ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 136 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2555 เรียวปากสวย...แต่เสี่ยงสารตะกั่ว สาวๆ คงต้องให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นพิเศษ เพราะมีข้อมูลจากเว็บไซต์ Time Healthland ของอเมริกา รายงานว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วอยู่ในลิปสติกยี่ห้อดังอย่าง Maybelline’s Colour Sensation เฉดสี Pink Petal, L’oreal Colour Riche เฉดสี Volcanic และ ลิปสติก Nars เฉดสี Red Lizard กับเฉดสี Funny Face ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงต้องนำสินค้าชนิดเดียวกันในวางขายอยู่ในประเทศไทยมาตรวจสอบ ซึ่งทางบริษัทผู้นำเข้าคือ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด ชี้ได้แจงข้อเท็จจริงว่า ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีการใช้สารตะกั่วเป็นส่วนประกอบ แต่สารตะกั่วที่พบนั้นมาจากการปนเปื้อนในธรรมชาติ เช่น น้ำ อากาศ และวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การปนเปื้อนที่พบในลิปสติกน้อยกว่าการปนเปื้อนในธรรมชาติ แต่ทาง อย. ก็ให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้ลิปสติกยี่ห้อที่ต้องสงสัยเหล่านี้ หยุดใช้ชั่วคราวจนกว่า อย. จะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ ที่สามารถยืนยันความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ได้   เมื่อ ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา เคยสุ่มตรวจลิปสติกจำนวน 20 ตัวอย่าง พบว่ามีการปนเปื้อนทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน แต่การปนของตะกั่วในลิปสติกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกายโดยตรงและใช้บ่อยครั้ง คนที่ใช้เป็นประจำจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอันตราย -------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เติมความ “สด” ให้นมโค “วันนี้คุณดื่มนมแล้วหรือยัง?” คำถามที่แสดงถึงความห่วงใย เพราะนมมีประโยชน์ เราจึงอยากให้ทุกคนดื่มนมกันประจำ แถมจากนี้ไปนมที่เราดื่มจะยิ่งมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตรียมแก้ไขนิยามผลิตภัณฑ์นมโคพร้อมดื่ม จากที่ใช้คำว่า “นมโค” ให้เติมคำว่า “สด” ต่อท้าย เพื่อให้เห็นภาพของนมโคแท้ 100% ที่ผ่านกรรมวิธีพลาสเจอร์ไรส์ก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นมโคสด” เหมือนเป็นการบังคับทางอ้อมกับผู้ผลิตที่เดี๋ยวนี้มีนมที่ผสมนมผงหรือใช้วิธีการผลิตแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การพลาสเจอร์ไรส์ออกมาทำให้คนที่ชอบดื่มนมเข้าใจผิด ซึ่งจากนี้ไป อย. ก็จะออกข้อบังคับให้นมโคพร้อมดื่มที่ไม่ใช่นมโค 100% ต้องแสดงข้อมูลปริมาณนมโคที่ใช้จริงหรือสูตรของนมผงที่นำมาผสม อีกหนึ่งข้อดีที่ผู้บริโภคจะได้รับ หากมีการบังคับให้ใช้คำว่านมโคสดคือ ต้องกำหนดระยะเวลาวันหมดอายุของตัวสินค้าไม่ให้เกิน 10 วัน ซึ่งทำให้นมสดที่เราดื่มจะมีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะเป็นนมที่ผลิตใหม่และสดจากฟาร์มจริงๆ ทาง อย. คาดการณ์ว่าประกาศนี้จะผ่านคณะกรรมการพร้อมบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2555 ------------------------------------------------------------------------------------------------- สคบ.ออกตราการันตีของดีสำหรับผู้บริโภค จากนี้ไปผู้บริโภคน่าจะมีความมั่นใจในการใช้สินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น เมื่อทางสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เตรียมออก “ตราสัญลักษณ์ของ สคบ.” (CONSUMER PROTECTION GUARANTEE) ตรารับรองสินค้าและบริการที่ผ่านเกณฑ์ตามที่ สคบ.กำหนด ซึ่งทาง สคบ.เชื่อว่าการให้สินค้าติดตรารับรอง จะช่วยลดปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดจากสินค้าและบริการต่างๆ ลงได้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์ สคบ.นี้จะเป็นตัวคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากได้รับความไม่เป็นธรรมหรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าที่ติดตราสัญลักษณ์ ผู้บริโภคก็สามารถแจ้งเพื่อขอรับการแก้ไขหรือการชดเชยความเสียหายได้รวดเร็วขึ้น เพราะทาง สคบ. มีข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว โดยสินค้าและบริการที่ สคบ.จะออกตราการันตีให้ ได้แก่ รถยนต์มือ 2 โทรศัพท์มือถือ ทองรูปพรรณ ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ใหม่ หอพัก บัตรเครดิต ตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจซ่อมรถยนต์ บ้านจัดสรรและอาคารชุด เครื่องใช้ไฟฟ้า ฟิตเนส บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจขายตรง ธุรกิจเสริมความงาม สินค้าเกษตร ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ โรงเรียนกวดวิชา อัญมณี ศูนย์บริการดูแลเด็ก ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โรงแรม โรงภาพยนตร์ สถานบริการน้ำมัน โรงพยาบาล และบริษัทรับออกแบบ ซึ่งผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์สินค้าต้องมาต่ออายุทุก 2 ปี และจะมีเจ้าหน้าที่ลงตรวจคุณภาพสินค้าทุก 6 เดือน --------------------------------------------------------------------------------------------- “พารา” ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า “พาราเซตามอล” เป็นยาสารพัดประโยชน์ทั้งแก้ปวดและแก้ไข้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการปวดที่เกิดขึ้นกับร่างกายมีหลากหลาย การรักษาก็ต้องใช้ตัวยาที่แตกต่างกัน เตือนคนที่ยังใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกกับโรค อาจเกิดอันตรายกับร่างกายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยาแก้ปวดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับอาการปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน หรือจากบาดแผลขนาดใหญ่ มักใช้กับคนไข้ในสถานพยาบาลต่างๆ ยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจส่งผลต่อระบบประสาทและระบบหายใจ ส่วนยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และลดการอักเสบ แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ เพราะจะมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร การทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ยิ่งถ้าใช้ในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้นการใช้ยาแก้ปวดที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาเกินขนาดหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ------------------------------------ เริ่มแล้ว!!! เติมเงินห้ามหมดอายุ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการเอาผิดกับบรรดาบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ที่ยังมีการออกข้อกำหนดเรื่องวันหมดอายุบัตรเติมเงิน เนื่องจากมีความผิดเพราะฝ่าฝืนประกาศเรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ตั้งแต่สมัยยังเป็น สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จนตอนนี้ผ่านมาถึง 7 ปี กสทช. เพิ่งจะมีมาตรการเด็ดขาดเอาผิดกับผู้ประกอบการ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคคอยติดตามและสอบถามถึงการดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังมานาน ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิของตัวเองถึง 7 ปี เหตุผลมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเป็นคนออกข้อบังคับเองแท้ๆ แต่กับบังคับใช้กฎหมายของตัวเองไม่ได้ สำหรับบทลงโทษที่ทาง กสทช. จะดำเนินการกับบริษัทผู้ให้บริการหากยังมีการกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน คือ การปรับเงินจำนวน 100,000 บาทต่อวัน แต่ในส่วนของผู้ใช้ยังไม่มีมาตรการชดเชยใดๆ ในกรณีที่ถูกกำหนดวันหมดอายุหรือถูกยึดเงินเพราะวันหมดแต่เงินในโทรศัพท์ยังเหลือ ผู้ใช้โทรศัพท์แบบบัตรเติมเงินแล้วพบปัญหาเรื่องการกำหนดวันหมดอายุ สามารถร้องเรียนไปได้ที่ กสทช. โทร 1200 ช่วยร้องเรียนกันเยอะๆ เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ----------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 83 ของ (ไม่น่า) เล่น

ใครๆก็รู้ว่าของเล่นเป็นสิ่งที่สามารถสร้างช่วยเสริมทักษะ และสนับสนุนพัฒนาการต่างๆให้กับเด็กได้ แต่ใช่ว่าของเล่นทุกชิ้นที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาดจะปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของท่าน หลายคนอาจได้ยินเรื่องของของเล่นปนเปื้อนสารตะกั่วที่ต้องมีการประกาศเรียกคืนมาบ้างแล้ว เพราะของเล่นดังกล่าวอาจจะทำให้พัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาการของกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กช้าหรือน้อยลงนั่นเอง มาดูกันว่าของเล่นที่มีขายในตลาดบ้านเราชิ้นที่เป็นอันตรายเพราะมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินมาตรฐานนั้นมีอะไรบ้าง ข้อมูลที่ฉลาดซื้อนำมาเสนอนั้นได้จาก ศูนย์วิจัยเสริมสร้างความปลอดภัยการป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ทำการตรวจสอบหาโลหะหนักในของเล่นจำนวน 183 ชิ้น ที่มีราคาระหว่าง 20 – 150 บาท และเป็นของเล่นที่หาซื้อได้จากห้างและตลาดทั่วไป ในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร น่าน พิษณุโลก สระแก้ว และ บุรีรัมย์ ผลการตรวจสอบ•    ของเล่นที่พบว่ามีสารตะกั่วเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดนั้นมีทั้งของเล่นที่มี และไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม •    ในภาพรวม ร้อยละ16.9 ของของเล่นทั้งหมดที่ตรวจสอบ มีระดับสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน•    ร้อยละ 16.3 ของของเล่นที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม และร้อยละ 18.8 ของของเล่นที่ไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว มีระดับสารตะกั่วสูงเกินกว่าที่มาตรฐานกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เช็คสารตะกั่วใน “ปลาทูน่ากระป๋อง”

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน คนไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาทูน่า เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมทานปลาทะเล ด้วยราคาที่แพงกว่าปลาน้ำจืด แม้ชื่อจะคล้ายกับปลาทูบ้านเรา แต่เราก็แทบไม่เห็นบ้านไหนเสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาทูน่าเป็นกับข้าวมื้อเย็น วันเวลาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักปลาทูน่า ไปต้องลำบากไปเดินเลือกซื้อในตลาด ไม่ต้องเหนื่อยขอดเกล็ด ล้างหั่นทำความสะอาด เพราะเดี๋ยวนี้ปลาทูน่าหาทานง่ายยิ่งกว่าปลาชนิดไหนๆ เพราะมันถูกบรรจุมาในกระป๋อง  แค่แวะร้านสะดวกซื้อก็ได้ทานปลาทูน่าสมใจ แต่ปัญหาก็แอบมากลับทูน่ากระป๋องเหมือนกัน เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในทูน่าสดและทูน่ากระป๋อง อย่างเมื่อปีก่อนเคยมีข่าวว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องสั่งระงับการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย เพราะตรวจพบสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการเฝ้าระวังเรื่องของการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารทะเล เพราะสารตะกั่วที่เกิดจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างไหลลงสู่ทะเล แล้วแทรกซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งปลาทูน่าถือเป็นอาหารทะเลที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก การจับตาดูจึงมีมากเป็นพิเศษ เกริ่นมาซะยาวเพราะอยากจะบอกว่า “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะพาไปดูกันว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรานั้น มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วหรือเปล่า ไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภค ต่อไปจะได้ทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างมั่นใจ แถมด้วยการเช็คปริมาณโซเดียม ดูสิว่าทานปลาทูน่ากระป๋องแล้วจะสุขภาพดีเพราะมีคุณค่าทางอาหาร หรือจะต้องป่วยเสียก่อนเพราะร่างกายดันได้รับโซเดียมมากเกินไป   ผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้สุ่มตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 16 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ โดยแต่ละยี่ห้อจะแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืช และชนิดที่ปรุงในน้ำเกลือ อย่างละ 1 ตัวอย่าง โดยการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้น ฉลาดซื้อได้ส่งไปตรวจยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จ.อุบลราชธานี ส่วนการตรวจดูข้อมูลปริมาณโซเดียม ฉลาดซื้อใช้วิธีคำนวณจากปริมาณโซเดียมที่แจ้งไว้ในฉลากโภชนาการข้างกระป๋อง   การปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับผลวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคเพราะปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่างที่เราส่งตรวจ ไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว จากนี้ไปเราก็สามารถทางปลาทูน่ากระป๋องกันได้อย่างสบายใจ แต่แม้จะปลอดจากสารตะกั่ว แต่อาจต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจป่นเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการปรุงเนื้อปลาทูน่าให้สุกก่อนทาน แม้ปลาทูน่ากระป๋องจะผ่านกรรมวิธีทำให้เนื้อปลาสุกมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ทำให้สุกอีกทีเพื่อความปลอดภัย   ปริมาณโซเดียม ส่วนเรื่องของปริมาณโซเดียมในทูน่ากระป๋อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนชอบทานปลาทูน่ากระป๋องต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะในปลาทูน่า 1 กระป๋องอาจมีโซเดียมถึง 1 ใน 4 ของปริมาณโซเดียมที่เหมาะต่อร่างกายคนเราใน 1 วัน (ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) จากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมในปลาทูน่ากระป๋องจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ พบว่าประมาณโซเดียมจะอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง (น้ำหนัก 185 กรัม แต่ถ้าเฉพาะน้ำหนักเนื้อปลาจะอยู่ที่ 140 กรัม) เพราะฉะนั้นเราควรทานทูน่ากระป๋องแต่พอดี ควรทานให้เป็นอาหารมื้อหลักมากว่าเป็นเมนูทานเล่น ทานเต็มที่ไม่ควรเกินวันละ 1 กระป๋อง และต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับใครที่คิดว่าปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืชจะมีปริมาณโซเดียม น้อยกว่าปลาทูน่ากระป๋องที่ปรุงในน้ำเกลือคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมที่แจ้งในฉลากโภชนาการ  พบว่าปลาทูน่าในน้ำมันพืช 1 กระป๋องมีปริมาณโซเดียมมากกว่าปลาทูน่าในน้ำเกลือถึง 50 -100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว   ---------------------------------------------------- ฉลาดซื้อแนะนำ -ปลาทูน่ากระป๋องที่ดี ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา -เนื้อปลาต้องสุก ต้องไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กินเหม็น หรือ กลิ่นหืน -เนื้อปลาต้องไม่นิ่มเละ หรือ กระด้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื้อไม่มีลักษณะพรุนแบบรังผึ้ง -เนื้อปลาต้องไม่เป็นสีที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเกิดการผิดปกติ เช่น สีเขียว หรือสีที่มีลักษณะคล้ำ -เนื้อปลาต้องไม่มีผลึกใส ซึ่งเป็นผลึกเกลือ ของสารประกอบของแมกนีเซียม ฟอสเฟต และแอมโมเนีย มักเกิดกับอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำปฏิกิริยากับโปรตีน สาเหตุของการเกิดผลึกเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ เป็นการบ่งชี้ว่าวัตถุดิบไม่สด มีคุณภาพไม่ดี หรือขั้นตอนการผลิตไม่เหมาะสม -เลือกกระป่องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บวม บุบ เบี้ยว ไม่มีสนิม -อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ บนฉลากต้องมี ชื่อสินค้า ชื่อของเหลวที่ใส่มาพร้อมเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่าในน้ำเกลือ ปลาทูน่าในน้ำมัน ฯลฯ ต้องบอกส่วนประกอบ มีฉลากโภชนาการ บอกชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ -ปลาทูน่ากระป่องที่เปิดกระป๋องแล้วแต่ยังทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็นและเปลี่ยนมาใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันเชื่อโรคเข้าไปปนเปื้อน -----------------------   ปลาทูน่ากระป๋องที่เรากินส่วนใหญ่ ทำจากปลาทูน่านำเข้า แม้ประเทศไทยเราจะได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องออกไปขายทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรายังคงต้องใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างเนื้อปลาทูน่าสดปริมาณมากกว่า 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เท่ากับว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นปลาทูน่าที่เราจับได้จากประมงไทย เหตุผลที่ไทยเรายังคงต้องสั่งนำเข้าปลาทูน่ามากมายขณะนี้ เป็นเพราะด้วยคุณภาพของปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือความด้อยด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาทูน่า การประมงน้ำลึกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงดูเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การผลิตได้มากกว่า   ข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยเรานำเข้าปลาทูน่าปริมาณรวม 816,473 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายไป 35,656 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีเดียวกัน อยู่ที่ 521,205 ตัน คิดเป็นรายได้กลับเข้าประเทศ 51,942 ล้านบาท ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ   รู้จักกับปลาทูน่าที่ถูกจับลงกระป๋อง -ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ถือเป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่นิยมใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงเกือบร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ตัวหนึ่งหนักประมาณ 3 – 7 กิโลกรัม เนื้อปลาจะมีค่อนข้างดำ -ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) สายพันธ์นี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งตะวันตกและตะวันออก ลำตัวมีความยาวประมาณ 27-60 นิ้ว เป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่มีขนาดใหญ่ บางตัวหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีขาว คุณภาพดีกว่าปลาทูน่าท้องแถบ แต่ราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย -ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ลักษณะและขนาดจะคล้ายกับปลาทูน่าครีบเหลือง -ปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาทูน่าตาโต ทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาดิบมากกว่าบรรจุลงกระป๋อง เพราะคุณภาพจะดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่า   ---------------------------------------------------- กินปลาทูน่าแบบรักษ์โลก ถ้าสังเกตที่ข้างกระป๋องปลาทูน่าดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ "Dolphin Safe" ที่เป็นรูปปลาโลมา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา ซึ่งเป็นข้อตกลงทีมาจากบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ที่กำหนดห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  หรืออวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   เพราะอวนชนิดนี้ไม่ได้จับได้เฉพาะปลาทูน่าเท่านั้น แต่ยังจับเอาปลาโลมาติดมาด้วย เพราะปลาทูน่าถือเป็นอาหารของปลาโลมา ในฝูงปลาทูน่าจึงมักมีปลาโลมาเกาะกลุ่มอยู่ด้วย ที่ผ่านมามีปลาโลมาที่ต้องตายเพราะอุตสาหกรรมประมงทูน่าหลายล้านตัว สหรัฐอเมริกาจึงทำมาตรการณ์ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ทุกประเทศที่จะทำการค้าปลาทูน่าทั้งสดและบรรจุกระป๋องต้อง ทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา รวมถึงจับปลาทูน่าเท่าที่จำเป็น   ประโยชน์ของปลาทูน่า ความนิยมในการทานทูน่ากระป๋องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช้เฉพาะแค่เมืองไทย แต่คนทั่วโลกก็ชื่นชอบปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยังรวมถึงเรื่องของคุณประโยชน์ที่ได้ ปลาทูน่าไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือที่บรรจุกระป๋อง จะมีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และมีดีเฮชเอ (Docosahexaenoic acid (DHA)) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ประโยชน์ของกรดไขมันเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข้งแรงให้กับเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบประสาท ที่สำคัญในโอเมก้า 3 ยังมีสาร เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่จะไปช่วยจัดโคเลสเตอรอลชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แถมปลาทูน่ายังให้โปรตีนที่สูงอีกต่างหาก   ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณโซเดียมและการปนเปื้อนของสาตะกั่วในทูน่ากระป๋อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 151 ผลทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร

ดาวน์โหลดตารางรายละเอียดการทดสอบ >>>  กดโหลด ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่ม ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที ดังนั้นเพื่อทำตามคำมั่นสัญญา และเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้ โดยการนำขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กๆ ปลอดภัยจากสารตะกั่ว มูลนิธิบูรณะนิเวศและฉลาดซื้อจึงขอเสนอผลการวิเคราะห์สีทาอาคาร 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค ที่มีสิทธิจะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน มีสิทธิในการเลือกและมีสิทธิในการได้รับสินค้าที่ปลอดภัย   ทำไมต้องตรวจตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคาร ตะกั่วเป็นโลหะหนักอันตรายอย่างหนึ่งที่พบในผลิตภัณฑ์สี เนื่องจากผู้ผลิตนิยมเติมสารตะกั่วบางประเภทเข้าไปเป็นส่วนประกอบของเม็ดสี เพื่อทำให้สีสดใส เช่น สีเหลืองเติมตะกั่วโครเมต สีแดงเติมตะกั่วออกไซด์ สีขาวเติมตะกั่วคาร์บอเนต เป็นต้น นอกจากนี้ตะกั่วยังเป็นสารเร่งแห้งที่ทำให้สีแห้งไวเท่ากันทั่วพื้นผิว และทำให้สีมีความคงทนยิ่งขึ้น การผลิตสีน้ำ ที่เรียกว่าสีพลาสติกหรือสีอคริลิกในหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เลิกใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมแล้ว ขณะที่สีน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากยังมีการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมสำคัญ การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้จึงเน้นเฉพาะสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่เป็นสีน้ำมัน ประเทศไทยมีการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่จำหน่ายภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นมาบังคับใช้ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสีทาอาคาร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก) ได้กำหนดมาตรฐานปริมาณตะกั่วไว้ในสีบางประเภทแบบสมัครใจ คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย โดยมาตรฐานปริมาณตะกั่วในแต่ละผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน สำหรับสีน้ำมันทาอาคารประเภทที่ใช้แอลคีด (alkyd) เป็นสารยึดเกาะ   ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบเงาแอลคีด (มอก.327-2553) หรือสีเคลือบด้านแอลคีด (มอก.1406-2553) ต้องมีสารตะกั่วไม่เกิน 100 ppm การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN) เพื่อสร้างความตื่นตัวถึงอันตรายจากสารตะกั่วในผลิตภัณฑ์สี และส่งเสริมให้ผู้บริโภค ภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมมือกันปกป้องเด็กๆ จากทุกมุมโลกให้ปลอดภัยจากพิษตะกั่ว   สำรวจยี่ห้อทั่วไปก่อนเก็บตัวอย่าง ขั้นตอนแรกสุดของการศึกษามูลนิธิบูรณะนิเวศได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคและทีมวิจัยฉลาดซื้อสำรวจผลิตภัณฑ์สียี่ห้อต่างๆ ในตลาดสีน้ำมันทาอาคารที่วางจำหน่ายทั่วไป โดยสำรวจตามร้านค้า 3 ประเภทในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาทั่วประเทศ  ร้านค้าขนาดกลางที่เป็นร้านค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้รับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าขนาดเล็กที่ขายปลีกผลิตภัณฑ์สีในย่านชุมชน เมื่อกำหนดยี่ห้อที่จะตรวจสอบได้แล้ว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 ทีมวิจัยของมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงตระเวนซื้อตัวอย่างสียี่ห้อต่างๆ จากร้านค้าทั้ง 3 ประเภท ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา รวมถึงผลิตภัณฑ์อีกบางยี่ห้อที่สำรวจพบเพิ่มเติมภายหลัง รวมแล้วมีผลิตภัณฑ์สีที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทั้งหมด 120 ตัวอย่าง จาก 68 ยี่ห้อ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโทนสีสด ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ฯลฯ มี 68 ตัวอย่าง จาก 64 ยี่ห้อ และกลุ่มโทนสีขาวจำนวน 52 ตัวอย่าง จาก 51 ยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อเดียวกันในทั้งสองกลุ่ม การวิเคราะห์ตัวอย่างสีครั้งนี้ทำโดยห้องปฏิบัติการ Certottica ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยโครงการทดสอบความสามารถการวิเคราะห์ตะกั่วในสิ่งแวดล้อม (ELPAT) โดยใช้เครื่อง Inductively Coupled Plasma-Atomic Emission Spectrophotometer (ICP-AES) และใช้วิธีวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากลสำหรับการทดสอบปริมาณสารตะกั่วในสี   ก่อนตีพิมพ์ผลการทดสอบเรื่องปริมาณสารตะกั่วในครั้งนี้ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดส่งผลการทดสอบให้กับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เพื่อผลในการปรับปรุงและดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค  และเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศและนิตยสารฉลาดซื้อ ยังได้ประชุมร่วมกันกับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตสีหลายบริษัท ตัวแทนสมาคมผู้ผลิตสีไทย โดยมีตัวแทนจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร.พ. รามาธิบดี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนจาก สมอ. เข้าร่วมด้วย ในการประชุมดังกล่าว ทางตัวแทนบริษัทและทางสมาคม มีข้อเสนอและร้องขอให้ทางผู้วิจัยและฉลาดซื้อ อย่านำเสนอผลการวิจัยต่อสาธารณะในลักษณะที่เปิดเผยชื่อยี่ห้อและชื่อบริษัท ฯลฯ ด้วยเกรงจะกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันถึงการใช้สิทธิของผู้บริโภค ที่ควรจะต้องมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการด้วยข้อมูลที่ชัดเจน ทางผู้วิจัยและนิตยสารฉลาดซื้อจึงได้ขอสงวนสิทธิการตัดสินใจในการลงเผยแพร่ เพราะเห็นว่าการเปิดเผยผลทดสอบจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการปกปิดข้อมูล และโดยที่ผลการตรวจสอบพบว่ามีทั้งสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วสูง และสินค้าที่มีปริมาณตะกั่วเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นคู่มือในการตัดสินใจได้ “ในเมื่อท่านตัดสินใจประกาศผลทดสอบ ท่านก็อาจต้องระวังว่าทางผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบ ดำเนินการฟ้องร้องท่านแน่นอน”  อันนี้ถือเป็นคำเตือน คำขู่ หรือไม่ อย่างไร ก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ตกลงเรื่องนี้ใครกันเป็นคนทำผิด      ผลทดสอบ ผลจากการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีการใช้สารตะกั่วสูงกว่ากลุ่มโทนสีขาว โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของกลุ่มตัวอย่างโทนสีสดใสมีตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานแบบสมัครใจของไทย (100 ppm) ในขณะที่ปริมาณตะกั่วในกลุ่มตัวอย่างโทนสีขาว พบว่า ร้อยละ 61 มีตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm เมื่อมองในภาพรวมตามเกณฑ์มาตรฐานของสารตะกั่วแบบสมัครใจในไทย พบว่า ร้อยละ 79 ของตัวอย่างทั้งหมดมีตะกั่วเกิน 100 ppm ปริมาณสารตะกั่วในสีที่พบต่ำสุดจากตัวอย่างสีโทนสีสดใสคือ 26 ppm และปริมาณสูงสุดที่พบคือ  95,000 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วต่ำสุดในตัวอย่างโทนสีขาวคือ น้อยกว่า 9 ppm และปริมาณสูงสุดคือ 9,500 ppm รายละเอียดดังแสดงในตาราง   ผลวิเคระห์ปริมาณตะกั่วในตัวอย่างสีน้ำมันทาอาคาร ประเภทตัวอย่างสี จำนวนตัวอย่าง ค่ามาตรฐานแบบ สมัครใจตาม มอก. (ตะกั่วไม่เกิน 100 ppm)   ค่าตะกั่วต่ำสุด (ppm) ค่าตะกั่วสูงสุด (ppm) สีน้ำมันทาอาคาร 120 ร้อยละ 79 (95 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 95,000 โทนสีสดใส (ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง) 68 ร้อยละ 93 (63 ตัวอย่าง)   26   95,000 โทนสีขาว 52 ร้อยละ 62 (32 ตัวอย่าง) น้อยกว่า 9 9,500     ข้อมูลบนฉลากแสดงปริมาณตะกั่วไม่ตรงตามจริง จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า สีบางยี่ห้อมีการให้ข้อมูลสารตะกั่วบนฉลากเพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เลือกซื้อ โดยผลสำรวจพบว่ามีสีน้ำมัน 29 ตัวอย่างจาก 120 ตัวอย่าง ที่ติดฉลากให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคในแบบต่างๆ  เช่น  “ไม่ผสมสารปรอท ไม่ผสมสารตะกั่ว” (No Added Mercury No Added Lead),  “ปราศจากสารปรอทและตะกั่ว”  (Mercury and Lead Free),  “ไม่ผสมสารตะกั่วและปรอท” (No Added Lead and mercury) และ “ปราศจากสารตะกั่ว 100% ปราศจากสารปรอท 100%”  (100% Lead Free 100% Mercury Free)  เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในตัวอย่างสีที่มีข้อความบนฉลากดังกล่าว พบว่า มีสีน้ำมัน 17 ตัวอย่างจาก 29 ตัวอย่าง ที่มีสารตะกั่วสูงเกินกว่า 100 ppm จึงเห็นได้ว่า ข้อมูลบนฉลากและปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบไม่ตรงกัน  เรื่องนี้ผู้บริโภคจึงควรระวัง เนื่องจากไม่สามารถวางใจข้อมูลบนฉลากได้ทั้งหมด   ตัวอย่างข้อมูลฉลากและปริมาณตะกั่วในสี     ปริมาณสารตะกั่ว 56,000 ppm สียี่ห้อ เด็นโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว  53,000 ppm สียี่ห้อ เบ็นโทน ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์   ปริมาณสารตะกั่ว 49,000 ppm สียี่ห้อ ซีสโต้ ผลิตโดย ซีซั่นเพ้นท์     ปริมาณสารตะกั่ว 48,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ชิลด์ ผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์ ปริมาณสารตะกั่ว 43,000 ppm สียี่ห้อ เบเยอร์ดีไลท์ไททาเนียมผลิตโดย บี เอ็น บราเธอร์     ปริมาณสารตะกั่ว 34,000 ppm สียี่ห้อ คินโซ่ ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม ปริมาณสารตะกั่ว 28,000 ppm สียี่ห้อ โทรา ผลิตโดย ไทยโตอา อุตสาหกรรม     ปริมาณสารตะกั่ว 18,000 ppmสียี่ห้อ ร็อกเก็ต ผลิตโดย ทีเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 2,600 ppm สียี่ห้อ ซันเก ผลิตโดย โกลเด้นท์แอร์โร โค๊ทติ้ง     ปริมาณสารตะกั่ว 640 ppm สียี่ห้อ ซุปเปอร์มาเท็กซ์ ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์ ปริมาณสารตะกั่ว 230 ppm สียี่ห้อ ทีโอเอ กลิปตั้น ผลิตโดย ทีโอเอเพ้นท์   ปริมาณสารตะกั่ว 390 ppm สียี่ห้อ กัปตัน ผลิตโดย กัปตันโคตติ้ง (กิจการร่วมกับ ทีโอเอ เพ้นท์)   และด้วยเหตุที่ฉลากบนกระป๋องสีมีรูปแบบและข้อความที่หลากหลาย ดังนั้นการปรับปรุงแก้ไขให้ฉลากมีมาตรฐานเดียวกัน น่าจะช่วยให้ข้อมูลบนฉลากมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงควรเพิ่มข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น อันตรายของสารตะกั่ว และข้อควรระวังในการขูดลอกสีเก่า เป็นต้น   คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1. เลือกสีทาอาคารชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย โดยเฉพาะสีน้ำมัน เฉดสีสด เหลือง ส้ม แดง ควรหลีกเลี่ยง สีน้ำมันทาอาคารเหมาะกับไม้และโลหะ ไม่ควรนำไปทาบนผิวปูนซีเมนต์ โดยในขณะที่ยังไม่มีมาตรฐานบังคับ ผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยง เพื่อเป็นการลดเรื่องความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของสารตะกั่ว ซึ่งพบว่าเป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน 2. สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาก็ต่างกัน จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด อย่าผูกใจเชื่อไปเองว่า สีที่ราคาแพงจะมีคุณภาพดีและปลอดภัยกว่า 3. การเลือกใช้สีว่าจะใช้ของยี่ห้อใดนั้น ให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 4. อ่านฉลากให้ละเอียด แต่อย่าเพิ่งเชื่อทั้งหมด ลองศึกษารายละเอียดผลทดสอบทั้งหมดตามที่เสนอไว้ใน “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้ หากพบข้อมูลที่ข้ดแย้งกัน ให้ละเว้นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากหลอกลวงไปเลย 5. เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น  ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ 6. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา 7. กรณีจ้างช่างทาสี ควรระบุความต้องการของท่านให้ชัด โดยเลือกใช้สีที่ไม่มีสารตะกั่ว เรื่องราคาไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจากการทดสอบที่ได้นำเสนอไป พบว่า ท่านสามารถเลือกใช้สีที่ปลอดภัยจากสารตะกั่วได้ ในราคาเหมาะสม ไม่แพงเกินไป   คำแนะนำในการทาสีบ้าน การขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ ควรระมัดระวังมิให้ฝุ่นสีฟุ้งกระจายและควรหลีกเลี่ยงการสูดดมหรือสัมผัสฝุ่นสี ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการถูพื้นหรือเช็ดเปียก นอกเหนือจากการกวาด เนื่องจากฝุ่นตะกั่วไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อันนี้เท่ากับจะนำเสนอยี่ห้อที่มีตะกั่วอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งก็ควรเขียนหัวข้อให้ชัด ที่สำคัญกว่าคือคงต้องเขียนหมายเหตุให้ชัดว่า อันนี้เป็นผลจากการตรวจ 120 ตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุมยี่ห้อต่างๆ ถึง 68 ยี่ห้อ แต่ก็อาจมีบางยี่ห้อที่ไม่อยู่ในการทดสอบนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ภัยจากพิษตะกั่วในสีทาอาคารกับความเสื่อมถอยของสติปัญญาชาติ

องค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ไม่มีระดับของสารตะกั่วในร่างกายที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ ในระดับโลก มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสารตะกั่วในเลือดกับพัฒนาการทางสมองเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2550 ระบุว่า เด็กชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 8,600 คน ที่ตรวจพบสารตะกั่วในเลือดเพียง 2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) มีผลการสอบคณิตศาสตร์และทักษะการอ่านที่ด้อยกว่าปกติ[1] นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่พบว่าสารตะกั่วส่งผลระยะยาวต่อพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ก้าวร้าวและเป็นโรคสมาธิสั้น[2] และเมื่อปี พ.ศ. 2553 องค์การอนามัยโลกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่า ไม่มีระดับสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม[3] สารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อมนุษย์[4] แตกต่างจากโลหะหนักบางชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณเล็กน้อย ในทางตรงกันข้าม สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อสุขภาพแม้ในปริมาณเพียงน้อยนิด เนื่องจากมีพิษต่อสมองและระบบประสาท ตะกั่วสามารถสะสมอยู่ในกระแสเลือดและกระดูก ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะมีอาการอ่อนเพลียตามนิ้วหรือข้อมือข้อเท้า รวมถึงมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นและอาจเป็นโรคโลหิตจางได้ ผู้ใหญ่ที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณมากอาจเกิดอาการเนื้อเยื่อสมองเสื่อมได้ด้วย เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงจากพิษตะกั่วสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายเด็กดูดซับสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ราว 4-5 เท่า นอกจากนี้ สารตะกั่วยังไปขัดขวางพัฒนาการทางสมองของเด็กเล็ก ส่งผลให้สติปัญญาบกพร่องไปตลอดชีวิตได้ ในประเทศไทย “ค่าที่ยอมรับได้” ของสารตะกั่วในเลือดเด็ก คือ 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (ug/dL) ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีสารตะกั่วในเลือดเพียง 5 ug/dL ก็จะทำให้ระดับเชาว์ปัญญา (IQ) ของเด็กลดลง[5] และยังระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากพิษตะกั่ว” (lead-caused mental retardation) เป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของโรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารตะกั่วเป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาปีละกว่า 600,000 คน[6]   ตะกั่วจากสีเข้าสู่ร่างกายเราได้อย่างไร งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2551  แสดงให้เห็นว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีฝุ่นจากสารตะกั่วในสี จะมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าปกติ และหากบ้านมีฝุ่นตะกั่วมาก เด็กก็จะมีระดับตะกั่วในเลือดสูงมากเช่นกัน[7] เนื่องจากสารตะกั่วจากสีสามารถเข้าสู่ร่างกายง่าย ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องกำหนดมาตรฐานของอาคารที่พักอาศัยให้มีสารตะกั่วในฝุ่นได้ไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อตารางฟุต (ug/ft2) สารตะกั่วในสีเข้าสู่ร่างกายได้สองทาง คือ การหายใจและการกิน ผู้ใหญ่ส่วนมากได้รับสารตะกั่วจากการหายใจและสูดฝุ่นสีที่อาจฟุ้งกระจายออกมาระหว่างการขูดลอกสีเก่าเพื่อทาสีใหม่ หรือจากสีที่หลุดลอกเองตามธรรมชาติ  สำหรับเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะได้รับสารตะกั่วจากสีโดยการกิน ทั้งด้วยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ เนื่องจากเด็กวัย 1 - 6 ขวบ มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นและมักหยิบของเข้าปาก ทั้งนี้ เด็กอาจกลืนฝุ่นและดินรอบตัวได้ถึงประมาณวันละ 100 มิลลิกรัม โดยที่ระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้มากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมดที่รับประทานเข้าไป แตกต่างจากระบบทางเดินอาหารของผู้ใหญ่ ซึ่งดูดซึมสารตะกั่วได้เพียงร้อยละ 10 ฉะนั้น พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหลายจึงควรระวังอย่าให้ลูกหลานหยิบแผ่นสีเข้าปาก และหมั่นทำความสะอาดพื้นผิวในบริเวณที่เด็กเล่นอยู่เสมอด้วยการถูพื้น เนื่องจากฝุ่นตะกั่วยากต่อกำจัดโดยการกวาดและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า   ไทยยังเป็นประเทศที่ไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องปริมาณตะกั่วในสี ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมเคมีทำให้มีสารทดแทนที่จะใช้ผสมในสีทาอาคารได้ดีและปลอดภัยกว่าสารตะกั่วทุกชนิดมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 (ช่วง พ.ศ. 2523) เป็นต้นมา ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศทั่วโลกที่ทยอยประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารมาอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2521) สหภาพยุโรป (พ.ศ. 2532) ออสเตรเลีย (พ.ศ. 2540) จีน (พ.ศ. 2550) เป็นต้น แต่บางประเทศก็ไม่ถึงกับให้เลิกใช้สารตะกั่วในสีทาอาคารทันที แต่มีการออกข้อกำหนดให้ผู้ผลิตใช้สารตะกั่วได้เพียงเล็กน้อย คือ ไม่เกิน 600 ppm เช่น สิงคโปร์ (พ.ศ. 2547) บราซิล (พ.ศ. 2551) แอฟริกาใต้ (พ.ศ. 2551) ฯลฯ ขณะที่บางประเทศแนะนำให้ผู้ผลิตสีเลิกใช้สารตะกั่วโดยสมัครใจ และบังคับใช้มาตรการทางการค้าเพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์สีที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน ยกตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ผลิตสีของญี่ปุ่นจะรับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์สีทาอาคารที่ปลอดสารตะกั่วเท่านั้น สำหรับประเทศไทย สีทาอาคารปลอดสารตะกั่วหรือใช้สารตะกั่วในปริมาณน้อยเริ่มมีวางจำหน่ายในท้องตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520[8] และมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังเป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย รวมทั้งยังไม่มีมาตรการเสริมอื่นๆ การผสมสารตะกั่วในสีจึงถูกฝากไว้กับความตระหนักต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตสีแต่ละราย ในสถานการณ์จริงพบว่า ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีการผลิตและจำหน่ายสีที่ใช้สารตะกั่วในปริมาณสูง รวมถึงผู้ผลิตบางรายหรือบางบริษัทยังมีการผลิตสีต่างยี่ห้อต่างมาตรฐานกัน โดยที่มีข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายว่า การเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น   ผลิตภัณฑ์สีทาอาคารของไทยอุดมด้วยตะกั่ว เมื่อปี พ.ศ. 2552 มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการทดสอบสีทาอาคารทั้งหมด 27 ตัวอย่าง (สีน้ำมัน 17 ตัวอย่างและสีพลาสติก 10 ตัวอย่าง) พบว่า สีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm หรือ 600 ส่วนในล้านส่วน (เกินเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 327-2538) มีถึง 8 ตัวอย่าง ส่วนสีพลาสติกไม่พบตัวอย่างที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (มาตรฐานบังคับ สหรัฐอเมริกา) ค่าของตะกั่วที่พบจากการศึกษาในปีนั้น พบว่า บางตัวอย่างมีปริมาณตะกั่วในสีน้ำมันสูงระดับหลายหมื่นถึงเกือบแสน ppm    ผลที่น่าตกใจจากการสำรวจในครั้งนั้นนำมาสู่การสำรวจซ้ำอีกสองครั้ง ซึ่งยังพบปัญหาเช่นเดิม แต่เนื่องจากจำนวนตัวอย่างอาจยังไม่มากพอ ดังนั้นจึงนำมาสู่การทดสอบอีกครั้งในปี พ.ศ. 2556 นี้ โดยเจาะจงตรวจเฉพาะสีน้ำมันทาอาคาร และเพิ่มจำนวนเป็น 120 ตัวอย่าง ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์สีถึง68 ยี่ห้อ การศึกษาสถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในสีน้ำมันทาอาคารครั้งนี้ ดำเนินการโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ในฐานะที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคประชาชน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และไทย โดยการสนับสนุนจากโครงการ EU SWITCH-Asia และเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (International POPs Elimination Network - IPEN)   ราคาไม่ใช่ตัวตัดสิน ของถูกก็ปลอดภัยได้ จากงานศึกษาตัวอย่างสีทั้ง 120 ตัวอย่าง รวม 68 ยี่ห้อครั้งนี้ได้พบข้อมูลสำคัญว่า ราคาไม่ได้มีนัยสำคัญกับการปนเปื้อนตะกั่ว โดยตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วต่ำไม่ได้มีราคาแพงกว่าตัวอย่างสีที่มีปริมาณตะกั่วสูง ยกตัวอย่างเช่น จากตัวอย่างสีที่มีขนาดบรรจุ 1/4 แกลลอนหรือประมาณ 1 ลิตร จำนวน 107 ตัวอย่าง มีราคาขายอยู่ระหว่าง 80 – 353 บาท โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) มีราคาขายอยู่ระหว่าง 100-150 บาท แต่ตัวอย่างสีที่ขายในแต่ละช่วงราคาก็มีตะกั่วเจือปนในช่วงปริมาณที่ค่อนข้างกว้างมาก เช่น ที่ราคาขาย 120 บาท ซึ่งมีตัวอย่างสี 22 ตัวอย่าง พบว่า มีปริมาณตะกั่วตั้งแต่ 26 ถึง 63,000 ppm นอกจากนี้หากพิจารณาราคาขายของตัวอย่างสีที่มีตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ราคาขายมีลักษณะกระจายตั้งแต่ 90 บาทถึงเกือบ 300 บาท แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ใช้สารตะกั่วนั้นมีขายทั้งในราคาต่ำและราคาสูง ดังนั้นข้อโต้แย้งจากผู้ผลิตสีบางรายที่ระบุว่าการเลิกใช้สารตะกั่วในสีน้ำมันจะทำให้ต้นทุนการผลิตสีสูงขึ้นและจะทำให้ราคาขายแพงขึ้น จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง   ก้าวสำคัญทางนโยบาย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรื่อง “ตะกั่วในสีทาอาคาร ภัยที่ป้องกันได้” ที่เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเร่งด่วนและรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะการกำหนดให้มาตรฐานปริมาณตะกั่วในสีเป็นมาตรฐานบังคับภายในปี พ.ศ. 2556 เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค รวมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประกาศให้มีการแสดงปริมาณสารตะกั่วในสีตกแต่งหรือสีทาอาคาร และมีฉลากคำเตือนบนภาชนะบรรจุสีตกแต่งหรือสีทาอาคารที่มีสารตะกั่วเจือปน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อภายในปี พ.ศ. 2556 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังให้กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ออกข้อกำหนดให้ผู้รับเหมาใช้สีที่ควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคาร และสีทาเคลือบผิววัสดุที่ใช้ในอาคารและใช้ในโรงเรียน โดยมีปริมาณสารตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm รวมถึงข้อเสนอแนะถึงสถาปนิกและสมาคมสถาปนิกสยามให้กำหนดให้สีทาอาคารและสีทาเคลือบผิว วัสดุที่ใช้ในอาคารอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลได้ออกคำสั่งถึงหน่วยงานภายใต้กระทรวงต่างๆ ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร รวมถึง ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดมาตรฐานสารพิษ เช่น สารตะกั่ว สารหนู และอื่นๆ ของผลิตภัณฑ์สีทุกชนิดให้เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มบทบาทการติดตามและสอดส่องพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและของเล่นที่มีสารตะกั่วเกินมาตรฐาน ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สีและอื่นๆ ที่ได้รับมาตรฐาน มอก. เพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับสารตะกั่วและสารพิษอื่นๆ สำหรับหน่วยงานราชการก็ให้เลือกใช้สีที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มอก. ในงานจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ     ตะกั่วในกระแสโลก  ในระดับนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมมือกันก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อเพิกถอนสารตะกั่วจากสี (Global Alliance to Eliminate Lead Paint – GAELP) เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันเด็กไม่ให้ต้องรับอันตรายจากสารตะกั่วในสีและลดความเสี่ยงของคนงานจากสารตะกั่ว ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เลิกการผลิตและการขายสีผสมสารตะกั่ว และทำให้สังคมปลอดภัยจากสีผสมตะกั่ว องค์การอนามัยโลกและ UNEP เริ่มเปิดศักราชงานรณรงค์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นี้โดยสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมกันจัด “สัปดาห์ป้องกันภัยจากพิษตะกั่ว” พร้อมกันในระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคมนี้   ขอเชิญชวนทุกท่านสนับสนุนให้ “เด็กไทยปลอดภัยจากสารตะกั่ว”   โดยร่วมส่งภาพถ่ายลูกหลานตัวน้อยของท่าน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์เผยแพร่ เพื่อรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและผู้บริโภคจากพิษตะกั่วในสีทาอาคาร   กรุณาส่งภาพถ่ายใบหน้าของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ซึ่งอยู่ในความปกครองของท่าน มายัง LeadFreeThailand@gmail.com พร้อมชื่อและที่อยู่ เพื่อทีมงานจะจัดส่งโปสเตอร์กลับไปให้ท่านทางไปรษณีย์   หรืออาจส่งภาพถ่ายมาทางไปรษณีย์ ถึง มูลนิธิบูรณะนิเวศ 211/2 ซ.งามวงศ์วาน 32 ต.บางเขน อ.เมือง นนทบุรี 11000 หมดเขต 10 ตุลาคมศกนี้   ตัวอย่างฉลากเตือนภัยเรื่องสารตะกั่วในสี   ระวัง! คุณอาจทำให้ฝุ่นตะกั่วฟุ้งกระจายจากการขูด ขัด หรือลอกสีเก่า สารตะกั่วเป็นพิษ การได้รับฝุ่นตะกั่วอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น สมองเสื่อม โดยเฉพาะในเด็ก สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการได้รับฝุ่นตะกั่วเช่นกัน ควรใช้หน้ากากหายใจเพื่อจำกัดการได้รับสารตะกั่ว และควรทำความสะอาดด้วยเครื่องดูดฝุ่นและการเช็ดถูด้วยน้ำ ก่อนจะขูดลอกสีเก่า ควรสอบถามข้อมูลเรื่องการปกป้องตนเองและครอบครัวโดยติดต่อสายด่วนข้อมูลสารตะกั่ว หรือเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ www.epa.gov/lead   [1]Miranda ML, Kim D, Galeano AO, et al. The relationship between early childhood blood lead levels and performance on end-of-grade tests. Environ Health Perspect 2007; 115: 1242-1247. [2]Braun JM, Kahn RS, Froehlich T, et al. Exposures to Environmental Toxicants and  Attention Deficit  Hyperactivity Disorder in US Children. Environ Health Perspect  2006; 114: 1904-1909. [3] WHO, 2011. Evaluation of certain food additives and contaminants: 73rd report of the Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives. apps.who.int/ipsc/database/evaluations/chemical.aspx?chemID=3511 สืบค้นเมื่อ 21 ก.ค. 56 [4] Staudinger, K.C. and V.S. Roth. Occupational Lead Poisoning. Am Fam Physician. 1998 Feb 15; 57(4):719-726. สืบค้นจาก http://www.aafp.org/afp/1998/0215/p719.html เมื่อ 1 กันยายน 2556 [5] WHO, 2010. Childhood Lead Poisoning. http://www.who.int/ceh/publications/leadguidance.pdf  สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2556 [6] WHO, 2010. Exposure to lead: a major public health concern. http://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/lead/en/index.html สืบค้นเมื่อ 14 ส.ค. 56. [7] Jacobs, DE et al. The relationship of housing and population health: a 30-year retrospective analysis. Environ Health Perspect. 2009 April; 117(4): 597-604. [8] www.toagroup.com/th/about/8/25-ก้าวสำคัญ.html

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 109 ตามไปดูเขากำจัดสารตะกั่ว…ต้องช่วยผู้บริโภค

วันหนึ่งหลังจากตื่นนอนทำวัตรเช้าเสร็จ โทรศัพท์ก็ดังกริ๊งกร๊างปรากฏว่า มีคำสั่งให้ทีมกระต่ายฯ (รายการทีวีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ออกไปทำสกู๊ปทดสอบสีในโรงเรียนที่มีศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก สังกัดภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นเจ้าของโครงการ เนื่องจากได้ข่าวว่า มีการตรวจพบสารตะกั่วในของเล่นและสีที่ใช้ทาในโรงเรียน!! งานเข้าครับ… ท่านผู้อ่านที่เคยผ่านการใช้รถในยุคน้ำมันเบนซินลิตรละ 10 บาท คงพอจำโฆษณาทางทีวีตัวหนึ่งที่มีมนุษย์ประหลาดหัวโล้นๆ ตัวสีเงิน ไม่ใส่เสื้อผ้าโผล่มา ที่เขาเรียกกันว่า “มนุษย์ตะกั่ว” ได้ใช่ไหมล่ะครับ ก็ช่วงนั้นเขารณรงค์ให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วกันทั่วบ้านทั่วเมือง เหตุเพราะพิษภัยของมันค่อนข้างอันตราย หากเก็บสะสมไว้ในร่างกายนานเข้า อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติทางสมอง สมองพิการ หรือปัญญาอ่อนได้ทีนี้พอไอ้เจ้า “มนุษย์ตะกั่ว” ที่มากับน้ำมันซูเปอร์ในสมัยนั้นถูกลอยแพบ๊ายบายไปตามสายน้ำ (โฆษณาชิ้นสุดท้ายของซีรี่ส์ตะกั่ว) คุณพ่อแม่ผู้ปกครองหลายๆ ท่านก็เลยเบาใจหายห่วงไปได้เปาะหนึ่ง ว่าต่อแต่นี้คงส่งลูกส่งหลานเดินทางขึ้นรถไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย จนกระทั่ง...เกิดข่าวสารตะกั่วตามเข้าไปอยู่ในโรงเรียน!! นี่ผมไม่ได้ละเมอมานั่งเทียนเขียนนะครับ แล้วสารตะกั่วมันจะตามเข้าไปอยู่ในโรงเรียนได้อย่างไร หรือคุณครูจะแอบกักตุนน้ำมันลิตรละ 10 บาทไว้เติมรถตัวเอง เอาล่ะสิครับ สังขารปรุงให้ความสงสัยเกิด ทุกข์ก็เกิดอีกแล้ว ไอ้คนเขียนอย่างผมก็ทุกข์ไปด้วยเพราะต้องไปหาข้อมูลมาอธิบายให้คนอ่านหายทุกข์ ทุกข์กันทั้งบ้านทั้งเมืองไม่รู้จะทุกข์กันไปทำไม...เนอะ (เริ่มเข้าสู่แนวธรรมของถนัดอีกแล้ว มีหวังกองบก.เล่นผมตายแน่) ตามตะกั่วไปถึงโรงเรียนอย่างที่บอกไปครับ งานเข้าทีมกระต่ายฯ แล้ว คือแรกเริ่มเดิมทีนั้น ทางศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กฯ เขาสนใจเรื่องของการบาดเจ็บในเด็กจากของเล่นก่อน แล้วจึงพบว่าสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับสีของของเล่นเหล่านั้น มันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเจ้าสารเคมีตัวเอ้ที่ว่ามานั้น ก็ไม่ใช่อื่นไกลเลย...พี่สารตะกั่วยังไงล่ะครับ!! รอบแรกที่ลงไปทำการสำรวจของเล่นที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด พบว่ามีสูงถึงร้อยละ 18 ที่สารตะกั่วเจือปนมากับสีของของเล่นในอัตราส่วนที่เกินมาตรฐาน สำหรับมาตรฐานสากลนั้น กำหนดให้อยู่ที่ 90 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสี 1 กิโลกรัม หมายความว่า เมื่อนำเอาวัตถุที่มีสีแช่ลงในสารละลายที่สามารถละลายสารตะกั่วได้ แล้วพบว่ามีสารตะกั่วละลายออกมาสูงเกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมนั้น ให้เชื่อว่าเกินมาตรฐาน หรืออีกวิธีหนึ่งจะดูปริมาณสารตะกั่วที่ปนเปื้อนทั้งหมดไม่คิดเฉพาะส่วนที่ละลายออกมาก็ได้ ค่านี้มาตรฐานให้อยู่ที่ 600 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสี 1 กิโลกรัม คือ ตัวเลข 600 เนี่ย หมายถึงค่าที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเฉียบพลัน แต่หากสะสมไปนานๆ มากๆ เข้าก็อาจส่งผลกระทบถึงระบบประสาทได้ครับ ทางที่ดีควรจะเป็น 0 เรียกว่า ไม่ควรจะมีเลยด้วยซ้ำ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการทดสอบของเล่นในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งก็ตรวจพบบ้างประปรายในบางศูนย์ แล้วก็ได้มีการแนะนำให้ความรู้กับครูอาจารย์ผู้ประกอบการถึงพิษภัยตลอดจนวิธีที่สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่คือทางเดินอาหาร (เด็กจับของเล่นแล้วมาจับของกินหรือบางทีก็หยิบเอาสีที่ล่อนออกมาเข้าปาก) และต้องมีการกำจัดของเล่นที่มีความเสี่ยงทิ้งไป ต่อมา ก็ได้มีหน่วยงานหลายหน่วยงานให้ความสนใจในเรื่องนี้ และได้เข้ามาร่วมศึกษาตรวจสอบ อย่างการพบสารตะกั่วในแทงค์น้ำบ้าง ในหม้อก๋วยเตี๋ยวที่มีการบัดกรีบ้าง ฯลฯ แล้วก็ในสีที่ใช้ทาหรือเคลือบวัสดุต่างๆ ด้วย อย่างที่ฉลาดซื้อฉบับป้ายสีเคยลงข้อมูลไว้ “สี” ก็เลยกลายเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญไปโดยปริยาย!! (ต้องหามาทดสอบซ้ำนะครับพี่ๆ) จากการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกาพบว่า สีทาบ้านโดยเฉพาะที่พบในอาคารเก่าเป็นแหล่งที่มาสำคัญของภาวะพิษจากสารตะกั่วในเด็ก หรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียนประถมในจีนก็เช่นเดียวกัน พบว่าร้อยละ 57 ของสีทาบ้านมีระดับสารตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐาน ดังนั้นทางศูนย์วิจัยฯ แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้สุ่มคัดเลือกโรงเรียนศูนย์เด็กเล็กจำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับศึกษาและเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ ทีนี้บางท่านอาจมีข้อสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมจึงโฟกัสเฉพาะเด็กเล็กเท่านั้นล่ะ เด็กโตไม่สำคัญหรือ... วิสัชนาว่า ก็เด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 ปีลงไป ร่างกายสามารถซึมซับสารตะกั่วได้ดีกว่าวัยอื่นๆ ถึง 5 เท่าน่ะสิครับ สมองจะพิการหรือไม่ก็ช่วงนี้แหละ อีกอย่างหากเราจัดการสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้พวกเขาตั้งแต่เล็ก โตมาจะมีอะไรน่าห่วงอีกล่ะครับ หมดเรื่องของสารตะกั่วแล้วจะนิโคตินหรือแอลกอฮอล์ค่อยว่ากันอีกที โรงเรียนแรกที่ทีมกระต่ายฯ เราได้ลงพื้นที่ไปสำรวจดูนั้นก็คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน พัวชิวติ่ง-ลิ้มเซาะคิ้ม ย่านชุมชนเคหะนคร 2 เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ศูนย์ที่ทางทีมวิจัยของรามาตรวจพบสารตะกั่วปนเปื้อน จากทั้งสิ้น 17 ศูนย์ที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างมาทดสอบ คิดเป็นร้อยละ 64.71 โดยแบ่งเป็นพบในสีถึง 9 ศูนย์ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ 1 ศูนย์ และดินอีก 1 ศูนย์ โดยปริมาณที่พบสูงสุดเลยคือ 32,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากค่ามาตรฐาน 600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม คิดเป็น 53.33 เท่า!! โอ้แม่เจ้า!! นี่เด็กชักตายได้เลยนะเนี่ย ไม่ต้องรอสะสมให้เหนื่อยเลย!! และนี่คือตารางแสดงจำนวนตัวอย่างทั้งหมดที่ส่งไปทดสอบปริมาณตะกั่วจากทั้ง 17 ศูนย์   ตัวอย่างทดสอบ จำนวน (ที่พบ) สารตะกั่วสูงกว่ามาตรฐาน สีทาบ้าน 9 โต๊ะเรียน 1 ดินในสนามเด็กเล่น 1 สารตะกั่วต่ำกว่ามาตรฐาน น้ำดื่ม 17 น้ำประปา 17 สีในของเล่น 16 ดินน้ำมัน 8 ภาชนะบรรจุอาหาร 30 (จานชาม) 21 (หม้อหุงต้ม) 9 แก้วน้ำ 18 ช้อน 17 ฝุ่นที่ติดพื้น 11 ดินสอสี / สีเทียน 18   โดยวันนั้นเกิดการติดต่อประสานงานผิดพลาดขึ้นเล็กน้อยครับ ทีมกระต่ายฯ ที่ได้รับคำสั่งเร่งด่วน ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลยขณะนั้น ต้องไปแกร่วอยู่กับคุณครูประจำศูนย์ 2 ท่าน ปราศจากผู้เชี่ยวชาญจากรามาฯและทีมบำรุงซ่อมแซม(การตรวจสอบเพื่อให้ได้ผลสรุปที่แน่นอนจะต้องทำการเก็บตัวอย่างหลายรอบครับ นี่คือเหตุผลที่ทางรามาฯ ต้องไปแล้วไปอีก) ผมเลยต้องเริ่มต่อจิ๊กซอว์ตัวแรกด้วยการคุยกับคุณครูประจำศูนย์ทั้ง 2 ท่านก็พบว่าศูนย์พัวชิวติ่งนี้ ถูกตรวจพบสารตะกั่วจากตัวอย่างสีน้ำมันที่นำมาทาทับเพื่อลบร่องรอยขีดเขียนตามผนังโดยฝีมือนักศิลปะรุ่นเยาว์ทั้งหลาย ซึ่งตัวคุณครูเองก็คาดไม่ถึงว่าจะเจอในลักษณะนี้ แต่เมื่อเจอแล้วก็ต้องแก้ไขกันต่อไป นอกจากนี้ ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่า ศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนขนาดกลาง ชุมชนที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ หรือชุมชนสลัม ฯลฯ พ่อแม่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ต้องนำลูกมาฝากไว้กับศูนย์ พอปัญหาเกิดขึ้นก็ไม่รู้จะหางบประมาณจากไหนมาเยียวยา บางทีพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เข้าใจอีก หาว่าเป็นความผิดทางโรงเรียน ที่ทำได้คือถอดเอาชุดอุปกรณ์ที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงทิ้งไป เด็กก็มีของให้เล่นน้อยลง ความซวยจึงบังเกิดกับเด็กผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไหนจะต้องเสี่ยงกับพัฒนาการทางสมองจากสารตะกั่ว ไหนจะขาดแคลนเครื่องเล่นที่จะช่วยพัฒนาไอ-คิว ทุกข์อีกแล้ว !! สำหรับอีกโรงเรียนที่กระต่ายฯ ได้ลงพื้นที่ก็คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนหมู่บ้านเคหะนคร เขตสะพานสูง ซึ่งศูนย์แห่งนี้ก็ถูกตรวจพบสารตะกั่วจากตัวอย่างสีเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังพบรูรั่วตามหลังคา ทำให้เวลาฝนตกลงมาเกิดความชื้นเกิดเชื้อราได้ง่าย ศูนย์ฯ นี้มีบริเวณและจำนวนเด็กมาก สถานที่ค่อนข้างใหญ่จะบูรณะซ่อมแซมอะไรรายจ่ายก็สูงเป็นเงาตามตัว ข้อมูลนี้อาจารย์เขาเล่าให้ฟังเอง ยังดีที่ทางรามาฯ ยื่นมือเข้าช่วยโดยประสานกับทางบริษัทสีให้เข้ามาซ่อมแซมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะหากรอความช่วยเหลือจากทางเขตก็ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ เด็กก็ต้องรับเคราะห์ทนสภาพเสี่ยงกันต่อไป การกำจัดสารตะกั่วเมื่อตรวจพบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนในบริเวณรอบโรงเรียน ทางทีมงานของรามาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการ “แก้ไข” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับ เป็นปฏิบัติการระดับ Mission Impossible ทีเดียวเชียว ขั้นตอนของการกำจัดเจ้าสารตะกั่วซึ่งถือเป็นขยะพิษขยะอันตรายนี้ ต้องเริ่มจากการขูดลอกสีที่ปนเปื้อนมาเก็บพักรวมกันไว้ที่โรงกำจัดสารพิษของ กทม. ก่อนจะส่งไปยังโรงกำจัดขยะพิษที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อมิให้ขยะสีเหล่านี้ไปก่อให้เกิดมลพิษกับบุคคลอื่น คนงานทุกคนที่ขูดลอกสี ต้องใส่ชุดประมาณ “ชุดอวกาศ” คือมีหน้ากากป้องกันฝุ่นจากสีเข้าสู่ร่างกาย การล้างน้ำจากพื้น ผนังต้องให้แน่ใจว่า ไม่มีสีปนเปื้อนตะกั่วไหลไปลงท่อน้ำทิ้ง คนงานต้องหาทางดักชิ้นส่วนของสีที่ขูดออกมารวบรวมไว้อย่างดีไม่ให้ออกไปปนกับสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณโรงเรียน โรงเรียนที่ทางรามาฯ และทีมกำจัดได้เข้าไปดำเนินการนั้น นัยหนึ่งก็นับว่าโชคดี แต่ทีนี้ปัญหาที่ผมสงสัยต่อมาก็คือ แล้วอีกกว่า 276 ศูนย์เด็กเล็กที่ทางรพ.รามาฯไม่ได้ลงไปตรวจสอบ ผู้ปกครองจะมั่นใจได้อย่างไรว่าศูนย์เหล่านั้นปลอดภัย เป็นศูนย์ไร้สารตะกั่วจริง บางที่อาจจะเกิน 32,000 มิลลิกรัมขึ้นไปอีกก็ได้ตามหลักความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์และสถิติหรือบางที่อาจจะพบเจอตามที่แปลกๆ อย่างศูนย์หนึ่งพบตรงผิวหน้าดิน เป็นต้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้สอบถามไปยังศูนย์วิจัยฯ ของรามาธิบดีว่า มีแผนจะลงไปตรวจสอบศูนย์เด็กเล็กที่เหลือเมื่อไร ก็ได้คำตอบกลับมาว่าศูนย์วิจัยฯ หยุดสำรวจเรื่องสารตะกั่วในศูนย์เด็กเล็กแล้ว เพราะต้องทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็กในเรื่องอื่นๆ ด้วย งานวิจัยเป็นแค่แนวทางปฏิบัติเท่านั้น   ใครรู้ตัวว่าเกี่ยวข้องรีบเข้ามาจัดการด่วนหลังจากไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจนแล้วเสร็จ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้จัดแถลงข่าวเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ห้องประชุม 4703 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรืออาคาร 6 ชั้น 7 กระทรวงสาธารณสุข โดยได้แสดงผลการศึกษาที่น่าสนใจประมาณการได้ว่า “มีเด็กกว่า 15,000 คน กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากสารตะกั่ว” ดังนั้นจึงสมควรเร่งให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการให้ความรู้ครูผู้ดูแลเด็กในการจัดการสิ่งแวดล้อม หากมีสีหลุดลอกตามพื้นให้ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดพื้นหลายๆ ครั้งต่อวัน และมิให้เด็กเล่นใกล้บริเวณที่มีสีหลุดลอกได้ ทางสำนักงานเขตกทม.ต้องมีการจัดผู้เชี่ยวชาญไว้ให้บริการตรวจสอบทั้งในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดตั้งทีมกำจัดสารตะกั่วในการดำเนินงานแก้ไขตามมาตรฐานสากล ป้องกันการเจือปนของสารตะกั่วจากการขูดลอกสีภายในชุมชนและมีการกำจัดขยะสีอย่างถูกวิธี กรุงเทพมหานครต้องขยายผลการดำเนินงานนี้ให้ครอบคลุมทุกศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ส่วนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขเช่นเดียวกันในศูนย์เด็กเล็กภูมิภาค นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมสารตะกั่วในสีให้มากขึ้น อย่าลืมนะครับว่าจริงๆ มันไม่ใช่หน้าที่เขามาตั้งแต่ต้น ชื่อหน่วยงานก็บอกอยู่ทนโท่ว่าศูนย์ “วิจัย”เพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ไม่ใช่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามสารตะกั่ว หลักๆ นี่มันเป็นหน้าที่ของบรรดาผู้ได้รับเงินภาษีจากราษฎรเพื่อเข้ามาบริหารจัดการดูแลสุขทุกข์ประชาชนต่างหากที่ต้องรีบเข้ามาจัดการโดยด่วนครับ พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ สำนักงานเขต เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อน รวมถึงคนในชุมชน ถึงตรงนี้ผมมองว่าทุกๆ ท่านคงต้องช่วยกันรับผิดชอบด้วยแล้วล่ะครับ จะมัวรอให้คนนู้นคนนี้คอยเป็นธุระจัดการ หรือพอเกิดปัญหาขึ้นมาทีก็เอาแต่โทษกันไปโทษกันมา บุตรหลานของท่านไม่ตายก็พิการกันหมดล่ะทีนี้ งานวิจัยเขาก็นำร่องไว้ให้แล้ว วิธีปฏิบัติเขาก็แสดงให้เห็นแล้ว อยากได้คำแนะนำก็ขอคำปรึกษาได้ มันจะยากอะไรแค่ช่วยกันช่วยกันขูดตัวอย่างสีหรือหาวัสดุที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงส่งไปให้ห้องแล็ปทดสอบ เหลือแค่พวกเราลงมือกระทำเท่านั้นแหละครับ อยู่ที่ว่าจะลุกขึ้นมาหรือเปล่า... ถ้าลุกขึ้นมาลูกหลานก็ปลอดภัย ถ้าปล่อยไปก็อาจตายหยังเขียด หรือดีหน่อยก็เป็นไอ้มนุษย์ตะกั่ว ร่วมไม้ร่วมมือกันอย่าเอาแต่นิ่งดูดาย ล้อมคอกเมื่อวัวหายมันไม่คุ้มหรอกนะครับ ป.ล.โฆษณาซีรี่ส์ตะกั่วงวดหน้าอาจโผล่มาในโรงเรียนก็ได้ ฮ่าฮ่า ;D

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 ตะกั่วในสีอันตรายที่ห้ามมองข้าม

ทั่วโลกขับเคลื่อนห้ามมีตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งในประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโยฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลนานาชาติและองค์กรระหว่าง ได้มีมติร่วมกันในการจัดตั้งยุทธศาสตร์สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีระหว่างประเทศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายุทธศาสตร์ไซคัม (Strategic Approach to International Organization on Chemicals Management หรือ SAICM) และต่อมาในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลนานาประเทศได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์นี้ร่วมกันอีกครั้งในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 (The 1st International Conference on Chemicals Management: ICCM-1) ณ กรุงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   น.ส. วลัยพร มุขสุวรรณ นักวิจัยอาวุโสด้านสารเคมีและของเสียอันตราย จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มปรับนโยบาย มาตรการ และแผนงานการจัดการสารเคมีอันตรายต่างๆ ภายในประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไซคัม ตัวยุทธศาสตร์นี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการเน้นให้เกิดการจัดการสารเคมีอย่างเหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของสารเคมีนั้นๆ และมีเป้าหมายร่วมกันในระดับโลกว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 การผลิตและการใช้สารเคมีจะต้องให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นแนวทางสำคัญที่จะปกป้องสังคมโลกให้ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ยุทธศาสตร์ไซคัมให้ความสำคัญกับหลักการพื้นฐานสั้น 5 ข้อด้วยกัน คือ 1) การลดความเสี่ยงจากสารเคมีอันตราย 2) การทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ 3) การสร้างธรรมาภิบาล 4) การเสริมสร้างศักยภาพและความร่วมมือทางเทคโนโลยี และ 5) การห้ามการขนส่งของเสียอันตรายข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย เธอกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ไซคัมเองยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องสุขภาพของเด็ก สตรีมีครรภ์ คนหนุ่มสาว ผู้สูงอายุ คนยากจน คนงาน และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เปราะบางทั้งหลายไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารเคมีอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้องค์กร Toxics Link (อินเดีย) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของอินเดีย ร่วมกับเครือข่ายระหว่างประเทศที่ต่อต้านสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า International POPs Elimination Network (IPEN) ได้เสนอให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งมีมาตรการควบคุมการใช้ตะกั่วในสีทาบ้านหรือสีตกแต่งต่าง ๆ ในเวทีการประชุมระดับโลก 2 ครั้งคือ ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยด้านสารเคมีครั้งที่ 6 หรือ Sixth Session of International Forum on Chemical Safety (IFCS Forum VI) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2551 ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล และต่อมามีการเสนอในการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2 (ICCM 2) เมื่อวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2552 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้มีการควบคุมสารตะกั่วในสีทาบ้านและสีตกแต่งต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่กระจายของตะกั่วสู่เด็กแหล่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่ทั่วโลกได้มีมาตรการยกเลิกการใช้ตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศยังไม่มีกฎข้อบังคับที่ควบคุมหรือห้ามการใช้ตะกั่วเป็นส่วนผสมในสี ที่ประชุม ICCM 2 มีมติร่วมกันในการควบคุมสารตะกั่วในสีที่สำคัญ 2 เรื่องด้วยกันคือ 1) มีมติให้บรรจุเรื่องตะกั่วในสีเป็นนโยบายเร่งด่วนใน SAICM และ 2) มีมติให้นานาประเทศสร้างความร่วมมือระดับโลกเพื่อช่วยกันสร้างความตระหนักเรื่องผลกระทบของตะกั่วในสีที่มีต่อสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้มีการพัฒนาโครงการป้องกันอันตรายจากตะกั่วในสีโดยหามาตรการหรือสร้างความรู้เพื่อป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้กำหนดกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ ประเทศไทยมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง น.ส. วลัยพร ซึ่งได้เข้าร่วมกับโครงการทดสอบสีของ Toxics Link กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยเองก็ได้เข้าร่วมกับการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 1 และได้ให้การรับรองยุทธศาสตร์ไซคัมด้วย โดยมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของไซคัม ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องนำเอายุทธศาสตร์และหลักการสำคัญที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ไซคัมมาดำเนินการในประเทศด้วย ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550 – 2554) ซึ่งจัดทำเสร็จแล้ว โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้บรรจุเอานโยบายและหลักการสำคัญๆ ของยุทธศาสตร์ไซคัมเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่า ประเทศไทยมีการปฏิบัติตามหรือมีการดำเนินมาตรการอะไรในเรื่องนี้บ้าง เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยจากอันตรายของสารเคมีภายในปี 2563 ตามที่ไซคัมตั้งเป้าหมายเอาไว้ สำหรับประเด็นตะกั่วในสีนั้น กรมควบคุมมลพิษในฐานะศูนย์ประสานงานแห่งชาติของ ไซคัมได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมและกำหนดท่าทีของประเทศ 2 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันที่ 9 เมษายน 2552 และได้นำประเด็นนี้เข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2552 เพื่อกำหนดท่าทีของประเทศไทย แต่เนื่องจากมีข้อมูลการใช้สารตะกั่วในการผลิตสีไม่ตรงกัน ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงงานผลิตสีว่ามีการใช้สารตะกั่วหรือไม่อย่างไร ล่าสุดนี้คณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมีมีการประชุมครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552 ในที่ประชุมครั้งนี้มีการนำเอาผลการประชุมของ ICCM 2 มาพิจารณาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการขึ้นในประเทศด้วย ในส่วนของปัญหาตะกั่วในสี ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักรับไปดำเนินการให้เกิดการจัดการตะกั่วอย่างเหมาะสมตลอดทั้งวงจรตั้งแต่การผลิต การใช้ และการกำจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตะกั่วในสี เอกสารอ้างอิง1. SAICM Secretariat, Information bulletin No.1, January 2008.2. เอกสารการประชุมคณะอนุกรรมการประสานนโยบายและแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการสารเคมี ครั้งที่ 3/ 2552

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 102 มีสี (ไม่จำเป็นต้อง) มีเสี่ยง

บังเอิญได้เหมาะเจาะจริงๆ หลังจากที่สมาชิกของฉลาดซื้อได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรทำทดสอบสีทาบ้านดูบ้าง เราก็ได้รับข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Ecological Alert and Recovery - Thailand, EARTH) ว่าทางมูลนิธิฯ ได้เข้าร่วมโครงการระหว่างประเทศเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในสีตกแต่งและสีทาบ้านใน 10 ประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย Toxics Link ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดีย และเครือข่ายระหว่างประเทศต่อต้านสารพิษ POPs (International POPs Elimination Network, IPEN) โครงการนี้เน้นการทดสอบหาความเข้มข้นของตะกั่วในสีที่ใช้กันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เพราะปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า มีวัตถุดิบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าตะกั่วและสามารถนำมาใช้แทนตะกั่วได้ในการผลิตสีได้ แต่ที่ยังไม่ทราบคือมีผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเรา   ฉลาดซื้อจึงขอนำผลการทดสอบดังกล่าวมาลงให้สมาชิกได้รู้กันก่อนใคร ว่าสียี่ห้อไหนปลอดภัย และยี่ห้อไหนไม่ควรซื้อมาใช้ ในการสำรวจครั้งนี้ที่มีประเทศ 10 ประเทศเข้าร่วมโครงการและส่งตัวอย่างสีไปทดสอบหาสารตะกั่วในห้องปฎิบัติการของประเทศอินเดีย ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย อัฟริกาใต้ ไนจีเรีย เซเนกัล เบลารุส เม็กซิโก และบราซิล การเก็บตัวอย่างสี (ทั้งสีน้ำและสีพลาสติก) ทำในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 และมีสีที่ถูกทดสอบทั้งหมด 317 ตัวอย่าง เจ้าหน้าที่ของ Toxics Link ได้เตรียมตัวอย่างก่อนส่งไปทดสอบที่ห้องปฎิบัติการด้วยการทาสีลงบนแผ่นแก้ว ทิ้งไว้ 72 ชั่วโมงให้แห้ง จากนั้นจึงขูดสีที่แห้งแล้วออกมา เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการ Delhi Test House สำหรับประเทศไทยนั้นส่งตัวอย่างสีทั้งหมด 27 ตัวอย่าง เป็นสีน้ำมัน 17 ตัวอย่าง สีพลาสติก 10 ตัวอย่าง ยี่ห้อที่มีการเก็บตัวอย่างได้แก่ ทีโอเอ กัปตัน เบเยอร์ โจตัน นิปปอน รัสท์-โอเลียม และเดลต้า ผลทดสอบ ไม่มีสีพลาสติกรุ่นใดมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 90 ppm (ส่วนในล้านส่วน) พบสีน้ำมันที่มีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm ถึง 8 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 17 ตัวอย่าง สีน้ำมันในกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 200 บาท ทุกตัวอย่างมีความเข้มข้นของตะกั่วเกิน 600 ppm สีน้ำมันยี่ห้อ ทีโอเอ เบเยอร์ และโจตัน มีความเข้มข้นของตะกั่วน้อยกว่า 90 ppm ** หมายเหตุ: ตัวอย่างสีที่ทดสอบนั้นอาจจะยังไม่ครอบคลุมยี่ห้อหลักๆ ที่มีในตลาดบ้านเราทั้งหมด แต่ไม่ต้องห่วงเรากำลังส่งตัวอย่างเพิ่มไปยังห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้ทดสอบด้วยกรรมวิธีเดียวกันกับที่ทางอินเดียได้ทำไว้ ได้ผลเมื่อไร ฉลาดซื้อจะนำมาลงให้สมาชิกได้ทราบทันที จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2550 เรามีโรงงานผลิตสีอยู่ทั้งหมด 296 โรง ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 9,300 ล้านบาท ผู้ผลิตสีส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย มีบริษัทผู้ผลิตสี ขนาดใหญ่เพียง 6 ราย ได้แก่ ทีโอเอ อีซึ่นเพ้นท์ นิปปอนเพ้นท์ ไทยคันไซ และบริษัทข้ามชาติอัคโซโนเบิล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ โจตัน จากประเทศนอร์เวย์ มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจสีในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2551 อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท  ส่วนแบ่งการตลาดของสียี่ห้อต่างๆในประเทศไทย   ยี่ห้อ ผู้ผลิต ร้อยละของส่วนแบ่งตลาด ทีโอเอ ทีโอเอ เพ้นท์ 40 ไอซีไอ อัคโซ โนเบล 15 กัปตัน กัปตัน เพ้นท์ 15 เบเยอร์ เบเยอร์ 8 โจตัน โจตัน ไทยแลนด์ 7 อื่นๆ 15   สถานการณ์สีทาบ้านกับสารตะกั่วในประเทศอื่นเราลองมาดูผลการทดสอบในประเทศอื่นๆ กันบ้าง เผื่อว่าเห็นแล้วจะรู้สึกดีใจเล็กๆ ที่เราเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของสีที่มีสารตะกั่วเกินต่ำที่สุดในกลุ่ม แต่ความจริงแล้วไม่น่าจะต้องมีผู้บริโภคที่ไหนต้องเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์สีที่ไม่ปลอดภัย ....   * มีน้ำมันเคลือบเงา 3 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย** มีน้ำมันเคลือบเงา 4 ตัวอย่างรวมอยู่ด้วย   สีประกอบด้วยอะไรบ้าง สีที่เราใช้อยู่ปัจจุบันจะมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ชนิด คือ 1.ตัวเนื้อสี (Pigment) มีหน้าที่ทำให้เกิดสีที่สวยสดงดงามกับตาของเรา 2.สารยึดเกาะ (Binder) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะกับตัวผนัง พื้นผิว และมีหน้าที่เป็นเนื้อของสี ซึ่งเกรดของสีจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมตัวสารยึดเกาะลงไปในผลิตภัณฑ์ 3.ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ให้ เนื้อสีและกาว เจือจางลง จนสามารถนำมาทาได้ในบริเวณที่กว้างขึ้น ซึ่งถ้าเป็นสีน้ำ ก็ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย ส่วนสีประเภทสีน้ำมัน ก็จะใช้ทินเนอร์เป็นตัวทำละลาย ตัวทำละลายนี้จะระเหยออกไปหลังการทาสี4.ตัวเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ (Additive) เพื่อให้สีมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งปัจจุบัน ตัวนี้คือจุดขายสำคัญที่บริษัทสีแข่งขันกัน เช่น ทนกรดด่าง ทนชื้น ปกปิดรอยร้าว ฯลฯ คำแนะนำสำหรับการเลือกสีทาบ้าน 1.สีทาบ้านมีหลายเกรด ราคาตั้งแต่ถังละ 400 บ. - ถังละ 3,000 บ จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพดีในราคาประหยัด การเลือกใช้สีว่าจะของยี่ห้อใดนั้นให้เปรียบเทียบที่รุ่นสินค้าของแต่ละยี่ห้อ แทนการมั่นใจในตัวยี่ห้อสินค้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่นแล้ว จะพบว่าคุณสมบัติไม่ต่างกันมากนัก 2.เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงาน โดยหาความรู้เพิ่มเติมหรือปรึกษาช่าง เช่น ปูนทาสีน้ำ เหล็ก/ไม้ทาสีน้ำมัน เป็นต้น จากนั้นก็ประเมินตัวเองว่า อยากได้สีแบบไหน สีกันร้อน สีเช็ดได้ สีปกปิดรอยแตกลายงา สียืดหยุ่นได้ สีกันคราบน้ำมัน ฯลฯ และต้องการสีที่มีอายุงานกี่ปี 2 ปี 4 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อประเมินได้แล้วจึงค่อยหาแคตตาล็อกของบริษัทผู้ผลิตสีมาเปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการในราคาที่ถูกใจ3. ก่อนลงมือทาสีจริง ควรทดลองทาสีด้วยการเอาสีขนาดบรรจุเล็กๆ มาทาก่อน ถ้าชอบใจค่อยไปซื้อมาเป็นถังใหญ่เพื่อทาจริง เพราะสีจริงจะเพี้ยนไปจากแคตตาล็อกนิดหน่อย อาจจะเพราะรองพื้นหรือสภาพพื้นผิวที่เราจะทา4.เลือกชนิดที่ปลอดสารตะกั่ว ทุกชีวิตในบ้านจะได้ปลอดภัย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point