ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2562

องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย        19 กันยายน องค์กรผู้บริโภค และ ETDA จับมือผู้ประกอบการ ทำ MOU ซื้อขายออนไลน์ปลอดภัย หวังคุ้มครอง เยียวยาผู้บริโภคจากการถูกหลอก         คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู จำกัด และบริษัท บิวตี้ นิสต้า จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” ณ ห้อง 201 ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว         โดยนายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากองค์กรผู้ร่วมลงนามและพยานทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ จึงร่วมกับ ETDA และผู้ประกอบการออนไลน์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์” นี้ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกัน ทำให้การซื้อขายออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น         ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ความร่วมมือในการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายออนไลน์ในครั้งนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการตลาดออนไลน์หลายครั้ง เพื่อให้เกิดระบบและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งบันทึกความร่วมมือนี้จะคลอบคลุมสาระสำคัญทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการตรวจสอบร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 2. ด้านการแสดงข้อมูลของร้านค้าที่ร่วมจำหน่ายสินค้าหรือบริการ 3. ด้านการมีระบบให้ข้อมูลจำเป็นแก่ผู้บริโภค 4. ด้านระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงิน โดยมีระบบ “คนกลาง” 5. ด้านนโยบายความเป็นส่วนตัว 6. ด้านการมีช่องทางร้องเรียน และระบบติดตามเรื่องร้องเรียน และ 7. ด้านการมีนโยบายความพึงพอใจ การคืนสินค้าและการเยียวยาแก่ผู้บริโภค          ขณะที่นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ผลสำรวจของ ETDA พบว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ เพิ่มสูงขึ้น จาก 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2560 เป็น 3.2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ส่วนบีทูซี (B2C) ของประเทศไทยก็สูงเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน และเมื่อเทียบมูลค่าระหว่างปี 2559 กับปี 2560 พบว่า มีมูลค่าเพิ่มถึงกว่า 1 แสน 6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ระบบอีเพย์เมนท์ (e - Payment) ที่สะดวกมากขึ้น การขนส่งที่รวดเร็ว ทำให้คนหันมานิยมซื้อของออนไลน์สูงขึ้น ท่ามกลางการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลับพบปัญหา การโกง ฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบผู้โภคอย่างต่อเนื่อง        จากสถิติศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 OCC) พบว่า ในปี 2560 มีการร้องเรียนจำนวน 9,987 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2561 ที่พบเรื่องร้องเรียนสูงถึง 17,558 ครั้ง เฉลี่ย 1,463 ครั้งต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงตามสเปกที่ตกลง สินค้าผิดกฎหมาย ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต  เผย “บุหรี่ไฟฟ้า” ลดสูบไม่เกิน 10%        การประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เผยผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่นั้น จากข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียงร้อยละ 5-9และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27% (ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้)        ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ  534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์         ที่ประชุมจึงได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า  ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ1 ต.ค. นี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้         ต้นเดือนตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มดำเนินนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้ เพื่อลดเวลารอคิวรับยาในโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกสบายแก่ประชาชนมากขึ้น หากเข้าเกณฑ์ 4 เงื่อนไข ดังนี้ (1) ใช้สิทธิ์บัตรทอง (2) ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช (3) แพทย์วิจัยฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และ (4) ผู้ป่วยยินดีไปรับยาที่ร้านยา เริ่มนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาที่ได้มาตรฐานกว่า 500 ร้านทั่วประเทศ        ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่        https://www.nhso.go.th/FrontEnd/page-contentdetail.aspx?CatID=MTI4OA%3D%3D ป.ป.ส. เตือน ระวังตกเป็นเหยื่อขนส่งยาทางพัสดุไปรษณีย์         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เตือนประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อนักค้ายาเสพติด ฉวยโอกาสขนส่งยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายผ่านพัสดุไปรษณีย์ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย         “ปัจจุบัน นักค้ายาเสพติดเลือกใช้บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์ในการขนส่งยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้รับพัสดุไปรษณีย์ ล้วนมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ส่งมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้รับพัสดุภัณฑ์มีความผิดฐานครอบครอง หรือครอบครองเพื่อจำหน่าย ขึ้นอยู่กับปริมาณของกลางยาเสพติด...ดังนั้นขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและคนในครอบครัว กรณีผู้รับสินค้า เมื่อทราบจากพนักงานส่งพัสดุภัณฑ์ว่าจะมีการส่งพัสดุนั้น ขอให้สอบถามและตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการสั่งสินค้า หรือจะได้รับพัสดุภัณฑ์โดยที่ไม่สั่งสินค้าหรือไม่ หากพบการแอบอ้างชื่อในการส่งสินค้า หรือเห็นความไม่ชอบมาพากล ขอให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน หรืออาจเก็บหลักฐานไว้แสดงถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และยืนยันตนว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง”         แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง สถิติการฆ่าตัวตายปี 2562 ของไทย เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน         คนไทยฆ่าตัวตายเป็นอันดับ 32 ของโลก  เฉลี่ย 14.4 คนต่อคนไทย 1 แสนคน ข้อมูลจากผลสำรวจซึ่งแถลงในวันที่ 10 กันยายน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก(World Suicide Prevention Day)         องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้รายงานสถานการณ์การฆ่าตัวตายโลก โดยระบุว่ามีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่น(อายุ 15-29 ปี) มากที่สุด รองลงมาจากอุบัติเหตุบนท้องถนน แม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกจะเพิ่มมาตรการ และนโยบายป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังต้องการการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก ประจำปี 2562 โดย World Population Review ที่สำรวจ และพิจารณาข้อมูลการฆ่าตัวตายขององค์การอนามัยโลกปี 2561 ทั้งหมด 183 ประเทศ พบว่า ประเทศไทย มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ติดอันดับ 32 ของโลก เฉลี่ย 14.4 คนต่อประชากร 1 แสนคน      โดยห้าอันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 ลิทัวเนีย อันดับ 2 รัสเซีย อันดับ 3 กายอานา อันดับ 4 เกาหลีใต้ อันดับ 5 เบลารุส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 ขายของหลอกลวง ล้วงคองูเห่า

        ยุคนี้ผู้คนตื่นตัวกับผลิตภัณฑ์สินค้าที่ไม่ปลอดภัยมากขึ้น ระบบการเฝ้าระวังก็เริ่มมีมากขึ้นตามไปด้วย แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจเกินไป เพราะผู้ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหลายราย ก็เริ่มมีพัฒนาการวิธีการขายให้รอดพ้นจากการตรวจจับด้วยเช่นกัน บางรายเลือกใช้แหล่งที่เราอาจมองข้ามหรือคาดไม่ถึง บางรายก็เลือกใช้วิธีที่สร้างความน่าเชื่อถือแบบแปลกๆ                สีเปลี่ยนไป นั่นไงคือการล้างพิษ         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายหนึ่งที่ทำงานใกล้ชิดกับวัดเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเครื่องดื่มที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งมาแนะนำให้หลวงพ่อบริโภค บอกว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถล้างพิษที่สะสมในร่างกายของหลวงพ่อได้ ไม่เพียงแนะนำด้วยวาจา ผู้ขายยังมีวิธีนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนอย่างคาดไม่ถึง โดยนำน้ำเปล่ามาแก้วหนึ่ง แล้วเทน้ำยาใส่แผลเบต้าดีนลงไปในแก้ว คนจนน้ำในแก้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หลังจากนั้นผู้ขายก็จะเทเครื่องดื่มชนิดนี้ลงไปในแก้ว คนน้ำในแก้วให้ทั่ว สักครู่หนึ่งน้ำในแก้วจะกลับมาใส ผู้ขายก็จะบอกว่า เห็นมั้ย เครื่องดื่มชนิดนี้จะล้างพิษในร่างกาย เหมือนสลายน้ำยาที่อยู่ในน้ำจนน้ำกลับมาใสได้ (ใช้เทคนิคสร้างความน่าเชื่อถือจากสีที่เปลี่ยนไป)         นัดเจอกัน แต่ไม่ให้เจอหน้าตา        เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกรายเล่าให้ฟังว่า ตนเห็นคุณแม่นำยาลูกกลอนมารับประทาน เมื่อนำยามาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงพบว่ามีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ตนกับไปคาดคั้นสอบถามคุณแม่ได้ความว่า คุณแม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับยานี้มาจากไลน์กลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุ หลังจากนั้นจึงโทรศัพท์ไปสั่งยาจากผู้ขาย แต่ผู้ขายบอกว่าจะไม่ส่งยาทางไปรษณีย์ ผู้ซื้อจะต้องไปหาตามจุดที่นัดไว้ โทรแจ้งแล้ว ผู้ขายจะให้คนอื่นนำยามาส่งมอบ โดยผู้ซื้อจะไม่เห็นหน้าผู้ขาย จะเห็นแต่หน้าคนที่เอายามาส่งเท่านั้น (พยายามไม่ให้มีหลักฐานมาถึงตัวเอง)         ขายกันตรงที่คนคาดไม่ถึง        ผมได้รับข้อมูลจากผู้บริโภคเล่าว่า ตนเห็นยาลูกกลอนของญาติที่นำมารับประทาน คล้ายกับยาที่เจ้าหน้าที่เคยแจ้งว่าตรวจพบสารสเตียรอยด์ผสมอยู่ จึงสอบถามว่าซื้อมาจากไหน ญาติจึงเล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่ไปตรวจที่โรงพยาบาล ระหว่างที่นั่งรอรับยาจะมีคนมานั่งข้างๆ และแนะนำยาชนิดนี้ให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่นั่งรอรับยา เห็นผู้ป่วยหลายคนซื้อ ตนเลยซื้อมาบ้าง         ฝากหลวงพ่อแนะนำ        รายนี้ผู้ขายจะเป็นลูกศิษย์ที่มาวัดบ่อยๆ เห็นหลวงพ่อปวดเมื่อย ก็จะนำยามาถวาย โดยบอกว่าเป็นยาที่ตนใช้อยู่แต่แบ่งมาให้หลวงพ่อลองใช้ดูบ้าง พอหลวงพ่ออาการดีขึ้น ก็จะรับอาสาไปซื้อมาให้คราวละมากๆ ทำไปทำมาหลวงพ่อก็เลยกลายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้แนะนำสินค้าแก่ญาติโยมอื่นๆ ไปโดยปริยาย กว่าจะตรวจพบว่ามีสารสเตียรอยด์ญาติยามก็รับประทานไปหลายรายแล้ว         เฝ้าระวังและเตือนภัยเร่งด่วน        รูปแบบการขายที่หลากหลายแบบนี้ ลำพังเจ้าหน้าที่คงไม่สามารถไปเฝ้าระวังได้ตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้บริโภคคอยสอดส่องดูแล หากพบอะไรผิดปกติขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยด่วน ก็จะสามารถช่วยกันสกัดปัญหาได้ทันทีและยังช่วยไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นต้องตกเป็นเหยื่อและเสี่ยงกับอันตรายอีกด้วย ช่วยๆ กันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2562

ไทยออกกฎหมายบังคับใช้ 'ซองบุหรี่แบบเรียบ' ชาติแรกในเอเชียตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2561 หรือ ประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ก.ย.62ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิควบคุมยาสูบ และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ 11 ของโลกที่ออกมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของชาวออสซี่ลดลง 0.2% ต่อปี ซึ่งหากมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบส่งผลในประเทศไทยเช่นเดียวกับออสเตรเลีย คาดว่าจะสามารถลดคนสูบบุหรี่ในประเทศได้ถึง 111,794 คนต่อปี จากคนสูบบุหรี่ซอง 5.9 ล้านคน 222 องค์กรผู้บริโภค ค้าน กม.จัดตั้งสภาผู้บริโภค ฉบับกฤษฎีกา 9 ม.ค.62 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 222 องค์กร ยื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ยุติการพิจารณากฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดองค์กรที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ และอาจถูกแทรกแซงได้ง่าย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการจัดทำ โดยเสนอให้ใช้ ร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นฉบับที่ร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในการพิจารณาร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของคณะกรรมการพิจารณากฎหมายศาลสตูลสั่ง “เพิร์ลลี่” จ่ายค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาทจากกรณีผู้เสียหายเนื่องจากการใช้โลชั่นทาผิว ยี่ห้อ เพิร์ลลี่ แล้วเกิดอาการผิวหนังแตกลาย ทำให้นำไปสู่การตรวจสอบและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทผู้ผลิตนั้น เมื่อ 27 ธ.ค.61 ศาลจังหวัดสตูลได้พิพากษาให้จำเลยคือ ผู้ผลิตโลชั่นทาผิว ‘เพิร์ลลี่’ จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์และสมาชิกกลุ่ม รวมเป็นค่าเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท และอาจมากขึ้นหากมีผู้เสียหายเข้าชื่อเพิ่มเติม         นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้บริษัทระงับการจำหน่ายและออกประกาศรับคืนสินค้าที่มีปัญหาจากผู้บริโภค รวมทั้งเรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายและทำลายทิ้ง โดยจำเลยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดอย. เสนอ รพ.จับมือ ร้านยา ช่วยจ่ายยาผู้ป่วยนอก ลดความแออัดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวอภิปรายในงานเสวนาเรื่อง "แนวทางการส่งยาทางไปรษณีย์ในโรงพยาบาลรัฐที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร" จัดโดยแพทยสภา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.61 ว่า อย.ตีความถึงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการรอรับยา ไม่จัดเป็นการ "ขายยา" ตาม พ.ร.บ.ยาฯ ซึ่งการดำเนินการจัดส่งทางไปรษณีย์ก็เป็นไปภายใต้ความรับผิดชอบของสถานพยาบาลนั้นๆ โดยก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยานั้นจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ การประเมินจากทีมสหวิชาชีพ และเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยาอย่างละเอียด นอกจากนี้ อาจนำ "ร้านยา" เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการ โดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอรับยาจากห้องยา และยังคงได้รับการดูแลจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมเช่นเดิม โดยการวางระบบจะพิจารณาถึงประเด็นของความถูกต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ความถูกต้องของยา ประสิทธิภาพยาในส่วนกระบวนการจัดเก็บและขนส่ง รวมถึงความเหมาะสมของปริมาณยาที่อยู่ในมือผู้ป่วยผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเกิน ขอเงินคืนได้ภายใน 1 ปีเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า สำนักงานประกันสังคมได้ทำหนังสือถึงผู้ประกันตนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินสมทบที่ชำระไว้เกิน ในปี 2561 จำนวน 60,409 ราย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนที่ต้องการรับเงินส่วนเกินคืนทราบ โดยขอให้ผู้ประกันตนกรอกข้อความและลงนามในคำขอรับเงินคืน พร้อมแนบหลักฐานรายละเอียดเงินสมทบส่วนที่เกิน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งไปรษณีย์ถึงสำนักงานประกันสังคมทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่ได้ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ เงินจำนวนดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนตรวจสอบและรักษาสิทธิของตนเอง โดยสอบถามที่สายด่วน 1506 ได้ตลอด 24 ชม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 การแจกยาเบญจอำมฤตย์ เป็นความหวังดีต่อผู้ป่วยมะเร็งจริงหรือ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวดังเกิดขึ้นในแวดวงการสาธารณสุขไทย เมื่ออธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัชชัย กมลธรรม ออกข่าวเรื่องแจกสูตรยาสมุนไพรต้านมะเร็งตับ เบญจอำมฤตย์ที่โรงพยาบาลการแพทย์ผสมผสานที่ยศเสเพื่อให้บริการรักษาและติดตามผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ข่าวนี้สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับอย่างมาก ขนาดแห่กันไปขอรับการรักษาจนแน่นโรงพยาบาล และทำให้วัตถุดิบในการผลิตยา ราคาพุ่งกระฉูด และก่อให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า วิธีการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยนี้ อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม เพราะสูตรยาเบญจอำมฤตย์ที่ทางกรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน เป็นสูตรยาในโครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก(The Ethic Committee for Research in Human Subjects In the Fields of Thai Traditional and Alternative Medicine)   3 ก.พ. 57 นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าว “ศาสตร์การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง” ว่าจากฐานข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพบว่าตำรับยาแผนไทยที่มีสรรพคุณในการ รักษาโรคเรื้อรังมี จำนวน 12,428 ตำรับ ในจำนวนนี้เป็นตำรับยารักษาโรคมะเร็ง จำนวน 3,115 ตำรับ อย่างไรก็ตาม ตำรับยาที่น่าสนใจและเป็นอีกทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งร่วมกับการรักษา แพทย์แผนปัจจุบัน คือ สูตรยาสมุนไพรโบราณที่เรียกว่า เบญจอำมฤตย์   ซึ่งประกอบด้วยสูตรยาในคัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์  9 ตัว ได้แก่ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ โดย สูตรยาดังกล่าวได้ทำการศึกษาร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ปี 2554 โดยได้ทดสอบในระดับหลอดทดลอง และหนูทดลอง โดยให้ยาสูตรดังกล่าวพบว่า หนูมีภูมิต้านทานขึ้นมีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็ง เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยาดังกล่าว “ยาสูตรนี้จะได้ผลดีต่อการต้านทานเซลล์มะเร็งตับดีกว่ามะเร็งชนิดอื่น โดยได้ผ่านการรักษาผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งในรพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างทดลองในระดับคลินิกในผู้ป่วยอาสาสมัครในโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและ การแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) ได้จัดทำเป็นยาชนิดแคปซูล เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการรักษา โดยไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยที่มารักษา ด้วยสิทธิบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น แต่สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็สามารถมาติดต่อเพื่อขอรับยาตัวนี้ ได้ฟรี แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยที่รพ.ก่อน และต้องรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันร่วมด้วย” นพ.ธวัชชัย กล่าว ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20140203/178149.html     เบญจอำมฤตย์ ชื่อนี้มาจากไหน ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งรวบรวมคัมภีร์แพทย์แผนโบราณไว้จำนวนมากนั้น ยาที่ชื่อว่า เบญจอำมฤตย์(หรือออกเสียงเหมือนกัน) ปรากฏอยู่ในคัมภีร์สามเล่ม คือ คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์โรคนิทาน และคัมภีร์ธาตุบรรจบ มีรายละเอียดดังนี้ คัมภีร์ปฐมจินดา ยาชื่อเบ็ญจอำฤต ขนานนี้ท่านให้เอา มหาหิงคุ์ ๑ ยาดำ ๑ สิ่งละส่วน รงทอง ๒ ส่วน มะกรูดใหญ่ ๓ ผล แล้วจึงเอามหาหิงคุ์ รงทอง ยาดำ ทั้ง ๓ สิ่งนี้ยัดเข้าในผลมะกรูดสิ่งละผล แล้วจึงเอามูลโคสดพอกสุมไฟแกลบให้สุกระอุดี แล้วจึงเอารากตองแตก ๔ ส่วน ดีเกลือ ๑๖ ส่วน ทำเปนจุณแล้วประสมกันเข้าจึงบดทั้งเนื้อมะกรูดปั้นแท่งไว้เอาหนัก ๑ สลึง ละลายน้ำส้มมะขามเปียก กินลงสดวกดี นัก ยาขนานนี้ถ้ากุมารได้ ๓, ๔ ขวบกินก็ได้ ดีเหมือนกัน คัมภีร์โรคนิทาน กล่าวถึงชื่อยา เบญจอำมฤตย์ (ชื่อนี้ปรากฏในสมุดไทยซึ่งเป็นฉบับหลวงชำระในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เมื่อนำมาตีพิมพ์เป็นตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ใช้ชื่อว่า บุญจอำมฤตย์) โดยไม่ได้ระบุส่วนประกอบของตำรับ   คัมภีร์ธาตุบรรจบ ยาชื่อเบ็ญจะอำมฤตย์ เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์, ยาดำ, รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง ฟอกอุจจาระอันลามกให้สิ้นโทษ ชำระลำไส้ซึ่งเปนเมือกมันแลปะระเมหะทั้งปวง   ไม่ควรใช้ชื่อ เบญจอำมฤตย์ เพราะไม่เป็นไปตามตำรายาการแพทย์แผนไทย ยาเบญจอำมฤตย์ที่นำมาแจกจ่ายในขณะนี้ เป็นสูตรยาจาก โครงการติดตามผลการใช้ยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินท่อน้ำดี และอ้างอิงว่า นำมาจากคัมภีร์ธาตุบรรจบ ซึ่งประกอบด้วยตัวยาจากวัตถุดิบ 9 ชนิด แต่สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ยาเบญจอำมฤตย์ที่คณะผู้วิจัย(โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก) ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการจริยธรรม มีความต่างจากต้นตำรับเดิม   ตำรับยาเบญจอำมฤตย์   (ตาม protocol ที่เสนอคณะกรรมการจริยธรรม) ลำดับที่ รายการ ปริมาณ มาตราไทย มาตราเมตริก (กรัม) 1 มหาหิงคุ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 2 ยาดำบริสุทธิ์ 1 สลึง 3.75 กรัม 3 รงทอง 2 สลึง 7.5 กรัม 4 มะกรูด 3 ผล 50 กรัม 5 ขิงแห้ง 1 สลึง 3.75 กรัม 6 ดีปลี 1 สลึง 3.75 กรัม 7 พริกไทย 1 สลึง 3.75 กรัม 8 รากทนดี 1 บาท 15 กรัม 9 ดีเกลือ 4 บาท 60 กรัม   ขั้นตอนการผลิต 1.ชั่งยาตามสูตร 2. เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ทำการสะตุหรือประสะตามวิธีของแต่ละตัว 3. นำมหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง แยกบดให้ละเอียดทีละชนิดแยกจากกันแล้วนำไปละลายน้ำ พักเอาไว้ 3. นำสมุนไพรที่เหลือมาอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วบดสมุนไพรทั้งหมดรวมกันพอหยาบ 4. นำสมุนไพรที่ได้คลุกเคล้ารวมกับน้ำที่ละลาย มหาหิงคุ์ รงทองและยาดำ 5. นำสมุนไพรไปอบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อีกครั้งจนสมุนไพรแห้ง จากนั้นนำไปอบจนสามารถบดเป็นลงละเอียดได้ 6. นำผงละเอียดที่ได้บรรจุลงแคปซูล   รูปแบบ/ความแรง แคปซูล 300 มิลลิกรัม วิธีใช้ รับประทาน ครั้งละ 3 แคปซูล ก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น วิธีปรุงยาตำรับนี้ ในคัมภีร์ธาตุบรรจบระบุว่า “เอามหาหิงคุ์ ๑ ยาดำบริสุทธิ์ ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รงทอง ๒ สลึง มะกรูด ๓ ผล (เอามหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง ใส่ในมะกรูดสิ่งละผล แล้วเอามูลโคพอกสุมไฟแกลบให้สุก) ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ พริกไทย ๑ เอาสิ่งละ ๑ สลึง รากทนดี ๑ บาท ดีเกลือ ๔ บาท ยา ๕ สิ่งนี้ประสมกับมะกรูดที่สุมไว้ทำเปนจุณละลายน้ำ ส้มมะขามเปียกให้รับประทานหนัก ๑ สลึง”   จะเห็นว่าคณะผู้วิจัยฯ มีวิธีการเตรียมยา ที่ผิดไปจากในคัมภีร์ธาตุบรรจบ ดังนั้นผลในการรักษาอาจแตกต่างจากยาที่ปรุงตามตำรับยาดั้งเดิม จึงต้องถือว่า สูตรยาเบญจอำมฤตย์ตาม  protocol เป็นยาใหม่ ซึ่งหากจะนำมาทดลองวิจัยทางคลินิก จำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน การดำเนินการแจกยาให้แก่ผู้ป่วยที่กระทำอยู่ในขณะนี้จึงสุ่มเสี่ยงว่า เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค(ผู้ป่วย) ซึ่งอาจไม่รู้ตัวว่า ตนเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองยาสูตรนี้อยู่ และเมื่อฉลาดซื้อได้สอบถามกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งทำงานอยู่ในสังกัดกรมพัฒนาการแพทย์ฯ ท่านหนึ่ง ได้ทราบข้อมูลเพิ่มว่า “ทางกรมฯ นำสูตรยานี้มาเปลี่ยนชื่อโครงการทีหลัง เน้นเฉพาะเจาะจงที่มะเร็งตับ ส่วนเหตุผลที่ทางกรมฯ อ้างว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต EC (คณะกรรมการจริยธรรม) เพราะเป็น Actual Use Research (AUR) แบบที่ทางประเทศญี่ปุ่นใช้ แต่ประเด็นคือ AUR ในญี่ปุ่น เขาใช้วิธีนี้ในการศึกษายาแผนโบราณ ที่มีการใช้กันในท้องตลาดอยู่แล้ว ไม่ใช่กับยาใหม่ ซึ่งยังไม่มีการใช้มาก่อน”   ทัศนะจากประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ฉลาดซื้อ : ตามที่ มีการแจก ยาเบญจอำมฤตย์ให้กับประชาชนทั่วไป โดยกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น เมื่อมีข้อสังเกตพบว่า ยาสูตรที่แจกนี้ มิใช่สูตรดั้งเดิมตามตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ กล่าวคือ เป็นสูตรดัดแปลงไปจากตำรับเดิม หากจะทำตามขั้นตอนการปฏิบัติในทางกฎหมายให้ถูกต้อง(เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค)  ต้องมีขั้นตอนอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร  : ยานี้จะใช้ชื่อว่า ยาเบญจอำมฤตย์ ไม่ได้ เพราะสูตรได้มีการดัดแปลง จึงถือว่าเป็นยาใหม่ ซึ่งต้องมีการวิจัยเริ่มจากห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ตามลำดับ   ฉลาดซื้อ : สูตรยาเบญจอำมฤตย์ สูตรนี้ ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม การที่กรมฯ นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน ถือว่าผิดขั้นตอนหรือไม่ และอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร   รศ.ดร. จิราพร :  ยาสูตรดัดแปลงจากยา เบญจอำมฤตย์ เมื่อจะทำการวิจัยทางคลินิก ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อน การแจกจ่ายและโฆษณารักษาโรคเป็นการทำผิดกฎหมาย ที่สำคัญอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ใช้ได้ เน้นว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม   การวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทย การวิจัยทางคลินิก หมายถึง การทำวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาโรคในคน การทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย ระบาดวิทยา ธรรมชาติของโรค ซึ่งประกอบด้วยอาการและอาการแสดงทางคลินิก การพัฒนาของโรค เครื่องบ่งชี้ในการพยากรณ์โรค การใช้ยา การผ่าตัด และอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ การป้องกันโรค เช่น วัคซีน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสืบค้นรายงานผู้ป่วย การกรวดน้ำคัดหลั่ง เลือด หรือส่วนของเลือด เนื้อเยื่อของผู้ป่วย เป็นต้น ความสำคัญในการวิจัยทางคลินิกด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร คือ การทำให้การแพทย์แผนไทยมีความปลอดภัย ประสิทธิผล และมีคุณภาพที่คนไทยจะนำมาใช้อย่างแพร่หลาย โครงร่างวิจัยทางคลินิกนี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้วเท่านั้น     เจาะประเด็นวันนี้ เราจะไปเจาะลึกทำความรู้จักกับสูตรยาสมุนไพรที่อยู่ในคัมภีร์แพทย์แผนไทย ที่ชื่อ"เบญจอำมฤตย์"ว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ประกอบไปด้วยสมุนไพรชนิดใดบ้าง สามารถต้านมะเร็งตับได้เด็ดขาดจริงหรือไม่ วันนี้จะไปเจาะลึกกันค่ะ     "เบญจอำมฤตย์" เป็นสูตรยาสมุนไพรโบราณที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้คิดค้นวิจัยร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการทดสอบการออกฤทธิ์ทั้งในหลอดทดลอง หนูทดลองและผู้ป่วยมะเร็งหลายชนิด ที่ รพ.เคียนซา และรพ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด รวมถึงมะเร็งตับ พบว่า มีประสิทธิภาพต้านเซลล์มะเร็งตับดีที่สุด หลังกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ บรรจุและเผยแพร่ตำรับยาสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ปรากฏมีผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ แห่มารับยาสมุนไพรฟรี ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยศเส จำนวนมาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาด้วยอาการมะเร็งระยะสุดท้าย อย่างคุณลุงท่านนี้อยู่ไกลถึงเพชรบูรณ์ ทันทีที่ทราบข่าว ก็รีบเดินทางมาด้วยความหวังว่า อาการป่วยมะเร็งตับจะดีขึ้น จะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ ขณะที่ทางโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส เปิดเผยว่าเพียงแค่วันเดียว มีผู้ป่วยมะเร็ง มาขอรับยามากถึงวันละ 3,000 แคปซูล และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น  ตามขั้นตอนผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจคัดกรองสุขภาพ ก่อน เพื่อระวังผลข้างเคียง ย้ำว่าสมุนไพร"เบญจอำมฤตย์" ไม่ใช่ยารักษามะเร็งให้หายขาด  แต่ช่วยต้านการแพร่กระจายเซลล์มะเร็ง ลดภาวะแทรกซ้อน เสริมให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้นแต่จะให้ได้ผลดีที่สุดต้องรักษาควบคู่ กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เมื่อเจาะลึกสูตรยา"เบญจอำมฤตย์" พบว่าประกอบด้วยสมุนไพรไทย 9 ชนิด ซึ่งสมุนไพรแต่ละตัวมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ อยู่แล้ว  แต่เพิ่งวิจัยค้นพบว่าเมื่อนำมาผสมรวมกัน จะออกฤทธิ์ต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมงานเจาะประเด็นลงพื้นที่ โรงพยาบาลอู่ทอง ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตยาสมุนไพรไทยที่ได้มาตรฐาน ส่งทั่วประเทศ เจาะลึกสูตรยาสมุนไพรแคปซูล"เบญจอำมฤตย์"พบว่า ประกอบด้วยสมุนไพร  9  ชนิด  คือ มหาหิงค์ ยาดำบริสุทธิ์ รงทอง มะกรูด ขิงแห้ง ดีปลี พริกไทย รากทนดี และดีเกลือ เป็นสูตรยาในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตำรายาโบราณของไทย แต่ละชนิดมีสรรพคุณบำรุงธาตุ และรักษาโรคอยู่แล้ว เช่น  ดีปลี พริกไทย ขิง ช่วยลดแก๊ส ขับลม แก้ท้องอืด ,ดีเกลือช่วยทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น โดยเมื่อเอามาผสมรวมกัน จะมีฤทธิ์ เสริมสร้างระบบในร่างกายให้สมดุล โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง ที่มีปัญหาใหญ่ คือเรื่องระบบขับถ่าย ล่าสุด ยอดผู้ป่วยต้องการยาเพิ่มขึ้น วัตถุดิบสมุนไพรบางชนิดเริ่มไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสั่งซื้อจากนอกพื้นที่ สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ปีละกว่า 60,000 ราย พบผู้ชายป่วยเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ส่วนผู้หญิง ส่วนใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และลำไส้ใหญ่ แพทย์แนะผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากรักษาด้วยยาควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เสริมภูมิต้านทานโรค ทำให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในทุกสิทธิการรักษา สามารถมาขอรับยาฟรีได้ที่โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยฯ ยสเส โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มารับยา จะถือเป็นกลุ่มอาสาสมัครเพื่องานวิจัยด้วย เป็นการพัฒนาอีกขั้นของการแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกความหวังของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ที่มา CH7 NEWS   มะเร็งกับการแพทย์แผนไทย ความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญ มะเร็งเป็นโรคร้ายที่คุกคามต่อชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุมะเร็งเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยทั้งจากอาการของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา การรักษาผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตามทฤษฎีการแพทย์แผนตะวันตก มี 2 วิธีหลักที่ปฏิบัติกันแพร่หลายคือการใช้รังสี และการใช้เคมีบำบัด ซึ่งทั้งสองวิธี ต่างก็ใช้หลักการเดียวกันคือทำลายเนื้อร้าย แต่ทั้งนี้ไม่สามารถเลือกทำลายเฉพาะเนื้อร้ายได้ เซลล์ดีจำนวนมากต้องถูกทำลายไปด้วย จึงเกิดผลข้างเคียงตามมาเช่น ผมร่วง แผลในปาก ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย อีกทั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีก จากการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง จึงมีผู้แสวงหาแนวทางอื่นในการรักษามากขึ้น และการแพทย์แผนไทย คือทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขเองก็ให้ความสำคัญ จากการติดตามการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ตำรับยาแผนไทยที่เริ่มนำมาศึกษาถึงผลการต้านมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขมีที่เด่นๆ อยู่สองตำรับคือ ตำรับยา "เบญจามฤต"(เบญจอำมฤตย์) และ "ตรีผลา" การวิจัยทั้งสองตำรับยานี้เป็นกระบวนการวิจัยที่จะมีขั้นตอนการศึกษาทดลองในมนุษย์ด้วย (หลังผ่านการทดลองความปลอดภัยในสัตว์ทดลองมาแล้ว) ซึ่งจะสามารถยืนยันผลหรือสรรพคุณยาในคนได้เป็นอย่างดี ต่างกับการวิจัยอื่นที่อาจทดลองเฉพาะในสมุนไพรเดี่ยว ค้นหาส่วนประกอบสารสำคัญ/สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร และทดสอบความเป็นพิษในสัตว์หรืออื่นๆ เท่านั้น แต่จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า โครงร่างการวิจัย “โครงการติดตามความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ในผู้ป่วยมะเร็งตับ, ลำไส้, ปากมดลูก และต่อมลูกหมาก” ไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคนด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงเป็นที่มาของข้อกังขาสำคัญว่า เหตุใดอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จึงนำยาเบญจอำมฤตย์สูตรนี้มาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิผู้ป่วย “ตำรับยาดังกล่าวจากการวิจัยเริ่มต้นที่หลอดทดลอง ปรุงยาขึ้นมาโดยนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ผลที่ได้คือ ยามีผลต่อเซลล์มะเร็งตับอันดับแรกโดยฆ่าเซลล์มะเร็งตับได้ดี จากนั้นก็นำมาทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองซึ่งผลการทดสอบความเป็นพิษพบว่า ยาตำรับนี้ปลอดภัยในสัตว์ทดลอง  ความเป็นพิษค่อนข้างต่ำจึงมีความมั่นใจว่ายาตัวนี้น่าจะมีความปลอดภัยในคน แต่อย่างไรก็ตามงานวิจัยยังคงศึกษาทดลองต่อเนื่อง ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาในผู้ป่วยมะเร็งตับ ในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้าร่วมในงานวิจัยการศึกษาวิจัยจะมีการเจาะเลือด ตรวจร่างกายเป็นระยะ ๆ...การวิจัยซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเก็บตัวอย่างข้อมูล เก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้ยาเป็นการติดตามผลการรักษา ประเมินเป็นระยะโดยเริ่มในผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ด้วยตำรับยาไม่เป็นที่ปิดบังตำรับยาอยู่ในคัมภีร์โบราณซึ่งเมื่อเปิดแพทยศาสตร์สงเคราะห์ก็จะเห็นถึงรายละเอียด...” (ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ ผู้ร่วมวิจัยของโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานใน โครงการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของตำรับยาเบญจอำมฤตย์ ที่มา : เดลินิวส์ 5 มีนาคม 2557) ปัญหาคือ ยานี้ไม่ได้ปรุงตามคัมภีร์ธาตุบรรจบ แล้วอะไรคือหลักประกันความปลอดภัยของผู้รับยาที่กรมฯ นำมาแจก ----------------------------   วัตถุดิบทยอยขึ้นราคาทันทีที่เป็นข่าวดัง การให้ข่าวพร้อมกับการแจกจ่ายยาได้ก่อให้เกิดกระแสและสร้างความคาดหวังให้กับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย จนไม่เพียงแต่แห่กันไปรับยาจนแน่นโรงพยาบาล(สำรวจ ณ วันที่ 25 เมษายน ฉลาดซื้อพบว่า ยังมีการแจกยาอยู่) แต่ยังกลายเป็นช่องทางให้ผู้ค้าวัตถุดิบสมุนไพรตามตำรับยาดังกล่าว โก่งราคาวัตถุดิบจนแพงลิ่ว ภญ.ดลิชา ชั่งสิริพร หัวหน้างานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี(แหล่งผลิตวัตถุดิบยาตำรับเบญจอำมฤตย์) กล่าวว่าในช่วงหลังการออกข่าวมีประชาชนบางคนนำตัวสมุนไพรไปต้มสกัดยามารับ ประทานเองซึ่งขอเตือนว่าไม่สมควรทำอย่างยิ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยรักษา อาการได้แล้วยังมีผลตามมาถึงขั้นเสียชีวิตได้เนื่องจากตัวยาบางตัวถ้าใช้ใน ปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะให้โทษอย่างมหันต์ เช่น ดีเกลือที่มีฤทธิ์ในการขับถ่าย อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียรุนแรงได้และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งอาจส่งผลให้ เซลล์มะเร็งลุกลามมากขึ้นได้จึงขอเตือนว่าห้ามนำมาต้มรับประทานเองเด็ดขาด ซึ่งปริมาณที่ใช้ในการใช้วัตถุดิบเพียง 0.22 ไมโครกรัมต่อซีซี เท่านั้น ประชาชนห้ามผลิตเอง "สำหรับราคาวัตถุดิบที่ไปตรวจสอบมานั้นบางชนิดมีราคาสูงขึ้นเป็นเท่าตัวคือ มหาหิงค์ จาก 350 - 450 บาท เป็น 400 - 450 บาท ยาดำบริสุทธิ์ 400 - 500 บาท เป็น 600 -800 บาท รงทอง 300 - 400 บาท เป็น 800- 1,000 บาท มะกรูด 100 บาท เป็น 100 -150 บาท ขิง 500 - 600 บาท เป็น 600 -800 บาท ดีปลี 200 - 300 บาท เป็น 300- 350 บาท พริกไทย 500 บาท เป็น 500 -600 บาท รากทนดี 150 บาท เป็น 150 -200 บาท และดีเกลือ ราคาประมาณ 50 - 80 บาทซึ่งเป็นราคาต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ขอฝากให้ผู้ค้าวัตถุดิบเห็นใจและไม่ปรับราคาให้สูงขึ้นอีก"   รู้จักตัวยาสำคัญใน เบญจอำมฤตย์ >> มหาหิงคุ์ ยาดำ รงทอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point