ฉบับที่ 277 ผงซักฟอกที่ไม่เหมือนเดิม

        ปลายเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2554 น้ำที่ท่วมบ้านผู้เขียนในแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา นานเกือบ 2 เดือนได้ลดลง ในช่วงนั้นผู้เขียนได้รับการเสนอจากเพื่อนบ้านว่าจะรับทำความสะอาดบ้านให้ด้วยน้ำยาล้างบ้านที่มีเอ็นซัม (enzyme) เป็นองค์ประกอบด้วยราคา 5000 บาท ในสถานการณ์ตอนนั้นผู้เขียนได้ตอบปฏิเสธไปเพราะไม่ค่อยศรัทธาและเสียดายสตางค์ อีกทั้งยังพอมีแรงกายและแรงใจที่จะจัดการบ้านของตนเอง ต่อมาผู้เขียนจำได้ว่า เริ่มได้ยินโฆษณาขายผงซักฟอกแนวใหม่ที่กล่าวว่า ขจัดคราบหนักด้วยพลังเอ็นซัม ป้องกันการย้อนกลับของคราบสกปรก คงความสว่างสดใส ฟื้นฟูใยผ้าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม          ข้อความโฆษณาเพื่อหว่านล้อมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าใหม่นั้นมักกล่าวว่า “เป็นผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมเหมาะสำหรับสลายคราบหนักบนเสื้อผ้า ซักผ้าขาวได้ดั่งใจ ผ้าสีขาวใส หอมลึก หอมนานฝังแน่นด้วยแคปซูลน้ำหอม สามารถใช้สำหรับซักด้วยมือหรือเครื่องซักผ้า (สูตรฟองน้อย) ขจัดคราบสกปรกได้อย่างรวดเร็ว ผ้าขาวเป็นประกายเหมือนใหม่ ไม่ผสมแป้ง แช่ผ้าค้างคืนไม่เหม็นอับ”         ในต่างประเทศมีการแยกประเภทผงซักฟอกตามแต่ละชนิดของเอ็นซัมเพื่อกำจัดคราบเฉพาะ เช่น ชนิดมีโปรตีเอส (protease) ใช้กำจัดคราบโปรตีนออกจากผ้า ชนิดมีอะไมเลส (amylase) ใช้กำจัดคราบแป้งติดแน่นบนเนื้อผ้า และชนิดมีไลเปส (lipase) เพื่อกำจัดคราบไขมันบนเนื้อผ้า โดยมีคำแนะนำให้ทำการแช่ผ้าไว้ก่อนซัก 30 นาที – 1 ชั่วโมง หรือดูให้เหมาะสมตามคราบที่เปื้อนบนเนื้อผ้า หรืออาจทิ้งไว้ค้างคืนถึงหลายๆ วัน ก็ไม่มีปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ เพราะผงซักฟอกแนวใหม่ไม่มีแป้งและสารเพิ่มปริมาณที่เป็นอาหารของแบคทีเรีย         ผู้บริโภคหลายท่านอาจพอมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า เอ็นซัมทำหน้าที่ช่วยเร่งปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิตและบางชนิดก็มีศักยภาพในการทำงานนอกสิ่งมีชีวิตได้ด้วย เช่น ปาเปน (papain) ในยางมะละกอ ดังนั้นการเติมเอ็นซัมลงในผงซักฟอกจึงทำให้ผงซักฟอกมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการกำจัดคราบสกปรกขนาดใหญ่ที่เกาะติดกับเส้นใยผ้า โดยคราบนั้นถูกเอ็นซัมที่เหมาะสมย่อยสลายเป็นอนุภาคขนาดเล็กแล้วหลุดออกจากเส้นใยผ้าได้ง่ายขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อนช่วยเหมือนในการซักผ้าแบบเดิม ซึ่งมักลดคุณสมบัติของเนื้อผ้า เพราะความร้อนมักทำให้เส้นใยผ้าบางชนิดลดความแข็งแรงหรือบางชนิดเสียรูปทรงไปเลย และความร้อนอาจทำให้สีย้อมบนเนื้อผ้าเปลี่ยนเฉดไปด้วย         ความคิดในการนำเอาเอ็นซัมมาช่วยในการซักผ้าเริ่มตั้งแต่ปี 1959 (พ.ศ. 2502) โดยออตโต โรห์ม (Otto Röhm) ได้เสนอให้มีการเพิ่มเอ็นซัมในผงซักฟอก ซึ่งคือโปรตีเอสที่สกัดจากอวัยวะของสัตว์ที่ได้จากโรงฆ่าสัตว์ อย่างไรก็ดีแม้ว่าผงซักฟอกสูตรของโรห์มได้ประสบความสำเร็จมากกว่าวิธีการทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบเดิม แต่เอ็นซัมที่ใช้นั้นไม่เสถียรนักเมื่อต้องถูกผสมกับด่างและสารฟอกขาว ต่อมาจึงมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการใช้เอ็นซัมโปรตีเอสที่ผลิตโดยจุลินทรีย์สายพันธุ์เฉพาะซึ่งมีความเสถียรกว่า         ชนิดของเอ็นซัมที่ใช้ในการซักผ้านั้นต้องมีความพิเศษเหนือเอ็นซัมทั่วไปคือ สามารถทำงานได้ในสภาวะปรกติของการซักผ้า เช่น อุณหภูมิของน้ำอาจสูงถึง 60 °C และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นด่างหรือเป็นกรด อยู่ได้ดีในสารละลายที่มีความเข้มข้นขององค์ประกอบอื่นเช่น แร่ธาตุที่แตกตัวเป็นไอออนปริมาณสูง และการมีอยู่ของสารลดแรงตึงผิวหรือสารมีฤทธิ์ออกซิไดซ์ สำหรับเอ็นซัมที่นิยมนำมาเติมลงในผงซักฟอกโดยหลักๆ นั้นมี 3 ประเภท คือ         โปรติเอส (proteases) เป็นเอ็นซัมที่มีการใช้มากที่สุดในผงซักฟอก โดยทำหน้าที่ย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็ก (proteolysis) ด้วยการตัดสายโปรตีนให้มีขนาดที่เล็กลง คราบโปรตีนบนเสื้อผ้าจึงหลุดออกได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น รอยเลือด, เหงื่อไคล และคราบอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน         อัลฟา-อะไมเลส (alpha-amylases) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยแป้งให้มีขนาดเล็กลง จึงถูกใช้เพื่อกำจัดคราบอาหารที่เกิดจากแป้งพาสต้า, มันฝรั่ง, น้ำเกรวี่, ช็อกโกแลต อาหารเด็ก ตลอดจนเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของแป้ง นอกจากนี้อัลฟา-อะไมเลสยังช่วยกำจัดคราบเจลที่เกิดจากการพองของผงแป้งเมื่อโดนความชื้นทำให้เกิดคราบเหนียวจับกับฝุ่นละอองได้ง่ายจนลดความสดใสของผ้า        ไลเปส (lipase) เป็นเอ็นซัมที่มีหน้าที่ย่อยไขมันหรือน้ำมันที่ไม่ละลายน้ำให้มีขนาดเล็กลงจนผงซักฟอกสามารถเข้าทำปฏิกิริยากับโมเลกุลไขมันหรือโมเลกุลน้ำมันที่เล็กลงจนกลายสภาพเป็นโมเลกุลที่ละลายน้ำได้ การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัม         การเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมนั้นมีคำแนะนำโดยทั่วไปว่า ผู้บริโภคควรใส่ใจในการใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมเซลลูเลส (cellulases) เพื่อช่วยกำจัดคราบซอสและซุปที่ทำจากผักและผลไม้ เพราะเอ็นซัมชนิดนี้มีผลกับเสื้อผ้าที่มีเส้นใยทำมาจากฝ้าย ลินิน หรือในกรณีผ้าใยสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่เป็นเซลลูโลสจากพืช เนื่องจากเอ็นซัมสามารถตัดพันธะไกลโคไซด์ (glycosidic bond) ของเส้นใยเซลลูโลสซึ่งผลที่ตามมาคือ ผ้าเปื่อยเร็ว         กรณีผ้าเปื่อยเร็วนั้นอาจเกิดได้ในกรณีใช้ผงซักฟอกที่ผสมเอ็นซัมแมนนาเนส (mannanase) เพื่อขจัดคราบอาหารที่มีองค์ประกอบบางส่วนเป็นยางไม้เช่น guar gum ที่มีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลแมนโนส (mannose) เรียกว่า แมนแนน (mannan) ที่เป็นโพลีแซ็กคาไรด์ชนิดหนึ่งพบได้ในเฮมิเซลลูโลสซึ่งเป็นองค์ประกอบของเส้นใยธรรมชาติจากพืชบางชนิดที่นำมาทอเป็นผ้า ส่วนผ้าไหมซึ่งทราบกันดีว่า มีองค์ประกอบเป็นเส้นใยโปรตีนจากรังไหมนั้น ก็ไม่ควรใช้ผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมโปรตีเอสเพราะลักษณะที่ดีของผ้าไหมอาจเสียไประหว่างการซัก ผงซักฟอกเอ็นซัมกับสิ่งแวดล้อม         การกล่าวว่า ผงซักฟอกแนวใหม่ช่วยลดโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้นดูมีความเป็นจริง เพราะนอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดคราบของผงซักฟอกแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เอ็นซัมเป็นที่นิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด คือ เอ็นซัมเป็นสารชีวภาพที่ได้จากธรรมชาติซึ่งไม่เป็นอันตรายในการซักและทิ้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถประหยัดพลังงาน เนื่องจากการไม่ต้องใช้น้ำร้อนในการซักผ้าในประเทศที่น้ำประปาในฤดูหนาวมีอุณหภูมิต่ำ         มีข้อควรคำนึงบางประการที่กลุ่มผู้ประกอบการระบุไว้เอกสารเรื่อง Guidance for the Risk Assessment of Enzyme-Containing Consumer Products (คำแนะนำในการประเมินความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่มีเอ็นซัม) ของ American Cleaning Institute เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009 ที่กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษ 1960 ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับอันตรายของเอ็นซัมและคิดเอาเองว่า “เป็นส่วนผสมจากธรรมชาติจึงควรปลอดภัย” ดังนั้นเอ็นซัมในยุคเริ่มแรกที่ถูกนำมาใช้ในโรงงานผลิตผงซักฟอกจึงอยู่ในรูปแบบผงละเอียดที่ลอยฟุ้งได้มากในอากาศ (เชื่อกันว่าอยู่ที่ > 1 มก./ลบ.ม.) ส่งผลให้การสูดดมฝุ่นของเอ็นซัมเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการผลิตแอนติบอดีจำเพาะคือ อิมมูโนโกลบูลิน E (immunoglobulin E หรือ IgE) ที่ส่งผลให้เกิดอาการภูมิแพ้ของทางเดินหายใจในหมู่คนงานผลิตผงซักฟอกและแม่บ้านบางคนของคนงานที่ซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนด้วยฝุ่นเอ็นซัมของสามีที่เป็นคนงาน         ดังนั้นเมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าว ผู้ผลิตสินค้าจึงใช้เทคโนโลยีการห่อหุ้มเอ็นซัมเป็นเม็ด (encapsulation) เพื่อลดการเกิดฝุ่น ทำให้อุบัติการณ์ของอาการภูมิแพ้ในทางเดินหายใจในผู้บริโภคและคนงานหมดไป ดังนั้นผงซักฟอกที่มีเอ็นซัมช่วยในการซักผ้าจึงต้องเป็นชนิดที่ใช้เอ็นซัมที่ได้รับการพัฒนาให้อยู่ในรูปการห่อหุ้มเป็นเม็ด (encapsulated particle) เท่านั้น         ประการสุดท้ายที่น่าจะสำคัญในยุคที่เศรษฐกิจอาจอยู่ในสภาพ “วิกฤต” คือ ผู้บริโภคควรประเมินก่อนตัดสินใจซื้อว่า มีเหตุผลใดในการซื้อผงซักฟอกแนวใหม่ที่แพงกว่าของเก่ามาใช้ เช่น ต้องดูจากลักษณะการใช้เสื้อผ้าในอาชีพที่ต่างกัน โดยคนที่ทำงานในที่ร่มซึ่งเหงื่อออกน้อยและไม่น่าจะเกิดคราบสกปรกหนักบนเสื้อผ้าก็อาจไม่จำเป็นต้องซื้อมาใช้ ยกเว้นถ้าผู้บริโภคเป็นผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนมากพอและต้องรักษาภาพพจน์การเป็นคนประณีต นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง         ส่วนในกรณีของผู้บริโภคที่ทำงานในสถานที่ที่เสื้อผ้าต้องสัมผัสคราบสกปรกหนักมากเช่น ช่างเครื่อง คนฆ่าสัตว์ พนักงานทำความสะอาด ผู้ใช้แรงงานกลางแจ้ง ฯลฯ บุคคลในอาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องทบทวนว่า ถ้าซื้อผงซักฟอกแนวใหม่นี้มาใช้จะทำให้เงินที่ควรเก็บไว้ใช้เมื่อแก่ลดลงเท่าใด อีกทั้งมักมีการโฆษณาที่ใช้ดารา (ซึ่งอาจซักผ้าด้วยมือไม่เป็น) มากระตุ้นให้ซื้อผงซักฟอกประเภทนี้สำหรับซักเสื้อผ้าให้เด็กเล็ก แม่ผู้ประเสริฐทั้งหลายก็ควรประเมินว่า จะมีคนที่มีค่าพอสักกี่คนในการที่ต้องลงทุนซื้อของแพงมาซักผ้าลูกเพื่อให้เขาได้ชื่นชมว่า ลูกใส่เสื้อผ้าสะอาด  ประการสำคัญคือ ผู้บริโภคเชื่อได้อย่างไรว่า ผงซักฟอกที่ซื้อมานั้นมีเอ็นซัมจริงอย่างที่โฆษณาไว้โดยไม่ต้องซื้อมาลองผิดลองถูก 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 สารเคมีตลอดกาลในเสื้อผ้า

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณไปดูผลทดสอบสิ่งทอที่ระบุว่ามีคุณสมบัติกันละอองน้ำ คราวนี้ไม่ใช่การทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติการใช้งานหรือความพึงพอใจของผู้บริโภค แต่เป็นการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำกันคราบสกปรกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network หรือ IPEN)* และองค์กรสมาชิก เจาะจงตรวจวิเคราะห์หาสาร PFAS ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นกลุ่มสารที่สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานในโรงงานได้รับอันตรายสะสม ลูกค้าที่ซื้อไปสวมใส่ก็สัมผัสกับสารเหล่านี้โดยตรง และการซักทำความสะอาดยังทำให้สารเหล่านี้แพร่ไปสู่อากาศหรือแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือมันสามารถสะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างยาวนานด้วย   การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิกของ IPEN ใน 13 ประเทศจากเอเชีย อัฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา เยอรมนี โปแลนด์ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร เนธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมส่งตัวอย่างเข้าทดสอบได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศตัวอย่างทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่ได้จากการสุ่มซื้อในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2565 ถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารลส์ ในสาธารณรัฐเชกเนื่องจากมีสารเคมี PFAS หลายพันชนิดที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทดสอบจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS   ผลการตรวจวิเคราะห์ในภาพรวมเราพบว่ามีถึง 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65) จากเสื้อผ้าทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่มีการใช้หรือการปนเปื้อนของสารในกลุ่ม PFAS หากดูเฉพาะตัวอย่างที่เป็นแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง พบว่ามีถึง 16 ตัวอย่างที่มีระดับสารเคมีในกลุ่ม PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป (6 ตัวอย่าง)การตรวจวิเคราะห์พบสาร FTOHs (หนึ่งในสารกลุ่ม PFAS) และผลผลิตจากการสลายตัวของสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติด้านความทนทาน การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรอยเปื้อน ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เกิดจากการใช้โพลีเมอร์ที่ได้จากฟลูโรเทโลเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและ FTOHs ตัวที่พบมากที่สุดคือ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่จัดอยู่ในรายการ “ต้องกำจัด” ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม จึงไม่ควรนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล”? สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมาก ทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก เราจึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล” งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS สามารถถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด และเพราะมันกำจัดได้ยาก ความเข้มข้นของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิจัยพบ PFAS ทั้งในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงแหล่งน้ำดื่ม และฝุ่นผงตามบ้าน มีหลักฐานว่ามันสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียวเราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่?ปัจจุบันมีสารชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยให้คุณสมบัติอย่างเดียวกัน เห็นได้จากผลการทดสอบครั้งนี้ เราพบเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันคล้ายกันที่ผลวิเคราะห์ระบุว่าปราศจากสาร PFAS ถึง 21 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าตัวอย่างที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับถ้ามองในภาพรวมจากทั้ง 13 ประเทศจะพบว่าตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก ครองอันดับสิ่งทอที่มี PFAS ในปริมาณมากที่สุด (1304.7 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสองตัวอย่างจากสหรัฐ (983 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสามได้แก่อีกหนึ่งตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก (825.1 นาโนกรัม/กรัม) ส่วนตัวอย่างจากไทยนั้นเข้ามาเป็นอันดับที่ 9·     คำอธิบายEOF (Extractable Organic Fluorine) หมายถึงปริมาณสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ LOD (Limit of Detection) หมายถึงปริมาณต่ำสุดที่สามารถวัดได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 กรแสต่างแดน

เงินขวัญถุง         คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเมืองเดลลี สั่งปรับห้างจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป lifestyle เป็นเงิน 3,000 รูปี (ประมาณ 1,300 บาท) และขอให้ห้างคืนเงิน 7 รูปีที่เรียกเก็บเป็นค่าถุงกระดาษ ให้กับลูกค้าด้วย         คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่ง ว่าด้วยความบกพร่องในการให้บริการของห้าง ซึ่งอ้างว่าถุงกระดาษมีต้นทุนแพงกว่าถุงพลาสติก (ที่รัฐบาลประกาศห้ามใช้ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565) จึงขอเรียกเก็บค่าถุงจากลูกค้า         คำถามคือห้างควรผลักภาระค่าใช้จ่ายไปให้ลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสินค้าแล้วหรือเปล่า สำคัญกว่านั้นคือลูกค้าได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่         จากหลักฐานภาพถ่ายที่ยืนยันว่าห้างไม่ได้แจ้งให้ลูกค้านำถุงมาเอง รวมถึงไม่ได้บอกราคาและประเภทของถุงกระดาษ บริษัทจึงไม่สามารถเก็บค่าถุงที่ใช้ใส่สินค้าที่ซื้อจากทางร้านได้ และต้องจ่ายค่า “ทำขวัญ” ลูกค้าเป็นจำนวนดังกล่าว   ชื่อไฮเอนด์         เทศบาลกรุงโซลขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ลดความยาวและความซับซ้อนของโครงการอพาร์ตเมนท์ หลังผลสำรวจพบว่าชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่ถูกใจสิ่งนี้         หลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์การตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์เป็นภาษาเกาหลีผสมกับภาษาต่างประเทศ ยำรวมกันทั้งชื่อย่าน ชื่อบริษัทที่ก่อสร้างรวมถึงชื่อแบรนด์เพื่อแสดงถึงความ “ไฮเอนด์” ทั้งที่ชื่อเหล่านี้ไม่ได้การันตีคุณภาพของที่อยู่อาศัย         เทศบาลฯ ได้สำรวจความเห็นประชากรกว่า 1,000 คน และพบว่าร้อยละ 77.3 ไม่ชอบชื่อยืดยาวแบบนี้ บางหมู่บ้านถึงกับร้องขอให้เอาชื่อของตัวเองออกจากชื่ออพาร์ตเมนท์ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกันด้วย         หลังการพูดคุยมีผู้ประกอบการ 9 ราย (Samsung Hyundai และ Posco ก็อยู่ในกลุ่มนี้) ให้คำมั่นว่าจะตั้งชื่อโครงการให้สั้นและง่ายกว่าเดิม รวมถึงใช้คำภาษาเกาหลีให้มากขึ้น         เทศบาลโซลมีกำหนดจะประกาศ “แนวทางการตั้งชื่ออพาร์ตเมนท์” ภายในครึ่งปีแรกของปี 2024  ซ่อมกันก่อน         เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่ทิ้งขว้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหายเพียงเล็กน้อย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงให้ “โบนัสช่วยซ่อม” แบบเหมาจ่ายมาตั้งแต่ปี 2022  โดยเงินช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดขยะและสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่ประกาศใช้เมื่อปี 2020         สิ่งที่จะเพิ่มมาในปี 2024 คือค่าซ่อมหน้าจอโทรศัพท์ 25 ยูโร (ประมาณ 950 บาท) และค่าซ่อมโน๊ตบุ๊ค 50 ยูโร         รวมแล้วจึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าข่ายได้รับเงินช่วยเหลือ 73 รายการ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน กาต้มน้ำ เครื่องทำกาแฟ โทรทัศน์และเครื่องเล่นดีวีดี         เงินช่วยเหลือนี้จะปรากฎเป็นส่วนลดในบิลค่าซ่อมโดยอัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแต่ต้องไปใช้บริการกับร้านซ่อมที่เข้าร่วมโครงการ         ฝรั่งเศสตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ารับการซ่อมจากปีละ 10 ล้านชิ้น เป็น 12 ล้านชิ้นให้ได้ภายในปี 2027   ไม่ใช่ที่สูบ         อุตสาหกรรมท่องเที่ยวญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการห้ามสูบบุหรี่ให้มากขึ้น โดยอาจระบุ “พื้นที่สูบบุหรี่” ผ่านแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภาษาต่างๆ เป็นต้น         ญี่ปุ่นห้ามการสูบบุหรี่ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (ยกเว้นในพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่) มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากนัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว จำนวนชาวต่างชาติที่ถูกปรับเพราะ “เดินไปสูบไป” ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในบางเมืองเช่น โกเบ มีถึงร้อยละ 40 ของผู้ฝ่าฝืนที่เป็นนักสูบจากต่างแดน         นอกจากกฎหมายที่ใช้ทั่วประเทศแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่งมีค่าปรับสำหรับการสูบบุหรี่ในพื้นที่ด้วย เช่น การสูบบุหรี่ในสวนนารา มีค่าปรับ 1,000 เยน (ประมาณ 240 บาท) โดยเจ้าหน้าที่สามารถแสดงตนและปรับผู้ฝ่าฝืนได้ทันที   ลดเวลาหน้าจอ         กระทรวงเด็กและโรงเรียนของเดนมาร์กเล็งออกกฎหมายห้ามศูนย์รับดูแลเด็กเล็กใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ช่วยเลี้ยงเด็ก         ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ดูแลจะให้เด็กดูหน้าจอแท็บเล็ตหรือโทรทัศน์ไม่ได้ เพียงแต่ต้องจำกัดเวลา เช่น สำหรับเด็กอายุไม่เกินสองปี จะอนุญาตให้ดูหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้ในกรณีที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น เพราะเด็กเล็กไม่ควรมี “เวลาหน้าจอ” มากเกินไป         ขณะที่เด็กอายุระหว่างสามถึงห้าปีจะอนุญาตให้ใช้หน้าจออย่างเหมาะสม โดยเด็กจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้รับผิดชอบ         สรุปว่าสถานรับเลี้ยงเด็กจะอ้างว่าจำเป็นต้องปล่อยให้เด็กดูจอเพราะ “วันนี้ยุ่งมาก” หรือ “ใกล้เวลาพ่อแม่มารับแล้ว” ไม่ได้ รัฐมนตรีฯ เขามองว่ามันเป็นความบกพร่องในการดูแลเยาวชนของชาติ กระทรวงฯ คาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านเป็นกฎหมายได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2024   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ซักก่อนใส่

        หลายคนอาจมีความชอบเป็นส่วนตัวในการสวมใส่เสื้อผ้าใหม่เอี่ยมที่มิได้ซักมาก่อน ด้วยรู้สึกว่าการรีดเสื้อหรือกางเกงให้เรียบเหมือนที่วางขายในร้านนั้นทำได้ยาก จึงขอใส่โชว์ให้ดูดีที่สุดสักครั้งหนึ่งก่อนซัก         ใครที่ทำเช่นนี้ย่อมมีโอกาสสัมผัสกับสารเคมีที่ก่ออันตรายเช่นภูมิแพ้ได้ เนื่องจากการใส่เสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ซักนั้นระหว่างที่เหงื่อออกมักก่อให้เกิดการเสียดสีระหว่างเนื้อผ้าและผิวกายจนทำให้สีย้อมผ้าส่วนที่อาจหลงเหลือในการผลิตหลุดออกมาสู่ผิวกาย นอกจากนี้แล้วอุปกรณ์ใหม่ในการเล่นกีฬาที่ทำจากผ้าหรือใยสังเคราะห์ที่สัมผัสกับผิวหนัง เช่น ที่รัดเข่า รัดน่อง รัดข้อมือ ฯ ก็เป็นอีกแหล่งของสีย้อมผ้าส่วนเกินที่หลุดออกมาก่อปัญหาภูมิแพ้ได้เช่นกัน         มีงานวิจัยหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า เสื้อผ้าใหม่ที่ยังไม่ได้ซักมีสารเคมีที่เป็นพิษตกค้างอยู่ เช่น บทความเรื่อง Quinolines in clothing textiles—a source of human exposure and wastewater pollution? ในวารสาร Analytical and Bioanalytical Chemistry ของปี 2014 ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดนได้ทดสอบเสื้อผ้า 31 ตัวอย่างที่ซื้อจากร้านค้าปลีกที่มีความหลากหลายทั้งในด้านสี วัสดุ ยี่ห้อ และราคาจากบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ จอร์เจีย โปรตุเกส จีน บัลแกเรีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี กัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ อียิปต์ อิตาลี ปากีสถาน โปแลนด์ ซึ่งผลการวิเคราะห์ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีกลุ่ม “ควิโนลีน (quinoline)” และอนุพันธ์อีก 10 ชนิด ใน 29 ตัวอย่าง โดยระดับของสารเคมีกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูงเป็นพิเศษในเสื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ สำหรับสารประกอบ Quinoline ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการผลิตสีย้อมเสื้อผ้านั้น หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ได้จัดว่าเป็น " possible human carcinogen" (เป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์) เนื่องจากการศึกษาบางเรื่อง เช่น Tumor-Initiating Activity of Quinoline and Methylated Quinolines on The Skin of Sencar Mice ในวารสาร Cancer Letters ของปี 1984 ได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสารกลุ่มนี้กับการกระตุ้นเนื้องอกในหนูทดลอง เพียงแต่ว่ายังไม่มีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง         นอกจากนี้สารเคมีอีกชนิดที่พบได้ในเสื้อผ้าใหม่คือ ไนโตรอะนิลีน (Nitroaniline) ซึ่งใช้ในการสังเคราะห์สีย้อมผ้ากลุ่มเอโซ (Azo dyes) นั้นมีบทความเรื่อง NTP Toxicology and Carcinogenesis Studies of p-Nitroaniline (CAS No. 100-01-6) in B6C3F1 Mice (Gavage Studies) ใน National Toxicology Program technical report series ปี 1993 ที่ระบุหลักฐานการศึกษาในสัตว์ทดลองที่เชื่อมโยงผลเสียเนื่องจากสารเคมีนี้ต่อสุขภาพผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้น (ซึ่งรวมถึงมะเร็ง) ถ้าสารเคมีบางส่วนยังคงติดอยู่ในเส้นใยของเสื้อผ้า                 MDA เป็นสารที่นำมาใช้สำหรับผลิตโพลียูรีเทน ซึ่งมีการนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใยสแปนเด็กซ์ (Spandex) ที่ยืดแล้วหดกลับได้เท่ากับขนาดเดิม และสามารถรีดให้เรียบได้ด้วยเตารีดที่อุณหภูมิต่ำ ทนต่อเหงื่อไคลและไขมันจากร่างกายได้ดีกว่ายางธรรมชาติ ใยสแปนเด็กซ์ถูกย้อมสีต่างๆ ได้ ทนต่อการขัดสีและทนต่อปฎิกริยาออกซิเดชั่นดี จึงมีความนิยมนำมาใช้ทำเป็นส่วนหนึ่งของชุดชั้นในสตรี ชุดอาบน้ำ ขอบถุงเท้า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ต้องการให้มีการยืดกระชับ เช่น ผ้าพันข้อเท้าและหัวเข่า ผ้าพันกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงอาจมี MDA ตกค้างได้         นอกจากสาร MDA แล้วเครื่องนุ่งห่มต่างๆ มักถูกย้อมด้วยสีกลุ่มเอโซซึ่งหลายชนิดสหภาพยุโรปห้ามใช้หรือจำกัดการหลงเหลือของสี ทั้งที่สีบางชนิดไม่ได้ก่อมะเร็งด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ขณะใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังแสดงในบทความเรื่อง Formation of a carcinogenic aromatic amine from an azo dye by human skin bacteria in vitro ในวารสาร Human & Experimental Toxicology ของปี 1999 ซึ่งให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซบางชนิดถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารประกอบแอโรแมติกอะมีนโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง อีกทั้งมีข้อมูลทางพิษวิทยาว่า สารประกอบแอโรแมติกอะมีนหลายชนิดถูกดูดซึมได้ทางผิวหนัง โดยในการศึกษานี้ผู้วิจัยได้นำเอา Direct Blue 14 (สีเอโซชนิดหนึ่งซึ่งมักถูกใช้สำหรับผ้าฝ้าย ป่าน ไหมเทียม และเส้นใยเซลลูโลสอื่นๆ) มาผสมกับเชื้อ Staphylococcus aureus (พบได้ทั่วไปบนผิวหนังมนุษย์) แล้วบ่มในเหงื่อสังเคราะห์ (20 มิลลิลิตร, pH 6.8) ที่ 28 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากปฏิกิริยาถูกสกัดและวิเคราะห์โดยใช้ HPLC ที่มีชุดตรวจวัดเป็น mass spectrometer ทำให้ตรวจพบสาร o-tolidine (3,3'-dimethylbenzidine) ซึ่งเป็นสารพิษในระดับ IARC Group 2B carcinogen (อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์) และอนุพันธ์ของ Direct Blue 14 อีกสองชนิดซึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่ชัดเจน         บทความที่ศึกษาในประเด็นเดียวกันอีกเรื่องคือ Azo dyes in clothing textiles can be cleaved into a series of mutagenic aromatic amines which are not regulated yet ในวารสาร Regulatory Toxicology and Pharmacology ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า สีย้อมเอโซเป็นสีที่แบคทีเรียที่ผิวหนังหลายชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงสีชนิดนี้ไปเป็นแอโรแมติกอะมีน ซึ่งอาจถูกดูดซึมทางผิวหนังในปริมาณที่อาจก่อปัญหา เพราะเป็นที่ทราบกันว่า สีเอโซต่างๆ อาจถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งชนิดแอโรแมติกอะมีนชนิดใดชนิดหนึ่งใน 22 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสิ่งทอที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป (ดูรายละเอียดได้จาก เอกสาร COMMISSION REGULATION (EC) No 552/2009 of 22 June 2009) และผลการทดสอบจาก Ames Test (การทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์) ซึ่งใช้ทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในการศึกษานี้พบว่า แอโรแมติกอะมีน 4 ชนิดเป็นสารก่อกลายพันธุ์ ซึ่งเมื่อนับรวมกับข้อมูลเดิมที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้วว่า มีสีที่ถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อกลายพันธุ์ 36 ชนิด จึงทำให้ระบุได้ว่า จากสีเอโซ 180 ชนิด (ซึ่งนับเป็น 38% ของสีย้อมเอโซในฐานข้อมูลสีย้อมผ้า) ถูกเปลี่ยนโดยแบคทีเรียบนผิวหนังไปเป็นแอโรแมติกอะมีนที่ก่อกลายพันธุ์ได้ 40 ชนิด        ผู้บริโภคหลายท่านอาจไม่เคยทราบว่า โดยปรกติแล้วเสื้อผ้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมักใช้สารเคมีหลายชนิดช่วยในการผลิต (ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องเปิดเผยสิ่งเหล่านี้แก่ผู้บริโภค) สารเคมีหลายชนิดนั้นรวมถึงสารเคมีกันน้ำและกันน้ำมัน ที่นิยมกันคือ ฟลูออโรเซอร์แฟกแตนต์ (fluorosurfactant ที่ใช้มากคือ Per- and polyfluoroalkyl substances หรือ PFAS ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเคลือบกระทะชนิดที่ไม่ต้องใช้น้ำมันคือ Polytetrafluoroethylene (PTFE)) ที่มีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยที่รายงานถึงความปลอดภัย         การซักเสื้อผ้าก่อนใส่นั้นทำให้โอกาสเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีหมดไปหรือไม่ คำตอบคือ “ไม่เสมอไป” เพราะยังอาจมีสารเคมีอื่นๆ ที่อาจทยอยหลุดออกจากเสื้อผ้าสู่ผิวหนังเมื่อเสื้อผ้ามีอายุและเสื่อมสภาพ หรือกำลังสวมระหว่างการเล่นกีฬาจนเหงื่อซก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรเปลี่ยนเสื้อที่สวมใส่เล่นกีฬาจนเปียกเหงื่อระหว่างเล่นกีฬาบ้าง ทั้งนี้เพราะสารเคมีที่หลุดออกมาได้เหล่านี้ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับการดูดซึมของผิวหนังหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ………… การระบุเส้นใยธรรมชาติ 100 %              ผู้บริโภคทั่วไปมักมีความคิดว่า วัสดุสังเคราะห์มักใช้สารเคมีมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ดังนั้นจึงพบได้เสมอว่า มีเสื้อผ้าที่ระบุว่าผลิตจาก 'ผ้าฝ้าย 100%' เพื่อให้ผู้บริโภคดีใจว่าอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้น มักไม่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีหรือสารเติมแต่งใดที่ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเส้นใยเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เสื้อผ้าฝ้ายแบรนด์เนมที่ติดฉลากว่าเป็น ผ้าฝ้าย 100% นั้น บางตัวใส่สบายมากแต่ถ้าพ่อไม่รวยพอคงซื้อใส่ไม่ไหวแน่        นิตยสารฉลาดซื้อฉบับที่ 149 ในปี 2556 เคยรายงานผลการเก็บตัวอย่างกางเกงชั้นในของผู้ชาย (สีดำ) มาตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนในสีย้อมและฟอร์มาลดีไฮด์ (สารป้องกันผ้ายับย่น) แล้วต่อมาในฉลาดซื้อฉบับที่ 259 ประจำเดือน กันยายน 2565 ฉลาดซื้อได้รายงานผลทดสอบกางเกงชั้นในชายสีดำอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผลจากครั้งแรกซึ่งพบว่า กางเกงชั้นในสำหรับผู้ชาย 3 ตัวอย่าง ที่ตรวจทั้งหมดนั้นมีสีย้อมที่ให้สารประกอบแอโรแมติกอะมีนเกินกำหนดคือ กางเกงในชื่อดังราคา 1090 บาทต่อ 6 ตัว (พบ 61.40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) กางเกงในราคา 169 บาทต่อ 2 ตัว (พบ 59.89 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) และมีกางเกงในอีกหนึ่งยี่ห้อที่ตรวจพบแม้ไม่เกินมาตรฐานซึ่งขาย 169 บาทต่อ 2 ตัวเช่นกัน (พบ 14.55 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) สำหรับสารเคมีที่ตรวจพบนั้นคือ 4,4'-ไดอะมิโนไดฟีนิลเม็ทเทน (4,4'-Diaminodiphenylmethane) หรืออีกชื่อคือ 4,4'-เมทิลีนไดแอนิลีน (4,4’-Methylenedianiline หรือ MDA) ได้ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในสถานที่ทำงาน โดย US National Institute for Occupational Safety and Healthของสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยนั้น MDA เป็นสารเคมี 1 ใน 24 ชนิดที่ถูกห้ามพบในสินค้าต่างๆ ตามมาตรฐาน มอก. 2346-2550        เคยมีบทความเรื่อง Detection of azo dyes and aromatic amines in women under garment ในวารสาร Journal of Environmental Science and Health, Part A: Toxic/Hazardous Substances and Environmental Engineering ของปี 2016 ได้รายงานถึงการประเมินตัวอย่างชุดชั้นในสตรีจำนวน 120 คอลเลคชั่นที่ถูกซื้อจากหลายห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่า มีการปล่อยสารประกอบแอโรแมติกอะมีนสู่ผิวหนังเพียงใด ผลการวิเคราะห์พบว่า 74 ตัวอย่าง ตรวจพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนในระดับต่ำ ในขณะที่ 18 ตัวอย่างพบสารกลุ่มแอโรแมติกอะมีนสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ฉันก็สั่งตามหน้าเพจทำไมได้ราคาไม่ตรงตามแจ้ง

        เวลาเห็นโปรโมชันไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า หรือข้าวของใดก็ตาม แม้บางทีไม่ได้อยากได้ อยากซื้อแต่ก็พบว่า อืม...ราคาดีแฮะ ลองสั่งมาดีไหม เราเชื่อว่าหลายๆ คนเป็นแบบนี้         คุณภูผา ก็เป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ปกติไม่ได้ชอบกินขนมหวานอะไรมากนัก แต่ก็ติดตามเพจร้านขนมชื่อดังร้านหนึ่งอยู่ แล้ววันหนึ่งก็พบว่า มีขนมตัวดังตัวหนึ่งของร้าน ลดราคา โอ้วมันช่างน่าสนใจ ปกติขนมชิ้นนี้จะขายในราคาแพ็กละ 65 บาท แต่โปรที่ขึ้นบนหน้าเพจคือ 50 บาท เมื่อราคาดีขนาดนี้ คุณภูผาจึงสั่งทันทีโดยใช้บริการผ่าน ดิลิเวอรี่ที่ระบุในข้อความที่โฆษณา ตอนที่ถามกับทางดิลิเวอรี่ก็ถามแล้วว่า โปรฯ นี้ใช้ได้ใช่ไหม  ทางดิลิเวอรี่ก็ตอบว่า “ได้ค่ะ” แต่พอได้รับสินค้า ตอนจะจ่ายเงิน สองร้อยบาท (ภูผาสั่งมาสี่กล่อง) กลับเป็นราคาปกติคือ 260 บาท (65x4) ไหงเป็นงั้น         คุณภูผาคาใจจึงอินบอกซ์ไปถามทางเพจร้านขนม แอดมิน บอกว่า โปรโมชันนี้หมดไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน คุณลูกค้าสั่งสินค้าวันนี้เป็นราคาปกติค่ะ แต่คุณภูผายืนยันว่า นี่ไงผมสั่งตามที่หน้าเพจลงไว้เมื่อตอนเช้าวันนี้นะ ไม่มีบอกว่าเป็นโปรฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน อย่างนี้ทางเพจจะไม่รับผิดชอบหรือ คุยกันไปมาเมื่อไม่ได้รับคำตอบที่แสดงความรับผิดชอบ คุณภูผาจึงโทรมาปรึกษากับทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มพบ. ว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ตรวจหน้าเพจร้านขนมแล้วพบว่า โฆษณาที่บอกเรื่องโปรโมชันได้ถูกลบไปแล้ว แต่ทางคุณภูผายังบันทึกภาพเก็บไว้ จึงได้นำภาพแสดงหลักฐานกับทางเพจเพื่อขอให้รับผิดชอบตามที่โฆษณาคือ ขายสินค้าในราคาโปรโมชันกับคุณภูผา เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงได้และแม้จะเป็นความผิดพลาดของทางเพจที่ไม่ตั้งใจนำภาพโฆษณาดังกล่าวโพสต์ทางหน้าเพจ แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทางเพจได้แจ้งแก่ผู้บริโภค ต่อมาคุณภูผาก็แจ้งมาว่า ทางร้านค้าจะคืนเงิน 60 บาทให้กับทางคุณภูผา ก็จบกันไปด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 กระแสต่างแดน

ใส่วนไป        ที่ผ่านมาการรีไซเคิลเสื้อผ้าด้วยกระบวนการทางเคมีทำได้กับเส้นใยโพลีเอสเตอร์เท่านั้น ฟินแลนด์กำลังจะเปิดโรงงานแห่งแรกในโลกที่สามารถผลิตเส้นใยฝ้ายจากเสื้อผ้าทิ้งแล้ว ภายในปี 2025         โรงงานนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงงานกระดาษเก่าในเมืองเคมิทางเหนือของทะเลบอลติก ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านยูโรหรือประมาณ 15,000 ล้านบาทมีกำลังผลิต “เส้นใยรีไซเคิล” ปีละ 30,000 เมตริกตัน (เท่ากับเสื้อยืดประมาณ 100 ล้านตัว) และในอนาคตยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแบบนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ         โดยทั่วไปเสื้อยืดผ้าฝ้าย 1 ตัว จะใช้น้ำตลอดกระบวนการผลิตถึง 2,700 ลิตร แต่เทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ลงได้ถึงร้อยละ 99         ฟินแลนด์ซึ่งมีสถิติการทิ้งเสื้อผ้าต่อคนอยู่ที่ปีละ 13 กิโลกรัม กำหนดเป้าหมายว่าจะจัดการเก็บแยกขยะเสื้อผ้าให้ได้ภายในปี 2023 เร็วกว่าเป้าหมายร่วมของสหภาพยุโรปถึงสองปี   ตั๋วไม่ถูก        องค์กรผู้บริโภคของสวีเดน Konsumentverket เผยผลวิเคราะห์เหตุผลที่มีจำนวนผู้โดยสารรถสาธารณะในกรุงสต็อกโฮล์มถูกปรับมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือส่วนใหญ่มีตั๋วโดยสารแต่จ่ายเงินไม่ครบ บ้างไม่มีใบเสร็จ บ้างก็ซื้อตั๋วผิดประเภทจากแอปฯ           สิ่งที่องค์กรผู้บริโภคเรียกร้องคือ การลดหย่อนหรือยกเลิกค่าปรับในกรณีที่ผู้โดยสาร “ใช้ตั๋วไม่ถูกต้อง” แต่ไม่ได้ตั้งใจแอบขึ้นฟรี (ซึ่งมีค่าปรับ 1,500 โครนา หรือ ประมาณ 5,200 บาท)         การตรวจตั๋ว (เมื่อผู้โดยสารลงจากรถ) งดเว้นไปในช่วงการระบาดของโควิด และเมื่อเริ่มมีการตรวจอีกครั้งกลางเดือนมิถุนายน ก็พบว่ามีคน “แอบขึ้นฟรี” ถึง 80,000 คนในเดือนนั้น            อัตราค่าโดยสารในบัตร SL Access ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการใช้ มีให้เลือกตั้งแต่ ตั๋วเที่ยวเดียว/ 24 ชั่วโมง/ 72 ชั่วโมง/ 7 วัน/ 30 วัน (ประมาณ 3,300 บาท) / 90 วัน และตั๋ว 1 ปี (ประมาณ 34,800 บาท) โดยมีค่าธรรมเนียมการออกบัตรครั้งแรก 20 โครนา (ประมาณ 70 บาท)  ก่อนเช่าต้องชัด        “ผู้เช่าบ้าน” ในฝรั่งเศสได้รับการคุ้มครองค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่ที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยมีข้อกำหนดเรื่องข้อมูลที่ผู้ให้เช่าจะต้องบอกไว้ใน “โฆษณา”           อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ฝรั่งเศสกำหนดให้ใครก็ตามที่ต้องการปล่อยบ้านหรือห้องให้ผู้อื่นเช่า ต้องระบุข้อมูลต่อไปนี้         ค่ามัดจำ ค่าเช่ารายเดือน ค่าธรรมเนียม เช่น ค่าระบบทำความร้อน ที่จอดรถ โดยระบุวิธีการชำระเงินให้ชัดเจน         นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำทะเบียนทรัพย์สิน เจ้าของบ้านต้องบอกให้ชัดเจนหากต้องการให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายรับภาระและแจ้งจำนวนเงิน         กรณีที่บ้านหรือห้องเช่าอยู่ใน “พื้นที่ควบคุมค่าเช่า” โฆษณาจะต้องระบุอัตราค่าเช่าสูงสุดและต่ำสุดในพื้นที่ด้วย โดยเจ้าของบ้านตรวจสอบได้จากเว็บของรัฐบาลและต้องระบุว่าเป็นบ้าน/ห้องเปล่า หรือตกแต่งพร้อมให้เข้าอยู่ มีพื้นที่ใช้สอยกี่ตารางเมตรและอยู่ในเขตเลือกตั้งใดรู้ไว้ก่อนขายของสด        การ “ไลฟ์ขายของ” ที่แฟนๆ ชาวจีนทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันติดหนึบด้วยคอนเทนต์ที่ตื่นเต้นเร้าใจ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังหน่วยงานกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีน ประกาศข้อห้ามถึง 31 ข้อ                ตัวอย่างเช่น ห้ามส่งเสริมการกินทิ้งกินขว้าง ห้ามโอ้อวดความร่ำรวย (เช่น นำเพชรพลอย เงินกองโต หรือสินค้าแบรนด์เนมมาวางประกอบฉาก) ห้ามแต่งตัวยั่วยวน ห้ามพูดจาลามก ห้ามทรมานสัตว์ เป็นต้น และที่สำคัญคือห้ามเลี่ยงภาษี         หน่วยงานฯ เขายังกำหนดให้คนที่จะไลฟ์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ เช่น การแพทย์ กฎหมาย การศึกษาหรือการให้คำแนะนำทางการเงิน ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิทางวิชาชีพ โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าว         ร้อยละ 63 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนเป็นผู้ชมการไลฟ์สด ทางการจีนระบุว่าข้อห้ามเหล่านี้จะทำให้เกิด “คอนเทนต์คุณภาพ” ที่นำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรมขึ้นสิทธิในการทำแท้ง        ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการทำแท้งเข้มงวดที่สุดในโลก การทำแท้งที่นั่นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีบทลงโทษสูงสุดคือการจำคุก 6 ปี           อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้หญิงใช้แสวงหาความช่วยเหลือเมื่อต้องการหยุดการตั้งครรภ์ พวกเธอใช้กูเกิลค้นหาข้อมูลเรื่องการทำแท้ง รวมถึงใช้นามแฝงเข้าไปพูดคุยสอบถามปัญหาในเฟซบุ๊ก หรือในแอปฯ อย่าง Telegram หรือ Signal เพื่อขอคำปรึกษาจากคนแปลกหน้า           แน่นอนว่าทางออกนี้ไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพ และพวกเธอยังอาจถูกจับดำเนินคดีด้วยหลักฐานการสนทนาในแอปฯ ดังกล่าวด้วย         แม้ปัจจุบันยังไม่มีใครต้องขึ้นศาลเพราะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง แต่คำตัดสินของศาลอเมริกันที่มีผลให้การทำแท้งไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังหลายประเทศ และทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีการเปิดเผยข้อมูลการค้นหาจากแพลตฟอร์มเหล่านี้โดยไม่มีหมายศาล หรือไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว     

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเอง “รักษ์โลก” อย่างไร            สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแส “ฟาสต์แฟชัน” ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดู “เอ๊าท์” ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี          แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มี “การบริโภคเสื้อผ้าต่อคน“ เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี         ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจาก “ขยะเสื้อผ้า” ที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030         แม้การ “รีไซเคิล” ดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง           ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูก “ส่งต่อ” ไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ขยะเสื้อผ้า”  หน้าผาหลากสี        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของ “ตลาดคันตามันโต” ที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง         ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวย “เสื้อผ้าแบรนด์เนม” ที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้ “เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้” ก็เก่งมากแล้ว         เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็น “สินค้า” ส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็น “ขยะ” อยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย         ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ของเมืองนี้ไป         แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย         ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับ “ขยะ” เหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>>         ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของ “สายแฟ” ว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว)         นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ         ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรม “ของมันต้องมี” ภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาส “พิเศษ” นั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อ “คนรุ่นใหม่”         งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้า “เก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วย “ชุดเดิม” เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับ “เสื้อผ้ามือสอง” มากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่                                                                         ข้อมูลอ้างอิงhttps://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTYhttps://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1ghttps://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfMhttps://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recyclehttps://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 กระแสต่างแดน

สวยต้องเสี่ยง        ในปี 2021 สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับศัลยกรรมความงามถึง 16,459 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ “เงินกู้อัปหน้า” ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 30        เรื่องดังกล่าวจบลงหลังรัฐบาลสั่งให้สถาบันการเงินตัดสัมพันธ์เงินกู้ฟาสต์แทรคกับบรรดาคลินิกศัลยกรรมต่างๆ          แต่ปัญหายังไม่หมด ความต้องการอัปหน้าในราคาประหยัดยังคงมีอยู่ และ “ศูนย์ฝึกอบรม” ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ “บุคลากร” เพื่องานดังกล่าวก็ได้รับความนิยมเช่นกัน        ล่าสุด งาน 315 Gala หรืองานแฉผู้ประกอบการแตกแถวประจำปีของจีน เปิดโปงศูนย์ฯ แห่งหนึ่งในเมืองอานฮุย ที่เปิดสอนทุกอย่างตั้งแต่การฉีดโบท็อกซ์ ทำตาสองชั้น หรือแม้แต่เสริมจมูก แต่ละหลักสูตรใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยผู้เรียนไม่ต้องมีพื้นฐานอะไรเลย        แถมเมื่อเรียนจบคอร์สที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 5,000 หยวน (ประมาณ 26,500 บาท) ผู้เรียนยังได้ “ใบประกาศ” ไว้ใช้สมัครงานอีกด้วย ดาวน์ไซเคิล        ว่ากันว่า PET คือพลาสติกชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด เพราะขวดพลาสติกที่นิยมใช้บรรจุน้ำดื่มนี้มีอัตราการรีไซเคิลที่สูงมาก เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ระบบ “คืนเงิน” ให้กับผู้บริโภคที่นำขวดใช้แล้วมาฝากเข้า “ธนาคารรีไซเคิล”           ขวดเหล่านี้มีอัตราการรีไซเคิลถึงร้อยละ 50 แต่งานวิจัยโดย Zero Waste Europe กลับพบว่าพลาสติกจากขวดเก่าเหล่านี้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบเพียงร้อยละ 17 ของขวดที่ผลิตขึ้นใหม่เท่านั้น        งานวิจัยจาก Eunomia พบว่าขวดรีไซเคิลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปแปรรูปเป็นถาดพลาสติก สายรัด หรือเชือกต่างๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ต้องการวัสดุนี้ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจึงไม่สามารถเข้าถึงวัสดุรีไซเคิลจากขวด PET ได้มากเท่าที่ควร         เมื่อสิ่งที่เคยเป็นขวดน้ำ ไม่สามารถกลับมาเป็นขวดน้ำได้อีก ก็แปลว่าไม่เกิดการหมุนเวียนอย่างแท้จริง การ “รีไซเคิล” กลายเป็นการ “ดาวน์ไซเคิล” ที่วัสดุถูกนำไปใช้ซ้ำอีกเพียงครั้งเดียวแล้วก็สิ้นสุดวงจรชีวิต การ์ดอย่าตก        อิสตันบูล เมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในยุโรป ติดโผระดับต้นๆ ของเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากสุดในโลก ด้วยสถานที่ตั้งที่ถูกขนาบด้วยน้ำเค็มจากทะเลดำและทะเลมาร์มารา ประกอบกับอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ลำคลองประมาณ 300 สายหายไปกว่าครึ่ง         ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจึงเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องรับมือตลอดมา รายงานข่าวระบุว่าปีนี้ธรรมชาติเป็นใจ ส่งหิมะลงมาให้อิสตันบูลมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ระดับน้ำสำรองในเขื่อนทั้ง 10 แห่งของเมืองรวมกัน มีมากถึง 757 ล้านคิวบิกเมตร ผู้คนจึงมีน้ำสำรองไว้ใช้อีกประมาณ 9 เดือน         นักวิชาการรีบออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยง” ยังไม่หายไปไหน สถิติการเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า หรือคลื่นความร้อน ในตุรกียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีแผนสร้างเขื่อนใต้ดินถึง 150 แห่ง  ประชากรเมืองนี้ก็ยังต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ากันต่อไป ขอลุคเกาหลี         MUSINSA ร้านเสื้อผ้าออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในเกาหลีตกเป็นเป้าโจมตี หลังชาวเน็ตตั้งคำถามว่าทำไมนายแบบนางแบบในเว็บไซต์ของแบรนด์นี้ถึงมีแต่ “ฝรั่ง”        บริษัทอธิบายว่าเขาไม่ได้เจาะจงอย่างนั้น เขาเพียงต้องการใครก็ได้ที่สามารถนำเสนอคอนเซ็ปต์ ดีไซน์ และตัวตนของแบรนด์ได้ดีที่สุด และพรีเซ็นเตอร์หลักของเขาก็คือยูอาอิน ซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีนั่นเอง        ความจริงแล้วการใช้ฝรั่งผิวขาว ก็เป็นที่นิยมของแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน KIRCH และ COVERNAT ก็จ้างฝรั่งเป็นหลัก ส่วนนายแบบนางแบบเกาหลีแท้ๆ เป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น แม้กระทั่งโฆษณาเสื้อผ้าเด็ก ก็ยังนิยมใช้เด็กฝรั่ง เพราะพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัย 30 – 40 กว่า ชอบแบบนั้น         บางแบรนด์ก็อธิบายว่าเขาเลือกจ้างชาวต่างชาติผิวขาวตาสีฟ้าเพราะค่าตัวถูกกว่าดาราดังของเกาหลี          ด้านเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลอุตสาหกรรมแฟชันของเกาหลี ให้ความเห็นว่าหากแบรนด์เกาหลีต้องการไปให้ไกลกว่านี้ พวกเขาจะต้องฝืนเทรนด์นี้ให้ได้ และเปิดรับความหลากหลายให้มากขึ้น  บ้านไม่พอ        สวีเดนมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยมานาน เพราะกฎระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างทำให้ต้นทุนการสร้างบ้านสูง ราคาบ้านเลยแพงตามไปด้วย        กฎเกณฑ์การให้เช่าบ้านก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน จึงไม่ค่อยมีคนอยากทำ “บ้านเช่า” คนที่อยากเช่าก็ต้องเข้าคิวรอกันไม่ต่ำกว่า 9 ปี ส่วนหนึ่งเลยหันไปพึ่ง “ห้องแอบเช่า” ที่ค่าเช่าแพงลิบ แถมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร          สถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ความต้องการบ้านเพิ่มสูงขึ้น เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงโรคระบาดกำลังจะกลายเป็นเทรนด์  ร้อยละ 20 ของคนที่ work from home บอกว่าจะทำเช่นนั้นต่อไป        บริษัทต่างๆ จึงลดพื้นที่สำนักงาน ในขณะที่ร้านรวงจำนวนมากก็ปิดหน้าร้านไป เพราะผู้คนหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว         การเคหะของสวีเดนจึงเตรียมเสนอแผนเปลี่ยนสำนักงานหรือร้านว่างเหล่านี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยไปเสียเลย         ขณะนี้สวีเดนต้องการที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 140,000 ยูนิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 กระแสต่างแดน

ช้าแต่ไม่ชัวร์        พาหนะไฟฟ้าขนาดมินิกำลังได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุชาวจีนที่รู้สึกเป็นอิสระในการออกไปพบปะเพื่อนฝูง ไปโรงพยาบาล หรือไปซื้อของด้วยตัวเอง         ตัวเลือกและสนนราคาของพาหนะที่ว่านี้ก็ดึงดูดใจ มีตั้งแต่ที่หน้าตาเหมือนจักรยานสามล้อ (ราคาประมาณ 2,000 หยวน หรือ 9,300 บาท) ไปจนถึงแบบที่คล้ายรถจี๊ป (ราคา 10,000 หยวน หรือ 46,500 บาท) และด้วยความเร็วอันน้อยนิด จึงไม่ต้องจดทะเบียน         เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการผลิต ผู้ใช้จึงพบกับปัญหา “รถเสีย” บ่อยครั้ง  และตามกฎหมายจีน รถแบบนี้ไม่สามารถนำมาวิ่งบนถนนหรือในทางจักรยาน ใช้ได้เพียงในบริเวณพื้นที่ปิดหรือในอาคารเท่านั้น แต่คุณตาคุณยายไม่ทราบ เพราะคนขายบอกว่า “ไปได้ทุกที่”         เมืองใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้จึงมีมาตรการออกมารับมือ ด้วยการกำหนดให้ผู้ใช้รถแบบนี้มีใบขับขี่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 และเตรียมประกาศมาตรฐานการผลิต การขาย การเก็บภาษี และการประกันด้วย    สโลว์แฟชัน        รายงานของ Changing Markets Foundation ระบุว่าอุตสาหกรรมแฟชันพึ่งพาเส้นใยสังเคราะห์ราคาถูก เช่น โพลีเอสเตอร์ เป็นหลักเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้ได้ราคาถูกลง ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพิ่มขึ้น 9 เท่า และมีการใช้น้ำมันถึง 350 ล้านบาเรล/ปี ในการผลิตเส้นใยดังกล่าว         องค์กรดังกล่าวเสนอให้วงการนี้เลิกพึ่งวัตถุดิบจากฟอสซิลและ “ลดความเร็ว” ในการปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ลดปริมาณขยะเสื้อผ้า และลดไมโครไฟเบอร์ (ที่ไหลลงสู่ทะเลปีละ 500,000 ตัน หรือเท่ากับขวดพลาสติก 50,000 ล้านใบ)            ปัจจุบันธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปใช้พลังงานมากกว่าการขนส่งทางเรือและทางอากาศรวมกัน ร้อยละ 20 ของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมก็มาจากการผลิตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่         การรีไซเคิลเป็นสิ่งดี... แต่มันยังไม่เกิดขึ้นมากเท่าที่ควร ทุกวันนี้ร้อยละ 87 ของเสื้อผ้าทิ้งแล้วยังถูกนำไปเผา หรือฝังกลบ (ในอัตรา 1 คันรถขยะต่อ 1 วินาที)         สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งที่ทำได้เลยตอนนี้คือซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลงและใช้ประโยชน์จากมันให้นานขึ้น  ยังดีไม่พอ        สมาชิกคณะกรรมการกำกับดูแลอาหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์โหวตยืนยันอีกครั้งว่าน้ำผลไม้ 100% จะไม่ได้ “ห้าดาว” โดยอัตโนมัติ แต่จะต้องพิจารณาจากปริมาณน้ำตาลที่แท้จริง เช่นเดียวกับเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม         เรื่องนี้ไม่ถูกใจอุตสาหกรรมน้ำผลไม้ซึ่งมีมูลค่าถึง 800 ล้านเหรียญแน่นอน เพราะน้ำผลไม้ 100% บางชนิดมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงอาจได้เรตติ้งเพียงสองดาวครึ่ง ซึ่งน้อยกว่าดาวบนฉลากน้ำอัดลมอย่าง ไดเอทโค้ก ด้วยซ้ำ         อเล็กซานดรา โจนส์ นักวิจัยด้านกฎหมายและนโยบายอาหาร ประจำสถาบัน George Institute for Global Health บอกว่าสิ่งที่สังคมได้จากการตัดสินใจครั้งนี้คือความเข้าใจว่า “น้ำผลไม้” ไม่ได้ดีต่อสุขภาพเสมอไป และตามเกณฑ์ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน มีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นที่จะได้ห้าดาว           ออสเตรเลียใช้ระบบ “ดาว” แสดงระดับความเป็นมิตรต่อสุขภาพบนฉลากอาหารมาตั้งแต่ปี 2557 อย่ากินน้องเลย         เทศบาลเมืองฮานอยออกมาเรียกร้อง (อีกครั้ง) ให้ผู้คนงดบริโภคเนื้อสุนัขและแมว เพื่อภาพพจน์ที่ “ศิวิไลซ์” ของเมืองหลวงประเทศเวียดนาม        สองปีก่อนรัฐบาลท้องถิ่นรณรงค์ให้งดการกระทำดังกล่าวตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ที่มองว่าเป็นการทารุณกรรม ทำให้คนฮานอยรุ่นใหม่เกิดการรับรู้และเปลี่ยนทัศนคติ ส่งผลให้ร้อยละ 30 ของร้านขายเนื้อสุนัขและแมวปิดตัวลง         แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าดีมานด์นี้จะหมดไป ปัจจุบันเวียดนามยังมีการบริโภคเนื้อสุนัขมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน แต่ละปีมีสุนัขประมาณห้าล้านตัวกลายเป็นอาหารของมนุษย์ แม้จะมีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภคเนื้อสุนัขก็ตาม          นอกจากนี้การค้าเนื้อสุนัขยังทำให้ความพยายามของเวียดนามในการควบคุมการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับโรคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จด้วย  ต้องมีที่มา         ศาลมิวนิกฟันธง ผักผลไม้ที่ขายออนไลน์ในเว็บ ”อเมซอนเฟรช” ต้องแสดงที่มาเช่นเดียวกับผักผลไม้ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ตามกฎหมายของสหภาพยุโรป หากฝ่าฝืนมีค่าปรับ 250,000 ยูโร (9,000,000 บาท)        องค์กร Foodwatch ในเบอลิน ได้ฟ้องร้องขอคำตัดสินจากศาล หลังทดลองสั่งซื้อผัก/ผลไม้ เช่น ผักกาด มะเขือเทศ องุ่น แอปเปิ้ล และอโวคาโด ทางอเมซอนเฟรช แล้วพบเรื่องแปลก         ครั้งแรกที่ทดลองสั่งในปี 2017 เขาพบว่าไม่มีการระบุแหล่งที่มาของสินค้าบนเว็บ ส่วนครั้งที่สองในปี 2019 ทางเว็บแจ้งที่มาเอาไว้ แต่ผักผลไม้ที่ส่งมานั้นกลับถูกส่งมาจากที่อื่น         ทางอเมซอนให้เหตุผลว่าการใช้แหล่งที่มาเพียงแหล่งเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีสินค้าจัดส่งให้กับลูกค้าสั่งซื้อไว้ล่วงหน้านานๆ ในกรณีที่สภาวะอากาศไม่เป็นใจหรือมีปัญหาระหว่างเก็บเกี่ยว และยังโต้แย้งด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวใช้กับการผัก/ผลไม้ที่แพ็คขายส่งเท่านั้น         อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตอนนี้ทางร้านจึงรับออเดอร์ล่วงหน้าแค่ 3 วันเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ตั้งใจไปเรียนตัดเสื้อ ถูกเรียกเงินเพิ่มจนเกือบตัดใจ

        ปัจจุบันมีการขายคอร์สเรียนหลากหลายในหน้าโซเชียล โปรโมชันหลายอย่างก็เร่งรัดจนผู้บริโภคตัดสินใจอย่างขาดความระมัดระวังทำให้เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามการโฆษณานั้นหากไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองได้         คุณรุ่งรัตน์ สนใจเรียนตัดเสื้อและทำผม ลองค้นหาโรงเรียนหลายแห่งทางอินเทอร์เน็ต พบโฆษณารับสมัครเรียนบนหน้าเฟซบุ๊ก ของโรงเรียนตัดเสื้อทำผมเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นโปรฯ ช่วงโควิด รับสมัครนักเรียนแค่ 10 คนเท่านั้น เมื่อติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียด คุณรุ่งรัตน์พบว่าหากต้องการเรียน ต้องจ่ายเงินค่าเรียนทันทีก่อนหมดโอกาส โดยพนักงานแจ้งว่าใกล้เต็มแล้ว         คุณรุ่งรัตน์จึงโอนเงินทันที เป็นจำนวน 8,900 บาท ตามที่ระบุบนโฆษณา ซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนในระยะเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็รู้สึกว่าตนเองรีบร้อนไปหน่อย ไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดอื่นๆ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงเรียนเพื่อขอรายละเอียดตารางเวลาเรียน ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเข้าใจว่าผู้เรียนคงยังไม่ครบจำนวน ต่อมาประมาณ 1 อาทิตย์มีโทรศัพท์แจ้งจากทางโรงเรียนว่าให้เข้าไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 6,000 บาท “ตกใจมากค่ะ บอกกับทางพนักงานไปว่า ตนเองมีเงินเท่าที่จ่ายไป 8,900 บาทเท่านั้น” ในโปรฯ ไม่เห็นรับรู้เลยว่าจะมีการจ่ายเพิ่ม ทางพนักงานบอกว่า ไม่จ่ายเพิ่มก็เรียนไม่ได้ “แล้วดิฉันก็กังวลมากเพราะในใบเสร็จระบุว่า จ่ายแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี” ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว และติดต่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทาง สคบ.แจ้งว่า กรณีของคุณรุ่งรัตน์เป็นการเรียนเพื่อหารายได้ จึงไม่เข้าข่ายคดีผู้บริโภค “แล้วจะต้องทำอย่างไรดี” คุณรุ่งรัตน์ปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้เข้าข่ายการทำสัญญา ศูนย์ฯ แนะนำให้คุณรุ่งรัตน์ทำหนังสือถึงโรงเรียนสอนตัดเสื้อทำผมดังกล่าว เพื่อบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (การทำจดหมายควรใช้แบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อเป็นหลักฐาน) จำนวน 8,900 บาท โดยทำสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อการติดตามเรื่อง         ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณรุ่งรัตน์ว่า ทางโรงเรียนได้รับคุณรุ่งรัตน์เป็นนักเรียนแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 บาทเพิ่ม ทั้งนี้ทางโรงเรียนแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของพนักงานที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คุณรุ่งรัตน์เองก็ตั้งใจเรียนจริงๆ เมื่อเห็นว่าไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว จึงตกลงไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้และขอยุติเรื่องการบอกเลิกสัญญา ลงเอยด้วยดีไป หวังว่าจะมีช่างตัดเสื้อและทำผมดีๆ เพิ่มขึ้นอีกราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ร้านค้าไม่ยอมให้เปลี่ยนเสื้อ

        หลายครั้งที่ซื้อสินค้ามาแล้ว ตอนซื้อก็คิดว่าตรวจดูดีแล้วแต่หากนำมาทดลองใช้แล้วกลับพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถมีสิทธิไม่พอใจยินดีคืนเงินหรือขอเปลี่ยนได้ไหม         เย็นวันหนึ่งคุณศิริวรรณได้นัดพบเหล่าเพื่อนสาวกินข้าวและพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆ เมื่อสมัยวัยเรียน หลังจากแยกย้ายกันกลับบ้าน คุณศิริวรรณเดินผ่านร้านขายเสื้อที่ตั้งอยู่ริมถนนแห่งหนึ่ง มองเข้าไปในร้าน ก็เกิดความคิดอยากซื้อเสื้อใหม่ให้สามีสักครึ่งโหล หลังจากเดินหยิบจับดูเนื้อผ้าอยู่สักพัก คุณศิริวรรณก็บอกกับเจ้าของร้านว่า อยากได้เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีกรมและสีขาว ไซส์ XL อย่างละ 3 ตัว หลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อย คุณศิริวรรณจึงชำระค่าเสื้อให้กับเจ้าของร้าน        วันต่อมาคุณศิริวรรณจัดแจงซักเสื้อที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพื่อที่จะเซอร์ไพรส์สามี หลักจากซักตากเสื้อจนแห้ง คุณศิริวรรณก็เตรียมนำเสื้อมารีด ขณะที่กำลังจะรีดนั้น คุณศิริวรรณได้สังเกตว่าเสื้อดูใหญ่ผิดปกติ จึงได้ดูป้ายขนาดเสื้อที่บริเวณปก ปรากฏว่าเสื้อทุกตัวมีตัวอักษร XL กำกับเหมือนกันหมด คุณศิริวรรณจึงได้นำเสื้อทั้งหมดมาวางเทียบขนาดกัน พบว่า เสื้อที่ซื้อมาทั้งหมด 6 ตัว มีขนาดแตกต่างกันอยู่ 3 ตัว เมื่อลองสังเกตที่ป้ายบอกขนาดเสื้ออีกครั้งก็พบว่า เสื้อ 3 ตัว ที่มีขนาดใหญ่กว่ามีรอยตัดที่ป้ายบอก เหมือนกับว่ามีตัวอักษรด้านหน้าถูกตัดออกไป คุณศิริวรรณเดาว่า เสื้อ 3 ตัวนี้ จริงๆ แล้วมีขนาดไซส์ XXL แต่ถูกตัดตัวอักษร “X” ด้านหน้าออกไป เพื่อทำให้เข้าใจว่าเสื้อตัวดังกล่าวเป็นไซส์ XL        เมื่อทราบว่าเสื้อที่ตนซื้อมาไม่ถูกต้อง คุณศิริวรรณจึงกลับไปที่ร้านขายเสื้อ เพื่อขอเปลี่ยนสินค้า แต่คนขายบอกว่า เสื้อถูกซักแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนให้ได้ ให้คุณศิริวรรณนำเสื้อไปเย็บแก้ด้านข้างเอง แนวทางในการแก้ไขปัญหา         กรณีคุณศิริวรรณซื้อเสื้อ แล้วมาทราบภายหลังว่า เสื้อที่ซื้อมาจำนวน 3 ตัว จาก 6 ตัว ไม่ตรงกับความต้องการที่ได้ตกลงกันไว้ ในกรณีนี้ เป็นการส่งมอบทรัพย์สินตามสัญญา รวมกับทรัพย์สินอื่นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 465 (3) กำหนดให้ผู้ซื้อจะรับเอาไว้เฉพาะที่สั่ง หรือปฏิเสธไม่รับทั้งหมดได้ โดยมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบ          อีกทั้ง การกระทำของเจ้าของร้านถ้าจงใจตัดป้ายบอกขนาดไซส์เสื้อ ให้เหลือเพียง XL เพื่อหลอกหลวงให้คุณศิริวรรณ ซื้อเสื้อเชิ้ตที่ผิดไซส์ดังกล่าวไป อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         คุณศิริวรรณจึงสามารถนำสินค้าไปเปลี่ยน หรือ ขอคืนเงินจากร้านขายเสื้อได้ทันที รวมถึงสามารถเอาผิดกับเจ้าของร้านค้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 รู้เท่าทันการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าหัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม

                เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแชร์กันสนั่นในโลกโซเชียลมีเดียจากรพ.วชิระพยาบาลและรพ.ตำรวจเรื่องการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยฉีดเกล็ดเลือดปั่น 2 ครั้ง โดยไม่ต้องผ่าตัด ทำให้มีผู้ป่วยติดต่อขอรักษาด้วยวิธีนี้กันอย่างมากมาย จนรพ.วชิระพยาบาลต้องออกมาชี้แจงว่าการเผยแพร่ภาพและข่าวนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้รักษาและทางโรงพยาบาล ส่วนรพ.ตำรวจก็ออกมาชี้แจงว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มวิจัยคนไข้ 200 ราย และปิดรับสมัครเพราะเต็มจำนวนแล้ว การฉีดเกล็ดเลือดเข้าหัวเข่านี้เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและได้ผลดีจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันดีกว่า          การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือด (Regenerative Injection Therapy by Platelet Rich Plasma/PRP) คืออะไร          การรักษาด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นเป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของตัวผู้ป่วยเองเพื่อไปเร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อของเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ ด้วยวิธีการนี้ การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงเป็นการใช้ระบบการซ่อมแซมของตัวผู้ป่วยเองในการแก้ไขปัญหาของกล้ามเนื้อและกระดูก        เลือดประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ และมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่งทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวและมีบทบาทสำคัญของร่างกายในกระบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติ การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นทำโดยการดูดเลือดของผู้ป่วย แล้วนำมาปั่นด้วยความเร็วสูงเพื่อแยกเกล็ดเลือดที่เข้มข้นออกมา แล้วน้ำเกล็ดเลือดที่เข้มข้นฉีดที่เนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เกล็ดเลือดที่เข้มข้นจะปล่อยสารที่ไปกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ไปซ่อมแซมร่างกาย         การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือดมีประสิทธิผลจริงหรือไม่        เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก พบว่า การใช้การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่มีคุณภาพและวิธีการวิจัยที่ดีเพิ่มเติม ต้องศึกษาตั้งแต่การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้น ส่วนประกอบของเกล็ดเลือด วิธีการฉีด การติดตามผู้ป่วยที่เพียงพอ        จากการทบทวนข้อมูลทางการแพทย์ของ COCHRANE (ณ มีนาคม 2556) และงานวิจัยใหม่ ๆ (ณ มีนาคม 2555) มีการศึกษา 19 รายงานที่มีการใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นกับการควบคุมที่ไม่ใช้ มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 1,088 ราย พบว่า หลักฐานที่มียังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อการรักษาการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือแสดงให้เห็นผลที่แตกต่างตามประเภทของการบาดเจ็บ การวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องนึกพิจารณาถึงความจำเป็นในการทำมาตรฐานการเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นด้วย         การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงยังไม่เป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์         ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่การรักษามาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพราะเป็นแค่การศึกษาวิจัย         นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ควรรับการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น ได้แก่ ผู้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางขั้นรุนแรง มีระบบภูมคุ้มกันบกพร่อง กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ตั้งครรภ์และให้นมลูก        สรุป ในขณะนี้ การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังไม่เป็นที่ยืนยันเรื่องประสิทธิผล และยังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย ไม่ใช่การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 กระแสต่างแดน

รถไฟไฉไลกว่า        ผู้คนหันมาเดินทางด้วยรถไฟกันมากขึ้นในภูมิภาคยุโรป ตัวอย่างเช่นในสวีเดน ยอดขายตั๋ว Interrail ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า         นี่อาจเป็นผลจากการรณรงค์ “flight shame” (หรือ flygskam ในภาษาสวีดิช) โดยสาวน้อยนักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เกรต้า ธันเบิร์ก และคุณแม่ของเธอ ที่เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนจากการเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ (ขณะเขียนข่าวนี้ เกรต้ากำลังเดินทางด้วยเรือยอทช์พลังแสงอาทิตย์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมเรื่องสภาพอากาศ)         องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรประบุว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 285 กรัมต่อหนึ่งกิโลเมตร สำหรับผู้โดยสารหนึ่งคน ในขณะที่ผู้โดยสารรถไฟจะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 14 กรัมในระยะทางที่เท่ากัน         ตัวแทนขายตั๋วบอกว่าอีกเหตุผลสำคัญคือนักเดินทางเริ่มตระหนักว่าการเดินทางด้วยรถไฟสามารถเป็นไฮไลท์ของการเดินทางทริปนั้นได้ด้วยมีขยะขึ้นคันนี้         หากคุณจะไปไหนมาไหนในเมืองสุราบายา อย่าลืมพกแก้วหรือขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไปด้วย เพราะมันสามารถใช้แลกตั๋วรถได้        รถบัสปรับอากาศเที่ยวพิเศษที่คิดค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายนี้มีให้บริการทั้งสิ้น 20 คัน คุณจะเลือกจ่ายค่าตั๋วเป็นขวดพลาสติกขนาดใหญ่ 3 ขวด หรือขวดขนาดกลาง 5 ขวด หรือแก้วพลาสติก 10 ใบก็ได้         สุราบายา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2.9 ล้านคน ทดลองโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อลดขยะและแก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น ถึงตอนนี้เสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ แต่ละสัปดาห์มีคนใช้บริการประมาณ 16,000 คน และบริษัทรถก็มีรายได้เป็นขวดพลาสติกเดือนละ 6,000 กิโลกรัม        ก่อนหน้านี้บาหลีได้ประกาศห้ามใช้หลอดพลาสติก ในขณะที่จาการ์ตาก็กำลังเล็งแผนงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นี่คือส่วนหนึ่งของความพยายามของอินโดนีเซียที่จะลดปริมาณพลาสติกในทะเลลงให้ได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2025        อินโดนีเซียก่อมลพิษทางทะเลมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีนยังมีความเสี่ยง         ปรากฎการณ์ฟาสต์แฟชั่นยังดำเนินต่อไป บังคลาเทศยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน และร้อยละ 16 ของเศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนี้ซึ่งมีการจ้างงานผู้คนไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน         แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างหลังเหตุการณ์ตึกรานาพลาซ่าถล่ม เมื่อปี 2013         โศกนาฎกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,100 คนทำให้บรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตในบังคลาเทศร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการปรับปรุงความปลอดภัยของอาคารโรงงาน และร่วมกันลงขันเพื่อช่วยให้เกิดการปรับปรุงดังกล่าวด้วย โดยมีกำหนดเวลาห้าปี         สมาคมผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของบังคลาเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้มีโรงงานเพียง 200 แห่ง จาก 1,600 แห่ง ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และมีอย่างน้อย 400 โรงงานที่ยังอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องถูกสั่งห้ามรับออเดอร์จากต่างประเทศชีวิตติดจอ         ผลการวิจัยล่าสุดโดย The Shift Project องค์กรรณรงค์ด้านการใช้พลังงานทางเลือก พบว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดูวิดีโอออนไลน์ในปี 2018 มีมากถึง 300 ล้านตัน(เท่ากับการปล่อยก๊าซนี้จากประเทศขนาดเท่าสเปนในเวลาหนึ่งปี)         เขาคาดการณ์ว่าในอีกสามปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของประชากรโลกจะเข้าสู่สังคมออนไลน์ และร้อยละ 80 ของการใช้อินเทอร์เน็ตของคนเหล่านี้จะเป็นการดูวิดีโอ โดยร้อยละ 60 ของวิดีโอที่ดูจะมาจากบริการสตรีมมิ่ง เช่น ยูทูบ เน็ทฟลิกซ์ และวิมีโอ นั่นเอง         เขาพบว่าการรับ-ส่งข้อมูลไอทีแบบนี้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าธุรกิจการบินด้วยซ้ำ นักวิจัยแนะนำว่าหากต้องการประหยัดพลังงาน เราควร... 1. ดูหนังจากโทรทัศน์แทนโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นไปได้) 2. ดูผ่านเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก 3. ดูในจอเล็ก 4. ดูผ่านไวไฟ และ 5. เลือกความคมชัดธรรมดา เพราะความละเอียดที่มากขึ้นหมายถึงการใช้พลังงานมากขึ้นด้วยอย่าถามเยอะ         การใช้เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางในการเสนอขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงการสนับสนุนการจับจ่ายแบบไม่ใช้เงินสดทำให้ผู้บริโภคในประเทศจีนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีน (CCA) ระบุว่าร้อยละ 91 ของแอปพลิเคชันมือถือ กำหนดให้ผู้บริโภคกรอกข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการนั้นเลย เช่น แอปฯ ซื้อตั๋วหนังที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน         เมื่อไม่ให้ข้อมูล ผู้บริโภคก็จะซื้อตั๋ว สั่งอาหาร หรือจ่ายค่าสินค้าไม่ได้ ถ้าเป็นเมืองอื่นก็พอจะทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ได้ แต่ในเมืองเทคโนโลยีล้ำอย่างเซินเจิ้น ผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเลือกเพราะต้องทำทุกอย่างผ่านแอปฯ เท่านั้น            การสำรวจระบุว่าร้อยละ 80 ของประชากรเคยมีประสบการณ์เบอร์มือถือหรือเบอร์โทรศัพท์ “รั่วไหล” ไปอยู่ในมือของพวกสแปมหรือโทรศัพท์มารบกวน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ผื่นแพ้เสื้อผ้า แก้อย่างไรดี

                ช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อนจนร่างแทบละลาย แถมบางคนยังเกิดผื่นแพ้จากเหงื่อและเสื้อผ้า จนคันคะเยอเสียอาการ ครั้งนี้เรามาหาสาเหตุและการแก้ไขเพื่อให้สามารถผ่านช่วงเวลาแสบๆ คันๆ นี้ไปได้         สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผื่นแพ้เสื้อผ้า        1.ผ้า ปกติผ้าใยธรรมชาติจะไม่ค่อยก่ออาการแพ้ อย่างฝ้าย ลินินหรือผ้าไหม ถ้าแพ้อาจเกิดจากสารเคมีที่เติมเข้าไป เช่น สีย้อม การกันเชื้อรา ฯลฯ ผ้าขนสัตว์ มักทำให้ผิวหนังระคายเคือง และเกิดลมพิษจากการสัมผัสได้ ผ้าไนลอน อาจก่อให้เกิดผดได้ เพราะเนื้อผ้าไม่ให้เหงื่อซึมผ่านออกมาทำให้เกิดการอับชื้น         2.สิ่งประดับในเสื้อผ้า  ซิป กระดุม ตะขอ ที่มีส่วนผสมของนิกเกิล อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ ยิ่งอยู่ในส่วนที่สัมผัสกับผิวโดยตรง         3.แพ้สารเคมี เช่น ผงซักฟอกเนื่องจากล้างออกไม่หมดแล้วตกค้างบนเสื้อผ้า หรือน้ำยาทำให้ผ้าเรียบ หรือแพ้สีย้อมผ้า         4.แพ้สารเคมีจากขอบยางยืด โดยเฉพาะยางยืดกางเกงชั้นใน เนื่องจากยางยืดส่วนใหญ่ใช้ยางพาราในการผลิต แม้มีคุณสมบัติทนทานแต่ในน้ำยางมีโปรตีนธรรมชาติที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ (เชื่อว่าคุณผู้ชายหลายคนน่าจะมีประสบการณ์ผื่นแพ้จากขอบกางเกงในกันมาบ้าง) อาจพบผื่นผิวหนังอักเสบด้านในและด้านหน้าของต้นขา เป็นต้น         5.แพ้เนื่องจากมีแมลงที่อาศัยในเสื้อผ้า เช่น เหา หิด ซึ่งชอบอาศัยตามเสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์หรือเสื้อผ้าหนาๆ         6.แพ้จากเชื้อรา ที่แฝงในเสื้อผ้าที่เปียกชื้น         7.แพ้เนื่องจากอ้วนขึ้น การแพ้เสื้อผ้าอาการแพ้จะมากน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่สัมผัสกับผ้า หากใส่เสื้อผ้าที่รัดรึงเกินไปจะทำให้ผิวจมอยู่กับสิ่งที่ก่ออาการแพ้ได้มากขึ้น เช่น ขอบยางยืด ซิป         วิธีป้องกันการแพ้เสื้อผ้า         ก่อนอื่นต้องหาสาเหตุให้พบเสียก่อน แล้วค่อยตัดสิ่งสงสัยไปเรื่อยๆ โดยขอเสนอเป็นแนวทางป้องกันกว้างๆ ดังนี้         1.ต้องมั่นใจว่าซักล้างผงซักฟอกจนสะอาดไม่ตกค้างบนเสื้อผ้า         2.ไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นโดยเฉพาะเสื้อชั้นใน กางเกงใน เพราะจะก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรค เชื้อรา         3.ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดรึงเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าให้พอดี ยิ่งระยะที่มีอาการแพ้ควรใส่เสื้อผ้าให้หลวมเพื่อไม่ให้สัมผัสกับผิวมากเกินไป         4.เมื่อเสื้อผ้าเปียกเหงื่อมากๆ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่เพื่อความสบายตัวและไม่เกิดการหมักหมม         5.หากแพ้เสื้อผ้าบางชนิดเช่น ผ้าขนสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงหรืออาจป้องกันด้วยการสวมใส่เสื้อด้านในเพื่อกันไม่ให้เสื้อขนสัตว์สัมผัสผิวโดยตรง         6.ขอบยางยืด หากแพ้สารประเภทยางพารา ควรเลือกที่ยางยืดมีส่วนผสมของ Spandex หรือใช้วิธีกำจัดสารโปรตีนที่มากับยางพาราที่ใช้ทำยางยืด โดยใช้ยางมะละกอจากผลมะละกอดิบ/ จากใบมะละกอสัก 1 ช้อนโต๊ะ ละลายกับน้ำสัก 1 กาละมัง / หรืออาจจะใช้น้ำสับปะรดสดคั้นประมาณ 1 ถ้วย พร้อมกับใส่น้ำยาล้างจานลงไปเล็กน้อย แล้วแช่กางเกงในเจ้าปัญหาลงไปแช่ค้างคืน ก่อนที่จะนำมาซักปกติ (ที่มาเพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ล่อลวงล่อหลอก

ยุคนี้ใครๆ ก็ใช้อินเทอร์เน็ตกันเป็น ข้อมูลข่าวสารดีๆ เราสามารถค้นหาได้ในเน็ต แต่หลายครั้งก็พบว่าเมื่อเราตามไปอ่านข่าวสารต่างๆที่สนใจเหล่านั้น บางทีเราก็จะพบข้อมูลแปลกๆแทรกในหน้าข่าวต่างๆ โดยชักจูง ล่อลวงให้เราตามไปอ่านอย่างแนบเนียนจนเราไม่รู้สึกตัว        ในช่วงที่ผ่านมา คนกำลังตื่นตัวและหวาดกลัวกับปัญหาฝุ่น 2.5 สื่อโซเชียลหลายเว็บนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น 2.5 แต่เมื่อลองตามเข้าไปอ่าน กลับพบว่าในบางเว็บมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเครื่องดื่ม แต่ฉวยโอกาสว่า ดื่มแล้วจะมีสารต้านฝุ่น 2.5 ในร่างกาย แทรกในท้ายๆของข่าวสาร หรือในเว็บที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสายตา เมื่อตามไปอ่านกลับพบว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างว่าช่วยรักษาสารพัดปัญหาตาได้อีกด้วย        ล่าสุดผมตามไปอ่านเว็บเกี่ยวกับสมุนไพร อ่านไปได้ครึ่งหน้ากลับมี ข้อความแปลกๆ โผล่ขึ้นมา เช่น ย้อนวัยทั้งคืน ทีแรกก็ยังงงๆ กับข้อความกำกวมดังกล่าว แต่พอกดลิงค์ตามเข้าไปดู กลับกลายเป็นข้อความ บรรยายว่า “ผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกาย ชนิดนี้ เป็นสินค้าที่นำเอาตำรับยาสมุนไพรจีน มาพัฒนาโดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีส่วนช่วยบำรุงและกระตุ้นการทำงานของตับและไต ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ระบบของเหลวในร่างกายมีความสมดุล ช่วยเพิ่มฮอร์โมนในเลือด” มีการอ้างต่อว่า “มีส่วนผสมของ ราชาแห่งสมุนไพร (ถังเช่า) ด้วย” หลังจากนั้นก็ไม่ปิดบังอะไรแล้ว เพราะมีการใช้ข้อความโต้งๆ กันไปเลยว่า “แต่ก่อนเป็นกล้วยไข่  เดี๋ยวนี้เป็นกล้วยหอม อาหารเสริมสำหรับผู้ชาย ใหญ่ อึด ถึก ทน ต่อรอบได้” ตามด้วยการระบุว่าสินค้านี้มีเลข อย. รวมทั้งแจ้งการสั่งซื้อทางไลน์        สอดคล้องกับเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนที่มาที่แผนกผมในระยะหลังๆ พบว่ามีผู้บริโภคหลายรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จากเฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตราแกรม ฯลฯ พอใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ก็พบว่าไม่ได้ผล หรือมีอาการแปลกๆ จึงมาร้องเรียน หลังจากนั้นไม่นาน ก็จะไปซื้อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่มาใช้อีก แล้วก็มาร้องเรียนอีก วนเวียนไปมาเรื่อยๆ        เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ขายที่มีปัญหา มักจะใช้หลากหลายกลวิธีล่อลวงล่อหลอก ผู้บริโภคในยุคนี้จำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดเท่าทัน Smart Consumer หากจะเลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากเน็ต ขอให้ตรวจสอบข้อมูลหลายๆ ทาง หากเป็นผู้ขายหน้าใหม่ เราไม่รู้จัก อย่าเพิ่งรีบซื้อ พยายามศึกษาและตรวจสอบสินค้าในเว็บตลอดจนข้อความโฆษณาว่ามันถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  หากไม่แน่ใจให้สอบถามเจ้าหน้าที่  หรือหากพลาดตัดสินใจซื้อสินค้าไปแล้ว ขอให้เก็บหลักฐานการสั่งซื้อให้ดี เช่น บันทึกภาพหน้าจอหรือข้อความที่ได้พูดคุยโต้ตอบ ใบสร็จรับเงิน หรือใบส่งของ สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์ตอนมาร้องทุกข์ และจะทำให้ติดตามผู้จำหน่ายได้ง่ายขึ้น        อยากให้นึกไว้เสมอว่าผลิตภัณฑ์เทวดาที่โฆษณาว่ามีสรรพคุณมหัศจรรย์ไม่มีในโลก หากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาโอเวอร์ ถึงจะอ้างว่ามีเลขที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลแล้ว ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนดีกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >