ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกับ Police i lert u

เหตุฉุกเฉินมักจะไม่บอกสัญญาณเตือนล่วงหน้า ดังนั้น สติ คือสิ่งที่ควรมีที่สุดในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีสติ สิ่งต่อไปคือต้องมีผู้ช่วยที่จะคอยช่วยเหลือชีวิตและทรัพย์สินของเราด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อเกิดเหตุด่วน ทุกคนจะต้องนึกถึงหมายเลขโทรศัพท์ 191 โดยมีความหวังให้ตำรวจเดินทางมาช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ล่าสุดได้มีแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลทำออกมาเพื่อตอบสนองกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเหนือจากหมายเลขโทรศัพท์ 191แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า Police i lert u แอพพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ทั้งในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และระบบปฏิบัติการ ios หลังจากที่ได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาไว้บนสมาร์ทโฟนแล้ว ขั้นตอนแรกคุณจะต้องคลิก sign up เพื่อสมัครและกรอกรายละเอียดสำคัญ อาทิเช่น ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สำหรับให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดต่อกลับมายังเจ้าของสมาร์ทโฟนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในแอพพลิเคชั่น Police i lert u คุณสามารถ sign in และ log out ออกจากแอพพลิเคชั่นได้ตลอดภายในแอพพลิเคชั่นจะสามารถส่งข้อความแบบ chat กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการแก้ไขข้อมูลส่วนตัว ทั้งเรื่องรูปภาพ พาสเวิร์ด หมวดที่สำคัญอีก 2 หมวดสำหรับแอพพลิเคชั่นนี้ อย่างแรก คือ หมวด i lert เป็นหมวดที่มีไว้สำหรับส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเข้าหมวดนี้ แอพพลิเคชั่นจะค้นหาตำแหน่งสมาร์ทโฟนว่าอยู่ตรงไหน จะเห็นว่ามีพิกัดเป็นตัวเลขลองจิจูดและละติจูด ด้านล่างคุณสามารถเขียนข้อความเพื่อแจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งสามารถแนบรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ต่อจากนั้นให้กดปุ่มสัญลักษณ์สัญญาณบริเวณด้านบนขวา ข้อมูลต่างๆ ก็จะถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนกลาง เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และแจ้งให้เดินทางมาถึงสถานที่นั้นๆ ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่คุณไม่สามารถเขียนข้อความหรรือถ่ายรูปได้ ก็สามารถที่จะกดปุ่มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้เลย หมวดสุดท้ายที่สำคัญ คือ หมวด i call เป็นหมวดที่แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่จะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณที่ใกล้คุณมากที่สุด เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้รวดเร็วมากขึ้นแอพพลิเคชั่น Police i lert u ถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ และควรดาวน์โหลดไว้บนสมาร์ทโฟน เพื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น และที่สำคัญควรกดปุ่มเพื่อส่งสัญญาณของความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >