ฉบับที่ 197 สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย จำเป็นหรือไม่ ?

ในปัจจุบันคนทั่วไปให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่าเพื่อสุขภาพต่างๆ ได้มีการผลิต โฆษณา จำหน่าย และบริโภคกันอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดมาผสมกับสารเคมีหรือสารสกัดสมุนไพรต่างๆ แล้วสร้างความเชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีสรรพคุณกว้างขวางขึ้น  ซึ่งมักจะเป็นกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียคุณประโยชน์และหลักการทำงานของสบู่สบู่ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทำความสะอาดร่างกายในชีวิตประจำวัน มีรูปแบบเป็นสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว  ซึ่งสบู่จะช่วยเรื่องชำระล้างได้ดีกว่าการใช้น้ำเพียงอย่างเดียว ส่วนประกอบสำคัญของสบู่ คือ เกลือของกรดไขมัน ได้แก่ เกลือโซเดียม หรือเกลือโปแตสเซียม หรือเกลือแอมโมเนียม หรือเกลือเอมีน ที่ได้จากการใช้ไขมันสัตว์ และ/หรือน้ำมันพืชต่างๆ มาผสมกับด่างชนิดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เช่น หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนก็เลือกใช้ด่างโซเดียม หรือเลือกใช้ด่างโปแตสเซียม  หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่เหลว อาจผสมสารลดแรงตึงผิว สารให้ความชุ่มชื้นเข้าไป  ซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของสบู่ที่ผลิต การชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากผิวหนังของสบู่นั้น เนื่องจากกลไกของเกลือของกรดไขมัน ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยส่วนที่ชอบน้ำและส่วนที่ไม่ชอบน้ำ ดังนั้นเมื่อถูกละลายด้วยน้ำ ส่วนที่ไม่ชอบน้ำจะถูกผลักเข้าไปหลบอยู่ด้านใน  และหันส่วนที่ชอบน้ำให้อยู่ด้านนอกเพื่อไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ล้างออกด้วยน้ำไม่ได้(ส่วนมากจะเกาะติดกับไขมันหรือน้ำมัน) ซึ่งสิ่งสกปรกจะเข้าไปเกาะติดกับส่วนที่ไม่ชอบน้ำ กลายเป็นหยดน้ำมัน และจากนั้นจะถูกน้ำชำระล้างออกด้วยน้ำ ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมาด้วยสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย ผู้ผลิตหลายรายได้มีการผสมสารต้านแบคทีเรียในสบู่ขึ้น  โดยอ้างว่าจะสามารถทำความสะอาดผิวได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าสารต้านแบคทีเรียจะช่วยทำลายเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนัง สารต้านแบคทีเรียที่นิยมนำมาผสมในสบู่ที่นิยมมากชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไตรโคลซาน)Triclosan)   ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งราและแบคทีเรีย จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด   เช่น   สบู่    ครีมอาบน้ำ  ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย     ยาสีฟัน   น้ำยาบ้วนปาก   ตลอดจนน้ำยาล้าง  อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีรายงานการวิจัยบ่งชี้ว่า ไตรโคลซาน ทำให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาข้ามกลุ่ม คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยผลจากการได้รับสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย  นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยมีรายงานวิจัยว่า เมื่อใช้เป็นเวลานาน สารไตรโคลซานสามารถสะสมในร่างกาย เช่น มีการตรวจพบในปัสสาวะของคนอเมริกันถึง 75%  นอกจากนั้น สารไตรโคลซานที่ผสมในสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เมื่อถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์วิทยา ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ เพราะไตรโคลซาน มีคุณสมบัติก่อให้แบคทีเรียดื้อยาข้ามกลุ่มได้ โดยสารไตรโคลซานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการขับยาออกนอกเซลล์  ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด จึงทำให้เชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด นอกจากนั้น ยังพบว่า ในสัตว์ทดลอง ไตรโคลซาน ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อพัฒนาการ และภาวะการเจริญพันธุ์ ผลต่อต่อมไร้ท่อ ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจและมีความเป็นพิษเรื้อรัง และเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย  องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์สบู่แล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ชนิด เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าสามารถชำระล้างได้ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ทั้งนี้เพราะกลไกการชำระล้างร่างกายโดยสบู่นั้น ผิวกายสัมผัสกับสบู่ในเวลาสั้นๆ แล้วเราก็ล้างน้ำออกไป ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ไม่นานพอที่สารไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เพราะกลไกการทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานกว่ามาก จะต้องอาศัยทั้งสภาวะแวดล้อมและระยะเวลาที่เหมาะสม จะต้องมีเวลาให้สารเข้าสู่เซลล์แบคทีเรียก่อน แล้วสารจึงจะสามารถออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ ในกรณีของไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างกรดไขมันของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียถูกทำลายไป ซึ่งต้องอาศัยสภาวะที่เหมาะสม ความเข้มข้นของสารต้านแบคทีเรียที่เหมาะสม และระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย    แบคทีเรียที่ผิวหนัง ต้องทำลายให้หมดหรือ ? ผิวหนังมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแวดล้อม โดยมีบทบาทในการป้องกันการสูญเสียน้ำ และการซึมผ่าน สกัดกั้นไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย โดยการหลั่งกรดอ่อนจากต่อมเหงื่อ ทำให้ผิวหนังมีสภาพความเป็นกรด ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายยากขึ้น  ต่อมไขมันจะผลิตสารที่เป็นกรดไขมันและกรดแลคติค มาต่อต้านแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้เองตามธรรมชาติ ผิวหนังปกติมีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดโรค ในแต่ละส่วนของร่างกายมีเชื้อจุลินทรีย์จำนวนแตกต่างกัน  เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นซึ่งเป็น เชื้อที่อยู่เป็นประจำนี้ทำหน้าที่ป้องกัน 2 อย่างคือ ต่อต้านจุลินทรีย์ แปลกปลอมและทำหน้าที่แย่งอาหารจุลินทรีย์แปลกปลอมบนผิวหนัง ดังนั้นคนปกติทั่วไปจึงมิต้องวิตกกังวลว่า ร่างกายมีเชื้อมากไป จนจะต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังให้หมดไปอย่างราบคาบ ดังนั้นการใช้สบู่ธรรมดาในการชำระล้างก็เพียงพอในชีวิตประจำวัน ส่วนการใช้สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียไม่เกิดประโยชน์ และยังเป็นโทษต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ก่อปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >