ฉบับที่ 254 “ทางรัฐ” ศูนย์รวมบริการหน่วยงานรัฐ

        ในฐานะประชาชนคนหนึ่งในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจนเติบโต ทุกคนจำเป็นต้องติดต่อกับหน่วยงานของรัฐเป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเกิด การแจ้งเข้าทะเบียนบ้าน การทำบัตรประจำตัวประชาชน การทำใบขับขี่ การทำประกันสังคม การติดต่อกับการไฟฟ้า การประปา รวมถึงสิทธิรักษาพยาบาลต่างๆ ที่เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จึงทำให้สรุปได้ว่าทุกคนต้องได้เข้าใช้บริการจากหน่วยงานรัฐอย่างแน่นอน         ล่าสุดตามแผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อวางรากฐานของประเทศในการยกระดับการให้บริการประชาชน ทำให้ภาครัฐได้จัดทำแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อ “ทางรัฐ” ขึ้น เพื่อมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการจากทางภาครัฐได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว         แอปพลิเคชั่นทางรัฐนี้ เป็นระบบกลางของประเทศที่รวบรวมบริการของหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญมาไว้ในที่เดียว โดยประโยชน์ที่ได้รับจาก แอปพลิเคชันทางรัฐ คือ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีความสะดวกและรวดเร็ว สามารถติดตามสถานะการขอใช้บริการภาครัฐได้สะดวก ค้นหาข้อมูลการติดต่อราชการได้ และได้รับบริการตามสิทธิ์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม         ปัจจุบันมีการรวบรวมบริการไว้ให้กว่า 30 บริการ เช่น การตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สถานะผู้ประกันตน สิทธิหลักประกันสุขภาพ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร หนังสือรับรองผลการทดสอบ O-Net ตรวจสอบข้อมูลใบสั่งจราจร ข้อมูลทะเบียนรถ การจองคิวอบรมใบขับขี่ เช็คโฉนดที่ดิน ข้อมูลติดต่อราชการ การแจ้งเอกสารหาย การยื่นคำร้องกรณีต่างๆ รวมถึงบริการค่าน้ำ ค่าไฟ ที่สามารถชำระค่าบริการผ่าน QR Code ฯลฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมบริการภาครัฐให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว         ขั้นตอนแรกหลังดาวน์โหลดเสร็จ ต้องสมัครเข้าใช้งานโดยสแกนบัตรประจำตัวประชาชนและสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนในลำดับแรก เมื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่นจะปรากฎบริการต่างๆ ตามหมวดหมู่ ได้แก่ หมวดข้อมูลของฉัน หมวดการศึกษา หมวดสิทธิประโยชน์/สวัสดิการ หมวดสุขภาพ หมวดพาหนะ/การเดินทาง หมวดสาธารณูปโภค หมวดที่ดินที่อยู่อาศัย หมวดการงาน/อาชีพ หมวดข้อมูลภาครัฐและหมวดงานยุติธรรม/กฎหมาย         ต่อจากนั้นกดเลือกหัวข้อที่ต้องการ โดยการเริ่มต้นครั้งแรกนั้น ภายในแอปพลิเคชั่นจะให้กดอนุญาตการเช้าถึงข้อมูลนั้นๆ เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลใบขับขี่ แอปพลิเคชั่นจะปรากฎหน้าให้ความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะมีข้อมูลใบอนุญาตปรากฎ ตั้งแต่เลขที่ใบอนุญาต ชนิดใบอนุญาต วันเริ่มและหมดอายุของใบอนุญาต หรือในหัวข้อแจ้งเอกสารหายออนไลน์ เมื่อกดยอมรับเรียบร้อยแล้ว จะเชื่อมต่อกับระบบที่สามารถแจ้งเอกสารหายออนไลน์และตรวจสอบสถานะการแจ้งความผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนการหมดอายุ การเปลี่ยนสถานะของเอกสารได้อีกด้วย         เพียงมีแอปพลิเคชั่นทางรัฐก็สามารถเพิ่มความสะดวกสบายได้ดีจริงๆ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการเดินทาง ลดขั้นตอนการยื่นส่งเอกสาร และเพิ่มการเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิด หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดด้วยหรือไม่

ทนายอาสาฉบับนี้ ผมอยากจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีข่าวออกมาไม่น้อย ว่าในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้กระทำไปในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ แต่ก็มีผลทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพ ชื่อเสียง เหล่านี้ หากเราจะเอาผิด จะต้องไปเรียกร้องเอากับหน่วยงานต้นสังกัด หรือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้น  จะขอยกตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ คือ กรณีตำรวจไปยึดรถยนต์ของโจทก์ เป็นของกลาง ต่อมาปรากฏว่า ดูแลรักษาไม่ดี เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย เช่นนี้ ตำรวจต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2540 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรใหญ่และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนคนทั้งสองต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ  ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง และมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลาง เหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตน  แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณี จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้หรืออีกกรณี ครูพลศึกษาของโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ศาลถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อต่อมานักเรียนคนนั้นถึงแก่ความตาย ครูพละดังกล่าวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่แม่ของนักเรียนคนนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ. จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลงการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่งแม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด ซึ่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลคือต้องฟ้องหน่วยงานรัฐต้นสังกัด และเมื่อหน่วยงานรัฐรับผิดต่อผู้เสียหายแล้วจึงไปใช้สิทธิไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่อีกคราวหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >