ฉบับที่ 267 ไปต่างประเทศ 10 วันฝากเลี้ยงนก แต่นกตาย

        หัวอกคนเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะแมว สุนัข กระต่ายหรือนก สัตว์เหล่านี้ยิ่งเราเอ็นดูมันมากก็ห่วงมันมากหากต้องมีธุระต้องเดินทางห่างจากสัตว์เลี้ยงหลายวัน มันจะอยู่จะกินอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่คนเลี้ยงสัตว์จำเป็นต้องรวมเข้าไปในคู่มือการเลี้ยงด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีสถานให้บริการรับดูแลสัตว์เลี้ยงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคมากมาย ทั้งรับเลี้ยงดูแลแบบค้างคืน ดูแลตามบ้าน แต่สถานบริการที่เปิดหลายแห่งเหล่านี้บางแห่งอาจไม่ใช่มืออาชีพ บริการไม่ดีจนทำให้ผู้เลี้ยงต้องเสียใจก็มีอยู่ จึงต้องเลือกให้ดีๆ          คุณขวัญใจ ผู้เสียหายที่ได้มาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เล่าว่า เธอได้ใช้บริการสถานรับดูแลสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งและได้ฝากเลี้ยงนกแก้ว 8 ตัว เป็นเวลา 10 วัน เพราะเธอต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทว่าต่อมาพบว่าระหว่างอยู่ในบริการของสถานรับเลี้ยงดังกล่าวนี้ นกของเธอได้ตายไป 1 ตัว         คุณขวัญใจรักนกแก้วเหมือนลูก  นกแก้วของคุณขวัญใจเป็นสายพันธุ์  “ไวท์ บิลลี่ ไคท์”  ( White bellied caique ) ตัวเล็กน่ารัก สีสันสวยงาม สามารถพูดและเลียนแบบเสียงคนได้ นิสัยร่าเริง ฉลาด เรียนรู้ไว ต้องนำเข้าจากต่างประเทศราคาตัวละประมาณ 35,000 บาท  คุณขวัญใจฝากเลี้ยงเป็นเวลา 10 วัน รวมราคารับฝากเลี้ยง 7,200 บาท  โดยแยกเลี้ยงกรงละ 2 ตัว         วันแรกที่เข้าใช้บริการคือวันที่ 10 เมษายน ทางร้านยังแจ้งทางไลน์ให้คุณขวัญใจทราบว่าการเลี้ยงดู เรียบร้อยดี เป็นไปตามขั้นตอน แต่นกตัวโต ชอบรังแกนกตัวเล็กแบบรุนแรง  เมื่อคุณขวัญใจให้ทางร้านถ่ายคลิปให้ดูทางร้านกลับเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอ ต่อมาวันที่ 15 เมษายน ทางร้านได้แจ้งว่า อากาศร้อนจนทำให้นกหอบคุณขวัญใจจึงขอให้ทางร้านเปิดแอร์ให้นกตลอดเวลา แล้วจะเพิ่มเงินให้ ... แต่ต่อมาอีกเพียง 3-4 ชั่วโมง  ทางร้านแจ้งว่านกตีกันตายแล้ว 1 ตัว   คราวนี้มีส่งคลิปให้ดู         เมื่อได้ดูคลิปเห็นอาการคุณขวัญใจจึงทราบทันทีว่า ทางร้านไม่ช่วยเหลือนกออกจากกรงและช่วยนำตัวที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งทางร้านอ้างว่า ต้องดูแลนกอีกจำนวนมากแล้วไม่รู้จักหมอที่รักษานกเป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อกลับมาจากต่างประเทศ คุณขวัญใจได้ถามหาความรับผิดชอบจากร้าน  แต่ทางร้านให้คำตอบว่า “ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรับผิดชอบ “  !!! คุณขวัญใจโมโหมาก นกตายก็เสียใจมากแล้ว เจอทางร้านปัดความรับผิดชอบอีก จึงขอคำปรึกษามา แนวทางการแก้ไขปัญหา                เบื้องต้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะให้แจ้งความที่สถานีตำรวจไว้เพื่อลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ต่อมาเมื่อมูลนิธิฯ ได้ทำจดหมายไปถึงร้านเพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ย เบื้องต้นการเจรจาไม่บังเกิดผล ดังนั้นคุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว  โดยทางศูนย์ฯ จะให้ความช่วยเหลือเรื่องข้อกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2566

พบ “สเตียรอยด์” ในสินค้ายี่ห้อ “โสมผสมกระชายดำ ตราเทพี”         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 โดยในฉลากได้ระบุว่า คือ “ชา สมุนไพร ตราเทพี  มีสรรพคุณกล่าวอ้างว่า แก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท ... มีเลขวันผลิต 30/12/22 และหมดอายุ  30/12/24  เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์พบว่า มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เมื่อตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ได้มีการยกเลิกโดยผู้ประกอบการตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังหากมีการกระทำผิดจะดำเนินตามกฎหมาย พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน  การบินไทยห้ามนำ “กระเป๋า-ยานพาหนะ มีแบตเตอรี่ลิเธียม” ขึ้นเครื่อง         การบินไทยประกาศออกมาทางเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” กรณีห้ามนำกระเป๋าเดินทางหรือยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมขึ้นเครื่องบิน  โดยทางการบินไทยได้มีการระบุข้อความดังนี้ เรียนท่านผู้โดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านทราบว่าบริษัทฯ ไม่รับกระเป๋า Smart Baggage ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ในลักษณะดังนี้        1.สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry on) และสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่แบบที่ถอดไม่ได้ และมีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ *ไม่รับในทุกกรณี           2.ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในการขับเคลื่อน , Segway         3.กระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน กระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage         ทั้งนี้ ทางการบินไทยยังระบุว่าอีกว่า ทางการบินไทยไม่รับผิดชอบการจัดเก็บ/การรับฝากสิ่งของทุกประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำไป  จับแหล่งขายซากเนื้อสัตว์ ฟอร์มาลีน-โซดาไฟ         26 พฤษภาคม 2566 ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการสืบทราบถึงกรณีการลักลอบการนำเข้าซากสัตว์แบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จึงได้มีการประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารผิดกฎหมายพบว่า มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตไส้ตัน หมึกกรอบ สะไบนาง และนำไปส่งขายที่ร้านหมูกระทะในพื้นที่ และในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังตรวจพบซากเนื้อสัตว์ เช่น  ไส้ตันแช่แข็ง ระบุว่านำเข้าจากเยอรมันนี จำนวน 39 กล่อง 500 กก. ไส้ตันแปรรูปแช่สารโซดาไฟ และฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 200 กก. สไบนางแช่สารโซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และฟอร์มาลิน จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 400 กก. และหมึกกรอบแช่สารฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 100 กก.         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ซากสัตว์ทั้งหมดไม่พบเอกสารรองรับและไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามกฎหมาย ทั้งยังตรวจพบสารฟอร์มาลินในน้ำแช่สไบนาง ไส้ตัน และหมึกกรอบ ในการทดสอบด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินเบื้องต้น         ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดสินค้าจำนวนกว่า 1,200 กก รวมทั้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารมาแสดงหากไม่นำมาทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  เตือนนักเรียนแบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงกระดูกสันหลังคด         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากการแบกกระเป๋าหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดที่บ่า ต้นคอ ซึ่งคือสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่และเชิงกรานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก  และแนะนำให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงอีกด้วย         ส่วนเด็กที่ถือกระเป๋ารูปแบบหิ้ว สะพายข้าง หากมีน้ำหนักเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อรับน้ำหนักตัวเราจะเอียงตามทำให้บุคลิกภาพเราจะเป็นไปตามนั้น  ส่วนกล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะนั้นๆ ซึ่งเมื่อคนเราปกติใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบของเด็กได้ มพบ. เสนอ อย. ให้ควบคุมจดแจ้งเครื่องสำอางที่เคยถูกห้ามขาย ครีมผิวขาวเพิร์ลลี่         จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากครีมผิวขาว “เพิร์ลลี่” และให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือด้านคดีนั้น ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์มีคำสั่งห้ามขายครีมผิวขาวเพิร์ลลี่แล้วแต่ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ยังคงพบว่ามีจำหน่ายอยู่ในทางออนไลน์         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษา “ห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชื่อ เพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ โลชั่น เลขที่จดแจ้ง 10-1-5733777 และเพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ ชั่น พลัส เลขที่จดแจ้ง 10-1-5749866” แต่ทางมูลนิธิฯ ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนเลขจดแจ้งใหม่ เป็น “โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเซ็นทีฟไวท์ ครีม สูตร พลัส x 2) Pearly Lotion Intensive WCream PlusX2”  และ โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเทนซีฟครีม) Pearly Lotion Intensive Cream ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค. 66 )         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดมายังช่องทางต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคปลอดภัยและร่วมสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. อยากให้ควบคุมเรื่องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะจากข้อมูลที่มูลนิธิฯ รวบรวมไว้ พบว่ามีเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับการถอนทะเบียนจะนำผลิตภัณฑ์มาปะแป้งแต่งตัว เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วจดแจ้งใหม่นำมาจำหน่าย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 เรื่องน่าผิดหวังแห่งปี

        เป็นธรรมเนียมประจำปีของ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียที่จะประกาศรางวัล Shonky Awards ให้กับสินค้าหรือบริการที่สร้างความผิดหวังให้ผู้บริโภคมากที่สุด มาดูกันว่าในปี 2022 หลังการระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย มีผู้ประกอบการเจ้าไหนได้รางวัลนี้ไปเชยชมกันบ้าง          เริ่มจาก Qantas สายการบินแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เพราะความคับข้องใจของลูกค้าที่ต้องเจอปัญหาเที่ยวบินล่าช้า (สถิติการตรงต่อเวลาของควอนตัสขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีเที่ยวบินตรงเวลาเพียงร้อยละ 47 เท่านั้น) สัมภาระสูญหาย และความสับสนวุ่นวายขณะทำการเช็คอิน พวกเขาคิดแล้วไม่เข้าใจ อุตส่าห์ควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วสำหรับ “สายการบินพรีเมียม” แต่ได้รับบริการไม่ต่างกับสายการบินต้นทุนต่ำ         แถมด้วยเรื่องเก่าที่เคลียร์ไม่จบจากยุคโควิด เมื่อผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางได้ในช่วงที่รัฐบาลจำกัดการเดินทางต่างก็ได้รับ “เวาเชอร์”​ ไว้ใช้ภายหลัง แต่กลับพบว่าตั๋วที่ใช้เวาเชอร์ซื้อได้นั้นมีราคาแพงกว่าปกติ ในขณะที่ “คะแนนสะสม” ของหลายคนก็ไม่ได้รับการต่ออายุทั้งที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ในช่วงโควิด         แน่นอนว่าต้องมีคำถามจากลูกค้ามากมาย แต่สายการบินกลับไม่เตรียมการไว้รองรับ บางคนที่โทรไปคอลเซ็นเตอร์ของควอนตัส ต้องถือสายรอเกือบ 50 นาที บริษัทต้องปรับปรุงอีกมาก หากต้องการจะใช้สโลแกน “Spirit of Australia” ต่อไป         ตามด้วยผลิตภัณฑ์อาหารที่อ้างว่าคิดค้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ปกครองที่ลูกไม่ชอบกินผัก บริษัท Steggles ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไก่ ที่อยู่คู่กับออสเตรเลียมาเกือบร้อยปี ได้ปล่อยนักเก็ตไก่แช่แข็ง แบบ “ซ่อนผัก” ออกสู่ตลาด พร้อมฉลากที่ระบุว่ามีส่วนผสมของ “ผัก” ถึง ¼ ถ้วยหรือ 50 กรัม พร้อมรูปดอกกะหล่ำบนกล่อง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายถูกใจยิ่งนัก แม้ต้องจ่ายแพงกว่านักเก็ตไก่ธรรมดา ก็ยอมเปย์        แต่สารอาหารที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์มีเพียง โปรตีน ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ทำให้ CHOICE เกิดข้อสงสัยจึงส่งตรวจวิเคราะห์หา “ความเป็นผัก” ในนักเก็ตดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีอยู่เพียงน้อยนิด และ “ผัก” ที่ว่านั้นส่วนใหญ่เป็นมันฝรั่ง (ร้อยละ 11) ส่วนดอกกะหล่ำตามรูปบนบรรจุภัณฑ์นั้นมีเพียงร้อยละ 3           หากคำนวณโดยนับรวมทั้งดอกกะหล่ำและมันฝรั่ง ปริมาณผักที่ได้ก็เป็นเพียงร้อยละ 20 ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน พูดง่ายๆ ถ้าจะกินให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เด็กต้องกินมากกว่าหนึ่งกล่อง ในขณะที่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า หนึ่งกล่อง (ขนาด 400 กรัม) เหมาะสำหรับรับประทาน 4 คน           ต่อไปขอแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์เพื่อการหุงต้มที่ชื่อว่า Zega Digital หม้อต้มที่อ้างว่าใช้งานง่าย สะดวก ทันสมัย สั่งงานผ่านแอปพลิเคชันได้ แถมยังช่วยคุณประหยัดพลังงาน เพราะคุณสามารถปิดแก๊สก่อนอาหารสุกแล้วความร้อนในหม้อที่มีผนังสองชั้นทำหน้าที่ให้ความร้อนต่อไป         มันดีงามเสียจน CHOICE ต้องซื้อมาทดลองใช้ หลังจากทำตามคำแนะนำในคู่มือของบริษัท ทีมงานพบว่าทั้งไก่และผักยังไม่เข้าข่าย “สุก” และซอสก็ไม่เหนียวข้นอย่างที่ควรจะเป็น แต่ที่อันตรายอย่างยิ่งคือเขาพบว่าบริเวณตรงกลางของเนื้อสัตว์มีอุณหภูมิเพียง 66 องศาเซลเซียส (ซึ่งควรเป็น 75 องศา หรือสูงกว่า เพื่อความปลอดภัยจากจุลินทรีย์) และพวกเขายังต้องนำหม้อดังกล่าวไปตั้งเตาต่ออีก 90 นาที จึงจะได้อาหารสุกพร้อมรับประทานได้อย่างปลอดภัย ... ดูแล้วไม่น่าจะประหยัดทั้งเงิน ทั้งพลังงาน         ด้านบริษัทผู้ผลิตออกมาตอบโต้ว่าน่าจะเป็นเพราะทีมงานยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ผลิตภัณฑ์สุดไฮเทคของเขามากกว่า และบริษัทได้ส่งคำแนะนำในการทำเมนูดังกล่าวให้กับองค์กรผู้บริโภคแล้ว         มาที่ผลิตภัณฑ์เงินกู้ซึ่งมีอยู่มากมายในออสเตรเลียกันบ้าง (คนออสซี่ก็เป็นหนี้มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับห้าของโลก) ปีนี้ CHOICE ยินดีมอบรางวัลเจ้าหนี้ยอดแย่ให้แก่ VetPay บริการเงินกู้เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยง        มองเผินๆ บริการนี้คือความหวังของบรรดา “ทาส” ที่ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง เพราะเบี้ยประกันแสนแพง แถมยังมีเงื่อนไขข้อยกเว้นอีกมากมาย โฆษณาของ VetPay กล่อมบรรดาทาสว่าพวกเขาจะมีโอกาสนำน้องแมว น้องหมา หรือน้องอื่นๆ ไปรับการรักษาแบบผ่อนส่งได้ ด้วยการจ่ายค่ารักษาให้กับคลินิกเบื้องต้นเพียงร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือก็ผ่อนชำระเป็นรายปักษ์กับบริษัทด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.4 พร้อมกับ “ค่าธรรมเนียมการผ่อนจ่าย” ทุกงวด งวดละ 2.5 เหรียญ ซึ่งลูกหนี้จะทราบข้อมูลเหล่านี้หลังจากได้สมัครเป็นสมาชิกรายปี และจ่ายค่าสมาชิกในอัตรา 49 เหรียญ (ประมาณ 1,200 บาท) แล้ว         เว็บไซต์ของบริษัทเขียนเอาไว้หล่อๆ ทำนองว่า เราเข้าใจคนรักสัตว์เป็นอย่างดี เราเป็นพันธมิตรกับคลินิกสัตวแพทย์ในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ช่วยให้เจ้าของตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมโดยมีข้อมูลประกอบ และยินดีเป็นตัวกลางระหว่างคลินิกกับเจ้าของสัตว์         แต่ในทางปฏิบัติแล้วดูเหมือนบริษัทกำลังหาประโยชน์จากเจ้าของสัตว์เสียมากกว่า  VetPay เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เงินกู้ที่แพงที่สุดที่ CHOICE เคยพบมาเลยทีเดียว         รางวัลสุดท้ายของปีนี้ CHOICE ขอมอบให้กับร้านดอกไม้ออนไลน์ Bloomex บริษัทสัญชาติแคนาดาที่มีสาขาในอเมริกาและออสเตรเลียด้วย บริษัทที่อ้างว่าได้สร้างรอยยิ้มให้ผู้คนไม่ต่ำกว่า 3.8 ล้านคนทั่วโลกมาแล้ว กลับทำให้คนออสซี่ได้แต่ยิ้มอ่อน        ปัญหานี้เรื้อรังยาวนานจนมีการตั้งกลุ่มใน facebook เพื่อการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวความผิดหวังจากบริการส่งดอกไม้และกระเช้าของขวัญดังกล่าวกันอย่างจริงจัง         มีเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคให้บริษัท “หยุดรับออเดอร์” หากไม่พร้อมหรือไม่มีความมั่นใจว่าสามารถจัดส่งดอกไม้ได้ตามกำหนดเวลา เพราะการรับออเดอร์เกินตัวทำให้เกิดความผิดหวังกันทั่วหน้า กรณีที่อุกอาจที่สุดคือกรณีของผู้หญิงคนหนึ่งที่สั่งซื้อช่อดอกไม้ “ขนาดใหญ่พิเศษ” หกช่อ ในราคา 325 เหรียญ (ประมาณ 7,700 บาท) ให้นำไปส่งในงานพิธีศพของคนรู้จัก ผ่านไปหนึ่งวันหลังงานจบ เธอเพิ่งจะได้รับดอกไม้ที่หน้าประตูบ้านในเวลาตีสอง และสิ่งที่เธอได้คือดอกเดซี่ช่อเดียว ในสภาพเหี่ยวสุดๆ         เมื่อโทรไปคอมเพลนและขอรับเงินคืน (เธอพยายามอยู่สองวันกว่าจะมีคนรับสาย) ก็ถูกพนักงานวางหูใส่ บริการอะไรกันนี่ ... ทั้งช้าและเฉา ไม่เข้ากับสโลแกน “เฟรช ฟาสต์ แอนด์แฟร์” ของบริษัทเอาเสียเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 กระแสต่างแดน

คิดก่อนซื้อ        กว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนในฝรั่งเศสจะมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อยหนึ่งตัว ภาพของคนปารีสที่พาสุนัขไปด้วยกันทุกที่ ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟ เข้าคาเฟ่ หรือร้านอาหาร ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตา         อย่างไรก็ตาม แต่ละปีมีหมาแมวถูกทิ้งไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว โดยเฉพาะช่วงพฤษภาคมถึงสิงหาคมซึ่งเป็นวันหยุดฤดูร้อน เพราะเจ้าของไม่สะดวกจะพาไปด้วยแต่ก็ไม่สามารถหาสถานที่รับเลี้ยงได้ ล่าสุดเมื่อคนเริ่มกลับเข้าออฟฟิศหลังการระบาดของโควิด 19 ก็มีสัตว์เลี้ยงถูกทิ้งเพิ่มขึ้นเช่นกัน         จึงเป็นที่มาของกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอีกสองปีข้างหน้า (2567) ที่ห้ามจำหน่ายสัตว์เลี้ยง “หน้าร้าน” เพื่อป้องกันการซื้อโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผู้คนที่เดินผ่านไปมา ใครที่อยากเลี้ยงก็ต้องติดต่อขอซื้อกับร้านค้าที่ได้รับอนุญาต คอกเพาะพันธุ์ หรือไม่ก็ขอรับเลี้ยงจากศูนย์ดูแลสัตว์ เท่านั้น         การซื้อขายสัตว์เลี้ยงออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน และในอนาคตกฎหมายยังห้ามนำโลมาและวาฬมาแสดงโชว์ (ปี 2569) และห้ามคณะละครสัตว์นำสัตว์ป่ามาร่วมแสดงด้วย (ปี 2571)     มือปราบขยะพิษ        ผลงานล่าสุดของปฏิบัติการ “คุนหลุน 2022” คือการจับกุมผู้ต้องสงสัย 22 คนที่กำลังขนถ่าย “ขยะ” ที่เป็นผลพวงจากการผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออน จากโรงงานในเสฉวนไปแอบทิ้งลงแม่น้ำในเขตฉงชิ่ง         เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการแอบทิ้งขยะในแม่น้ำเจียหลิง (สาขาของแม่น้ำแยงซี) จากการสอบสวนพบว่ามีขยะดังกล่าว ซึ่งมีส่วนประกอบของแมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี ทำให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อทั้งคน พืช และสัตว์น้ำ ถูกทิ้งลงแม่น้ำไปแล้ว 47,000 เมตริกตัน                 ผู้ที่ทำสัญญารับงาน “ทิ้งขยะ” จากโรงงานดังกล่าว อ้างว่าได้ว่าจ้างทีมรถบรรทุกมาทำการขนส่ง แต่ทีมนี้กลับนำไปทิ้งไม่ถูกที่ แต่ตำรวจยังไม่เชื่อและการสืบสวนยังดำเนินต่อไป         แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีครอบคลุมพื้นที่ 9 มณฑล และอีก 2 เทศบาล และเป็นที่อยู่อาศัยของร้อยละ 40 ของประชากรจีน แผน “คุนหลุน 2022” ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับคดีที่เกี่ยวกับอาหาร ยา สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา สามารถดำเนินคดีได้แล้ว 76 คดีขอใช้ไฟ        ผู้ใช้ไฟฟ้าคนหนึ่งในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย เดินทางไปที่สำนักงานการไฟฟ้าท้องถิ่นของ MESCOM ทุกวันเพื่อบดเครื่องเทศและชาร์จโทรศัพท์ หลังไม่ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องไม่มีไฟฟ้าใช้         ชายคนดังกล่าวซึ่งเป็นเกษตรกร บอกว่าเขาได้พยายามโทรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งปัญหาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ จนเขาตัดสินใจพบกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน หลังจากมีปากเสียงกัน เจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งเป็นวิศวกรอาวุโส ก็พูดกับเขาทำนอวว่า “ถ้าลำบากนักก็มาใช้ไฟที่สำนักงานเลยสิ” ชายคนนี้ก็มาจริงๆ และมาทุกวัน เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว         หลังจากเรื่องนี้ติดเทรนด์ในอินเทอร์เน็ต ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ พนักงานผู้น้อย 10 คน โดนใบแจ้งเตือนฐานยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ไฟฟ้าของบริษัท ในขณะที่ชายคนดังกล่าวก็ยังไม่มีไฟฟ้าไว้ใช้เดินปั๊มสูบน้ำทำการเกษตรแต่อย่างใด             ข่าวระบุว่าพื้นที่แถบบ้านของเขามีไฟฟ้าใช้รวมแล้วเพียงวันละ 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น  แบนต่อเลยได้ไหม        ออสเตรเลียเตรียมพิจารณายกเลิกการแบนรีวิวหรือการรับรองบริการศัลยกรรมความงามโดยคนไข้          แน่นอนว่าทั้งสมาคมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียไม่เห็นด้วย เพราะหากปล่อยให้คลินิกเหล่านี้ใช้ “รีวิวจากคนไข้” ในการโฆษณาได้อย่างเสรี ปัญหาที่มีจะยิ่งเลวร้ายขึ้น         นอกจากจะไม่สามารถตรวจสอบหรือพิสูจน์คำพูดเหล่านั้นได้แล้ว ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสได้เห็นรีวิวเชิงลบของบริการดังกล่าวในเว็บไซต์ของคลินิกเสริมความงามแน่นอน ที่สำคัญคลิปรีวิวเหล่านี้มักถูก “ถ่ายทำ” ทันทีหลังการผ่าตัด บางครั้งคนไข้อาจยังไม่สร่างจากฤทธิ์ยาแก้ปวดด้วยซ้ำ            ทุกวันนี้การใช้แฮชแท็กของแพทย์บางคนในอินสตาแกรมก็ไม่ต่างอะไรกับการล้างสมองให้สาวๆ รู้สึกว่าการเสี่ยงใช้บริการที่มีความเจ็บปวด อย่างการดูดไขมันหรือเสริมหน้าอก เป็นเรื่องที่ควรทำ         ออสเตรเลียได้ทำการสอบสวนพฤติกรรม “ขายเก่ง” ของแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ถูกสื่อมวลชนเปิดโปงไปก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีศัลยแพทย์หรืออินฟลูเอนเซอร์คนใดถูกลงโทษ รวมให้เสร็จ        รัฐนิวยอร์กแบน “ค่าธรรมเนียมแฝง” ในการจองตั๋ว หมายความว่าราคาตั๋วสำหรับการแสดงสดหรือการแข่งขันกีฬาที่ผู้ใช้เห็นในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จะต้องเป็น “ราคาสุดท้าย” ไม่มีอะไรมาบวกเพิ่มอีก และต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้บริโภคมองเห็นได้อย่างชัดเจน          กฎหมายที่ว่านี้ยังห้ามคิดค่า “เดลิเวอรี” กับตั๋วออนไลน์ที่ผู้ซื้อต้องสั่งพรินต์เอง รวมถึงเพิ่มโทษสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์หรือบ็อทในการซื้อตั๋วด้วย         ด้าน Ticketmaster ตัวแทนจำหน่ายตั๋วรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาออกมาชื่นชมและสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว และแสดงความยินดีกับบรรดาศิลปินที่จะสามารถกำหนดราคาตั๋วการแสดงสดของตนเองให้แฟนๆ ได้ซื้อในราคาที่เหมาะสม        อย่างไรก็ตามประเด็นที่ถูกตัดออกไปก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาได้แก่ เรื่องการขอเงินคืนกรณีที่เกิดความล่าช้าเพราะโรคระบาดโควิด 19 และการลดสัดส่วน “ตั๋วพิเศษ” สำหรับคนวงในและวีไอพี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ผู้บริโภค เลิกกินสัตว์น้ำวัยอ่อนกันสักที

        จากการลดจำนวนลงของสัตว์ทะเลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน หมายความว่า มีการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นมิตรกับท้องทะเล ทั้งการทำประมงแบบอวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน โดยเฉพาะการใช้ “อวนลาก” ที่จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด ไม่เลือกขนาด และยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำไปด้วย         เราได้ข้อมูลจาก นางสาวรภัสสา ไตรรัตน์ ซึ่งทำงานให้กับองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย (OXFAM in Thailand) ว่า จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการทำประมง ในโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง“โครงการสำรวจองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำในปลาเป็ด จากการประมงขนาดใหญ่  (Phase I สงขลา)” ซึ่งมี ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมี ผศ. ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางสาวศิริวรรณ เจาวงศ์สวัสดิ์  นางสาวสุใบด๊ะ หมัดสะมัน นางสาวกาญจนา สังข์แก้ว เป็นคณะผู้วิจัย นั้น         การศึกษาดังกล่าวพบว่า ปัญหาการลดลงของสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย สันนิษฐานว่ามาจากการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืน จากเครื่องมือที่ทำร้ายท้องทะเลและพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น การทำประมงอวนลาก อวนล้อมปั่นไฟกลางคืน         สำหรับ “อวนลาก” นั้นจัดว่าเป็นเครื่องมือประมงที่ “จับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกชนิด เลือกขนาด” ทำให้ในจำนวนสัตว์น้ำที่ติดมากับอวนลาก มีทั้งสัตว์ที่เป็นอาหาร และสัตว์ที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงตัวอ่อนของสัตว์ที่ยังไม่เหมาะจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เพราะมีขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้สัตว์เหล่านี้ตายง่าย และเน่าเสียได้ง่าย ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หากนำไปขายก็จะได้ราคาต่ำ หรือเรียกสัตว์น้ำกลุ่มนี้อีกอย่างว่า “สัตว์น้ำพลอย (ถูก)จับ” หรือ “by-catch”         ในอดีตยามชาวประมงจับสัตว์น้ำขึ้นมาแล้วจะทำการคัดแยก และทิ้งสัตว์ที่พลอยจับได้ลงทะเล หรืออาจจะนำมาทิ้งบนฝั่ง แต่ปัจจุบันพบว่ามีการนำ “สัตว์ที่พลอยถูกจับ” มาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เช่น นำไปเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด จึงถูกเรียกว่า “ปลาเป็ด” และกลายเป็นที่ต้องการของตลาดอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาป่น เนื่องจากเป็นส่วนประกอบโปรตีนที่สำคัญในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ         แต่ไม่ว่าสัตว์น้ำเหล่านี้จะถูกโยนทิ้งลงทะเลหรือนำขึ้นมาขายในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ตาม ล้วนแต่เป็นการสร้างความสูญเสีย และทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการทำงานของอวนลากที่กวาดทำลายพื้นผิวใต้น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย         “ที่สำคัญคือสัตว์เศรษฐกิจตัวอ่อนที่ถูกจับมาก่อนวัยอันควรนับเป็นการสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต จัดเป็นการทำประมงที่ไม่คุ้มค่า และไม่ยั่งยืน”         นางสาวรภัสสา อธิบายว่า จากการสำรวจชนิดสัตว์น้ำเศรษฐกิจในตลาดที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาและบริเวณท่าเทียบเรือประมงสงขลา 2 (ท่าสะอ้าน) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 และ เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 โดยการสุ่มตัวอย่างเรือประมงอวนลากขนาดระหว่าง 21.23 – 79.51 ตันกรอส จำนวน 9 ลำ ที่ออกทำการประมง 5-10 วัน/เที่ยว ในน่านน้ำนอกฝั่งสงขลาและนครศรีธรรมราช มีผลจับสัตว์น้ำรวมอยู่ระหว่าง 1,861 –16,711 กิโลกรัมต่อลำ พบว่าในนั้นมีปลาเป็ดอยู่ในช่วง 6.16 – 47.56% และในจำนวนปลาเป็ดเหล่านี้พบว่าไม่น้อยกว่า 5 ชนิดเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมรับประทาน“ส่วนที่นิยมรับประทานหรือสัตว์เศรษฐกิจพบว่ามีประมาณ 68 ชนิด ถูกนำไปแปรรูปเพื่อบริโภคกันในรูปของเนื้อปลาบด (surimi) เพื่อนำไปผลิต ลูกชิ้น หรือผลิตภัณฑ์เนื้อปลาต่างๆ”         เมื่อพิจารณาถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แบ่งได้ 2 กรณี คือ         กรณีที่ 1 การนำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดที่มีขนาดใหญ่มาขายในรูปปลาเป็ด จะได้มูลค่า 13,630.72 บาท แต่หากปล่อยให้สัตว์เหล่านี้เติบโตจนได้ขนาดที่พอเหมาะและเป็นที่ต้องการของตลาดแล้วค่อยนำจับมาขาย ถ้าพิจารณาจากราคาอ้างอิงต่ำสุดและราคาสูงสุด ขององค์การสะพานปลาแล้ว จะมีมูลค่าต่ำสุดรวม 197,172.09 บาท มูลค่าสูงสุดรวม 328,617.59 บาท แต่พอมีการจับปลาเล็กปลาน้อยมาขายเป็นปลาเป็ด ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเที่ยวของการออกทำการประมงของเรือแต่ละลำ ของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่รวม 9 ลำ เป็นมูลค่าต่ำสุด 183,541.37 บาท และมูลค่าความสูญเสียสูงสุด 314,986.87 บาท         กรณีที่ 2 การนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตได้ขนาดตลาดแล้วมาขายในรูปปลาเป็ดจะมีมูลค่า 466.22 บาท หากนำมาขายในราคาปลาตลาดจะได้มูลค่าต่ำสุด 1,698.25 บาท มูลค่าสูงสุด 3,065.75 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียจากการนำสัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวมาขายในรูปปลาเป็ดคิดเป็นมูลค่าต่ำสุด 1,232.03 บาท และมูลค่าสูงสุด 2,599.53 บาท         ความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณี จากเรือรวม 9 ลำ ออกทำการประมง 1 เที่ยว/ลำ พบว่าเมื่อ นำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาขายในรูปปลาเป็ด ซึ่งหากคิดราคาโดยอ้างอิงจากราคาของสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.50 บาท ดังนั้นจะได้มูลค่า 14,096.94 บาท หากปล่อยให้สัตว์น้ำเติบโตจนได้ ขนาดตลาดจะมีมูลค่าต่ำสุด 198,870.34 บาท มูลค่าสูงสุด 331,683.34 บาท ก่อให้เกิดความสูญเสียทาง เศรษฐกิจ โดยการคำนวณจากเรือรวม 9 ลำ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่ำสุด 184,773.40 บาท ความสูญเสีย สูงสุด 317,586.40 บาท ต่อเที่ยวของการออกทำการประมง แล้วถ้า         หากกำหนดให้ในรอบ 1 ปี มีการออกทำการประมง 30 เที่ยว จะเกิดความสูญเสียขึ้นถึง 5,543,202.00 - 9,527,592.00 บาท ยังไม่นับรวมความสูญเสียจากการทำประมงจากเรืออวนล้อมและเรือปั่นไฟปลากะตัก ก็เป็นอีกแหล่งหนึ่งของ ปลาเป็ด และพบอีกด้วยว่ามีส่วนประกอบที่เป็นปลาเศรษฐกิจวัยรุ่นมากกว่าในอวนลาก         สำหรับชนิดสัตว์น้ำที่มีการสูญเสียเนื่องจากไม่มีโอกาสได้เติบโต ได้แก่ ปลาอินทรีบั้ง ปลาทรายแดง ปลา ทรายขาว ปลาตาหวาน ปลาสาก ปลาปากขลุ่ย หมึกต่างๆ หอยเชลล์ กั้งกระดาน เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำชนิดที่มี ขนาดเล็กที่สูญเสียโดยตรง ได้แก่ กุ้งตาแฉะ ปลาแพะ ปลาแป้นแก้ว ปลานกขุนทองเขี้ยว เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการประมงอวนลากในน่านน้ำไทยถูกควบคุมค่อนข้างเข้มงวด โดยการบังคับใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ของกรมประมง บังคับให้เรือประมงติดตั้งระบบ VMS (Vessel Monitoring System) ประจำเรือ ให้มีการลงทะเบียนเครื่องมือประมง และเวลาการจับ มีการจำกัดจำนวนเรือ รวมถึงมีระบบการแจ้งเข้า-ออกท่า (Port-in Port-out/PIPO)         มาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้จำนวนและปริมาณการประมงจับปลาหน้าดินลดลงได้ในระดับหนึ่ง และแม้ภาครัฐจะมีแผนในการกำหนดมาตรการเพื่อลดสัดส่วนปลาเศรษฐกิจในปลาเป็ดให้เป็นที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในทางปฏิบัติได้ว่ามีผลดีต่อปริมาณปลาในธรรมชาติจริง         ผลจากการวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ได้บทสรุปว่าเนื่องจากในน่านน้ำไทยมีความหลากชนิดของปลามากกว่า 2,000 ชนิด และเป็นปลาเศรษฐกิจ มากกว่า 700 ชนิด การใช้แนวทางหรือมาตรการเดียวในการบริหารหรือจัดการประมง อาจไม่ช่วยลดการ สูญเสียปริมาณและความหลากชนิดได้ในภาพรวม จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการประกอบกัน เช่น การกำหนด เขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ การลดหรือจำกัดการใช้เครื่องมือจับที่ทำลายล้าง ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่น ตะเฆ่ การงดใช้เรือปั่นไฟจับปลากะตัก และการกำหนดหรือส่งเสริมการดัดแปลงเครื่องมืออวนลากต่างๆ ให้มีการ “ถูกพลอยจับ” ให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่        สิ่งสำคัญคือ "ผู้บริโภค" ที่ต้องมีความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสัตว์น้ำตัวอ่อนที่มีผลต่อของวัฏจักรแห่งท้องน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ตลอดจนคนรับประทานอาหาร ซึ่งที่ยังคงเชื่อว่าการการรับประทานปลาเล็ก ปลาน้อยชนิดที่กินได้ทั้งตัว จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไปเต็มๆ นั้น อาจจะต้องปรับทัศนคติกันเสียใหม่ ก่อนที่สัตว์น้ำเหล่านี้จะสูญพันธุ์         ขณะที่ นางสาวณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์  ผู้ประสานงานรณรงค์เรื่องทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากที่มีการประชุมโกลบอล โอชี่ยนทริป และมีงานวิจัยจากกรีนพีชที่ทำร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศทั่วโลก ระบุว่าเราสามารถปกป้องพื้นที่ มหาสมุทรได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 โดยการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเล หรือการทำ “สนธิสัญญาทะเลหลวง” ซึ่งจะคุ้มครองเรื่องอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในทะเล เช่น การทำเหมืองแร่ในทะเล อุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงเรื่องของการทำประมงแบบทำลายล้าง เป็นต้น          ระหว่างการผลักดันให้เกิดการรับรอง “สนธิสัญญาทะเลหลวง” แคมเปญที่กรีนพีซกำลังทำคู่กันไปคือการส่งเรือสำรวจพื้นที่ทะเลตั้งแต่ขั้วโลกเหนือ ถึงขั้วโลกใต้ เพื่อศึกษาผลกระทบกับมหาสมุทร ทั้งจากปรากฏการณ์โลกร้อน และอุตสาหกรรมทางทะเล ซึ่งตอนนี้เดินเรือสำรวจมาได้ครึ่งทาง ก็พบว่าในแต่ละที่ที่สำรวจจะมีปัญหาอยู่ เช่น พื้นที่ภูเขาใต้ทะเล จะมีปัญหาจากการทำประมงแบบทำลายล้าง มีการทิ้งซากอวนลงในพื้นที่ ซึ่งนับว่าปัญหาใหญ่ของโลกก็มาจากอุตสาหกรรมประมงที่ทิ้งลงทะเล         นอกจากนี้ ยังพบพื้นที่ทะเลแคริเบียน ซึ่งจะมีสาหร่ายที่เป็นแหล่งอนุบาลปลา และเป็นแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะมีปัญหาขยะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่แถวๆ นั้น สัตว์ทะเลก็กินเข้าไปเพราะคิดว่าเป็นอาหาร เป็นหญ้าทะเล และก่อนหน้านั้น มีการพบว่าพื้นที่ขึ้นไปทางสเปน ซึ่งเป็นถ้ำ หรืออุโมงค์ใต้ทะเล ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุ ที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมแร่ทางทะเลพยายามจะเข้าไปสำรวจอยู่         สำหรับ เรื่องการทำประมงแบบทำลายล้างในประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยได้รับใบเหลืองจากไอยูยู  หรือปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายและขาดการตรวจสอบ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแก้ไข พ.ร.ก. การทำประมง และออกมาตรการที่เข้มงวดเรื่องการทำประมงมากขึ้น แง่หนึ่งทำให้การทำประมงในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น จนหลุดจากการได้รับใบเหลืองแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการการใช้อุปกรณ์ทำประมง ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมาด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างร่วมกับภาคีเครือข่ายทำการสำรวจตลาดว่า มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำสู่การผลักดันไปสู่เชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบทำลายล้างที่กวาดเอาสัตว์น้ำวัยอ่อนไปด้วย         กลับมาที่การทำสนธิสัญญาทะเลหลวง นางสาวณิชนันท์ ระบุว่า มีแนวโน้มที่หลายประเทศจะให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงกดดันจากภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่ไม่อยากเสียประโยชน์ อาทิ เหมืองแร่ อุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ถ้าพูดถึงการรณรงค์เรื่องนี้ในระดับนานาชาติ ถือว่าได้รับความสนใจ และการตอบรับค่อนข้างดี         ทั้งนี้ มหาสมุทรมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ต่างๆ การที่ปกป้องมหาสมุทร อย่างน้อยตามเป้าหมายของเราคือ 1 ใน 3 ของพื้นที่มหาสมุทรก็จะช่วยเรื่องเหล่านี้ได้มา ทั้งเรื่องของโลกร้อน การปกป้องระบบนิเวศน์ท้องทะเลที่มีผลต่อสัตว์ทะเล เพราะถ้าปกป้องพื้นที่ในทะเลก็จะทำให้มีแหล่งดูแลอนุบาลพันธุ์ปลา ปลาก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในส่วนนี้ก็จะเชื่อมโยงไปถึงการประมงด้วย ทุกวันนี้ประชากรปลา สัตว์น้ำลดลง เพราะมีการทำประมงขนาดใหญ่เยอะขึ้น ยิ่งปลาหายากเท่าไรก็ต้องออกเรือไปไกลมากขึ้น          แต่ถ้าสนธิสัญญานี้ไม่เกิดขึ้น ผลเสียที่เห็นแน่ๆ เลยคือความหลากหลายในท้องทะเลหายไป แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำที่เคยเป็นที่ทำประมงก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะถ้ามีการทำเหมืองแร่ ชาวประมงย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะนอกจากนี้ปัญหาจำนวนสัตว์น้อยลงแล้ว ยังเสี่ยงกับสารเคมีอีก         ดังนั้นสุดท้ายกลับมาที่คนกิน         “นายสง่า ดามาพงษ์” นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้ข้อมูลว่า อาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมไปด้วย โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ซึ่งเป็นคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์น้ำจืดเท่าไหร่ ยกเว้นว่าอาหารทะเลมีไอโอดีนผสมอยู่ แต่ถ้าเป็นปลา จะย่อยง่ายกว่า โปรตีนมีคุณภาพเหมาะกับทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะย่อยง่ายเมื่อเทียบกับเนื้อชนิดอื่นๆ ส่วน ปลาเล็ก ปลาน้อยมีแคลเซียมอยู่มาก เพราะเราสามารถรับประทานไปได้ทั้งตัว กินทั้งกระดูก ส่วนสารอาหารอื่นๆ เท่ากันกับปลาตัวใหญ่ เมื่อรับประทานในปริมาณเท่ากัน         อย่างไรก็ตาม ปลาเล็กปลาน้อยมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งที่นิยมนำมารับประทานส่วนใหญ่ คือปลาทราย ปลากระตัก ซึ่งเป็นปลาพันธุ์เล็ก ต่อให้เป็นตัวเต็มวัยขนาดตัวก็ยังเล็กลีบเช่นนั้น จึงสามารถรับประทานได้ แต่ที่เขารณรงค์ไม่ให้กินปลาเล็กปลาน้อยคือลูกปลาที่เพิ่งออกมาจากไข่ อย่างนั้นไม่ควรกินอยู่แล้ว ต้องกินให้ถูกด้วย การได้แคลเซียมจากปลาไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินปลาตัวเล็ก ตัวน้อยเท่านั้น แต่ปลาตัวใหญ่ ในเนื้อของมันก็มีแคลเซียมเช่นกัน นอกจากนี้ สารอาหารที่มีอยู่ในปลา หรือสัตว์ทะเล ก็พบว่ามีอยู่ในแหล่งอาหารอื่นๆ เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง รวมถึงดื่มนมรสจืด ไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้ได้รับสารอาหารเหล่านี้ด้วย.  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 น้องหมาห้องเช่าข้างๆ เสียงดังทำอะไรได้บ้าง

โดยทั่วไป คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเม้นท์ จะมีกฎระเบียบห้ามเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันเรื่องเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากลักษณะของห้องที่เรียงรายติดต่อกัน   ดังนั้นผู้อยู่อาศัยจึงไม่ควรละเมิดกฎเกณฑ์ แต่หากห้องข้างเคียงทำผิดกฎ การแจ้งให้ผู้ดูแลอาคารหรือส่วนกลางของคอนโดดำเนินการ ก็เป็นสิ่งที่กระทำได้        อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง หลายคนแม้รู้สึกถูกรบกวนด้วยการเลี้ยงสัตว์ของเพื่อนห้องข้างๆ หรือชั้นเดียวกัน แต่ไม่อยากมีปัญหาที่เกิดจากการฟ้อง เพราะต้องอาศัยอยู่ด้วยกันอีกนาน คงอยากได้คำตอบว่า สามารถทำอย่างไรได้บ้าง        เช่นเดียวกับคุณธรณี อยู่อพาร์ตเม้นท์ในซอยแห่งหนึ่งมาได้เกือบสามปีแล้ว จนเมื่อประมาณต้นปี 2562 มีเพื่อนหรือผู้เช่าห้องข้างเคียงใหม่ นำสุนัขมาเลี้ยงไว้ในห้องเช่าด้วย โดยเจ้าของอพาร์ตเม้นท์ก็รู้เห็น ปัญหาคือ เวลาผู้เช่าห้องนั้นไปทำงาน สุนัขจะเห่าเสียงดังเวลาที่มีคนเดินผ่านหน้าห้อง ทำให้คุณธรณีเดือดร้อน รำคาญเนื่องจากเขาอยู่อาศัยในห้องเกือบตลอดเวลา เคยแจ้งผู้ดูแลอาคารก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ การไปแจ้งตำรวจผู้ร้องหรือคุณธรณีก็ไม่อยากมีปัญหากับผู้เช่าใหม่ เพราะห้องอยู่ติดกัน “ผมจะทำอะไรได้บ้าง”  แนวทางแก้ไขปัญหา          1.ควรแจ้งให้เจ้าของอพาร์ตเม้นท์หรือผู้ดูแลอาคารจัดการปัญหา โดยขอคำตอบว่า จะดำเนินการได้เมื่อไร อย่างไร เนื่องจากอพาร์ตเม้นท์เป็นสิทธิของเจ้าของว่าจะมีกฎเกณฑ์เรื่องให้เลี้ยงหรือห้ามเลี้ยงสัตว์หรือไม่  และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เช่าห้องทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน          2.ผู้ร้องอาจแจ้งเหตุเสียงดังต่อหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เทศบาล เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากเหตุรำคาญ เช่น กลิ่น เสียง ฯลฯ โดยทำเป็นหนังสือแจ้งต่อเทศบาลได้ เมื่อมีการแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเข้ามาตรวจพื้นที่และแก้ไขปัญหา ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535           3.กรณีที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ ควรทำหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานเขต เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ข้อ 16 (3) มีหลักว่า ในการเลี้ยงสุนัข เจ้าของสุนัขต้องควบคุมดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ‘ยาปฏิชีวนะในพืชและสัตว์’ เมื่อผู้บริโภคอาจกินเชื้อดื้อยาเข้าปาก

ในช่วง 5-6 ปีหลังๆ มานี้ บุคลากรด้านสาธารณสุขและนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ทำการรณรงค์เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลบ่อยครั้งขึ้น ถึงกระนั้น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลจนก่อผลกระทบด้านสุขภาพก็ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง        ข้อมูลจาก ‘ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ เมื่อปลายปี 2558 ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อถึงปี 2593 คาดว่าการเสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะเสียชีวิตมากที่สุดคือ 4.7 และ 4.2 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสูงถึง 3,500 ล้านล้านบาท        องค์การอนามัยโลกยังระบุด้วยว่าแนวโน้มการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้โลกเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีวนะ(Post-antibiotic era) ที่การติดเชื้อแบคทีเรียเพียงเล็กน้อยอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตและเข้าสู่การล่มสลายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่สามารถทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดได้อีกต่อไป เพราะหัตถการทางการแพทย์เหล่านี้ต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการป้องกันและรักษาการติดเชื้อ         ส่วนในประเทศไทย ประมาณการเบื้องต้นคาดว่า มีการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 87,751 ครั้ง        เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,481 รายหรือร้อยละ 40 ของผู้ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น 3.24 ล้านวัน มูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาคิดเป็น 2,539-6,084 ล้านบาท เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ        จากข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคที่ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ต้องทานยา ไม่ต้องผ่าตัด อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทว่า ในความเป็นจริงปัญหาดังกล่าวใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเป็นไปได้ว่าเชื้อดื้อยาอาจมากับอาหารที่เรากิน โดยเฉพาะส้มและปลาทับทิม นี่ยังไม่รวมถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค  แม่น้ำที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ         ต้องกล่าวก่อนว่าการทำปศุสัตว์อย่างหมู ไก่ หรือโคนม และการเลี้ยงปลามีการใช้ยาปฏิชีวนะอยู่แล้วโดยทั่วไป เกษตรกรสามารถซื้อยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์ได้ตามร้านขายเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ซึ่งเคยมีการสำรวจพอเชื้อดื้อยาทั้งในหมูและไก่มาแล้ว ส่วนในสัตว์น้ำพบเชื้อดื้อยาในปลามากกว่ากุ้ง โดยเฉพาะการดื้อต่อยา tetracycline, oxytetracycline และ sulfamethoxazole แน่นอนว่าเรื่องนี้ชวนวิตกกังวล เพราะในคนที่มีอาการแพ้ยา การได้รับเชื้อดื้อยาเพียงน้อยนิดอาจหมายถึงชีวิต         ภก. สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอยุธยา เปิดเผยกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         การติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะในกระชังปลาทับทิมในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา อ่างทอง ไปจนถึงชัยนาท พบว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มในการเลี้ยงปลา ตั้งแต่ที่ผสมมากับอาหารเลยก็คือ tetracycline กลุ่มที่ใช้รักษาโรคพื้นๆ อย่าง penicillin amoxicillin แล้วก็มีกลุ่มที่ใช้รักษาโรคพิเศษคือกลุ่ม quinolone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสัตว์        ภก. สันติ ยังบอกอีกว่า ยากลุ่ม quinolone นี้ยังไม่แน่ใจว่าขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือเปล่าหรือว่ามาจากตลาดมืด แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร ตั้งแต่ต้นน้ำก็คือเขื่อนเจ้าพระยาที่ชัยนาทมาถึงอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ พบว่ามีการใช้อย่างไม่มีการควบคุม ชาวบ้านสามารถหาซื้อมาใช้ตามคำบอกเล่าหรือแบบบอกต่อจากเพื่อนที่ทำกระชังปลาด้วยกัน         “ผู้ประกอบการจะประเมินจากจำนวนปลาที่อยู่ในกระชังมากน้อย เพราะถ้าความหนาแน่นของปลาในกระชังมีมาก ปลาก็มีโอกาสจะเป็นแผลหรือเกิดโรค เขาก็จะใช้ยาในสัดส่วนที่มากขึ้น ส่วนตัว amoxicillin เขาจะใช้ละลายน้ำแล้วก็หว่านลงในกระชัง ซึ่งเขาก็จะมีความถี่ในการให้ เช่น ให้เช้าเย็นหรือให้ติดต่อกัน 7 วันเหมือนมีคนแนะนำมาว่าควรจะทำแบบนี้ๆ และในส่วนที่เป็นโรคระบาดหรือโรคที่มาตามฤดู เขาก็จะใช้ตัว quinolone ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์ แต่โดยแพ็คเกจแล้วดูเหมือนจะเป็นยาในตลาดมืดมากกว่า ไม่ใช่ยาที่ขายโดยทั่วไป         สิ่งที่เรากังวลก็คือการที่ทั้งผสมอาหารให้ปลากินทุกวันหรือผสมน้ำแล้วหว่านลงในกระชังติดต่อกัน 7 วัน 14 วัน มันเป็นการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคิดว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องเชื้อดื้อยาที่กำลังแพร่หลายมากขึ้น เพราะจะไม่ใช่แค่ตัวปลาในกระชังที่ได้รับยานี้ แต่มันหมายถึงสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาอื่นๆ ก็จะได้รับยาปฏิชีวนะไปด้วย ซึ่งถ้ามันมียีนดื้อยา การที่เราไปบริโภคอาหารที่มีเชื้อดื้อยาอยู่มันจะส่งผลกระทบกับเราหรืออาจจะตกค้างในแม่น้ำ” ภก.สันติ กล่าว  เชื้อดื้อยาในสวนส้ม          อีกกรณีหนึ่งที่เริ่มมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นคือการใช้รักษาโรคพืช โดยเฉพาะโรคกรีนนิ่งในพืชตระกลูส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และมะนาว โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Candidatus Liberibacterasiaticus ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากแก่เกษตรกร         ต่อมางานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบว่า ยาปฏิชีวนะสามารถช่วยรักษาโรคกรีนนิ่งได้ผลดี โดยมีการทดลองเปรียบเทียบยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ tetracycline, penicillin และ ampicillin พบว่า ampicillin ที่เป็นแคปซูลทั้งขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัมได้ผลดีที่สุด จึงมีการส่งเสริมการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าต้นส้มเพื่อรักษาโรคดังกล่าว ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มเป็นไปอย่างแพร่หลาย         จากการลงสำรวจพื้นที่อำเภอเชียงของของ ภก.อิ่นแก้ว สิงห์แก้ว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย พบว่า มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 80 ของสวนที่ใช้ยาปฏิชีวนะ แต่อัตราการใช้ยังไม่รุนแรง ส่วนใหญ่จะใช้ประมาณปีละครั้งหรือปีละ 2 ครั้งเท่านั้น         “การใช้ยาปฏิชีวนะที่เชียงของจะได้รูปแบบมาจากฝาง จะใช้แบบผสมน้ำ ใช้สว่านเจาะรูต้นส้ม แล้วก็ฉีดเข้าไป บางส่วนก็จะใช้ไซริงค์ใหญ่ๆ ประมาณ 20 ซีซีปักคาที่ต้นไว้ บางส่วนก็จะใช้อัดเข้าไปในขวดโค้กแล้วต่อสายน้ำเกลือห้อยไว้ ส่วนใหญ่ก็จะมี 2 รูปแบบนี้ ทางเรากำลังอยู่ในช่วงเก็บข้อมูลทำเป็นทะเบียนผู้ผลิตส้มและทะเบียนยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสวนจึงยังไม่ทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ส่วนยาที่ใช้จะเป็น ampicillin กับ amoxicillin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในคนด้วยสำหรับโรคติดเชื้อทั้งหลาย”         ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเชียงของโดยมีนายอำเภอเป็นประธานได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งสาธารณสุข โรงพยาบาล เกษตรกรผู้ปลูกส้ม และสำนักงานเกษตร เพื่อทำการสำรวจ พูดคุย และแก้ปัญหา โดยจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ปลูกส้มและทะเบียนสารเคมี ทั้งยาปฏิชีวนะและยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงทั้งหลายว่ามีการใช้อย่างไรบ้าง         ภก.อิ่นแก้ว ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรซื้อยาปฏิชีวนะจากร้านขายยาหรือร้านเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับสัตว์เท่านั้น แต่เกษตรกรก็นำไปดัดแปลงใช้เพราะมีการวิจัยว่าใช้ได้ผล แต่ไม่ได้มีการศึกษาผลระยะยาวเรื่องการดื้อยา         เมื่อถามต่อว่ายาปฏิชีวนะสามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์หรือ?         เขาตอบว่าไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับ เพราะการจะมีใบสั่งยาแพทย์ต้องเป็นยาควบคุมพิเศษ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาควบคุมพิเศษเป็นแค่ยาอันตรายทั่วไป        อย่างไรก็ตาม การใช้ยาปฏิชีวนะในส้มในอำเภอเชียงของยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับอำเภอฝาง จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายสวนเริ่มมีความถี่ในการฉีดยาต้นส้มเพิ่มขึ้นจากปีละครั้งเป็นปีละ 2 ครั้ง ล่าสุดที่พบคือ 2 เดือนครั้ง เกษตรกรบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้จะเอาไม่อยู่ ซึ่งน่าสงสัยว่าเชื้อในต้นส้มจะดื้อยาหรือเปล่า                 “มันไม่มีกฎหมายห้ามไว้ว่าห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในสวน แต่กฎหมายจะดูแหล่งแพร่กระจายคือ ร้านยาเวลาขายจะต้องมีใบอนุญาต แล้วเขาจะมีการควบคุมปริมาณและมีรายงาน แต่ปัจจุบันนี้ก็ไม่ค่อยมีที่ไหนรายงานเท่าไหร่ทำให้เกษตรกรไปซื้อตามร้านขายยาได้คราวละมากๆ และอีกปัญหาหนึ่งคือการลักลอบนำเข้าที่เรายังหาเส้นทางไม่เจอ แต่เรารู้ข้อมูลจากตัวผลิตภัณฑ์เพราะมันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนในประเทศไทย         “ของเชียงของตอนนี้ถ้าเราสำรวจผลิตภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยว่ามีตัวไหนบ้าง ใช้ปริมาณเท่าไหร่ ก็มีแผนว่าจะทำเป็นสวนตัวอย่างควบคุม อาจมีการทำวิจัยดูปริมาณสารตกค้างในส้มเพราะเท่าที่เคยอ่านรายงานมาต้นส้มจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนในการกำจัดยาออกจากต้นหมด นั่นหมายความว่าเกษตรกรน่าจะฉีดก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 4 เดือนถ้าจะฉีด ตอนนี้ทางเชียงของทั้งกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันว่าจะทำเป็นตารางการฉีด ถ้าคุณจะฉีดจะฉีดในปริมาณเท่าไหร่ ในระยะเวลาเท่าไหร่ เพื่อให้แน่ใจว่าผลส้มที่ออกมามันปลอดภัย แต่การห้ามฉีดเป็นไปไม่ได้เพราะชาวบ้านก็ลงทุนกับต้นส้มไปเยอะ ถ้ามันติดเชื้อต้องเผาทิ้งทั้งไร่ ก็เหมือนเผาเงินทิ้ง” ภก.อิ่นแก้ว กล่าวกลไกกำกับดูแลที่หละหลวม-การแก้ปัญหาต้องมองทุกมิติ         ไม่จำเป็นต้องถามว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในปลาและพืชจะเกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า แต่ต้องถามว่ามีการตกค้างมากแค่ไหน ซึ่งไม่มีใครรู้ตัวเลขที่แน่ชัดในปัจุบัน ภก.สันติ กล่าวว่า         “การตรวจสอบเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาทำ เพราะการตรวจสอบมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและต้องตรวจในแล็บที่เชื่อถือได้ ซึ่งตัวชาวบ้านเองหรือเครือข่ายที่เฝ้าระวังไม่มีกำลังพอที่จะไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ เราก็เรียกร้องมาหลายปีแล้ว เช่นกรมทรัพยากรธรรมชาติหรือเกษตรที่ตรวจคุณภาพน้ำ ซึ่งเขาตรวจคุณภาพน้ำอย่างเดียว แต่ไม่ได้ตรวจเรื่องเชื้อดื้อยา อันนี้เราเรียกร้องว่าควรจะตรวจโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำกระชังปลาน้ำจืดเยอะๆ”         ปัญหาไม่ใช่แค่นั้น แต่กลไกที่จะคอยกำกับดูแลก็ยังมีข้อติดขัด ภก.ศุภนัย ประเสริฐสุข หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู และผู้ประสานงานเครือข่ายยาชายแดนและผลิตภัณฑ์สุขภาพข้ามแดน กล่าวว่า ในปศุสัตว์มีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่ก็มีกลไกกำกับดูแล แต่ในภาคเกษตรแม้อาจจะใช้น้อยกว่า แต่ไม่มีกลไกในการกำกับดูแล         กลไกการกำกับดูแลหมายความว่า รู้ว่ามีการใช้และสามารถประเมินตรวจสอบได้ว่าใช้แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ใช้แล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดยีนดื้อยามนุษย์ได้ ซึ่งถ้ามีกลไกแบบนี้ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้หรือจำกัดการใช้ในปริมาณที่ถูกต้องหรือกลุ่มยาที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดยีนดื้อยา ภาคเศรษฐกิจก็สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะที่ด้านสาธารณสุขก็ลดการดื้อยาจากเชื้อดื้อยาได้         กลไกในที่นี้หมายถึงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง เช่น ยาปฏิชีวนะจะถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ต้องผ่านหน่วยงานที่กำกับดูแลหลายๆ ส่วน แต่ปรากฏว่าเกษตรกรรายย่อยสามารถซื้อยาเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ใครมาซื้อก็ได้ ซื้อจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ ทำได้เลย ถ้าเป็นรายใหญ่มีข้อมูลว่ามีการสั่งซื้อยากลุ่ม penicillin จากอินเดียที่ใช้ในสวนส้มจำนวนมาก ซึ่งปรากฏว่าเป็นยาที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่ได้ผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแล เพราะถ้ามีการกำกับดูแลยาเหล่านี้จะไม่สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้เพราะไม่ถูกขึ้นทะเบียน ไม่มีฉลาก         “การใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้มทางภาคเหนือก็มีการใช้พร่ำเพรื่อและไม่มีกลไกตรวจสอบเลย เพราะว่าประเด็นนี้เราไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง กฎหมายทางด้านสาธารณสุขก็ยังไม่มีอันไหนที่สามารถใช้ได้โดยตรงมากนัก จะใช้กฎหมายอาหารก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปทำการตรวจวิเคราะห์และการตรวจวิเคราะห์ทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายต้องส่งแล็บที่มีสเกลสูง ซึ่งตามต่างจังหวัดไม่สามารถทำได้”        จากชุดประสบการณ์ที่ทาง ภก.ศุภนัยและคณะทำเรื่องสเตียรอยด์ การนำเข้ายาปฏิชีวนะมีได้ 2-3 ทาง ทางหนึ่งคือ สำแดงเท็จแล้วก็นำเข้ามาโดยตรง ซึ่งต้องผ่านนายหน้า ผ่านบริษัท เพราะโดยกระบวนการที่ถูกต้องเวลาจะนำเข้ายาต้องขออนุญาตนำเข้าผ่านศุลกากร แล้วไปสำแดงกับสำนักด่านอาหารและยาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พอได้รับใบอนุญาตนำเข้าก็จะมีระบบ tracking ว่านำเข้าโดยบริษัทใดนำไปผลิตเป็นยาอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ส่งให้ใคร แล้วก็มาบวกรวมกันว่าสารเคมีที่เหลือถูกต้องตรงกันกับที่ผลิตและกระจายใช้ในประเทศหรือไม่ ดังนั้น คนที่ตั้งใจจะทำผิดจึงไม่เข้าระบบนี้เพราะติดตามได้ว่ายากระจายไปที่ไหน เหลืออยู่เท่าไหร่ จึงมีการลักลอบนำเข้าแล้วกระจายขาย         เหล่านี้แสดงให้เห็นกลไกกำกับดูแลที่ยังหละหลวมและกฎหมายที่จะใช้บังคับก็ไม่มีความชัดเจน กลายเป็นช่องโหว่สำคัญให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชเพิ่มขึ้น         อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถมองในประเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวแล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมันเชื่อมโยงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านที่ทำสวนและเลี้ยงปลา การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอาจหมายถึงการล้มละลายเพราะผลผลิตเสียหาย หากมองในภาพรวม จำเป็นต้องมองให้ครอบคลุมเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างทางเลือกในอาชีพ การถือครองที่ดินทำกินเพราะผู้เลี้ยงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนไม่น้อยไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเลี้ยงปลาในกระชังจึงเป็นทางออกไม่กี่ทางในการเลี้ยงชีพ        การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาจึงมองมิติด้านสาธารณสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องครอบคลุมถึงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และต้องมองเห็นมนุษย์ที่อยู่ในวงจรนี้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 กระแสต่างแดน

Shonky Awards 2019        ทุกปีองค์กรผู้บริโภคออสเตรเลีย CHOICE จะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการยอดแย่โดยคัดเลือกจากผลสำรวจความเห็น ผลทดสอบผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค หรือเรื่องร้องเรียนต่อผู้ประกอบการ และในปีนี้ “ผู้โชคดี” ได้แก่...         ·  ห้างออนไลน์ Kogan ที่โฆษณาว่าตนเองเป็น “ผู้นำด้านการบริการลูกค้า” แต่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีกลับมีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 300 เรื่อง (เฉพาะในรัฐนิวเซาท์เวลส์) ลูกค้าหลายรายต้องเสียเวลาวุ่นวายอยู่นานกว่าจะได้เงินคืนกรณีที่สั่งซื้อสินค้ามาแล้วเกิดความชำรุดบกพร่อง อดีตพนักงานคนหนึ่งของห้างบอกว่าเคยเห็นยื้ออยู่สามสี่รอบ ทั้งๆ ที่ลูกค้าควรได้เงินคืนตั้งแต่รอบแรก นอกจากนี้บริษัทยังถูก ACCC องค์กรที่ดูแลด้านการแข่งขันฟ้องเพราะถูกจับได้ว่าแอบเพิ่มราคาสินค้าขึ้นร้อยละ 10 ก่อนที่จะทำโปรโมชั่น “ลด 10 เปอร์เซนต์” ...สายช้อปออนไลน์ต้องระวัง         ·  อีกรายคือผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็ก XO Crunch ที่ติดฉลากอวดอ้างว่าเป็นแหล่งไฟเบอร์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็กๆ CHOICE คำนวณแล้วพบว่าถ้าจะกินให้ได้ครบความต้องการของร่างกายของเด็ก ลูกๆ ของคุณจะต้องกินถึง 8 ถ้วย และรับน้ำตาลเข้าไป 62 กรัมหรือ 14 ช้อนชาด้วยและที่น่าสงสัยคือ ผลิตภัณฑ์นี้ได้ “4 ดาวสุขภาพ” มาได้อย่างไร ทั้งที่มีน้ำตาลมากกว่าร้อยละ 22 ความจริงเมื่อคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน XO Crunch ควรจะได้แค่ 1.5 ดาวเท่านั้น (ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวัน)         ·  AMP ที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนเจ้าดังในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็คว้ารางวัลนี้ไปเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนเกินเข้าใจว่าทำไมถึงแนะนำให้ลูกค้ายกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เคยมี แล้วขายแผนการคุ้มครองใหม่ให้ด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้น รายนี้คิดค่าธรรมเนียมการให้คำปรึกษาแพงลิ่วโดยไม่ได้ให้อะไรตอบแทนลูกค้า และฝ่ายที่ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้ามากที่สุดคือฝ่ายดูแลกองทุนเงินเกษียณ บริษัทมีบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว AMP Retirement Trust และ Super Savings Trust อยู่ประมาณหนึ่งล้านบัญชี ในปี 2018 เอาไว้กินค่าธรรมเนียมสบายๆ         ·  นอกจากตู้ โต๊ะ เตียงแบบประกอบเอง และสินค้าเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆ อิเกีย ยังทำตู้เย็นขายด้วย ทีมทดสอบของ CHOICE ซึ่งทดสอบตู้เย็นมาอย่างโชกโชนพบว่าตู้เย็นรุ่น Nekyld ของเจ้านี้มีข้อบกพร่องมากจนไม่น่าเชื่อ         ตู้เย็นแบบ “มินิมอลลิสต์” นี้ใช้พลังงานมากกว่าที่ระบุบนฉลากประหยัดไฟถึงร้อยละ 8.9 และเพื่อให้ราคาถูก เขาจึงตัดฟีเจอร์ที่ “ไม่จำเป็น” ออกไปหลายอย่าง ส่งผลต่อประสิทธิภาพและทำให้อาหารเสียเร็วขึ้น ตู้เย็นรุ่นนี้ได้คะแนน 39 เต็ม 100 ถ้าเป็นการสอบก็เรียกว่า “ตก” สินะ         ·  โดยรวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพของออสเตรเลียถือว่าไม่คุ้มค่าเงินนัก การสำรวจโดย CHOICE ก็พบว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่คนออสซี่กังวลมากที่สุดคือเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจซื้อน้อยลง เพราะนอกจากเบี้ยจะสูงขึ้นทุกปี ความคุ้มค่ากลับลดลง มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เสนอผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสิทธิประโยชน์นอกเหนือไปจากที่ทุกคนได้ฟรีอยู่แล้วในระบบประกันสุขภาพ แต่เจ้าที่โดดเด่นจนต้องได้รับรางวัลไปได้แก่ เมดิแบงก์ ที่ขายแผนประกันแบบ “เบสิก” ในราคาที่แพงกว่าแบบ “บรอนซ์” ของเจ้าอื่นๆ         ·  CHOICE ออกตัวชัดเจนให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อประกันสำหรับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน จากการสำรวจกรมธรรม์ประกันสัตว์เลี้ยงเขาพบว่าเงื่อนไข ข้อยกเว้น ข้อจำกัด มันมากมายจนเวียนหัว เช่น ไม่รวมค่าหมอถ้าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการป่วยแบบเดิมซ้ำ หรือไม่รวมค่าตรวจนอกเวลาทำการ ที่สำคัญถ้าจะซื้อก็ต้องซื้อตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังอายุน้อยๆ ซึ่งดูเหมือนต้องเริ่มจ่ายเร็วขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าไม่ซื้อไว้ก่อน ก็จะมีข้อยกเว้นมากมายเรื่องสุขภาพของสัตว์ก่อนการทำประกัน ราคาเบี้ยมีตั้งแต่ปีละ 180 ถึง 4,500 เหรียญ (3,700 ถึง 93,000 บาท) และจะเพิ่มขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 2

นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นกระบวนการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่ต้องไม่เข้าข่ายเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) เพื่อเลี่ยงปัญหาที่ค้างคาใจของสังคมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจีเอ็มโอมี ซึ่งยีนแปลกปลอมที่หลงเหลือในเซลล์หลังถูกดัดแปรพันธุกรรม เช่น ยีนต้านยาปฏิชีวนะที่มีการใช้เป็นตัวบ่งชี้(marker) ระหว่างการเพิ่มปริมาณยีนที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจหลุดเป็นอิสระระหว่างการย่อยอาหาร และเมื่อไปถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเก็บเอายีนต้านยาปฏิชีวนะเข้าสู่เซลล์ ส่งผลให้แบคทีเรียนั้นกลายพันธุ์จนต้านยาปฏิชีวนะได้  หรือ ยีนโปรโมเตอร์ที่ได้จากไวรัส อาจย้ายตำแหน่งบนโครโมโซมในลักษณะของ transposon แล้วไปกำหนดให้ยีนอื่นที่ไม่เคยทำงานถูกกระตุ้นให้สร้างโปรตีนแปลกประหลาดออกมาในเซลล์ และยีนที่แทรกเข้าไปในโครโซมของเซลล์เจ้าบ้านอาจไม่ใช่ยีนเดี่ยว แต่กลับมียีนอื่นซึ่งสามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เมื่อได้กินอาหารที่ดัดแปรพันธุกรรม เป็นต้น         ด้วยความระแวงในปัญหาที่เกิดจากอาหารที่ดัดแปรทางพันธุกรรมดังกล่าว ผู้บริโภคในสังคมบางส่วนจึงต่อต้านการเข้าสู่ตลาดอาหารของจีเอ็มโอ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้ก็มิได้ย่อท้อต่อปัญหาที่ประสบและได้ทำการค้นพบวิธีการใหม่ โดยนำเอาเทคนิค Crispr มาใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์กินเป็นอาหารเพื่อแก้ไขจีโนมให้เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นตามที่ผู้แก้ไขต้องการ นัยว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อมนุษย์ด้วยกันเองโดยละเว้นที่จะบอกว่า มันสามารถทำกำไรมหาศาลเมื่อทำสำเร็จ         หลักการของ Crispr และการยอมรับ         หลักการของ Crispr นั้นดูมหัศจรรย์มาก ผู้คิดค้นสมควรได้รับรางวัลโนเบลเป็นอย่างยิ่ง...ถ้าในอนาคตอันใกล้ไม่มีการพบเสียก่อนว่า หลักการนั้นถูกนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความผิดปรกติทางพันธุกรรมต่างๆ ที่ถ่ายทอดจากพ่อ-แม่ไปสู่ลูก นอกเหนือไปจากการทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารมนุษย์ทั้งพืชและสัตว์นั้นดูดีกว่าต้นตำรับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ         ผู้ที่นิยมทำอาหารกินเองที่บ้านมักให้เหตุผลว่า สามารถควบคุมทั้งรสชาติและความสะอาด แต่บ่อยครั้งมักพบว่าเสียความรู้สึก เพราะอาหารหลายชนิดที่เป็นผัก-ผลไม้ซึ่งรวมถึงเห็ดที่ชื่นชอบนั้นเปลี่ยนสี ไปในลักษณะที่ไม่พึงประสงค์หลังการปอกหรือหั่นแล้ว จนต้องเพิ่มขั้นตอนการใช้สารละลายซึ่งอาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้น        การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสีของผัก-ผลไม้ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลเนื่องจากการทำงานของเอ็นซัมออกซิเดสในพืชผักและผลไม้ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงได้คิดนำเอาเทคนิค Crisper มาจัดการในเรื่องนี้ โดยปรากฏเป็นบทความในวารสาร Nature ชุดที่ 532 หน้าที่ 293 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2016 เรื่อง Gene-edited Crispr mushroom escapes US regulation ที่มีใจความโดยย่อว่า ผู้ชำนาญด้านพยาธิวิทยาพืชของ Pennsylvania State University ในสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขเพื่อหยุดการทำงานของจีโนมที่สร้าง polyphenol oxidase ของเห็ดกระดุมขาว (Agaricus bisporus) เพราะเอ็นซัมนี้ทำให้เห็ดเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นในข่าวนี้คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) จะไม่ใช้กฎหมายควบคุมเห็ดกระดุมที่ได้รับการแก้ไขจีโนมด้วย Crispr ในลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เนื่องจากไม่ได้มีการสอดใส่ชิ้นส่วนของ DNA แปลกปลอมเข้าไปเหมือนกรณีจีเอ็มโอทั่วไป ดังนั้นเห็ดที่ถูกแก้ไขจีโนมจึงสามารถปลูกและจำหน่ายได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการกำกับดูแลของ อย.สหรัฐอเมริกา นี่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่ได้รับการแก้ไขจีโนมโดย Crispr แล้วได้รับไฟเขียวจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา        จากกรณีตัวอย่างของเห็ดไม่เปลี่ยนสีในปี 2016 นั้น ส่งผลให้กระทรวงเกษตรต้องทำการทบทวนหลักเกณฑ์การควบคุมการดัดแปรพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาหาร แล้วสุดท้ายในปี 2018 กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาก็จนมุม ต้องมีแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร Sonny Perdue ยอมรับว่า พืชที่ถูกปรับปรุงโดยใช้เทคนิคการแก้ไขจีโนมที่เรียกว่า Crispr นั้นไม่อยู่ภายใต้กฎระเบียบพิเศษอื่นใด เพราะปลอดภัยพอๆ กับเห็ดที่ผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมในการปรับปรุงพันธุ์ (ที่ใช้เวลานานกว่าและแพงกว่า) รายละเอียดนั้นสามารถหาอ่านได้ในบทความชื่อ USDA greenlights gene-edited crops ของเว็บ https://cen.acs.org ประจำวันที่ 9 เมษายน 2018 เป็นต้น         ผลต่อเนื่องจากการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาไฟเขียวต่ออาหารที่ผลิตจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกแก้ไขจีโนมในปี 2018 ทำให้มีข่าวที่ปรากฏในหลายเว็บที่สนใจเกี่ยวกับความทันสมัยของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ลงบทความในทำนองว่า ญี่ปุ่น ยังต้องยอมให้อาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกแก้ไขจีโนมเข้าสู่ประเทศได้เหมือนเป็นอาหารธรรมดา ดังปรากฏเป็นบทความเรื่อง Gene-edited foods are safe, Japanese panel concludes ใน www.sciencemag.org เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2019 ข่าวโดยย่อกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ขายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มีการแก้ไขจีโนมแก่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องมีการประเมินความปลอดภัย ตราบใดที่เทคนิคต่างๆ นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ Ministry of Health, Labour and Welfare เห็นชอบ ประเด็นที่สำคัญคือ นี่เป็นการเปิดประตูสู่การใช้ Crispr และเทคนิคอื่นๆ เกี่ยวกับพืชและสัตว์ที่มีไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ในญี่ปุ่น         ดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นของบทความว่า การใช้เทคนิค Crispr นั้นดูดีไปทุกอย่าง ถ้ากระบวนการนั้นเป็นไปอย่างที่หวัง กล่าวคือ ถ้าหวังว่าต้องการตัดยีนแค่ไหนก็ตัดได้แค่นั้น ไม่ขาดหรือไม่เกิน เพราะถ้ามีการขาดหรือเกินนั้นผลที่ตามมาอาจก่อปัญหาที่รุนแรงต่อฟีโนไทป์ของสิ่งมีชีวิตนั้น         แล้วลางร้ายก็ปรากฏขึ้นดังที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนกังวลใจ เพราะมีงานวิจัยเรื่อง Repair of double-strand breaks induced by CRISPR-Cas9 leads to large deletions and complex rearrangements ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 36 หน้า 765–771 ในปี 2018 ชี้ให้เห็นว่า การใช้ Crispr ในตอนนี้อาจจะไปไกลเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะระบบการแก้ไขนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องมากกว่าที่คิดไว้ รายงานดังกล่าวบอกว่า นักวิจัยลองใช้ Crispr เพื่อแก้ไข DNA ทั้งในเซลล์ของหนูและมนุษย์แล้วพบว่า มีส่วนของดีเอ็นเอขนาดยาวถูกลบทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจ มีการจัดเรียงลำดับหน่วยพันธุกรรมใหม่จนทำให้เซลล์กลายพันธุ์ แล้วส่งผลให้เซลล์เสียสภาพร้อยละ 15 ซึ่ง Allan Bradley (ผู้ร่วมทำงานวิจัยนี้) กล่าวเป็นเชิงกังวลกับ Live Science (ในบทความเรื่อง Crispr gene editing may be doing more damage than scientists thought ดูได้จาก www.livescience.com ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2018) ว่า Crispr อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่เราเคยคิด เพราะไม่สามารถควบคุมให้กระบวนการแก้ไข DNA นั้นถูกต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์และอาจมีปัญหาอื่นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม"โดยสรุปแล้วประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับเทคนิค Crispr คือ สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการแก้ไขจีโนมนั้นมีลักษณะเหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า เนื่องจากมีลักษณะฟีโนไทป์ที่แสดงออกคล้ายหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ (wild type) ในกรณีที่ฟีโนไทป์ที่แตกต่างนั้นเกี่ยวกับสีหรือกลิ่น ผู้บริโภคอาจสามารถบอกความแตกต่างได้ แต่ถ้าสีและกลิ่นยังเหมือนเดิมในขณะที่ส่วนการแสดงออกที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ภายในสิ่งมีชีวิตนั้น การสังเกตด้วยตาและจมูกก็อาจทำได้ลำบาก ด้วยเหตุนี้เราอาจต้องสวดมนต์ภาวนาว่า ขออย่าให้ต้องกินอาหารที่ได้ถูกแก้ไขจีโนมเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนึ่งของยีนในสิ่งมีชีวิตอาจส่งผลให้ยีนอื่น ๆ ทำในสิ่งไม่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กระแสต่างแดน

ปอดไม่สำราญ        รายงานการสำรวจมลพิษในเมืองท่าของยุโรปโดยสหพันธ์การขนส่งและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปพบว่า สเปนคือประเทศที่มีมลภาวะจากเรือสำราญมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนาและพาลม่า        รายงานระบุว่าในปี 2017 มีเรือสำราญมาเทียบท่าเรือบาร์เซโลนาถึง 105 ลำ รวมเวลาปล่อยมลพิษ  8,293 ชั่วโมง และปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลฟูรอกไซด์ และฝุ่นจิ๋ว (พีเอ็ม 2.5) ที่ปล่อยออกมานั้น สูงกว่ามลพิษจากรถยนต์ 558,920 คันบนท้องถนนในเมืองถึงห้าเท่า        เช่นเดียวกับพาลม่าที่มีเรือสำราญมาจอด 87 ลำ แต่มลภาวะจากเรือเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ในเมืองรวมกันถึง 10 เท่า        ต้องติดตามว่าสเปนซึ่งได้ชื่อว่าจริงจังกับการจัดการปัญหามลพิษจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า คนสเปนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษถึงปีละ 30,000 คน หิวเลือกได้        ข่าวดีสำหรับสายบุญ สายสุขภาพ และสายรักษ์โลก ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของ “เนื้อสัตว์” ที่เรารับประทานจะไม่เกิดจากการฆ่า        ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสังเคราะห์เนื้อสัตว์ขึ้นในห้องทดลอง หรือใช้พืชผักมาทำเป็นอาหารในรูปแบบที่ต้องการได้        ปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัป” ด้านอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เช่น บียอนด์มีท อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ และจัสต์ฟู้ดส์ และมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย        เมื่อ บียอนด์ฟู้ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 240 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท)         การสำรวจในจีน อินเดีย และอเมริกา พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับ “เนื้อทางเลือก” เป็นอย่างดี และขณะนี้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาอาหารทางเลือกยังสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 312,000 ล้านบาท) ด้วย ขอดีกว่านี้        คิวบาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมาหกเดือนแล้ว แต่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้พบว่าบริการนี้ยังต้องปรับปรุงทั้งเรื่องราคาและอิสระในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล        แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4 GB สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30 เหรียญ(ประมาณ 950 บาท) ต่อเดือน เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนคิวบาพอดี        ในขณะที่แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านแบบ “เหมาจ่าย” อยู่ที่เดือนละ 800 เหรียญ(ประมาณ 25,000 บาท) คิวบามีประชากรทั้งหมด 11,200,000 คน และมีเพียง 79,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน        นอกจากนี้เว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมักจะถูกสั่งปิด และ Etecsa ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่าแอบสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย        ก่อนคิวบาจะเริ่มนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 5.3 ล้านคน จะต้องเชื่อมต่อกับชาวโลกผ่านฮอทสปอต wifi ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงโปรฯ ลดเหลื่อมล้ำ        Digi ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอันดับสามของมาเลเซียออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเดือนละ 10 ริงกิต ตลอดชีพ(ประมาณ 75 บาท) สำหรับผู้พิการที่สมัครใช้บริการรายเดือน        แพ็คเกจโทรไม่อั้นได้ทุกเครือข่ายเริ่มต้นที่เดือนละ 28 ริงกิต(ประมาณ 200 บาท) สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 6 GB เป็นต้นไป ใครที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วก็รับส่วนลดไปโดยไม่ต้องเปิดเบอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแสดงบัตรผู้พิการในการสมัครด้วย        บริษัทบอกว่าโปรฯ นี้เป็นการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน        คนมาเลย์คงกำลังลุ้นกันว่าผู้ประกอบการอีกสองเจ้า ได้แก่ Maxis และ Celcom ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและสองของมาเลเซีย จะจัดโปรฯ อะไรออกมาสู้ เรื่องนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ หน้าดินที่หายไป        ความต้องการบริโภคโปรเซกโก(ไวน์มีฟอง) ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียหน้าดินในประเทศอิตาลี          การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยปาดัวพบว่าร้อยละ 74 ของการสูญเสียหน้าดินในไร่องุ่นในเขตทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นผลมากจากอุตสาหกรรมนี้        ไวน์หนึ่งขวดทำให้เสียหน้าดินประมาณ 4.4 กิโลกรัม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในที่สุดก็คืออุตสาหกรรมที่ผลิตโปรเซกโกปีละ 446 ล้านขวด        ในจำนวนนี้ส่งออก 90 ล้านขวด และประเทศที่นำเข้าโปรเซกโกเป็นสามอันดับแรกของโลกได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ        ผู้ประกอบการแย้งว่าข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะพวกเขาปลูกองุ่นบนพื้นที่ขั้นบันได ซึ่งป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มได้ ผู้ว่าฯ แคว้นเวเนโตก็บอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแพะรับบาปของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 อาหารสัตว์ปนเปื้อน

การเลือกซื้ออาหารแปรรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง เหมือนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก เพราะแค่เลือกสูตรให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงกับเราก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริงก็คือเรายังต้องเสี่ยงกับอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่พิจารณาจากยี่ห้อดังตามท้องตลาด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณพลอยได้เลือกซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูปเกรดพรีเมียมยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับสุนัขแพ้ง่าย ที่มีปัญหาเรื่องผิวหนัง เพราะไม่มีส่วนผสมของโปรตีนจากไก่ ข้าวโพดและข้าวสาลี จากร้านค้าเจ้าประจำแถวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังเปิดถุงออกมา กลับพบสิ่งแปลกปลอมเป็นแมลงตัวสีดำ มีลักษณะคล้ายมอดจำนวนมาก ทั้งกลิ่นอาหารยังผิดปกติไปจากเดิม และเมื่อตรวจสอบวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่ถึงกำหนด คุณพลอยจึงกลับไปที่ร้านดังกล่าว เพื่อขอคืนเปลี่ยนสินค้าและแจ้งว่านี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่เธอพบความผิดปกติเช่นนี้ จึงต้องการทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่ และแม้แม่ค้ายินดีให้เธอเปลี่ยนคืนสินค้า แต่ก็แสดงท่าทีไม่พอใจที่คุณพลอยถามถึงสาเหตุของปัญหา ส่งผลให้คุณพลอยตัดสินใจส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอาหารที่ถูกควบคุมคุณภาพ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ 2558 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 56 ว่าห้ามผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ดังต่อไปนี้ 1.อาหารสัตว์ปลอมปน 2.อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ 3.อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน 4.อาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ 5.อาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียน โดยหากผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตรวจสอบอาหารสัตว์ที่มีการปลอมปน เสื่อมคุณภาพ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือและสินค้าดังกล่าวไปยังกรมฯ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้รับการตอบกลับมาว่า หลังกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย เพราะคาดว่าปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามพบว่า สถานที่จำหน่ายมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ มีการเก็บแยกอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนและมีความสะอาด ซึ่งไม่มีแมลงหรือสัตว์พาหะที่อาจทำให้อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพได้ ส่งผลให้ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า อาหารสัตว์ดังกล่าวเสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปนด้วยสาเหตุใด ทางกรมฯ จึงขอเก็บตัวอย่างเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการตรวจสอบต่อไป และหากพบว่าอาหารไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดจริง จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และผู้ผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เลี้ยงสัตว์ รบกวนชาวบ้าน

สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์เดือดร้อนรำคาญ เพราะเพื่อนบ้านเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องกลิ่น เสียง หรือกระทบต่อสุขภาพก็ตาม ลองมาดูเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้กัน ว่าเขามีวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างไรคุณทินกรเป็นหนึ่งในผู้พักอาศัยของหมู่บ้านชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งได้เพื่อนข้างบ้านที่มีพฤติกรรมชอบเลี้ยงเป็ดและไก่ แต่นั่นจะไม่ใช่ปัญหาเลย หากเพื่อนข้างบ้านของเขาไม่ได้เลี้ยงสัตว์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  และปล่อยให้สัตว์ทั้งสองชนิดกีดขวางทางสัญจรสาธารณะภายในหมู่บ้าน มากไปกว่านั้นยังนำแผ่นคอนกรีตมาวางในที่ถนนสาธารณะเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้ทางสัญจรสกปรกและมีเชื้อโรคแม้เขาจะพยายามแสดงความไม่ประทับใจในพฤติกรรมดังกล่าว ให้เพื่อนบ้านรับรู้ด้วยการว่ากล่าวตักเตือน แต่ก็ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่งผลให้คุณทินกรส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการที่เพื่อนบ้านนำเป็ดและไก่จำนวนมากมาเลี้ยงและปล่อยให้เดินขับถ่าย ไปตามพื้นที่ต่างๆ ในหมู่บ้าน อาจถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2560) มาตรา 25 (2) ซึ่งกำหนดไว้ว่าการกระทำใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความเสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนข้างเคียง หรือแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง เช่น การเลี้ยงสัตว์ในที่ หรือวิธีใด หรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ โดยการการเลี้ยงสัตว์ในที่นี้ หมายถึงการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดที่ 1) สถานที่เลี้ยงไม่เหมาะสม สกปรก มีกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เป็นต้น 2) โดยวิธีการเลี้ยงที่รบกวนความเป็นอยู่ ของผู้อาศัยข้างเคียง เช่น การปล่อยให้สัตว์ไปกินพืชผักของคนข้างบ้าน หรือปล่อยให้ไปถ่ายบ้านข้างเคียง เป็นต้น 3) เลี้ยงจำนวนมากเกินไป เช่น สถานที่เลี้ยงคับแคบ อยู่ใกล้บ้านข้างเคียง แต่ก็เลี้ยงจำนวนมาก จนเกิดเสียงร้องดัง มีกลิ่นสาบ หรือกลิ่นมูลเหม็น เป็นต้น ซึ่งฝ่ายปกครองท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการตรวจสอบและออกคำสั่งให้ผู้ที่ก่อเหตุรำคาญนั้นระงับหรือแก้ไขเหตุนั้นได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือถึงฝ่ายปกครองท้องถิ่นประจำจังหวัด (รูปแบบของการฝ่ายปกครองท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล/ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังสำนักงานเทศบาลประจำจังหวัด ก็ได้ส่งหนังสือตอบกลับผลการดำเนินการมาว่า ได้ออกคำสั่งให้คู่กรณีแก้ไขปัญหาด้วยการเลี้ยงไก่และเป็ดแบบมีรั้วรอบ พร้อมให้ทำความสะอาดบริเวณโดยรอบ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ร้องพอใจในการดำเนินการดังกล่าวและยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เนื้อสัตว์ในร้านฟาสต์ฟูด ปลอดภัยจาก “ยาปฏิชีวนะ” มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุศัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมากฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้เลือกสุ่มสำรวจหาการตกค้างของ “ยาปฏิชีวนะ” ในเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่อยู่ในเมนูต่างๆ ของร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังที่ขายในประเทศไทย ลองไปดูกันสิว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นเหตุขอการเกิดเชื้อดื้อยามากน้อยแค่ไหนทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากินเพราะ ยาปฏิชีวะ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนเท่านั้น แต่ในสัตว์โดยเฉพาะในภาคการทำปศุสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อการรักษา 2.เพื่อการป้องกันโรค และ 3.เพื่อเร่งการเจริญเติบโตสำหรับสาเหตุที่ทำให้ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำนม ไข่ หลักๆ ก็มาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี บวกกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการใช้ยา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้สัตว์ตายหรือล้มป่วย ส่งผลให้มีการใช้ยาในปริมาณสูง ยิ่งในฟาร์มรายย่อยสถานที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งส่งผลให้สุขภาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี คือ ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ยาในสัตว์ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของน้ำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล ทำให้เกษตรกรหลงคิดไปว่าปริมาณยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะนำสัตว์มาบริโภค ซึ่งต้องมีการหยุดยาก่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะถึงขั้นตอนการแปรูปสู่การบริโภคการใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดชนิด หรือผิดช่วงเวลา รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในสัตว์เกิดการพัฒนายีนส์ต้านทานยามากขึ้นนอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย คือ การนำยาปฏิชีวนะในรูปเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือการนำยาปฏิชีวนะสำหรับคนไปใช้กับสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การใช้ยาไม่ได้ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยา และ เกิดเชื้อดื้อยาการใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อดื้อยาแบบข้ามกลุ่ม ทำให้ทำเชื้อดื้อยาชนิดนั้นส่งผลต่อการรักษาโรคในคน โดยเชื้อดื้อยาในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านมายังคนได้ 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 2.การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยง และ 3.การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดินใกล้ฟาร์มเลี้ยงกลุ่มยาปฏิชีวนะที่วิเคราะห์1.Tetracycline group ประกอบด้วย Chlortetracycline และ Doxycyclineยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระไซคลีน มีสรรพคุณ ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในปาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.Colistin ประกอบด้วย Colistin A และ Colistin B โคลิสติน ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในปอดและทางเดินอาหาร3.Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillinเบต้า-แลคแทม ใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนกลาง4.Macrolide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrateยาปฏิชีวนะในกลุ่ม แมคโครไลด์ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งยังช่วยใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตผลการทดสอบผลการสุ่มเก็บตัวอย่าง เนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟูด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์โดยข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมเท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือ “โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาทนั่นเป็นเพราะยาที่คุณใช้อยู่มีส่วนผสมของ “ยาต้านแบคทีเรีย” โดยไม่จำเป็นทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ที่มา : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)ฟาสต์ฟู้ดกับยาปฏิชีวนะปีที่แล้วองค์กรผู้บริโภคของสหรัฐฯ Consumers Union ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 25 แบรนด์ดังในอเมริกา และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีแผนหรือนโยบายดังกล่าวแต่ผลการสำรวจในปีนี้ (ซึ่ง Consumers Union ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีถึง 9 แบรนด์จาก 25 แบรนด์ที่หันมาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดการลดหรือเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธีในการเลี้ยงไก่ หมู หรือวัวในภาพรวมแล้วแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามในการจัดซื้อจัดหาเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือภายในปี 2560 เนื้อไก่ที่ขายในร้าน Chipotle / แมคโดนัลด์ / Panera Bread / และซับเวย์ จะปลอดจากยาปฏิชีวนะผลการให้คะแนนปีนี้ปรากฏว่า Chipotle และ Panera Bread ยังรักษาเกรด A จากปีที่แล้วไว้ได้ซับเวย์ถีบตัวขึ้นจากเกรด F มาเป็น B พร้อมคำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้เนื้อไก่ในเมนูของร้านจะไม่มียาปฏิชีวนะ และในอีก 9 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะทั้งหมดด้วยChick-fil-A ได้เกรด B ไปครองเพราะสามารถทำตามแผนการหยุดใช้เนื้อไก่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะภายในปี 2561 ไปได้ถึงร้อยละ 25 แล้วตามมาติดๆ คือแมคโดนัลด์ที่ปีนี้ได้เกรด C+ ไปครอง เพราะมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้และจัดซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้นส่วนดังกิ้นโดนัท ที่ปีก่อนเคยได้ถึงเกรด C ปีนี้กลับสอบตกเป็นเพื่อน เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี และสตาร์บัคส์ เพราะปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทให้ยอมรับการใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 135 พืชชั้นต่ำรับประทานโดยสัตว์ชั้นสูง

ขึ้นชื่อว่าสินค้าใดที่กินแล้วทำให้สวยขึ้น ผอมลง หรือแม้แต่ฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ไม่ว่าสินค้านั้นจะอยู่ที่ใด นักการค้าหากำไรในประเทศนี้ย่อมไม่รอให้เสียจังหวะการนำมาบริการลูกค้า เพราะขืนช้าเท่ากับพลาดโอกาสโกยสินทรัพย์เข้ากระเป๋า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทตอบสนองความต้องการแบบนี้ เกิดเร็ว ตายเร็ว ผู้เขียนไม่ประหลาดใจเลยที่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับหนึ่งมีบทความกึ่งโฆษณาเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากสาหร่ายสีน้ำตาลในการลดน้ำหนัก บทความกล่าวว่า สาหร่ายสีน้ำตาล หรือ ลามินาเลีย ดิจิตาตา นั้นมีสรรพคุณในการดูดซับสารพิษและสามารถถูกนำมาใช้เสริมความงามสาวๆ ที่พึ่งวิธีเติมสวยด้วยธรรมชาติ เนื่องจากเป็นข่าวธุรกิจหารับประทานด้านความสวยความงามจึงต้องดึงเอาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเลเซอร์มาเล่าถึงที่มาของสาหร่ายสีน้ำตาลว่า   “นับย้อนหลังไป ณ ทะเลแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ผู้คนนิยมนำน้ำทะเลของที่นี่มาใช้ในการบำบัดเวลาชาวบ้านเป็นแผล ก็จะเอาสาหร่ายมาโปะแล้วแผลก็หาย นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสจึงนำน้ำมาทำวิจัยพบว่า น้ำทะเลแห่งนี้มีองค์ประกอบเดียวกับพลาสมาในร่างกายมนุษย์ จึงช่วยใน การสมานแผล" (คำว่าพลาสมาในร่างกายมนุษย์นั้นหมอท่านนี้น่าจะหลงลืมวิชาสรีรวิทยาที่เรียนมาในโรงเรียนแพทย์ไปแล้วว่ามีลักษณะอย่างไร ซึ่งผู้เขียนคงไม่ขออธิบายให้ยาวเยิ่นเย้อ แต่ฟันธงว่า มันคนละเรื่องเลย เป็นการกล่าวในลักษณะที่เกินเลยให้ผู้เบาปัญญาฟังเท่านั้นเอง) แพทย์ท่านนั้นยังได้กล่าวอีกว่า “ภายใต้ท้องทะเลแห่งนี้ยังมีสาหร่ายชนิดหนึ่ง คือ ลามินาเลีย ดิจิตาตา หรือสาหร่ายสีน้ำตาล ซึ่งมีคุณค่า หายาก และมีเฉพาะที่ทะเลแห่งนี้ (ซึ่งความจริงไม่จริง ผู้เขียนพบข้อมูลในวิกิพีเดีย ซึ่งจะกล่าวต่อไปว่า สาหร่ายนี้หาได้ที่ไหนบ้าง) เมื่อลองนำสาหร่ายมาสกัด สารประกอบ พบว่ามีความเข้มข้นมากกว่าน้ำทะเลแห่งนั้นถึง 10,000 เท่า และสามารถซึมในร่างกายมนุษย์ ประมาณ 92-95% โดยสามารถซึมถึงชั้นไฮโปเดอมิส ซึ่งเป็นชั้นใต้ชั้นหนังแท้ของมนุษย์ หากเปรียบกับวิตามินที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น อย่างมากคือ 40% และการซึมผ่านลงไปสามารถอยู่ได้แค่ชั้นหนังแท้ แต่สารสกัดจากธรรมชาติตัวนี้สามารถซึมลงไปลึกกว่านั้น” (ประเด็นที่เหยื่อทั้งหลายควรสำนึกคือ แพทย์ท่านนี้ไม่ได้บอกว่า สารประกอบนั้นคืออะไร และสำนวนภาษาไทยที่ใช้บรรยายแสดงถึงความพิการในการใช้ภาษาไทยเขียนเรียงความด้วย) ที่ตลกกว่านั้นคือ แพทย์ท่านนี้ยังได้กล่าวอีกว่า “นอกจากสรรพคุณในการสมานแผล แล้ว สาหร่าย ทะเลยังขึ้นชื่อเรื่องการดูดซับสารพิษต่างๆ เห็นได้จากช่วงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิดจากสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นต้องหาสาหร่ายทะเลมากินเพื่อขับสารพิษ เพราะสาหร่ายมีธาตุไอโอดีนสูงมาก ซึ่งไอโอดีนนี่เองจะช่วยป้องกันร่างกายมนุษย์จากพวกกัมมันตภาพรังสีและสาร พิษต่างๆ แต่ว่าคนญี่ปุ่นกลับไม่สามารถใช้คุณค่าจากสาหร่ายในทะเลของตัวเองได้ เพราะปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี จึงทำให้หลายคนแย่งกันซื้อผลิตภัณฑ์ของแล็บที่ฝรั่งเศสกันอย่างคึกคัก   โดยพวกเขานำมารับประทาน ทาตัว และแช่น้ำอาบ เพื่อดีท็อกซ์สารพิษออกจากร่างกายให้มากที่สุด” ท่านผู้อ่านน่าจะพอมีสติระลึกรู้ว่า คนญี่ปุ่น (รวมทั้งจีนและเกาหลี) นั้นกินสาหร่ายมาเป็นเวลานานตั้งแต่จิ๋นซีฮ่องเต้ยังไม่เกิดแล้ว ไม่ว่าโรงไฟฟ้าปรมาณูจะระเบิดหรือไม่ เขาก็จะกินสาหร่ายเป็นประจำ คงไม่ใช่พอมีอุบัติเหตุแล้วจึงไปสรรหามากิน ที่สำคัญก็คือ แพทย์ท่านนี้ได้อ้างถึงสรรพคุณสำคัญของสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล ที่อาจโดนใจสาวไทยมากที่สุด คือ ช่วยปรับสมดุลแห่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ โดยอ้างอิงจากสถาบันขายเครื่องสำอางในประเทศฝรั่งเศสว่า “สารสกัดจากสาหร่าย ช่วยปรับสมดุลแห่งการเผาผลาญพลังงานในร่างกายมนุษย์ ให้ผลในการสลายไขมัน ช่วยลดน้ำหนักและลดสัดส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากผลข้างเคียง  เพราะสารสกัดทำให้เกิดการสลายตัวของไขมันเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก” ดังที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่า ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนั้น ลับ ลวง พราง มากกว่าข้อมูลการปฏิวัติเสียอีก ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ลองเข้าหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่า มีใครที่กล่าวถึงสาหร่ายสีน้ำตาลที่ต่างจากข้อมูลที่เชิญชวนการใช้สาหร่ายเพื่อความงามบ้าง ก็พบว่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน Sarah Terry ได้เขียนบทความเกี่ยวกับสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลในเว็บ www.livestrong.com ซาร่าได้กล่าวว่า สาหร่ายสีน้ำตาลนี้ เป็นพืชทะเลมีชื่อสามัญว่า kelp และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Laminaria digitata ซึ่งโดยทั่วไปแล้วใช้เป็นแหล่งอาหารที่มี โปรตีน วิตามินหรือเกลือแร่ แต่สำหรับประเด็นที่ว่า มีการนำสารสกัดจากสาหร่ายชนิดนี้ไปใช้ในการเป็นอาหารลดน้ำหนักนั้น Sarah ได้กล่าวเตือนว่า ควรปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อให้ทราบขนาดที่ควรบริโภคและความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ความจริงสาหร่ายสีน้ำตาลซึ่งอยู่ใน genus Laminaria นั้นมีหลายชนิด แต่ที่นิยมนำมาบริโภคคือ Laminaria digitata ซึ่งทางหน่วยงานด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐมิชิแกนได้ทำการศึกษาว่าเป็นแหล่งอาหารที่ดีในเรื่องวิตามิน โดยเฉพาะ มีกรดโฟลิกค่อนข้างสูง  แร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม โปแตสเซียมและแคลเซียม ดังนั้นศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก จึงได้ศึกษาบ้างและสามารถเตรียมสารสกัดจากสาหร่ายนี้เพื่อศึกษาผลด้านการแพทย์เป็นการเฉพาะ ความที่สาหร่ายชนิดนี้มีไอโอดีนสูงจึงสามารถเพิ่มการเผาผลาญในร่างกายสิ่งมีชีวิตโดยผ่านการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน นอกเหนือไปจากการใช้แก้ปัญหาการขาดไอโอดีนที่ก่อให้เกิดอาการคอพอกในบางพื้นที่ของโลกเรา แต่ช้าก่อนนะจอร์จ ซาร่าได้กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ ทางศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์กได้เตือนว่า คุณสมบัติการเพิ่มการเผาผลาญในร่างกายนั้นไม่ได้มีผลเลยไปถึงการใช้สารสกัดในการลดน้ำหนักผู้ป่วยโรคอ้วนเพราะยังไม่มีผลการวิจัยยืนยันทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าวารสาร Drug Digest ได้กล่าวว่าสาหร่ายนี้มีองค์ประกอบบางชนิดที่ออกฤทธิ์เป็นยาระบายช่วยในการขับถ่ายกากอาหารออกจากร่างกาย ลดความดันโลหิต ต้านไวรัสและต้านมะเร็งได้ (ในสองกรณีหลังนี้เป็นข้อมูลที่ซาร่าได้อ้างศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก ซึ่งท่านผู้อ่านก็ต้องใช้กาลามสูตรให้จงหนัก) ที่สำคัญซาร่าได้ระบุว่า หน่วยงานด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยของรัฐมิชิแกนก็ได้ตือนว่า การบริโภคสาหร่ายชนิดนี้มากเกินไปจะทำให้ได้ไอโอดีนในระดับสูง ซึ่งอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ของผู้บริโภคทำงานผิดปรกติได้ ดังนั้นคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์อยู่แล้วจึงต้องคิดให้จงหนักในการบริโภคสาหร่ายนี้ โดยเฉพาะในรูปสารสกัด ผลข้างเคียงของการกินสาหร่ายที่เพี้ยนผิดไปจากการกินเป็นอาหารคือ สิวขึ้นผิดปรกติ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ลิ้นปร่า ที่สำคัญคือ การได้รับโปแตสเซียมในสารสกัดสาหร่ายเกินขนาดนั้นไม่ได้เป็นของดีกับคนธรรมดาทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจมีผลขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด ข้อมูลต่าง ๆ อาจอ่านเพิ่มได้จาก http://www.livestrong.com/article/295828-laminaria-extract-weight-loss/#ixzz1qIChxISq ส่วนในวิกิพีเดียก็ได้กล่าวว่า สาหร่ายชนิดนี้มีแหล่งธรรมชาติทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งแต่กรีนแลนด์จึงแหลมคอด และบริเวณตอนเหนือของรัสเซียและไอซ์แลนด์ไปจนถึงฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งแสดงว่าเป็นสาหร่ายที่ชอบน้ำเย็น ๆ ดังนั้นการหารับประทานจึงต่อเสียเงินนำเข้าจากต่างประเทศเป็นพิเศษ ไม่สามารถช้อนขึ้นมากินได้จากคูคลองเหมือนสาหร่ายที่ใช้เลี้ยงเป็ดที่บางบริษัทได้ช้อนมาอัดเม็ดขายในราคาโลละเป็นหมื่น ปรกติแล้วสาหร่ายชนิดนี้ได้ถูกใช้เป็น fertiliser ซึ่งแปลว่า ปุ๋ย ในศตรวรรษที่ 18 สาหร่ายประเภทนี้จะถูกทำให้แห้งแล้วเผาเพื่อเอาธาตุโปแตสเซียมเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตแก้วทางอุตสาหกรรม จากนั้นในศตวรรษที่ 19 จึงมีการเตรียมสารสกัดจากสาหร่ายนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาขาดไอโอดีน พอถึงศตวรรษที่ 20 สาหร่ายชนิดนี้ก็ถูกละเลยเนื่องจากแร่ธาตุทั้งโปแตสเซียมและไอโอดีนนั้นหาได้จากแหล่งอื่นที่ราคาถูกกว่า ที่ยังคงมีการใช้อยู่ก็คือ ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนสารสกัดกรดอัลจินิก (alginic acid) จากสาหร่ายนี้ใช้ในการผลิตยาสีฟัน และเป็นสารเจือปนในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรวมถึงการผลิตหัวน้ำซุปของจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นผู้ที่หวังว่าจะกินสารสกัดจากสาหร่ายเพื่อช่วยในการลดน้ำหนักนั้น ก็ขอให้ใช้กาลามสูตรจนเกิดปัญญาก่อนจึงตัดสินใจว่าจะกินหรือไม่ เพื่อถึงซึ่งประโยชน์แห่งความสวยงามโดยไม่ประมาทเถิด

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >