ฉบับที่ 225 ผู้บริโภค เลิกกินสัตว์น้ำวัยอ่อนกันสักที

        จากการลดจำนวนลงของสัตว์ทะเลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน หมายความว่า มีการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นมิตรกับท้องทะเล ทั้งการทำประมงแบบอวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน โดยเฉพาะการใช้ “อวนลาก” ที่จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด ไม่เลือกขนาด และยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำไปด้วย         เราได้ข้อมูลจาก นางสาวรภัสสา ไตรรัตน์ ซึ่งทำงานให้กับองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย (OXFAM in Thailand) ว่า จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทำประมง ในโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง“โครงการสำรวจองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำในปลาเป็ด จากการประมงขนาดใหญ่  (Phase I สงขลา)” ซึ่งมี ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมี ผศ. ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางสาวศิริวรรณ เจาวงศ์สวัสดิ์  นางสาวสุใบด๊ะ หมัดสะมัน นางสาวกาญจนา สังข์แก้ว เป็นคณะผู้วิจัย นั้น         การศึกษาดังกล่าวพบว่า ปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย สันนิษฐานว่ามาจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน จากเครื่องมือที่ทำร้ายท้องทะเลและพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น การทำประมงอวนลาก อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน         สำหรับ “อวนลาก” นั้นจัดว่าเป็นเครื่องมือประมงที่ “จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด เลือกขนาด” ทำให้ในจำนวนสัตว์น้ำที่ติดมากับอวนลาก มีทั้งสัตว์ที่เป็นอาหาร และสัตว์ที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงตัวอ่อนของสัตว์ที่ยังไม่เหมาะจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้สัตว์เหล่านี้ตายง่าย และเน่าเสียได้ง่าย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หากนำไปขายก็จะได้ราคาต่ำ หรือเรียกสัตว์น้ำกลุ่มนี้อีกอย่างว่า “สัตว์น้ำพลอย (ถูก)จับ” หรือ “by-catch”         ในอดีตยามชาวประมงจับสัตว์น้ำขึ้นมาแล้วจะทำการคัดแยก และทิ้งสัตว์ที่พลอยจับได้ลงทะเล หรืออาจจะนำมาทิ้งบนฝั่ง แต่ปัจจุบันพบว่ามีการนำ “สัตว์ที่พลอยถูกจับ” มาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด จึงถูกเรียกว่า “ปลาเป็ด” และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาป่น เนื่องจากเป็นส่วนประกอบโปรตีนที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ         แต่ไม่ว่าสัตว์น้ำเหล่านี้จะถูกโยนทิ้งลงทะเลหรือนำขึ้นมาขายในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ตาม ล้วนแต่เป็นการสร้างความสูญเสีย และทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการทำงานของอวนลากที่กวาดทำลายพื้นผิวใต้น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย         “ที่สำคัญคือสัตว์เศรษฐกิจตัวอ่อนที่ถูกจับมาก่อนวัยอันควรนับเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต จัดเป็นการทำประมงที่ไม่คุ้มค่า และไม่ยั่งยืน”         นางสาวรภัสสา อธิบายว่า จากการสำรวจชนิดสัตว์น้ำเศรษฐกิจในตลาดที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาและบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 และ เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โดยการสุ่มตัวอย่างเรือประมงอวนลากขนาดระหว่าง 21.23 – 79.51 ตันกรอส จำนวน 9 ลำ ที่ออกทำการประมง 5-10 วัน/เที่ยว ในน่านน้ำนอกฝั่งสงขลาและนครศรีธรรมราช มีผลจับสัตว์น้ำรวมอยู่ระหว่าง 1,861 –16,711 กิโลกรัมต่อลำ พบว่าในนั้นมีปลาเป็ดอยู่ในช่วง 6.16 – 47.56% และในจำนวนปลาเป็ดเหล่านี้พบว่าไม่น้อยกว่า 5 ชนิดเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมรับประทาน“ส่วนที่นิยมรับประทานหรือสัตว์เศรษฐกิจพบว่ามีประมาณ 68 ชนิด ถูกนำไปแปรรูปเพื่อบริโภคกันในรูปของเนื้อปลาบด (surimi) เพื่อนำไปผลิต ลูกชิ้น หรือผลิตภัณฑ์เนื้อปลาต่างๆ”         เมื่อพิจารณาถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แบ่งได้ 2 กรณี คือ         กรณีที่ 1 การนำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดที่มีขนาดใหญ่มาขายในรูปปลาเป็ด จะได้มูลค่า 13,630.72 บาท แต่หากปล่อยให้สัตว์เหล่านี้เติบโตจนได้ขนาดที่พอเหมาะและเป็นที่ต้องการของตลาดแล้วค่อยนำจับมาขาย ถ้าพิจารณาจากราคาอ้างอิงต่ำสุดและราคาสูงสุด ขององค์การสะพานปลาแล้ว จะมีมูลค่าต่ำสุดรวม 197,172.09 บาท มูลค่าสูงสุดรวม 328,617.59 บาท แต่พอมีการจับปลาเล็กปลาน้อยมาขายเป็นปลาเป็ด ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเที่ยวของการออกทำการประมงของเรือแต่ละลำ ของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่รวม 9 ลำ เป็นมูลค่าต่ำสุด 183,541.37 บาท และมูลค่าความสูญเสียสูงสุด 314,986.87 บาท         กรณีที่ 2 การนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตได้ขนาดตลาดแล้วมาขายในรูปปลาเป็ดจะมีมูลค่า 466.22 บาท หากนำมาขายในราคาปลาตลาดจะได้มูลค่าต่ำสุด 1,698.25 บาท มูลค่าสูงสุด 3,065.75 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียจากการนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวมาขายในรูปปลาเป็ดคิดเป็นมูลค่าต่ำสุด 1,232.03 บาท และมูลค่าสูงสุด 2,599.53 บาท         ความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี จากเรือรวม 9 ลำ ออกทำการประมง 1 เที่ยว/ลำ พบว่าเมื่อ นำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาขายในรูปปลาเป็ด ซึ่งหากคิดราคาโดยอ้างอิงจากราคาของสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท ดังนั้นจะได้มูลค่า 14,096.94 บาท หากปล่อยให้สัตว์น้ำเติบโตจนได้ ขนาดตลาดจะมีมูลค่าต่ำสุด 198,870.34 บาท มูลค่าสูงสุด 331,683.34 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียทาง เศรษฐกิจ โดยการคำนวณจากเรือรวม 9 ลำ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่ำสุด 184,773.40 บาท ความสูญเสีย สูงสุด 317,586.40 บาท ต่อเที่ยวของการออกทำการประมง แล้วถ้า         หากกำหนดให้ในรอบ 1 ปี มีการออกทำการประมง 30 เที่ยว จะเกิดความสูญเสียขึ้นถึง 5,543,202.00 - 9,527,592.00 บาท ยังไม่นับรวมความสูญเสียจากการทำประมงจากเรืออวนล้อมและเรือปั่นไฟปลากะตัก ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งของ ปลาเป็ด และพบอีกด้วยว่ามีส่วนประกอบที่เป็นปลาเศรษฐกิจวัยรุ่นมากกว่าในอวนลาก         สำหรับชนิดสัตว์น้ำที่มีการสูญเสียเนื่องจากไม่มีโอกาสได้เติบโต ได้แก่ ปลาอินทรีบั้ง ปลาทรายแดง ปลา ทรายขาว ปลาตาหวาน ปลาสาก ปลาปากขลุ่ย หมึกต่างๆ หอยเชลล์ กั้งกระดาน เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำชนิดที่มี ขนาดเล็กที่สูญเสียโดยตรง ได้แก่ กุ้งตาแฉะ ปลาแพะ ปลาแป้นแก้ว ปลานกขุนทองเขี้ยว เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการประมงอวนลากในน่านน้ำไทยถูกควบคุมค่อนข้างเข้มงวด โดยการบังคับใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ของกรมประมง บังคับให้เรือประมงติดตั้งระบบ VMS (Vessel Monitoring System) ประจำเรือ ให้มีการลงทะเบียนเครื่องมือประมง และเวลาการจับ มีการจำกัดจำนวนเรือ รวมถึงมีระบบการแจ้งเข้า-ออกท่า (Port-in Port-out/PIPO)         มาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้จำนวนและปริมาณการประมงจับปลาหน้าดินลดลงได้ในระดับหนึ่ง และแม้ภาครัฐจะมีแผนในการกำหนดมาตรการเพื่อลดสัดส่วนปลาเศรษฐกิจในปลาเป็ดให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในทางปฏิบัติได้ว่ามีผลดีต่อปริมาณปลาในธรรมชาติจริง         ผลจากการวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ได้บทสรุปว่าเนื่องจากในน่านน้ำไทยมีความหลากชนิดของปลามากกว่า 2,000 ชนิด และเป็นปลาเศรษฐกิจ มากกว่า 700 ชนิด การใช้แนวทางหรือมาตรการเดียวในการบริหารหรือจัดการประมง อาจไม่ช่วยลดการ สูญเสียปริมาณและความหลากชนิดได้ในภาพรวม จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการประกอบกัน เช่น การกำหนด เขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ การลดหรือจำกัดการใช้เครื่องมือจับที่ทำลายล้าง ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ การงดใช้เรือปั่นไฟจับปลากะตัก และการกำหนดหรือส่งเสริมการดัดแปลงเครื่องมืออวนลากต่างๆ ให้มีการ “ถูกพลอยจับ” ให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่        สิ่งสำคัญคือ "ผู้บริโภค" ที่ต้องมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสัตว์น้ำตัวอ่อนที่มีผลต่อของวัฏจักรแห่งท้องน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนคนรับประทานอาหาร ซึ่งที่ยังคงเชื่อว่าการการรับประทานปลาเล็ก ปลาน้อยชนิดที่กินได้ทั้งตัว จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไปเต็มๆ นั้น อาจจะต้องปรับทัศนคติกันเสียใหม่ ก่อนที่สัตว์น้ำเหล่านี้จะสูญพันธุ์         ขณะที่ นางสาวณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์  ผู้ประสานงานรณรงค์เรื่องทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่มีการประชุมโกลบอล โอชี่ยนทริป และมีงานวิจัยจากกรีนพีชที่ทำร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศทั่วโลก ระบุว่าเราสามารถปกป้องพื้นที่ มหาสมุทรได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 โดยการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือการทำ “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ซึ่งจะคุ้มครองเรื่องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ในทะเล อุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงเรื่องของการทำประมงแบบทำลายล้าง เป็นต้น          ระหว่างการผลักดันให้เกิดการรับรอง “สนธิสัญญาทะเลหลวง” แคมเปญที่กรีนพีซกำลังทำคู่กันไปคือการส่งเรือสำรวจพื้นที่ทะเลตั้งแต่ขั้วโลกเหนือ ถึงขั้วโลกใต้ เพื่อศึกษาผลกระทบกับมหาสมุทร ทั้งจากปรากฏการณ์โลกร้อน และอุตสาหกรรมทางทะเล ซึ่งตอนนี้เดินเรือสำรวจมาได้ครึ่งทาง ก็พบว่าในแต่ละที่ที่สำรวจจะมีปัญหาอยู่ เช่น พื้นที่ภูเขาใต้ทะเล จะมีปัญหาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง มีการทิ้งซากอวนลงในพื้นที่ ซึ่งนับว่าปัญหาใหญ่ของโลกก็มาจากอุตสาหกรรมประมงที่ทิ้งลงทะเล         นอกจากนี้ ยังพบพื้นที่ทะเลแคริเบียน ซึ่งจะมีสาหร่ายที่เป็นแหล่งอนุบาลปลา และเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะมีปัญหาขยะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่แถวๆ นั้น สัตว์ทะเลก็กินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เป็นหญ้าทะเล และก่อนหน้านั้น มีการพบว่าพื้นที่ขึ้นไปทางสเปน ซึ่งเป็นถ้ำ หรืออุโมงค์ใต้ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุ ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ทางทะเลพยายามจะเข้าไปสำรวจอยู่         สำหรับ เรื่องการทำประมงแบบทำลายล้างในประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยได้รับใบเหลืองจากไอยูยู  หรือปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายและขาดการตรวจสอบ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแก้ไข พ.ร.ก. การทำประมง และออกมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการทำประมงมากขึ้น แง่หนึ่งทำให้การทำประมงในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จนหลุดจากการได้รับใบเหลืองแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการการใช้อุปกรณ์ทำประมง ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมาด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับภาคีเครือข่ายทำการสำรวจตลาดว่า มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำสู่การผลักดันไปสู่เชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้างที่กวาดเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนไปด้วย         กลับมาที่การทำสนธิสัญญาทะเลหลวง นางสาวณิชนันท์ ระบุว่า มีแนวโน้มที่หลายประเทศจะให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงกดดันจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่ไม่อยากเสียประโยชน์ อาทิ เหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ถ้าพูดถึงการรณรงค์เรื่องนี้ในระดับนานาชาติ ถือว่าได้รับความสนใจ และการตอบรับค่อนข้างดี         ทั้งนี้ มหาสมุทรมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ต่างๆ การที่ปกป้องมหาสมุทร อย่างน้อยตามเป้าหมายของเราคือ 1 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรก็จะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้มา ทั้งเรื่องของโลกร้อน การปกป้องระบบนิเวศน์ท้องทะเลที่มีผลต่อสัตว์ทะเล เพราะถ้าปกป้องพื้นที่ในทะเลก็จะทำให้มีแหล่งดูแลอนุบาลพันธุ์ปลา ปลาก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในส่วนนี้ก็จะเชื่อมโยงไปถึงการประมงด้วย ทุกวันนี้ประชากรปลา สัตว์น้ำลดลง เพราะมีการทำประมงขนาดใหญ่เยอะขึ้น ยิ่งปลาหายากเท่าไรก็ต้องออกเรือไปไกลมากขึ้น          แต่ถ้าสนธิสัญญานี้ไม่เกิดขึ้น ผลเสียที่เห็นแน่ๆ เลยคือความหลากหลายในท้องทะเลหายไป แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำที่เคยเป็นที่ทำประมงก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะถ้ามีการทำเหมืองแร่ ชาวประมงย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะนอกจากนี้ปัญหาจำนวนสัตว์น้อยลงแล้ว ยังเสี่ยงกับสารเคมีอีก         ดังนั้นสุดท้ายกลับมาที่คนกิน         “นายสง่า ดามาพงษ์” นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ข้อมูลว่า อาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมไปด้วย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซึ่งเป็นคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์น้ำจืดเท่าไหร่ ยกเว้นว่าอาหารทะเลมีไอโอดีนผสมอยู่ แต่ถ้าเป็นปลา จะย่อยง่ายกว่า โปรตีนมีคุณภาพเหมาะกับทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะย่อยง่ายเมื่อเทียบกับเนื้อชนิดอื่นๆ ส่วน ปลาเล็ก ปลาน้อยมีแคลเซียมอยู่มาก เพราะเราสามารถรับประทานไปได้ทั้งตัว กินทั้งกระดูก ส่วนสารอาหารอื่นๆ เท่ากันกับปลาตัวใหญ่ เมื่อรับประทานในปริมาณเท่ากัน         อย่างไรก็ตาม ปลาเล็กปลาน้อยมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งที่นิยมนำมารับประทานส่วนใหญ่ คือปลาทราย ปลากระตัก ซึ่งเป็นปลาพันธุ์เล็ก ต่อให้เป็นตัวเต็มวัยขนาดตัวก็ยังเล็กลีบเช่นนั้น จึงสามารถรับประทานได้ แต่ที่เขารณรงค์ไม่ให้กินปลาเล็กปลาน้อยคือลูกปลาที่เพิ่งออกมาจากไข่ อย่างนั้นไม่ควรกินอยู่แล้ว ต้องกินให้ถูกด้วย การได้แคลเซียมจากปลาไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินปลาตัวเล็ก ตัวน้อยเท่านั้น แต่ปลาตัวใหญ่ ในเนื้อของมันก็มีแคลเซียมเช่นกัน นอกจากนี้ สารอาหารที่มีอยู่ในปลา หรือสัตว์ทะเล ก็พบว่ามีอยู่ในแหล่งอาหารอื่นๆ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึงดื่มนมรสจืด ไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ได้รับสารอาหารเหล่านี้ด้วย.  

อ่านเพิ่มเติม >