ฉบับที่ 262 สาปซ่อนรัก : คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย

            กล่าวกันว่า ผู้หญิงเป็นประหนึ่ง “เหรียญที่มีสองด้าน” ที่ไม่เพียง “การสร้างสรรค์” โลกด้วยความรัก แต่ยังมีพลังแห่ง “การทำลายล้าง” ให้ทุกสิ่งอย่างราพณาสูรได้         ตามตำนานความเชื่อของฮินดูนั้น พระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะคือตัวแทนของเทพสตรีผู้ปกปักรักษา เป็นมหาเทวีแห่งความรักและคุณธรรมความดีงาม แต่ในอีกปางหนึ่งของพระอุมาเทวีก็คือ พระแม่กาลี ผู้มีพลังทำลายล้างความชั่วร้ายทั้งมวล ดังภาพเคารพที่เรามักเห็นพระแม่กาลีมีร่างอันดูดุดันน่าเกลียดน่ากลัว ถืออาวุธตัดศีรษะประหัตประหารอสูรร้าย เพื่อปกป้องทวยเทพและสามโลกให้รอดพ้นพิบัติภัย         เพื่อขานรับกับวิธีคิดว่าด้วย “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรีดังกล่าว ละครโทรทัศน์แนวดรามาที่ผูกปมฆาตกรรมความตายอย่าง “สาปซ่อนรัก” ก็ดูจะเป็นตัวอย่างของการฉายภาพพลังสองด้านของผู้หญิง ภายใต้สายสัมพันธ์ของความเป็นแม่         ละครจำลองภาพของตระกูล “ยินดีพงษ์ปรีชา” กลุ่มนายทุนไทยเชื้อสายจีน เจ้าของธุรกิจ “ตลาดยินดี” ที่มั่งคั่งร่ำรวย และแม้จะเป็นชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ แต่คำสาปซึ่งสลักฝังเอาไว้ตั้งแต่ต้นตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาที่เล่าขานต่อกันมาแบบไม่รู้ที่มาที่ไปก็คือ คำสาปแช่งให้ตระกูลใหญ่นี้จะเหลือไว้เพียงผู้หญิงและแม่ม่าย ซึ่งจะขึ้นครองอำนาจและขัดแย้งช่วงชิงผลประโยชน์ที่สั่งสมสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น        ด้วยเหตุนี้ ฉากเปิดเรื่องของละครจึงสำทับคำสาปแช่งดังกล่าว เมื่อ “เจ้าสัวพธู” บุตรชายคนสุดท้ายของตระกูลได้ตกตึกลงมาเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเหลือเพียงลูกสะใภ้และบรรดาลูกสาว อันนำไปสู่ศึกสงครามของเหล่าสตรีผู้ห้ำหั่นแย่งชิงสมบัติอันมหาศาลกันชนิดไม่มีใครยอมใคร         ในสมรภูมิดังกล่าว ตัวละครหญิงที่เป็นคู่ชกแบบซูเปอร์เฮฟวีเวทสองฝั่งก็คือ “หงษ์” สะใภ้ผู้เป็นภรรยาของเจ้าสัวพธูที่ปรารถนาจะอยู่ “เหนือมังกร” และหวังรวบอำนาจของตระกูลมาอยู่ใต้อุ้งหัตถ์ของเธอ กับ “ภัทรา” บุตรีคนโตที่ไม่เพียงจะลงเล่นสนามการเมืองใหญ่ระดับประเทศ แต่ยังเข้ามาช่วงชิงอำนาจในระบบกงสีของตลาดยินดีที่ตระกูลของเธอบุกเบิกมาตั้งแต่แรกเริ่ม         ในฝั่งของหงษ์นั้น ไม่เพียงแต่เธอจะอ้างสิทธิ์ที่สถาปนาตนขึ้นเป็นประมุขของบ้าน ในฐานะสะใภ้ผู้ก่อร่างสร้างอาณาจักรตลาดยินดีมาจนเติบใหญ่รุ่งเรืองเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง แรงผลักที่ทำให้หงษ์ต้องลงมาเล่นเกมช่วงชิงอำนาจก็คือ “หนูหนิง” ลูกสาวบุญธรรมของเจ้าสัวพธูกับหงษ์ซึ่งเธอรักเยี่ยงลูก ที่ภายหลังละครเองก็เฉลยว่าหนูหนิงเป็นหลานแท้ๆ ที่หงษ์วางแผน “ย้อมแมว” มาเป็นหมากตัวหนึ่งในเกมนี้         ส่วนในฟากของภัทรา ผู้ที่สร้างบารมีจากการเล่นการเมืองท้องถิ่น นอกจากจะถือคติว่าสมบัติของตระกูลต้องเป็นของคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น ภัทรายังมีดีลสำคัญก็คือ บุตรชายเพลย์บอยเซียนพนันอย่าง “เทียน” ที่เธอคาดหวังจะผลักดันให้เข้ามาท้าประลองช่วงชิงมรดกตระกูลจากหงษ์กับหนูหนิง        นอกจากคู่ชกหลักอย่างหงษ์กับภัทราแล้ว สมรภูมิของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาก็ยังมีแนวรบย่อยๆ ของเหล่าตัวละครหญิงอีกหลายนาง ตั้งแต่ “เจิน” ซ้อใหญ่ที่เอาแต่สปอยล์ตามใจ “พริ้ง” บุตรสาวหนึ่งเดียวของเธอ ตามด้วย “พิศ” บุตรีคนรองจากภัทราที่แก้เคล็ดคำสาปตระกูลด้วยการเปลี่ยนเพศสภาพของบุตรชาย “แคท” ให้มีจิตใจเป็นหญิง ไล่เรียงไปจนถึง “ภา” กับ “เพลิน” บุตรสาวสุดท้องสองนางที่วันๆ ไม่ทำอะไรเป็นโล้เป็นพาย แต่ก็ขันอาสามาช่วงชิงความเป็นใหญ่ในตระกูล         และแล้วจุดปะทุแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้นในวันเปิดพินัยกรรม เพราะเจ้าสัวพธูได้เขียนพินัยกรรมไว้สองฉบับ โดยฉบับใหม่ได้เผยความจริงว่า “ซัน” นักกฎหมายพระเอกหนุ่มที่ทุกคนต่างคิดว่าเป็นเพียงเด็กในบ้านลูกชายของ “ศักดิ์” คนขับรถ แต่แท้จริงกลับเป็นบุตรชายที่เกิดกับภรรยาอีกคนของเจ้าสัวพธู และมีสิทธิ์ในกองมรดกของตระกูลด้วยเช่นกัน         เมื่อตัวหารเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งในกองมรดกก็ลดน้อยลง แต่เพราะอำนาจไม่เคยเข้าใครออกใคร และสิงสู่ให้ทุกคนเขาไปในวังวนของผลประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น ฆาตกรรมและความตายของตัวละครคนแล้วคนเล่าที่โรยร่วงเป็นใบไม้ปลิดปลิว ก็คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นตลอดเวลาว่า “ใครกันจะเป็นรายต่อไป”         ตามเส้นเรื่องหลักของละครเหมือนจะชวนตั้งคำถามว่า ระหว่าง “คำสาป” กับ “กิเลสแห่งรักโลภโกรธหลง” อันใดกันแน่ที่ทำให้สมาชิกของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชาเข่นฆ่ากันตายเป็นใบไม้ร่วงเช่นนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชนชั้นนำของตระกูล เราก็ยังได้เห็นตัวละครเล็กๆ อย่างบรรดาพ่อค้าแม่ขายในตลาดยินดี ที่เลือกสมาทานเป็นลิ่วล้อลูกไล่รับใช้กลุ่มก๊วนย่อยๆ ของชนชั้นนำกันอย่างออกหน้าออกตา         ภาพของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องมีสังกัดไม่ต่างจาก “กบเลือกนาย” เหมือนจะสะท้อนข้อเท็จจริงว่า เพราะสงครามของชนชั้นนำมีผลกระทบต่อชนชั้นที่อยู่ฐานรากเสมอ ดังนั้น การเข้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของใครสักคนในระดับบน ก็น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดให้กับคนกลุ่มนี้         ไขว้ขนานไปกับสงครามห้ำหั่นที่มีมรดกมหาศาลเป็นหมุดหมายนั้น ละครได้ย้อนกลับไปสาธิตให้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของอิสตรี ทั้งนี้ เหตุผลของหงษ์ที่แม้จะเป็นสะใภ้แต่งเข้าบ้าน แต่ก็พร้อมจะ “ระเบิดพลีชีพ” สู้ตายในศึกครั้งนี้ ก็เพราะเธอผูกใจเจ็บด้วยคิดว่าภัทราคือคนที่ฆ่าลูกชายเธอให้จมน้ำตาย เธอจึงมอบความรักและสร้างหนูหนิงขึ้นมาเป็น “สงครามตัวแทน” ให้กับบุตรชายที่เสียชีวิตไป         และเพราะความเป็นแม่มีทั้งด้าน “สร้างสรรค์” และ “ทำลายล้าง” นี่เอง ฉากที่หงษ์ดูแลห่วงใยหนูหนิงก็สะท้อนพลังความรักของแม่ที่จะมอบให้ลูกจนหมดหัวใจ และในทางกลับกัน ก็พร้อมจะล้างบางทุกคนที่ขัดขวางความสุขและการขึ้นเป็นประมุขของบ้านที่หนูหนิงพึงได้รับ แม้ว่าจะต้องสูญเสียกี่ชีวิตต่อชีวิตก็ตาม         ไม่ต่างจากภัทราเองที่เมื่อต้องสูญเสียเทียนผู้เป็นบุตรชาย เพราะเล่ห์ลวงของหงษ์ที่ตอกย้ำคำสาปดั้งเดิมของตระกูลยินดีพงษ์ปรีชา ภัทราจึงเปิดศึก “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” กับหงษ์และหนูหนิง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีแต่อย่างใด ก่อนที่ฉากจบจะมีสมาชิกตระกูลเหลือรอดจากสงครามผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน         ใน “เหรียญสองด้าน” ของความเป็นสตรีเพศนั้น ถ้าเราจะย้อนมองกลับไปสู่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องพระอุมาเทวีที่มีสองด้านของการสร้างสรรค์และทำลายล้างแล้ว เหตุปัจจัยที่พระนางเป็นเยี่ยงนั้นก็เพื่อปกป้องทวยเทพและสรรพชีวิตให้พ้นพิบัติภัย แต่มาในโลกของศึกสายเลือดที่มีเดิมพันเป็นมรดกอันมหาศาลของตลาดยินดีด้วยแล้ว ความรักความแค้นและการเข่นฆ่าตามคำสาปของตระกูลดูจะสืบเนื่องมาแต่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มก้อนมากกว่ากระมัง         ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังบดบังตาอยู่เช่นนี้ ทั้งหงษ์ ภัทรา และตัวละครหญิงในอาณาจักรยินดีพงษ์ปรีชา ก็คงต้องครวญเพลงกันต่อไปว่า “คงจะเป็นเหมือนโดนคำสาปที่สั่งให้ยังรักโลภโกรธหลง…จนตาย”

อ่านเพิ่มเติม >