ฉบับที่ 254 ปีกว่าที่ว่างเปล่า สิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัยในระบบราชการไทย

        กว่า 60 ปี การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสังคมไทย ผู้หญิงไม่มีสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายและเลือกหนทาง มิพักต้องพูดถึงแนวคิดล้าหลังที่ซุกอยู่ในกฎหมายทำแท้งที่มุ่งเอาผิดผู้หญิงเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรา 301 และมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง          ปี 2561 พญ.ศรีสมัย เชื้อชาติ แพทย์อาสาของเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กรมอนามัย ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ใครจะรู้ว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่          ในฐานะผู้ที่ผลักดันการแก้กฎหมายทำแท้งคนหนึ่ง พญ.ศรีสมัย ใช้เหตุการณ์นี้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญ เกิดแรงกระเพื่อมต่อเนื่องเป็นการแก้กฎหมายอาญามาตรา 301 และมาตรา 305 ในที่สุด          โดยในมาตรา 301 ที่ได้รับการแก้ไขแล้วระบุว่า ผู้หญิงสามารถทำแท้งได้ในอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นอัตราโทษที่เบากว่ากฎหมายเดิม          ส่วนมาตรา 305 อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ดังนี้         1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงกับการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือใจของหญิงนั้น         2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควร เชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง         3. หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ         4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์         5. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ กำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น          ไม่มีปฏิเสธว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญ เมื่อพูดเช่นนี้ก็หมายความว่ายังมีก้าวอื่นอีกที่ต้องไปต่อ  ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงสิทธิการทำแท้งที่ปลอดภัย          เป้าหมายสูงสุดของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวประเด็นนี้คือการยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้ง การทำแท้งต้องไม่ใช่ความผิด และผู้หญิงที่ทำแท้งไม่ใช่อาชญากร การทำแท้งต้องเป็นทางเลือกด้านสุขภาพของผู้หญิงและมีกระบวนการครอบคลุม ครบถ้วน โดยคำนึงถึงสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง         อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขับเคลื่อนตระหนักดีว่าบางเรื่องก็ต้องค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า แต่สิ่งที่ทำความเข้าใจได้ยากคือผ่านมาปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ผ่านไปปีกว่าประกาศกระทรวงสาธารณสุขสำหรับวางแนวทางรองรับกลับยังไม่ถูกประกาศใช้         สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม เล่าว่าที่ผ่านมา 3 สิ่งที่เอื้อต่อการทำงานคือการแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งซึ่งทำให้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น หน่วยบริการมีมาตรฐานมากขึ้น สอง-มีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ที่ให้การคุ้มครองและช่วยเหลือให้วัยรุ่นได้รับสิทธิและเกิดคณะทำงานขับเคลื่อน ประการสุดท้าย ในช่วงโควิดก็มีนโยบาย Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ส่งยาให้กับผู้ที่จำเป็นเพื่อยุติการตั้งครรภ์ทำให้เข้าถึงบริการที่ปลอดภัย          แต่ยังมีช่องว่างอยู่ เป็นเพราะผู้คนในสังคมจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ระบบบริการไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้หญิงที่ต้องการท้องต่อหรือต้องการยุติการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ครอบคลุมต่อปัญหาและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ บริการบางอย่าง เช่น การยุติการตั้งครรภ์ยังไม่เป็นบริการในระบบปกติของหน่วยบริการ ทั้งยังมีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเข้าไม่ถึงสิทธิและถูกละเมิดสิทธิ พร้อมกับที่ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนก็มีไม่มากพอและไม่เป็นมิตรสำหรับผู้ที่ท้องไม่พร้อม          จากการเก็บข้อมูลการให้บริการท้องไม่พร้อมของสายด่วน 1663 ตั้งแต่ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 มีจำนวนพผู้ปรึกษาทั้งหมด 21,397 เป็นผู้ที่ตั้งครรภ์ร้อยละ 81 หรือ 17,416 คน จำนวนผู้ที่ตั้งครรภ์และมีปัญหาซับซ้อนต้องได้รับการช่วยเหลือร้อยละ 15 หรือ 2,634 คน มีผู้หญิงที่ประสงค์ทำแท้งไปขอรับบริการจากโรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธและไม่ส่งต่อ 116 ราย อายุต่ำกว่า 20 ปี 37 ราย มากกว่า 20 ปี 79 ราย          “เกิดคำถามว่าเป็นเพราะทัศนคติหรือนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ชัดเจนถึงทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ” สมวงศ์ ตั้งคำถาม          ระบบราชการทำ สธ. ประกาศกระทรวงไม่ได้          ผู้รับบริการสุขภาพในฐานะผู้บริโภคยังต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ สืบเนื่องจากระบบราชการแบบไทยๆ ที่มักติดขัดเรื่องอำนาจหน้าที่         ความเดิมมีอยู่ว่า หลังจากแก้กฎหมาย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างประกาศใช้เป็นแนวทางการให้บริการ ผ่านไปประมาณ 1 ปี คณะกรรมการยกร่างประกาศเสร็จสิ้น ประกอบด้วย 3 หมวด ได้แก่         หมวดที่ 1เรื่องการให้การปรึกษาทางเลือก         หมวดที่ 2 การดูแลกรณีที่เลือกตั้งครรภ์ต่อ         หมวดที่ 3 กระบวนการขับเคลื่อนประกาศกระทรวง          กรมอนามัยนำส่งร่างต่อไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รัฐมนตรีลงนามบังคับใช้ ทาง สธ. เพื่อลงนามบังคับใช้ ทว่า กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ทักท้วงว่า ตัวร่างในหมวดที่ 2 และ 3 อาจจะเกินขอบเขตที่มาตรา 305 ระบุให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายระบุเพียงให้กระทรวงฯ ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการปรึกษาทางเลือกเท่านั้น          “ทางกรมอนามัยจึงหารือกับคณะกรรมการยกร่าง” นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าว “ทางคณะกรรมการก็ยืนยันว่าร่างที่ยกน่าจะมีประโยชน์ในการบังคับใช้เพราะครอบคลุมกระบวนการดูแลอย่างครบถ้วน ข้อที่ว่าเกินอำนาจที่จะทำได้หรือเปล่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีส่วนร่วมในการยกร่างตั้งแต่แรกก็อธิบายว่า แม้ในมาตรา 305 จะให้ออกประกาศการให้การปรึกษาทางเลือกอย่างเดียว แต่ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีฐานอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินที่จะออกหมวดสองและสามได้”          คำอธิบายข้างต้นไม่สามารถเบาบางข้อวิตกกังวลของกองกฎหมาย สำนักปลัดฯ ได้ เพราะถ้าระบุลงไปแล้วในทางปฏิบัติทำไม่ได้ นอกจากจะผิดประกาศกระทรวงแล้ว ยังอาจถูกตีความว่าผิดประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทางสำนักปลัดฯ ต้องให้ประกาศสั้น กระชับ และตรงประเด็น เพื่อให้ในทางปฏิบัติไม่ต้องมีข้อถกเถียง          นพ.บุญฤทธิ์ กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายยืนกรานจึงจบลงด้วยบทสรุปที่ให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างขึ้นอีกชุดเพื่อยกร่างประกาศใหม่โดยอ้างอิงมาตรา 305 โดยตรงและใช้ร่างเดิมเป็นตัวตั้งต้น          กรณีโรงพยาบาลประกันสังคมบางแห่งไม่รับผิดชอบ         เวลาที่ยืดเยื้อออกไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิง สมวงศ์เล่าถึงกรณีหนึ่งว่ามีผู้หญิงรายหนึ่งเป็นโรคหัวใจและตั้งครรภ์ เธอฝากครรภ์โดยใช้สิทธิประกันสังคม ปรากฏว่าทั้งแพทย์สูตินรีเวชและแพทย์ด้านหัวใจบอกตรงกันว่าไม่ควรตั้งครรภ์ต่อเพราะมีอันตรายต่อชีวิต ซึ่งขณะนั้นอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แล้ว          “เขาโทรมาหาเรา เราบอกว่าเป็นเรื่องสุขภาพคุณควรได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลประกันสังคมของคุณ เขาก็เลยกลับไปที่โรงพยาบาล ทางนั้นบอกว่าไม่มีบริการทำแท้งจึงปฏิเสธและไม่รับฝากท้องด้วยเนื่องจากเขาเป็นโรคหัวใจ เขาจึงกลับมาปรึกษาเราอีกครั้งหนึ่งว่าโรงพยาบาลประกันสังคมไม่ดูแลเขา          เราจึงติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยร่วมกับเครือข่าย ปรากฏว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยรับทำให้และยืนยันว่าเคสนี้อันตรายถึงชีวิตจริงและมีความจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน จึงแนะนำให้กลับไปที่โรงพยาบาลประกันสังคมนำประวัติการรักษาทั้งหมดมาและทำหนังสือส่งตัวเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท อันนี้เป็นเรื่องการรักษา เป็นเรื่องสุขภาพจริงๆ ปรากฏว่าโรงพยาบาลประกันสังคมตัดสินใจทำใบส่งตัวให้ แต่ไม่ส่งตัวไปให้ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ส่งไปให้อีกโรงพยาบาลหนึ่งในเครือข่ายของเขา         วิธีส่งตัวคือทำเอกสารขึ้นมาใบหนึ่งแล้วให้ผู้รับบริการเดินไปรับบริการเอง ไม่มีการประสานส่งตัว ผู้รับบริการก็เดินไปที่โรงพยาบาลแห่งนั้น แต่ทางนั้นก็บอกว่าไม่ได้เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ก็ปฏิเสธ สุดท้ายก็จำเป็นต้องรับบริการจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเสียค่าใช้จ่าย ตอนนี้เรากำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ประกันสังคมต้องรับผิดชอบ โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ จะปฏิเสธค่าใช้จ่ายไม่ได้ ทำให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องสุขภาพก็ไม่ได้รับบริการ”          การรับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นเรื่องชนชั้น          สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง องค์การภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการทำแท้งที่ปลอดภัย เปิดรายงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ปี 2564 พบว่า ในปี 2563 สปสช. ตั้งเป้าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยไว้ที่ 23,000 ราย แต่ทำได้จริงเพียง 4,924 ปี 2564 จึงตั้งเป้าต่ำลงคือ 12,000 ราย แต่ก็ทำได้จริงเพียง 5,294 ราย          “แต่เราคาดว่ามีการทำแท้งประมาณ 3 แสนคนต่อปีจากการวิจัยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 คำถามคือที่เหลือไปไหน” สุพีชา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงบริการในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 15 เพราะไม่รู้จะไปรับบริการที่ไหน ร้อยละ 16.5 รู้ว่ามีบริการแต่ไม่มีเงินเข้ารับบริการ และร้อยละ 2.9 ไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับบริการ เมื่อวิเคราะห์ปัญหาที่พบเจอ กลุ่มทำทางแจกแจงออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย          1. การเข้าไม่ถึงข้อมูลบริการและสถานที่ยุติ ประชาชนและส่วนหนึ่งก็เป็นเจ้าหน้าที่เองที่ไม่รู้ว่ากฎหมายเปลี่ยน ไม่ได้รับมอบหมายนโยบายจึงไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเมื่อมีผู้มาขอรับบริการ ประชาชนจึงไม่รุ้ว่าจะไปรับบริการได้ที่ไหน บริการเป็นอย่างไร         2. จำนวนสถานบริการมีไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ สุพีชาบอกว่าในประเทศไทยมีโรงพยาบาล 1,300 แห่ง มีโรงพยาบาลและคลินิกที่ขึ้นทะเบียนให้บริการทำแท้งปลอดภัย 149 แห่ง แต่ให้บริการจริงเพียง 91 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นของเอกชน 21 แห่ง เปิดให้บริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น          “เงื่อนไขที่โรงพยาบาลตั้งขึ้นเป็นเองก็แตกต่างกันและเป็นอุปสรรค” สุพีชา อธิบาย “ค่าบริการแตกต่างกัน บางแห่งต้องผ่านคณะกรรมการ บางแห่งให้บริการเฉพาะคนในจังหวัดหรืออำเภอเท่านั้น บางที่ให้บริการเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น และวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีต้องมีผู้ปกครองซึ่งขัดกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการมีน้อยมากบวกกับถึงรู้แล้วว่าที่ไหนให้บริการก็ใช่ว่าจะได้รับบริการ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ ผลคือต้องเดินทางไกลเพื่อเข้ารับบริการ”          3. ผู้รับบริการจำนวนไม่น้อยมีปัญหาค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ค่าเดินทาง ค่าอาหารระหว่างเดินทาง ค่าผ้าอนามัย ค่าใช้จ่ายของคนที่มาด้วย ค่าจ้างคนดูแลลูก ค่าบริการปรึกษาด้านจิตใจ และสูญเสียรายได้จากการหยุดงานหรือบางรายที่ทำงานไม่ให้หยุด          “การรับบริการเป็นเรื่องชนชั้น คนรวยจะมีหนทางเยอะแยะ เลือกรับบริการได้เร็ว ดีที่สุด สบายใจ สบายตัวที่สุด แต่ถ้าคุณตกงาน เป็นนักเรียนนักศึกษา ทำงานโรงงาน ทางเลือกของคุณมันตีบตันมากและเราก็พบว่าคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับคำปรึกษา”          4. พบว่าผู้รับบริการถูกปฏิเสธ ไม่มีการส่งต่อ ถูกตีตรา เลือกปฏิบัติ และพบเจอบริการที่ไม่เป็นมิตร          5. ผู้ให้บริการถูกตีตรา มือเปื้อนเลือด เห็นแก่เงิน ไร้จริยธรรม เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ การถูกตีตรายังมีอยู่อย่างรุนแรง สุพีชา กล่าวว่า          “อย่าปล่อยให้หมอที่ให้บริการต้องเคว้งคว้าง การประชาสัมพันธ์คือการคุยกับสังคมว่ารัฐบาลสนับสนุน กฎหมายสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องมีกฎกระทรวง สุพีชายังเสนออีกว่านโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต้องมีความชัดเจน ทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายและสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่ตั้ง เงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และสิทธิในการทำแท้งให้ประชาชนทราบ สถานบริการที่ไม่ต้องการบริการจำเป็นต้องส่งต่อ          และจำเป็นต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพียงพอ ขยายจำนวนสถานบริการให้ครอบคลุมโดยเฉพาะต้องมีแผนงาน งบประมาณเพื่อปรับทัศนคติของผู้ให้บริการ มีการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์ต่อผู้รับบริการ จัดให้มีบริการใช้ยาด้วยตัวเองและโทรเวชกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง          รอดูกันว่าสิ้นปีนี้ระบบราชการไทยจะผลักประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >