ฉบับที่ 241 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่ (ยาแต้มสิว)

                        ‘สิว’ เป็นปัญหาผิวที่กวนใจใครหลายคน ยิ่งในช่วงนี้ที่มีทั้งมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และโรคโควิด-19 ระบาด ผู้คนจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยกันแทบจะตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผิวหน้าเกิดสิวขึ้นได้จึงไม่แปลกใจเลยที่จะเห็น ‘ยาแต้มสิว’หลายยี่ห้อหลากสรรพคุณละลานตาอยู่บนชั้นขายเวชสำอางทั้งหลาย ชูจุดขายตามกลยุทธ์การตลาดแตกต่างกันไป ผู้บริโภคจึงควรใส่ใจในการเลือกใช้ยาแต้มสิวมารักษาให้ได้ผล โดยไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายเข้าข่ายหนีเสือปะจระเข้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว)  จำนวน 10 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากยาแต้มสิวเหล่านี้ว่ามีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         พาราเบน (Paraben) และ เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinon : MIT) เป็นสารกันเสียที่อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ปัจจุบัน อย.ระบุให้ใช้ได้ตามปริมาณและเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น        แอลกอฮอล์และน้ำหอม อาจมีผลทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้           ผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์รักษาสิวเฉพาะที่(ยาแต้มสิว)        พบว่า ยี่ห้อ มิซึมิ เปปไทด์ แอคเน่ เจล และสมูทอี แอคเน่ ไฮโดรเจน พลัส ไม่มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลาก มี 5 ตัวอย่างระบุว่ามี พาราเบน , มี 1 ตัวอย่างระบุว่ามี เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน , มี 6 ตัวอย่างระบุว่ามี แอลกอฮอล์ , มี 4 ตัวอย่างระบุว่ามี น้ำหอม         ข้อสังเกต        - โอลด์ร๊อค แอนตี้ แอคเน่ สปอต เจล พลัส แม้บนฉลากบอกว่าไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ในส่วนประกอบมี Benzyl alcohol        - จากทั้งหมด 10 ตัวอย่าง มี จุฬาเฮิร์บ แมริโกลด์ แอคเน่ เจล ตัวอย่างเดียวที่ทาแล้วต้องล้างออก เพราะมีส่วนผสมของ MIT ซึ่งเป็นสารกันเสียที่กำหนดให้ใช้ได้ในเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ต้องล้างออกเท่านั้น        - มี 9 ตัวอย่างอยู่ในรูปของเจล ทั้งนี้เพราะเจลมีเนื้อสัมผัสบางเบา ซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี และไม่มีน้ำมัน         - มี 4 ตัวอย่าง ที่ระบุถึงระยะเห็นผลสิวยุบไว้ คือ มิซึมิ เปปไทด์ แอคเน่ เจล (3 วัน) สมูทอี แอคเน่ ไฮโดรเจน พลัส (3 วัน) โปรวาเมด แอคเน่ สปอต เจล (12 ชั่วโมง) และ เมนโทลาทั่ม แอคเน่ส์ ซีลลิ่ง เจล (3วัน)         - ยี่ห้อ ดร.สมชายแอคเน่ สปอตทัช เจล ระบุว่าเป็นสูตรเร่งด่วน และเดอร์มาแองเจิ้ล แอคเน่ แคร์ อินเท็นซีฟ เจล ระบุว่าทำให้สิวยุบไว แต่ทั้งคู่ไม่ได้บอกระยะเวลาเห็นผลไว้           ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ        การเลือกยาแต้มสิวมาใช้ผลัดสิวหลุด หยุดสิวโผล่ให้เห็นผลผู้บริโภคต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นสิวแบบไหน โดยปัญหาสิวส่วนใหญ่เกิดจากความมันส่วนเกินบนใบหน้าไปอุดตันรูขุมขน จนเกิดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการอักเสบตามมา ลักษณะของสิวมี 2 แบบหลักๆ คือ        1. สิวอุดตัน กดแล้วไม่เจ็บ ได้แก่ สิวหัวดำ สิวหัวขาว สิวเสี้ยน รักษาโดยกำจัดความมันและผลัดเซลล์ผิว        2. สิวอักเสบ มักจะบวมแดง กดแล้วเจ็บ เกิดจากการติดเชื้อ P.acnes หรือเชื้อโรคอื่นๆ รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก          ผู้บริโภคควรเลือกใช้ยาแต้มสิวให้เหมาะกับลักษณะและความรุนแรงของสิว เพื่อให้ได้ผลและลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ด้วย เพราะสารสำคัญในยาแต้มสิวมีหลายชนิดและออกฤทธิ์แตกต่างกัน         1.  สารออกฤทธิ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid หรือ BHA) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid หรือ AHA) และกรดเรทิโนอิก        2. สารออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย P.acnes เช่น ยาปฏิชีวนะคลินดามัยซิน (clindamycin) มักใช้คู่กับเบนโซอิน เปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา, Oligopeptide-10 , Tea Tree Oil  กำมะถัน(sulfur) สารสกัดเปลือกมังคุด และสารสกัดดอกดาวเรือง        3. สารออกฤทธิ์ลดการระคายเคือง จะช่วยทำให้อาการปวดระบม บวม แดง ของสิวอักเสบดีขึ้น เช่น อัลลานโทอิน (Allantoin) สารสกัดจากดอกคาโมมายล์ (Chamomile และBisabolol) และว่านหางจระเข้         การใช้ยาแต้มสิว เป็นวิธีรักษาที่เหมาะกับสิวไม่อักเสบไปจนถึงอักเสบเล็กน้อย ผู้บริโภคควรอ่านวิธีใช้และคำเตือนบนฉลากของแต่ละผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจก่อนใช้เสมอ แต่หากเป็นสิวอักเสบรุนแรงควรไปรักษากับหมอผิวหนังโดยตรงดีกว่า เช่นเดียวกันถ้าใช้ยาแต้มสิวต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์แล้วยังไม่เห็นผลว่าสิวยุบลง หรือสิวกลับเห่ออักเสบมากกว่าเดิม ควรหยุดใช้ แล้วไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาทันการณ์          ระวัง! สำหรับคนท้องหรือแม่ที่ให้นมลูกอยู่ หากมีปัญหาสิว ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผิวหนังก่อน อย่าซื้อยาแต้มสิวมาใช้เองเด็ดขาด เพราะอาจมีสารออกฤทธิ์ที่เป็นอันตรายได้           อย่างไรก็ตาม หากไม่อยากกลับมาเป็นสิวซ้ำอีก ผู้บริโภคควรลดพฤติกรรมทำร้ายผิวต่างๆ และหันมาดูแลสุขภาพโดยรวม เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผิวและเสริมสร้างภูมิต้านทานเชื้อโรคให้ร่ายกาย เช่น ไม่นอนดึก พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ลดอาหารมันๆ กินผักและผลไม้เป็นประจำ รวมทั้งการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น  

อ่านเพิ่มเติม >