ฉบับที่ 235 ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่น่ารัก

        เคยซื้อสินค้าหมดอายุกันหรือไม่ ถ้าเคย รู้หรือไม่ว่าเรามีสิทธิอะไรและควรจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร หรือจะปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ถ้าอย่างนั้นลองดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเมื่อเขาซื้อสินค้าหมดอายุแล้วเขามีวิธีจัดการปัญหาอย่างไร และสุดท้ายจะได้รับการชดเชยเยียวยาหรือไม่         บุปผามักจะเดินเล่นที่ย่านสยามเป็นประจำ วันหนึ่งไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นล่างของห้างใหญ่แถวนั้น ก็เดินเลือกซื้อสินค้าหลายอย่างทั้งของกินและของใช้เมื่อกลับมาบ้านเธอก็นำของต่างๆ จัดเก็บเข้าที่ แต่ก็พบสิ่งผิดปกติบางอย่าง ซีอิ๊วขาวที่เธอซื้อมาหมดอายุไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บุปฝานับนิ้วคำนวณเวลาตอนนี้เดือนสิงหาคมงั้นเท่ากับว่าหมดอายุไปแล้วตั้ง 6 เดือนแล้วนะสิ         เธอแปลกใจว่าซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ระดับนี้นำสินค้าหมดอายุตั้ง 6 เดือน มาขายได้อย่างไร เมื่อเกิดปัญหาเธอค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าเธอจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น่าจะมีคำตอบให้ เธอจึงสอบถามมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะนำว่า การขายของหมดอายุของซูเปอร์มาร์เก็ต อาจเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากผิดพ.ร.บ. อาหาร แล้ว ผู้ร้องยังสามารถขอคืนสินค้า และเรียกค่าชดเชยเยียวยาได้ โดยผู้ร้องสามารถทำได้ดังนี้        1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืนเพื่อเป็นการเยียวยาค่าเสียหาย จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า         ปล. ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย ถ้าไม่มีใบสำคัญรับเงินเป็นหลักฐาน สิ่งที่สามารถเรียกร้องได้โดยทั่วไปคือการเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการต่อรองกับผู้ขายและต้องดำเนินการทันทีพี่พบว่าได้พบหรือบริโภคอาหารหมดอายุ         ศูนย์พิทักษ์ฯ ช่วยคุณบุปผาด้วยการทำหนังสือถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหาย ต่อมาทางห้างสรรพสินค้าดังกล่าวได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นความบกพร่องของพนักงานบริษัทซีอิ๊ว เพราะว่าเซลล์ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ บริษัทซีอิ๊วมีหน้าที่ในการดูแลเบิกเติมและจัดเรียงสินค้าเอง ดังนั้นทางซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ได้ดูแลส่วนนี้ ทราบต่อมาอีกด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดทราบ ซึ่งทางบริษัทซีอิ๊วแจ้งว่าลงโทษพนักงานที่บกพร่องในหน้าที่แล้ว          อย่างไรก็ตามห้างสรรพสินค้าขอชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็น Gift voucher ของห้างฯ มูลค่า 5,000 บาท และสินค้าสนับสนุนจากบริษัทจำนวน 2 ลัง ซึ่งคุณบุปผาขอเปลี่ยนจาก Gift voucher เป็นเงินสด เพราะไม่มั่นใจในการซื้อสินค้าในห้างนี้อีก หลังจากนั้นห้างก็ส่งซีอิ๊วมาให้ 2 ลัง และเงียบหายไป เมื่อสอบถามเรื่องเงินชดเชยเยียวยาห้างก็ไม่มีคำตอบ คุณบุปผาได้นำซีอิ๊วไปบริจาคยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เพราะก็ไม่ได้อยากได้เงินหรือสิ่งของ เพียงแต่ต้องการให้ห้างฯ พัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าหมดอายุไม่นำมาขายให้ผู้บริโภคอีก

อ่านเพิ่มเติม >