ฉลาดซื้อ จับมือนักวิชาการร่วมยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี

        วันนี้ ( วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลผลักดันการออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับในปี พ.ศ. 2565 ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจึงมีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้สะดวกทุกที่ซึ่งสำหรับหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และด้วยสภาพร่างกายของเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ เพื่อให้ระบบการหายใจของเด็กยังคล่องตัว นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น คณะทำงานได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง เมื่อประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2565 โดยทดสอบคุณสมบัติ 2 รายการที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก 2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (ค่าการหายใจได้สะดวก) โดยมีผลการทดสอบ ดังนี้        1. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 3 ยี่ห้อ พบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ        2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบในกลุ่มนี้จำนวน 11 ยี่ห้อ พบว่า ยี่ห้อ Unicharm มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในส่วนยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare        3. ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 6 ยี่ห้อ พบว่าทุกยี่ห้อมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค เป็นไปตามเกณฑ์ สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางตามเอกสารแนบ ตารางที่ 3 ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไป )        4. การตรวจสอบ เครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare         ดร.ไพบูลย์ ยังได้เสนอว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสำหรับหน้ากากอนามัยเด็กโดยเฉพาะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการอ่านค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้หน้ากากอนามัยได้อย่างเหมาะสม         อ.ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง มาตรฐานที่มีอาจดูแลเด็กได้ไม่เพียงพอ และปัจจุบันยังปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เด็กมีภาวะภูมิแพ้มากขึ้น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กจะช่วยป้องกันได้หากมาร่วมมือกันจัดทำแนวทางเพื่อยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กให้ชัดเจน         “หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ปัจจุบันคนที่ขาดแคลนอาจจะไม่ได้ใช้ครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้ง จึงยิ่งมีความเสี่ยง และเราจะให้ทางเลือกแก่สังคมอย่างไร เราปลูกฝังเด็ก สร้างพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม แต่ถ้าใส่แล้วหายใจลำบาก เราใส่แล้วเราก็จะถอดๆ แล้วมันจะไม่เกิดประโยชน์”         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ประสานความร่วมมือกันเพียงพอ การทำงานหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม( สมอ.) ยังเป็นการกำกับติดตามผู้ผลิตแค่บางส่วนแต่เมื่อสินค้าวางสู่ตลาด และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังกำกับติดตามไม่ทั่วถึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสินค้าที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน การยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยให้มีมาตรฐานจึงต้องเป็นความร่วมมือกัน         “เรื่องหน้ากากอนามัยเด็ก ค่าความต่างแรงดัน (ระดับการหายใจใด้ง่าย) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะสรีระของเด็กมีความแตกต่าง และมาตรฐานเฉพาะสำหรับเด็กยังไม่มีความชัดเจน ระหว่างที่ยังไม่มีการออกมาตรฐานโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรจะต้องเข้ามากำกับดูแลฉลากให้มีความชัดเจนที่ควรระบุทั้งค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และค่าความต่างแรงดัน เพราะปัจจุบัน หน้ากากอนามัยเด็กยังมีการใช้ข้อความที่ส่อให้เข้าใจผิด”         ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การควบคุมมาตรฐานสินค้าชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดัน เพราะนอกจากภัยจากโรคระบาดแล้วยังมีปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการปกป้อง การทำให้เด็กทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เป็นทั้งเรื่องความเป็นธรรมและความมั่นคงของชาติที่จะมีคนในอนาคตที่มีสุขภาพดี”        1. สนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมถึงหน้ากากสำหรับเด็กเล็กด้วยและควรมีบทกำหนดโทษ ในกรณีที่ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิผู้บริโภค        2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 5-12 ปี        3. สภาองค์กรของผู้บริโภคควรเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยให้ตรวจสอบและรายงานประจำปีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวสำหรับเด็ก        4. เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ควรมีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก        5. เสนอให้มีความร่วมมือในการทำงานระหว่าง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างในการทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยให้เรื่องการเฝ้าระวังมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กเป็น โมเดลการทำงานร่วมกัน เรื่อง post marketing ที่ทั้ง อย. สมอ. สคบ. และ สภาองค์กรของผู้บริโภค มาเป็นคณะทำงานร่วมกัน        6. เสนอ อย.กำกับดูแลเรื่องฉลากให้ระบุไม่เกินความเป็นจริง หากระบุตัวผลิตภัณฑ์ว่าเป็นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ต้องมีการระบุคุณสมบัติเฉพาะสำหรับเด็ก (การระบุค่าทดสอบ : ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน Delta P)         สำหรับรายละเอียดผลการทดสอบหน้ากากอนามัยเด็ก อ่านต่อได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4023

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ผลทดสอบหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก (อายุระหว่าง 5-12 ปี)

        ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไปและเด็กเล็ก เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้บางส่วน อย่างไรก็ตามปัจจุบันหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่มีมาตรฐานกำกับ  สำหรับหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว (มอก. 2424-2562) และหน้ากากแบบ N 95 (มอก.2480-2562) แต่สำหรับหน้ากากอนามัยเด็กนั้น มาตรฐานที่กำหนดอาจยังไม่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเด็กเล็กมีสภาพร่างกายต่างจากผู้ใหญ่ สำหรับคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กนั้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น         และในปี พ.ศ. 2565 นี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังพิจารณาผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงร่วมกันทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากว่าสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการผลักดันเพื่อออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่หมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็กด้วยเช่นกัน         คณะทำงานได้เก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง โดยทดสอบสองรายการ ที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่        1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency)        2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (Pressure Difference: DP) ผลการทดสอบ        1.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 3 ยี่ห้อ ผลการทดสอบพบว่า ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ (ดูตารางที่ 1)         2.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 11 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ยี่ห้อ Unicharm ต่ำกว่าเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare (ดูตารางที่ 2)         3.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562        ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 6 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ เป็นไปตามเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางที่ 3)         4.เครื่องหมาย มอก. จากการตรวจสอบข้อมูลหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายอยู่โดยทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare ที่มีการระบุเครื่องหมายมาตรฐานอยู่บนบรรจุภัณฑ์คำแนะนำการเลือกหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก        ข้อมูลจากทางองค์กรทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้แนะนำว่า หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กนั้น ค่าของผลต่างความดัน ไม่ควรเกิน 50% ของมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบการหายใจของเด็กต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่มีผลต่างความดันมาก อย่างหน้ากากอนามัยชนิด N95 อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยให้เด็กคือ        1.ควรเลือกชนิดที่มีค่ากรองอนุภาคเป็นไปตามมาตรฐาน         2.เลือกชนิดที่มีค่าผลต่างความดันต่ำกว่า 50% ของค่ามาตรฐาน         3.ในกรณีที่จำเป็นต้องให้เด็กใช้หน้ากากอนามัยชนิด N 95 ไม่ควรใส่เกิน 1 ชม. และเมื่อเข้าในอาคารควรถอดออกเพื่อพักหายใจ         4.ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยจะใช้งานได้ดีเมื่อการสวมใส่หน้ากากนั้นกระชับไปกับรูปหน้าของเด็ก ปัจจุบัน (ข้อมูลถึงเดือนมีนาคม 2565) มีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย ดังนี้1.บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) แบรนด์  Welcare 2.บริษัท เมดิเชน จำกัด แบรนด์ MedCmask 3.บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด แบรนด์ SureMask / G Lucky / KSG 4.บริษัท วิชัย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แบรนด์ WCE Mask5.บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด แบรนด์ HYGUARD6.บริษัท เอส.เจ.อีควิปเมนท์ แอนด์ แคร์ จำกัด แบรนด์ GAMSAI7.บริษัท เบฟเทค จำกัด แบรนด์ BevTech 8.บริษัท เอ็มไนน์ เมดิคอล อีควิปเม้นท์ จำกัด แบรนด์ M9 9.บริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด แบรนด์ LIVE SEF และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ดังนี้ 1.บริษัท มารีอา โปรดักส์ จำกัด แบบไม่มีลิ้นระบายอากาศ แบรนด์ MARI-R[1] มาตรฐาน มอก. 2424-2562ขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยอนุบาลสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มมหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม >