ฉบับที่ 115 กระแสต่างแดน

เบื้องหลังของถูก สถานีโทรทัศน์ NDR ของเยอรมนี เปิดโปงเบื้องหลังที่มาของเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KIK ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปในยุโรป ว่าเอาเปรียบพนักงานอย่างไม่น่าให้อภัยผู้ชมกว่า 4 ล้านคนในเยอรมนีได้รู้พร้อมๆ กันว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสามารถซื้อเสื้อยืดได้ในราคา 3 ยูโร(120 บาท) หรือกางเกงขาสั้นในราคา 4 ยูโร(160 บาท) ก็คือการที่บริษัทกดค่าแรงพนักงานให้ต่ำสุดๆ ข่าวบอกว่าพนักงานในเยอรมนีได้ค่าจ้างน้อยกว่า 3 ยูโร ต่อชั่วโมง (เบอร์เกอร์บิ๊กแมคที่นั่นราคาชิ้นละ 4.6 ยูโร)  นี่ยังไม่พูดถึงคนงานในประเทศกำลังพัฒนาที่ทำงานในโรงงานที่ KIK จ้างเป็นผู้ผลิต ที่มีรายได้คิดเป็น 0.5% ของราคาสินค้าเท่านั้น เมื่อเรื่องแดงเสียขนาดนั้น KIK จึงออกมายอมรับผิดและขอโทษต่อสังคม รวมถึงตั้งตำแหน่งผอ.ฝ่ายการสื่อสารคนใหม่ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ   แต่ถึงกระนั้นการขุดคุ้ยก็ยังดำเนินต่อไป เพื่อพิสูจน์ “ข่าวลือ” ต่างๆ ของ KIK ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนีและมีร้านทั่วยุโรปกว่า 3,000 สาขา เขาลือกันว่า KIK ไม่จ้างพนักงานประจำ ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีการตั้งสหภาพแรงงาน อีกทั้งยังมีมาตรการการรับคนเข้าทำงานที่ค่อนข้างอุกอาจ ตั้งแต่การให้ผู้สมัครเปิดเผยข้อมูลเรื่องความเจ็บป่วย ความพิการโดยละเอียด รวมถึงคอยตามเช็คเครดิตพนักงานและถ้าสืบรู้ว่าว่าใครเป็นหนี้ก็จะไล่ออก.. โหดซะ Clean Clothes Campaign องค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลในการผลิตเสื้อผ้า บอกว่าถ้าดูจากราคาแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการเอาเปรียบแรงงาน เขายืนยันว่า “ราคาต่ำสุดๆ” นั้นไม่ใช่ทางออก และเสนอให้บริษัทหันมาสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคด้วยคุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้นดูบ้าง รับรองว่างานนี้วินวินกันทุกฝ่าย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  คนเยอรมันเมินเปย์ทีวี ธุรกิจโทรทัศน์แบบเสียเงินดู ดูเหมือนจะไม่รุ่งในประเทศเยอรมนี เพราะจนป่านนี้บริษัทสกายดอยท์ชแลนด์ ยังคงมียอดสมาชิกไม่ถึงร้อยละ 10 ของครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส  มีสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นสมาชิกบริการทีวีดังกล่าวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 นักวิเคราะห์เขาบอกว่าน่าจะเป็นเพราะคนเยอรมันรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของพวกเขาที่จะได้ดูทีวีดีๆ ที่รัฐจะต้องจัดหามาให้ เพราะเก็บค่าธรรมเนียมปีละประมาณ 8,000 บาทไปแล้ว(ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากผู้มีเครื่องรับโทรทัศน์ เพื่อที่สถานีจะได้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณามากเกินไป) คนเยอรมันได้ดูฟรีทีวีถึง 20 ช่อง ในขณะที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวปีละ 7,000 บาท และ 4,600 บาท ตามลำดับ มีทีวีฟรีให้ดูอยู่ไม่เกิน 5 ช่อง ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้สองประเทศนี้มีการตอบรับต่อเปย์ทีวีมากกว่า   สกายดอยท์ชแลนด์ ซึ่งอุตสาห์เปลี่ยนชื่อจาก “พรีเมียร์” มาครั้งหนึ่งแล้ว จึงรู้สึกปวดใจอย่างมากที่ขณะนี้มียอดสมาชิกอยู่เพียง 2.4 ล้านคน และจากการคาดการณ์ที่เข้าข้างตัวเองสุดๆ ก็พบว่าจะยังต้องขาดทุนต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทั้งๆ ที่สถิติเมื่อปลายปี 2008 ระบุว่าเยอรมนีเป็นตลาดเปย์ทีวีที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ด้วยฐานลูกค้ากว่า 37 ล้านครัวเรือนที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ อย่างว่า ถ้ามีของดีให้ดูอยู่แล้วเป็นเราก็คงไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เพราะบางทีอุตส่าห์ควักกระเป๋าทุ่มทุนแล้วเราก็ยังอาจต้องมาดูโฆษณาอีกอยู่ดี ... ชิมิ ชิมิ--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เราไม่ยอมให้ใครเล็กกว่า เพิ่งจะรู้ว่าธุรกิจหมูกระเป๋า หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามไมโครพิก “Micro Pig” นี่เขาก็มีการแข่งขันดุเดือดเหมือนกัน เจ้าหมูน้อยที่มีสนนราคาอยู่ที่ตัวละประมาณ 700 ปอนด์ หรือ 34,000 บาทนี้ เป็นของเล่นสุดฮิพของเหล่าเซเลบทั้งหลาย (ข่าวว่าครอบครัวเบคแฮมนักฟุตบอลคนดังก็เลี้ยง) โฆษณาของบริษัทลิ้ตเติ้ลพิกฟาร์มในนิตยสาร บรรยายสรรพคุณของหมูน้อยจากฟาร์มของตนเองว่าพวกมันเลี้ยงแสนง่าย ตัวเล็กสะดวกพกพาสุดๆ ขนาดไม่เกินแก้วเบียร์ปริมาตรหนึ่งไพนท์ พร้อมกับมีรูปเจ้าหมูกับแก้วเบียร์เปรียบเทียบกันด้วย สมาคมผู้เลี้ยงหมูพันธ์คูนคูนเห็นแล้วรับไม่ได้  ออกมาร้องเรียนต่อองค์การมาตรฐานโฆษณาของอังกฤษว่าโฆษณาดังกล่าวนั้นมันไม่จริ๊งไม่จริง ไม่มีหมูที่ไหนตัวเล็กขนาดนั้น นอกเสียจากมันจะเป็นพันธุ์คูนคูน และหมูของลิ้ตเติ้ลพิกก็ไม่ใช่พันธุ์ที่ว่าเสียด้วย องค์การดังกล่าวตรวจสอบแล้วฟันธงให้แบนโฆษณาที่ว่านั้นทันทีฐานหลอกลวงผู้บริโภค ... ดีนะเนี่ยที่มีตัวจริงเขาออกมายืนยัน ไม่งั้นคงได้เห็นไฮโซอังกฤษพกหมูกระสอบแทนหมูกระเป๋ากันบ้าง  --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เปิดให้หมด ลดเรื่องฟ้อง งานวิจัยของสหรัฐฯ พบว่าการเปิดเผยข้อมูลความผิดพลาดทางการแพทย์นั้น ไม่ได้ทำให้คนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการมีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างที่ผู้ให้บริการทางการแพทย์กังวล ตรงกันข้าม มันช่วยลดเรื่องร้องเรียนและลดค่าชดเชยลงด้วย นี่คือผลจากการสำรวจระบบสุขภาพของรัฐมิชิแกน ก่อนหน้านี้มิชิแกนก็ใช้ระบบเหมือนที่อื่นทั่วไป คือเมื่อเกิดความเสียหายจากการรับบริการทางแพทย์ขึ้นผู้เสียหายก็จะเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือชดเชย ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไปฟ้องร้องต่อศาล จนกระทั่งเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ระบบสุขภาพของมิชิแกนหันมาใช้รูปแบบการจัดการเรื่องนี้ใหม่ โดยเน้นที่การยอมรับความผิดทั้งหมดของแพทย์และโรงพยาบาล มีการขอโทษ และจ่ายค่าชดเชยให้ แนวๆเดียวกับขอนแก่นบ้านเรา งานวิจัยครั้งนี้พบว่าตั้งแต่มีระบบ “เปิดหมด” นั้น จำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าครึ่ง การจ่ายค่าชดเชยก็ลดลง และจำนวนเงินชดเชยโดยเฉลี่ยต่อกรณีก็ลดลงจาก 400,000 เหรียญ เหลือ 225,000 เหรียญ ที่สำคัญกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาน้อยกว่าเดิมถึง 5 เดือนเลยทีเดียว ข่าวบอกว่ารัฐอื่นๆ เห็นแล้วเตรียมตัวจะนำไปใช้บ้าง อีกไม่นานมิชิแกนโมเดลคงจะเป็นที่แพร่หลายในอเมริกา--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- อดวันนี้เพื่อวันหน้านักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในปี ค.ศ. 2050 นั้นประชากรบนโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคน และมีงานวิจัย 21 ชิ้น ที่ยืนยันว่าเราไม่มีที่ดินเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนจำนวนนั้นอย่างแน่นอน อย่าว่าแต่ในอนาคตเลย ทุกวันนี้ 1 ใน 7 ของประชากรโลกก็ได้รับโปรตีนและพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว แล้วต้องทำอย่างไร เราถึงจะได้ไปต่อ ... นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าต่อไปคงจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเนื้อสัตว์สังเคราะห์ หรือแม้แต่ “เนื้อสัตว์นาโน” ขึ้นมา เทคโนโลยีใหม่ที่ว่านั้นจะต้องไม่เป็นพิษภัยต่อโลก และการผลิตอาหารจะต้องไม่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้าแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งที่เขาอยากให้ช่วยกันลงมือทำเดี๋ยวนี้คือการลดขยะอาหารลงให้ได้ร้อยละ 30 เอ้าพี่น้องครับ บ้านใครบ้านมันลงมือได้เลย---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >