ฉบับที่ 173 ตะกั่วในสีทาบ้าน “ผู้ผลิตไทยลดการใช้ตะกั่วลง” ตอน 2

ปี 2553 และ ปี 2556 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ* ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคาร และส่งตัวอย่างสีเพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารตะกั่ว พบว่า ผู้ผลิตสีน้ำมัน ยังมีการใช้ตะกั่วในการผลิตสี โดยเฉพาะสีโทนสดใส ค่อนข้างสูง จากจำนวนตัวอย่าง 120 ตัวอย่าง ในปี 2556 พบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน (100 ppm เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจไม่ใช่มาตรฐานบังคับ) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm โดยทางนิตยสารฉลาดซื้อได้นำรายชื่อตัวอย่างสี ทั้ง 120 ตัวอย่างไว้ในฉบับที่ 151 กันยายน 2556    และในปี 2558 นี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้สำรวจตลาดสีน้ำมันทาอาคารเป็นครั้งที่สาม เพื่อติดตามสถานการณ์ ซึ่งภาพรวมพบว่า เป็นข่าวดี มีผู้ผลิตสีจำนวน 1 ใน 3 ลดใช้สารตะกั่วในการผลิตสีแล้ว แต่ก็ยังมีบริษัทใหญ่บางแห่งผลิตสีแบบสองมาตรฐาน โดยเลิกใช้ในบางยี่ห้อ แต่ยังคงใช้ในบางยี่ห้อ     โดยฉลาดซื้อได้ลงรายชื่อผลิตภัณฑ์สีน้ำมันที่ตรวจพบ ปริมาณตะกั่วเกิน 100 ppm ในฉบับที่ 172 สำหรับฉบับนี้ จะนำเสนอรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบปริมาณตะกั่วไม่เกิน 100 ppm โปรดตรวจดูรายชื่อได้ในหน้าถัดไป     ในส่วนเรื่องฉลากยังพบว่า บางผลิตภัณฑ์มีการหลอกลวงผู้บริโภคโดยระบุฉลากว่า ปราศจากตะกั่ว แต่ผลทดสอบกลับพบมีปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน แนวโน้มที่ดีขึ้นของฉลากและปริมาณสารตะกั่วเมื่อฉบับที่ 151 กันยายน 2556 ฉลาดซื้อเคยลงข้อมูลเกี่ยวกับฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วไม่ตรงตามจริงว่า มีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่างที่ติดฉลากปลอดสารตะกั่ว แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน ดังนั้นสำหรับฉบับนี้ฉลาดซื้อจะมาอัพเดตข้อมูลล่าสุดที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการสำรวจอีกครั้งใน 2558 ผลการทดสอบฉลากแสดงปริมาณสารตะกั่วจากทั้งหมด 100 ตัวอย่าง พบว่ามี 26 ตัวอย่างที่แสดงฉลากโฆษณาว่า สีปลอดสารตะกั่ว ซึ่งเมื่อนำไปทดสอบแล้วปรากฏว่าพบปริมาณสารตะกั่วอยู่ระหว่าง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point