ฉบับที่ 269 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2566

ย้ายสิทธิบัตรทอง! โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านได้แล้ว        ตามที่ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกทม. เพื่อทำงาน-เรียนหนังสือ และไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาด้วย เดิมนั้นต้องกลับไปรักษายังจังหวัดที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นก็คือ การย้ายสิทธิรักษาเข้ามาอยู่ในกทม. โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ชวนผู้ที่อาศัยในกทม. แต่สิทธิบัตรทองอยู่ที่ต่างจังหวัด ทำการย้ายสิทธิเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการประจำ ใกล้ที่พักอาศัย โดยไม่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาซึ่งสำหรับการย้ายสิทธิสามารถทำได้ผ่านช่องทาง ดังนี้        1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการ        2. Line OA สปสช. (ID@nhso) เลือกเมนูเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง        3. ติดต่อด้วยตนเอง ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ (อาคารบี) ถนนแจ้งวัฒนะ ในวันเวลาราชการ        4. สายด่วน 1330  ตรวจยึดไส้กรอกแดงสุดฮิตจากจีน        วันที่ 20 ก.ค. 2566 ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับกรมปศุสัตว์(กปศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขยายผลตรวจสอบแหล่งขายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยได้เข้าตรวจค้นที่อาคารแห่งหนึ่ง ย่านประชาชื่น กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ไส้กรอก ยี่ห้อ “Shuanghui” จำนวน 1,440 แท่ง และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมกว่า 20 รายการ และทั้งหมดคือ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากประเทศจีนทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการยึดสินค้าทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดี นอกจากนี้ ของกลางที่ตรวจยึดได้มีการส่งตรวจวิเคราะห์ หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกันเสีย และสี ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบสารปนเปื้อนที่ทำให้เกิดโรคเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะถือว่าเป็น “อาหารไม่บริสุทธิ์” โดยผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับห้ามซื้อสมุนไพร ที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.         จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยี่ห้อผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตโฆษณาขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ทางอย. จึงได้ตรวจสอบว่ามีการจำหน่ายในพื้นที่ จ.พิษณุโลก  และได้ประสาน สสจ.พิษณุโลก ตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งก็พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรผู้เฒ่าวิ่งปู๊ดแคปซูล สูตรกระจายเส้น เอ็นยึด ดังกล่าวจริง เป็นจำนวน 26 ซอง พร้อมกับยาผงจินดามณี จำนวน 55 ซอง และสมุนไพรไทยมีรูปรากไม้ จำนวน 39 ซอง นอกจากนี้ ทางอย.ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยทั้ง 3 รายการ ไม่พบข้อมูลอนุญาตจาก อย. และฉลากผลิตภัณฑ์ไม่มีการแสดงทะเบียน พร้อมกับยังพบสารสเตียรอยด์ปนเปื้อนในยาผงจินดามณี อีกด้วย ทางอย.จึงได้เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อสมุนไพรทั้ง 3 รายการ มาใช้ เพราะอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย อันตรายต่อสุขภาพ บางกอกแอร์เวย์ส เตือน! ระวังมิจฉาชีพแอบอ้างชวนลงทุน         30 ก.ค. 2566 ทางสายการบางกอกแอร์เวย์ส ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยหน้าเพจเฟซบุ๊ก Bangkok Airways โดยระบุข้อความว่า "แจ้งเตือนกรณีมีการแอบอ้างลงโฆษณาในช่องทางเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ชื่อ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ภาพเครื่องบิน และโลโก้ของสายการบินฯ ในการเชิญชวนและเปิดโอกาสให้ลงทุนหุ้นกับสายการบินฯ"  ซึ่งทางสายการบิน ได้แจ้งว่า ทางสายการบินไม่มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง และบุคคลที่แอบอ้างดังกล่าวไม่ใช่สายการบิน อย่างไรก็ตาม ทางสายการบิน แนะนำว่าอย่าหลงเชื่อและระวังกลอุบายจากมิจฉาชีพที่หลอกล่อให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนส่วนตัวและเอกสารสำคัญอีกด้วย  มพบ. พาผู้เสียหาย “ออลล์ อินสไปร์ คอนโดสร้างไม่เสร็จ” ยื่นฟ้องศาล         20 ก.ค. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิบริโภคและนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด         โดยนางสาวณัฐวดี กล่าวว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้ ได้ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย มีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาลเนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี  ยื่นฟ้องศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหายตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ เนื่องจากผู้บริหารเข้าข่ายเจตนาฉ้อโกงเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจนจากที่มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อ 7 ก.ค. 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่กับพบว่ามีแต่ความเพิกเฉย ไม่มาพบกับผู้เสียหาย เมื่อไปพบถึงสำนักงานใหญ่ พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการและเสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด เมื่อมีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่าบริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ         ดังนั้นผู้เสียหายที่จ่ายเงินจอง เงินดาวน์  เงินทำสัญญา เงินผ่อนแต่ละงวดไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ อาจยื่นฟ้องคดีอาญาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการลงโทษผู้ประกอบการเนื่องจาก บริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หากจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชีฯ ตามหมอสั่ง

        จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนจากผู้ใช้สิทธิบัตรทอง กรณีถูกเรียกเก็บค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 32 เรื่อง เป็นจำนวนเงิน 1,724,703 บาท         คุณบัวก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่ายานอกบัญชีฯ เองมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ เธอได้ส่งข้อความมาในไลน์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษาว่า เมื่อเธอใช้สิทธิบัตรทองไปรับยารักษาโรค Anxiety Disorder ที่โรงพยาบาลรัฐชื่อดังแห่งหนึ่ง จำนวน 2 รายการ ยาที่เบิกได้ คือ SENOLAX TABLET 7.5 MG แต่ยา OLAPIN TABLET 5 MG ซึ่งหมอบอกว่าเป็นยาที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีฯ เธอจึงต้องจ่ายค่ายาเองในจำนวนเงินหลายพันบาท โดยแต่ละครั้งที่ทำการรักษาก็มีการขอใบส่งตัวจากต้นสังกัดทุกครั้ง ซึ่งคุณบัวจำเป็นต้องได้กินยาตัวนี้เพื่อรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง เธอเริ่มกังวลว่าอาจจะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ต่อไปไม่ไหว เธอจึงขอให้ทางมูลนิธิฯ ช่วยสอบถามไปยังสปสช.ว่า ถ้าหากการรักษายังคงมีต่อเนื่องในระยะยาว จะของดเว้นการชำระค่ายาตัวนี้ได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ขอย้ำว่าแม้จะเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าให้ใช้ยานี้ ผู้ประกันตนในหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) ไม่ต้องจ่ายเพิ่มแต่อย่างใด         ในการณีนี้ ทางมูลนิธิฯ โทร.ไปยัง 1330 และได้ความว่า คุณบัวไม่ต้องชำระเงินค่ายา เพราะมีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาชนิดนี้ และแจ้งว่าถ้าคุณบัวมีนัดครั้งต่อไป ถ้าทางโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ายาให้โทร.มาแจ้งที่ 1330 ทางสปสช.จะประสานกับทางโรงพยาบาลให้งดเว้นการจ่ายเงิน         ทางมูลนิธิฯ ยังส่งหนังสือไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้และได้รับคำชี้งแจงในกรณีนี้กลับมาว่า         "เบื้องต้นทางโรงพยาบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายยาของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมการจ่ายยาตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่คุ้มครองการจ่ายยานอกบัญชี ยกเว้นหากแพทย์มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี โดยพิจารณาแล้วว่าไม่มียาในบัญชียาหลักแห่งชาติทดแทนได้ จึงจะสามารถใช้สิทธิเบิกได้  ซึ่งในกรณีของผู้ร้องนั้น ทางแพทย์ผู้รักษาได้ชี้แจงว่าสามารถปรับเปลี่ยนชนิดยาเป็น  Antipsychotic drug ตัวอื่นตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เพื่อที่จะได้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย อนึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยไม่เคยแจ้งแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับปัญหาค่าใช้จ่าย แพทย์จึงไม่ได้ปรับเปลี่ยนยาให้ซึ่งหลังจากนี้หากปรับเปลี่ยนยาแล้ว แพทย์จะมีการติดตามอาการและผลการรักษาอย่างใกล้ชิดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย "

อ่านเพิ่มเติม >

นักวิจัยเผย มียาอีกหลายตัวที่ไม่ควรได้รับสิทธิบัตรอีก หลังศาลฎีกาชี้ขาด ถอนสิทธิบัตรยา ' วาลซาร์แทน '

            นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยอิสระและรองประธานกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ เผยปมผู้ป่วยไทยเข้าไม่ถึงยา แม้อายุสิทธิบัตรของยานั้นจะสิ้นไปแล้ว เนื่องจากบริษัทยาใช้วิธีการที่เรียกว่า รูปแบบจดสิทธิบัตรไม่จบสิ้น(evergreen patent) สกัดบริษัทผู้ผลิตยาชื่อสามัญไทย            จากกรณีศาลฎีกาชี้ขาดสั่งถอนสิทธิบัตรการผลิตยาวาลซาร์แทน (Valsartan) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง-โรคหัวใจ หลังต่อสู้เป็นคดีความยาวนาน 7 ปี เพราะยาดังกล่าวยื่นขอสิทธิบัตรกระบวนการผลิตยาเม็ด ซึ่งศาลพิจารณาว่า เหตุข้อมูลวิธีการผลิตนั้น ชัดเจนว่าไม่ใช่วิธีใหม่ เป็นเพียงการยื่นคุ้มครองกระบวนการผลิตยาเม็ดทั่วไปเท่านั้น ทุกคนที่มีความรู้ทางเภสัชกรรมก็สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้เปิดเผยโดยนายกสภาเภสัชกรรม ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา           นางสาวกรรณิการ์ ให้ความเห็นว่า กรณียา  Varsantan เป็นเพียงหนึ่งคดีที่บริษัทยาชื่อสามัญชนะคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่สู้คดีถูกบริษัทยาข้ามชาติส่งจดหมายไปแจ้งโรงพยาบาลต่างๆที่จัดซื้อยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพทัดเทียมยาต้นแบบว่า อาจถูกดำเนินคดีและถูกเรียกร้องค่าเสียหายด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าซื้อ คนไข้เข้าไม่ถึงยา ยายังคงมีราคาแพง ระบบสุขภาพต้องแบกรับค่ายาที่ผิดปกติเหล่านี้เพราะเทคนิคการแสวงหากำไรบนชีวิตผู้ป่วย            "ดังนั้นที่ผ่านมา มีบริษัทยาชื่อสามัญไทยไม่กี่รายที่กล้าสู้คดี ซึ่งต้องชื่นชมในที่นี้คือ บ.สีลม ก่อนหน้านี้ บ.สยาม และ องค์การเภสัชกรรม ขอบคุณนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่ยอมเป็นพยานในคดีที่ใช้เวลาอย่างยาวนาน ชื่นชมความสามารถของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและศาลฎีกาของไทยที่พิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ เช่นที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เคยพิพากษาคดียาต้านไวรัส ddI ที่เป็นต้นแบบคำพิพากษาของโลกที่ชี้ว่า ผู้ป่วยสามารถร่วมฟ้องบริษัทยาในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและอ้างปฏิญญาโดฮาว่าด้วยการสาธารณสุข ของความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้ตีความเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา"            จากงานวิจัยสิทธิบัตรที่เป็น evergreening ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า 70% สิทธิบัตรยาที่ออกไปแล้วนั้นไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร และอีก 80% ของคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความใหม่ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งหากคำขอสิทธิบัตรยาเหล่านี้ได้สิทธิบัตรจะเป็นภาระงบประมาณมากถึง 5000 ล้านบาทจากยาที่ขายดีเพียง 50 รายการเท่านั้น            “ที่ผ่านมาเมื่ออายุของสิทธิบัตรยาสิ้นสุดลง คือครบ 20 ปี อุตสาหกรรมยาของไทยจะผลิตยาชื่อสามัญมาแข่งขันได้ ซึ่งทำให้ลดการผูกขาดและราคายาถูกลง และสถานพยาบาลสามารถจัดหายาได้ในต้นทุนถูกลงเพื่อรักษาผู้ป่วยตามสิทธิหลักประกันที่สังกัด แต่กลับมาเจอบริษัทยามาขอขึ้นทะเบียนในลักษณะจดซ้ำซ้อน”             "รัฐบาล คสช.ควรศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ยังย้ำคิดย้ำทำว่าต้องออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 เพื่อจัดการคำขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับปล่อยผีสิทธิบัตรยาที่ไร้คุณภาพ เป็นภาระกับประเทศ ขณะเดียวกัน กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องนำคำพิพากษาไปปรับปรุงคณภาพการตรวจสอบสิทธิบัตร และแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น"            สำหรับคดีที่บริษัทยาข้ามชาติฟ้องบริษัทยาชือสามัญไทย มีอย่างน้อย 3 คดี คดีที่ 1.ยา Finasterine บ.MSD ฟ้อง บ.สยาม ฎีกา เมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ชนะไม่แพ้ ศาลชี้ว่า บ.สยามใช้คนละวิธี ไม่ละเมิด คดีที่ 2.ยา Varsantan บ.Novartis ฟ้อง บ.สีลม ฎีกา 8 พ.ค. เพิกถอนสิทธิบัตร Novartis ไม่สมควรได้ 3. ยา Celecoxib บ. Pfizer ฟ้อง บ.แมคโครฟาร์ คดีอยู่ในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ศาลชั้นต้น             นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เครือข่ายผู้ป่วยร้องคัดต้านคำขอสิทธิบัตร อาทิ ยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเข้าข่ายไม่ควรได้สิทธิบัตร เหตุเพราะไม่เข้าด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร คือ 1.ไม่อนุญาตให้จดสิทธิบัตรในเรื่องการบำบัดรักษา 2.การผสมยาสองชนิดรวมในเม็ดเดียวเป็นเทคโนโลยีธรรมดาๆ ที่เปิดเผยและทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ผู้เชี่ยวชาญทางเภสัชกรรมอยู่แล้ว 3.ประสิทธิผลของการใช้ยาสองชนิดนี้ร่วมกันเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้วในทางเภสัชกรรม ซึ่งในกฎหมายระบุว่าต้องก่อให้เกิด “ผลที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย” จึงจะเข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร             ทั้งนี้ บ่ายวันพฤหัสที่ 17 พ.ค.นี้แผนงานศูนย์วิชาการพัฒนาและเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อสรุปบทเรียนการต่อสู้สิทธิบัตรยาที่ไม่ชอบธรรมในประเทศไทยด้วย รายละเอียดติดต่อเพิ่มเติม กรรณิการ์ กิจติเวชกุล  (089-500-3217)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์พฤศจิกายน 2557 ห้ามจำหน่าย “ภาชนะปนเปื้อนสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์” คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ได้มีคำสั่ง ห้ามจำหน่าย "ภาชนะหรือเครื่องใช้สำหรับบรรจุหรือสัมผัสอาหารที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์" หลังจากพบข้อมูลยืนยันชัดเจนแล้วว่า สารดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งซึ่งสามารถละลายออกมาปะปนในอาหาร เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็เคยทดสอบการแพร่กระจายออกมาของฟอร์มาลดีไฮด์ จากกลุ่มตัวอย่างเมลามีนปลอม ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 30 นาที ตามมาตรฐานการทดสอบผลิตภัณฑ์เมลามีนแท้ พบสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 37 ตัวอย่าง เมื่อทดสอบตามอุณหภูมิใช้งานที่ 80 องศาเซลเซียส หรือ 100 องศาเซลเซียส ซึ่งแจ้งไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์ พบฟอร์มาลดีไฮด์แพร่กระจายออกมาในน้ำที่ใช้ทดสอบ เกินค่ามาตรฐาน 38 ตัวอย่าง และเมื่อทำการทดสอบ โดยใช้ตัวแทนอาหารที่เป็นสารละลายกรดอะซิติก (acetic acid) หรือกรดน้ำส้ม ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยปริมาตร อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เพื่อเลียนแบบการใส่อาหารประเภทต้มยำหรือแกงส้มร้อนๆ พบฟอร์มาลดีไฮด์ออกมาเกินค่ามาตรฐาน 64 ตัวอย่าง และพบปริมาณที่สูงเกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลิตร 38 ตัวอย่าง ภาชนะที่ผลิตจากสารยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ส่วนใหญ่จะเป็นภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ วางขายตามตลาดนัดมีสีมันฉูดฉาด ไม่มีการแจ้งผู้ผลิตหรือชนิดของพลาสติกที่ใช้ผลิต “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” ฟอกฟันขาวได้จริงหรือ? อะไรที่ถูกแชร์ส่งต่อกันทางโลกออนไลน์ ต้องฟังหูไว้หู อย่าได้เชื่อตามทันที อย่างกรณีล่าสุด ที่มีการส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ว่า “น้ำมะนาวผสมเบกกิงโซดา” นำมาฟอกฟันให้ขาวขึ้นได้ งานนี้ ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย จึงต้องออกมาไขข้อข้องใจ ว่าเรื่องนี้จริงเท็จประการใด การทำฟันขาวด้วยมะนาวผสมเบกกิงโซดา หรือโซเดียมไบคาร์บอเนต ถือเป็นคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากน้ำมะนาวมีความเป็นกรดสูงจะละลายแคลเซียมออกจากผิวฟัน ทำให้ฟันกร่อน และกรดจากมะนาวยังระคายเคืองเหงือกอาจทำให้เหงือกอักเสบได้ เมื่อเคลือบฟันกร่อนทำให้มีอาการเสียวฟันตามมา และการที่เคลือบฟันถูกทำลายจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ส่วนเบคกิงโซดาเป็นสารที่มีความสามารถในการทำความสะอาด จึงสามารถกำจัดคราบต่างๆ ที่ติดบนผิวฟัน รวมถึงคราบสีจากการดื่มน้ำชา กาแฟ จึงทำให้ฟันขาวสะอาดขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้ฟันขาวจากเนื้อฟันข้างในได้ ผู้ที่มีเหงือกอักเสบและเสียวฟันอยู่แล้วไม่ควรนำวิธีนี้มาใช้เพราะอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่จัดฟันไม่ควรใช้เบคกิงโซดาขัดฟัน เพราะจะทำให้กาวยึดเครื่องมือจัดฟันอ่อนตัวและหลุดได้   อย.เชือด!!! “ครีมมหัศจรรย์” Firmax 3 อย.เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อหลงใช้ผลิตภัณฑ์ Firmax 3 ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นครีมมหัศจรรย์ ใช้ทาตรงจุดชีพจร สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ริดสีดวงทวารหนัก อัมพฤต-อัมพาต ฯลฯ หลังทำการตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หลักจากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ Firmax 3 เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พบมีแหล่งกระจายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแห่งใหญ่อยู่ที่โคราชและหาดใหญ่ มีการจำหน่ายในลักษณะขายตรง ตัวสินค้าเองมีลักษณะเป็นเครื่องสำอางแต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเป็นยารักษาโรค อย.จึงได้ดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าที่จำหน่ายและผู้ที่นำเข้า หากผู้บริโภคคนไหนพบเห็นผลิตภัณฑ์ Firmax 3 หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรืออาหารเสริมที่โฆษณาอวดอ้างเกินจริงหรือแจ้งสรรพคุณว่ามีผลต่อการรักษาโรค สามารถแจ้งไปยัง อย.ให้ทำการตรวจสอบและเอาผิดได้ทันทีที่ สายด่วย อย. 1556   ส้มจีนมีใบ คือส้มผิดกฎหมาย? รู้หรือมั้ยว่า? ส้มจีนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด หากมีใบติดมาที่ผลส้มด้วยอาจเป็นส้มที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เพราะล่าสุด กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมาประกาศชัดเจนว่า ส้มจีนที่มีใบติดมาห้ามนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเสี่ยงโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่ามีการนำส้มจีนที่มีใบติดเข้ามาจำหน่ายในไทยแบบผิดกฎหมาย เพราะขายได้ราคาดีกว่าส้มไม่มีใบ ซึ่งส้มจากจีนจะสามารถนำเข้ามาประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายต้องมาจากสวนหรือโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรอง มีใบรับรองสุขอนามัย และต้องไม่มีกิ่ง ก้านใบ ดิน ติดเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ที่สร้างความเสียหายต่อระบบการเกษตร แต่เพราะคนไทยเข้าใจผิด นิยมซื้อส้มที่มีใบติดเพราะเห็นว่าสวยงามกว่า คิดว่าเป็นส้มใหม่ เลยทำให้เกิดการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายแบบผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก     ค้านกฎหมาย จดสิทธิบัตร “กลิ่น-เสียง” สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน และภาคประชาชน ค้านกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่ขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็น “กลิ่นและเสียง” เหตุเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์และยังเป็นการทำร่างกฎหมายที่ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นก็คือ เครื่องหมายการค้าในเรื่องกลิ่นจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องใช้กลิ่นช่วยกลบและช่วยแต่งรสชาติของผลิตภัณฑ์ หากมีการแก้ไขคำจำกัดความให้มีการจดสิทธิบัตรเรื่องกลิ่น ซึ่งไม่ได้บ่งชี้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง หรือกลิ่นที่ไม่เป็นกลิ่นโดยธรรมชาติของสินค้านั้น จะนำไปสู่การละเมิดเครื่องหมายการค้าของผู้ถือสิทธิ์ได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องความไม่มั่นใจในการพัฒนาสูตรตำรับยาของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศ ส่งผลต่อการพัฒนาการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทยาข้ามชาติสามารถขายยาผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาเลยเพราะไม่มีคู่แข่ง ที่สำคัญการให้กลิ่นและเสียงจดเครื่องหมายการค้าได้ ถือว่าเกินไปกว่าข้อตกลงระหว่างประเทศ TRIPS + อีกทั้ง ไม่ใช่หลักสากล จากข้อมูลพบว่า ประเทศที่อนุญาตให้จดเครื่องหมายการค้าทั้งกลิ่นและเสียงได้นั้น มีอยู่เพียง 3 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศที่ให้จดได้เฉพาะเสียงมี 5 ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยใน 5 ประเทศนี้ 4 ประเทศแรก ยังไม่มีความชัดเจนในการจดเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่น ส่วนไต้หวันไม่มีการอนุญาต ซึ่งหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการ พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่มีการท้วงติงจากกระทรวงสาธารณสุข ครม.จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณาอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >