ฉบับที่ 165 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์พฤศจิกายน 2557 ห้ามจำหน่าย “ภาชนะปนเปื้อนสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์” คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้มีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย "ภาชนะหรือเครื่องใช้สำหรับบรรจุหรือสัมผัสอาหารที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์" หลังจากพบข้อมูลยืนยันชัดเจนแล้วว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถละลายออกมาปะปนในอาหาร เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เคยทดสอบการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ภาชนะที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วางขายตามตลาดนัดมีสีมันฉูดฉาด ไม่มีการแจ้งผู้ผลิตหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิต “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” ฟอกฟันขาวได้จริงหรือ? อะไรที่ถูกแชร์ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ ต้องฟังหูไว้หู อย่าได้เชื่อตามทันที อย่างกรณีล่าสุด ที่มีการส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ว่า “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” นำมาฟอกฟันให้ขาวขึ้นได้ งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใด การทำฟันขาวด้วยมะนาวผสมเบกกิงโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ถือเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และกรดจากมะนาวยังระคายเคืองเหงือกอาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเบคกิงโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆ ที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้ ผู้ที่มีเหงือกอักเสบและเสียวฟันอยู่แล้วไม่ควรนำวิธีนี้มาใช้เพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดฟันไม่ควรใช้เบคกิงโซดาขัดฟัน เพราะจะทำให้กาวยึดเครื่องมือจัดฟันอ่อนตัวและหลุดได้   อย.เชือด!!! “ครีมมหัศจรรย์” Firmax 3 อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อหลงใช้ผลิตภัณฑ์ Firmax 3 ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นครีมมหัศจรรย์ ใช้ทาตรงจุดชีพจร สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ริดสีดวงทวารหนัก อัมพฤต-อัมพาต ฯลฯ หลังทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หลักจากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ Firmax 3 เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พบมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแห่งใหญ่อยู่ที่โคราชและหาดใหญ่ มีการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ตัวสินค้าเองมีลักษณะเป็นเครื่องสำอางแต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค อย.จึงได้ดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายและผู้ที่นำเข้า หากผู้บริโภคคนไหนพบเห็นผลิตภัณฑ์ Firmax 3 หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงหรือแจ้งสรรพคุณว่ามีผลต่อการรักษาโรค สามารถแจ้งไปยัง อย.ให้ทำการตรวจสอบและเอาผิดได้ทันทีที่ สายด่วย อย. 1556   ส้มจีนมีใบ คือส้มผิดกฎหมาย? รู้หรือมั้ยว่า? ส้มจีนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด หากมีใบติดมาที่ผลส้มด้วยอาจเป็นส้มที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เพราะล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ส้มจีนที่มีใบติดมาห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเสี่ยงโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีการนำส้มจีนที่มีใบติดเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะขายได้ราคาดีกว่าส้มไม่มีใบ ซึ่งส้มจากจีนจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายต้องมาจากสวนหรือโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง มีใบรับรองสุขอนามัย และต้องไม่มีกิ่ง ก้านใบ ดิน ติดเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการเกษตร แต่เพราะคนไทยเข้าใจผิด นิยมซื้อส้มที่มีใบติดเพราะเห็นว่าสวยงามกว่า คิดว่าเป็นส้มใหม่ เลยทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก     ค้านกฎหมาย จดสิทธิบัตร “กลิ่น-เสียง” สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และภาคประชาชน ค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็น “กลิ่นและเสียง” เหตุเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์และยังเป็นการทำร่างกฎหมายที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความให้มีการจดสิทธิบัตรเรื่องกลิ่น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิ์ได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญการให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ ถือว่าเกินไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต ซึ่งหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >