ฉบับที่ 230 “หมึกแห้งกับโซเดียมและโลหะหนัก”

        เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแห้ง ผู้บริโภคหลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม โดยเฉพาะ(ปลา)หมึกแห้ง ที่เมื่อใดทอดหมึกแห้ง กลิ่นหอมรัญจวนก็ฟุ้งไปไกลถึงข้างบ้าน ไม่ว่าจะทอดหมึกแห้งกินกับข้าวต้ม หรือข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน หรือจะเป็นหมึกทอดเคลือบน้ำตาล ต้มหัวไชเท้าหมูสามชั้น ซดน้ำร้อน ๆ ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน         หมึกแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ส่วนใหญ่ทำจากหมึกกล้วย การตากแห้งหมึก เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บเอาหมึกไว้รับประทานได้นานๆ  เราจะพบหมึกแห้งวางขายทั่วไปตามท้องตลาด  ตามร้านขายของฝากในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมง ซึ่งของฝากจำพวกอาหารทะเลแห้งนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นกัน         ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้งส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือน มกราคม 2553 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) และเพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้ง จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา  ตรวจการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid)  สรุปผลการทดสอบ    - ผลทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม  ผลทดสอบการปนเปื้อนของปรอท         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล         ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณปรอทที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.009 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน          ผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่ว          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณตะกั่ว น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.015 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.059 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน  ผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม                   ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อ 1) ได้กำหนดให้ตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกกล้วย  ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานโคเดกซ์ Codex)          ผลการทดสอบหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น  พบว่า มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์ข้อกำหนด และ มี 7 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์ข้อกำหนด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้     - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์ จำนวน 6 ตัวอย่าง  ได้แก่                 1) หมึกแห้ง จาก ตลาดสี่มุมเมือง ร้าน เจ๊ปู (ปลาเค็ม) ซอย 5            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.104  มก./กก.        2) หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.109  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.264  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดสะพานใหม่ (ยิ่งเจริญ) ร้านวิจิตร            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.583  มก./กก.                        5) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ LAZADA            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.699  มก./กก.        และ          6) หมึกแห้ง จาก ตลาด อตก. ร้านเหมียวกุ้งแห้งปลาเค็ม ห้อง 3/49            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.869  มก./กก.  - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่        1)  หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.003  มก./กก.        2)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.393  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.537  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.006  มก./กก.        5) หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.303  มก./กก.         6)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.432  มก./กก.และ        7) หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.872  มก./กก. - ผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา        จากผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว - ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร        จากผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid) ได้แก่ Cyfluthrin, Cypermethrin, Deltamethrin, Fenvalerate, Permethrin, Bifenthrin และ Lambda-cyhalothrin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น         ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียมในหมึกแห้ง        นอกจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างหมึกแห้งแล้ว หากสังเกตปริมาณโซเดียมจากปลาหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่า        ตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 635.8 มิลลิกรัม / 100 กรัม        ส่วนตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,739.94 มิลลิกรัม / 100 กรัม เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         จากผลการทดสอบด้านบนแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างของหมึกแห้งที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น มีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในปริมาณที่ต่างกัน แม้ว่าการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทนั้นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด แต่ยังคงมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในตัวอย่างหมึกแห้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการตกค้างในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ คือ ปริมาณเกิน 2 มก./กก.         อย่างไรก็ตามอาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ เพราะจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานในการไปตรวจสอบหาแหล่งที่มาของตัวอย่างปลาหมึกทั้งหลายที่มีผลการตกค้างของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561)- แคดเมียม คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/cadmium-2.pdf)- อะฟลาท็อกซิน คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf)- กินหมึกต้องรู้! รู้ลึกเรื่องปลาหมึกแห้ง ม้วนเดียวจบ! (https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-make-dried-squid)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point