ฉบับที่ 257 กระแสต่างแดน

จ่ายแล้วจ่ายอีก        ตำรวจไต้หวันเตือนนักช้อปออนไลน์ให้ระวัง “โทรศัพท์แอบอ้าง” หลังมีผู้มาแจ้งความเรื่องดังกล่าวมากกว่า 2,725 ครั้งในไตรมาสที่สองของปีนี้กองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมของไต้หวันระบุว่า มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้าของร้านดังหรือแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น ร้านหนังสือ books.com.tw ร้านอุปกรณ์กีฬา Decathlon Group หรือ Shopee เป็นต้น ลูกค้าจะได้รับแจ้งให้ชำระเงินซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากครั้งแรก “ทำรายการไม่สำเร็จ” หรือมีปัญหาในการทำ แบ่งผ่อนชำระ บ้างก็ได้รับข้อมูลว่าทำแล้วจะได้รับของแถม หรือได้อัปเกรดเป็นสมาชิกระดับวีไอพี ตำรวจจึงขอให้เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มเหล่านี้กำกับดูแลบริษัทที่รับจ้างดูแลฐานข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการรั่วไหล หรือการแฮคข้อมูล และให้แจ้งเตือนผู้ใช้ที่หน้าแรกของร้านด้วยส่วนผู้บริโภค ขอให้หลีกเลี่ยงการรับสายจากหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย +2 หรือ +886   จมด้วยกัน        ฝันร้ายของบริษัทประกันรถยนต์กลายเป็นจริง เมื่อมีการเคลมประกันเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมากโดยเจ้าของรถยนต์ในกรุงโซล หลังเกิดน้ำท่วมหนักเพราะฝนที่ตกหนักสองวันติดต่อกันเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการแจ้งเคลมประกันยานพาหนะที่เสียหายเข้ามากว่า 7,000 คัน และในจำนวนนั้นมีไม่ต่ำกว่า 1,500 คัน ที่เป็นรถนำเข้าราคาแพงของคนมีฐานะที่อาศัยอยู่ในย่านกังนัม   กรณีของบริษัทซัมซุงไฟร์แอนด์มารีนอินชัวรันส์ จากรถที่แจ้งเคลมเข้ามา 2,371 คัน มี 939 คัน (เกือบร้อยละ 40) ที่เข้าข่ายเป็นรถหรู ที่มีทุนประกันรวมกันไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านวอน หรือประมาณ 680 ล้านบาท แม้บริษัทประกันรถยนต์จะไม่เดือดร้อนถึงขั้นต้องปิดตัวไปเหมือนธุรกิจประกันสุขภาพในบางประเทศ เพราะได้กำไรดีมาตลอดแม้ในช่วงโควิดระบาด แต่คนที่ฝันสลายคือผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าจะได้จ่ายเบี้ยประกันถูกลง ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ตลาด อะไรอยู่ในกระเป๋า            เทรนด์ใหม่มาแรงใน Tiktok ขณะนี้คือคลิปลุ้นเปิดกระเป๋าไม่มีเจ้าของ ที่คนทำคอนเทนท์อ้างว่าได้มาจากสนามบิน สถานีรถไฟ หอพักนักศึกษา หรือบ้านเช่า เป็นต้น ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นว่าข้างในมีอะไร มูลค่าเท่าไร เช่น ผู้ใช้รายหนึ่งนำกระเป๋าที่อ้างว่าซื้อผ่านแอปฯ ขายของมือสองมาในราคา 1,000 หยวน (ประมาณ 5,250 บาท) มาเปิดในคลิป นอกจากข้าวของทั่วไปของผู้หญิงแล้ว เธอยัง “เซอร์ไพรซ์” ที่เจอสร้อยคอแบรนด์เนม ราคาไม่ต่ำกว่า 40,000 หยวน (ประมาณ 200,000 บาท) ตามกฎหมาย การซื้อขายกระเป๋าดังกล่าวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของถือเป็นความผิด และทั้งสนามบินและสถานีรถไฟต่างก็ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายนำกระเป๋าไม่มีเจ้าของออกมาขายหรือเปิดประมูล ผู้ค้ารายหนึ่งบอกว่ากระเป๋าที่เขาขายนั้นส่วนใหญ่มาจากบ้านเช่าหรือหอพักนักศึกษา แต่ “ของมีค่า” นั้นถูกใส่เพิ่มเข้าไปภายหลัง เพื่อสร้างความตื่นเต้นและเป็นอุบายขายของมือสองในราคาสูงขึ้น    เข้ากลุ่มอัตโนมัติ        ศาลสูงออสเตรเลียมีคำสั่งให้ผู้เสียหายจากการถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างไม่เป็นธรรมโดยธนาคาร ANZ และธนาคาร ASB เป็นผู้ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ เพื่อเรียกร้องเงินคืน เดือนมีนาคม ปี 2563 ธนาคาร ANZ ยอมรับว่าคำนวณดอกเบี้ยผิดเพราะข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ใช้ในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 และตกลงจะจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกค้าประมาณ 100,000 คน รวมเป็นเงิน 29.4 ล้านเหรียญ  ด้านธนาคาร ASB ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ส่งข้อมูลอัตราดอกเบี้ยหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2015 ถึง 2019 ก็ตกลงยินยอมจ่ายเงินรวม 8.1 ล้านเหรียญให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 73,000 ราย คำสั่งศาลครั้งนี้ทำให้ลูกหนี้สินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลเหล่านี้อุ่นใจได้ว่าจะมีการดำเนินคดีและมีโอกาสได้รับเงินคืน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ต้องการร่วมฟ้องก็สามารถขอถอนตัวจากคดีนี้ได้ ฟังก์ชันเหลือเชื่อ        กรมยานยนต์แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานพิจารณาคดีปกครองด้วยข้อ กล่าวหาว่าโฆษณารถยนต์เทสลาว่าด้วยระบบช่วยเหลือในการขับขี่ เข้าข่ายเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของฟังก์ชัน “ออโตไพล็อต” และฟีเจอร์ “ขับอัตโนมัติ” โฆษณาในเว็บไซต์บริษัทระบุว่า “สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่เข้าไปนั่ง แล้วบอกรถคุณว่าจะให้ไปที่ไหน ถ้าคุณไม่พูดอะไรเลย รถจะเปิดดูปฏิทินของคุณ แล้วพาคุณไปยังที่ๆ คาดว่าคุณมีนัดหมาย” ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่ารถเทสลาไม่ใช่ยานยนต์ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ไม่ว่าจะในช่วงเวลาขณะนี้หรือในขณะที่ทำการโฆษณา หากถูกตัดสินว่าผิดจริง เทสลาจะไม่มีสิทธิจำหน่ายรถในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแบรนด์และเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อีกต่อไป ขณะนี้บริษัทกำลังถูกสอบสวนกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นขณะรถอยู่ในโหมดออโตไพล็อตด้วย        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 โฆษณาสินเชื่อจำนำทะเบียนรถหลอกลวง สัญญามีผลใช้บังคับได้ไหม

ในยุคที่สินค้าราคาแพง แถมยังมีการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายคนประสบปัญหาทางการเงินต้องวิ่งหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาหมุนใช้จ่ายในการดำรงชีวิต ซึ่งธุรกิจให้กู้ยืมเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็มีเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจปล่อยสินเชื่อโดยเรียกเก็บโฉนดที่ดินหรือทะเบียนรถยนต์ก็เริ่มมีเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และแน่นอนว่าเราก็พบเห็นข้อความโฆษณาของธุรกิจแบบนี้บนสื่อต่างๆ ในทำนองว่า “รับจัดสินเชื่อบ้าน ที่ดิน และรถทุกประเภท ไม่ต้องมีสลิป ไม่เช็คประวัติ อยู่ที่ไหนก็จัดได้ ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน” ซึ่งการโฆษณาเช่นนี้ ก็ทำให้คนโดยทั่วไปเข้าใจว่ากู้ง่ายได้ไวและตัดสินใจเข้ามาทำสัญญากู้เงิน          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าในความเป็นจริงธุรกิจให้สินเชื่อดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการให้เป็นอย่างที่โฆษณา  เมื่อผู้บริโภคเข้าทำสัญญาปรากฎว่ามีการให้โอนเล่มทะเบียนซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณา เช่นนี้จึงได้มีการนำเรื่องไปฟ้องร้องกันในศาลและเรื่องไปสู่ศาลฏีกา ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อโฆษณาเกินจริง หลอกลวง โดยอ้างว่าไม่ต้องโอนเล่มทะเบียน แต่เมื่อผู้บริโภคมาเข้าทำสัญญากลับมีการให้โอนเล่มทะเบียน เช่นนี้จึงทำให้การโอนเป็นโมฆะ เพราะขัดเเย้งกับสิ่งที่ได้โฆษณาไว้   ผลคือผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ให้กู้จะต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่ผู้กู้   และผู้กู้มีหน้าที่ต้องคืนเงินต้นที่รับมาจากผู้ให้กู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ให้กู้   โดยต้องนำเงินที่ผู้กู้ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้ไปแล้ว มาหักออกจากจำนวนที่ผู้กู้ต้องรับผิด ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799 / 2563         แผ่นป้ายโฆษณาของจำเลยข้อความว่า “ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง” และ “ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด”         แม้ป้ายโฆษณาจะระบุให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา แต่ก็เป็นการโฆษณากิจการให้เงินกู้ของจำเลย   เมื่อโจทก์เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องมาจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายดังกล่าวจึงถือว่าแผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจ ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ขุดตักประเภทเดียวกับที่ระบุในแผ่นป้ายโฆษณาว่าไม่โอนเล่ม การที่จำเลยให้โจทก์กู้เงินโดยทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยจึงไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ถือเป็นโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 47 อันเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และต้องคืนทรัพย์สินต่อกันตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ จำเลยจึงต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์คันพิพาทคืนแก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยทั้งหมดให้แก่จำเลย โดยต้องนำเงินที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยไปแล้วมาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิดและเมื่อการคืนทรัพย์สินหรือเงินอันเกิดจากโมฆะกรรม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องใช้ดอกเบี้ย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืน แต่มีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้         จากคำพิพากษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้การโฆษณาเพื่อลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญา ผลคือสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับได้เลย  ดังนั้นการที่ไปโอนเล่มทะเบียนกันไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ก็ถูกเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวไปด้วย  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคก็ต้องคืนเงินที่กู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจผู้ให้กู้และเงินที่คืนกันนี้เป็นการคืนแบบลาภมิควรได้ ไม่ใช่การใช้เงินคืนตามสัญญากู้ ดังนั้นจึงมาคิดดอกเบี้ยไม่ได้  และเมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องคดีผู้บริโภค พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี ทั้งเรื่องกำหนดให้ข้อความโฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา (มาตรา 11 )  การประกอบธุรกิจต้องกระทำโดยสุจริต ( มาตรา 12 ).................................        พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551         มาตรา 11 ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตาม         มาตรา 12 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         นอกจากนี้ การใช้โฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหลงทำสัญญาก็เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มาตรา 47 อีกด้วย         มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 193 การขอสินเชื่อของผู้บริโภค กับข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน  ในฉบับนี้ เราจะมาคุยกันถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคด้านสัญญากันครับ ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่าใครไม่เคยยืมเงินบ้าง เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงมีประสบการณ์ในการไปกู้หนี้ยืมสินกันบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่สำหรับวันนี้ผมขอกล่าวถึงการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน  ซึ่งเวลาที่เราจะไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เรามักจะไปทำเรื่องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินกันใช่ไหม แต่ก่อนลงชื่อในสัญญา มีท่านใดอ่านเอกสารตอนทำสัญญาทุกข้อบ้าง ผมเชื่อว่าน้อยคนนักจะอ่านโดยละเอียด ซึ่งก็แน่นอนว่า สถาบันการเงินมักจะซ่อนข้อสัญญาที่ทำให้เราเสียเปรียบอยู่ด้วย เช่นกันกับคดีที่จะยกตัวอย่างมาให้ทุกท่านศึกษา เป็นเรื่องของลูกค้าธนาคารแห่งหนึ่งที่ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร และได้ทำสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และสัญญากู้เงินประเภทวงเงินกู้หมุนเวียนในการใช้วงเงินสินเชื่อ โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงยินยอมชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคาร และก็ได้ชำระเงินกู้และใช้วงเงินสินเชื่อโดยเบิกถอนจากบัญชีและชำระหนี้ตลอดมา จนอยู่มาวันหนึ่ง เขาไม่ประสงค์จะกู้เงินและใช้วงเงินสินเชื่ออีกต่อไป จึงแจ้งธนาคารขอชำระหนี้ปิดบัญชีและไถ่ถอนหลักประกัน ธนาคารจึงได้แจ้งยอดหนี้และคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี เงินกู้หมุนเวียนและหนังสือค้ำประกัน ในอัตราร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่อที่ขอยกเลิก  ลูกค้าท่านนี้เขาเห็นว่าการคิดค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงทำหนังสือโต้แย้งธนาคารและขอสงวนสิทธิที่จะเรียกคืน แต่เมื่อได้มีการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่ปรากฎว่าธนาคารก็เพิกเฉยไม่คืน ทำให้เขาไปฟ้องคดีต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินให้ธนาคารคืนเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากข้อตกลงให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินไม่เป็นธรรม ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557คำพิพากษาฎีกาที่ 4904/2557“ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวได้แยกข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ กับข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูป เป็นคนละส่วนกัน ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ เมื่อพิจารณาเอกสารสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกแล้ว เห็นได้ว่าเป็นการจัดทำโดยใช้แบบพิมพ์สัญญา และบันทึกข้อตกลงที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและนำไปใช้ได้กับลูกค้าทั่วไปที่ขอสินเชื่อประเภทเดียวกันจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป ซึ่งการจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้กำหนดสัญญาแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้จำเลยเรียกค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อ เป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปเรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทุกกรณี ไม่ว่าโจทก์จะใช้วงเงินสินเชื่อหรือไม่ อย่างไร  จึงเป็นข้อตกลงที่ให้สิทธิจำเลยเรียกร้องหรือกำหนดให้โจทก์ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญามีผลให้โจทก์รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ตาม พ.รบ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (5) จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรม และพอสมควรแก่กรณีนั้น แม้โจทก์จะทำสัญญาสินเชื่อแต่ละประเภทและบันทึกข้อตกลงด้วยความสมัครใจ โดยจำเลยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไป และโจทก์ได้รับประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ยที่ลดลงตลอดมา แต่เมื่อพิจารณาบันทึกข้อตกลงในส่วนของวงเงินตามสัญญากู้เงินที่ตกลงให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของจำนวนเงินกู้ หากโจทก์ชำระคืนต้นเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ซึ่งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าว จำเลยคิดในอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยประกาศเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าโจทก์ใช้วงเงินสินเชื่อแต่ละประเภทมาเกินกว่า 3 ปี โดยเสียดอกเบี้ยให้จำเลยมาตลอด ถือได้ว่าจำเลยได้รับผลตอบแทนจากการใช้วงเงินสินเชื่อของโจทก์มาพอสมควรแก่กรณีแล้ว หากกำหนดให้โจทก์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้จำเลยอีกย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียม การยกเลิกวงเงินสินเชื่อให้แก่โจทก์” จากตัวอย่างคดีข้างต้น  ชี้ให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิด้านสัญญา  โดยเฉพาะสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจทำขึ้นฝ่ายเดียว โดยเราไม่มีโอกาสแก้ไขข้อสัญญา เราต้องตรวจสอบสัญญาก่อนลงลายมือชื่อทุกครั้ง และหากพบว่ามีข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้เราเสียเปรียบ ก็ควรเรียกร้องโต้แย้งไว้โดยทำเป็นหนังสือให้ปรากฎหลักฐาน อย่างเช่นในคดีนี้ที่โจทก์พบว่าหลังจากทำสัญญาสินเชื่อกับธนาคาร  ตนถูกธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกเลิกวงเงินสินเชื่อที่ไม่เป็นธรรม ก็ต่อสู้จนได้เงินคืนในที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 25543 กุมภาพันธ์ 2554หอม...อันตราย!?ใครที่ยังมีความเชื่อว่าใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง น้ำยาทำความสะอาดบ้านและฆ่าเชื้อโรค ที่มีกลิ่นหอม หรือไม่มีกลิ่นฉุน แล้วปลอดภัยหรือเป็นอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นแรง ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เดี๋ยวนี้โฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุอันตรายสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าทำจากธรรมชาติ แต่ในความจริงแล้วกลิ่นหอมเกิดจากการปรุงแต่งกลิ่นด้วยน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งหากเราสูดดมกลิ่นเข้าไปก็จะทำให้เป็นอันตรายกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้  เพราะฉะนั้นใครที่ยังหลงใหลในกลิ่นหอมของยาฉีดฆ่าแมลงและน้ำยาทำความสะอาด ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เท่าที่จำเป็น ถ้าไม่ใช้ได้ยิ่งดี แต่ถ้าจะใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังศึกษาข้อมูลและคำเตือนบนฉลากก่อนใช้ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย+++++++++++++++++++++++     17 กุมภาพันธ์ 2554“ศูนย์แก้ไขปัญหาสินเชื่อ” เตรียมเปิดถาวร...แก้ปัญหาทวงหนี้โหดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พอใจผลงาน “ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาการปล่อยสินเชื่อ” (ศปส.) เตรียมจัดตั้งให้เป็นศูนย์ถาวร หลังจากศูนย์ทำหน้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินให้กับผู้บริโภค ซึ่งปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามา ธปท. จะนำไปประสานต่อกับสถาบันการเงินที่ถูกร้องเรียนเพื่อให้ชี้แจงและดำเนินการปรับปรุงแก้ไขบริการต่อไป  โดยปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้ามามากที่สุดคือ เรื่องการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่สุภาพ หรือใช้วิธีรุนแรง รองลงมาคือเรื่องการเข้าไม่ถึงสินเชื่อหรือขอสินเชื่อไม่ได้ ส่วนเรื่องการหลอกลวงให้โอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือการถูกหลอกจากคอลเซ็นเตอร์ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยอดการร้องเรียนลดลงมาก เนื่องจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการประชุมร่วมกับ ธปท. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ตั้งศูนย์ร่วมกันเพื่อป้องปรามมิจฉาชีพเหล่านี้โดยเฉพาะ ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่เข้ามายัง ศปส. จะอยู่ที่ 100 – 200 เรื่องต่อวัน โดยก่อนหน้าเคยเรื่องเข้ามาสูงสุดถึงวันละ 700 - 800 เรื่อง  ศูนย์ประสานงานแก้ไขปัญหาสินเชื่อของ ธปท.มีการต่ออายุการทำงานของศูนย์มาแล้ว 4 ครั้งแต่เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.2542 โดยล่าสุด จะครบกำหนดอายุการทำงานในเดือน มิ.ย.2554 ซึ่งขณะนี้กำลังมีการพิจารณาตั้งเป็นศูนย์ถาวรเพื่อช่วยรองรับปัญหาของผู้บริโภค เพราะว่าเห็นประโยชน์ในการเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ซึ่งนับวันปัญหาเรื่องการเงิน หนี้ และบัตรเครดิต จะกลายเป็นใหญ่ในชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554สั่งระงับ!!!...นวดตารักษาต้อหิน ผู้ป่วยโรคต้อหินที่กำลังคิดจะไปรักษาด้วยวิธีการนวดตา คงต้องชั่งใจไตร่ตรองให้ดี เพราะว่าต้องนี้มีคำสั่งจากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะถึงทุกสถานพยาบาล ที่มีการให้รักษาโรคต้อหินด้วยการนวดตาต้องระงับการให้บริการการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวเอาไว้ก่อน หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวกรณีที่จักษุแพทย์โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ออกมาเปิดเผยว่า ใช้วิธีการนวดตาช่วยผู้ป่วยกำลังจะตาบอดกลับมามองเห็นได้เกือบปกติ ทำให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ แพทยสภา ต้องเร่งพิจารณาหาข้อเท็จจริงว่าการนวดด้วยตาสามารถรักษาโรคต้อหินได้จริงหรือไม่ รวมทั้งมีผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายกับดวงตาหรือเปล่า เพราะปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการดังกล่าว  โดยระหว่างรอความเห็นที่เป็นทางการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ สถานพยาบาลต้องงดให้บริการการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว นอกจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็เตรียมคุมเข้มการโฆษณาทางการแพทย์ที่มีการโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือจงใจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ++++++++++++++++++++++++++     22 กุมภาพันธ์ 2554 ออกฉลากคุมเข้มสินค้านาโนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์นาโนทุกชนิดเป็นสินค้าควบคุมฉลาก หลังจากมีผู้บริโภคหลายคนร้องเรียนผลิตภัณฑ์นาโนที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานา แถมตั้งราคาขายสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยที่ผู้บริโภคไม่มีสิทธิรู้หรือมั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์นาโนจริงหรือเปล่า   ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบของศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าไม่ปลอดภัยของ สคบ. ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าสินค้านาโนที่สุ่มตรวจทั้ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดทำความสะอาดอเนกประสงค์เป็นของปลอม  ผู้บริโภคกำลังให้ความสนใจกับสินค้านาโนกันอย่างมาก โดยเฉพาะพวกสิ่งทอเพราะมีคุณสมบัติพิเศษอย่าง ป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันน้ำ ทำความสะอาดง่าย หรือไม่ต้องทำความสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นสินค้านาโนปลอม จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและหากนำไปใช้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย  สคบ.จึงต้องเร่งออกมาตรฐานควมคุมผลิตภัณฑ์นาโน พร้อมทั้งจะทำฉลากแสดงให้รู้ว่าเป็นสินค้านาโนแท้ โดยจะใช้ชื่อว่า “นาโนคิว”  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก +++++++++++++++++     “ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน” กับการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เรื่องการรักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทองเดิม ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลฟรีของคนไทยทั้งประเทศ ขณะที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมซึ่งจ้างงานสมทบเองทุกเดือน กลับได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพที่ด้อยกว่า โดยเสนอให้ผู้ประกันตนได้มีสิทธิไปใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วให้นำเงินสมทบที่ต้องจ่ายให้ประกันสังคมไปสบทบเพิ่มในส่วนของเงินประกันการว่างงานหรือเงินชราภาพ ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากว่า  โดยชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม รับฟังและแก้ไขโดยเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสุขภาพบนมาตรฐานเดียวของ ประเทศ โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนออกจากจากระบบประกันสังคม ในเรื่องบริการด้านสุขภาพ หากประกันสังคมไม่แก้ไขระบบดังกล่าว ผู้ประกันตนจะงดจ่ายเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาล ประมาณคนละ 250 บาท ซึ่งจะดีเดย์หยุดจ่ายวันแรก 1 พฤษภาคม 2554  ***(อ่านเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคมในเรื่องฉบับนี้)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ไขความลับ 5 ข้อของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

ประเทศไทยยามนี้ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความหดหู่ เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหดหาย ร้านรวงต่าง ๆ ก็พลอยห่อเหี่ยวตามไปด้วย เศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองขาดสภาพคล่อง หลายคนเริ่มต้องมองหาแหล่งเงินกู้ เอาไว้สำรองในภาวะฉุกเฉิน คนที่มีแก้วแหวนเงินทองของมีค่า ที่พอจะขายหรือจำนำเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็ดิ้นรนกันไป แต่ทรัพย์สินอย่างรถยนต์นั้น เป็นของชิ้นใหญ่ที่ไม่ได้ซื้อง่ายขายคล่องเหมือนทองคำ มิหนำซ้ำสำหรับบางคน รถยนต์ คือ เครื่องมือประกอบอาชีพ ขายไปแล้วก็ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ถ้ามีหนทางเปลี่ยนรถเป็นเงินสด เพื่อมาแก้ปัญหาความขัดสนเฉพาะหน้าไปก่อนได้ก็คงดี “ต้องการเงินสด รถคุณกู้ได้ อนุมัติไว ไม่ต้องใช้คนค้ำประกัน แถมยังมีรถขับเหมือนเดิม”    โอ้โห !!! อะไรมันจะวิเศษอย่างนี้ หลายคนคงนึกในใจเวลาที่ได้ยินโฆษณาประเภท รถแลกเงิน เงินติดล้อ คาร์ฟอร์แคช ฯลฯ แหม มันดีเลิศประเสริฐศรี จนอยากจะขับรถไปกู้เงินให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย แต่ช้าก่อน วันนี้ ผมมีความลับ 5 ข้อ ของสินเชื่อประเภทนี้ มาบอกให้คุณรู้ ก่อนตัดสินใจไปกู้เงิน ความลับข้อที่ 1 ธุรกิจสินเชื่อ หรือ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ธุรกิจปล่อยเงินกู้” ประเภทรถแลกเงินนั้น มีชื่อจริงอย่างเป็นทางการว่า “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” เพราะเจ้าหนี้จะเก็บแค่สมุดจดทะเบียนรถไว้เป็นหลักประกัน โดยไม่ได้ยึดรถไว้ ลูกหนี้จึงยังคงมีรถขับตามปกติ ความลับข้อที่ 2 คนที่จะขอสินเชื่อกลุ่มนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของรถในเล่มทะเบียน จะเป็นรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ก็กู้ได้ทั้งนั้น ส่วนคนที่ยังผ่อนไม่หมด รถติดไฟแนนซ์เจ้าหนี้จะไม่ให้กู้     ความลับข้อที่ 3 การจำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม แบบนี้คนที่มาขอสินเชื่อจะต้องทำสัญญาขายรถยนต์ของตนเองให้กับเจ้าหนี้ในราคาที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดของรถรุ่นนั้น ๆ ที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป เมื่อเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถในเอกสารเล่มทะเบียนเรียบร้อย  เจ้าหนี้ก็จะเอารถที่เราเพิ่งขายไปนั่นแหละ มาให้ลูกหนี้ทำสัญญาเช่าซื้ออีกครั้งหนึ่ง กำหนดให้ผ่อนกี่งวด บวกดอกเบี้ยร้อยละเท่าไรก็ว่ากันไป ถ้าชำระครบ เจ้าหนี้ก็จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์กลับมาเป็นของลูกหนี้     ดังนั้น ในระหว่างการผ่อนหนี้จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม คุณต้องรู้ว่า คุณไม่ใช่เจ้าของรถคันนั้นอีกต่อไปแล้ว (แม้ที่ผ่านมาคุณจะผ่อนรถคันนั้นหมดไปแล้วก็ตาม) ตอนนี้คุณเป็นแค่ผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ถ้าขาดส่งค่าเช่าซื้อ 2 งวดเมื่อไร เจ้าหนี้ก็มีสิทธิมายึดรถไปได้ และที่สำคัญ ห้ามเอารถคันนี้ไปขายต่อเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ได้     ความลับข้อที่ 4 การจำนำทะเบียนแบบโอนลอย  แบบนี้จะไม่มีการทำสัญญาเช่าซื้อ แต่เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาซื้อขายรถยนต์แบบโอนลอยแทน คือเซ็นเอกสารสัญญาซื้อขาย เอกสารการโอนต่าง ๆ ไว้ครบถ้วนพร้อมโอนทะเบียนแล้ว เพียงแต่เจ้าหนี้ยังไม่แจ้งเปลี่ยนชื่อเจ้าของในสมุดจดทะเบียน ซึ่งตามกฎหมายสัญญาซื้อขายนี้ เมื่อจ่ายเงินกันแล้วก็ถือว่าสมบูรณ์ กรรมสิทธ์ในรถเป็นของผู้ซื้อ (เจ้าหนี้) แล้ว แม้ว่าชื่อเจ้าของในเล่มทะเบียนยังเป็นชื่อของลูกหนี้ก็ตาม เพราะสมุดจดทะเบียนไม่ใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ ความลับข้อที่ 5 สรุปว่าแม้ชื่อธุรกิจประเภทนี้จะเรียกว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่นิติกรรมสัญญาที่คุณทำกับเจ้าหนี้จริง ๆ แล้ว ถ้าเรียกกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ คุณทำสัญญาขายรถของคุณให้เจ้าหนี้ แล้วเจ้าหนี้ก็เอารถนั้นแหละมาเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดเบี้ยวหนี้ขึ้นมาเขาก็ยึดรถคันนั้นได้เลย นี่คือเหตุผลเบื้องหลังว่า ทำไมเจ้าหนี้ สินเชื่อประเภทนี้จึง อนุมัติไว ไม่ต้องการคนค้ำประกัน เพราะ เจ้าหนี้มีความเสี่ยงน้อย แม้จะยึดแค่เล่มทะเบียนไว้ แต่จริง ๆ แล้วเขาได้กรรมสิทธิ์ในรถของลูกหนี้ไปแล้วทั้งคันต่างหาก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 82 ผลสำรวจหนี้

ข้อมูลจากการสำรวจสาเหตุของการเป็นหนี้ ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมการอบรม เรื่องเป็นหนี้จะแก้ไขชีวิตอย่างไร ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์  จำนวนทั้งหมด 378 คนเรียงลำดับสาเหตุของการเป็นหนี้1.    ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว 2.    การไม่มีวินัยทางการเงิน 3.    การเปลี่ยนงาน/ ตกงาน 4.    การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย 5.    การกู้ยืมเงินมาทำธุรกิจ อันดับหนี้ยอดนิยมหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้สัญญาเช่าซื้อ หนี้นอกระบบน่าสนใจ•    ร้อยละ 23 ของคนที่ตอบแบบสอบถาม ถูกโทรศัพท์ทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่•    การชำระหนี้มีร้อยละ 68.8 ที่ยังชำระเงินแก่เจ้าหนี้ทุกราย อย่างสม่ำเสมอมีร้อยละ 15 ที่ตัดสินใจหยุดจ่ายทุกรายแล้ว •    นำเงินที่ไหนมาชำระหนี้ร้อยละ 45 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้ในระบบ  ร้อยละ 26 บอกว่าหาเงินมาใช้หนี้ จากเงินกู้นอกระบบ•    ปัญหาร้อยละ 60 มีปัญหาครอบครัวอันเกิดจากภาวะการเป็นหนี้สินร้อยละ 58 รู้สึกว่าปัญหาหนี้สินนำเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการใช้ชีวิตมีมากกว่าร้อยละ  14 ที่เคยคิดฆ่าตัวตายเพราะปัญหาหนี้•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ ถึงเกือบร้อยละ 70o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีถึงร้อยละ 40 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 20o    กว่าร้อยละ 52.7 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 35.4 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.2 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 24.9 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 24.5 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 24.2 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 13.8 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี•    ในกลุ่มคนที่เป็นหนี้นอกระบบo    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้นอกระบบ มีถึงร้อยละ 62.4 ที่มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท o    ในบรรดาคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต มีคนเคยคิดฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 24o    กว่าร้อยละ 59.4 เป็นหนี้อันเกิดจากการไม่มีวินัยทางการเงินo    กว่าร้อยละ 31.5 เป็นหนี้จากการใช้เงินไปลงทุนทำธุรกิจo    มีถึงร้อยละ 33.1 ที่ถูกโทรศัพท์ถูกทวงหนี้ตลอดเวลา โดยใช้วาจาไม่สุภาพ หรือข่มขู่o    มีถึงร้อยละ 28.8 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังพ่อแม่หรือญาติo    มีถึงร้อยละ 21.6 ที่มีโทรศัพท์ทวงหนี้ไปยังที่ทำงานo    มีมากกว่าร้อยละ 28 ที่ได้รับจดหมายที่ทำขึ้นในรูปแบบที่เหมือนกับหมายศาล หรือจดหมายที่มีตราประทับทำนองว่าจะมีการยึดทรัพย์o    มีถึงร้อยละ 15.2 ได้รับโทรศัพท์จากผู้ที่แอบอ้างว่าโทรมาจากกรมบังคับคดี(หนี้บัตรเครดิต กับหนี้นอกระบบ ทวงแย่ๆ พอๆ กันเลย ???)รายได้  รายจ่ายต่อเดือน ภาระหนี้สินต่อเดือน ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------- รู้จักบัตรไว้ ใช้ให้ถูกทาง บัตรเครดิต บัตรเครดิต เหมาะที่จะใช้สำหรับรูดซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต เติมน้ำมัน ทานอาหารในภัตตาคาร เพราะจะได้ระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 40 วัน หากคุณชำระเต็มจำนวนที่เรียกเก็บ ดังนั้น ต้องคำนวนค่าใช้จ่ายให้ดีว่าพอใบแจ้งหนี้มาแล้วมีเงินในกระเป๋าที่จะชำระหนี้ทั้งหมดข้อควรระวัง -    หากคุณใช้บัตรเครดิตแล้ว ชำระหนี้ได้แค่บางส่วน คุณจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่คุณรูดบัตรเลยทีเดียว -    ไม่ควรกดเงินสดจากบัตรเครดิตออกมาใช้ เพราะจะเสียดอกเบี้ย+ ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ตั้งแต่วันที่คุณกดเงินออกมาใช้ ไม่ว่าสิ้นเดือนคุณจะชำระหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ก็ตาม บัตรเงินสดพร้อมใช้ / บัตรเงินสดฉุกเฉินสินเชื่อพวกนี้ อนุมัติวงเงินให้คุณเร็วมาก บางแห่งแค่คุณโทรศัพท์ไปแจ้งว่าต้องการเงินกู้ บริษัทไม่ถามเหตุผลด้วยซ้ำว่าคุณจะกู้ไปทำอะไร พอวางสายเงินกู้ก็โอนเข้าบัญชีให้คุณเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น บัตรพวกนี้เหมาะสำหรับใช้กรณีจำเป็นที่ฉุกเฉินจริง ๆ เท่านั้นข้อควรระวัง-    สินเชื่อพวกนี้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินสูงมาก และบางบัตรไม่สามารถปิดบัญชีได้ก่อนที่บริษัทกำหนด คุณจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนมาก ดังนั้น คุณต้องพยายามควบคุมตัวเองให้ดี อย่าให้ทุกเรื่องที่ต้องใช้เงินกลายเป็นเรื่องฉุกเฉินไปเสียทั้งหมด -    การ “กู้หนี้ออกมาใช้หนี้” ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาหนี้สินไม่รู้จบอีกต่างหาก -    ถ้าจะซื้อสินค้าหรือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันใช้บริการเช่าซื้อหรือใช้บัตรเครดิตน่าจะดีกว่า ถ้าจะลงทุนทำธุรกิจ ก็มีสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ คุณต้องใช้เงินกู้ให้ถูกประเภทเพราะถ้าเลือกผิด คุณก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่า -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point