ฉบับที่ 274 ภัยครีมผิวขาวผิดกฎหมาย

ธันวาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการทดสอบเครื่องสำอางที่ขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์พบสารห้ามใช้ 8 รายการ อาทิ ปรอท สารสเตียรอยด์ ที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เกิดฝ้าถาวร เสี่ยงพิษร้ายแรง  ทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อต้นปี 2566 ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อเรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ  “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”         เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์ EcoWaste Coalition  ตรวจพบการปนเปื้อนของสารประกอบของปรอทนั้น ได้แก่       ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm และทุกตัวอย่างฉลากระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย”          ต่อมาทาง อย.ได้สื่อสารต่อสาธารณะในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ว่า  “อย. ตรวจสอบพบว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง 13 รายการ จดแจ้งแล้ว 1 รายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการกระทำผิดหรือลักลอบใส่สารห้ามใช้ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและประกาศผลวิเคราะห์ทันที สำหรับเครื่องสำอางเถื่อน อย. จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบหาแหล่งผลิตและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” ในไทยก็ขายเกลื่อน         จากข้อสรุปข้างต้นคือ เครื่องสำอางที่เอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบการปนเปื้อนสารประกอบของสารปรอทนั้น เกือบทั้งหมดเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่มีการกำกับเบื้องต้นจากหน่วยงาน อย. หรือไม่มีเลขจดแจ้ง (เครื่องหมาย อย.สำหรับเครื่องสำอาง) สำหรับ 1 ตัวอย่างที่พบเลขจดแจ้ง ต้องรอดูว่า ทาง อย.จะดำเนินการอย่างไร จะยกเลิกสถานะและดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่         อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง ตั้งข้อสังเกตว่า แล้วทำไมสินค้าเครื่องสำอางปลอมจึงระบาดไกลไปถึงฟิลิปปินส์ และในประเทศไทยจะยังมีวางขายหรือไม่ หาซื้อง่ายหรือไม่  จึงได้ทดลองหาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทอ้างว่าทำให้ผิวขาวหรือครีมผิวขาวผิดกฎหมาย โดยตั้งใจตามหายี่ห้อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ทางเอ็นจีโอฟิลิปปินส์พบว่ามีการปนเปื้อนสารประกอบของปรอท ในเดือนมีนาคม 2566 หลังจากนั้นเพื่อยืนยันในเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปรากฎแลขจดแจ้ง หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ มีการใส่สารต้องห้าม อย่างปรอทจริงหรือไม่ (เมื่อจำหน่ายในประเทศ) ฉลาดซื้อและมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงได้ทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 ตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างมา โดยทดสอบด้วย  ชุดตรวจปรอทในเครื่องสำอางเบื้องต้น (Mercury test kit in cosmetic)    พบว่า มีสารประกอบของปรอททุกตัวอย่าง ในไทยก็ขายเกลื่อน         จึงฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้บริโภค อย่าซื้อ อย่าใช้เครื่องสำอางผิดกฎหมาย ถ้าไม่แน่ใจเลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตระบุ ตรวจสอบได้ที่  https: //oryor.com/check-product serial ลิ้งก์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) (oryor.com)  อันตรายของเครื่องสำอางที่มีการพบสารปรอท อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ       ข้อแนะนำ         1.ซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน น่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน         2.ฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ประเภทเครื่องสำอาง ชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือปีเดือนที่ผลิต คำเตือน (ถ้ามี) และเลขที่ใบรับจดแจ้ง         3.กรณีที่พบผลิตภัณฑ์ ที่สงสัยว่าจะเป็นอันตราย สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ทำให้ลูกของเราเป็นออทิสติกจริงหรือ

ในต่างประเทศ มีการต่อต้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และวัคซีนอื่นๆ ในเด็ก โดยเฉพาะในสายการแพทย์ทางเลือก เพราะเชื่อว่า จำนวนเด็กออทิสติกที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว เนื่องจากในวัคซีนนั้นมีสารปรอท(thimerosal) ซึ่งเป็นตัวการที่ไปทำลายเซลล์สมอง จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะทำไมต้องใส่สารปรอทในวัคซีน มีการใช้สารปรอทในวัคซีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1930 เพื่อช่วยรักษาความคงทนของวัคซีน  สารปรอทอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดวัคซีนเกิดอาการแพ้ เป็นผื่นแดงและบวมเล็กน้อย  แม้จะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า สารปรอทในวัคซีนก่อให้เกิดอันตราย แต่ในปี ค.ศ. 1999 หน่วยงานด้านการแพทย์แห่งชาติของอเมริกา สถาบันด้านเด็ก และโรงงานการผลิตวัคซีน ก็เห็นพ้องกันที่จะลดหรือไม่ใช้เพื่อความปลอดภัย สารปรอทนั้นพบได้ในธรรมชาติ ในดิน อากาศ และน้ำ สารปรอทที่มนุษย์สัมผัสเป็นประจำ ได้แก่ ปรอทเมทิล กับปรอทเอทิล  ปรอทเมทิลนั้นพบได้ในปลาบางชนิด ถ้าร่างกายกินปลาที่มีปรอท ร่างกายจะสะสมปรอทในปริมาณสูง จนเป็นพิษต่อร่างกาย ส่วนปรอทเอทิลนั้น ถูกขับออกจากร่างกายได้ง่าย จึงไม่ค่อยก่ออันตรายให้มนุษย์ สารปรอทในวัคซีนนั้นช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และเชื้อราในวัคซีน  เมื่อสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นปรอทเอทิลและขับออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมจนมีระดับสูงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับวัคซีนกับการเกิดออทิสซึมในเด็ก จากความกังวลเรื่องสารปรอทในวัคซีนและจำนวนเด็กออทิสติกที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีงานวิจัยและการทบทวนงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้  เราอาจสรุปงานวิจัยและการทบทวนได้ ดังนี้1. ในวารสาร “วัคซีน” ฉบับ 32 วันที่ 17 มิ.ย. 2014 น. 3263-3629 ได้ตีพิมพ์รายงานการทบทวนเอกสารงานวิจัยใน MEDLINE, PubMed, EMBASE, Google Scholar จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2014  ได้ทำวิเคราะห์อภิมาณ การศึกษาแบบเหตุไปหาผล (Cohort study) 5 รายงาน ครอบคลุมเด็กจำนวน 1,256,407 ราย และการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุม 5 รายงาน  สรุปผลได้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัด หัดเยอรมัน คางทูมนั้น ไม่มีผลต่อการเกิดออทิสซึมในเด็ก  รวมทั้งสารปรอทและวัคซีนไม่สัมพันธ์กับการเกิดออทิสซึมและอาการที่เกี่ยวพันกับออทิสซึม2. การทบทวนเอกสารจำนวน 139 รายงานของนักวิจัย ห้องสมุดคอเครน เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ในเด็ก พบว่า วัคซีนช่วยป้องกันเด็กจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน พบการเกิดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาการของหัด หัดเยอรมัน คางทูมน้อยมาก  ไม่พบหลักฐานว่าวัคซีนมีส่วนทำให้เกิดออทิสซึม3. วารสาร “Pedriatics” ฉบับเดือนกันยายน ค.ศ. 2004  พบว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนที่มีสารปรอท (thimerosal) กับการเกิดออทิสซึม4. ยังมีรายงานการวิจัยอีกมากที่สรุปยืนยันว่า วัคซีนดังกล่าวไม่มีผลต่อการเกิดออทิสซึมสรุป คุณพ่อคุณแม่คงสบายใจได้แล้วว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ให้กับลูกหลานนั้น ไม่ทำให้เกิดออทิสซึมอย่างแน่นอน  เด็กออทิสติกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเพราะสาเหตุอื่น 

อ่านเพิ่มเติม >