ฉบับที่ 219 ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง : มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร ชีวิตไม่ปลดปลงคงได้ดี

        ปกติแล้ว ละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้จะถูกมองว่า เป็นละครแนวที่ผู้ชมจะบันเทิงเริงรมย์เบาสมอง เสียจนบางคนเชื่อว่าไม่น่าจะมีอะไรสลักสำคัญอยู่ในนั้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแบบบางเบาสมองเช่นนี้ก็อาจจะไม่ได้ “ไร้สาระ” หากแต่ตั้งคำถามต่อความเป็นจริงและความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในสังคมไว้อย่างเข้มข้น แถมยังแยบยลยิ่งนัก        “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ก็เป็นหนึ่งในละครโรแมนติกคอมเมดี้แบบย้อนยุค ที่ลึกๆ ลงไปในเนื้อหาแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละคร “ทองเอก” กับ “ชบา” ซึ่งกว่าความรักที่แตกต่างกันทั้งในแง่ศักดิ์ชั้นและบุคลิกนิสัยจะลงเอยกันได้ในตอนจบ แก่นความคิดของเรื่องกลับดูร่วมสมัยที่แทบจะไม่ได้ย้อนยุคแต่อย่างใด        โดยเส้นเรื่องหลักอาศัยพล็อตที่ผูกย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ช่วงเวลานั้นทองเอกได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของหมอยาที่สืบทอดองค์ความรู้วิชาแพทย์แผนโบราณ และเมื่อยังเป็นเด็ก “พ่อหมอทองอิน” ปู่แท้ๆ ของเขา ก็เคยต้องรู้สึกเสียใจอย่างใหญ่หลวง เมื่อครั้งหนึ่งไม่สามารถยื้อชีวิตของเด็กน้อยคนหนึ่งที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และตายอยู่ในอ้อมแขนของตน ปู่ทองอินจึงหนีบาดแผลในอดีต และพาทองเอกที่เป็นกำพร้าพ่อแม่อพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่ชุมชนบ้านท่าโฉลง โดยไม่คิดรักษาโรคให้กับใครอีกเลย        ความเจ็บปวดและเสียใจกับอดีตดังกล่าว ส่งผลให้หมอทองอินสั่งห้ามทองเอกผู้เป็นหลานชายและเพื่อนๆ อย่าง “เปียก” และ “ตุ่น” ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับตำรับยารักษาโรคโดยเด็ดขาด เพราะลึกๆ แล้ว ปู่ก็กลัวว่าทองเอกจะต้องชะตากรรมเดียวกับที่ตนเคยเผชิญมา        แต่เพราะพระเอกหนุ่มมีความมุ่งมั่นว่า ความรู้เรื่องหมอยาเป็นคุณค่าที่สั่งสมมาในสายตระกูล และเป็นความหวังสำหรับบรรดา “ผู้ไข้” ทั้งหลายที่อยากจะหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ทองเอกจึงแอบร่ำเรียนวิชา และใช้ความรู้หมอยารักษาคนไข้ โดยไม่เลือกปฏิบัติว่า “ผู้ไข้” เหล่านั้นจะมาจากศักดิ์ชั้นสังกัดใดในสังคม        ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร “ผ่อง” สาวชาวบ้านที่เคยโฉมงาม แต่เพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราดจนมีสภาพไม่ต่างจากผีปอบ และถูก “แม่หมอผีมั่น” ผู้เป็นมารดาอัปเปหิไปอยู่กระท่อมกลางป่า หรือตัวละคร “คุณนายสายหยุด” แม่ของชบา และเป็นภรรยาของ “ท่านขุนกสิกรรมบำรุง” ที่ตัวคุณนายเองได้ป่วยเป็นโรคลมในท้องรักษาไม่หาย ไปจนกระทั่งตัวละคร “เสด็จพระองค์หญิง” ซึ่งป่วยเรื้อรังจนสุดความสามารถของหมอหลวงในวังที่จะรักษาให้หายขาด ทุกคนก็ล้วนกลายเป็น “ผู้ไข้” ที่ทองเอกรักษาให้โดยมิได้ตั้งแง่แต่อย่างใด        ด้วยเหตุที่ละครผูกเรื่องไว้เป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ อีกด้านหนึ่งของชีวิตการเป็นหมอยานั้น กว่าที่ทองเอกกับชบาจะลงเอยแฮปปี้เอนดิ้ง ทั้งคู่ก็ต้องฝ่าบททดสอบต่างๆ มากมาย ทั้งจาก “กล้า” ตัวละครหนุ่มหล่อและรวยที่เป็นคู่แข่งหัวใจของทองเอก ผ่องผู้เป็นคนรักเก่าของเขา และความขัดแย้งระหว่างทองเอกกับขุนกสิกรรมบำรุงผู้เป็นว่าที่พ่อตา ซึ่งกีดกันพระเอกนางเอกด้วยฐานานุรูปที่แตกต่างกัน        และดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เบื้องลึกระหว่างบรรทัดของละครแนวกุ๊กกิ๊กคอมเมดี้ หาใช่เป็นอันใดที่ “ไร้สาระ” ไม่ หากแต่คลุกเคล้าไว้ด้วยการตั้งคำถามต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้อย่างแยบยล ด้วยเหตุฉะนี้ คู่ขนานไปกับบทพิสูจน์ความรักและความมุ่งมั่นของ “นายทองเอก” ที่จะเป็น “หมอทองเอก” ก็คือการเผยให้เห็นโลกทัศน์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรียกว่า การสั่งสมและใช้ “ความรู้” ของคนในสังคม        เพื่อให้สอดรับกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ความเป็น “สังคมแห่งความรู้” หรือ “knowledge-based society” ในปัจจุบัน ในขณะที่ละครได้อาศัยการสร้างฉากและองค์ประกอบศิลป์ให้ดูเป็นแบบพีเรียดย้อนยุค แต่อากัปกิริยา คำพูดศัพท์แสง และบทสนทนาของตัวละคร กลับล้วนแล้วแต่เป็นแบบที่ผู้คนในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ต่างพูดๆ กันอยู่ในชีวิตประจำวัน        ด้วยภาพที่ดูร่วมสมัยแต่ย้อนแย้งอยู่ในความเป็นอดีตนี้เอง ละครได้ตั้งคำถามกับคนในสังคมว่า เมื่อหมอยาคือบุคคลที่สังคมยอมรับในแง่ของการเป็นผู้ถือครองวิชาความรู้ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ดังนั้น ผู้รู้ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้มีความรู้ก็อาจจะ “รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว” แต่ที่สำคัญต้องเป็นผู้ “เชี่ยวชาญ” ในเรื่องจริงๆ จึงจะ “บังเกิดเป็นมรรคผล”        ฉากที่เพื่อนๆ ทดสอบทองเอกด้วยการปิดตาและให้ดมกลิ่นหรือลิ้มรสสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมระบุสรรพคุณของตัวยาเหล่านั้น ย่อมบอกได้ชัดเจนว่า ถ้าจะเอาดีด้านหมอยา ความรู้เรื่องสมุนไพรและธาตุยาที่ถือครองไว้ก็ต้องผนวกผสานเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจของผู้รู้คนนั้นๆ        ในขณะเดียวกัน เพราะ “ความรู้เป็นอำนาจ” และ “อำนาจเป็นเหรียญสองด้าน” ที่มีทั้งด้านให้คุณและให้โทษ ดังนั้น ในขณะที่แม่หมอผีมั่นเลือกใช้ความรู้หมอยาเพื่อครอบงำและเป็นมิจฉาทิฐิทำลายผู้อื่น แต่ทองเอกกลับยืนยันว่า ความรู้ต้องใช้เพื่อปลดปล่อยและเป็นสัมมาทิฐิเพื่อจรรโลงสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู แบบที่เขาได้ใช้ความรู้หมอยารักษาแม่หมอผีมั่นจากโรคในตอนท้ายเรื่องนั่นเอง         นอกจากนี้ อีกบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ของหมอทองเอกในฐานะผู้ถือครองความรู้ก็คือ ความรู้หนึ่งๆ ไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่จะรักษาได้สำเร็จเสมอไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว “หมอไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรักษาใครให้หายได้ทุกคน” เหมือนกับที่ตัวละครหลวงพ่อได้พูดให้เราสำเหนียกว่า “ไม่มีหมอคนไหนอยากให้ผู้ไข้ตายหรอก...คนจะตายมันก็ตายอยู่ดี”         เพราะฉะนั้น แม้ความรู้จะทำให้ผู้รู้นั้นดูองอาจหรือมีอำนาจ แต่ผู้รู้ก็ต้องถ่อมตนและยอมรับว่า ความรู้ทุกชนิดมีข้อจำกัดและมีขอบเขตในการนำไปใช้เสมอ แบบที่ “หนึ่งสมองกับสองมือ” ของหมอทองเอกก็ไม่สามารถรักษาคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคระบาดในท่าโฉลงได้ครบทุกคน หรือแม้แต่ไม่อาจเหนี่ยวรั้งชีวิตของปู่ทองอินซึ่งถูกยาสั่งของแม่หมอผีมั่นเอาไว้ได้ในตอนกลางเรื่อง         คำโบราณกล่าวไว้ถูกต้องว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และ “มีความรู้อยู่กับตัวกลัวอะไร” แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่ความรู้ได้กลายเป็นทุนและแหล่งที่มาของอำนาจในสังคมทุกวันนี้แล้ว บางทีเสียงหัวเราะขำๆ และความรู้สึกกุ๊กกิ๊กที่เรามีให้กับหมอทองเอกและตัวละครต่างๆ รอบตัว คงบอกเป็นนัยได้ว่า มีความรู้อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องเข้าใจและปฏิบัติต่อความรู้อย่างสร้างสรรค์จริงๆก่อนจะเสียชีวิตลง ประโยคที่ปู่ทองอินพูดกับทองเอกที่จะเป็นทายาทสืบต่อในฐานะผู้รู้หมอยาของท่าโฉลง จึงแยบคายเป็นอย่างยิ่งว่า “ข้าไม่กลัวความตาย ตลอดชีวิตของข้า ข้าทำความดีอย่างสุดความสามารถแล้ว ถึงข้าตาย ข้าก็สบายใจ”                                                                             

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 100 ปี หมอยา

เมื่อวันที่ 10- 12  มกราคม 2557  เป็นวันจัดงาน “100  ปี วิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย โดย สภาเภสัชกรรม  และมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม   ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทบทวนผลการดำเนินการ 100 ปี ที่ผ่าน และทิศทางการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา “วิชาเภสัชศาสตร์” กับความคาดหวังของประชาชนต่อวิชาชีพนี้  ในทศวรรษ ต่อไปประเด็นที่ท้าทาย “หมอยา” มีมากมาย   รวมถึงการกำหนดหลักสูตรการสอนอย่างไร?  ให้ผู้ที่จบหลักสูตรวิชาชีพเภสัชกรรม  เป็นผู้ที่ “เอาธุระต่อสังคม” ไม่ใช่เป็นแค่อาชีพหนึ่งในสังคม   สาเหตุที่เขียน เช่นนี้ เพราะเภสัชกร  เป็นผู้ทรงความรู้เกี่ยวกับเรื่องยา   ทุกแขนง ทุกสาขา ทั้งความรู้เรื่องการใช้ยาการกินยา ผลกระทบของยา การผลิตยา  ทั้งยาคนยาสัตว์  รวมถึงเป็นผู้ที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงด้านยา  เรียกได้ว่าเป็นรอบรู้เรื่องที่เกี่ยวกับยาครบวงจร   แต่ความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี  กลับถูกนำมาใช้อย่างจำกัด  เภสัชกร เป็นได้แค่คนขายยาในร้านยา คนจัดยาและแนะนำยาให้กินยาตามแพทย์สั่ง  เช่น  ยานี้กินกี่วัน กินวันละกี่มื้อ  แต่กินไม่ตรงแล้วเป็นไง กินไม่ครบจะเกิดอะไร(ไม่มีเวลาบอก)  เป็นเภสัชในโรงงาน  ฯลฯ ที่ยังไม่เคยเป็นเลยตลอด 100 ปีที่ผ่านมา  เห็นจะเป็น  “ผู้ทำให้ประเทศไทยพึ่งพาตัวเองด้านยาได้” อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยข้อจำกัด และอุปสรรคมากมาย ทำให้ 100 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก  เท่าที่ผู้เขียนไปนั่งฟังในเวทีรวมถึงเป็นผู้ที่ร่วมวิพากษ์ เรื่องหลักสูตรการศึกษานี้  ทำให้ทราบว่า  เรายังขาด   องค์กรที่จะมาเป็นเจ้าภาพในการสร้างความมั่นคงด้านยาของประเทศ  ขาดทั้งงบประมาณ  ความพร้อมในการผลิตยา  รวมถึงขาดนโยบาย จากฝ่ายการเมือง  ที่จะสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างจริงจัง  นักการเมืองบ้านเรายังมีความสุขกับการอนุมัติงบประมาณเพื่อนำไปซื้อยา  มากกว่าที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านพึ่งพาตนเองเรื่องยา   ในภาวะกระแสปฏิรูปประเทศไทยกำลัง มาแรง  ก็เลยอยากฝากประเด็นนี้ให้ติดอยู่ในกระบวนการปฏิรูปด้วยก็จะดียิ่งเจอกันฉบับหน้าจะนำปัญหาการใช้ยาอย่างขาดความรู้จนทำให้ถึงตายมาเล่าสู่กันฟัง มีเยอะเชียวล่ะคุณเอ๋ย

อ่านเพิ่มเติม >