ฉบับที่ 115 เซ็งเลย...ไดออกซินในหมูปิ้ง

โดยปรกติแล้วเวลาเห็นข้อมูลเกี่ยวกับไดออกซินในอาหารเนื้อสัตว์ปิ้งย่างรมควันแล้ว ผู้เขียนมักปฏิเสธที่จะเชื่อ เพราะมองไม่ออกว่ามันจะเกิดได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน “จากกรณีที่มีอีเมลส่งต่อกันระบุว่า ถ้าย่างอาหารนาน 2 ชั่วโมง เท่ากับสูบบุหรี่ 2 แสนมวน โดยอ้างว่าเป็นผลวิจัยโดยกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส ซึ่งลองเอาไก่มาย่างบนเตาถ่านแล้วพบว่ามันจะ สร้างสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ขึ้นมาในปริมาณที่ฟังแล้วอึ้งทึ่งเสียวไปตามๆ กัน แถมบนเนื้อย่างยังมีสารพิษตัวอื่นๆ แถมมาอีกหลายอย่าง เช่น ........ จะจริงหรือมั่วชัวร์หรือไม่มาฟังคำตอบกัน” ข้อความข้างต้นนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้มาจากส่วนหนึ่งของรายงานข่าวสั้นๆ ที่นักศึกษาหลักสูตรพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการต้องทำส่งทุกสัปดาห์ที่เรียนวิชาพิษวิทยากับผู้เขียน ข่าวดังกล่าวนั้นตัดมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งรายงานข่าวจากการประชุมเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งมีแพทย์หลายท่านเป็นวิทยากร โดยปรกติแล้วเวลาเห็นข้อมูลเกี่ยวกับไดออกซินในอาหารเนื้อสัตว์ปิ้งย่างรมควันแล้ว ผู้เขียนมักปฏิเสธที่จะเชื่อ เพราะมองไม่ออกว่ามันจะเกิด ได้อย่างไรในชีวิตประจำวัน เนื่องจากไดออกซินเป็นสารพิษที่ร้ายแรง และที่เรียนมามักเกิดในกระบวนการที่เกี่ยวกับการที่มีการใช้คลอรีน เช่น กระบวนการฟอกกระดาษให้ขาว หรือสังเคราะห์สารปราบวัชพืชที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ หรือ ทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความร้อนสูงตัวอย่างเช่น เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สารประกอบไดออกซินนั้นเกิดได้จากการที่มนุษย์เผาขยะหรือแม้แต่ศพ ซึ่งในปัจจุบันมีเมรุเผาศพในวัดหลายแห่งในประเทศไทย และเมรุเผาศพเอกชนในต่างประเทศใช้เตาเผาศพไฟฟ้าไร้ควันเพื่อป้องกันการปล่อยไดออกซินออกสิ่งแวดล้อม ที่ตลกไปกว่านั้นคือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปบรรยายความรู้เกี่ยวกับสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนสังกัด ซึ่งเป็นธรรมดาที่จะมีนักศึกษาบางส่วนที่ไม่ใส่ใจในการจดข้อมูล มักนั่งคุยกันหรือหลับตาเข้าสมาธิระหว่างเรียน จากนั้นเมื่อจบการบรรยายและได้รับคำสั่งให้ทำรายงานว่า ได้อะไรจากคำบรรยายที่สามารถประยุกต์เข้าสู่ชีวิตประจำวันได้ นักศึกษาประเภทนี้ก็ถามเพื่อนที่สนใจเรียนว่า โครงสร้างการบรรยายมีอะไรบ้าง จากนั้นก็ไปนั่งเทียนเขียนโดยอาศัยข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ที่สำคัญนักศึกษาเหล่านี้มักใช้วิธีการ copy and paste มาทำรายงานแบบมีข้อมูลขาดๆ เกิ ๆ จากที่บรรยายในชั้นเรียน การทำรายงานแบบ copy and paste ของนักศึกษานั้นสังเกตได้ไม่ยาก อาจารย์หลายท่านอาจเคยประหลาดใจว่าทำไมรายงานของนักศึกษาบางส่วนถึงมีสำนวนคล้ายกันถึงขั้นจำนวนตัวอักษรในบางส่วนของรายงานที่เป็นเรื่องเดียวกันเท่ากัน แบบมิได้นัดหมาย ครั้งแรกที่พบผู้เขียนตรวจพบก็เข้าใจว่านักศึกษาใช้วิธีการลอกการบ้านกัน แต่เรื่องการปนเปื้อนของไดออกซินในอาหารปิ้งย่างนั้นผู้เขียนไม่ได้เอ่ยปากสักนิดในการบรรยาย กลับมีนักศึกษามากกว่าห้าคนขึ้นไปนำเอามาบรรจุในรายงาน ผู้เขียนจึงสงสัยในแหล่งที่มาว่า ข้อมูลนี้มาจากไหน เพราะปรากฏการมั่วแบบนี้เกิดสองปีซ้อน วิธีการตามล่าหาความจริงทำได้ไม่ยาก ผู้เขียนใช้วิธี copy ประโยคภาษาไทยสั้นๆ ที่ซ้ำกันในรายงานนักศึกษาซึ่งส่งให้ผู้เขียนเป็น file word ทาง e-mail แล้ว paste ใน Google search จากนั้นก็จะเห็นข้อความตัวจริงที่นักศึกษาไปลอกมาว่ามาจากเว็บใดบ้าง ซึ่งมักเป็นไปในรูปข้อมูลใน block ที่ไปลอกมาจากข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีนักวิชาการที่ไม่ได้เรียนด้านพิษวิทยาบรรยาย ณ ที่ประชุมต่างๆ จริงหรือไม่ที่ไดออกซินเกิดขึ้นในอาหารปิ้งย่างรมควัน จากประเด็นที่นักศึกษาที่เรียนในวิชาที่ผู้เขียนสอนตั้งประเด็นขึ้น และรายงานต่อในข่าวในอ้างถึงแหล่งที่มาของข่าวว่า “ข้อความดังกล่าวเป็นผลจากการศึกษาของกลุ่มโรแบง เดส์ บัวส์ (Robin des Bois) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส ได้มีการศึกษาระบุ การย่างบาร์บิคิวนาน 2 ชั่วโมงจะปล่อยสารไดออกซินในระดับเท่ากับบุหรี่ 220,000 มวน” ดังนั้นผู้เขียนจึงค้นหาว่า Robin des Bois คือกลุ่มอะไรโดยใช้ Google search จึงรู้ที่มาของข้อมูลที่นักบรรยายไทยอ้างถึงในการบรรยายต่างๆ จนเป็นข่าวให้นักศึกษาไทยตามมหาวิทยาลัยทั่วไป copy and paste ในรายงานที่เกี่ยวกับสารพิษในอาหารในประเทศไทยส่งอาจารย์ของเขา Robin des Bois นั้นเป็นเอ็นจีโอหรือองค์กรเอกชนในประเทศฝรั่งเศส มีวัตถุประสงค์ตามที่จ่าหัวไว้ในเว็บ http://www.robindesbois.org/english/robin_english.html เป็นภาษาอังกฤษว่า Non Governmental Organization for the Protection of Man and the Environment ซึ่งเมื่อดูใน wikipedia.com แล้วก็เข้าใจว่าพยายามรณรงค์ทำตนเองให้มีความคล้ายกับ Robin Hood ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค(เสียดายที่ผู้เขียนอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก จึงอ่านข้อมูลใน wikipedia ไม่ได้) แต่เมื่ออ่านเว็บของกลุ่มนี้ที่เป็นภาษาอังกฤษในเรื่องของไดออกซินแล้ว ก็พบว่า ได้ออกซินเป็นกลุ่มสารพิษที่กลุ่มเอ็นจีโอนี้สนใจว่าก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตัวเนื้อข่าวจริงๆที่แพทย์ไทยท่านหนึ่งกล่าวบรรยายตามที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับการปนเปื้อนของไดออกซินในอาหารนั้นมาจาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/health/3106039.stm ซึ่งมีข้อมูลแปลได้ความว่า กลุ่มเอ็นจีโอนี้วัดปริมาณไดออกซินที่ปล่อยออกมาจากการปิ้งเนื้อสเต็ก (เข้าใจว่าเป็นเนื้อวัว) ขนาดใหญ่ 4 ชิ้น ไก่งวงอีก 4 ชิ้น และไส้กรอกอีกแปดท่อนใหญ่ ๆ โดยการปิ้งนั้นใช้เวลานาน 2 ชั่วโมง จึงสามารถตรวจวัดการปล่อยไดออกซินสะสมได้ 12-22 นาโนกรัม ซึ่งเข้าใจว่าคำนวณมาจากความเข้มข้นของไดออกซินที่ตรวจวัดในอากาศได้ในระดับ 0.6-0.7 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในข่าวกล่าวว่าความเข้มข้นนี้สูงเป็นเจ็ดเท่าของความเข้มข้นไดออกซินที่ยอมให้ปล่อยออกจากปล่องควันของเตาเผาซึ่งน่าจะรวมถึงเมรุเผาศพด้วย ในสามัญสำนึกของคนไทย เราคงไม่ปิ้งย่างอาหารนานถึง 2 ชั่วโมงแน่ แต่ถึงจะทำ ชิ้นอาหารนั้นก็คงดำเกรียมจนไม่น่าอร่อย และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ว่า การเผาศพนั้นจะมีการปล่อยไดออกซินออกมาจากเมรุเผาศพ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเปรียบเทียบกันได้ว่า เนื้อสัตว์หรือเนื้อศพน่าจะมีการถูกเปลี่ยนไปเป็นไดออกซินได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าความเข้มข้นนั้นอยู่ในขั้นก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ ซึ่งต้องดูจากว่าร่างกายเราทำลายมันทิ้งได้หรือไม่ด้วย ข้อมูลของไดออกซินนั้นสามารถหาอ่านได้ทั่วไปทั้งใน wikipedia และเว็บอื่นๆ ทั้งไทยและเทศ สารพิษนี้มีสูตรโมเลกุลหลักง่าย ๆ แต่ชนิดที่เรามักสนใจนั้นอยู่ในรูปของอนุพันธ์ที่มีธาตุคลอรีนไปเกี่ยวข้อง เพราะปัญหาของไดออกซินนั้นเป็นข่าวใหญ่เมื่ออนุพันธ์ไดออกซินที่มีคลอรีนก่อให้เกิดมะเร็งแก่ทหารอเมริกัน ที่มีส่วนในการโปรยสารเอเจนต์ออเรนจ์ (agent orange) ลงไปทำลายป่าทึบในเวียดนามให้โปร่งเพื่อจะได้เล็งยิงเวียดกงในป่าได้ง่ายๆ ผลกรรมตามสนองให้ทหารที่ร่วมในกิจกรรมก่อเวรนั้นเป็นมะเร็งเสียหลายคนเนื่องจากไดออกซินที่ชื่อ ทีซีดีดี (TCDD) ซึ่งปนเปื้อนในเอเจนต์ออเรนจ์ ดังนั้นจึงมีคำถามที่ว่า ไดออกซิน ที่ปล่อยออกมาจากอาหารปิ้งย่างนั้นร้ายแรงเท่าไดออกซินที่มาจากเอเจนต์ออเรนจ์หรือไม่ ทั้งนี้เพราะในรายงานข่าวมิได้บอกว่าเป็นไดออกซินชนิดใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสารพิษจากอาหารปิ้งย่างซึ่งเป็นตัวแม่มากกว่าไดออกซินคือ PAH (polycyclic aromatic hydrocarbons) นั้นมีสมาชิกมากเป็นร้อย ๆ ชนิด และมีสมาชิกบางชนิดเท่านั้นที่ก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ถ้ารับในปริมาณสูงเป็นประจำ ซึ่งไดออกซินก็คงเป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ มีสมาชิกมากมาย ดังนั้นในการรับไดออกซินเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย ร่างกายย่อมทำลายได้ถ้าเรามีอวัยวะภายในที่แข็งแรงพอ การหลีกเลี่ยงไม่รับสารพิษจากการปิ้งย่างอาหารนั้น ผู้เขียนเคยเห็นกลวิธีหนึ่งที่ผู้มีอาชีพขายอาหารแบบรถเข็น ปิ้งไก่ย่าง หมูปิ้ง บนบาทวิถีมีวิธีเร่งการปิ้งและกำจัดควันไม่ให้ตัวผู้ปิ้งต้องสูดดมด้วยการดูดควันจากการปิ้งไปให้ไกลตัวด้วยพัดลมหม้อน้ำรถยนต์เก่าต่อเข้ากับแบตเตอรี่รถยนต์ (เก่า) พ่นเป็นลำควันพุ่งเข้าบ้านเรือนข้างทาง ซึ่งนับว่าเป็นการปัดสวะสารพิษไปให้คนอื่นอย่างแท้จริง นั่นคือวิธีบ้านๆ ของคนขาย ส่วนคนซื้อนั้นก็สามารถใช้วิธีบ้านๆ ป้องกันสารพิษกลุ่มนี้ได้ โดยใช้หลักการไม่กินอาหารซ้ำซาก พยายามกินผักผลไม้ให้มากพอเพราะมีข้อมูลงานวิจัยมากพอควรที่ยืนยันว่าสารกลุ่ม flavonoids ในพืชผักผลไม้นั้นน่าจะลดความเสี่ยงต่อพิษร้ายของไดออกซินในอาหาร(ถ้ามี) ได้ ส่วนการแนะนำให้เลิกกินอาหารปิ้งย่างรมควันนั้น ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง เพราะมันเป็นวัฒนธรรมการกินที่อยู่คู่ชาติไทยมานานเกินจะถอนได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point