ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >