ฉบับที่ 253 ลูกตาย พ่อทำสัญญายอมกับคนทำละเมิดแล้ว แม่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

        อย่างที่ทุกท่านทราบว่าความสัมพันธ์ของคนที่ยินยอมตกลงจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากัน อยู่กินเป็นครอบครัวเดียวกัน กฎหมายไทยกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสามีภรรยาที่ต้องรับผิดรับชอบร่วมกัน ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ก็เป็นสินสมรส  แต่ในบางเรื่องกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองแต่ละคนไว้เป็นการเฉพาะ เช่นในกรณีที่มีคนทำละเมิดให้บุตรถึงแก่ความตาย เช่นนี้ตามกฎหมายให้สิทธิผู้เป็นบิดาและมารดาสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้  ซึ่งค่าเสียหายส่วนนี้ก็รวมถึง “ค่าขาดไร้อุปการะ” ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อกัน ได้แก่ บิดามารดาต้องเลี้ยงดูบุตร และบุตรก็มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูบิดามารดา การที่มีคนมาทำละเมิดทำให้บุตรตาย ทำให้บิดามารดาขาดคนอุปการะเลี้ยงดู เช่นนี้ ศาลก็ให้ผู้เป็นบิดามารดาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากคนทำละเมิดต่อบุตรของตนได้  อย่างไรก็ดี ก็เกิดประเด็นน่าสนใจว่า หากบิดาได้ไปฟ้องคดีเอง โดยมารดาไม่รู้ แล้วบิดาก็ไปตกลงทำบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความแล้ว และมีข้อตกลงจะไม่ติดใจฟ้องร้องกันอีก เช่นนี้จะมีผลอย่างไร          เรื่องนี้ได้มีคดีเกิดขึ้นจริง และไปถึงศาลฏีกา จนที่สุดศาลฏีกาก็ได้มีคำพิพากษาวางแนวตัดสินคุ้มครองมารดามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมถึงค่าขาดไร้อุปการะนี้ด้วย เพราะศาลเห็นว่า สิทธิในการเรียก “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิเฉพาะตัวของแต่ละคน มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20920/2556         สิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะของ ส. และของโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัว มิใช่เป็นสิทธิร่วมกันที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือมารดาคนหนึ่งคนใดสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้เพียงคนเดียว เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้ ส. ทำแทนโจทก์ การที่ ส. บิดาผู้ตาย ทำบันทึกข้อตกลงกับ ท. พนักงานขับรถของจำเลยจากการที่ ท. ทำละเมิดต่อผู้ตายและต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าจะไม่นำคดีไปฟ้องร้องไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจาก ท. และจำเลย ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 จึงไม่ผูกพันโจทก์ สิทธิของโจทก์จึงไม่ระงับสิ้นไป โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยได้         นอกจากนี้  “ค่าขาดไร้อุปการะ” เป็นสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้เลี้ยงดูบิดามารดาจริงหรือไม่  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5553/2562         ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บัญญัติไว้ว่า บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ทั้งสองตาย ถือว่าโจทก์ทั้งสองขาดไร้อุปการะตามกฎหมายจากบุตร โจทก์ทั้งสองจึงชอบที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะทั้งในปัจจุบันและความหวังในอนาคตโดยผลแห่งกฎหมาย โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าขณะเกิดเหตุหรือในอนาคตผู้ตายจะได้อุปการะโจทก์ทั้งสองจริงหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด

อ่านเพิ่มเติม >