ฉบับที่ 249 หมวกนิรภัยสำหรับนักปั่น

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอเอาใจทั้งสายเขียวและสายสปอร์ต ด้วยผลทดสอบ “ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายต่อศีรษะ” ของหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน         คุณอาจสงสัย ... จะทดสอบไปทำไม สินค้าแบบนี้ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยก่อน จึงจะวางขายในตลาดได้ ไม่ใช่หรือ         คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว หมวกนิรภัยทั้งหมดที่เรานำมาทดสอบนั้นผ่านมาตรฐานที่มีในปัจจุบัน เพียงแต่มาตรฐานดังกล่าวกำกับเฉพาะการลดแรงกระแทกกับพื้นในแนวตั้งฉาก และเกณฑ์ที่ให้ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน ก็วัดจากประสิทธิภาพในการป้องกัน “การบาดเจ็บรุนแรงต่อศีรษะ” เท่านั้น         องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ) จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราสบวร์ก ประเทศฝรั่งเศส และ Certimoov องค์กรที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของหมวกนิรภัยจักรยาน ทำการทดสอบครั้งนี้ขึ้นตามวิธีทดสอบที่พัฒนาให้สอดคล้องกับลักษณะการเกิดอุบัติเหตุของคนขี่จักรยานมากขึ้น เช่น เวลาที่ถูกรถยนต์ชนแล้วตัวลอยขึ้นไปจนศีรษะกระแทกกับกระจกหน้ารถ เป็นต้น         ในการทดสอบครั้งนี้นอกจากจะวัดประสิทธิภาพการป้องกันการบาดเจ็บเมื่อศีรษะกระแทกในแนวตั้งฉาก (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) แล้ว ยังทดสอบการกระแทกกับพื้นเอียง 45 องศา (ด้านหน้า/ด้านหลัง/ด้านข้าง) อีกด้วย ทั้งหมดเป็นการทดสอบด้วยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ และเก็บข้อมูลด้วยเซนเซอร์ในหัวหุ่นยนต์ทดสอบ         นอกจากนี้ยังเพิ่มเกณฑ์ที่อ้างอิงงานวิจัยด้านชีวกลศาสตร์ รวมถึงนำ “อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ” หรือ “อาการโคม่าในระยะสั้น” มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำข้อเสนอในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น         จากหมวกนิรภัยที่เปิดตัวในปี 2021 จำนวน 27 รุ่น ที่นำมาทดสอบ เราพบว่ากลุ่มที่ดีที่สุดได้ไป 70 คะแนนจากคะแนนเต็มร้อย ในขณะที่กลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดนั้นได้ไป 80 คะแนน สนนราคาก็มีให้เลือกหลากหลายตั้งแต่ 1,100 บาท ไปจนถึง 6,700 บาท        ข่าวดีคือหมวกนิรภัยประสิทธิภาพดีในราคาไม่เกิน 2,000 บาทนั้นมีอยู่จริง และเรายังได้ข้อสรุปเช่นเคยว่าของแพงไม่จำเป็นต้องดี และของดีไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากของชิ้นไหนถูกมากก็อย่าเพิ่งวางใจ ว่าแล้วก็พลิกไปดูผลการทดสอบกันเลย        · ขอย้ำว่าการจัดอันดับครั้งนี้เป็นเรื่อง “ความปลอดภัย” ล้วนๆ  เรื่องความสวยงามหรือความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ต้องแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้ สิ่งสำคัญคือการทดลองสวมก่อนตัดสินใจ และราคาที่เราแจ้งเป็นราคาที่องค์กรสมาชิกในยุโรปซื้อจากร้านทั่วไปเป็นหน่วยเงินยูโร ที่เราแปลงมาเป็นหน่วยเงินบาท ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบอีกครั้งเช่นกัน  ---------- กฎหมายว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย        ปัจจุบันมีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ที่ขับขี่จักรยาน (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) สวมหมวกนิรภัย ในขณะที่กฎหมายประเทศมอลต้าใช้บังคับกับผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนสวีเดน สโลเวเนีย และสาธารณรัฐเช็ก นั้นบังคับเฉพาะในกลุ่มเด็ก บางประเทศอย่างสเปนบังคับการสวมหมวกเมื่อขับขี่จักรยานในเขตเมือง แต่ยกเว้นให้กรณีที่ถีบขึ้นเขา         บางประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการ “บังคับสวมหมวก” เนื่องจากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการใช้จักรยาน การรณรงค์ให้คนสวมหมวกนิรภัยนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้จักรยานเป็นเรื่องอันตราย และไม่อยากใช้จักรยาน         ในออสเตรเลียก็มีกลุ่ม Bicycle Network ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายบังคับสวมหมวก โดยอาจมีช่วงทดลอง 5 ปี ให้บุคคลอายุเกิน 17 ปีสามารถเลือกได้ว่าจะสวมหมวกนิรภัยหรือไม่ และรัฐจะต้องใส่ใจลด “ตัวอันตราย” ที่แท้จริงสำหรับนักปั่น ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันคือรถยนต์นั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 136 ปั่นปลอดภัย ไปกับหมวกนิรภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าการขี่จักรยานเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทำให้หัวใจแข็งแรง แถมยังเป็นการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดอยู่ตรงที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าการใช้จักรยานสัญจรไปมาจะปลอดภัย มูลนิธิโลกสีเขียวมีผลสำรวจความคิดเห็นที่ยืนยันว่าร้อยละ 85 ของคนกรุงเทพฯ ที่ร่วมตอบแบบสอบถาม (ประมาณ 4,500 คน) ยินดีจะใช้จักรยานในการเดินทางถ้าพวกเขารู้สึกว่าสามารถขับขี่ได้โดยไม่มีอันตราย ระหว่างที่เรากำลังรอให้เกิดทางจักรยานที่ปลอดภัยและใช้สะดวกมากขึ้น ฉลาดซื้อ ขอนำเสนอผลการทดสอบหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้จักรยาน ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บเป็นหลัก ตามด้วยความสะดวกสบายในการสวมใส่ การระบายอากาศ และการปลอดสารเคมีอันตราย   ด้วยเนื้อที่อันจำกัด เราจึงขอนำเสนอเฉพาะ 10 รุ่นที่ได้คะแนนรวมสูงสุด (จากหมวกที่เข้าทดสอบทั้งหมด 25 รุ่น) และได้คะแนนประสิทธิภาพในการป้องกันการบาดเจ็บในระดับ 4 ดาว ต้องบอกไว้ตรงนี้ว่ายังไม่มีรุ่นไหนที่ได้คะแนน 5 ดาวไปเลย     Casco Activ-TC ราคา  2,390 บาท น้ำหนัก 291 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         5 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     Specialized Align  ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 336 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         5 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Specialized Echelon ราคา 2,500 บาท น้ำหนัก 293 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Giro Savant  ราคา 3,000 บาท น้ำหนัก 240 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       5 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Profex FZ-006 ราคา 720 บาท น้ำหนัก 257 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศ  - ไม่ระบุ     Giro Transfer ราคา 1,500 บาท น้ำหนัก 261 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศจีน     Cratoni  Evolution ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 501 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         4 ระบายอากาศได้ดี         3 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Uvex Discovery  ราคา 4,700 บาท น้ำหนัก 398 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       4 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  3 ผลิตในประเทศเยอรมนี     Casco E.Motion ราคา 5,500 บาท น้ำหนัก 464 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       3 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         2 ปลอดสารเคมีอันตราย  5 ผลิตในประเทศโรมาเนีย     BELL Muni  ราคา 3,200 บาท น้ำหนัก 326 กรัม ป้องกันการบาดเจ็บ       4 สวมสบายไม่อึดอัด       2 สวม/ถอด สะดวก         3 ระบายอากาศได้ดี         4 ปลอดสารเคมีอันตราย  5     รุ่นอื่นๆ ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 3 ดาว Nutcase URS - 011S BELL Venture BELL Faction ABUS ASA Aven-U Etto B-1350 City Safe Uvex xp 17 city ALPINA City Giro Surface GUB GUBX5   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 2 ดาว Rudy Project Snuggy ABUS HS-17 Urbanaut Limar 525 KED Sky Two   ประสิทธิภาพป้องกันการบาดเจ็บ 1 ดาว MET Cameleonte Executive ---   ฉลาดซื้อแนะ หมวกนิรภัยมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อแบบ “มือสอง” มาใช้ อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีรอยบุบหรือไม่ (เพื่อจะได้มั่นใจว่ามันยังไม่ผ่านการชนหรือกระแทกมาแล้ว) ที่สำคัญวัสดุต่างๆที่ใช้ทำตัวหมวกก็มีอายุจำกัด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงหมวกที่ผลิตมาแล้วเกิน 5 ปี เมื่อมีหมวกแล้วก็ต้องรู้จักวิธีสวมใส่ที่ถูกต้องด้วย ใส่แบบไหนแล้วเท่เราตอบไม่ได้ แต่ถ้าจะใส่ให้ปลอดภัย หมวกของคุณจะต้องอยู่ในแนวระนาบเท่านั้น สำคัญอย่างยิ่ง คือการสวมใส่หมวกนิรภัยเสมอเมื่อคุณขับขี่จักรยาน เพราะอุบัติเหตุไม่เลือกเวลาหรือระยะทางอยู่แล้ว แต่หมวกนิรภัยเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเราได้ เรายังต้องการทางจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อประสบการณ์การขับขี่ที่สุนทรีย์ด้วย ---- จากใจคนรักจักรยาน กรุงเทพฯ อาจจะยังห่างไกลจากการเป็น “เมืองจักรยาน” แต่มีคนอย่างน้อยกลุ่มหนึ่งที่นิยมชมชอบการขี่จักรยานทั้งเพื่อเดินทางมาทำงานและเพื่อเป็นกิจกรรมผ่อนคลายในวันหยุด เรามารู้จักกับนักปั่น 3 คน จากโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำงานรณรงค์เพื่อให้เกิดระบบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในบ้านเรา มาดูกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับขี่จักรยานอย่างไรกันบ้าง สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการฯ สุรชัยให้ความเห็นว่า แม้กรุงเทพฯ จะมี “ทางจักรยาน” แต่จากการใช้เส้นทางจริงนั้นพบว่ายังไม่สามารถใช้ได้สะดวก ทางจักรยานซ้อนทับทางเท้า  ทางจักรยานไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยก็มี ทางไม่มีการปรับให้เรียบ มีแต่เพียงเส้นขีดไว้เท่านั้น เขามองว่า “ทางจักรยาน” ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ได้สะดวก บางครั้งทางไปจบตรงบันไดขึ้นสะพานลอยเสียดื้อๆ บางช่วงก็ซ้อนทับทางเท้า พื้นผิวทางโดยรวมก็ไม่มีการปรับให้เรียบ บ่อยครั้งไม่มีทางลาดช่วยในการเปลี่ยนระดับ (ทำให้ผู้ขับขี่ต้องจอดและยกรถจักรยาน) แถมบางพื้นที่ยังกลายเป็นแผงขายของไปอีกด้วย และที่เป็นเรื่องท้าทายสุดๆ สำหรับนักปั่น ตามความเห็นของเขาคือ ฝาท่อระบายน้ำที่บ้างก็วางในแนวขวาง บ้างก็วางในแนวขนานไปกับถนน เรียกว่าเผลอไม่ได้เลยทีเดียว สุรชัยซึ่งใช้จักรยานในการสัญจรมาตั้งแต่ปี  2548 เคยประสบอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ในวันที่คิดว่าออกไปไม่ไกลบ้าน จึงไม่ได้สวมหมวกนิรภัย แต่จักรยานล้มในช่วงที่กำลังเข้าโค้งหน้าปากซอย ผลคือคิ้วแตกและโหนกแก้มยุบ ทำให้ต้องหยุดงานไปประมาณ 4 เดือน แถมเสียค่ารักษาพยาบาลไปไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท เขาจึงอยากจะย้ำว่าหมวกนิรภัยนั้นเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย   สุภาภรณ์ มาลัยลอย เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สุภาภรณ์ค้นพบว่า การขี่จักรยานมาทำงานนั้นเป็นประสบการณ์ที่รื่นรมย์อย่างยิ่ง จะขัดใจอยู่บ้างก็ตรงป้ายโฆษณาที่วางระเกะระกะบนทางจักรยาน และบางช่วงของทางที่ไม่เอื้อต่อการผ่านไปของจักรยานนี่แหละ เธอปั่นจักรยานเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากบ้านในซอยลาดพร้าว 62 มายังสำนักงานในซอยรามคำแหง 39 เจ้าตัวยืนยันว่ามันสะดวกอย่างยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้าซึ่งรถติดมากๆ เธอก็ยังสามารถมาถึงสำนักงานได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที ที่สำคัญประหยัดค่าเดินทางไปวันละ 66 บาท แม้จะต้องจ่ายค่าซ่อมเกียร์ เติมลม ปะยางบ้าง ก็ยังถือว่าคุ้ม สำหรับเธอ แม้ทางจักรยานจะยังไม่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานสากล แต่การได้ขี่จักรยานเองก็ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อยู่ดี   สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ทนายความ รายนี้ขัดใจกับ “ทางจักรยาน” ในเส้นทางที่เขาใช้ประจำ จนต้องหลบลงไปปั่นบนพื้นถนนอยู่บ่อยครั้ง เขาอยากให้มีการนำแนวคิดการจัดพื้นที่ถนนให้สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์และจักรยาน เจ้าตัวบอกว่าอยากให้เหมือนกับถนนที่เจนีวา ที่แบ่งพื้นที่ถนนครึ่งเลนให้กับจักรยานไปเลย สงกรานต์บอกว่าความจริงแล้วเลนจักรยานบนถนนสีลมบ้านเราก็มี เพียงแต่ยังถูกใช้เป็นที่จอดรถอยู่  หลักๆ แล้วเขาเชื่อว่าจะมีคนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ถ้ามีการออกแบบทางจักรยาน (ย้ำว่าต้องเป็น “ทางจักรยาน” ไม่ใช่การขีดเส้นเฉยๆ) โดยยึดหลักความปลอดภัย ความสะดวก และการเชื่อมต่อกับบริการสาธารณะ เช่นที่สำหรับจอดรถจักรยานที่สะดวกและปลอดภัยจากการโจรกรรมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยง สงกรานต์ลงทุนซื้อจักรยานไป 4,500 บาท ใช้ปั่นมาทำงานทุกวัน เขายืนยันว่าไม่เกิน 5 เดือนก็คืนทุน แต่ทั้งนี้ใครอยากจะสร้างเสริมประสบการณ์การขับขี่ของตนเองด้วยการลงทุนเพิ่มก็ไม่ว่ากัน ทีมนี้เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ถ้าเราอยากให้จักรยานเบาลง 1 กิโลกรัม เราก็จะต้องใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท เพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนจากเหล็กเป็นไทเทเนียม เป็นต้น เอาเป็นว่าถูกก็ได้ แพงก็ดี ลองพิจารณาหาจักรยานมาปั่นกันดู จะไปตลาด ไปทำงาน หรือไปส่งลูกที่โรงเรียนก็ตามแต่ใจ แต่อย่าลืมใส่หมวกนิรภัยด้วยแล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >