม่ทำ  เขาก็จะฟ้อง เพราะมีกฎหมาย เขาเลยจะเตือนมาก่อนตอนนี้ กทม. มีเทศบัญญัติ แล้ว เทศบัญญัติที่มีเกิดจากการทำงานของเครือข่าย         เทศบัญญัติที่มีมาตั้งแต่ ปี 2562 เกิดจากการทำงานของเครือข่าย  ไปผลักดันจนเกิดนโยบาย ช่วงปี 60- 61 พี่ไปที่สำนักงานเขต ถามเขาว่า ถ้าเกิดเจอตู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตบอกว่า หัวหน้าสิ่งแวดล้อมบอกว่าเขาจะตักเตือน ถ้าไม่เปลี่ยนแล้วยังไม่มา เขาจะลงไปเอาโซ่ล่าม การฟ้องมันใช้เวลา ส่วนมากจะจบที่การไกลเกลี่ย เขาไม่อยากถูกฟ้อง เขาก็ต้องทำ         การทำงานที่ผ่านมาเรายังได้ ประสานกันหลายฝ่าย เราก็ได้พัฒนาตัวเองด้วย  น้ำที่ไม่สะอาด พอเอาโคลิฟอร์มมาตรวจ น้ำจะเปลี่ยนสีเลย น้ำที่ได้มาตรฐาน จะเป็นสีส้ม น้ำที่ตรวจเจอแล้วเป็นสีเหลือง มันมีอันตรายอย่างไร คือเป็นน้ำที่ดื่มเข้าไปแล้วทำให้ท้องร่วงได้ เราก็ให้ศูนย์สาธารณสุขมาให้ความรู้กับ อาสาสมัครเราด้วย         พี่เลยมองว่า สถานการณ์ดีขึ้น ประชาชนมีความรู้มากขึ้น ผู้ประกอบการเขาก็มีความตระหนักขึ้นนะ แล้วการทำงานร่วมกันในพื้นที่ก็มีส่วนเสริมกัน เรามองว่าช่วยกันได้ แล้ว อาสาสมัครถ้าทำงานไปเรื่อยๆ ก็ได้พัฒนาตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ

        หลายคนคงเคยใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เนื่องจากราคาถูก ง่ายต่อการใช้บริการ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง หาง่ายในแหล่งชุมชนต่างๆ แต่จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่ามีหลายตู้ตกมาตรฐาน        คุณต้นไม้ พักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่งใจกลางลาดพร้าว 101 เขามักซื้อน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นประจำ เพราะรู้สึกว่า ถูก ง่าย สะดวก เอาขวดน้ำที่ดื่มน้ำหมดแล้วมากรอกได้เลย แต่อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาหยอดเหรียญโดยนำขวดมากรอกน้ำเหมือนเคย แต่พอดื่มเข้าไปแล้ว เขารู้สึกว่ารสชาติผิดปกติ ไม่เหมือนที่เคยดื่ม ลองเอามาดมก็มีกลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนเดิม เพราะทุกทีน้ำไม่มีกลิ่น เขาจึงลองไปหยอดเหรียญกรอกอีกรอบ ก็ยังพบว่าน้ำดื่มมีความผิดปกติทั้งรสชาติและกลิ่นไม่เหมือนที่เคยดื่ม ดังนั้นเลยลองเสิร์ชดูในกูเกิลเจอว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเคยออกข่าวเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน สกปรก จึงมาขอคำปรึกษาและขอให้ช่วยตรวจสอบเนื่องจากมีคนในคอนโดใช้บริการจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซึ่งกำหนดให้มีการขออนุญาตก่อน หากมีการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องมีการเปลี่ยนไส้กรอง การซ่อมบำรุง และต้องรายงานคุณภาพน้ำด้วย เมื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้วต้องมีสติ๊กเกอร์การได้รับอนุญาต ผลคุณภาพน้ำ ระยะเวลาในการเปลี่ยนไส้กรอกติดไว้ที่ตู้ด้วย         ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตบางกะปิ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาขอให้ช่วยตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้ที่ผู้ร้องคือคุณต้นไม้ได้ร้องทุกข์ไว้ ทราบต่อมาว่าทางเขตบางกะปิได้ลงพื้นที่ตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดังกล่าวแล้วและทางเขตสั่งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตู้น้ำดื่มมีคุณภาพน้ำที่สะอาดสำหรับการบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2561กรมอนามัยเล็งชง อย.-สคบ. คุมเข้มชาเขียว-น้ำอัดลม ใช้แคมเปญล่อใจคนดื่มเพิ่มเว็บไซต์ Beevoice.org รายงานว่า นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์กรณีการบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีน้ำตาล เพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่ม เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการดังกล่าว ได้ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการดำเนินการปรับปรุงสูตรเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาทำเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยมากขึ้น เพื่อจะไม่ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นแต่ปัญหาคือ เครื่องดื่มอย่างน้ำอัดลมหรือชาเขียวที่เดิมมีน้ำตาลสูง แม้จะมีการปรับสูตรให้มีน้ำตาลน้อยลง แต่กลับทำการตลาดโดยเฉพาะการชิงโชค เพื่อให้คนไทยหันมาบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งประชาชนต้องรู้ทันเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากการกินหวานมากๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ซึ่งภาครัฐได้พยายามทำให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลลดลง นพ.วชิระ กล่าวว่า หากการชิงโชคในเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากอย่าง ชาเขียวหรือน้ำอัดลมเป็นปัญหามาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอให้มีการออกกฎหมายควบคุมเหมือนเครื่องดื่มชูกำลังในอดีต โดยกรมอนามัยจะทำข้อมูลเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาออกประกาศห้ามชิงโชคในเครื่องดื่มเหล่านี้ เหมือนกับที่กรมอนามัยเสนอกรมสรรพสามิต ในการคุมภาษีน้ำตาลสำเร็จมาแล้ว*****อย.ปรับใหม่ ต้องจดแจ้งก่อนผลิตเครื่องสำอางนพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า อย.จะเพิ่มมาตรการเพื่อประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยปรับเชิงระบบ เนื่องจาก พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตเครื่องสำอางเพื่อขายต้องจดแจ้งก่อน เมื่อ อย.รับแจ้งแล้ว จึงจะผลิตเครื่องสำอาง ณ สถานที่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในเดือน มิ.ย.61โดย อย. ได้หารือกับผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งเสนอให้มีมาตรการเข้มงวดคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มโทษตามกฎหมาย และทบทวนระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งการยื่นขออนุญาตเครื่องสำอางผ่านระบบ e-Submission ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้ยกเลิก เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมายนั้น ขอชี้แจงว่าการยื่นขออนุญาตมีทั้งยื่นเป็นเอกสาร และยื่นผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่ง อย.เคยพัฒนาระบบ Auto e-Submission เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลและออกใบรับจดแจ้งได้ทันที แต่ได้ยกเลิกใบรับแจ้งเหล่านั้นแล้ว รวมทั้งยกเลิกการรับจดแจ้งโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่ 1 ก.ย.60 *********กทม. เตรียมรื้อ ‘ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ’ ไม่มีใบอนุญาต หลังพบตู้เถื่อนเกลื่อนกรุงวันที่ 2 พ.ค.61 นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2561 พบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 3,804 ตู้ จากทั้งหมด 3,964 ตู้ โดยพื้นที่ที่มีตู้น้ำดื่มฯ มากที่สุด คือ เขตจตุจักร 310 ตู้, เขตลาดพร้าว 295 ตู้ และเขตยานนาวา 214 ตู้ที่ผ่านมาสำนักงานเขตได้ออกหนังสือเรียกผู้ประกอบการให้มาดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตามกฎหมาย แต่ผู้ประกอบการไม่ยินยอมมาชำระค่าธรรมเนียม เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1 ตู้ ต้องเสียค่าธรรมเนียมปีละ 2,000 บาท ซึ่งปัญหานี้ กรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติฯ ทำให้ค่าธรรมเนียมประกอบการเหลือ 500 บาทต่อปี เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการมาขอใบอนุญาตจากนี้ไป กรุงเทพมหานครจะเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น โดยให้สำนักงานเขตดำเนินการรื้อถอนตู้น้ำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายสาธารณสุขการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท*********ศาลฎีกาสั่งถอนสิทธิบัตรผลิต ‘ยาความดันโลหิตสูง-หัวใจ’ หลังต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปีภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ศาลฎีกาได้ตัดสินชี้ขาดให้ถอนรายการยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงและป้องกันหัวใจล้มเหลว ออกจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของประเทศไทย หลังจากที่ต่อสู้ยาวนานกว่า 7 ปี“ศาลฎีกาได้ใช้กระบวนการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องนี้ตามมาตรฐานสากล โดยใช้ข้อเท็จจริงว่า กระบวนการผลิตยาเม็ดที่ถูกนำไปจดสิทธิบัตรคุ้มครองนั้น เป็นกระบวนการผลิตที่มีสอนเป็นปกติให้กับนักศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ไม่ควรได้สิทธิบัตรคุ้มครอง จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณายกเลิกการจดสิทธิบัตรฉบับนี้” นายกเภสัชกรรมกล่าวทั้งนี้ ในอดีตเมื่อบริษัทยาได้คิดค้นยาดังกล่าวแล้ว ได้ทำการจดสิทธิบัตรตัวยา และจดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตเป็นยาเม็ดเพิ่มเติมอีก 1 ฉบับ ที่สหรัฐอเมริกา และได้รับการคุ้มครองทั่วโลกยาวนานถึง 20 ปี โดยภายหลังที่สิทธิบัตรตัวยาดังกล่าวหมดอายุลง บริษัทยาในประเทศไทยได้ผลิตยาดังกล่าวออกมาแข่งขัน แต่ถูกบริษัทยาข้ามชาติฟ้องร้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตยา ทำให้มีการต่อสู้คดีกัน*********บทเรียนการใช้สิทธิกับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมายในชุมชนเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายผู้เสียหายจากอาคารสูงและตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดเวทีสภาผู้บริโภคเรื่อง “บทเรียนการใช้สิทธิของผู้บริโภค กับการจัดการปัญหาอาคารสูงผิดกฎหมาย” เพื่อสะท้อนปัญหาอาคารสูงในซอยแคบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชุมชนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ จะไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้ เพื่อให้รถดับเพลิงหรือกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการวัดความกว้างของถนน บางครั้งจึงมีการวัดความกว้างถนนโดยรวมพื้นที่ฟุตบาทเข้าไปด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน โดยระบะให้วัดความกว้างของถนนเฉพาะบริเวณผิวถนนที่รถสามารถวิ่งได้เท่านั้น”นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ตัวแทนผู้บริโภคกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท เสนอว่า หนึ่งในวิธีที่จะปกป้องสิทธิของชุมชน คือ อย่ารอให้โครงการเริ่มก่อสร้างแล้วค่อยจัดการ แต่ต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการพิจารณาสภาพแวดล้อมในชุมชน ทั้งเรื่องความกว้างของถนน ฝุ่น เสียง ฯลฯ เช่น หากถนนในซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร แต่กำลังจะมีโครงการก่อสร้างคอนโดสูงเกิน 8 ชั้น ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 175 สำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ

    ตู้กดน้ำดื่มอัตโนมัติเป็นสิ่งที่เราพบเห็นทั่วไปในย่านชุมชน หลายคนต้องพึ่งพาตู้เหล่านี้เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในราคาย่อมเยา ธุรกิจตู้น้ำดื่มก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะใครๆ ก็ทำได้ แค่มีพื้นที่หน้าบ้านบวกกับเงินลงทุนเริ่มต้นอีกไม่เกิน 3 หมื่นบาทเราก็เป็นเจ้าของตู้พวกนี้ได้แล้ว มีทั้งแบบขายขาดให้เจ้าของพื้นที่ดูแลเองและแบบที่มีบริษัทส่งพนักงานมาซ่อมบำรุงให้ แต่น้ำที่ได้จากตู้พวกนี้สะอาดจริงหรือ?   การเก็บตัวอย่างน้ำ 2,025 ตัวอย่างจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึง กันยายน 2555 พบว่าเกือบร้อยละ 40 ไม่ผ่านมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด น้ำดื่มเหล่านี้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง และค่าความกระด้างเกินเกณฑ์ และยังพบเชื้อโคลิฟอร์ม และ E.coli  ในน้ำดื่มถึง 319 ตัวอย่างด้วยปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการดูแลรักษา แล้วการกำกับดูแลธุรกิจหรือการควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์เหล่านี้ดีพอที่จะรับประกันคุณภาพหรือความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคแล้วหรือยัง?เครือข่ายผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ได้ทำการสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติในกรุงเทพมหานคร ว่าเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจเกี่ยวกับ สถานที่ตั้ง การติดฉลาก คุณลักษณะ แหล่งน้ำที่ใช้ และการบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด 855 ตู้จาก 18 เขตของกรุงเทพมหานคร ทีมสำรวจพบว่า ...•    มีเพียงร้อยละ 8.24 ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในการสำรวจ (855 ตู้)  ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ  … นั่นหมายความว่ายังมีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอีกมากที่ดำเนินการขายน้ำดื่มโดยยังไม่ได้รับใบอนุญาต (ใบอนุญาตดังกล่าวมีค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อปี ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าแพงเกินไป!!)•    ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ร้อยละ 76.3      ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนน บนทางเท้า ร้อยละ 47.7    ไม่มีการยกระดับตู้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย  10 เซนติเมตรร้อยละ 28.3     ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขัง/แหล่งระบายน้ำเสีย (บางครั้งพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในบริเวณใกล้กัน)ร้อยละ 22    ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู แมลงวัน•    ตู้กดน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน หรือ วัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน•    ทีมสำรวจพบทั้งตู้เก่าและตู้ใหม่ บางตู้ติดตั้งมานานและไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบกิจการ มีสนิม มีรูรั่วซึม มีการผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำ บางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย•    ร้อยละ 93.8 ของน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในตู้เหล่านี้เป็นน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะน้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว•    มีเพียงร้อยละ 58.7 ของตู้เหล่านี้ที่ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง•    มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ผู้สำรวจไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้   -------------------------------------------------------------------------------------------------วิธีการเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ: ข้อเสนอแนะจากทีมสำรวจสภาพภายนอก >> เลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ จุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ ควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดมักทำให้เกิดตะไคร่ภายในหัวบรรจุการควบคุมคุณภาพน้ำ >>  ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มเป็นประจำ เมื่อผู้ดูแลตู้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรองแล้วจะติดสติ๊กเกอร์แจ้งวัน/เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่การสังเกตกลิ่น สี รส  >>  ผู้บริโภคสามารถตรวจดูสภาพของน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นได้ด้วยการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ควรเปลี่ยนตู้ใหม่เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองเสียก่อนภาชนะที่นำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ >> ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม------------------------------------------------------------------------------------------------กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 362 พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท หากฝ่าฝืนจะเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 28 ฝ่าฝืนมาตรา 25 (3) มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ------------------------------------------------------------------------------------------------ความนิยมของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ร้อยละ 40.9 ของน้ำดื่มที่คนไทยบริโภค มาจากน้ำบรรจุขวดและตู้น้ำดื่มยอดเหรียญผลสำรวจของกรมอนามัยในปี 2556 ระบุว่า ร้อยละ 14 ของประชาชนจัดหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ ร้อยละ 17 ดื่มน้ำฝนที่กักเก็บไว้ ร้อยละ 24 ดื่มน้ำประปา และร้อยละ 32 นิยมดื่มน้ำบรรจุขวด ที่เหลือเป็นน้ำดื่มที่ได้จากบ่อบาดาลและบ่อน้ำตื้น------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มคุณภาพ: หน่วยงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง•    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา >> กำกับดูแลคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522•    สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค >> กำกับดูแลการโฆษณาคุณภาพและควบคุมการติดฉลากของเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522•    สำนักอนามัย สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร >> ติดตามการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และบังคับใช้บทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 •    สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม >> กำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำแบบหยอดเหรียญให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องกรองน้ำประเภทต่างๆที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ------------------------------------------------------------------------------------------------น้ำดื่มที่ดีไม่ได้หมายถึงน้ำดื่มบริสุทธิ์ปราศจากแร่ธาตุใดๆ เพียงแต่ปริมาณแร่ธาตุเหล่านั้นจะต้องไม่เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกหรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับน้ำบริโภคกำหนดไว้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://plan.dgr.go.th/school/5.pdf------------------------------------------------------------------------------------------------การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดของประชากรอาเซียน    มหาวิทยาลัยเยล ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและ World Economic Forum จัดทำ Environmental Performance Index (EPI) ขึ้นในปี 2014 จากการสำรวจและประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใน 178 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในหัวข้อสำรวจคือการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด ซึ่งหมายถึง ประปา แหล่งน้ำบาดาล น้ำฝน เท่านั้น (ไม่นับน้ำดื่มบรรจุขวดหรือสั่งซื้อ) เรามาดูกันว่ากลุ่มประเทศอาเซียนทำได้ดีแค่ไหนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน  เรียงจากมากไปน้อยตามนี้100        สิงคโปร์ 100         บรูไน 91.94        มาเลเซีย60.55        ไทย59.47        เวียดนาม48.38        ฟิลิปปินส์32.45        อินโดนีเซีย 32.27        เมียนมา 17.34        ลาว 15.52        กัมพูชา ข้อมูลจาก http://epi.yale.edu/epi/issue-ranking/water-and-sanitation  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 น้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกับเรื่องที่ต้องระวัง

คนเราทุกคนต้องดื่มน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปเป็นปกติ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่อาจขาดน้ำได้ เพราะการขาดน้ำย่อมหมายถึงการสิ้นสุดของชีวิตโดยทั่วไปร่างกายได้น้ำมาจากน้ำดื่ม เครื่องดื่มและอาหาร น้ำที่เราใช้ดื่มกินมาจากหลายแหล่ง ทั้งที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น น้ำฝน น้ำบาดาล และที่ผ่านกระบวนการผลิต เช่น น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งอย่างหลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายจนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจในน้ำประปาว่า สะอาดเพียงพอสำหรับการดื่มกิน อย่างไรก็ตาม น้ำดื่มบรรจุขวดนั้นมีราคาแพงมาก น้ำดื่มขนาด 600 มิลลิลิตรที่วางจำหน่ายทั่วไปมีราคาสูงถึง 7 บาทต่อขวด และยังอาจมีราคาสูงไปได้อีกหากจำหน่ายในร้านอาหารที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำดื่ม ดังนั้นหากเป็นการซื้อมาไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน น้ำดื่มบรรจุขวดอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับครอบครัวที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย การติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่บางครอบครัวเลือกใช้ แต่สำหรับบางครอบครัวหรือบางคนที่ไม่ได้มีบ้านพักถาวร เช่นผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในหอพักหรือห้องเช่า น้ำดื่มที่กำลังมาแรงสุดตอนนี้ก็คือ น้ำดื่มที่ได้มาจากตู้หยอดเหรียญ ที่ปัจจุบันมีกระจายติดตั้งอยู่ทั่วไปในย่านชุมชนที่มีหอพักจำนวนมาก เพราะทั้งสะดวกในการใช้บริการและมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด โดยน้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญจะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ 70 – 85 สตางค์ เท่านั้น __________________________________________________________________________ ตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นการพัฒนาระบบบริการน้ำดื่มให้ครอบคลุมความต้องการ โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอยู่จำนวนมาก เช่น หอพัก ห้องเช่า ตลาด หรือบริษัทห้างร้านที่มีประชาชนจำนวนมาก พบได้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตลอดจนในพื้นที่เขตเมือง เขตเทศบาลและแหล่งชุมชนใหญ่ๆ ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จากการศึกษาล่าสุดโดยกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณการว่า เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีมากถึง 20,000 ตู้ และส่วนใหญ่เป็นตู้น้ำดื่มที่ใช้กระบวนการรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญปลอดภัยหรือไม่ โดยวิธีการและแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญน่าจะมีความปลอดภัยเหมาะสำหรับการบริโภค เพราะใช้น้ำประปาที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมาผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้ได้น้ำดื่มที่มีคุณภาพและความสะอาดที่ดี แต่จากการวิจัยของหลายหน่วยงานในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา พบว่า น้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ ข้อมูลจากศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ได้ทำการศึกษาเชิงสำรวจคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากพื้นที่ 30 เขตของกรุงเทพฯ จำนวน 546 ตัวอย่างจาก 20 ตราผลิตภัณฑ์ ในช่วง มี.ค. – มิ.ย. 2548 โดยอาศัยเกณฑ์ประเมินคุณภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มอก. 257-2521 ของกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 (2524) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2534) และมาตรฐานของการประปานครหลวง ในภาพรวมพบว่า มีน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 289 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 52.9 โดยมีประเด็นที่น่าสังเกตคือเมื่อจำแนกตามตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้ง 20 ตราผลิตภัณฑ์พบว่าไม่มีกลุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากตรายี่ห้อใดเลยที่ผ่านเกณฑ์ได้ทั้งหมด และในจำนวนนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของตราผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มตรวจของแต่ละตราผลิตภัณฑ์ ในปี พ.ศ. 2549 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยสุ่มตรวจตู้น้ำหยอดเหรียญจาก 9 จังหวัด (รวม กทม. และนนทบุรี) พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (แบคทีเรีย) ของกรมอนามัย จำนวน 3 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 33 ตัวอย่าง) และพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) จำนวน 1 ตัวอย่าง (จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 ตัวอย่าง) ในปี 2550 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการบริโภคน้ำจากเครื่องผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ โดยสุ่มตัวอย่างจากเขตพื้นที่ต่าง ๆ ใน กทม. จำนวน 350 ตัวอย่าง (50 เขต ๆ ละ 7 ตัวอย่าง) ปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 พ.ศ. 2524 และฉบับที่ 135 พ.ศ. 2534) จำนวน 264 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่ากว่าร้อยละ 25 ของกลุ่มตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ และในจำนวนนี้พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องกรด – ด่าง (pH) และความกระด้างร้อยละ 20.9 พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม (Coliforms) ร้อยละ 5.43 และ อี. โคไล (E.coli) ร้อยละ 0.57 นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม บริเวณหัวจ่ายน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญถึงร้อยละ 23.41 และมีตะไคร่เกาะอยู่ที่หัวจ่ายน้ำกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และในปี พ.ศ. 2552 สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้ทำการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนอีกครั้ง โดยสุ่มตรวจน้ำดื่มเพื่อการบริโภคประเภทต่างๆ ของครัวเรือน จาก 19 จังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ไม่รวม กทม.) ทั้งเขตเมืองและชนบท ซึ่งได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญด้วยจำนวน 6 ตัวอย่าง พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์แบคทีเรีย จำนวน 4 ตัวอย่าง ซึ่งจากการทบทวนการสำรวจทั้งหลายที่กล่าวมา พบว่า สาเหตุสำคัญที่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญมีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียและโคลิฟอร์ม เนื่องจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์กรองน้ำ ภาชนะที่เก็บน้ำและการเก็บน้ำที่กรองออกมาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้ในบางจุดยังพบสาหร่ายและตะไคร่ในบริเวณหัวจ่ายน้ำอีกด้วย __________________________________________________________________________ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่จังหวัดสงขลา สมาคมผู้บริโภคสงขลา ได้ทำการสำรวจคุณภาพของน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญจำนวน 13 ตัวอย่าง 11 ตราผลิตภัณฑ์ ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ในเดือน กันยายน และ พฤศจิกายน 2552 และเดือนมกราคม 2553 จากพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยส่งทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด ได้แก่ เสต็ฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (เอส.ออเรียส/S. aurius) ซัลโมเนลล่า (Salmonella ) อี.โคไล (E.coli) และ โคลิฟอร์ม (Coliform) ผลการทดสอบพบว่า มีเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ไม่ผ่านการทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 8 ได้แก่ตัวอย่างยี่ห้อสยามวอเตอร์ จากหอพักณัชชา อพาร์ทเม้นท์ ในการเก็บตัวอย่างเดือนมกราคม 2553 พบโคลิฟอร์มจำนวนมากกว่า 22 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร ซึ่งตามมาตรฐานในประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 61 และ ฉบับที่ 135 ระบุไว้ว่าไม่เกิน 2.2 เอ็มพีเอ็น ต่อน้ำดื่ม 100 มิลลิลิตร (ข้อมูลจาก โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ./TUHPP) __________________________________________________________________________ ใครรับผิดชอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายงานการศึกษาทบทวนองค์ความรู้ทางด้านน้ำกับความปลอดภัยด้านอาหาร โดย โปรแกรมศึกษาระบบความปลอดภัยอาหารและโภชนาการ (FSN) สถาบันคลังสมองของชาติ (KNIT) ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกำกับดูแลน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญยังไม่มีความชัดเจน ไม่ว่าจะทางด้านหน่วยงาน/องค์กรหรือด้านตัวกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลน้ำดื่มเพื่อการบริโภคที่ได้จากตู้น้ำหยอดเหรียญโดยตรงเลย มีก็เพียงเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มทั่วไปในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเท่านั้น อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มมีความพยายามที่จะเข้าควบคุมกำกับดูแลคุณภาพบ้างแล้ว เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการให้สัมภาษณ์ของ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ  ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 ระบุว่า มีผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญมาลงทะเบียนไว้ที่สำนักงานเขต ทั้งสิ้น 2,000 ตู้ ซึ่งต่อไปนี้ทางสำนักงานเขตแต่ละพื้นที่จะเข้มงวดให้ผู้ประกอบการทุกรายมาขึ้นทะเบียน โดยเตือนว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต้องมาลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หากตู้น้ำใดไม่มีการขึ้น ทะเบียน หรือไม่มีใบจดทะเบียนที่สำนักงานเขตออกให้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย อาจจะถึงขั้นไม่ให้ตั้งตู้น้ำในพื้นที่นั้นๆ เลย และยังกล่าวอีกว่า “ขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้ ช่วยเป็นหูเป็นตาด้วย หากพบว่าตู้น้ำดื่มใดไม่มีใบขึ้นทะเบียนจากทางสำนักงานเขตก็อย่าได้ไว้ วางใจกดน้ำมาบริโภค” ถึงกระนั้น หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงทางกฎระเบียบข้อบังคับเท่านั้น แต่การเฝ้าระวัง การกำกับดูแลและการตรวจสอบที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานหรือการสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น ยังไม่การวิจัยหรืองานวิชาการเรื่องฐานความรู้ในเรื่องสำคัญๆ ที่จะเกี่ยวกับความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ อย่างเช่น ลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มที่ดีควรเป็นเช่นไร หัวจ่ายที่ใช้ในการจ่ายน้ำต้องมีความปลอดภัยแค่ไหนหรือแม้แต่มาตรฐานของวิธีการบำรุงรักษาว่าควรเป็นเช่นใด ถึงตรงนี้ผู้บริโภคก็ต้องทำใจรอกันล่ะ ว่าเมื่อไหร่ผู้มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะเร่งศึกษาวิจัยและจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญกันเสียที ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาบานปลายแก้ไขไม่ทัน เพราะปัจจุบันธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกำลังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก   ฉลาดซื้อแนะ การเลือกใช้บริการน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 1. สภาพภายนอกของตู้น้ำดื่ม : ควรเลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ไม่มีฝุ่นผงหรือคราบสกปรก ผู้ประกอบการมีการปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ ตู้ โดยเฉพาะตรงจุดที่ใช้สำหรับวางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาด ไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ และควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง ซึ่งแสงแดดมักจะก่อให้เกิดตะไคร่ขึ้นภายในหัวบรรจุ 2. การควบคุมคุณภาพของน้ำ : ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญบางยี่ห้อจะมีการดูแลและควบคุมคุณภาพของน้ำดื่มโดยผู้ ดูแลตู้จะเข้ามาทำการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง จากนั้นจะทำการแปะสติ๊กเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้ามาตรวจสอบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเจ้าของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตู้นี้มีการดูแล และควบคุมคุณภาพของน้ำหรือไม่ 3. การสังเกตกลิ่น สี รส : ผู้บริโภคควรตรวจดูสภาพของน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเบื้องต้นด้วยตน เอง จากการสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ใช้อยู่เป็นประจำ เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยน ก็ควรที่จะเปลี่ยนตู้ใหม่ หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรอง เสียก่อน 4. ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ : ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ 5. ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด : เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม   __________________________________________________________________________ น้ำดื่มจากระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) อันตรายจริงหรือ เนื่องจากน้ำจากตู้หยอดเหรียญส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า รีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: RO) ที่เคยมีผู้กล่าวอ้างว่าเป็นน้ำดื่มที่มีอันตรายเพราะ เป็นน้ำดื่มที่มีความบริสุทธิ์สูงนั้น ในความเป็นจริงยังไม่มีวิจัยไหนมารับรองว่าการกินน้ำ RO จะทำให้เกิดโทษหรือเกิดประโยชน์ไปมากกว่าน้ำปกติ กระบวนการผลิตน้ำบริโภคด้วยระบบ รีเวอร์ส ออสโมซิส เป็นการกรองน้ำให้มีความบริสุทธิ์เกือบ 100% ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ได้น้ำที่สะอาดปลอดภัยวิธีหนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตน้ำแบบใดก็ตาม หากน้ำผ่านการกรองที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักเกณฑ์ตามองค์การอนามัยโลก น้ำนั้นจะไม่มีอันตราย __________________________________________________________________________ คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหิดล ตีพิมพ์ใน วารสารโภชนาการปีที่ 43 ฉ.1 มค.-มีค. 51 ถาม : คุณภาพน้ำประปาที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันนี้เหมาะกับการนำมาบริโภคหรือไม่?ตอบ : กองอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ได้ทำการสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคจากแหล่งต่างๆ คือ ประปาขนาดใหญ่ ประปาขนาดกลาง ประปาขนาดเล็ก บ่อบาดาล และบ่อตื้นทั่วประเทศ ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจคุณภาพในแง่กายภาพ เคมี และแบคทีเรีย พบว่าน้ำบริโภคจากแหล่งน้ำเหล่านี้ประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้มาตรฐาน แม้แต่ในกรณีประปาขนาดใหญ่ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 27.2 ที่ได้มาตรฐานทั้ง 3 ด้านคุณภาพของน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ได้มาตรฐาน ยกเว้นอีกประมาณร้อยละ 8 ที่จ่ายให้ในบางพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำประปาไม่เพียงพอ จึงต้องใช้น้ำบาดาลแทน น้ำบาดาลเหล่านั้นมักไม่ได้มาตรฐานทั้งในด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย สรุปแล้วน้ำบริโภคจากทั้ง 5 แหล่งในชนบท มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานเหมาะกับการบริโภค ส่วนน้ำประปาในเขตกรุงเทพมหานครประมาณร้อยละ 90 ได้มาตรฐาน   ถาม : การต้มหรือกรองน้ำประปาจะช่วยปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้เหมือนกับคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่? ตอบ : การต้มช่วยฆ่าเชื้อโรคในน้ำและลดความกระด้างโดยเฉพาะในน้ำกระด้างชั่วคราว นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นคลอรีนด้วย คุณภาพจึงน่าจะใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนน้ำประปาที่ผ่านระบบกรองที่นิยมใช้อยู่ตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งก็ประกอบด้วยถ่านและเรซิน เหมือนกับกระบวนการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ยกเว้นไม่มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือก๊าซโอโซน อย่างไรก็ตามถ้าน้ำประปาที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนในปริมาณที่เพียงพอ น้ำที่กรองจากเครื่องมือเหล่านั้นก็มีคุณภาพใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >