ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”

        ในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลเนื่องจากความขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มักง่ายนำวัตถุอันตรายมาใช้กับอาหารเพื่อหวังผลในการป้องกันการเน่าเสียโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค         อาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักพบการปนเปื้อนฟอร์มาลินคือ อาหารทะเล ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง (ร้อยละ 5.02) โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ  1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หมึกกรอบ จำนวน  14 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง  แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ        จาก “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ        1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing           2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด        3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตารางผลทดสอบ        ผลทดสอบสารฟอร์มาลินในหมึกกรอบจำนวน 14 ตัวอย่าง        เก็บตัวอย่างเดือน เมษายน 2566        ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น         วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน        1.ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก        2.ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ        3.กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้าขอบคุณข้อมูลจากฟอร์มาลิน-ฟอร์มัลดีไฮด์ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)ขอบคุณข้อมูลจากคลิป สูตรปลาหมึกกรอบจากปลาหมึกแห้ง ทำเองไม่ง้อร้าน (trueid.net)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 “หมึกแห้งกับโซเดียมและโลหะหนัก”

        เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแห้ง ผู้บริโภคหลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม โดยเฉพาะ(ปลา)หมึกแห้ง ที่เมื่อใดทอดหมึกแห้ง กลิ่นหอมรัญจวนก็ฟุ้งไปไกลถึงข้างบ้าน ไม่ว่าจะทอดหมึกแห้งกินกับข้าวต้ม หรือข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน หรือจะเป็นหมึกทอดเคลือบน้ำตาล ต้มหัวไชเท้าหมูสามชั้น ซดน้ำร้อน ๆ ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน         หมึกแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ส่วนใหญ่ทำจากหมึกกล้วย การตากแห้งหมึก เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บเอาหมึกไว้รับประทานได้นานๆ  เราจะพบหมึกแห้งวางขายทั่วไปตามท้องตลาด  ตามร้านขายของฝากในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมง ซึ่งของฝากจำพวกอาหารทะเลแห้งนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นกัน         ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้งส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือน มกราคม 2553 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) และเพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้ง จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา  ตรวจการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid)  สรุปผลการทดสอบ    - ผลทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม  ผลทดสอบการปนเปื้อนของปรอท         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล         ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณปรอทที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.009 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน          ผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่ว          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณตะกั่ว น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.015 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.059 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน  ผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม                   ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อ 1) ได้กำหนดให้ตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกกล้วย  ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานโคเดกซ์ Codex)          ผลการทดสอบหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น  พบว่า มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์ข้อกำหนด และ มี 7 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์ข้อกำหนด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้     - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์ จำนวน 6 ตัวอย่าง  ได้แก่                 1) หมึกแห้ง จาก ตลาดสี่มุมเมือง ร้าน เจ๊ปู (ปลาเค็ม) ซอย 5            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.104  มก./กก.        2) หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.109  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.264  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดสะพานใหม่ (ยิ่งเจริญ) ร้านวิจิตร            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.583  มก./กก.                        5) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ LAZADA            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.699  มก./กก.        และ          6) หมึกแห้ง จาก ตลาด อตก. ร้านเหมียวกุ้งแห้งปลาเค็ม ห้อง 3/49            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.869  มก./กก.  - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่        1)  หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.003  มก./กก.        2)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.393  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.537  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.006  มก./กก.        5) หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.303  มก./กก.         6)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.432  มก./กก.และ        7) หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.872  มก./กก. - ผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา        จากผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว - ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร        จากผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid) ได้แก่ Cyfluthrin, Cypermethrin, Deltamethrin, Fenvalerate, Permethrin, Bifenthrin และ Lambda-cyhalothrin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น         ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียมในหมึกแห้ง        นอกจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างหมึกแห้งแล้ว หากสังเกตปริมาณโซเดียมจากปลาหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่า        ตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 635.8 มิลลิกรัม / 100 กรัม        ส่วนตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,739.94 มิลลิกรัม / 100 กรัม เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         จากผลการทดสอบด้านบนแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างของหมึกแห้งที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น มีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในปริมาณที่ต่างกัน แม้ว่าการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทนั้นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด แต่ยังคงมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในตัวอย่างหมึกแห้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการตกค้างในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ คือ ปริมาณเกิน 2 มก./กก.         อย่างไรก็ตามอาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ เพราะจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานในการไปตรวจสอบหาแหล่งที่มาของตัวอย่างปลาหมึกทั้งหลายที่มีผลการตกค้างของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561)- แคดเมียม คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/cadmium-2.pdf)- อะฟลาท็อกซิน คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf)- กินหมึกต้องรู้! รู้ลึกเรื่องปลาหมึกแห้ง ม้วนเดียวจบ! (https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-make-dried-squid)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 หมึกอวบอิ่มข้าว

ฉัน  อยู่ในภาวะตีบตันคำพูดกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว   ทุกอย่างดูกลับตาลปัตรไปหมด  และดูเหมือนว่า การขีดวงเวลาแห่งการท่องไปในโลกแห่งข่าวสารควรรัดกุมมากขึ้น เช็คข่าวกันหลายเที่ยวให้แน่ใจก่อนแชร์  และในขณะเดียวกัน  การแสวงหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็ต้องเปิดกว้างและรับรู้มุมมองของคนที่อยู่นอกเมืองไทยได้อย่างรอบด้านเพื่อที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ “ความเป็นไทย” ได้อย่างกระจ่างชัด และจนตอนนี้ที่ฉันเริ่มป่วยไข้ ฉันสงสัยว่าการที่ฉันหมดเรี่ยวหมดแรง และหนาวสั่นสะเทิ้มไปทั้งตัวตลอดเวลามันเกิดจากอากาศหนาวเย็นจัดผิดปกติติดต่อกันหลายวัน  หรือบรรยากาศรอบกายตัวที่เย็นเยียบวิ่งเข้าจับขั้วหัวใจฉันกันแน่ที่ทำเอาฉันป่วยไข้ ดูเหมือนร่างกายฉันอย่างป่วยไข้ไปเสียนานเพื่อที่จะได้ผ่านการรับรู้ถึงสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ดูเหมือนมันไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลย แต่นั่นแหละ  สุดท้ายร่างกายก็ไม่ยอมให้ป่วยไข้ได้ดั่งใจนานอย่างที่คิด ฉันยังต้องลุกขึ้นมาเปิดร้าน พูดคุยกับผู้คน ตามเช็คข่าว ดูข่าว  และใช้ข่าว ในประเทศไทยที่ไทยมาก แบบที่ฉันเคยอยู่มานานชั่วนาตาปี แต่ดูเหมือนตัวเองจะแปลกแยกออกจากภาพเหตุการณ์ที่บรรดาสื่อจากฟรีทีวี อินเตอร์เน็ต รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่ร้านรายงานข่าว เอาเถอะในเมื่อยังต้องมีชีวิต ต้องกิน ต้องหายใจและดำเนินชีวิตไปตามปกติ การทำอาหารกินด้วยวิธีที่แปลกๆ ไปจากเดิมบ้าง ดูจะเป็นการคลายเครียดที่ดีไม่มากไม่น้อย   เอาละ มาทำหมึกอวบอิ่มข้าวกันดีกว่า เครื่องปรุง ปลาหมึกกล้วย 2 – 3 ตัว , ข้าวสวยหอมมะลิ 1 จาน ,  พริกแกงเผ็ด 1 ช้อน , ถั่วพูซอยหนา 3 ซม.  ½  จาน  , กระชายซอยละเอียด  1 หยิบมือ ,  ใบมะกรูด 3 – 4 ใบ ซอยละเอียด , น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ ,  น้ำปลา – น้ำตาลทราย   ตามชอบ , วิธีทำ 1.ตั้งกระทะด้วยไฟกลาง เติมน้ำมันแล้วตักพริกแกงลงไปผัดให้หอม  แล้วเทข้าวสวยลงผัด ปรุงรสด้วยน้ำตาลและน้ำปลา  ผัดข้าวพริกแกงเข้ากันกับจนข้าวแห้งดีแล้ว จึงเติมกระชายและถั่วพูลงแล้วปิดเตา   เคล้าข้าวผัดเบาๆ ให้ถั่วพูและกระชายกระจายให้ทั่ว 2.ล้างปลาหมึกโดยลอกผิวสีเข็มออก ควักไส้ และแกนกลางตัวออก  อย่าลืมผ่าและปากปลาหมึกที่หนวดออกด้วย  จากนั้นนำปลาหมึกมาขยำกับเกลือแล้วล้างออก 3 – 4 ครั้ง  แล้วใช้มีดบั้ง 2 ข้างลำตัวปลาหมึกถี่ๆ 3.กรอกข้าวผัดที่เตรียมไว้ใส่ปลาหมึกให้แน่น จากนั้นนำไปวางเรียงบนกระทะเทฟล่อน  นำไปตั้งไฟปานกลางค่อนข้างแรง 5 นาที ก็ยกลงได้   เคล็ดไม่ลับ 1.หากชอบข้าวผัดพริกแกงใส่ไข่ ก็เติมไข่ลงไปหลังจากใส่ข้าว   ถ้าชอบพริกไทยสดเม็ดๆ เพื่อเพิ่มความเผ็ดร้อน ก็ใส่ลงไปได้ตามชอบ 2.ปลาหมึกสุกง่าย ไม่ชอบไฟและความร้อนมากๆ   หากโดนต้มหรือย่างนานเกินไปเนื้อจะเหนียวเกินไป   ถ้าปลาหมึกกล้วยที่ซื้อมามีไข่ ก็เอาไข่มันมาผัดกับพริกแกงก่อนใส่ข้าวสวยก็อร่อยเลยแหละค่ะ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 เครื่องพิมพ์ all-in-one

สำหรับใครที่อยากมีเครื่องพิมพ์สำหรับพิมพ์งานนำเสนอที่ต้องใช้สี สแกนหรือทำสำเนาเอกสาร หรือสั่งพิมพ์รูปถ่ายจากไฟล์ออกมาติดฝาบ้านโดยไม่หวั่นต่อค่าหมึกหรือค่ากระดาษ ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลการทดสอบเครื่องพิมพ์แบบออล-อิน-วัน มาฝาก องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียและองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำการทดสอบเครื่องพิมพ์ประเภทนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเสนอเพียง 22 รุ่นที่ได้คะแนนรวมมากกว่า 70 คะแนน ทีมงานให้คะแนนเครื่องพิมพ์เหล่านี้จากคุณภาพงานพิมพ์ สแกน ทำสำเนา รวมถึงการใช้งานและการเชื่อมต่อกับเครือข่ายด้วย พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูเครื่องพิมพ์ที่คุณสนใจ ย้ำอีกครั้งว่าคุณต้องมั่นใจว่าจะใช้มันอย่างคุ้มค่า เพราะถ้าทิ้งไว้นานโดยไม่ใช้ หัวฉีดอาจอุดตัน เป็นภาระให้คุณต้องยกไปซ่อมอีก เช่นเคยเราพบว่าของดีที่สุดไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด การทดสอบครั้งนี้พบว่าสามรุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดมีสนนราคาตั้งแต่ 3,000 ไปจนถึง 14,590 บาท -------------------------------------------------------------------------------คะแนนรวม 100 แต้มแบ่งออกเป็น คุณภาพงานพิมพ์และเวลาที่ใช้* (ร้อยละ 45) การสแกน (ร้อยละ 15) การทำสำเนา (ร้อยละ 15) ความสะดวกในการใช้งาน (ร้อยละ 20) และการเชื่อมต่อ (ร้อยละ 5)------------------------------------------------------------------------------- คุณภาพงานพิมพ์ วัดจากการสั่งพิมพ์เอกสารข้อความขาวดำ ตารางแสดงสี บนกระดาษธรรมดา และเอกสารที่มีข้อความและภาพประกอบสี และรูปถ่ายความละเอียดสูง (ขนาดภาพ 8x10 นิ้ว) บนกระดาษคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังดูความทนทานต่อความชื้นด้วยการใช้ปากกาไฮไลท์ป้ายบนเอกสาร และใช้น้ำหยดลงบนภาพถ่ายหลัง 24 ชั่วโมง                                                                 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง

ปลาหมึกแห้ง จัดเป็นอาหารแปรรูปที่ขายดีอันดับหนึ่ง หาซื้อไม่ยากจะเอามาทำอะไรกินก็ง่ายจะทอดหรือย่างก็อร่อย ปลาหมึกที่นำมาทำปลาหมึกแห้งมีหลายชนิด แต่ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ  ปลาหมึกกล้วย และปลาหมึกสาย ผลการทดสอบที่นำเสนอนี้เป็นผลจากการทดสอบตัวอย่างอาหารจำนวน 8 ตัวอย่างจาก 8 จังหวัด ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังฯ โดยเก็บตัวอย่างในเดือนมกราคม 2553 ครับ   ปลาหมึกแห้งที่เก็บตัวอย่างนี้เรานำมาทดสอบหาสิ่งปนเปื้อนในอาหาร 3 กลุ่ม คือ สารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซิน ซึ่งอาจจะมาจากการเก็บรักษาที่ไม่สะอาด โลหะหนักในอาหาร ซึ่งมักปนเปื้อนในอาหารทะเลและสารปรุงแต่งรส สีผสมอาหาร และสารเคมีทางการเกษตรที่พ่อค้า-แม่ค้าบางรายมักฉีดพ้นเพื่อป้องกันแมลงมาตอมปลาหมึกแห้งในร้านครับ   ผลการทดสอบ - ข่าวดี ไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา-อะฟลาท็อกซินในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ (8 ตัวอย่าง) - ข่าวร้าย พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียมในทุกตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของแคดเมียมที่พบอยู่ที่ 3.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ-CODEX อยู่ที่ 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และหากนำค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดจะพบว่ามีตัวอย่างที่พบค่าแคดเมียมเกินกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ต้อย ซึ่งเก็บจากตลาดสดมหาสารคาม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 13 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (2) ตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม ซึ่งเก็บตัวอย่างจากร้านพรพัฒนา จังหวัดสมุทรสงคราม พบแคดเมียมที่ปริมาณ 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (3) ตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบแคดเมียมที่ปริมาณ 3.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (4) ตัวอย่างจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่น พบแคดเมียมที่ปริมาณ 2.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม -พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทตะกั่วในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณตะกั่วที่พบเท่ากับ 0.137 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยมีปริมาณตะกั่วสูงสุดที่พบในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยาที่ปริมาณ 0.46 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทในทุกตัวอย่าง (8 ตัวอย่าง) คิดเป็นร้อยละ 100 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตามไม่มีตัวอย่างใดที่มีการปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) กำหนดที่ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล โดยมีปริมาณปรอทที่พบสูงสุดในตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสดเทศบาล 3 จังหวัดขอนแก่นที่ปริมาณ 0.06 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (ยาฆ่าแมลง) จำนวน 5 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 62 โดยพบสารตกค้างชนิดเพอร์เมทริน (Permethrin) ในตัวอย่างจากตลาดสดตำบลจำปาหวาย จังหวัดพะเยา และ ตัวอย่างจากผู้ผลิต บมจ.สยามแมคโคร กรุงเทพฯ โดยมีปริมาณที่พบเท่ากับ 0.18 และ 0.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังพบสารตกค้างชนิดไซไฟทริน (Cyflythrin) ในตัวอย่างจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงครามและตัวอย่างจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ที่ปริมาณ 0.12 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตามลำดับ ท้ายที่สุด พบสารพิษตกค้างชนิดไบเฟนทริน (Bifenthrin) ในตัวอย่างเก็บจากร้านป้าอร ตลาดสดละงู จังหวัดสตูล ที่ปริมาณ 0.03 มิลลิกรัม/กิโลกรัม - พบการปนเปื้อนของสารตกค้างทางการเกษตรประเภทคาเบนดาร์ซิม (ยากันรา) ในตัวอย่างจำนวน 3 ตัวอย่างจาก 8 ตัวอย่างที่ทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 37.5 โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบเท่ากับ 0.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดของสารเคมีที่พบคือ 0.44 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างที่เก็บในตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่   ข้อสังเกต- ตัวอย่างที่เก็บจากตลาดเมืองใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตัวอย่างที่เก็บจากห้างแมคโคร กรุงเทพฯ พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียม สารตกค้างทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ และยากันรา-คาร์เบนดาซิมในปริมาณที่ค่อนข้างสูงและอาจก่อให้เกิดอันตรายหากมีการบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานได้ - ตัวอย่างที่เก็บจากร้านเจ๊ดม จังหวัดสมุทรสงคราม พบการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณที่สูงเกินกว่าที่มาตรฐานอาหารสากล (CODEX) กำหนด (2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) โดยพบในปริมาณที่สูงถึง 4.77 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทในระดับพอสมควร อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ในตัวอย่างอีกด้วย - ตัวอย่างกว่าร้อยละ 90 ที่ทำการทดสอบไม่ระบุยี่ห้อ ไม่ทราบผู้ผลิต และไม่ทราบวันผลิตและวันหมดอายุ ----------------------------------------------------------------------------------------------------- อันตรายของโลหะหนักที่ปนเปื้อนในปลาหมึกแห้งอันตรายจากแคดเมียม – ทำให้เกิดความเจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ทำให้กระดูกและไตพิการ อันตรายจากตะกั่ว – จะทำให้เบื่ออาหาร ปวดท้อง มือเท้าอ่อนแรง เลือกจาง ถ้าเป็นเด็กจะทำให้สมองพิการได้ การเรียนรู้ด้อยลงอันตรายจากปรอท – เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมไปถึงแขน ขา ริมฝีปากและเป็นอัมพาตในที่สุด ---------------------------------------------------------------------------------------------------- *จากผลทดสอบจะเห็นว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในปลาหมึกแห้งก็คือ การปนเปื้อนของแคดเมียม และสารเคมีในกลุ่มไพรีทอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีในกลุ่มยากำจัดศัตรูพืช การปนเปื้อนของแคดเมียมส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุผลเรื่องธรรมชาติความสะอาดในท้องทะเล เพราะมนุษย์เรานี่แหละที่ทำร้ายธรรมชาติชอบทิ้งสารเคมีลงในทะเล ถ้าอยากกินอาหารทะเลดีๆ ที่ปลอดภัยก็ต้องช่วยกันดูแลรักษาท้องทะเล ส่วนเรื่องสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ก็ต้องฝากวอนไปถึงพ่อค้า-แม่ค้าอย่าได้ใส่อะไรไม่พึ่งประสงค์ลงไปเลย ผู้บริโภคเราอยากรับประทานของสะอาดและมาจากธรรมชาติจริงๆ ครับ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนข้อ 4 (2) ระบุการปนเปื้อนของ อฟลาทอกซิน ได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมข้อ 4 (1) (ง) ระบุการปนเปื้อน ตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อ 4 (1) (ฉ) ระบุการปนเปื้อน ปรอท   ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และไม่เกิน 0.02 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารอื่น -ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่288  (พ.ศ. 2548) เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ไม่ระบุว่าอนุญาติให้มีการปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในอาหารทะเลแห้ง ดังนั้นจึงไม่ควรมีปนเปื้อนมาในอาหาร -ค่ามาตรฐานอาหารสากล (CODEX)กำหนดค่าการปนเปื้อนของ แคดเมียม ในอาหารประเภทปลาหมึก อยู่ที่ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(ผลรายงานเฉพาะตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์เท่านั้นโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี ม.ขอนแก่น คณะอุตสาหกรรมการเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.เชียงใหม่) วิธีการทำปลาหมึกแห้ง ไม่ยากแต่อาจจะมีหลายขั้นตอนอยู่สักหน่อย เอาปลาหมึกไปตากแดดแล้วก็คอยพลิกกลับตัวปลาหมึกเพื่อให้ปลาหมึกแห้งทั่วกัน ถ้าแดดดีๆ 20 -30 ชั่วโมงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ยังกินไม่ได้นะ ต้องนำปลาหมึกที่ตากแล้วนำมาวางซ้อนทับกันแล้วใช้ผ้าใบหรือพลาสติกคลุมไว้แล้วหาอะไรหนักๆ ทับไว้ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน ปลาหมึกจะยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะความชื้นเกิดขึ้นในเนื้อปลาหมึก หลังจากนั้นก็นำมาตากแดดให้แห้งอีกครั้งประมาณอีก 2-3 วัน ที่นี้ก็นำมาทำอาหารรับประทานได้แล้ว

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point